แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
ครั้งที่ ๖๖๗
สำหรับวันนี้รับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน มร.ออลค๊อต ปูนาเซการา ซึ่งเป็นไดเร็คเตอร์ของ B.I.C. เป็นประธานของ B.I.C.
ที่กล่าวถึงแต่ละบุคคล ก็เพื่อที่จะให้ทราบว่า แต่ละท่านมีความรู้มากน้อยแค่ไหนในธรรม และมีความสนใจในการศึกษาอย่างไร
สำหรับ มร.ออลค๊อต ปูนาเซการา ซึ่งเป็นประธานของ B.I.C. เขาเคยศึกษาอภิธรรม และก็ทิ้งไป แต่หลังจากที่ได้สนทนาธรรมกัน มร.ออลค๊อต ปูนาเซการา ก็เริ่มศึกษาพระอภิธรรมใหม่ พร้อมกับอ่านวิสุทธิมรรคประกอบกันไปด้วย คือ ที่เคยทิ้งไป ก็เกิดความสนใจขึ้นมาใหม่ เพราะว่าเป็นอภิธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่ปรากฏพร้อมกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะรู้แจ้งในสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นปริยัติเท่านั้น และก็ตรงกันด้วย เพราะว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงเกิดจากการประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ หรือที่ปรากฏ เมื่อทรงประจักษ์อย่างไรก็ทรงแสดงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็ทำให้ มร.ออลค๊อตสนใจและศึกษาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
มร.ออลค๊อตเป็นผู้ที่อ่านอย่างละเอียดมาก และได้เล่าให้คุณนีน่าฟังในระหว่างเดินทางกลับโคลัมโบจากอนุราธปุระว่า ทุกครั้งที่อ่านหนังสือเล่มไหน ถือว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นครู หรืออาจารย์ที่ให้ความรู้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เอาความรู้ของตัวเองขึ้นมาค้าน หรือขึ้นมาแย้ง แต่จะรับฟังความรู้จากผู้เขียน ถือว่าตัวเองเป็นศิษย์ของหนังสือที่กำลังอ่าน เพราะฉะนั้น ก็อ่านด้วยความสนใจจริงๆ
วันรุ่งขึ้น วันจันทร์ที่ ๔ ได้ไปที่วัดๆ หนึ่ง ตั้งแต่เช้า เพราะว่าวัดนี้สามารถที่จะมองเห็นสิริปาท ซึ่งเป็นยอดเขาที่กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จที่นั่นเหมือนกัน วัดนี้ชื่อ เดรัมมีล่าราชมหาวิหาร ภาษาศรีลังกาใช้คำว่า ราชมหาวิหารเหมือนกันเลย เพียงแต่ว่าสะกดเป็นภาษาอังกฤษ ที่นั่นมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่แยกกิ่งมาจากต้น พระศรีมหาโพธิ์ที่พระนางสังฆมิตตานำมาปลูก
ที่ศรีลังกา จะนมัสการพระเจดีย์กับต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าเมื่อได้นำกิ่งมาปลูกแล้ว ก็ได้แยกกิ่งไปปลูกตามที่ต่างๆ ด้วย สำหรับตำนานของวัดนี้ก็ได้เล่าว่า มีคนนั่งเรือไปแล้วได้ยินเสียงกลอง ก็ตามเสียงกลองไปถึงต้นโพธิ์ แต่ปรากฏว่าไม่มีกลอง ไม่มีคนตีกลองเลย มีแต่เสียงกลองที่นำไปสู่ต้นโพธิ์ต้นนี้ ก็เลยเชื่อกันว่า เป็นกิ่งหนึ่งของต้นพระศรีมหาโพธิ์
วันนี้พอกลับจากเดรัมมูร่าราชมหาวิหารตอนเช้ามืด รับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ก็ไปสนทนาธรรมกับเด็กนักเรียน ซึ่งต้องย้ายที่จากโรงเรียนมาที่ B.I.C. เพราะว่าเป็นห้องที่เล็กกว่า และก็คัดเฉพาะเด็กนักเรียนที่สนใจจริงๆ
