แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
ครั้งที่ ๗๔๐
ถ. อสงไขย กับ กัป ต่างกันอย่างไร
สุ. กัปก็นานมาก เป็นกัปหนึ่ง และก็ไปถึง ๔ อสงไขยแสนกัป แสนกัปนั่นก็เป็นส่วนเกิน ยังไม่ถึงอสงไขย
ถ. หมายความว่า แต่ละกัปๆ นี้นับไม่ถ้วน เรียกว่า อสงไขยหนึ่ง
สุ. เรียกว่า กัปหนึ่ง ๒ กัป ๓ กัป ๔ กัป จนถึงแสนกัป และก็นับต่อไปถึงอสงไขยกัป และก็ ๔ อสงไขย และยังอีกแสนกัป
คือ ๑ กัปก่อน ซึ่ง ๑ กัปก็นับไม่ถ้วน นับไม่ถ้วนก็นับไป เป็น ๑ กัป ๒ กัป ๓ กัป จนถึง ๑๐๐ กัป ๑,๐๐๐ กัป ๑๐,๐๐๐ กัป แสนกัป ล้านกัป โกฏิกัปป์ และจนถึงอสงไขยกัป และต่อไปเป็น ๔ อสงไขย และยังอีกแสนกัป จะนับไหม
ถ. อสงไขยนี้เป็นกี่โกฏิ
สุ. คิดเอง ถึงรู้แล้วก็ไม่ทราบว่า อยู่ที่ไหน วันไหน เวลาไหนที่จะรู้อย่างนั้นได้จริงๆ
ถ. ขณะที่สวดมนต์ ไม่ได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ก็สวดไป เช่น อิติปิโส อย่างนี้ อะระหัง ภะคะวา ก็ท่องตามอย่างนี้ ขณะนั้นชื่อว่าเจริญพุทธานุสสติหรือไม่
สุ. เป็นการท่อง
ถ. ขณะที่ท่อง ไม่ได้เจริญพุทธานุสสติ
สุ. อนุสสติ เป็นการะลึกถึงพระคุณด้วยความเข้าใจในพระคุณ ถ้าไม่รู้ในพระคุณของพระองค์เลย จะเข้าใจไหมว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาคุณอย่างไรบ้าง แต่เมื่อเข้าใจแล้ว สามารถที่จะระลึกถึงได้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามที่ได้ทรงแสดงแล้ว
หลายท่านเคยเป็นคนที่โกรธง่าย โกรธมาก แต่เวลาที่สามารถบรรเทาลงได้ เพราะระลึกถึงพระธรรม จะซาบซึ้งในพระคุณทันทีว่า อกุศลของท่านในขณะนั้นที่ลดลง และกุศลเพิ่มขึ้น ก็ด้วยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้
เพราะฉะนั้น การเห็นพระคุณนี้จะเห็นได้ตลอดในขณะที่กุศลจิตที่ไม่เคยเกิดเกิดขึ้น แม้แต่ความเมตตา ซึ่งอาจจะเกิดน้อยมากในกาลก่อน แต่เมื่อได้เห็นคุณ เห็นอานิสงส์ เห็นประโยชน์ว่า สิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ ธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้ก็เกื้อกูลเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น และขณะใดที่เกิดกุศล น้อมระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทันที จะเกิดความสงบ เกิดความปีติ ในขณะที่ระลึกถึงพระคุณ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ท่อง แต่เป็นการระลึกถึงพระคุณ ซึ่งแต่ก่อนนี้เคยท่องเท่านั้น แต่เมื่อมีความเข้าใจในพระธรรมยิ่งขึ้นแล้ว ขณะที่ท่องระลึกถึงพระคุณด้วยหรือเปล่า ซึ่งก็แล้วแต่ขณะจิต เพราะแต่ละขณะไม่เหมือนกัน บางครั้งอาจจะเป็นเพียงการท่องโดยไม่ระลึกถึงพระคุณเลย หรืออาจจะพยายามระลึกบ้างเล็กๆ น้อยๆ หรือบางครั้งก็อาจจะเต็มไปด้วยการระลึกถึงพระคุณในขณะที่กล่าวถึงพระคุณก็ได้
ถ. ไม่ใช่เป็นการเจริญพุทธานุสสติ แต่ขณะที่สวดมนต์ ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศล
สุ. แน่ใจหรือ
ถ. ได้ยินว่าอย่างนั้น
สุ. มิได้ แต่ละท่านไม่เหมือนกัน ให้เด็กๆ กล่าวคำภาษาบาลี ซึ่งผู้ใหญ่เข้าใจดีว่าคำนั้นมีความหมายว่าอะไร แต่เด็กไม่เข้าใจเพียงท่องได้ จะรู้ไหมว่า เด็กที่กำลังท่องเป็นกุศล หรือไม่เป็นกุศล
เพราะฉะนั้น กุศลจิตมีลักษณะสภาพของกุศลจิตให้รู้ว่าเป็นกุศล อกุศลจิตก็มีลักษณะสภาพของอกุศลจิตให้รู้ว่าเป็นอกุศล ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น แต่ละท่านตอบแทนกันไม่ได้ แต่ละท่านต้องพิจารณาสภาพจิตในขณะนั้นตามความเป็นจริง และกุศลจิต อกุศลจิต ก็เกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ยากที่จะรู้ แม้ในขณะนี้ถ้าสติไม่เกิด ไม่สังเกต ไม่สำเหนียก ไม่รู้ในความต่างกันของกุศลและอกุศลซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ในขณะใดเป็นกุศล ในขณะใดเป็นอกุศล แต่ถ้าสติมีความชำนาญ และสังเกตรู้ลักษณะของกุศลจิตและอกุศลจิตจนคล่องแคล่ว ก็สามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และกุศลมาก หรืออกุศลมาก
ถ. เรื่องนี้เพิ่งจะได้ยิน คนทั่วๆ ไปเขาก็กล่าวกันว่า ขณะที่สวดมนต์ ขณะนั้นจิตเป็นกุศล
สุ. ใครสวด อย่าลืม บุคคลที่เป็นพุทธศาสนิกชนมีศรัทธา หรือว่าบุคคลอื่นซึ่งศึกษาภาษาบาลีแต่ไม่ได้มีความเลื่อมใสในพระศาสนา
บทสวดเป็นภาษาบาลี ผู้ที่เชี่ยวชาญในทางภาษาบาลีก็มีมาก อาจจะกล่าวคำนั้นก็ได้ ท่องซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้งเพื่อคิดหาคำแปลที่ถูกต้องให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าในขณะนั้นมีศรัทธา หรือว่ามีความเลื่อมใสที่เป็นกุศลจิต
ธรรมเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องละเอียดด้วย ซึ่งมีสภาพปัจจัยแต่ละขณะที่จะเกิดขึ้นเป็นชาติกุศล หรือเป็นชาติอกุศล ตามเหตุตามปัจจัย ไม่สามารถที่จะกล่าวรวมไปได้ว่า จะต้องเป็นกุศลเสมอไป หรืออกุศลเสมอไป แล้วแต่เหตุปัจจัย
ถ. เป็นเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง คือ พระที่ท่านนั่งสมาธิและท่องพุทโธๆ ท่านก็ไม่ได้ระลึกรู้คุณของพระพุทธเจ้าว่า คุณของพระพุทธเจ้ามีอย่างไรบ้าง
สุ. ทำไมถึงทราบ
ถ. ท่านกล่าว
สุ. จิตของท่านเอง ท่านรู้
ถ. ท่านกล่าวว่า สมัยนั้นท่านไม่ได้ศึกษาอะไรมากมาย ไม่ได้รู้ซึ้งอะไรมากมาย
สุ. ท่านทราบไหมว่า พุทโธ หมายความถึงใคร
ถ. หมายถึงผู้ที่ตรัสรู้
สุ. ท่านมีความเลื่อมใสในบุคคลนั้นไหม
ถ. มี แต่ว่าคุณของท่านมีอะไรบ้าง ก็ยังรู้ไม่มาก หรือไม่รู้เลยก็ได้
สุ. ถ้าเกิดปีติเลื่อมใส แม้เล็กน้อยในความหมายของพุทโธ ขณะนั้นเป็นกุศลได้ไหม
ถ. ได้ แต่ท่านก็ใช้คำว่า ภาวนา ท่านภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ จนกระทั่งท่านเกิดปีติ ตัวเบา ขนชูชัน น้ำตาไหลเพราะปีติ เพราะฉะนั้น การที่ว่า ท่องพุทโธ พุทโธ ถึงแม้จะไม่รู้คุณของพระพุทธเจ้าว่ามีอะไรบ้าง อานิสงส์ก็มีอยู่ เท่าที่พระท่านเล่า ก็เป็นอานิสงส์ทำให้จิตสงบได้ ทำให้สบายได้ โดยไม่ได้รู้คุณของพระพุทธเจ้าว่า มีอะไรเลย
