แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
ครั้งที่ ๗๓๒
สุ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานระลึกศึกษารู้ลักษณะสภาพของธาตุที่เพียงอ่อน เพียงแข็งจริงๆ ที่กำลังปรากฏ รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน นี่เป็นโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา
แต่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค รู้ว่า จิตมีกิเลสมาก มีปัจจัยให้อกุศลเกิดมาก มีความยินดีพอใจ ไม่ว่าจะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะให้จิตสงบ ก็โดยการไม่ให้จิตตกไป ตรึกไปถึงรูปร่างสัณฐานของรูปทั้งหลายที่ปรากฏ จึงใช้ปฐวีหรือดินทำเป็นกสิณคือวงกลมให้ได้สีที่จะทำให้จิตสงบตั้งมั่น ไม่น้อมตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน อื่นๆ เพราะถ้าสีไม่สม่ำเสมอก็อาจจะทำให้นึกถึงรูปร่างต่างๆ ได้
ถ้าท่านมองดิน อาจจะเห็นเป็นรูปอะไรก็ได้ แล้วแต่ท่านจะคิดไปว่าเป็นรูปหน้า รูปจมูก หรือรูปตาก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นลักษณะของดินที่เกลี้ยงกลึงอย่างดี ปราศจากธุลีละอองที่จะทำให้เกิดเป็นสัณฐานต่างๆ ก็จะทำให้จิตของผู้ที่นึกถึงปฐวี น้อมนึกถึงเพียงธาตุดินว่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่พ้นไปจากดินเท่านั้นเอง ที่ตั้งของความยินดีพอใจทั้งหลาย ของรูปธรรมทั้งหลายนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงอาการปรากฏลักษณะต่างๆ ของธาตุดิน ที่ร่างกาย ที่ตัว ก็เป็นแต่เพียงอาการปรากฏลักษณะหนึ่งของธาตุดิน ที่วัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ก็เป็นอาการต่างๆ สัณฐานต่างๆ ของธาตุดินนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงน้อมนึกถึงความเป็นดิน จิตก็จะสงบ
สำหรับท่านที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว คงจะไม่มีใครไปเจริญสมถภาวนาที่เป็นกสิณ ใช่ไหม เพราะว่าลักษณะอ่อนหรือแข็งซึ่งเป็นธาตุที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล กำลังปรากฏให้สติระลึกศึกษา จนกว่าจะละคลายการที่เคยยึดถืออ่อนหรือแข็งนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยไม่จำเป็นต้องไปน้อมระลึกถึงความที่เป็นแต่เพียงธาตุดินโดยอาศัยปฐวีกสิณ ท่านก็สามารถอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของปฐวี คือ ธาตุดิน ที่กำลังปรากฏทางกายในขณะนี้ได้
สำหรับกสิณ ๑๐ ซึ่งได้แก่ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ เป็นภูตกสิณ ๔ และวัณณกสิณอีก ๔ คือ กสิณที่เป็นสีแดง สีขาว สีนิล หรือสีเขียว และสีเหลืองอีก ๔ นอกจากนั้นก็มี อาโลกกสิณ คือ แสงสว่าง และอากาศกสิณ
สำหรับอากาศกสิณ ก็นัยเดียวกัน ให้ระลึกถึงสภาพที่ว่างเปล่า มีไหมสภาพที่ว่างเปล่า ที่ไม่ใช่ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็มีอยู่ตลอดทั่วร่างกาย เพราะเหตุนี้จึงสามารถแตกย่อยร่างกายและวัตถุสิ่งต่างๆ ออกได้ ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมมาประชุมในที่นั้นๆ ในที่นั้นๆ ย่อมมีแต่ความว่างเปล่า เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ความว่างเปล่าเท่านั้นที่ปราศจากสิ่งที่เป็นสาระทั้งหลาย ซึ่งควรจะน้อมนึกถึงว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ไม่เที่ยง สภาพธรรมทั้งหลายก็ไม่เที่ยง เมื่อปราศจากธาตุต่างๆ เหล่านั้นแล้ว ก็มีแต่เพียงความว่างเปล่าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ อากาศกสิณทำให้ระลึกถึงความว่างเปล่าที่ไม่มีสาระ ที่ไม่ควรที่จะยึดถือ
