แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752


    ครั้งที่ ๗๕๒


    ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ถึงความเจริญของผู้ที่เป็นพระอริยสาวกทั้งทางโลกและทางธรรม ไม่ใช่ว่าแยกกัน

    อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต วัฑฒิสูตร ข้อ ๗๔ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ และเป็นผู้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ สิ่งที่ประเสริฐแห่งกาย ความเจริญ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ อริยสาวกย่อมเจริญด้วยนาและสวน ๑ ย่อมเจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก ๑ ย่อมเจริญด้วยบุตรและภรรยา ๑ ย่อมเจริญด้วยทาส กรรมกร และคนใช้ ๑ ย่อมเจริญด้วยสัตว์สี่เท้า ๑ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ๑ ย่อมเจริญด้วยศีล ๑ ย่อมเจริญด้วยสุตะ ๑ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ๑ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการนี้ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ และเป็นผู้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ สิ่งที่ประเสริฐแห่งกาย ฯ

    บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก บุตร ภรรยา และสัตว์ สี่เท้า บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้มีโชค มียศ เป็นผู้อันญาติมิตรและพระราชาบูชาแล้ว

    บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา บุคคลเช่นนั้นเป็นสัปบุรุษ มีปัญญาเครื่องพิจารณา ย่อมเจริญด้วยความเจริญทั้งสองประการ ในปัจจุบัน ฯ

    จบ สูตรที่ ๔

    เป็นชีวิตจริงๆ ของผู้ที่เป็นอริยสาวก ต้องไปทำฌานอะไรไหม ถ้าเป็นผู้ที่ เจริญด้วยนาและสวน ๑ ทรัพย์และข้าวเปลือก ๑ บุตรและภรรยา ๑ ทาส กรรมกรและคนใช้ ๑ สัตว์สี่เท้า ๑

    ยังไม่ใช่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ สำหรับผู้ที่เป็นอริยสาวกขั้นต้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี หรือพระอนาคามี ถ้ามีความเจริญอย่างนี้ เป็นความเจริญในทางโลก ซึ่งไม่ขัดกับทางธรรมเลย เพราะก่อนที่จะเป็นพระอริยสาวก เห็นแต่โลก แต่ว่าตามความเป็นจริง สิ่งที่เห็นเป็นโลกนั้น ลักษณะที่แท้จริง คือ ธรรมทั้งหมด ที่เคยเห็นเป็นวัตถุ ทรัพย์สมบัติสิ่งของต่างๆ นั่นเป็นการเห็นทางโลก แต่เมื่อเกิดปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เคยเห็น เหมือนเดิม แต่ว่าเห็นอีกด้านหนึ่ง คือ เห็นตามความเป็นจริงว่า ทั้งหมดนั้นเป็นธรรมทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญในทางโลกด้วยทรัพย์สมบัติต่างๆ เมื่อมีความรู้ มีความเข้าใจในสภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ก็เป็นผู้ที่เจริญในธรรม คือ ในความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เห็นความเป็นธรรมของสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นโลก เคยเห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่เมื่อเจริญในทางธรรมขึ้น ย่อมเห็นตรงตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ล้วนเป็นสภาพธรรมทั้งหมด เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งปรากฏให้รู้ความจริงได้แต่ละทาง

    สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นสภาพธรรม เป็นของจริงที่ปรากฏให้ปัญญารู้ได้ เสียงที่ปรากฏทางหู เป็นสภาพธรรม เป็นของจริงที่ปรากฏให้ปัญญารู้ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เคยปรากฏเป็นโลกของสัตว์ บุคคล ตัวตนต่างๆ ผู้ที่อบรมเจริญในธรรม ก็เพิ่มความรู้ความจริงของสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นโลก และเปลี่ยนความรู้นั้นให้เป็นความรู้ในทางธรรม โดยเห็นว่า สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นวัตถุ บุคคล สัตว์ สิ่งของต่างๆ แท้ที่จริงแล้ว ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งนั้น

    ถ้าไม่มีธรรมเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย โลกจะมีไม่ได้เลย แต่เมื่อมีความไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงซึ่งเป็นธรรม ก็มองเห็นเพียงด้านเดียว มีความเจริญในทางโลกเพียงด้านเดียว โดยที่ไม่เกิดปัญญารู้ลักษณะที่ลึกซึ้งของสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นโลกนั้นว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด ซึ่งปรากฏแต่ละทางตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น สำหรับพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านมีความเจริญทั้งทางโลกและธรรม คือ ความเจริญ ๑๐ ประการ

    ในทางโลกนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก บุตรภรรยา และสัตว์สี่เท้า บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้มีโชค มียศ เป็นผู้อันญาติมิตรและพระราชาบูชาแล้ว

    บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา บุคคลเช่นนั้นเป็นสัปบุรุษ มีปัญญาเครื่องพิจารณา ย่อมเจริญด้วยความเจริญทั้งสองประการ ในปัจจุบัน ฯ

    เป็นความเจริญไหม ถ้ามีทรัพย์ ข้าวเปลือก บุตร ภรรยา สัตว์ ๔ เท้า

    ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา เคารพบูชาในคุณธรรมได้ไหม แทนที่จะเห็นเป็นตัวบุคคลเป็นท่านอนาถบิณฑิกะ ก็เห็นคุณธรรมในความเป็นพระอริยสาวกของท่านอนาถบิณฑิกะ และเคารพบูชาในคุณธรรมนั้นได้ไหม ก็ย่อมได้ ใช่ไหม

    ถ . (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. พระเจ้าพิมพิสาร ท่านก็เป็นพระอริยสาวก เพราะฉะนั้น ท่านก็ต้องมีความเคารพในคุณธรรม ในธรรม โดยมากท่านผู้ฟังถ้าเป็นทางโลก ท่านจะเห็นเป็นบุคคลที่มีชั้นวรรณะต่างๆ กันไป ทำให้ท่านเคารพในบุคคลนั้นบ้าง ไม่เคารพในบุคคลนี้บ้าง แต่ถ้าท่านเห็นธรรมเป็นธรรม ท่านจะเคารพในกุศลธรรม ในคุณธรรม โดยที่ไม่มีชื่อหรือมีบุคคลนั้น เพราะว่าท่านเห็นเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมของใครเกิดขึ้น ก็น่าเคารพ ซึ่งท่านบูชาและเคารพในคุณธรรมนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร

    ไม่ใช่ว่าท่านจะต้องแบ่ง เมื่อเป็นบุคคลนี้แม้เป็นกุศลธรรมก็ไม่เคารพบูชา นั่นไม่เห็นธรรม แต่ผู้ที่เจริญในธรรม ย่อมเห็นธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น แม้ในสิ่งที่เคยเห็นเป็นโลก ก็เห็นว่าล้วนเป็นธรรมทั้งหมด นั่นคือ ผู้ที่เจริญในศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และยิ่งเป็นผู้ที่เห็นธรรม ย่อมเคารพในธรรม

    จาก วัฑฒิสูตร ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า พระผู้พระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมให้พระอริยเจ้าทั้งหลายไปเจริญฌาน แต่ว่าเป็นผู้ที่เจริญทั้งโลกและธรรมได้ตามควร ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องเป็นผู้ที่เจริญในศรัทธา ในศีล ในสุตะ ในจาคะ ในปัญญายิ่งขึ้น โดยไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ ทรัพย์ต่างๆ เพราะถ้าเป็นผู้ที่ไม่เจริญในศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และในปัญญา ย่อมหลงในลาภ ในยศ ในทรัพย์ต่างๆ

    แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่ว่าจะให้ท่านเหล่านั้น เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือมหาอุบาสิกาวิสาขาก็ดี ไปทนทุกข์ทรมาน แต่ว่าท่านสามารถที่จะรู้ลักษณะของธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง และเจริญธรรม โดยเห็นสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นโลกนั้น เป็นธรรมยิ่งขึ้น

    การบรรลุคุณธรรมขั้นสูงยิ่งขึ้นจากความเป็นพระโสดาบันบุคคล ที่จะเป็น พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ได้ เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะว่ากิเลสที่ได้สะสมมา มากมายและเหนียวแน่นจริงๆ ถึงแม้ว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าพระโสดาบันทั้งหมดจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์โดยรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอุปการะเกื้อกูล แสดงธรรมอนุเคราะห์แม้พระโสดาบัน เพื่อที่จะให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี และเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าไม่ใช่ให้กระทำอย่างอื่น เพราะว่าจุดประสงค์ที่สุด คือ เพื่อที่จะให้ดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์โดยเร็ว ไม่ต้องเกิดอีกให้ลำบาก ไม่ใช่ว่าให้เกิดอีก ให้สบายในพรหมโลก