วันนี้รับประทานอาหารกลางวันที่บ้านมิสซิสมิสการานาสิงเห ที่กล่าวถึงบ้านนี้เพราะว่าบ้านนี้คุณพ่อของมิสซิสมิสการานาสิงเหอายุมาก และไม่เคยออกจากบ้านไปไหนเลย แต่หลังจากที่เราไปรับประทานอาหารที่บ้านเขา เขาไปฟังธรรมที่ B.I.C ทุกคืน โดยที่ก่อนนั้นไม่เคยออกจากบ้านไปไหนเลย เพราะว่าร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง แต่ว่าเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ก็มีความสนใจ ก็ไปทุกคืน
บ้านของมิสซิสการานาสิงเห หลังจากที่เราไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านเขา ๒ วัน ก็มีขโมยขึ้นบ้าน เอาเครื่องทองเหลืองไปมากทีเดียว แต่รู้สึกว่า เขาไม่ได้เดือดร้อนใจอะไรมาก ทุกคนที่ฟังธรรม ฟังแล้วได้ผล มีความสนใจธรรมมากขึ้น เพราะถ้าแลกกัน เขาก็คงไม่เสียดายเครื่องทองเหลืองที่หายไป
วันอังคารที่ ๕ มิสซิสวชิราคุปต์ มารับไปที่บ้านของมิสซิสยานัดอัมราสิริยา ชื่อเป็นไทยทั้งหมดเลย มิสซิสวชิราคุปต์ เป็นคนที่จะไม่เลิกศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ได้ฟังแล้ว ก่อนนั้นก็ศึกษาอภิธรรมบ้าง แต่รู้สึกว่าไม่สนใจเลย เกือบจะเรียกได้ว่า เมื่อศึกษาแล้วก็บอกว่า อภิธรรมไม่น่าสนใจเลย แต่ว่าวันที่เปิดสัมมนา คุณวชิราก็ไป ซึ่งในวันแรกก็ไม่มีข้อความธรรมมาก เพราะว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นของชาว ศรีลังกา หรือคำถามของเขา เป็นการที่จะหยั่งความรู้และความสนใจของเขา ในวันที่สองปรากฏว่า มีกรรมการของ B.I.C.ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านมีความรู้มาก พอมีคำถามเรื่องสติปัฏฐาน ท่านก็อธิบายสติปัฏฐานสูตรเกือบทั้งหมด เพราะฉะนั้น คุณวชิราก็อึดอัดใจที่จะไม่ไปอีก แต่ก็มีสุภาพสตรีศรีลังกาสองท่านขอร้องคุณวชิราหลังจากที่ไม่ไปแล้วว่า ให้ไป หลังจากวันนั้นแล้วจะเป็นรายการที่มีประโยชน์จริงๆ ขอให้คุณวชิราไป เพราะฉะนั้น คุณวชิราก็ไปในวันที่ ๓ และหลังจากนั้นมาก็ขอติดตามไปทุกแห่งที่มีการสนทนาธรรมที่โคลอมโบ รวมทั้งจะไปร่วมด้วยที่แคนดี้ แต่ปรากฏว่าที่แคนดี้ไม่สบาย เพราะฉะนั้น คุณวชิราก็ไม่ได้ร่วมด้วย แต่ก็เป็นผู้ที่ติดตาม ศึกษา สนใจ เข้าใจ และเป็นผู้ที่ไม่อาจเอาตัวเองออกไปจากคณะศึกษาและสนใจธรรมได้
ในวันพุธที่ ๖ วันรุ่งขึ้น รับประทานอาหารที่บ้านมิสซิสจันทรโสมา คนเริ่มสนใจมากขึ้น ผู้หญิงเต็ม คือ เพื่อนฝูงของคุณจันทรโสมาทั้งหลายที่ได้ฟังธรรมแล้ว ก็ได้รับเชิญมา เพราะว่าเวลาที่รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ไม่ใช่รับประทานเฉยๆ เพื่อความคุ้นเคยกับชาวศรีลังกาเท่านั้น แต่หลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จ ก็สนทนาธรรม ซึ่งในบางวันก็ได้นิมนต์พระภิกษุ คือ ท่านธัมมธโร พร้อมทั้งพระชาวต่างประเทศ และพระชาวศรีลังกาที่สนใจไปร่วมด้วย
วันพฤหัสบดีที่ ๗ ภรรยาข้าหลวงใหญ่ของออสเตรเลีย มิสซิสบอสวิช เป็นภรรยาของไฮท์คอมมิทเนอร์ของออสเตรเลีย เคยอยู่ที่เมืองไทย ๕ ปี ประเทศลาว ๒ ปี พูดภาษาไทยเก่งมาก และศึกษาพระพุทธศาสนาด้วย สามีนับถือพระพุทธศาสนา แต่ว่าตัวเองยังนับถือคริสต์ แต่ก็ศึกษาธรรม และมีความสนใจมาก เป็นผู้ที่เชิญไป คุณวชิราก็ไปด้วยเช่นเคย สำหรับในวันนี้ความสนใจของคนเพิ่มขึ้น คือ ต้องรับประทานอาหารกลางวันบ้านหนึ่ง พอบ่ายกว่าๆ ต้องไปอีกบ้านหนึ่ง ไปสนทนาธรรมก่อน จนถึง ๖ โมง จึงไปสนทนาธรรมต่อที่ B.I.C.
