แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
ครั้งที่ ๗๓๓
สุ. จะเห็นได้ตามความเป็นจริงว่า กุศลใดๆ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น จึงควรเห็นคุณค่าของการอบรมเจริญสติปัฏฐานยิ่งขึ้นมากกว่าอย่างอื่น เพราะถึงแม้ว่าจะไปเพ่งจ้องระลึกรู้ความเป็นอสุภะของซากศพ ก็ ชั่วขณะที่จิตสงบมั่นคง และถึงแม้ว่าจะถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิคือสมาธิที่แนบแน่นมั่นคงในอารมณ์ที่เป็นนิมิตจนกระทั่งไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอื่นใดเลย นอกจากจดจ้องแนบแน่นที่นิมิตที่มั่นคงนั้น แต่สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อขณะจิตนั้นดับไปแล้ว ก็มีปัจจัยที่จะให้ อกุศลจิตเกิดขึ้นต่อไปได้ เพราะไม่ใช่เป็นปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ไปแสวงหาซากศพมาเพ่งจ้อง เพราะรู้ว่าไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ว่าชั่วขณะหนึ่งๆ ที่มีชีวิตอยู่ ย่อมมีโอกาสหรือว่ามีกาลที่จะเห็นอสุภะ คือ ซากศพ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็นก็ควรจะรู้สภาพจิตของตนว่าสงบไหม หรือว่าปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานเกิดไหม ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใดทั้งสิ้นแม้อสุภะ เพราะว่าโดยปกตินั้น อสุภะไม่ใช่สิ่งที่เจริญตาที่ใครๆ ปรารถนาจะดู หลายท่านทีเดียวกลัว ตอนเป็นเด็กก็คงจะกลัวกันมาก เมื่อโตขึ้น ก็แล้วแต่ว่าจะยังคงมีความกลัวเหลืออยู่มากน้อยเพียงไร ที่กลัวนี่จิตไม่สงบ ถ้าไม่ศึกษาสภาพของจิตในขณะนั้น ความสงบก็เกิดไม่ได้ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม ได้เห็นจริงว่าทุกคนหนีไม่พ้น ลักษณะของอสุภะนั้นฉันใด ร่างกายของท่านก็ฉันนั้นในวันหนึ่ง หรือแม้ในขณะนี้เอง ก็เปรียบเสมือนอสุภะได้ ไม่มีความต่างกันเลย ถ้าน้อมระลึกได้อย่างนี้จริงๆ จิตสงบ
ถ. อสุภะนี่ยับยั้งโลภะหรือเมถุนธรรมได้ ขณะที่ผมพิจารณากลิ่นของตัว และเหงื่อไคลเฉพาะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยับยั้งโลภะที่จะเสพเมถุนธรรมได้สิ้นเลย ความสวยความงามพวกนี้หมดไปเลย
สุ. ชั่วคราว
ถ. ใช่ ขณะนั้นชั่วคราว แต่จิตนี้กว่าจะสงบลงไปได้ กว่าจะเป็นกุศลที่อาจหาญ ที่มีศรัทธา สติปัฏฐานช่วยได้
ส. จะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวัน ในขณะที่เห็นอสุภะตามปกติ ศึกษาจิตในขณะนั้นว่าสงบหรือไม่สงบ ถ้าสงบ เป็นความสงบขั้นสมถะหรือสติปัฏฐาน ซึ่งปัญญาย่อมสามารถรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน หรือเป็นเพียงกุศลที่เป็นความสงบของจิต ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงความสงบของจิต ก็ยังดีกว่าที่จะเป็นอกุศล แต่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้นย่อมดีกว่า เพราะสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ด้วยเหตุนี้ อสุภกัมมัฏฐานจึงสามารถเป็นอารมณ์ของสมถภาวนาก็ได้ หรือวิปัสสนาภาวนาก็ได้
