แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757


    ครั้งที่ ๗๕๗


    ถ. คำว่า จ้อง สำเหนียก สังเกต ต่างกันอย่างไร ถ้าผู้ใดเข้าใจแล้ว จะเข้าใจสภาพของสติได้ถูกต้อง

    ธัม. คำว่า จ้อง ในภาษาไทยอธิบายไว้อย่างไร

    ถ. สมมติว่าเขาให้อารมณ์อะไร จะเป็นนามใด หรือรูปใด ก็นั่งจ้องอยู่ที่อารมณ์นั้น เรียกว่า จ้อง

    ธัม. จ้องอย่างไร ยังไม่เข้าใจลักษณะของการจ้อง

    ถ. ลักษณะที่เห็นนี่ก็ได้ จะให้เป็นนาม เป็นรูป ถ้าเป็นนามก็จ้องว่า นามที่เห็นเป็นอย่างไร

    ธัม. ผู้ฟังท่านอื่นช่วยให้ความเห็นคำว่า จ้อง จะเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง จ้องในที่นี้ หมายถึงจดจ้องอยู่ในนามเดียว หรือรูปเดียว รูปอื่นนามอื่นไม่เอา เอาเฉพาะนามเดียวรูปเดียว คือความหมายของคำว่า จ้อง

    ธัม. ขณะที่จ้อง สังเกตหรือเปล่า อยากทราบว่าขณะที่จ้อง จะมีการสังเกตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ผมจะเปรียบเทียบให้ฟัง จ้องก็เหมือนกับเพ่งกสิณ เพ่งไฟ อะไรอย่างนี้ เรียกว่าจ้อง ส่วนสังเกต ไม่เฉพาะไฟอย่างเดียว สังเกต หมายความถึงอารมณ์อะไรๆ จะมากระทบก็ได้ ก็สังเกต ต่างกันอย่างนี้

    ธัม. รู้สึกว่า อาตมาเข้าใจดีแล้ว

    ผู้ฟัง จ้อง หมายความว่า มองดู เพ่งเฉพาะ ภาษาอังกฤษจะตรงกับคำว่า look หมายความว่า เตรียมดูสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่อย่างนั้น ไม่ใช่จ้อง

    ธัม. ถ้าเป็นเรื่องการเจริญสติ สติจะเกิดขณะไหน จะรู้ล่วงหน้าได้ไหม

    ถ. ไม่รู้

    ธัม. ถูก ไม่รู้ และสติจะระลึกรู้อารมณ์ไหน รู้ล่วงหน้าได้ไหม

    ถ. ไม่ได้

    ธัม. สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้กี่ขณะรู้ไหม

    ถ. ไม่รู้ จะรู้ล่วงหน้าได้อย่างไร

    ธัม. ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ รู้ไม่ได้ว่าสติจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะระลึกรู้อารมณ์ไหน ในขณะไหน กี่ขณะก็ไม่รู้ที่จะเกิดมีสติ ไม่มีใครรู้ เข้าใจอย่างนี้ได้ จะเป็นเหตุให้เจริญสติต่อไปได้ จะไม่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องการจ้อง เพราะว่าไม่เลือกอารมณ์ เข้าใจดีแล้วว่าเลือกอารมณ์ไม่ได้ ต้องรู้ทั่ว สิ่งที่กำลังปรากฏมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าบางอารมณ์ไม่เอา ไม่ใช่ว่ามีอารมณ์พิเศษที่จะต้องศึกษา ทุกสิ่งสำคัญ และสิ่งที่ปรากฏสำคัญที่สุด เพราะอย่างอื่นศึกษาไม่ได้

    เช่น ลมหายใจที่โยมบอกว่าสนใจ ถ้าลมหายใจไม่ปรากฏ สติก็ไม่เกิดในขณะนั้น จะต้องไปหาลมหายใจ แต่ในขณะที่ลมหายใจไม่ปรากฏ อย่างอื่นต้องปรากฏในขณะนั้นใช่ไหม และขณะที่อย่างอื่นปรากฏแต่ลมหายใจไม่ปรากฏ สติไม่เกิด เพราะว่าไปสนใจที่จะหาอย่างอื่นที่ยังไม่ปรากฏ เสียเวลาที่จะเจริญสติในขณะนั้น เพราะว่าไม่สนใจในสิ่งที่ปรากฏจริงๆ