จะเห็นได้ว่า เต็มหมด ไปถึงก่อนเที่ยงบ้านหนึ่ง ก็สนทนาธรรมก่อนหน่อยหนึ่ง หลังจากนั้นพอรับประทานอาหารเสร็จ สนทนาธรรมต่อ และไปต่ออีกบ้านหนึ่ง สนทนาธรรม ต่อจากนั้นก็ไปที่ B.I.C. เป็นประจำ ซึ่งตอนนี้สุขภาพก็เริ่มจะไม่ดีแล้ว เพราะว่าต้องใช้เสียงมาก เริ่มเป็นหวัด
ซึ่งกัปตันเปราร่าเห็นว่า เป็นการทำงานที่หักโหมเกินไป เกินอัตรา เพราะว่าตามที่จัดไว้ให้ ก็มีการสนทนากับเด็กนักเรียน และก็รับประทานอาหารตามบ้าน สนทนาธรรม และก็สนทนาที่ B.I.C. แต่เพราะความที่คุณนีน่ามาจากฮอลันดา และกระหายธรรมมาก เวลาที่ได้รับธรรมน้อยก็ไม่มีความสุข เพื่อที่จะให้คุณนีน่ามีความสุข ก็ต้องให้มีธรรมมากๆ แต่มากไปก็ไม่มีความสุขอีกเหมือนกัน เพราะว่าอากาศก็ร้อนด้วย ก็เจ็บไข้ได้ป่วยกัน
เพราะฉะนั้น ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นเป็นต้นไป ก็มีการบังคับบัญชาตามบ้านว่า เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ขอให้ได้พักสักหน่อยหนึ่ง จึงค่อยเริ่มสนทนาบ่าย ประมาณ ๓ โมง หรือ ๔ โมงก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น หลังจากที่ไม่สบายเพราะว่าหักโหมเกินไป ก็มีการที่เมื่อรับประทานเสร็จ ก็ให้นอนพัก ได้รับเชิญให้ไปรับประทานกับนอนจริงๆ จากนั้นจึงจะสนทนาธรรม
วันศุกร์ที่ ๘ เมษายน เป็นการเริ่มรับประทานและนอนพัก แต่ว่าสักบ่ายสองโมงหรือสามโมงก็สนทนาธรรมต่อ
อาหารกลางวันที่นั่นช้า ถ้าใครรับประทานสัก ๕ โมง ไปถึงที่นั่นอาจจะต้องบ่ายสองโมง และอาหารเย็นก็ดึก ถ้าเป็นการเชิญจริงๆ ก็อาจจะเป็นสี่ทุ่ม ซึ่งพวกธรรมจริงๆ ก็อาจจะนอนหัวค่ำ รับประทานอาหารตามเวลาประมาณเพลกว่าๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องอนุโลมตามเจ้าของบ้านเจ้าภาพทุกประการ แต่ก็ดีที่ได้รับประทานและได้พักผ่อนนิดหน่อย ตอนบ่ายก็เริ่มสนทนาธรรม
วันเสาร์ที่ ๙ เมษายน เป็นวันปิดสัมมนาสำหรับโคลอมโบ เพราะว่าต่อจากนั้นเป็นวันอาทิตย์ และก็เป็นวันจันทร์ที่ใกล้ปีใหม่ สำหรับชาวศรีลังกาวันปีใหม่ยังคงเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งเขาหยุดหรือปิดตั้งแต่วันที่ ๑๒ วันที่ ๑๓ เป็นวันปีใหม่จริงๆ ซึ่งรัฐบาลปิด ๒ วัน คือ วันที่ ๑๓ กับวันที่ ๑๔ เพราะฉะนั้น การสัมมนาที่โคลัมโบจึงปิดในวันเสาร์ที่ ๙ เมษายน เพราะว่าช่วงต่อไปเป็นช่วงปีใหม่ ซึ่งชาวศรีลังกาต้อนรับปีใหม่ในครอบครัวจริงๆ ไม่ไปไหนเลย ทำอาหารพิเศษ ทำขนมพิเศษ แต่งตัวพิเศษในวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งสีพิเศษสำหรับปีนี้ คือ สีเขียว ผู้หญิงนุ่งส่าหรีสีเขียวในเวลาพิเศษ คือ ต้องบอกไว้เวลา ๓ ทุ่ม เป็นฤกษ์ดี เป็นฤกษ์ปีใหม่ ขนมก็ต้องทำตอนนั้น ขนมไม่ต้องสีเขียว แต่เสื้อผ้าอาภรณ์เป็นสีเขียวสำหรับปีนี้
ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ทางกรุงเทพ ฯ เราใช้วันที่ ๑ ใช่ไหม แต่ว่าประเพณีสงกรานต์ก็ยังคงเป็นวันที่ ๑๓ ซึ่งตรงกับของเขา แต่เนื่องจากจะปิดวันปีใหม่ เพราะฉะนั้น ก็ปิดสัมมนาวันที่ ๙ และต่อจากนั้นเป็น Special Section สำหรับภิกษุชาวต่างประเทศ จริงๆ หมายความว่า ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน หรืออุบาสกอุบาสิกา เพราะว่าอุบาสกอุบาสิกาจะต้อนรับปีใหม่ที่บ้านของตัวเอง ไม่ไปไหน เพราะฉะนั้น ช่วงต่อไปก็จัดไว้สำหรับภิกษุชาวต่างประเทศ
สำหรับในวันปิดสัมมนา ท่านสังฆนายกมีความจำเป็นจะต้องกลับก่อน เพราะฉะนั้น แทนที่ท่านจะมอบหนังสือเป็นของที่ระลึกให้ตอนที่จบสัมมนาแล้ว ท่านก็ขอมอบให้ก่อน สำหรับวันนี้เป็นการสนทนาธรรมซึ่งคนโคลัมโบสนใจมากทีเดียว เพราะว่าเป็นเรื่องที่เริ่มนำมาถึงสติปัฏฐาน ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การที่สติจะระลึกรู้ และคุณค่าของการที่จะเห็นประโยชน์ของขณะปัจจุบันจริงๆ เพราะว่าชีวิตก็คือ แต่ละขณะที่กำลังปรากฏ กำลังเห็นขณะหนึ่ง นั่นก็คือชีวิตของคนหนึ่ง กำลังได้ยินขณะหนึ่ง นั่นก็เป็นชีวิตที่อยู่ในแต่ละขณะนั้นเอง เพราะฉะนั้น ชาวศรีลังกาเริ่มสนใจมากทีเดียวตอนจบสัมมนา
ในวันรุ่งขึ้น เป็นวันอาทิตย์ โดยมากวันอาทิตย์จะไม่มีการสัมมนา หรือสนทนาธรรม แต่ว่าก็ได้รับเชิญไปตามบ้าน ซึ่งเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ก็สนทนาธรรมเป็นประจำ และตอนเย็นแทนที่จะไปสนทนาธรรมเพราะว่าปิดแล้ว วันอาทิตย์ไม่มี ก็ได้ไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านของคุณศิริกับคุณมาลิน ซึ่งได้เชิญชาวศรีลังกาครอบครัวหนึ่งกับคนอเมริกันอีกคนหนึ่งไปสนทนาธรรมเป็นการส่วนตัว ซึ่งเขาสนใจมาก ธรรมดาเวลารับประทานอาหารก็เปิดวิทยุเบาๆ แต่พอสนทนาธรรม เพื่อนของคุณศิริขอให้ปิดวิทยุเพื่อจะได้ฟังธรรมได้ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงความสนใจจริงๆ ของเขา
วันจันทร์ที่ ๑๑ สำหรับภิกษุ Section คือ สำหรับพระภิกษุชาวต่างประเทศจริงๆ แต่ว่าเริ่มเร็ว คือ ตั้งแต่บ่ายสี่โมงจนกระทั่งถึงสองทุ่ม ก็หลายชั่วโมง เพื่อที่จะได้มีเวลามากขึ้น
วันอังคารที่ ๑๒ ตอนกลางวันไปรับประทานอาหาร และสนทนาธรรมนิดหน่อย และก็นอนพักนิดหน่อยเช่นเคย และก็ไปที่ B.I.C. สี่โมงเย็น กลับสองทุ่ม