สำหรับสมถภาวนา ก็โดยการแสวงหาอสุภะเพื่อที่จะให้จิตจดจ้อง ตั้งมั่นจนกระทั่งเกิดนิมิตในอสุภะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่อื่นก็สามารถที่จะสงบได้ เพราะมีอสุภะเป็นนิมิตที่จิตระลึกอยู่ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนา ก็คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่เห็นอสุภะว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
สำหรับสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ ต่อไปคือ อนุสสติ ๑๐
อนุสสติ ๑๐ คือ การระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ระลึกถึงคุณของพระธรรม ๑ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์คือพระอริยเจ้า ๑ ระลึกถึงคุณของศีล ๑ การระลึกถึงจาคะ การสละ หรือการให้ทาน ๑ ระลึกถึงเทวดา คือ คุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ๑ ระลึกถึงความตาย คือ มรณสติ ๑ ระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกาย คือกายคตาสติ ๑ ระลึกถึงลมหายใจ คือ อานาปานสติ ๑ ระลึกถึงสภาพของ พระนิพพาน คือ อุปสมานุสสติ ๑ รวมเป็นอนุสสติ ๑๐
อนุสสติ ๑๐ ไม่ใช่แค่อยู่ในหนังสือ แต่ขณะนี้เอง ปัญญารู้ว่ากำลังสงบหรือไม่สงบ และถ้าสงบ สงบเพราะอนุสสติอะไร ปัญญาต้องรู้ตรงตามสภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่างขณะที่ท่านกำลังสวดมนต์ ก่อนที่จะได้ฟังธรรมเคยศึกษาสภาพของจิตที่กำลังสวดหรือเปล่าว่าสงบไหม บางคนสวดมนต์เป็นกิจวัตร แต่ว่ารีบๆ สวดให้เสร็จ จะได้ไปทำธุระอย่างอื่น ขณะนั้นสงบหรือเปล่า ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า การท่องบทพระพุทธคุณบทหนึ่งบทใดเป็นกุศลจิตเสมอก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ไม่สามารถที่จะให้กุศลจิตตั้งอยู่ติดต่อกันได้เป็นเวลานาน แม้แต่ในขณะที่บำเพ็ญทานกุศล เจตนาให้มี เป็นกุศล มีความผ่องใสของจิต บางครั้งก็ชั่วขณะเล็กน้อย และอกุศลก็เกิดมากมาย เต็มไปด้วยความห่วงใยกังวลในกิจน้อยใหญ่ที่จะต้องกระทำในการกุศลนั้น หรือว่าในขณะใดที่เห็นสิ่งที่จะถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จัดไว้อย่างดี ประณีตสวยงาม ขณะนั้นยินดีพอใจเป็นโลภมูลจิตแล้ว
จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว ละเอียด และวิจิตรมาก ท่านที่ไม่ได้ศึกษาสภาพของจิต คือ สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตจริงๆ จะไม่สามารถบอกได้ว่า ขณะนี้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต รู้ว่ามีจิต รู้ว่าจิตอยู่ใกล้มาก ถ้าตามตำราก็จะบอกกันได้เป็นเสียงเดียวว่า กำลังฟังธรรมนี้เป็นกุศลจิต แต่อย่าลืมว่าความเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของจิต กุศลจิตเกิดแล้วก็ดับ และอกุศลจิตมากมายหลายประการก็แทรกแซงเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว สามารถที่จะรู้ชัดและตรงจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลว่าเป็นกุศล ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลว่าเป็นอกุศล ซึ่งก่อนนั้นอาจจะไม่เคยสังเกตขณะที่สวดมนต์ไหว้พระว่า จิตนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า เข้าใจรวมๆ ว่าเป็นกุศล แต่ปัญญาต้องรู้ชัดและตรงจริงๆ ว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล บางท่านเพียงแต่กล่าวตามๆ ไปแล้วก็จบ ซึ่งขณะนั้นจะกล่าวว่าเป็นกุศลได้ไหม
