แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
ครั้งที่ ๗๔๖
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต กัจจานสูตร ท่านพระมหากัจจานะได้สรรเสริญพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องการเจริญอนุสสติ ๖ ซึ่งท่านจะต้องเข้าใจในเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเฉพาะอนุสสติ ๖ แก่การอบรมเจริญธรรมในชีวิตประจำวันของผู้ที่เป็นพระอริยสาวกทั้งหลาย
ข้อความใน กัจจานสูตร ข้อ ๒๙๗ มีว่า
ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหากัจจานะ เรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจานะแล้ว ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวดังนี้ว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ ข้อที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ถึงโอกาสได้ในที่คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน
ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และพระคุณประการอื่นๆ
ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นเป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก
ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ อริยสาวกนั้นแล ย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนโดยประการทั้งปวงอยู่ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำพุทธานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ
ข้อความต่อไป เป็นเรื่องธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ โดยนัยเดียวกัน
ข้อความตอนท้าย ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ... การถึงโอกาสได้ในที่คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๖
เหมือนเดิมหรือเปล่า หรือได้ความซาบซึ้งขึ้นอีกที่ว่า อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
ในชีวิตประจำวัน มีเหตุการณ์ใดบ้างที่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ความเปลี่ยนแปลง ลาภก็ดี เสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี เสื่อมยศก็ดี สรรเสริญก็ดี นินทาก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ซึ่งมาในรูป ในเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน ความทุกข์ของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันใช่ไหม หรือแม้ในคนเดียวกัน ในช่วงหนึ่งของชีวิต ความทุกข์ก็เป็นอย่างหนึ่ง ความสุขก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ความทุกข์ที่ไม่อาจจะเป็นไปได้กับบุคคลอื่น ก็อาจจะเป็นได้กับบุคคลซึ่งมีเหตุของความทุกข์นั้นๆ
ลองคิดถึงความทุกข์ว่า มีบ้างไหมในระยะนี้ ในชีวิตประจำวัน ถ้าระลึกถึงพระคุณเห็นธรรมทันทีว่า ย่อมมีเหตุที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เป็นธรรมซึ่งเป็นผลที่เกิดเพราะเหตุตามความเป็นจริง ถ้าระลึกได้อย่างนี้ ย่อมระลึกถึง พระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
ยิ่งได้ยินได้ฟังธรรมมาก ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับตนเองในชีวิตประจำวัน และเข้าใจในเหตุในผลของการเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมทั้งหลายเหล่านั้นตามความเป็นจริง ย่อมจะระลึกถึงพระพุทธคุณทันทีและเห็นว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
ทรงแสดงธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคนนี้ไว้โดยละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะประสบเหตุการณ์ต่างๆ สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ดีใจ เสียใจต่างๆ ก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละวัน แต่ละขณะ จะเป็นเหตุที่จะให้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคได้