    ถ. ยาก ยากอยู่ตรงนี้

    ธัม. แต่ถูก

    ถ. ทุกคนปรารถนามีสติมากๆ เจริญสติมากๆ และถูกต้อง ซึ่งยาก

    ธัม. จะเอาง่ายแต่ผิด หรือจะเอายากและถูก

    ถ. ยากหรือง่าย อีกเรื่องหนึ่ง แต่ปรารถนาให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

    ธัม. เรื่องการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องอนัตตาจริงๆ เพราะจุดประสงค์ของการเจริญสติก็เพื่อที่จะพิสูจน์อนัตตา จะเอาอัตตามาพิสูจน์อนัตตา ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีสาระ ต้องเข้าใจว่า สติเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่จะไปบังคับเลือกอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ ให้จ้องอยู่ที่อารมณ์นี้กี่นาที หรือกี่วินาที หรืออะไรอย่างนี้ ไม่ต้องคิดเลย ในขณะที่สังเกต ไม่คิด ไม่สนใจ

    ถ. แต่สำเหนียก สังเกต ในอารมณ์ของปรมัตถ์ทางนามและรูปได้ แต่ถ้าจ้อง ไม่มีทางเลย

    ธัม. ในขณะนี้ นอกจากนามธรรมและรูปธรรม มีอย่างอื่นปรากฏไหม

    ถ. รอบด้าน เป็นนาม เป็นรูป สภาวะมีอยู่ตลอดเวลา

    ธัม. ที่ปรากฏ มีลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มีอย่างอื่นนอกจากนามธรรมและรูปธรรมไหม

    ถ. ไม่มี มีแต่นามกับรูป ๒ อย่างเท่านั้นเอง

    ถ. ที่ท่านปฏิบัติเจริญกัมมัฏฐานนี้ เจริญแนวไหน เจริญวิปัสสนาล้วนๆ หรือท่านเจริญสมถวิปัสสนา

    ธัม. ที่อาตมาสนใจมากที่สุด คือ การเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ที่ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างนี้ ใช่ไหม

    ธัม. เจริญพร

    ถ. ท่านเริ่มสนใจในแนวทางเจริญวิปัสสนาแบบเจริญสติปัฏฐานนี้ ท่านเริ่มสนใจในแนวนี้ตั้งแต่เมื่อไร ประมาณสักกี่ปีมาแล้ว

    ธัม. สนใจตั้งแต่ฟังเรื่องนี้ครั้งแรก ราวๆ ๕ – ๖ ปีที่แล้ว

    ถ. ขณะนั้นท่านได้ศึกษาปริยัติด้วยหรือเปล่า

    ธัม. ที่สนใจ หมายความว่า สนใจในปริยัติเรื่องการปฏิบัติ

    ถ. ก่อนที่ท่านจะมาเจริญสติปัฏฐานในแนวทางนี้ ท่านได้เจริญสมาธิมาก่อนหรือเปล่า

    ธัม. ตั้งแต่อาตมาสนใจในพระพุทธศาสนา ได้ยินคนพูดถึงเรื่องหนทางหลายอย่าง แต่ไม่เกิดความสนใจในเรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะว่าเรื่องอื่นๆ เห็นว่า น่าสงสัยมากเหลือเกิน เหตุผลไม่ค่อยตรงกัน

    ถ. ก่อนที่ท่านจะเจริญ ท่านจะต้องตรวจสอบทำความเข้าใจกับขั้นการฟังว่า จะเจริญวิปัสสนาไปในแนวทางนี้ ซึ่งตรงกับปริยัติ อย่างนี้ใช่หรือเปล่า

    ธัม. ตรง คุณโยม เท่าที่ศึกษามายังไม่เห็นว่าไม่ตรง ต้องเข้าใจก่อน ต้องพิจารณาสิ่งที่เคยฟังมา

    ถ. และก็เทียบเคียงว่า ข้อไหนถูกกับอัธยาศัย หรือว่าตรงกับเหตุผลที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

