แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721


    ครั้งที่ ๗๒๑


    สุ. เพราะฉะนั้น อย่าหวังเร็วนัก เพียงแต่ให้ชีวิตปกติประจำวันเกิดความรู้จริงในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สติเกิดไหม เมื่อสติเกิดระลึกรู้อะไร ตรงลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ถ้าตรง ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาต้องไม่มีความวิตกหรือตรึกถึงรูปร่างสัณฐานว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่ง ต่างๆ ในขณะนั้นจึงจะเป็นการรู้สภาพนามธรรมที่เห็น ซึ่งต่างกับการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานจนเกิดความคิดความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้

    นี่คือสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ต้องอบรมเจริญปัญญา อย่าคิดที่จะละกิเลสโดยที่ปัญญาไม่เกิด ถ้าปัญญาไม่เกิด ละกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องคิดว่า เมื่อไรจะละกิเลสได้ เพราะว่ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และทำอย่างไรจึงจะรู้เพิ่มขึ้น ชินขึ้น ชัดขึ้น ละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น

    ถ. อาจารย์ช่วยอธิบาย

    สุ. ก็คือ อบรมไปเรื่อยๆ ปัญญาไม่ใช่จะสามารถเกิดได้โดยฉับพลันทันทีอย่างมากและรวดเร็ว แต่ต้องอาศัยการอบรมด้วยการระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ คือ ในขณะนี้แต่ละขณะตามความเป็นจริง ทำอะไรไม่ได้ เรื่องของปัญญาไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องอบรมจนกระทั่งเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    เวลาความรู้เกิดขึ้นรู้ ก็รู้ว่ารู้ เวลาที่ความรู้ไม่เกิด และไม่รู้ ก็ต้องตรงต่อตามความเป็นจริงว่า ยังไม่รู้

    สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นของจริง อวิชชาเป็นอวิชชา คือ ไม่รู้ วิชชาเป็นวิชชา คือ รู้ ไม่มีตัวตนที่สามารถจะไปเร่งรัด หรือว่าไปพยายามให้เกิดปัญญาโดยไม่อบรม โดยไม่ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม ความรู้จะต้องเกิดขึ้นเพราะการศึกษา

    ถ. ที่ตัวหาย ท่านอาจารย์ว่าเป็นสมาธิได้ไหม

    สุ. สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกดวง ขณะนั้นไม่รู้ว่าอะไร เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ปัญญา

    ถ. ไม่ใช่ปัญญา

    สุ. แน่นอน ถ้าเป็นปัญญาต้องรู้ ที่ปัญญาจะไม่รู้นั้นเป็นไปไม่ได้ ที่ไม่รู้ๆ ต้องเป็นอกุศลจิต ต้องเป็นโมหะ เป็นอวิชชา เพราะฉะนั้น บางท่านเข้าใจว่าท่านเจริญสมถะ แต่ความจริงไม่ใช่ความสงบ มีความตั้งมั่นของจิตที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดซึ่งเป็นลักษณะของสมาธิที่เกิดกับอกุศลจิต เพราะถึงแม้ว่าจะตั้งมั่นในอารมณ์นั้นสักเท่าไรก็ไม่รู้อะไรในอารมณ์นั้น และยังเป็นปัจจัยให้ความไม่รู้เพิ่มขึ้น เช่น มีความรู้สึกว่าตัวหายไป และก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ใช่ไหม

    ถ. ก็เป็นอวิชชา

    สุ. แน่นอน เจริญอวิชชา เจริญสมาธิซึ่งเป็นอกุศลสมาธิ ไม่ใช่เป็นสมถะ ไม่ใช่ความสงบ

    เพราะฉะนั้น กุศลจิตเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องศึกษา ยิ่งเป็นกุศลขั้นภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ยิ่งเป็นเรื่องละเอียด ซึ่งถ้าไม่ศึกษาก็ไม่สามารถจะอบรมเจริญได้ ไม่เหมือนกุศลที่เป็นทาน หรือเป็นศีล เพราะว่าทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาต้องเกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยปัญญา แต่เป็นปัญญาที่ต่างขั้นกัน ปัญญาขั้นสมถะก็ขั้นหนึ่ง ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาก็อีกขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะทำต่อไปอีกไหม

    ถ. ก็เกิดขึ้นเอง

    สุ. เวลานี้เกิดขึ้นไหม

    ถ. ไม่เกิด

    สุ. เมื่อไม่เกิด จะว่าเกิดขึ้นเองได้อย่างไร

    หลายท่านที่บอกว่า ฟังมานาน และสติยังเกิดน้อยอยู่ ความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็ยังไม่ปรากฏชัด แต่ขอให้ระลึกถึงบรรดาสาวกทั้งหลายที่ท่านได้ตรัสรู้ว่า ท่านได้อบรมมานานเท่าไร เวลาที่ศึกษาประวัติชีวิตของท่าน เป็นกัปๆ นับไม่ถ้วน ได้พบ ได้เฝ้า ได้ฟังธรรม ได้เกิดศรัทธา ได้บำเพ็ญกุศลทุกประการเป็นบารมี นับเป็นกัปๆ

