แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
ครั้งที่ ๖๖๙
ถ. พระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบันนี้มี ๒ ยาน คือ หินยานและมหายาน ชาวศรีลังกาเป็นประเภทไหน
สุ. เป็นหินยาน หรือเถรวาท และเขาเองก็ไม่รู้จักเมืองไทย เขาไม่รู้ว่า ในเมืองไทยเป็นเถรวาท ก็ได้ชี้แจงให้เขาทราบว่า ของเราก็เหมือนของเขา คือ เป็นเถรวาท เป็นหินยาน ไม่ใช่มหายาน
สำหรับปัญหาธรรมที่มีผู้ถามที่ศรีลังกา เริ่มตั้งแต่เรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอภิธรรมที่ปรากฏตามปกติ จนกระทั่งถึงขั้นที่เป็นสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่ามีเวลาเพียงเดือนกว่าเท่านั้นเอง
ในการที่จะให้เข้าใจถึงการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นเบื้องต้นก่อน และสำหรับสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า แม้ว่าได้ฟังกันมานานหลายปี บางท่าน ๗ ปี หรือ ๑๐ ปี ซึ่งต่างก็กล่าวว่า ในตอนแรกๆ ดูเหมือนเข้าใจแล้ว แต่ยิ่งฟังก็ได้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ที่ฟังมาก่อนๆ ยังไม่ใช่ความเข้าใจที่ชัดเจนจริงๆ แต่ว่าความเข้าใจก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย กว่าจะเป็นสติปัฏฐานจริงๆ หรือกว่าที่สติจะระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ยาก คือ ต้องเป็นการสะสมปัญญาทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเป็นปัญญาที่สามารถเป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ตามความเป็นจริงด้วย คือ ต้องในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
ยุ่งไหม สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง หรือว่าชัดเจน ความหมายของชัดเจน คือ สภาพธรรมที่ปรากฏไม่ผิดปกติ และปัญญารู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่กำลังรู้ในลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ หรือว่าในสภาพของรูปธรรมซึ่งเป็นสภาพที่กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้อะไรเลย
ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเอง ก็ทรงแสดงอรรถ ความหมายของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามปกติอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นในพระสูตรไหน ในปิฎกไหน คำพูดสั้นๆ ซึ่งก็แล้วแต่ปัญญาว่า จะได้อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์จริงๆ ในความหมายที่ว่าระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหรือไม่ และก็เป็นความรู้ตามปกติ เป็นความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง
ทางตา ตามปกติในขณะนี้ ไม่ผิดปกติเลย บางท่านระลึก และก็กำลังศึกษาที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพรู้ที่กำลังเห็น เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้อย่างหนึ่ง
ขณะนี้ถ้ายังเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ก็หมายความว่า ปัญญายังไม่รู้ชัดในสภาพที่เห็น กับในรูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง
เพราะว่าการตรึก หรือการคิดถึงรูปร่างสัณฐานเกิดต่อรวดเร็วมาก พิสูจน์ได้ว่า จะเป็นความรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนหรือไม่ โดยการหลับตา นึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ไหม ได้จริงๆ หรือ
นึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หมายความว่า ไม่ใช่นึกถึงเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหมดในเวลานี้ ลองหลับตา ไม่มีปรากฏเลย ถ้าจะนึกถึงโต๊ะ รูปร่างสัณฐานของโต๊ะ ก็ต้องนึกถึงรูปร่างสัณฐานเฉพาะของโต๊ะ ถ้าจะนึกถึงเก้าอี้ที่เข้าใจว่าเห็นทางตา ถ้าจะคิดถึงรูปร่างสัณฐานของเก้าอี้ ซึ่งเข้าใจว่าเห็นทางตา หลับตาแล้ว ก็จะต้องนึกถึงรูปร่างสัณฐานของเก้าอี้เท่านั้น สิ่งอื่นที่ปรากฏในขณะนี้ทางตา จะปรากฏรวมอยู่ในขณะที่นึกถึงรูปร่างสัณฐานของเก้าอี้ไม่ได้ จริงไหม