คุณนีน่าตอนแรกไม่ทราบว่าจะได้อยู่ตลอด ๕ อาทิตย์หรือเปล่า เพราะว่าตั้งใจมาเพียง ๓ อาทิตย์ เพราะฉะนั้น เพื่อประโยชน์ของคุณนีน่า ในวันปีใหม่คุณนีน่าอยากจะไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วที่แคนดี้ ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่หวงแหนมาก ไม่มีใครที่จะได้ดูจริงๆ เพราะว่าเก็บไว้ในผอบถึง ๗ ชั้น และมีกุญแจเงินดอกใหญ่ถึง ๓ ดอกที่หน้าประตู คนก็ได้ไปนมัสการเพียงที่บรรจุ เป็นพระมณฑป หรืออะไรที่รูปร่างคล้ายๆ เจดีย์
สำหรับพระเขี้ยวแก้ว มาถึงเมืองอนุราธปุระเป็นเมืองแรก และเมื่อย้ายเมืองหลวงจากอนุราธปุระไปที่โปนลานุวะ ก็ได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปอยู่ที่เมืองหลวงแต่ละแห่งเรื่อยมา จนกระทั่งถึงเมืองแคนดี้เป็นเมืองหลวงสุดท้าย เมื่อเสียเมืองให้อังกฤษ ก็เลยเก็บพระเขี้ยวแก้วไว้ที่แคนดี้ ไม่มีการย้ายอีกต่อไป ซึ่งทุกครั้งก็ย้ายตามเมืองหลวงไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น ในวันปีใหม่ก็ได้ไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วที่แคนดี้ เพราะกลัวว่า ถ้าคุณนีน่ากลับก่อน คุณนีน่าจะไม่มีโอกาสไปแคนดี้ ไม่มีโอกาสนมัสการ เพราะว่าอยู่ที่อนุราธปุระ ยังไม่ได้มาแคนดี้
ชาวแคนดี้ในวันปีใหม่ไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วกันมากทีเดียว แน่นขนัด และตามธรรมเนียมของลังกาใช้แต่ดอกไม้เท่านั้น ไม่ใช้ใบเลย มีแต่ดอกเท่านั้นจริงๆ และก่อนที่จะบูชาก็ต้องล้างให้สะอาด พร้อมทั้งล้างมือที่จะบูชาด้วย ไม่ใช้ธูปเทียน ใช้ประทีปตะเกียงน้ำมัน ใช้ดอกไม้ และมีคาถาบูชาเวลาถวายดอกไม้ ซึ่งเป็นคาถาที่เพราะมาก แสดงให้เห็นความจริงว่า ดอกไม้ที่บูชาก็นับวันจะเหี่ยวแห้งเหมือนสังขารร่างกายของผู้ที่บูชาด้วยดอกไม้ เป็นการเตือนให้เห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย และให้เกิดความสลดใจ และเขาก็บอกว่า ธรรมเนียมไทยไม่ทำให้เกิดความสลดใจ เก็บเอาไว้นานๆ ปักเอาไว้ในแจกัน มีทั้งกิ่ง ทั้งก้าน ทั้งใบ รักษาเอาไว้ไม่ให้เห็นความจริง แต่ของเขาเด็ดเฉพาะดอก ให้เห็นว่าจะต้องเหี่ยวแห้งเหมือนสังขารร่างกายทีเดียว เป็นเครื่องเตือนให้เกิดความสลดใจ
มีผู้กล่าวว่า ถ้าได้ไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วในวันปีใหม่ จะเป็นกุศลผลบุญที่แรงมาก ปรารถนาอะไรก็จะสำเร็จ เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีอะไรที่ปรารถนาก็จะสมความปรารถนาได้ ถ้าได้ไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วในวันปีใหม่