ถ. แต่ก่อน ขณะที่สวดมนต์ไม่เคยรู้ว่าจิตเป็นกุศลหรืออกุศล บางครั้งก็ง่วงนอน สวดถูกบ้างผิดบ้าง เสร็จแล้วก็จบ นอนได้ บางครั้งก็รีบๆ สวดให้เสร็จ บางครั้งไม่ค่อยรีบเท่าไร ก็รู้สึกว่าประณีตนิดหน่อย แต่ในตอนหลังเมื่อเจริญสติแล้ว พอฝึกหัดเจริญสติ ขณะที่จิตเป็นกุศลก็พอจะรู้ได้เป็นบางครั้ง และบ่อยครั้งขึ้น ขณะที่เป็นอกุศลก็รู้บ่อยครั้งขึ้น ก็รู้สึกว่า ขณะที่สวดมนต์ก็ยังมีอกุศลแทรกเข้ามาจริงๆ อย่างที่อาจารย์ว่า บางครั้งก็นึกถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งความจริงไม่น่าจะนึกถึงเลย แต่ก็นึกขึ้นมา ไม่สามารถจะบังคับได้จริงๆ ขณะที่เขาจะเป็นอะไรก็ตาม เป็นความจริงอย่างนั้น
สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะอบรมความสงบของจิตโดยระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพุทธานุสสติ จะทำได้โดยง่าย หรือว่าโดยยาก ถ้าไม่รู้สภาพของจิตเลยกระทำไม่ได้ แต่ถ้ารู้จะเห็นว่า บางครั้งอกุศลเกิดแทรกแซง ไม่ใช่ความสงบจริงๆ และเวลาที่เป็นกุศลจิตในการสวดมนต์ อาจจะเป็นเพียงกุศลขั้นศีล คือ ขั้นกิจที่กระทำเป็นประจำวันทางกายและทางวาจา แต่ว่าลักษณะของจิตในขณะนั้นไม่ใช่สมถภาวนา ไม่ใช่ขั้นอบรมความสงบของจิต เพราะว่าจิตในขณะนั้นไม่ปรากฏลักษณะของความสงบ ที่จะสงบขึ้นโดยการระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
และในวันหนึ่งๆ ท่านระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความสงบแค่ไหน เพราะแม้แต่ขณะที่กล่าวคำสรรเสริญคุณ ก็ยังไม่ค่อยจะสงบ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่จะเจริญความสงบโดยการระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยิ่งขึ้นเป็นสมถภาวนาจะยากหรือจะง่าย และจะเป็นเพียงแต่การท่องเท่านั้นได้ไหม โดยที่ไม่สังเกตว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือไม่สงบ
ถ. ขณะที่เจริญสติและก็สวดมนต์ มีสติระลึกรู้ตามคำที่สวด อย่างคำว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา ระลึกรู้ไปตามคำ บางครั้งก็เว้น ไม่มีสติ บางครั้งก็มีสติติดต่อกันหลายขณะ ซึ่งขณะที่มีสติก็ระลึกรู้ตามคำจนกระทั่งสวดจบ มีสติ คล้ายๆ กับมนสิการอยู่กับการสวดนั้น อย่างนี้จะเรียกว่าจดจ้องไหม
สุ. ไม่ใช่จดจ้อง จดจ้อง หมายความว่า เลือกอารมณ์ ไม่ต้องการอารมณ์อื่น ต้องการที่จะให้ระลึกรู้เฉพาะอารมณ์นั้นอารมณ์เดียว
ถ. ถ้าขณะที่ฟัง และมีสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง ตามเสียง หรือตามคำอย่างนี้จะเรียกว่า สมถภาวนา หรือว่าเป็นอารมณ์ของ ...