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ และไม่ใช่การนึกถึงรูปร่างสัณฐานด้วย นี่เป็นการที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุ ให้เข้าใจความหมายจริงๆ ว่า คำว่า รูปารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏแก่ จักขุวิญญาณที่กำลังเห็น เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่ลืมตาเดี๋ยวนี้ ซึ่งถ้าหลับตาลงแล้ว ไม่ปรากฏ
ถ้าจะนึกถึงรองเท้าแตะ ก็จะมีแต่เพียงรูปร่างสัณฐานของรองเท้าแตะเท่านั้น ไม่มีสีสันของสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เหมือนกับขณะที่ลืมตาเลย แต่ขณะที่ลืมตาเหมือนกับเห็นรองเท้าแตะ เห็นคน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นหลายอย่าง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เพียงเห็น แต่รองเท้าแตะไม่มีในสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่เข้าใจว่า เห็นรองเท้าแตะ ก็เพราะนึกถึงสัณฐานของรองเท้าแตะที่ปรากฏ รวมกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งความจริงเป็นแต่เพียงสภาพธรรม เป็นรูปๆ หนึ่งที่ปรากฏทางตา รูปนี้ไม่ปรากฏทางอื่น
เช่น ขณะที่กำลังนึก หลับตาแล้วจะนึกถึงอะไรก็ได้ จะนึกถึงภูเขาทอง ก็มีแต่รูปร่างสัณฐานเฉพาะภูเขาทอง ไม่เหมือนที่ตากำลังเห็น และเข้าใจว่าเห็นภูเขาทอง แต่เวลาที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่มีแต่เฉพาะภูเขาทองเท่านั้นที่ปรากฏ เห็นฟ้า เห็นรถ เห็นถนน เห็นตึกรามบ้านช่องที่ใกล้ๆ กับภูเขาทองด้วย แต่ว่านั่นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ส่วนที่เข้าใจว่าเป็นภูเขาทอง เป็นถนน เป็นรถ นั่นเป็นการตรึกนึกถึง ซึ่งเกิดต่อจากการเห็นอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งปรากฏเหมือนกับว่า เห็นภูเขาทองพร้อมทั้งท้องฟ้า ตึกรามบ้านช่องต่างๆ
ที่จะรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยศึกษามาว่าเป็นรูปารมณ์ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นเพียงสภาพที่สามารถปรากฏทางตาโดยไม่ใช่การนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ซึ่งเกิดต่ออย่างรวดเร็วมาก
ถ. หมายความว่า ขณะที่เห็น หลังจากเห็นแล้ว มีการนึกถึงสภาพที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งธรรมทั้ง ๒ นี้ปรากฏอย่างใกล้ชิด ผู้ที่เจริญสติ ผู้ที่พิจารณาใหม่ๆ ยังแยกสภาพทั้ง ๒ ไม่ออก ต้องใช้ปัญญาที่ได้ยินได้ฟังมาว่า ขณะที่เห็นกับขณะที่คิดนึกเกิดติดต่ออย่างรวดเร็วและใกล้ชิด เมื่อยังแยกสภาพทั้งสองไม่ออก ก็คิดนึกว่า ขณะที่เห็นกับขณะที่นึกเป็นนามธรรมต่างชนิด การคิดนึกแบบนี้เป็นปัญญาหรือไม่
สุ. เป็นปัญญาขั้นคิด เพราะว่าปัญญามีหลายขั้น มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านกล่าวว่า ตอนแรกเข้าใจว่า ไปทำให้สงบๆ และจะประจักษ์สภาพธรรมชัดเจน รู้ความเกิดดับของสภาพธรรมได้ แต่เมื่อได้ฟังและได้พิจารณาเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานพอสมควร ท่านก็เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วกว่าจะเป็นสัมมาสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ต้องอาศัยปัญญาที่เกิดจากการฟังทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ สร้างสม สะสม เหมือนกับปั้นขึ้นมา จนกว่าจะถึงขั้นที่เป็นสัมมาสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมและศึกษาพร้อมสติ ซึ่งจะเกิดปัญญาที่จะเป็นความรู้ขั้นต่อไป คือ ขั้นที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยไม่ใช่ขั้นคิด ต้องค่อยๆ ก้าวไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ
ถ. ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมกับท่านปัญจวัคคีย์ พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ตอบว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ถามว่า ที่ท่านปัญจวัคคีย์ตอบนั้นเป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดนึก หรือว่าเป็นปัญญาขั้นประจักษ์จริงๆ
