แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
ครั้งที่ ๗๕๐
สุ. ผู้ที่จะสงบ จะต้องรู้สภาพของจิตที่สงบ และรู้ด้วยว่า สงบไม่นาน เช่น การระลึกถึงพระพุทธคุณ ทั้งๆ ที่ได้ฟังธรรม ได้สวดมนต์ ได้กราบพระ สงบหรือเปล่า สงบได้นานไหม สงบมากไหม หรือว่าสงบบ้างไม่สงบบ้าง หรือว่าสงบได้เดี๋ยวเดียวก็ไม่สงบแล้ว เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ลักษณะของความสงบที่เป็นกุศล ที่ไม่ใช่สมาธิที่ต้องการจดจ้องด้วยความพากเพียรด้วยความไม่สงบนั้น ต่างกัน
ความสงบ จะต้องมีปัจจัย เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่เหมาะควร
ถ้าระลึกถึงพุทธคุณ หรือพระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ระลึกถึงศีล ระลึกถึงจาคะ การบริจาคซึ่งได้กระทำไปแล้ว หรือระลึกคุณธรรมของเทวดา ไม่สามารถที่จะให้จิตตั้งมั่นถึงอุปจารสมาธิได้ จิตไม่สามารถที่จะตั้งมั่นคงถึงขั้นอุปจารสมาธิ ถ้าบุคคลนั้นไม่ใช่พระอริยบุคคล และถึงแม้เป็นพระอริยบุคคล ระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็สามารถที่จะสงบถึงเพียงขั้นอุปจารสมาธิ แต่ไม่สามารถที่จะให้จิตสงบตั้งมั่นถึง อัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิตได้
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความสงบที่แท้จริงนี้แสนยาก กว่าจะสงบจริงๆ เป็นความสงบที่ไม่ใช่เป็นความต้องการจดจ้องให้ตั้งมั่น ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของความไม่สงบ เป็นลักษณะของอกุศล
เมื่อเป็นความสงบที่แท้จริง ที่เกิดได้แสนยากอย่างนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย จะมีกำลังของความสงบมากกว่าผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านได้ฌานจิตแล้ว ฌานไม่เสื่อม แต่ผู้ที่เจริญสมถภาวนาโดยไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจะอบรมความสงบของจิตให้ ตั้งมั่นด้วยความชำนาญจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิต ได้ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน จนกระทั่งสามารถที่จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ แต่ฌานจิตก็ยังเสื่อม เพราะว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะมีความสงบตั้งมั่น แต่ไม่ยึดถือในความสงบนั้น จะยิ่งสงบสักแค่ไหน และเมื่อสงบแล้ว สภาพความละเอียดของจิตยิ่งมีมาก ด้วยเหตุนี้สำหรับท่านพระอนุรุทธะ ซึ่งท่านได้อบรมเจริญความสงบที่ชำนาญมากในทางสมถภาวนา และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ ความสงบของท่านจะมั่นคง และสภาพของจิตที่สะสมมาจะวิจิตรในการที่ปัญญาสามารถที่จะเห็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างละเอียดได้มากสักแค่ไหน ก็ต้องมากกว่าผู้ที่เจริญเพียงสมถภาวนาแต่ไม่ได้เจริญ สติปัฏฐาน และไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์
ถ. หมายความว่า ท่านได้มหาอภิญญา เพราะท่านเจริญสติปัฏฐาน
สุ. เพราะว่าเพียงสมถภาวนาอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะทำให้ปัญญาของท่านเพิ่มความคมกล้าถึงกับรู้ลักษณะสภาพธรรมที่แสนละเอียดยิ่งขึ้น
ถ. คำพูดของท่านพระอนุรุทธะรู้สึกว่าขัดกับคำพูดของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้ากล่าวว่า เจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญวิปัสสนา ผลคือพระนิพพานอย่างเดียว แต่ทำไมท่านพระอนุรุทธะได้มหาอภิญญา
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงทราบจริต อัธยาศัย อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย อย่างท่านที่เป็นเอตทัคคะในทางอื่น เช่น ท่านพระอานนท์ ท่านไม่ได้สะสมปัจจัยมาที่จะเป็นเอตทัคคะในทางจักขุทิพย์อย่างท่านพระอนุรุทธะ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านก็ไม่มีความปรารถนาต้องการที่จะกระทำอย่างท่าน พระอนุรุทธะ ธรรมใดที่บุคคลใดสะสมมาอย่างไร ก็เป็นสติปัฏฐานของบุคคลนั้น ที่ปัญญาของผู้นั้นจะรู้ จะรอบรู้ยิ่งขึ้นในธรรมที่ได้สะสมมา
เมื่อท่านพระอนุรุทธะท่านสะสมมาในการที่จะเป็นเอตทัคคะในทางจักขุทิพย์ และที่จะได้มหาอภิญญาต่างๆ เพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ท่านก็อบรมเจริญ สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะสภาพปัจจัยต่างๆ ซึ่งทำให้ธรรมปรากฏต่างๆ กับท่านโดยละเอียด ซึ่งไม่ปรากฏกับบุคคลอื่น แต่ว่าธรรมเหล่านั้นเป็นสติปัฏฐาน ไม่ทำให้ท่านยึดถือว่าเป็นท่าน หรือว่าเป็นของท่าน หรือว่าเป็นตัวตนเลย เพราะฉะนั้น ท่านดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เป็นความสงบอย่างยิ่ง
ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา สงบชั่วคราว แต่ว่ายังมีเชื้อที่จะให้เกิดอกุศลทั้งหลายอย่างใหญ่โตได้ เนื่องจากสะสมกิเลสอกุศลมามากและยังไม่ได้ดับกิเลสและอกุศลธรรมเป็นสมุจเฉท เมื่อมีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดเป็นกิเลสอย่างแรงขณะใด ก็เกิดขึ้นได้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ความสงบของผู้ที่เจริญสมถภาวนา กับความสงบของผู้ที่เป็นพระอรหันต์นั้น ต่างกัน พระอรหันต์ไม่มีเชื้อปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลธรรม ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นผู้ที่เย็นสนิท ดับสนิทจริงๆ
ท่านพระอนุรุทธะเป็นผู้ที่สะสมมาในทางที่จะเป็นเอตทัคคะในจักขุทิพย์ ท่านไม่ได้มีความปรารถนาที่จะไปขวนขวายกระทำ แต่ว่าธรรมใดก็ตาม ความชำนาญ ความคล่องแคล่วของจิตที่เป็นสมถะที่เป็นรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิตมีปัจจัยเกิดขึ้น ปัญญาที่คมกล้าของท่านที่เกิดจากการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ยิ่งเห็นสภาพความละเอียดของธรรมทั้งหลายชัดเจนขึ้น
ถ. การที่รู้โลกพันหนึ่งนี้ ท่านบรรลุพระอรหันต์แล้วจึงรู้ หรือว่าท่านรู้ก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์
สุ. ไม่ได้มีแสดงไว้ แต่ว่าสามารถที่จะตรึกตรองได้ว่า ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท และเป็นผู้ที่สะสมปัจจัยอัธยาศัยมาในการที่จะเป็นเอตทัคคะ ก็ต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริงอย่างนั้นๆ
ผู้ฟัง ผมคิดว่า ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้ว จะได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน จะมีความรู้สึกเหมือนกันหมด เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือ จะได้ฌานก็เท่านั้น ไม่ได้ก็เท่านั้น เพราะเป็นอนัตตาหมด
สุ. ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ท่านพระ สารีบุตรท่านไปหาท่านพระอนุรุทธะ และถามถึงธรรมเครื่องอยู่ของท่านพระอนุรุทธะ เพราะท่านพระสารีบุตรท่านเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา ไม่ใช่เอตทัคคะในทาง จักขุทิพย์ เพราะฉะนั้น ท่านก็ไปถามท่านพระอนุรุทธะเพื่อที่จะได้ทราบเหตุผลและธรรมเครื่องอยู่ของท่านพระอนุรุทธะว่า บุคคลผู้ที่มีคุณวิเศษบรรลุมหาอภิญญาอย่างท่านพระอนุรุทธะนั้น ท่านจะอยู่ด้วยธรรมประการใด
ข้อความใน อัมพปาลิสูตร ข้อ ๑๒๘๑ มีว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระสารีบุตรอยู่ในอัมพปาลีวัน (ป่ามะม่วง) ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พัก เข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะ ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า
ดูกร ท่านอนุรุทธะ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวหน้าของท่านบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ในเวลานี้ท่านอนุรุทธะอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อไหนมาก
ตอนนี้ตอบได้แล้วใช่ไหมว่า ผู้ที่เป็นอริยะทั้งหลาย ท่านอยู่ด้วยสติปัฏฐาน แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นปรากฏเป็นสติปัฏฐานสำหรับท่าน จะเป็นรูปาวรจิต หรืออรูปาวรจิต หรือว่าความสงบของสมถะ ขณะไหนก็ตาม ก็เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น
ซึ่งท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ท่านมีจิตตั้งมั่นอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ และข้อความตอนท้าย ท่านกล่าวว่า
ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นสังโยชน์ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นมีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้อยู่มาก