สำหรับอาโลกกสิณ ก็โดยนัยเดียวกัน อาโลก คือ แสงสว่าง ที่ปรากฏเป็น สีเขียว สีแดง สีต่างๆ อันเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ย่อมมีได้เพราะมีแสงสว่าง หรือความสว่างเท่านั้น เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่าอะไรเป็นความสว่าง ก็คือ สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับความมืด และเวลาที่ระลึกถึงเพียงความสว่างเท่านั้น ก็ทำให้จิตปราศจากโลภะ โทสะ โมหะได้
สำหรับในสมัยนี้ยุคนี้ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และเห็นคุณประโยชน์ของกุศลประการอื่นๆ ด้วย เช่น ทาน ศีล และความสงบ จะมีท่านผู้ใดที่จะไปแสวงหากสิณ ๑๐ มาทำให้จิตสงบไหม ในเมื่อทางตาก็กำลังเห็นอยู่แล้ว ถ้าสติจะระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาขั้นที่จะละความยึดถือว่า เป็นเราเห็น หรือว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา ซึ่งสามารถที่จะเกิดความสงบที่ประกอบด้วยปัญญาได้
เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ลักษณะของปฐวีโดยนัยของสมถะ ก็เพียงแต่เตือนให้นึกถึงความไม่มีสาระของปฐวีที่ไม่ควรยินดีพอใจ แต่ว่าโดยนัยของวิปัสสนานั้น ระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏ ที่กระทบกาย ที่อ่อนหรือที่แข็งจริงๆ ไม่ต้องอาศัยนิมิต เครื่องหมายที่จะทำให้สงบ แต่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของธาตุอ่อนหรือธาตุแข็งที่กำลังปรากฏ และก็เห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ ในขณะนั้น ซึ่งเป็น สัจธรรม เพราะเป็นแต่เพียงลักษณะที่อ่อนหรือแข็งเท่านั้น เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญความสงบในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะไม่มีท่านผู้ใดเพ่งจ้องที่กสิณ
มีไหม ห้ามได้ไหม ถ้าใครคิดจะทำอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละท่าน
สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็แสนยากที่จะละการยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น ถ้าไปเจริญวิธีอื่นที่จะไม่รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ยากเหลือเกินที่ปัญญาจะคมกล้าได้ในวันหนึ่ง และก็ยิ่งช้าไปอีก อย่าลืมว่า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระอริยสาวกซึ่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าโดยที่ไม่ได้ฌานนั้น มีมากกว่าผู้ที่ได้ฌานด้วย
สำหรับกสิณ ๑๐ สามารถให้ถึงสมาธิทั้งอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ที่เป็นฌานจิต ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงปัญจมฌาน ซึ่งมีผู้ประพฤติปฏิบัติก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค แต่กว่าที่จะได้บรรลุถึงสมาธิแต่ละขั้นนั้นก็ยากมาก เพราะว่าต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญความสงบในชีวิต ประจำวันสำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะไม่มีท่านผู้ใดไปเพิ่งจ้องที่กสิณ
ถ. ลักษณะของการเจริญสติปัฏฐานยากกว่าสมถะมาก เพราะปัญญาเราไม่สมบูรณ์ ยังไม่แก่กล้า ตัวตนนี่เป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดในการเจริญสติปัฏฐาน แต่สำหรับสมถะไม่ต้องรู้ความเป็นอนัตตา สภาพตัวตนก็เจริญได้ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เจริญสมถะได้ เช่น การเล่นหมากรุก เพื่อนฝูงเขาจะเอาชนะเราให้ได้ เราก็มีเมตตา ถ้ายอมเดินให้แพ้ ก็จะเป็นประโยชน์สุขแก่ใจเขา ความเมตตาเกิดนิดเดียวเท่านั้นเอง เป็นปกติ วันหนึ่งๆ เกิดได้ตั้งหลายร้อยเที่ยว แต่ว่าเป็นตัวตน ง่ายกว่าวิปัสสนามาก เกิดได้ตั้งมากมาย ไม่ใช่นิดเดียว