สุ. ขณะนั้นท่านพระปัญจวัคคีย์ตอบโดยปัญญาขั้นใด เป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีกล่าวไว้ เหมือนท่านผู้ฟังในขณะนี้ ถ้าจะถามว่า รูปเที่ยงไหม ท่านก็ตอบว่า รูปไม่เที่ยง ซึ่งใครจะเป็นคนบอกหรือเป็นคนรู้ถึงปัญญาของท่านผู้ฟังในขณะนั้นว่า ท่านตอบจากขั้นการฟัง หรือท่านตอบจากขั้นที่กำลังประจักษ์ในลักษณะความไม่เที่ยงของรูป
ถ. ปัญญาทั้ง ๓ ขั้น คือ ขั้นฟัง ขั้นคิด ขั้นภาวนา จะเกิดในระยะใกล้ติดต่อกัน คือ ขณะที่ฟังเดี๋ยวนี้ และก็คิดเดี๋ยวนี้ เมื่อคิดเดี๋ยวนี้ก็เห็นแจ้งเดี๋ยวนี้ เกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้ชิดอย่างนี้ได้ไหม
สุ. อุคฆฏิตัญญูบุคคล วิปัญจิตัญญูบุคคล เนยยบุคคล ปทปรมบุคคล มีบุคคลหลายประเภท จะใช้คำตอบเดียวไม่ได้
สำหรับผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญู แน่นอน เพียงการฟังก็สามารถที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้ ถ้าเทียบเวลาที่ท่านพระสารีบุตรฟังท่านพระอัสสชิแสดงธรรมโดยย่อ ก็ต้องหมายความว่า ปัญญาของท่านต้องเกิดตามลำดับขั้นที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล ท่านฟังต้องมีโสตวิญญาณที่ได้ยิน และขณะที่ได้ยิน มหากุศลญาณสัมปยุตต์ตามที่ศึกษากันมาในพระอภิธรรม ๑ ใน ๔ ดวงนั้นต้องเกิดขึ้น พร้อมกันนั้นปัญญาของท่านที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็รู้ ก็เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วที่กำลังเข้าใจในขณะนี้หรือขณะนั้นก็ตาม ไม่ใช่ตัวตนเลย ถ้ามีการฟังในขณะนี้ กำลังเข้าใจ และเป็นปัญญาขั้นที่รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะรู้ว่า แม้ความเข้าใจในขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเข้าใจ และถ้าโดยปริยัติที่ทรงแสดง ก็คือว่า มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิด เพราะโยนิโสมนสิการที่ในมโนทวาราวัชชนจิต
จิตที่กระทำกิจก่อนมหากุศล คือ มโนทวาราวัชชนะจิต เมื่อดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้กำลังเข้าใจในขณะนี้ นั่นคือ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ใครก็ตามที่กำลังฟังในขณะนี้ เข้าใจ
โสตวิญญาณได้ยินเสียง เพียงได้ยินไม่สามารถที่จะตรึกหรือนึกถึงความหมายเลย แต่ประหนึ่งเสมือนว่าได้ยินคำพูด
ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติ และผู้ที่ปัญญาไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งรู้ชัดในความต่างกันของนามธรรมที่ได้ยินกับนามธรรมที่ตรึกนึกถึงความหมาย จะเข้าใจว่า ได้ยินคำพูด พูดไปก็ได้ยินไป พูดคำไหนก็ได้ยินคำนั้น เข้าใจว่าอย่างนั้น แต่ว่าผู้ที่เจริญปัญญาแล้ว สามารถที่จะรู้ว่า ขณะที่ได้ยินไม่ใช่ขณะที่ตรึกนึกถึงคำ นึกถึงเรื่อง เร็วมาก ทางหูฉันใด ทางตาก็ฉันนั้น เห็นแล้วก็นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วรูปารมณ์เท่านั้นปรากฏ ถ้าไม่มีการตรึกนึกถึงสัณฐานเลย จะไม่เห็นอะไรตั้งหลายอย่าง ใช่ไหม
ที่เห็นอะไร ก็เพราะตรึก หรือนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น ไม่ได้ตรึกหรือนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งอื่น เช่น ในขณะนี้ ถ้าไม่มีการตรึกนึกถึงข้อความที่จารึกไว้ที่เสา ก็ไม่เห็น ใช่ไหม แต่เห็นอย่างอื่น เห็นคน ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว รูปารมณ์ปรากฏแน่นอน แต่ไม่ได้ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของคำที่จารึกที่เสา
แต่เพราะตรึกนึกถึงรูปร่างของคนหนึ่งคนใด วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เข้าใจว่าเห็นสิ่งนั้น ซึ่งความจริงเห็นรูปารมณ์เท่านั้น และตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เข้าใจว่าเห็นสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ท่านพระสารีบุตรในขณะที่ฟังท่านพระอัสสชิ มี โสตวิญญาณ และท่านก็รู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพที่ได้ยิน ในขณะที่ท่านเข้าใจอรรถของคำที่ท่านพระอัสสชิกล่าว ท่านก็รู้ว่า เป็นสภาพนามธรรมที่ตรึก และเวลาที่เข้าใจในความหมายของคำ ท่านก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ความเข้าใจเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ที่กำลังเข้าใจเดี๋ยวนี้เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ขั้นฟัง และขณะใดที่สติระลึกตรงลักษณะ รู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ไม่มีความสงสัยในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน และปัญญาของท่านที่ได้อบรมมาทีละเล็กทีละน้อยเป็นกัปๆ เหมือนอย่างที่ท่านผู้ฟังกำลังฟังอยู่ และก็อบรมความเข้าใจเพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เพื่อความรู้ชัด
