แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
ครั้งที่ ๗๖๐
สำหรับผู้ที่อยู่ด้วยความประมาท ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ข้อ ๕๓ ฐิติสูตร มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้ซึ่งความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไฉนจะสรรเสริญความเสื่อมรอบในกุศลธรรมทั้งหลายเล่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่เราสรรเสริญความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ
ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณากับชีวิตของท่านได้ว่า ขณะนี้ท่านเสื่อมในกุศลธรรม หรือว่าตั้งอยู่ในกุศลธรรม หรือว่าเจริญในกุศลธรรม
ข้อความต่อไป
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายมิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเจริญอย่างไร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เจริญขึ้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเจริญ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายมีอยู่ มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเจริญ อย่างนี้แล ฯ
บางท่านต้องการเจริญกุศลอย่างมาก พยายามเจริญ และในที่สุดก็เกิดท้อถอย เพราะไม่เห็นผลของกุศล เคยรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งก็เป็นผู้ที่พากเพียรในการฟังธรรม ในการเจริญกุศลทั้งทานและศีล แต่ว่าท่านคงเป็นผู้ที่ละความปรารถนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นผู้ที่มีความปรารถนามาก ปกติก็ย่อมจะปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เวลาที่เปลี่ยนเป็นความพอใจในกุศล ท่านก็ปรารถนากุศลอย่างมากจนกระทั่งขวนขวายในการกุศล แต่เพราะอกุศลทั้งหลายยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท จึงเกิดความท้อถอยและเบื่อหน่าย แม้ในกุศลขั้นทาน สำหรับการฟังธรรมก็ท้อถอยเบื่อหน่ายไปด้วย
ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ว่า ถึงแม้บางครั้ง บางขณะ ท่านจะรู้สึกท้อถอยและรู้สึกเบื่อหน่าย แต่เพราะการฟังธรรมที่ได้สะสมมาแล้ว และการพิจารณาในเหตุผลว่า ธรรมประการใดเป็นธรรมที่ควรเว้น ควรละ ธรรมประการใดเป็นธรรมที่ควรเจริญ เวลาที่ได้ฟังธรรมอีกครั้งหนึ่ง ก็ย่อมจะมีปัจจัยที่ทำให้พิจารณาได้ถูกต้องโดยเร็วว่า ธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดเป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ฟังธรรมมาก่อน เวลาที่เกิดความท้อถอยเบื่อหน่าย ก็คงจะท้อถอยเบื่อหน่ายนานทีเดียว เคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม ที่มีความท้อถอย หรือว่าไม่เห็นผลของกุศลก็เกิดความเบื่อหน่าย
สำหรับผู้ที่กุศลไม่ตั้งอยู่และไม่เจริญ ย่อมเป็นผู้ที่เสื่อมในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น แต่ละท่านก็ควรพิจารณาเพื่อที่จะได้แก้ไข ถ้าท่านเป็นผู้ที่เสื่อมในกุศลธรรม
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญอย่างไร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่เสื่อม ย่อมไม่เจริญขึ้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความเสื่อม มิใช่ความเจริญ อย่างนี้แล ฯ
นี่เป็นปกติชีวิตของบุคคลทั้งหลายตามความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงประเภทของบุคคลทั้งหลายว่า แต่ละบุคคลจะอยู่ในประเภทใด สำหรับบางท่านนั้นไม่เสื่อมและไม่เจริญ มีเท่าไรก็อยู่เท่านั้น ซึ่งข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงหนทางที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อมอย่างไร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อมไม่เสื่อม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อม