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นเป็นจิตที่ไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความยินดี เพลิดเพลิน พอใจ เป็นลาภ เป็นยศ และระลึกได้ถึงธรรมซึ่งอาศัยเหตุ มีปัจจัยเป็นเหตุเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้น ถ้าระลึกได้อย่างนี้ สมัยนั้น จิตของผู้นั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
หรือถ้าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าพอใจเลย และระลึกได้ถึงคุณของพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงแสดงธรรมไว้ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนั้นจิตของบุคคลนั้นไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม บางครั้งเวลาที่นึกไม่ได้ ก็เป็นจิตที่เศร้าหมอง น้อยใจ เสียใจว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น แต่ขณะใดที่ระลึกได้ว่า สภาพธรรมซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นเพราะมีเหตุในอดีตเป็นปัจจัย สมัยนั้น ย่อมไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว คือ เป็นกุศล
ถ. แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ ลักษณะคำพูดอย่างนี้ เมื่อพิจารณาถึงธรรมที่เราได้ศึกษามาแล้ว ขั้นศึกษา และก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เมื่อนำมาพิจารณาตรองดู เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ ทำให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า มีธรรมอยู่หลายข้อ ไม่ใช่เฉพาะข้อใดข้อหนึ่ง แม้ไม่ใช่อริยสาวกผู้รู้แจ้งธรรมแล้ว แต่ด้วยการศึกษาและพิจารณาอย่างนี้ เกิดความเลื่อมใส เกิดความศรัทธา จะกล่าวว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ได้ไหม
สุ. ขณะใดที่เข้าใจพระธรรม
ถ. ขณะนั้นเข้าใจ
สุ. เป็นพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ขณะนั้นนึกอย่างนั้นหรือเปล่าว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้จำแนกธรรม เป็นผู้เบิกบาน
ถ. ผมไม่ได้นึกว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ แต่ใจเลื่อมใสในความสามารถ สัพพัญญุตญาณ
สุ. นั่นแหละ ความหมายของ แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้
ถ. เรารู้ว่า ปัญญาที่ตรัสรู้บริสุทธิ์เช่นนี้ พระมหากรุณานี้บริสุทธิ์แน่แล้วเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จริงๆ บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส นึกถึงความบริสุทธิ์นี้ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ซาบซึ้งถึงความบริสุทธิ์ จิตผมก็สงบ ที่ไหว้พระขณะนั้น แต่ไม่ได้สวดมนต์ ไม่เคยสวดเลย
สุ. ตรงกับข้อความใน กัจจานสูตร ใช่ไหม ที่ท่านพระมหากัจจานะได้สรรเสริญพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง ท่านเป็นพระอริยสาวกผู้มีปัญญา ท่านเข้าใจจริงๆ ถึงคุณของอนุสสติที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านจึงกล่าวว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ ข้อที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้การถึงโอกาสได้ในที่คับแคบ
ในที่คับแคบ คือ ในชีวิตประจำวันซึ่งทุกท่านมักจะถูกกลุ้มรุมด้วยนิวรณธรรม ๕ มีความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้างในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
แม้จะอยู่ในที่คับแคบ คือ ในที่ที่ถูกกลุ้มรุมด้วยกิเลสทั้งหลาย นิวรณธรรมทั้งหลาย แต่ว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้การถึงโอกาสได้ในที่ คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการ
ถ. ถ้ารู้ซึ้งถึงข้อไหน รู้จริงๆ ในข้อนั้นก็จะซาบซึ้ง แต่ผู้รู้ธรรมมีน้อย ก็เคยคุยกันว่า พระสัพพัญญุตญาณนี้ประเสริฐเลิศล้ำจริงๆ พรรณนาถึงคุณต่างๆ
สุ. เวลาที่กำลังพรรณนาพระคุณนี้ จะสังเกตถึงจิตใจที่ผ่องใส เปี่ยมด้วยความปีติได้ใช่ไหมในขณะนั้น เพราะฉะนั้น อนุสสติ ๖ นี้ พอไหมสำหรับชีวิตประจำวันที่จะสงบ และประกอบด้วยปัญญาที่สามารถจะทำให้ไม่ถูกกลุ้มรุมด้วยราคะ โทสะ โมหะ สามารถที่จะก้าวล่วงโสกปริเทวะ ดับทุกข์โทมนัส บรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน
สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องความสงบ ตอนนี้คงจะมีความเข้าใจขึ้นในเรื่องของการอบรมเจริญความสงบแล้ว
ที่คิดว่า จะไปจดจ้องที่ลมหายใจ อยากจะให้ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เมื่อไรทำอย่างไรจึงจะถึงอุปจาระ เมื่อไรทำอย่างไรจึงจะเป็นอัปปนา ในขณะนั้นไม่สงบเลย และไม่สามารถที่จะสงบได้ เพราะแม้ลักษณะของความสงบของจิตก็ไม่ได้สังเกต สำเหนียกที่จะรู้ว่า เกิดขึ้นในขณะไหน อย่างไร
ในขณะที่มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น จะเป็นความสงบไม่ได้ ต้องแยกกัน เพราะจิตเกิดดับสลับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถมี อานาปานสติเป็นอารมณ์ และก็บรรลุความสงบยิ่งขึ้นๆ ได้ มิฉะนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงเรื่องของอนุสสติ ๖ ซึ่งเป็นธรรมที่แม้พระอริยสาวกส่วนมากก็อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ คือ อนุสสติ ๖
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยสาวก ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม สติและปัญญายังไม่มั่นคงในการที่จะสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมใดๆ ก็ได้ ในเหตุการณ์ใดๆ ก็ได้ที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง โดยรู้ชัดว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อยังไม่เป็นอย่างนี้ ก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน พร้อมกันนั้นก็ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และคุณอื่นๆ ที่เป็นอนุสสติ ๖ ซึ่งในขณะนั้น จะสังเกตรู้ในสภาพความสงบของจิต พร้อมกันนั้นสติก็สามารถที่จะระลึกรู้ว่า แม้ความสงบในขณะนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ด้วยเหตุนี้จึงสามารถที่จะล่วงโสกปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และสามารถรู้แจ้งในนิพพานได้
เวลาที่มีพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ เป็นต้น เป็นอารมณ์ พอไหมสำหรับความสงบในชีวิตประจำวัน
ผู้ฟัง แต่ก่อนนี้จดจ้องที่ลมหายใจเพื่อจะรู้ว่าจิตสงบหรือเปล่า แม้แต่สติเกิดก็ยังรังเกียจกลัวว่าจิตจะคลาดเคลื่อนจากลมหายใจ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นการพิจารณาถึงข้อธรรมอย่างหนึ่ง พิจารณาถึงการกระทำที่ผ่านมาแล้ว ที่เคยมีเมตตาช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง บางทีคิดไปคิดมากิเลสเกิดบ้าง กุศลจิตเกิดบ้าง ความสงบนั้นระลึกรู้อย่างนั้น นั่งเหมือนอย่างที่เคยนั่งตอนดึกๆ แต่ไม่ได้กำหนดลมหายใจเหมือนก่อน เลิกแล้ว และก็พิจารณาถึงโทษของกามคุณ ๕ ต่างๆ เหล่านี้ โดยไม่ได้กำหนดที่ลมหายใจ
สุ. เปรียบเทียบได้ใช่ไหมว่า ความสงบที่เป็นความสงบจริงๆ ผิดกับขณะที่ต้องการที่จะจดจ้อง
ผู้ฟัง ความสงบจริงๆ เกิดจากสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นสงบจริงๆ ปกติเราไม่รู้สภาพที่สงบเป็นอย่างไร ก็ไปจ้องที่ลมหายใจ พยายามทำให้สงบ แต่ที่จริงไม่สงบ เพิ่งเข้าใจเมื่อเร็วๆ นี้เอง ถ้าอาจารย์ไม่พูด ผมก็ยังไม่รู้
ถ. เพิ่งจะรู้วันนี้เองว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายส่วนใหญ่อยู่ด้วยอนุสสติ ๖ ผมคิดว่า อนุสสติ ๖ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับฆราวาส ถ้าพระผู้มีพระภาคแสดงธรรมกับพระภิกษุ ส่วนใหญ่พระองค์ก็ตรัสให้ภิกษุทั้งหลายนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ลมหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ แต่ทำไมพระอริยบุคคลทั้งหลายไม่เชื่อฟังพระผู้มีพระภาค ส่วนใหญ่ไปมีอนุสสติ ๖ เป็นเครื่องอยู่
สุ. เพราะเชื่อฟัง จึงได้มีอนุสสติ ๖ เป็นเครื่องอยู่
ถ. ก็อนุสสติ ๖ ไม่มีลมหายใจอยู่ในนั้น คือ ลมหายใจเป็นอนุสสติอีกประเภทหนึ่ง