สุ. แต่สติปัฏฐานเกิดน้อยใช่ไหม
ถ. เกิดน้อย เพราะตัวตนยังอยู่ บางครั้งก็นานๆ สักที
สุ. เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นกุศลขั้นสูงที่สุด เพราะเป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จนสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท โดยที่กุศลขั้นอื่นไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
สำหรับอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ ต่อจากกสิณ ๑๐ คือ อสุภะ ๑๐ โดยนัยของสมถภาวนา ที่จะให้จิตสงบจากราคะหรือโลภะนั้น ต้องอาศัยการระลึกถึงซากศพในลักษณะต่างๆ มี ๑๐ ลักษณะด้วยกัน ซึ่งตามความเป็นจริงท่านก็ไม่จำเป็นจะต้องกางตำราดูว่า อสุภะนี้ตรงกับลักษณะไหน อาการไหน เพียงเป็นอสุภะ และน้อมระลึกถึงความจริงของร่างกายว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีใครพ้นไปได้เลย อสุภะจะไม่งามสักแค่ไหน จะน่ารังเกียจสักแค่ไหน มีใครที่พ้นไปได้ไหม ซึ่งมีข้อความที่กล่าวว่า แม้ว่าผู้ใดจะมีผิวพรรณวัณณะดั่งทองคำ แต่ผลสุดท้ายก็ต้องไม่พ้นจากสภาพเขียว เหลือง ช้ำ ดำ ม่วง แตกสลาย และก็มีแผล หนองไหลออกมา
เพราะฉะนั้น การที่จะน้อมระลึกถึงอสุภะที่จะให้สงบขึ้น ต้องอาศัยการมีซากศพจริงๆ ที่จะต้องระลึกถึงความเป็นอสุภะอยู่เรื่อยๆ โดยนัยของการเจริญสมถภาวนา เพื่อที่จะให้ความสงบของจิตมั่นคงขึ้น สำหรับผู้ที่ต้องการให้จิตมั่นคงถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงโดยละเอียด เพราะว่ามีกล่าวไว้ ใน วิสุทธิมรรค ถ้าท่านผู้ฟังท่านใดสนใจก็ศึกษาได้ใน วิสุทธิมรรค แต่ว่าโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา อสุภะ ๑๐ เตือนให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น โดยนัยของสมถภาวนากับโดยนัยของวิปัสสนาภาวนานั้น ต่างกัน คือ สมถภาวนามุ่งที่จะให้จิตตั้งมั่น โดยอาศัยอสุภะเป็นอารมณ์ที่จะตรึกนึกถึง วิตกอยู่เรื่อยๆ ในลักษณะของอสุภะที่ปรากฏ จนกระทั่งเกิดนิมิต ซึ่งหมายถึงว่า จิตสงบเพราะมีอสุภะนั้นเป็นอารมณ์โดยชัดเจน
ตามปกติธรรมดา มีใครชอบดูอสุภะบ้างไหม ไม่มีใครชอบเลย เพราะฉะนั้น ก็แสดงอยู่แล้วว่า จิตไม่สงบขณะที่เห็นอสุภะใช่ไหม ตามปกติ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าความสงบอยู่ที่อสุภะ อย่าลืมว่า ความสงบไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์ซึ่งเป็นสมถกัมมัฏฐาน แต่อยู่ที่ปัญญารู้ว่า เหตุไรจิตจึงสงบได้เมื่อเห็นอสุภะ ซึ่งถ้าจิตของใครยังไม่สงบเมื่อเห็นอสุภะ ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นต่อให้ไปจ้องสักเท่าไรก็ไม่สงบ จนกว่าปัญญาจะมนสิการได้ถูกต้องว่า เมื่อเห็นอสุภะแล้วสงบได้เพราะอย่างไร เมื่อรู้ว่าเหตุที่จิตสงบเพราะอสุภะนั้นแล้ว จึงสามารถที่จะสงบขึ้นอีกได้ในคราวต่อๆ ไปเมื่อเห็นอสุภะ
โดยมากเด็กๆ ย่อมกลัวซากศพ แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ก็แล้วแต่ว่าจะมี โยนิโสมนสิการแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีโยนิโสมนสิการ ก็ไม่สามารถที่จะเกิดความสงบได้ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่แต่ละท่านว่า จิตของท่านสงบแล้วหรือยังขณะที่เห็นอสุภะ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้