เป็นวิสัยของท่าน ซึ่งจะไม่มีธรรมอื่นเลยเหนือกว่าสติปัฏฐาน ถ้าฌานจิตจะเกิด ก็เพราะสะสมเหตุปัจจัยที่จะให้ฌานจิตเกิดในขณะนั้น และฌานจิตนั้นก็เป็น สติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ด้วยความต้องการอยากจะให้ฌานจิตเกิด เพราะท่านไม่มีกิเลส ไม่มีเยื่อใยที่จะติดข้องแม้ในฌานจิต หรือในความสงบใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านอยู่ด้วยสติปัฏฐาน ซึ่งต่างกันไปตามการสะสม บางท่านก็เป็นสุกขวิปัสสกะ คือ ไม่มีฌานจิตเกิดขึ้นเป็นสติปัฏฐาน เพราะไม่ได้มีปัจจัยที่ได้สะสมมา บางท่านก็มีเพียงปฐมฌานเป็นสติปัฏฐาน บางท่านก็มีถึงทุติยฌาน บางท่านก็ตติยฌาน บางท่านก็จตุตถฌาน บางท่านก็ปัญจมฌาน บางท่านก็อรูปฌาน บางท่านก็มีอภิญญาทั้งหลาย แต่ไม่มีท่านใดที่ยังมีกิเลสเหลืออยู่ ที่เมื่อสมถะยังไม่ได้ ก็จะต้องไปเจริญสมถะเสียก่อน หรือว่าจะต้องไปให้ฌานจิต ขั้นนั้นขั้นนี้เกิดก่อน แต่ว่าทั้งหมดเป็นสติปัฏฐาน สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นปรากฏได้อย่างรวดเร็ว เพราะความชำนาญของท่านที่ได้สะสมมา
ใน อัมพปาลีสูตร เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวว่า เป็นลาภของเราแล้ว เราได้ดีแล้ว ที่ได้ฟังอาสภิวาจาในที่เฉพาะหน้า ท่านพระอนุรุทธะผู้กล่าว
ใน คิลานสูตร มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าพระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น ท่านจะได้รับทุกขเวทนาทางกาย เช่น การป่วยไข้ ท่านก็อยู่ด้วยสติปัฏฐาน ๔ เพราะฉะนั้น ทุกขเวทนาในกายที่เกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิตของท่าน
และใน คิลานสูตร ได้กล่าวถึงสมัยที่ท่านพระอนุรุทธะอยู่ในป่าอันธวัน ใกล้ พระนครสาวัตถี ซึ่งในครั้งนั้นท่านอาพาธได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก และภิกษุมากรูปด้วยกันได้ไปหาและถามว่า ท่านอยู่ในวิหารธรรมข้อไหน ซึ่งท่านก็ตอบว่า ด้วย มหาสติปัฏฐาน ๔
สำหรับเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ได้กล่าวถึงมาก และเข้าใจว่า ท่านผู้ฟังก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะฉะนั้น คงจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของสติปัฏฐาน
แต่เรื่องสมถภาวนา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญความสงบ เป็นกุศลจิต หลายท่านกล่าวว่า ก่อนที่จะได้ฟังเรื่องการเจริญสมถภาวนา ก็เจริญกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสติปัฏฐาน แต่ว่ายังไม่มีโอกาสได้เห็นคุณประโยชน์ของสมถภาวนาที่จะได้อบรมเจริญสมถภาวนายิ่งขึ้น เพราะส่วนมากเข้าใจผิดคิดว่า การอบรมสมาธิ การเจริญสมาธินั้นเป็นสมถภาวนา แต่เมื่อได้เข้าใจความหมายของสมถภาวนาแล้ว ก็เป็นผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาได้เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะว่าการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานั้นจะกระทำไม่ได้เลย ถ้าไม่เกิดความเข้าใจในสมถะหรือในวิปัสสนาอย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่เคยเจริญสมาธิมาก่อนแล้ว ก็คงเข้าใจแล้วว่า การเจริญสมาธินั้น ไม่ใช่สมถภาวนา
ขอกล่าวถึงข้อความที่ว่า สมถะมีอยู่ในวิปัสสนา เพราะขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นย่อมสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าเข้าใจความหมายของสมถะ คือ ความสงบ ก็ต้องรู้ว่า หมายความถึงสงบจากโลภะ สงบจากโทสะ สงบจากโมหะ และสงบจากอกุศลธรรมทั้งปวง คือ สงบจากมัจฉริยะ สงบจากริษยา สงบจากความเกียจคร้าน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ความสงบในที่นี้ ไม่ใช่สงบโดยไม่รู้ว่า ขณะนั้นปราศจากอะไร ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นไม่มีแม้โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นวิปัสสนา ขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นสงบ
และที่ว่า สมาธิเป็นลักษณะของความสงบอย่างยิ่ง ก็หมายถึงขณะที่เวลาปกติธรรมดาเมตตาเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง คราวหนึ่ง ความสงบยังไม่มั่นคง หรือแม้แต่เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะ ขณะนั้นลักษณะของความสงบก็ยังไม่ปรากฏชัด จนกระทั่งมีปัญญาเพิ่มขึ้น ความสงบตั้งมั่นคงขึ้น ลักษณะของสมาธิซึ่งเป็นความสงบอย่างยิ่ง ก็จะปรากฏ
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนา ลักษณะของสมาธิซึ่งเป็นความสงบยิ่งขึ้น ก็จะปรากฏเพิ่มขึ้น หรือว่าในขณะที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้น สติมั่นคงขึ้น ความสงบปรากฏมากขึ้น ลักษณะของสมาธิก็ย่อมจะปรากฏด้วย
สำหรับท่านผู้ฟังที่เคยกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคให้ผู้ที่เป็นอริยสาวกเจริญ สมถภาวนาจนกระทั่งได้ฌานจิต มีที่มาแล้วหรือยัง
ผู้ฟัง ยังไม่มี
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๗๔๑ – ๗๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780