ย้อนถอยกลับไปเป็นชีวิตของท่านพระสารีบุตรในกัปๆ หลังๆ โน้น ท่านก็ศึกษาอย่างนี้ ฟังอย่างนี้ สะสมเหตุปัจจัยที่จะให้สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ท่านไม่ใช่เนยยบุคคล หรือวิปัญจิตัญญูบุคคล แต่การสะสมของท่าน สะสมไปจนกระทั่งถึงชาติที่ท่านจะเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล
เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคล ก็ทราบไม่ได้ว่า ที่กำลังสะสมเดี๋ยวนี้ วันหนึ่งท่านจะเป็นเนยยบุคคล ซึ่งจะต้องฟังมาก อบรมเจริญสติปัฏฐานนาน และแต่ละขั้นของความรู้ที่จะเกิดขึ้นก็จะต้องอาศัยกาลเวลาพากเพียรอบรมไป ฟังไป ระลึกไป รู้ไป จนกระทั่งเป็นผู้ที่สามารถจะรู้สภาพธรรม รู้อริยสัจธรรมได้โดยยาก คือ โดยที่จะต้องอาศัยกาลเวลานาน เป็นเนยยบุคคล หรือท่านจะเป็นวิปัญจิตัญญู หรือท่านจะเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคลในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งองค์ใด ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดรู้ได้
ถ. ขณะที่ฟังธรรม และเข้าใจในความหมาย ในอรรถ ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ แต่ผู้ที่ฟังไปเรื่อยๆ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่ก็ฟัง ขณะนั้นจะเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์หรือเปล่า
สุ. ถ้าไม่มีความเข้าใจขณะใด ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ได้ เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ มีทุกวัย เด็กๆ ก็ฟัง มีโสตวิญญาณ แต่ถ้า มหากุศลจิตไม่เกิด ก็เป็นโลภมูลจิต หรือว่าโทสมูลจิต โมหมูลจิต แต่ถ้าขณะใดที่เป็นความเข้าใจ ชั่วขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน นั่นคือ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ซึ่งเกิดเพราะโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ตัวตน และก็ดับไป เร็วมากทีเดียว เกิดดับตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ
โดยมากท่านผู้ฟังสงสัยว่า ในขณะที่กำลังฟังตามปกติ ในขณะที่กำลังเห็นตามปกติ ในขณะที่กำลังคิดนึกตามปกติ ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ขอให้ทราบว่า มีช่องว่าง หรือมีช่วงเว้นในระหว่างที่กำลังฟังอยู่เดี๋ยวนี้ อย่างเช่น ขอให้คิดถึงคำว่า “ แต่ – ละ – คำ” มีช่องว่าง มีช่วงเว้นไหม มี คือ มีช่วงคั่นซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต แต่ว่าเป็นสภาพที่ไม่รู้ในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย
สำหรับภวังคจิตนั้น ก็ต่างกับโมหมูลจิต ภวังคจิตเป็นขณะที่ไม่ปรากฏอารมณ์อะไรเลยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ได้ยิน ไม่เห็น ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้ฝัน คือ ไม่ได้คิดนึกทางใจ ในขณะนั้นเป็นภวังคจิต
กำลังเห็นในขณะนี้ ไม่ปรากฏลักษณะของภวังคจิต แต่มีสภาพธรรมที่กำลังไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ไม่รู้จริงๆ ไม่รู้ถึงกับไม่รู้ว่า ไม่รู้ นั่นคือลักษณะของโมหมูลจิต
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติระลึกรู้แทนความไม่รู้ระหว่างลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏได้ตามปกติตามความเป็นจริง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๖๖๑ – ๖๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 685
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 720