    ธัม. โดยมากพิจารณาสิ่งที่น่าพิจารณา บางอย่างไม่น่าพิจารณาเลย ก็ ไม่ต้องเสียเวลา

    ถ. ดิฉันไม่เข้าใจคำว่า ไม่น่าพิจารณา

    ธัม. คล้ายๆ กับว่า ตั้งแต่แรกเห็นแล้วว่า เหตุผลไม่ตรงกัน ไม่ต้องนำมาพิจารณานานๆ คือ ถ้าใครพูดเรื่องอะไรที่ไม่ค่อยมีสาระ เรื่องนั้นจะไม่เก็บไว้และ ค่อยๆ พิจารณาไป เพราะว่าตัดสินแล้วว่าไม่เกี่ยว เช่น สมมติว่ามีคนเข้ามาที่นี่แล้วบอกคุณโยมว่า ถ้าอยากจะเจริญสติปัฏฐาน ต้องรับประทานไอศกรีมวันละ ๖ ถ้วย

    ถ. อย่างนี้ไม่มีเหตุผล

    ธัม. เจริญพร เป็นอย่างนี้ คุณโยม

    ถ. ฟังคำบรรยายแล้วนำไปเทียบเคียงกับเหตุผลที่ได้เรียนมา อย่างนี้ ใช่ไหม

    ธัม. ต้องเทียบเคียงกับความจริงที่มีอยู่ในขณะนี้ ถ้าได้ยินเรื่องการเห็น จะไปเทียบเคียงกับอะไร สิ่งที่เคยเรียนมาเรื่องการเห็น อาจจะไม่มีอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะโดยมากคนทั่วไปไม่ค่อยสนใจที่จะพูดถึงเรื่องการเห็น แม้ชาวพุทธ แม้คนที่ศึกษาปริยัติ การเห็นไม่ค่อยสนใจ เคยสังเกตไหม

    ถ. ไม่เคยได้ยิน ก็ไม่รู้จัก ไม่สนใจ ผ่านไปเลย

    ธัม. คิดว่าถ้าได้ยินเรื่องการเห็น น่าเทียบเคียงกับสภาพที่กำลังเห็นใน ขณะนี้ นี่เป็นการพิจารณาที่มีประโยชน์ที่สุด ไม่ใช่คิดถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้ว สมมติว่าอาตมาซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ อาจจะเคยศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือจิตวิทยา ซึ่งเรื่องของการเห็นก็มีรายละเอียดมาก เกี่ยวกับอะไรๆ ที่มีภายในและมีอะไรมากระทบต่างๆ ถ้านำเรื่องนี้มาพิจารณา เสียเวลามาก เพราะไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและปรากฏทางหนึ่งทางใด หรือว่าเรื่องอะไรที่เป็นรถ เป็นคน เป็นอะไรต่างๆ ก็ไม่ใช่สภาพธรรมเหมือนกัน แต่การเห็นนี่เองกำลังเกิดขึ้นทำหน้าที่ในขณะนี้ ทำให้รูปารมณ์ปรากฏในขณะนี้ได้ ถ้าขาดการเห็นขณะนี้ สีไม่ปรากฏเลย

    แต่ที่เรายึดถือว่า เรากำลังเห็นในขณะนี้ ก็หันไปหาสภาพการเห็นที่อื่น เพราะเข้าใจว่าการเห็นนี่ไม่ใช่เราที่กำลังเห็นในขณะนี้ เพราะฉะนั้น สภาพการเห็นมักจะอยู่ที่อื่น แต่ที่อื่นที่ไหนไม่รู้ คิดมากว่าอยู่ที่ไหนการเห็นนี้ แต่ไม่พิจารณาสภาพธรรม

    การเห็นมีอยู่ตลอดเวลา ที่บ้าน หรืออยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่ไหนก็ตาม อาจจะไม่มีเพื่อน ขาดเพื่อนได้ ขาดหนังสือได้ แต่ไม่ขาดการเห็น ไม่ขาดนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดที่กำลังพูดถึงวันนี้ และทุกวันอาทิตย์