    เพราะฉะนั้น ระหว่างที่ฟังและมีความเข้าใจถูกต้อง จะเป็นปัจจัยทำให้เมื่อฟังอีก สติก็สามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ถูกต้องขึ้น และสะสมอบรมความรู้ลักษณะของสภาพธรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาที่ถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จะเกิดขึ้นได้ใน วันหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดขึ้นได้แน่ ถ้ามีการอบรมเป็นเหตุ และผลคือปัญญาที่สมบูรณ์ เป็นความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมก็จะต้องเกิดขึ้นได้

    บางท่านก็กล่าวว่า อดคิดไม่ได้ว่า นี่เป็นนาม นั่นเป็นรูป

    ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหยุดยั้งความคิด มีใครบ้างไหมที่ไม่คิด ไม่มี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คิด พระอรหันตสาวกก็คิด แต่ไม่ใช่ตัวตนที่คิด เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งก่อนที่จะคิดว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรม สภาพนี้เป็นรูปธรรม ก็เป็นความคิดเรื่องต่างๆ ที่เกิดจากการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา การได้ยินเสียงทางหู การได้กลิ่นทางจมูก การลิ้มรสทางลิ้น การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และความคิดถึงสิ่งเหล่านั้นก็ติดตามมาอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่ถึงแม้ว่าไม่เห็นแล้ว ไม่ได้ยินแล้ว ไม่ได้กลิ่นแล้ว ไม่ได้ลิ้มรสแล้ว ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว ก็ยังติดตามคิดถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เคยลิ้มรส เคยสัมผัส นั่นเป็นความคิดก่อนฟังเรื่องปรมัตถธรรม เรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังเรื่องปรมัตถธรรม และเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็มีปัจจัยที่จะให้เกิดคิดว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรม สภาพนี้เป็นรูปธรรม แต่แม้กระนั้น ในขณะที่คิดอย่างนั้น เป็นสติขั้นตรึก ขั้นคิด ขั้นนึกถึงสภาพธรรม แต่ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นขั้นที่ระลึก ศึกษา สังเกต รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งต่างจากขณะที่คิด

    เห็นเดี๋ยวนี้ หยุด ไม่คิด แต่ศึกษา คือพยายามน้อมไปสู่การที่จะรู้ว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เนืองๆ บ่อยๆ

    ทางหูก็โดยนัยเดียวกัน ลืมทุกสิ่งทุกอย่างหมดที่จะนึกว่า หูอยู่ตรงไหน โสตปสาทอยู่ตรงไหน สัททะ คือ เสียง มากระทบโสตปสาท ได้ยินจะต้องอยู่ตรงนั้น นั่นเป็นเรื่องการนึกถึงหูของเรา ยังมีความเป็นของเรา ยังมีความเป็นตัวตน ยังมีความยึดมั่นในหูอยู่ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่จะระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน ต้องไม่มีการนึก ใส่ใจ สนใจในหูของเราว่าอยู่ตรงไหน เป็นแต่เพียงศึกษา สังเกต รู้ในลักษณะสภาพรู้ ในธาตุรู้ที่กำลังได้ยินเสียง อย่าต่อทวารอื่น หรือความยึดมั่นในรูปร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดไว้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่ใช่การศึกษาลักษณะของธาตุรู้เสียง และเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    ถ. พอเห็นปั๊บ ก็รู้ทางใจแล้ว ทางหูได้ยินปั๊บ ก็รู้แล้ว ลิ้นก็รู้แล้ว รู้หมดทั้งนั้น อาจารย์จะให้ยั้งคิดว่า ไม่ใช่ตัวตน บุคคล สัตว์ อะไรอย่างนี้ จะทำอย่างไร โปรดอธิบาย

    สุ. นั่นเวลาที่ไม่มีสติ นั่นเวลาที่สติไม่เกิด จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องทราบขณะที่ต่างกันว่า ขณะที่มีสติต่างกับขณะที่หลงลืมสติ

    ถ. ถึงมีสติ เราก็รู้เสมอ

    สุ. มีสติ หมายความว่า จะต้องใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ. แปลว่า ต้องทิ้งหมดใช่ไหม

    สุ. มีการใส่ใจ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ นั่นคือ สติ ที่จะกล่าวว่ามีสติ ไม่ใช่ว่ารู้รวมไปหมด รู้รวมไปหมดนั่นไม่ใช่สติ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ทีละลักษณะ