เพราะฉะนั้น เป็นการไม่ถูกต้องที่จะชักชวนใครก็ตามว่า ไปทำสมถะกันเถอะ โดยที่มีอารมณ์นั้น อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ ให้ไปจดจ้องที่อารมณ์นั้น อารมณ์นี้ เพราะว่าบางคนเกิดอกุศลจิตแทนกุศลจิต ไม่สงบเลย ดูทั้งวันก็ไม่สงบ
แต่ว่าโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา ในมหาสติปัฏฐานทุกบรรพที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เพื่อให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่าคงจะไม่มีใครหลีกเลี่ยงการพบเห็นอสุภะได้ในชีวิตประจำวัน บางคนก็กระทบสัมผัสถูกต้องอสุภะนั้นด้วย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แม้เป็นอสุภะ เคยเห็น เคยยึดถือว่าเป็นอสุภะ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ขณะที่สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม ศึกษา รู้ชัดในลักษณะที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ในขณะที่กำลังประสบกับอสุภะนั้น ไม่ว่าจะทางตา หรือทางจมูก หรือทางกาย ขณะนั้นสติสามารถที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ นี่เป็นโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน คงจะไม่เข้าไปสู่ป่าช้า ไปเพ่งอสุภะเพื่อที่จะให้จิตสงบเกิดนิมิต และมีความสงบที่มั่นคงขึ้นจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เพราะว่าผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาโดยไม่ได้เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมหวังผล คือ ปฐมฌาน จากการที่มีอสุภะเป็นอารมณ์ แต่อสุภกัมมัฏฐานนั้นไม่สามารถจะให้จิตตั้งมั่นถึงขั้นทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌานได้ เพราะตามปกติธรรมดานั้นอสุภะย่อมเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ จึงต้องอาศัยวิตก ตรึกถึงอสุภะนั้นด้วยความสงบจริงๆ ถ้าปราศจากวิตกโดยแยบคายแล้ว จิตย่อมไม่สงบ และถึงแม้ว่าจะสงบ ก็สงบได้เพียงขั้นปฐมฌานเท่านั้น ไม่สามารถที่จะถึงฌานขั้นต่อๆ ไปได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก
ถ. ที่กล่าวว่า ต้องอาศัยวิตกเจตสิก เราจะตรึกว่าอย่างไร จิตจึงจะสงบ
สุ. ต้องมีอสุภะกำลังปรากฏ
ถ. ถ้าอสุภะกำลังปรากฏ เราจะตรึกว่าอย่างไร
สุ. เห็นความเป็นปฏิกูล หรือความเป็นอสุภะ เห็นความไม่งาม เพื่อที่จะละความยินดีพอใจ
ถ. และตรึกว่า ไม่งามๆ อย่างนั้นหรือ
สุ. ไม่ใช่ท่อง แต่เห็นแล้วก็สลด
ถ. ไม่ต้องท่องหรือ
สุ. เวลาที่เกิดสลดสังเวชขึ้น ไม่ต้องท่องใช่ไหม จิตสงบได้
ถ. ไม่เข้าใจคำพูดของอาจารย์ที่ว่า อาศัยวิตก ไม่รู้ว่าอาศัยวิตกทำประโยชน์อะไร
สุ. ไม่ใช่นึกเป็นคำๆ วิตก คือ การตรึกนึกถึงรูปก็ได้ เสียงก็ได้ กลิ่นก็ได้ รสก็ได้ โผฏฐัพพะก็ได้
ถ. คนกลัวผี จะพิจารณาอสุภะ เหมาะหรือไม่เหมาะ
สุ. ไม่เหมาะ ต้องหายกลัวก่อนจึงจะพิจารณา
ผู้ฟัง ผมยอมรับว่า ผมเป็นปุถุชนที่มีกิเลสหนาแน่นผู้หนึ่ง ช่วงที่ดวงขึ้น ดวงดี งานการดี เงินทองคล่อง บางทีมีหลายพันในกระเป๋า ก็เกิดโลภะ ปรารถนาในการเสพเมถุนธรรม โลภะมีกำลังแรงมาก ก็พิจารณาใช้อสุภะยับยั้งอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ตลอด รู้สึกขับเคี่ยวกันตั้งนาน ทั้งสติปัฏฐาน ระลึกทางใจ ทางตา สภาพของโลภะที่เกิด กว่าจิตจะเป็นกุศลก็ยับยั้งอยู่ตั้งนาน จะละกามคุณอันเป็นโทษนี้ ต่อสู้กันนาน เพราะโลภะมีกำลังแรงมากเหลือเกิน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๗๓๑ – ๗๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780