สุ. เป็นกุศลได้ใช่ไหม ในขณะนั้น แต่จะน้อยหรือจะมาก ผู้นั้นต้องรู้เอง
สำหรับเรื่องการกราบพระสวดมนต์ที่เคยปฏิบัติกันตามประเพณีตั้งแต่เล็กจนโต ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ส่วนมากแล้วเป็นกุศลขั้นศีล ขั้นอปจายนะ การนอบน้อมต่อบุคคลที่ควรนอบน้อม แม้แต่การแสดงความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ เช่น ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้มีคุณความดีต่างๆ นั่นก็เป็นกุศลขั้นศีล คือ อปจายนะ เพราะฉะนั้น การกราบพระสวดมนต์โดยที่ไม่ได้ระลึกถึงพระคุณในขณะนั้น เป็นกุศลขั้นศีล ไม่ใช่ขั้นสมถภาวนา แต่เป็นกุศลที่แสดงความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ก็เป็นกุศล แต่ว่าเป็นกุศลขั้นศีล
ผู้ฟัง แต่ก่อนกราบพระโดยไม่ค่อยรู้อะไรเลย แต่ปัจจุบันหลังจากเจริญสติปัฏฐานมานานพอสมควร แม้ว่าขณะที่ไม่ได้กราบพระ แต่จิตก็เป็นกุศลขณะที่ระลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค ดิฉันขอเรียนว่า ถ้าหากไม่มีอาจารย์สุจินต์แล้ว ดิฉันไม่สามารถจะเข้าใจธรรมได้ เมื่อดิฉันได้ฟังอาจารย์บรรยายและก็ปฏิบัติตามทุกประการ ทำให้รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสมบูรณ์ทุกประการ ซึ่งแต่ก่อนรู้แต่เพียงชื่อ
สุ. ขออนุโมทนา
ขอกล่าวถึงผลของการบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเมื่อเหตุ คือ การบำเพ็ญบารมีถึงพร้อมแล้ว ก็เป็นเหตุให้พระองค์ได้รับผลสัมปทา
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยสัมปทา ๓ คือ ๑ เหตุสัมปทา ๒ ผลสัมปทา ๓ สัตตูปการสัมปทา
สำหรับเหตุสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยเหตุ คือ พระบารมีที่ทรงบำเพ็ญ ๔ อสงไขยแสนกัป ทำให้ทรงบรรลุผล หรือ ผลสัมปทา ๔ คือ
๑. ญาณสัมปทา เป็นการถึงพร้อมด้วยมรรคญาณ อันเป็นที่ตั้งแห่ง พระสัพพัญญุตญาณ พระทศพลญาณ และพระเวสารัชชญาณ และพระญาณซึ่งสมบูรณ์พร้อมในพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น เพราะว่าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงการที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าบรรลุคุณธรรมเป็นเพียงพระอริยสาวก มรรคจิตเกิด ดับกิเลสตามลำดับขั้นของมรรคจิต แต่ว่ามรรคจิตนั้นไม่เป็นที่ตั้งของสัพพัญญุตญาณหรือญาณอื่นๆ ซึ่งเป็นญาณพิเศษเฉพาะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคนั้น ทรงบรรลุผล คือ ผลสัมปทาที่ ๑ คือ ญาณสัมปทา ได้แก่ มรรคญาณ อันเป็นที่ตั้งแห่งพระสัพพัญญุตญาณ และพระญาณอื่นๆ เฉพาะพระองค์
๒. ปหานสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยการละกิเลสพร้อมทั้งวาสนา