    ถ. ผมก็เข้าใจอย่างที่อาจารย์อธิบาย ต้องมีสติ แต่จะไปยับยั้งอย่างไรได้

    สุ. ไม่ใช่ไปยับยั้ง สติเกิดหรือเปล่า อย่าพยายามไปยั้ง

    ถ. ไม่ยั้ง แต่พอเห็นทันที …

    สุ. สติเกิด ก็ระลึก สติไม่เกิด ก็ไม่ระลึก ต้องเข้าใจอย่างนี้ พอฟังมากๆ เข้าก็เป็นปัจจัยให้รู้ว่า ขณะที่มีสตินั้นเป็นอย่างไร คือ ศึกษาทันทีในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตานี่ปรากฏ ศึกษาเดี๋ยวนี้ นี่คือ ความหมายของมีสติระลึกศึกษา

    ถ. ทางตาก็เหมือนกัน พอเห็นก็รู้ทันที

    สุ. นั่นเวลาที่ไม่มีสติ นั่นปกติไม่มีสติ จะเป็นอย่างนั้น แต่เวลาที่สติเกิด จะต่างกัน ต้องรู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ นี่เป็นขั้นต้น

    ถ. จะให้มีสติตอนไหน

    สุ. ให้มีสติก็ไม่ได้ ต้องมีความรู้ว่า สติเกิดหรือไม่เกิด มีสติหรือหลงลืมสติ นี่เป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาขั้นนี้ไม่มี อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะว่าสติยังไม่เกิดเลย จะไปอบรมให้มากขึ้นได้อย่างไร แต่เวลาที่สติเกิด ระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกเป็นคำ แต่รู้ว่าจะต้องเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง ในขณะนี้ต้องเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง

    ถ. อาจารย์จะแนะนำอย่างไร

    สุ. ให้รู้ความต่างกันของขณะที่มีสติ กับขณะที่หลงลืมสติ เมื่อสติเกิดจึงจะรู้ความต่างกันว่า ขณะที่มีสตินั้น ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ ถ้าสติยังไม่เกิด ก็ไม่สามารถจะรู้ขณะที่ต่างกันได้ ต้องรอจนกว่าเมื่อไรสติเกิด เมื่อนั้นจะรู้ว่า ขณะนี้ต่างกับขณะที่เคยหลงลืมสติ เพราะไม่เคยศึกษา ไม่เคยสังเกต สำเหนียกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะใดที่เริ่มสังเกต สำเหนียก ศึกษา ขณะนั้นเป็นขณะที่มีสติแล้ว ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะชำนาญ

    ต้องการมากๆ อย่างใจไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อเป็นปัญญาขั้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นการอบรมปัญญาจริงๆ ความเข้าใจจริงๆ ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จริงๆ

    ถ. วิธีระลึกให้มีสติ จะระลึกอย่างไร

    สุ. ไม่มีตัวตนที่จะทำอะไรได้ ต้องอบรมด้วยการฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจเกิดขึ้น ถ้าไม่เคยฟังเลยจะไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อไม่ได้ศึกษาจะมีความรู้ได้อย่างไร ต้องตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นการฟังด้วยมนสิการ ด้วยการใส่ใจ ด้วยการพิจารณาจนกระทั่งเป็นปัจจัยให้เกิดความเข้าใจขั้นต่อไป และก็ฟังอีกด้วยการพิจารณา สังเกต สำเหนียกในเหตุผล จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้เกิดความเข้าใจขั้นต่อไปอีก นานเป็นกัปๆ

    ถ. สติมีหลายขั้น นับแต่สติปัฏฐาน สติพละ สัมมาสติ เป็นต้น แต่เหตุที่จะให้เกิดสติ หรือว่าสติเกิดขึ้นได้เพราะเหตุอะไร ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

    สุ. เหตุใกล้ของสติ คือ สัญญา ความจำที่มั่นคง แต่ไม่ใช่จำเรื่องอื่น ต้องจำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในเรื่องของสภาพธรรม เพราะว่าท่านพระสารีบุตรหรือว่าบรรดาสาวกทั้งหลายซึ่งไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นสาวก ต้องฟัง คำว่า สาวก หรือ สาวโก แปลว่า ผู้ฟัง

    ถึงแม้ว่าท่านพระสารีบุตร หรือพระสาวกอื่นๆ จะได้เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานมาในอดีตเป็นกัปๆ เนิ่นนานมาแล้ว แต่เมื่อยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ระหว่างที่ยังไม่ได้พบกับท่านพระอัสสชิ ไม่มีปัจจัยที่จะให้สติของท่านพระสารีบุตรเกิดขึ้นระลึกศึกษารู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สาวกทั้งหลายนี้ คือ ผู้ที่ต้องฟัง อาศัยการฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยสมบูรณ์ เป็นปัจจัยให้เกิดสัญญา ความจำที่มั่นคง แล้วแต่ว่าท่านผู้นั้นเคยฟังมาแล้วในอดีตชาติมั่นคงแค่ไหน มากสักเท่าไร