สุ. ขณะใดที่จิตสงบ ปรากฏอาการของความสงบ นั่นเป็นสมถภาวนา
ถ. แต่ถ้าขณะที่สงบแล้ว มีสติระลึกรู้ความสงบนั้นว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น
สุ. นั่นเป็นสติปัฏฐานที่จะนำไปสู่การที่จะประจักษ์แจ้งว่า เท่านั้นจริงๆ นั้น คืออย่างไร ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้น กุศลก็เกิดสลับกันไป ทั้งสมถะบ้าง วิปัสสนาหรือสติปัฏฐานบ้างนั่นเอง บางทีก็เพียงขั้นศีล บางทีก็เพียงขั้นทาน เวลาที่ลักษณะของความสงบปรากฏ จะเห็นว่า ความสงบนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่ลักษณะของสมาธิ แต่เวลาที่ความสงบมั่นคงขึ้น สมาธิมีกำลังพอที่จะให้รู้ว่าเป็นสมาธิที่เพิ่มกำลัง ต่างกับความสงบที่ยังไม่ได้ประกอบด้วยสมาธิ แต่ในที่นั้นจะต้องมีความสงบปรากฏด้วย
ถ. สะสมไว้มากๆ ก็ปรากฏให้เจ้าของรู้ได้ว่า ขณะนั้นจิตมีความสงบเพิ่มขึ้นประกอบด้วยปัญญา
สุ. ใช่ ลักษณะของความสงบจะเพิ่มขึ้น ยังไม่ถึงขั้นอุปจารสมาธิก็รู้ว่าไม่ใช่อุปจารสมาธิ แต่เป็นความสงบที่มีกำลังเพิ่มขึ้นด้วย
ท่านผู้ฟังเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะไหนบ้างที่จะเป็นอนุสสติ ที่จะทำให้ระลึกและสังเกตรู้ได้ว่า ขณะนั้นจิตสงบ มีไหม
ที่ได้ฟังพระธรรมมาแล้ว ที่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม คือ อบรมเจริญสติปัฏฐาน มีขณะไหนบ้างในชีวิตประจำวัน ที่ระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และจิตสงบ เป็นพุทธานุสสติในขณะนั้น
ถ. อาจารย์ถามถึงว่า เคยระลึกถึงพระพุทธคุณ ซาบซึ้งในคำสอนของ พระพุทธองค์บ้างไหม ผมปฏิบัติมาตั้ง ๑๐ – ๒๐ ปี คือ ปฏิบัติไปๆ ก็ยังสงสัยว่า พระผู้มีพระภาครู้จริงหรือเปล่า ปฏิบัติมานานๆ เราปฏิบัติไม่ถูกก็ไม่ได้ผล พอไม่ได้ผลก็นึกสงสัยว่า จริงหรือเปล่า จนได้ฟังอาจารย์ แต่ข้อพิสูจน์ที่ผมเชื่อพระผู้มีพระภาคโดยเด็ดขาด ๑๐๐% เต็มนี้ มีเหตุผล ไม่ใช่ทางธรรม แต่เป็นทางโลก คือ ผมเคยอ่านหนังสือจะเป็นใครแต่งก็ไม่ทราบ เรื่องมีว่า มีฤๅษีองค์หนึ่งถามว่า โลกจักรวาลนี้ กว้างใหญ่แค่ไหน พระผู้มีพระภาคตอบว่า ไม่มีกำหนด พระฤๅษีองค์นั้นมีฤทธิ์เหาะได้ในลัดนิ้วมือเดียวไม่รู้กี่ร้อยโยชน์ เหาะไปตั้ง ๗ ปี กลับมาบอกว่ายังไม่ทั่ว และเมื่อได้ศึกษาธรรม เราก็พิสูจน์ได้จริงทุกอย่างเลย
สุ. ถ้าฟังพระธรรม แต่ไม่เข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นธรรมที่พิสูจน์ได้และสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ก็ยากที่จะเห็นพระพุทธคุณ
เพราะฉะนั้น ท่านจะระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจในพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ จึงเห็นพระคุณได้ว่า พระองค์ทรงรู้แจ้งและได้ทรงแสดงสภาพธรรมตามที่ได้ทรงตรัสรู้เพื่อทรงอนุเคราะห์สัตว์โลก
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านได้กล่าวถึงเรื่องผลของการฟังธรรมและการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานของท่าน ซึ่งแต่ก่อนนี้โดยมากท่านที่จะทำวิปัสสนาก็มักจะไต่ถามกันถึงผลว่า ได้รับผลแค่ไหนอย่างไรแล้ว ซึ่งก็กล่าวกันอย่างวิจิตรมาก เป็นต้นว่า ได้ถึงญาณนั้นญาณนี้แล้ว หรือว่ากำลังจะถึงญาณนั้นแล้ว หรือว่ากำลังจะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ผ่านอุทยัพพยญาณแล้วบ้าง หรือว่ากำลังจะเป็นอุทยัพพยญาณบ้าง หรือว่ากำลังจะเป็นนิพพิทาญาณบ้าง