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อม อย่างนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ภิกษุนั้นพึงศึกษาว่า เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือเปล่า การที่จะรู้วาระจิตของตนเพื่อที่ว่ากุศลจะได้เจริญขึ้น เพราะถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ย่อมไม่ทราบว่าเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศลอย่างไร ขณะนี้ท่านผู้ฟังที่กำลังฟัง ศึกษาวาระจิตของตน ยากไหม ขณะนี้กุศลหรืออกุศล ที่ยากเพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ย่อมไม่ทราบวาระจิตว่า ขณะนี้เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การรู้วาระจิตมีประโยชน์มากที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หากว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นพึงศึกษาว่า เราจะเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาเพื่อที่จะให้เห็นประโยชน์ของการศึกษาวาระจิตของตน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตนอย่างไร ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในคันฉ่องอันบริสุทธิ์หมดจด หรือในภาชนะน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามเพื่อขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย ถ้าว่าไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ย่อมดีใจ มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยเหตุนั้นแลว่า เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การพิจารณาของภิกษุว่า เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก
ทุกท่านซึ่งเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของจิตตอบได้
ข้อความต่อไป
เราเป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่โดยมาก เราเป็นผู้อันถีนะมิทธะ (ความหดหู่ ความท้อถอย) กลุ้มรุมอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ปราศจากถีนะมิทธะอยู่โดยมาก เราเป็นผู้ฟุ้งซ่านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีความสงสัยอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีความโกรธอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ไม่มีความโกรธอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตไม่เศร้าหมองอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีกายอันปรารภแรงกล้าอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้มีกายอันมิได้ปรารภแรงกล้าอยู่โดยมาก เราเป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ปรารถนาความเพียรอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ ย่อมเป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มี อภิชฌาอยู่โดยมาก ... เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าอันไฟไหม้หรือมีศีรษะอันไฟไหม้ พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือไฟไหม้ศีรษะนั้น ฉันใด ภิกษุนั้นพึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ... เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้ว พึงทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๓
แม้ว่าจะทรงเตือนให้ระลึกได้ว่า ขณะนี้ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เหมือนบุคคลที่มีผ้าอันไฟไหม้หรือมีศีรษะอันไฟไหม้ ไม่ใช่ในขณะอื่น แต่ในขณะที่สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ก็เพื่อที่จะอุปการะเกื้อกูลให้เป็นผู้ที่เจริญกุศลธรรม จึงจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท
ถ. มีข้อความในอรรถกถาที่คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟัง จึงขอนำมาพูดในที่นี้ บางคนที่ยังไม่รู้จักลักษณะของสติ ฟังแล้วอาจจะรู้จักลักษณะของสติก็ได้ ในอรรถกถากล่าวว่า สติสัมโพชฌงค์ มีลักษณะปรากฏ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีลักษณะค้นคว้า วิริยสัมโพชฌงค์ มีลักษณะประคอง ปีติสัมโพชฌงค์ มีลักษณะแผ่ไป ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มีลักษณะเข้าไปสงบ สมาธิสัมโพชฌงค์ มีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีลักษณะพิจารณา
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีสภาพธรรมปรากฏ ขณะนั้นชื่อว่ามีสติ ท่านทั้งหลายนั่งอยู่เวลานี้ แข็งที่เก้าอี้นั้นปรากฏหรือเปล่า หมายความว่า ถ้าสภาพธรรมปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใด ขณะนั้นก็ชื่อว่า มีสติ ถ้าไม่ได้ปรากฏทั้ง ๖ ทวาร ขณะนั้นก็ชื่อว่า หลงลืมสติ
ขออาจารย์ช่วยขยายความให้ละเอียดขึ้นอีก ที่ท่านว่า สติสัมโพชฌงค์ มีลักษณะปรากฏ หมายความว่าอย่างไร
สุ เวลาที่สติเกิด มีการระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่กำลังปรากฏ
ถ. ผมเข้าใจว่า อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดปรากฏขณะนั้นก็ชื่อว่า มีสติ ไม่ใช่ว่า ระลึกรู้
สุ ขณะนี้ทุกท่านกำลังเห็น เวลาที่สติไม่เกิด ก็เห็นเป็นคน เห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ ถูกไหม
ถ. ใช่
สุ ไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า รูปารมณ์ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตานั้นมีลักษณะอย่างไร อาจจะใช้คำว่า รูปารมณ์ และเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จิตกำลังเห็น แต่ว่าต้องไม่ใช่เห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ จึงจะเป็นการรู้ลักษณะของรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งหาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ ไม่
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้อย่างนี้ได้ สติจะต้องน้อมไปรู้จริงๆ ว่า ที่กำลังปรากฏนั้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ
ถ้าไม่มีการตรึก ไม่มีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นจะปรากฏไม่ได้ ถ้าท่านมองออกไป ถามว่าท่านเห็นอะไร ถ้าตอบว่าเห็นต้นไม้ หมายความว่าท่านตรึกนึกถึงสัณฐานของต้นไม้ ถ้าตอบว่าท่านเห็นฟ้า ก็หมายความว่ามีการตรึก นึกถึงสัณฐานของฟ้า ไม่ใช่ตรึกนึกถึงสัณฐานของต้นไม้ เพราะฉะนั้น สิ่งใดๆ ก็ตามที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาก่อนมีการตรึกหรือนึกถึงสัณฐาน นั่นจึงจะเป็นการรู้ลักษณะของรูปารมณ์
เพราะฉะนั้น รูปารมณ์ปรากฏ หลงลืมสติ คือ ไม่ได้น้อมไปรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก่อนการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น
ถ. หมายความว่า เห็นครั้งหนึ่ง และนึกในใจว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นก็ชื่อว่ามีสติแล้ว
สุ นั่นเป็นการนึก ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้คำ รู้เรื่อง เป็นลักษณะของวิตกเจตสิกที่ตรึกโดยสัญญา ความจำ ในคำ หรือในเรื่อง แต่ไม่ใช่การสังเกต สำเหนียกน้อมไปรู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่การคิด แต่น้อมไปที่จะรู้ เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าทุกท่านกำลังศึกษาหรือพิจารณาลักษณะของรูปารมณ์ เพราะถ้าไม่น้อมไปรู้ในลักษณะที่เพียงปรากฏ ก่อนที่จะตรึกถึงสัณฐาน ขณะนั้นยังไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของรูปารมณ์
ถ. ข้อต่อไป ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มีลักษณะค้นคว้า
สุ แน่นอน เพราะขณะที่กำลังเห็น ระลึกลักษณะของธาตุรู้ที่กำลังเห็น หรือว่าระลึกรู้ลักษณะของรูปารมณ์ที่ปรากฏ หรือในขณะที่ได้ยิน ระลึกศึกษาค้นคว้าที่จะรู้ลักษณะของธาตุที่รู้เสียง เสียงจึงปรากฏ หรือว่ารู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ นี่คือ ธัมมวิจยะ
ถ. หมายความว่า พยายามที่จะรู้เสียง พยายามที่จะรู้สี ขณะนั้นก็ชื่อว่า ค้นคว้า
สุ ศึกษารู้ความต่างกัน เพราะเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน เสียงปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนั้น นี่เป็นเพียงขั้นการฟัง ยังไม่ใช่ขั้นที่รู้จริงๆ ว่า ธาตุรู้หรือสภาพรู้ซึ่งรู้ทางตาก็อย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นธาตุรู้นั่นเอง รู้ทางหูก็อีกอย่างหนึ่ง เป็นธาตุที่รู้ เป็นสภาพรู้ แต่เป็นธาตุที่รู้เสียง
ถ. ต่อไปวิริยสัมโพชฌงค์ มีลักษณะประคอง