    ถ้าเพิ่งจะเริ่มฟังในชาตินี้ ฟังแล้วก็รู้สึกว่ายังไม่ค่อยเข้าใจ ก็ต้องฟังอีกบ่อยๆ ทวนไปทวนมา และมนสิการ พิจารณาแล้วพิจารณาอีก จนกระทั่งความเข้าใจเพิ่ม ขึ้นๆ เป็นขั้นๆ และเมื่อความเข้าใจอย่างนี้เพิ่มขึ้นแล้วเป็นขั้นๆ ก็จริง วันหนึ่งๆ สติเกิดบ่อยไหม ถ้าสติเกิดน้อย หมายความว่า ความจำนั้นยังไม่เป็นสัญญาที่มั่นคง ที่จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกขึ้นได้ถึงสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าอบรมไปเป็นกัปๆ จนพร้อมที่ว่า ทันทีที่ท่านพระสารีบุตรได้ฟังท่านพระอัสสชิ สัญญาที่มั่นคง ที่เคยจดจำไว้ในเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเกิดทันที ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมได้

    ถ. มีสุภาษิตหรือคำโบราณกล่าวไว้ว่า ถ้ามีความโกรธเกิดขึ้น ก่อนที่จะทำอะไรลงไป ให้นับ ๑ ถึง ๑๐ การนับนี้จะเป็นเหตุให้เกิดสติได้ไหม

    สุ. สติเป็นโสภณธรรม เกิดกับโสภณจิต และเรื่องของกุศลจิต อกุศลจิตเป็นเรื่องที่แสนละเอียด ถ้าอกุศลจิตเกิดเพียงนิดเดียว ใครจะรู้ได้ในลักษณะที่เป็นอกุศล ที่นั่งอยู่ในขณะนี้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ต้องตรงต่อลักษณะสภาพธรรม

    ผู้อบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส ยิ่งต้องตรงเหลือเกิน ที่สามารถจะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ในขณะนี้จิตเป็นอะไร ไม่ใช่ชื่อกุศล หรือชื่ออกุศล เพราะถ้าคิดถึงชื่อ ก็เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จะอยู่ในตำรา จะอยู่ในหนังสือ แต่ในขณะนี้ทุกคนมีจิต ลักษณะของจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องรู้ในขณะนี้จึงจะเป็นผู้ที่รู้ชัดในลักษณะของกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    บางทีไม่ใช่กุศลเลย แต่เป็นอกุศลอย่างเบาบาง อย่างละเอียด อย่างอ่อนมาก ซึ่งบางท่านก็เข้าใจว่าเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต ก็เป็นยากที่จะเจริญกุศลได้

    ขณะที่โกรธ เป็นกิเลสที่มีกำลัง เป็นปริยุฏฐานกิเลส ปรากฏลักษณะของความไม่แช่มชื่นของจิตเกิดขึ้น แรงพอที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล แต่ขณะที่กำลังนับ จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ทุกท่านเคยนับใช่ไหม นับเงินนับทองก็เคยนับ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ก็นับ กุศลจิตหรืออกุศลจิต ขณะที่กำลังนับอย่างนั้น

    ถ. ขณะที่กำลังนับอย่างนั้น เพื่อให้สติเกิดขึ้น ให้คลายโทสะลงไป

    สุ. หมายความว่า สติยังไม่เกิดจึงนับ หรือว่าขณะที่นับ นับด้วยสติ

    สภาพธรรมละเอียดจนไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ นอกจากบุคคลนั้นเองจะรู้ด้วยสติของท่านเองว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าบอกว่า ขณะกำลังนับเป็นกุศล พูดไม่ได้ ผิด หรือจะบอกว่าเป็นอกุศล ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นจิตของบุคคลนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ถ้าสติเกิด จึงยับยั้งได้ในขณะนั้น

    ถ. ถ้ารู้ได้ ก็ต้องตัวของผู้นั้นเอง

    สุ. แน่นอน คนอื่นรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะถามคนอื่นไม่ได้

    สภาพของจิตละเอียดมาก ถ้าท่านโกรธจัดๆ ลองนับดู และจะรู้ว่า ขณะนั้นยังคงนับด้วยความโกรธหรือเปล่า ถ้าโกรธจัดแล้วลองนับดู ถ้าโกรธนิดหน่อย การนับอาจจะอีกลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่นับ ก็ยังนับด้วยลักษณะของจิตที่ต่างๆ กัน แต่ถ้าสติเกิด สามารถที่จะรู้ได้ตรงตามลักษณะสภาพของจิต ซึ่งแม้ว่าจะเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ลักษณะของอกุศลก็เป็นอกุศล ลักษณะของกุศลก็เป็นกุศล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๗๒๑ – ๗๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564