ซึ่งท่านก็กล่าวถึง วิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ กันเป็นผล และท่านผู้นั้นก่อนที่จะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานก็เข้าใจว่า ท่านได้ผลอย่างที่ท่านอื่นๆ ได้ คือ ใช้คำว่า คงจะใช่ เพราะไม่แน่ใจ ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ก็ยังต้องยังสงสัยอยู่ ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งชัดว่าเป็นปัญญาจริงๆ เพราะลักษณะของปัญญาที่แทงตลอดสภาพธรรมตามความเป็นจริงย่อมหมดความสงสัยและแจ่มแจ้ง จะไม่มีคำว่า คงจะใช่
เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นก็เคยคิดว่า ท่านคงจะถึงอุทยัพพยญาณ หรือว่าคงจะเกินอุทยัพพยญาณแล้ว แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็ทิ้งความหวัง ความต้องการโดยไม่สมควรแก่ผลเลย เพราะว่าปัญญายังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติใดๆ เลย
ปัจจุบันนี้ท่านได้กล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านได้ฟังธรรมมานานด้วยการไตร่ตรองพิจารณาเพิ่มความเข้าใจขึ้น และเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานมากขึ้น เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ผลที่ท่านได้ก็คือ ท่านรู้จักตัวของท่านตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูก สภาพนามธรรมทั้งหลายและรูปธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏกับแต่ละบุคคล ย่อมต่างกันตามการสะสม
ผลของการเจริญสติปัฏฐาน ท่านรู้จักตัวของท่านเองตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมใด รูปธรรมใดที่เกิดขึ้นปรากฏตามเหตุตามปัจจัย ถ้ากำลังมี โลภะอย่างอ่อน ก็รู้ยากสำหรับท่านผู้นั้น แต่เวลาที่โลภะของท่านมีกำลังแรง ท่านก็รู้ว่า โลภะของท่านทัดทานไม่ได้ ห้ามไม่ได้เลย สะสมมาที่จะมีโลภะในสิ่งนั้น พอถึงโทสะ ตามความรุนแรงของโทสะ ท่านก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของโทสะ เป็นอาการของโทสะ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เวลาที่โลภะอ่อนๆ ปกติธรรมดา โทสะน้อยๆ ขัดเคือง รำคาญใจนิดๆ หน่อยๆ ท่านไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงของท่าน เวลาที่จิตของท่านเศร้าหมองไปด้วยอกุศลที่มีกำลังแรง สติระลึกรู้ในอาการของอกุศลนั้นๆ เพราะฉะนั้น ผลที่ท่านได้ คือ ท่านรู้จักตัวของท่านตามความเป็นจริง และก็ทิ้งความหวัง ความห่วงใย ความกังวล การรอคอยอุทยัพพยญาณและญาณอื่นๆ เพราะว่าเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน
ขอให้ท่านผู้ฟังระลึกถึงความสงบของจิตของท่านว่า เคยมีบ้างไหม เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะเป็นพุทธานุสสติ ถ้าจิตจะสงบก็ต้องสงบจริงๆ อาการสงบจะต้องปรากฏในขณะที่กำลังระลึกถึงพระคุณ
ท่านสามารถที่จะทราบอรรถ ความหมายของ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา ว่าแต่ละศัพท์แต่ละคำนั้นหมายความว่าอย่างไร แต่ว่าขณะนั้นจิตสงบไหม ถ้าจิตเป็นกุศลขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่ว่าอาการของความสงบของจิตปรากฏไหม
กุศลที่ระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเพราะเหตุปัจจัย มีได้เช่นเดียวกับกุศลขั้นทาน กุศลขั้นศีล
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๗๓๑ – ๗๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780