สุ. อย่าลืม ส่วนใหญ่ อย่าทิ้งคำนี้ ที่แสดงเรื่องอานาปานสตินั้น จะเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ ต้องเป็นส่วนน้อย แสดงกับพระภิกษุส่วนน้อยที่สามารถจะบรรลุคุณอันใหญ่ คือ ถึงขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิได้ เพราะว่าได้มีบุญที่ได้กระทำไว้ หรือว่าได้มีอุปนิสัยที่ได้กระทำไว้แล้ว
ถ. อนุสสติ ๖ เป็นเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย และเป็นอารมณ์ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ด้วยใช่ไหม เพราะฉะนั้น อนุสสติ ๖ ก็ทำฌานได้เหมือนกัน
สุ. ไม่ถึงฌาน ผลของพุทธานุสสติ โดยนัยของสมถภาวนาสามารถที่จะให้บรรลุถึงอุปจารสมาธิ แต่ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ที่ใช้คำว่า ฌานจิต หมายความถึงสมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ถึงขั้นอัปปนา คือ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และใจก็ไม่ได้คิดนึกตรึกตรองไปในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรืออารมณ์อื่นเลย นอกจากจิตแนบแน่นในอารมณ์ของสมาธิซึ่งปรากฏเป็นนิมิตในขณะนั้น ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นกัมมัฏฐานอะไร เพราะบางกัมมัฏฐานไม่มีปฏิภาคนิมิต ไม่ใช่ว่าอารมณ์กัมมัฏฐานในสมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ จะมีปฏิภาคนิมิต ไม่ใช่อย่างนั้น เฉพาะอารมณ์ ๒๒ เท่านั้น ที่มีปฏิภาคนิมิต
ถ. อนุสสติ ๖ ทั้งหมด ไม่มีปฏิภาคนิมิต
สุ. ไม่มี เพราะฉะนั้น ที่จะเห็นเป็นพระพุทธรูปนั้น ไม่ใช่อุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ
ถ. ในเมื่อไม่มีปฏิภาคนิมิต ก็ไม่ถึงปฐมฌาน
สุ. ไม่ถึง พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ ไม่สามารถจะถึงปฐมฌานได้
ถ. ทุกวันนี้ มีอาจารย์ต่างๆ สอนข้อปฏิบัติ คือ ท่านสอนให้ พุท เข้า โธ ออก ข้อปฏิบัตินี้เรียกว่า อานาปานสติ หรือว่าพุทธานุสสติ
สุ. ไม่ใช่ทั้ง ๒ ประการ ที่กล่าวว่าไม่ใช่ทั้ง ๒ ประการ ท่านผู้ฟังอย่าลืมว่า ความสงบไม่ได้อยู่ที่อารมณ์ ความสงบต้องเป็นความสงบของจิต เพราะมีโยนิโสมนสิการ ปัญญารู้ว่า มนสิการอย่างไรในอารมณ์นั้นจิตจึงสงบ
ลมหายใจทุกคนมี เป็นที่ตั้งของความต้องการ ความยินดี หรือโลภะได้ ลักษณะของลมหายใจเป็นสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาท ทุกคนทราบว่า มีลมหายใจ แต่ก็ต้องรู้สภาพธรรมของลมหายใจด้วยว่า เป็นสภาพอย่างไร ปรากฏเมื่อไร ทางไหน ไม่มีการเห็นทางตา สิ่งต่างๆ ที่เห็นทางตาไม่ใช่ลมหายใจ แต่เป็นวัณโณ หรือว่ารูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เคยยึดถือเข้าใจว่าเป็นลมหายใจ ก็คือ โผฏฐัพพะ สภาพลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่ปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาทในช่องจมูก หรือว่าเบื้องบนริมฝีปาก เช่นเดียวกับโผฏฐัพพะอื่นที่กำลังกระทบและปรากฏในขณะนี้ ซึ่งถ้าสติไม่เกิด และมีความยินดีต้องการ ในขณะนั้นไม่สงบ ไม่ว่าจะเป็นที่ลมหายใจ หรือที่ใดก็ตาม เพราะฉะนั้น เมื่อมีความต้องการ จดจ้องต้องการเกิดขึ้นที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ขณะนั้นจะเป็นสมถภาวนา หรือว่าจะเป็นสภาพของจิตที่สงบได้อย่างไร เพราะลักษณะของจิตที่สงบ ต้องปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ
เป็นความผ่องใสของจิต เวลาที่มนสิการในอารมณ์ที่กำลังปรากฏด้วยปัญญาที่รู้ว่า เพราะเหตุไร มนสิการอย่างไร จิตจึงสงบเมื่อระลึกที่ลมหายใจ
ในขณะที่กำลังมีลมหายใจปรากฏแก่สติ จะต้องมีปัญญาที่รู้ด้วยว่า เพราะอะไรจึงสงบในขณะที่สติระลึกที่ลมหายใจ ไม่ใช่ว่า ใครก็ตามระลึกที่ลมหายใจแล้วสงบหมด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เหมือนกับที่กายนี้กระทบสัมผัส เป็นโผฏฐัพพะเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่กระทบสัมผัสแล้วสงบหมด ฉันใด เวลาที่ลมหายใจปรากฏ และมีความต้องการจดจ้อง ความต้องการจดจ้องไม่ใช่ความสงบเลย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๗๔๑ – ๗๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780