วันรุ่งขึ้นจะต้องกลับโคลัมโบ เพราะว่ายังไม่ปิดรายการที่โคลัมโบ แม้ว่าปิดการสัมมนาแล้วก็จริง แต่ว่ายังไม่ไปอนุราธปุระ ในวันนี้ตอนเช้าก็ได้ไปชมสวนสาธารณะที่มีชื่อเสียงของเมืองแคนดี้ ซึ่งในการไปสองครั้งก่อนก็ไม่ได้ไปชม สวนสาธารณะนี้ใหญ่ และจัดได้สวยงามดี นอกจากนั้นยังไปวัดเก่า ๒ วัด คือ วัดกาลายาเลนียา และวัดลังกาสีลกะ ซึ่งข้างหลังวัดก็เป็นพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินที่สร้างวัดนี้
วัดลังกานั้นเล็ก ลักษณะไม่เหมือนกับวัดไทย ศิลปะต่างกันมาก วัดลังกาเหมือนกับบ้านตึกหลังหนึ่ง ซึ่งข้างในก็แล้วแต่วัด บางแห่งก็มีรูปสลัก รูปปั้นที่เป็นคนยื่นออกมาเป็นตัวๆ แทนที่จะเป็นภาพเขียนอย่างนั้นก็มี แต่ว่าลักษณะภายนอกเหมือนกับบ้านตึกธรรมดา มีอุโบสถ และที่ขาดไม่ได้ คือ ต้นโพธิ์ กับพระเจดีย์
วันศุกร์ที่ ๑๕ เป็นวันสุดท้าย และรุ่งขึ้นก็จะออกจากโคลัมโบไปอนุราธปุระ วันนี้สถานทูตไทยเชิญรับประทานอาหารกลางวัน และเชิญพวกกรรมการ เจ้าภาพ เจ้าของบ้านทั้งหมดที่เชิญเราเป็นแขก ซึ่งหลังจากรับประทานอาหารกลางวันที่สถานทูตไทยแล้ว ปิดรายการสุดท้ายที่โคลัมโบ เวลา ๑๖ นาฬิกา พระมหานายกพระภิกษุ และกรรมการของ B.I.C. เชิญคณะของเราไปชี้แจงข้อธรรมบางประการ ที่ยังไม่แจ่มแจ้ง หรือว่ายังเป็นที่สงสัย
นี่เป็นการประชุมที่เหมาะสมมาก หลังจากที่ได้รับฟังธรรมทั้งหมด วันสุดท้ายเป็นวันที่จะชี้แจงข้อธรรมบางประการซึ่งยังเป็นที่ข้องใจ เป็นที่สงสัย เป็นที่ไม่แจ่มแจ้ง จึงได้ประโยชน์เต็มที่ ไม่ใช่ว่าประชุมแล้ว สัมมนาแล้ว ก็ทิ้งไปเฉยๆ แต่ว่าวันสุดท้ายเป็นวันที่จะต้องชี้แจงข้อธรรมบางประการกับพระมหานายก และพระภิกษุชาวลังกาท่านหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียง คือ ท่านพระปิยทัสสี และคณะกรรมการของ B.I.C. ซึ่งจะได้ทราบแนวความคิดว่า เป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหนในการสัมมนา
ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. คงจะไม่มากเท่า แต่เพราะว่าเขาเล็กกว่า วัดเขาน้อย เพราะว่าเมืองเขาเล็ก คนไปวัดมาก และพลเมืองน้อย ก็เลยทำให้ดูเหมือนว่า มีอุบาสกอุบาสิกาที่สนใจมาก แต่ความจริงสถานที่เล็ก วัดน้อย คนน้อย และคนไปวัดในวันอุโบสถมาก
ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เฉพาะกรรมการ และพระมหานายกเท่านั้น กับท่านปิยทัสสี คือ ผู้ที่ทรงความรู้ของ B.I.C. ซึ่งเป็นผู้ที่จัดรายการสัมมนา ประชาชนคนอื่นไม่เกี่ยวข้องเลย
ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. เกี่ยวกับปฏิบัติด้วย และที่แน่นอนที่สุด คือ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๖๖๑ – ๖๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720