    ถ้าเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสมาก ก็มีความเห็นว่า ในภพอื่นนั้นคงสุขสบายมาก แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเห็นว่า การเกิดทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ก็เป็นทุกข์

    มีข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงว่า พระโสดาบันมีมากกว่าพระอรหันต์ เพราะว่าการที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์นั้นยากมาก

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สัปปัญญวรรคที่ ๖ วัสสวุตถสูตร ข้อ ๑๖๒๓ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

    เคารพท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไหม เวลาที่กล่าวถึงท่านบ่อยๆ หรือว่าไม่ต้องกล่าวถึง เคารพก็เคารพไป แต่การที่กล่าวถึงบ่อยๆ นี้ คือ การเคารพในคุณธรรมของท่านที่ได้สร้างพระวิหารเชตวัน

    ก็สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่จำพรรษาในพระนครสาวัตถีแล้ว ไปโดยลำดับถึงพระนครกบิลพัสดุ์ด้วยกรณียบางอย่าง พวกเจ้าศากยะชาวพระนครกบิลพัสดุ์ได้ทราบข่าวว่า ภิกษุรูปหนึ่งอยู่จำพรรษาในพระนครสาวัตถีมาถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุรูปนั้นถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทภิกษุนั้น แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามภิกษุนั้นว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ประชวร และยังมีพระกำลังหรือ

    ภิกษุนั้นทูลว่า

    พระผู้มีพระภาคไม่ประชวร และยังมีพระกำลัง ขอถวายพระพร.

    พวกเจ้าศากยะตรัสถามว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังหรือ

    ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า

    แม้ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ไม่ป่วยไข้ และยังมีกำลัง ขอถวายพระพร.

    นี่เป็นการเคารพหรือเปล่า ที่เจ้าศากยะถามถึงแม้ท่านพระสารีบุตรและ ท่านพระมหาโมคคัลลานะด้วย

    พวกเจ้าศากยะตรัสถามว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ไม่ป่วยไข้ และยังมีกำลังหรือ

    ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า

    แม้ภิกษุสงฆ์ก็ไม่ป่วยไข้ และยังมีกำลัง ขอถวายพระพร.

    พวกเจ้าศากยะตรัสถามว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ระหว่างพรรษานี้ อะไรๆ ที่ท่านได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค มีอยู่หรือ

    ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า

    ขอถวายพระพร เรื่องนี้อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ มีน้อย ที่แท้ภิกษุผู้เป็นอุปปาติกะเพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป จักนิพพานในภพที่เกิดนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา มีมากกว่า

    หมายความว่า พระอนาคามีมีมากกว่าพระอรหันต์

    อีกประการหนึ่ง อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป จักนิพพานในภพที่เกิดนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา มีน้อย ที่แท้ภิกษุผู้เป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง กลับมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ มีมากกว่า

    อีกประการหนึ่ง อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง กลับมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วจักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ มีน้อย ที่แท้ภิกษุผู้เป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า มีมากกว่า.

    จบ สูตรที่ ๒

    ขอกล่าวถึงพระสูตรอื่น ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงให้ อริยสาวกทั้งหลายอยู่ด้วยธรรมอะไร ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณา จะเห็นว่าไม่มีข้อความที่ว่า ให้ไปเจริญฌาน

    ธรรมทินนสูตร ข้อ ๑๖๒๕ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ครั้งนั้น อุบาสกชื่อว่าธรรมทินนะ พร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อใดจะพึงมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงตรัสสอน โปรดทรงพร่ำสอนข้อนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ธรรมทินนะ เพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พระสูตรเหล่าใดที่พระตถาคตตรัสแล้ว อันลึกซึ้ง มีเนื้อความอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง เราจักเข้าถึงพระสูตรเหล่านั้นตลอดกาลเป็นนิตย์อยู่ ดูกร ธรรมทินนะ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.

    มีไหมที่จะไปให้ทำฌาน มีไหม ตรงไหน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๗๕๑ – ๗๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564