    ถ้าเราสะสมมาที่จะมีสติเกิดน้อย จะให้มีสติเกิดมากไม่ได้ ต้องรู้ตัวว่า ยังไม่มีเหตุปัจจัยพอที่จะข้ามจากคนที่มีสติน้อยเป็นคนที่มีสติมาก แทนที่จะหวังผลจากการเจริญสติ ก็ขอให้เจริญสติ เพราะมักจะลืม อยากได้ผลมากกว่าอยากได้เจริญเหตุ

    ถึงบัดนี้รู้สึกว่าพูดมามากแล้ว การฟังแม้จะยาก แต่ก็ไม่ยากเท่ากับการบรรยาย เพราะฉะนั้น จะขอนั่งฟังคำบรรยายสักหน่อย

    ถ. ในเมื่อคิดที่จะเจริญสติปัฏฐาน ก่อนอื่นจะต้องทำอย่างไร

    ธัม. เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีก่อน ไม่มีหลัง คือ ไม่ใช่เมื่อตัดสินใจว่าจะเจริญ เพราะฉะนั้น จะทำอะไรก่อน วันนั้น ที่นั้น จะเริ่ม จะต้องเตรียมเสียก่อน

    แต่คนที่ฟังและค่อยๆ เข้าใจว่า สติปัฏฐานเป็นอะไร สติมีลักษณะอย่างไร อารมณ์ของสติเป็นอย่างไร จุดประสงค์ของการเจริญสติเป็นอย่างไร เจริญเพื่ออะไร ค่อยๆ ฟังและเข้าใจ นี่เป็นเหตุที่จะให้สติเกิดได้เพราะเข้าใจ เข้าใจเรื่องของสติ เข้าใจจุดประสงค์ เข้าใจอารมณ์ของสติ

    แต่ว่าสติจะเกิดเมื่อไร ขณะไหน ไม่มีใครรู้ จะเริ่มต้นด้วยอารมณ์ไหน ไม่รู้ และความจริงไม่น่าสนใจด้วย เพราะว่าบังคับให้เป็นตามที่ต้องการไม่ได้

    ถ. หมายความว่า ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน ต้องศึกษาเรื่องของสติ เรื่องของอารมณ์เสียก่อน ใช่ไหม

    ธัม. ต้องศึกษา คือ เมื่อคิดที่จะเจริญ แต่จะเจริญอะไร ก็ต้องศึกษา ทางโลก ถ้าคิดที่จะเป็นสถาปนิก ก็ไม่ใช่ว่าคิดแล้วประเดี๋ยวจะเป็น อาจจะต้องใช้เวลาเป็นหลายๆ ปี คนที่เก่งๆ อาจจะต้องใช้เวลา ๒๐ กว่าปี จึงจะเรียกว่าเก่งได้ บางคน ๕๐ ปีก็ยังไม่ถึงความเป็นคนเก่ง เพราะฉะนั้น เราอยากจะเก่งในเรื่องของ สติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่วันเดียว ปีเดียว หรือ ๕ ปี แต่เป็นเรื่องที่ต้องเจริญเป็นชาติๆ และไม่รู้ว่าจะถึงจุดประสงค์เมื่อไร เพราะฉะนั้น ต้องมีขันติจริงๆ

    ถ. ในเมื่อศึกษา รู้จักลักษณะของสติ ลักษณะของอารมณ์ต่างๆ แล้ว ครั้นเมื่อสติเกิดขึ้น จะพิจารณาอารมณ์ จะพิจารณาอย่างไร

    ธัม. ในขณะที่สติเกิด ต้องระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรม หรือในลักษณะของรูปธรรม ๒ อย่างนี้ อย่างอื่นไม่มี ถ้านามธรรมปรากฏในขณะนั้น ต้องเข้าใจว่านามธรรมเป็นอย่างไร ที่เรียกว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน หรือว่าการเห็นที่ทำหน้าที่เห็นในขณะนั้น ไม่ใช่เราเห็นอย่างไร เป็นต้น

    ถ. นามธรรมกับรูปธรรมมีลักษณะต่างกันอย่างไร

    ธัม. พูดสั้นๆ ที่เคยได้ยินมานานแล้ว แต่ถูก รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร และนามธรรมเป็นสภาพรู้ ง่ายๆ แต่ยากด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๗๕๑ – ๗๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564