สุ ประคองในขณะที่กำลังศึกษา กำลังสังเกต กำลังสำเหนียกที่จะรู้ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น
ถ. ประคองอะไร
สุ. สติที่กำลังระลึก ปัญญาที่กำลังพิจารณาและเริ่มรู้ ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น ไม่ใช่ให้ไปขวนขวายทำอย่างอื่น แต่ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ขณะที่น้อมไปที่จะรู้ มีวิริยะที่จะประคองไปพิจารณาศึกษา เพื่อที่จะให้รู้ชัด
ถ. หมายความว่า ประคองสติและปัญญาในขณะนั้น
สุ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น
ถ. ผมคิดว่า เป็นการประคองจิตไม่ให้ตกไปในนิวรณ์ ใช่หรือไม่
สุ ในขณะที่กำลังศึกษาพิจารณาสภาพธรรมนั้น นิวรณ์ย่อมเกิดไม่ได้ แต่ไม่ใช่ให้ไปทำการยื้อยุดฉุดแย่งกับนิวรณ์ต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น ให้กดไว้ ให้ระงับไว้ ให้ยับยั้งไว้ ไม่ใช่กระทำกิจอย่างที่มองเห็นทางกาย แต่ว่าขณะใดที่สติเกิดย่อมมีวิริยะ คือ ความเพียร ประคองสติในการที่จะระลึก ประคองปัญญาในการที่จะศึกษาสังเกต พิจารณารู้ยิ่งขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ถ. ข้อความต่อไป ปีติสัมโพชฌงค์ มีลักษณะแผ่ไป
สุ เป็นลักษณะของปีติ
ถ. หมายความว่า แผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย นี่เป็นลักษณะของปีติ
สุ ขณะนั้นไม่มีความพยาบาท ก็ย่อมมีลักษณะสภาพธรรมที่ผ่องใส ปีติเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ขณะใดที่มีความรู้ จะมีความโสมนัสยินดีไหม ขณะนั้น
ถ. มี
สุ นั่นย่อมเป็นลักษณะของปีติ ซึ่งเกิดกับโสมนัสเวทนา
ถ. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มีลักษณะเข้าไปสงบ
สุ. จากอกุศล ขณะนั้นอกุศลจะไม่เกิดขึ้น
ถ. สมาธิสัมโพชฌงค์ มีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน โพชฌงค์ทั้งสองนี้ ผมคิดว่า ขณะที่สงบ ขณะนั้นก็ไม่ฟุ้งซ่าน และขณะที่ไม่ฟุ้งซ่าน ขณะนั้นก็สงบ ก็น่าจะเหมือนกัน ทำไมพระผู้มีพระภาคแยกเป็น ๒ โพชฌงค์ คือ ปัสสัทธิ มีความเข้าไปสงบ และสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน
สุ. ไม่ฟุ้งซ่าน คือ ตั้งมั่นในอารมณ์ในขณะนั้น
ถ. เหมือนกันหรือต่างกัน
สุ. ลักษณะของสมาธิ ต้องเป็นลักษณะที่ตั้งมั่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลสมาธิหรือกุศลสมาธิ หรือสมาธิสัมโพชฌงค์ ลักษณะของสมาธิ คือ ลักษณะที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นเจตสิกแต่ละประเภท ไม่ใช่ชนิดเดียวกัน ปัสสัทธิเจตสิกไม่ใช่สมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิก
ถ. คิดว่าเหมือนกัน ไม่ฟุ้งซ่านก็สงบ ไม่สงบก็ฟุ้งซ่าน ถ้าไม่ศึกษาก็คิดว่าเหมือนกัน ที่จริงต่างกัน
ต่อไป อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีลักษณะพิจารณา หมายความว่า พิจารณาครั้งใด เวทนาก็ต้องเป็นอุเบกขาทุกครั้งหรือ
สุ. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ได้แก่ สภาพของเจตสิกปรมัตถ์ประเภทหนึ่ง คือ ตัตรมัชฌัตตตา ได้แก่ สภาพที่เป็นกลาง ถ้าจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะขาด ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกไม่ได้ เพราะว่าไม่มีการเอียงไปด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความหวั่นไหว ด้วยความยินดีและยินร้ายในขณะนั้น ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ว่า ถ้าเป็นอกุศลเกิดขึ้นปรากฏเป็นอารมณ์ ปัญญารู้ชัดเพราะ ตัตรมัชฌัตตตาไม่ได้เห็นว่า อกุศลนั้นเป็นสิ่งที่ดี หรือว่าเป็นกุศล
ตัตรมัชฌัตตตาเป็นกลาง เมื่อเป็นอกุศลก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ปัญญาก็รู้ตามความเป็นจริงในลักษณะของอกุศลธรรมที่ปรากฏนั้น ไม่เห็นผิดว่าเป็นกุศล
ถ. หมายความว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตา ไม่ใช่เวทนาเจตสิก
สุ. แน่นอน ไม่ใช่เวทนาเจตสิก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๗๕๑ – ๗๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780