วาสนา หมายความถึง ความเคยชินที่เคยประพฤติปฏิบัติมา
อกุศลเป็นส่วนหนึ่งซึ่งมรรคจิตดับเป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้นของผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า คือ พระโสดาบันบุคคลปหานหรือละกิเลสอะไรบ้างเป็นสมุจเฉท พระสกทาคามีละกิเลสอะไรบ้าง พระอนาคามีละกิเลสอะไรบ้าง และ พระอรหันต์ดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท แต่แม้พระอรหันต์ก็ละวาสนา คือ ความประพฤติที่เคยชิน ที่เคยอบรมเป็นนิสัยมาในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานนั้นไม่ได้ แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงถึงพร้อมด้วยปหานสัมปทา คือ ทรงถึงพร้อมด้วยการละกิเลสพร้อมทั้งวาสนา
อากัปกิริยาอาการ ซึ่งไม่เป็นที่เหมาะที่ควรใดๆ ทั้งสิ้นที่เคยมีมา ประพฤติมา ปฏิบัติมาในอดีต เมื่อถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงละได้โดยเด็ดขาด ไม่เหมือนกับบุคคลอื่น ซึ่งเพียงแต่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ละวาสนาไม่ได้
ถ้าศึกษาในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา จะยิ่งเพิ่มความปีติเลื่อมใสในการประพฤติปฏิบัติของพระผู้มีพระภาคว่า ไม่มีบุคคลใดเปรียบได้ การยืน การเดิน การรับบิณฑบาต ทุกอย่าง ซึ่งท่านผู้ฟังจะศึกษาได้จากพระไตรปิฎก
ผลสัมปทาต่อไป คือ
๓. อานุภาวสัมปทา คือ ถึงพร้อมในความเป็นใหญ่ในการให้สำเร็จได้ตามที่ปรารถนา ไม่ว่าจะทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ใดๆ เหนือบุคคลใดทั้งสิ้น ย่อมสามารถที่จะกระทำให้สำเร็จได้
๔. รูปกายสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยพระรูปสมบัติ อันประกอบด้วยพระมหา ปุริสลักษณะและอนุพยัญชนะ อันเป็นที่เจริญตาเจริญใจของชาวโลกทั้งมวล
สำหรับสัมปทาที่ ๓ คือ สัตตูปการสัมปทา เป็นการถึงพร้อมด้วยพระอัธยาศัย และพระอุตสาหะที่จะอุปการะแก่สัตว์โลกเป็นนิตย์ แม้ในเหล่าสัตว์ผู้มีความผิด เช่น ท่านพระเทวทัต เป็นต้น กับทั้งทรงรอเวลาแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของเวไนยสัตว์ ผู้มีปัญญินทรีย์ยังไม่แก่กล้า และทรงแสดงพระธรรมอันจะนำสัตว์ออกจากทุกข์ทั้งปวง โดยที่พระองค์มิได้ทรงเพ่งลาภสักการะ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่ยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน ทรงถึงพร้อมด้วย พระอัธยาศัยและพระอุตสาหะที่จะอุปการะแก่สัตว์โลกเป็นนิตย์ แม้ในเหล่าสัตว์ผู้มีความผิด ทรงมีความอดทนที่จะรอเวลาที่แก่กล้าแห่งอินทรีย์ของผู้ที่ยังไม่ได้อบรมปัญญามาถึงความแก่กล้า ทรงอุตสาหะที่จะรอเวลานั้น ที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลนั้นให้สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๗๓๑ – ๗๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780