แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
ครั้งที่ ๗๒๕
สุ. ขณะใดที่มีเจตนาจะให้เป็นกุศล ขณะนั้นต้องปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นสงบ ขณะใดที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นสงบ แต่เพราะเหตุใดจึงแยกการเจริญสมถภาวนาออกไปอีกส่วนหนึ่ง แม้ว่าในขณะที่ให้ทานก็ดี ขณะที่รักษาศีลหรือวิรัติทุจริตก็ดี ก็สงบ ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะว่าขณะที่ให้ทาน ลักษณะของความสงบซึ่งเป็นกุศลจิตนั้นมีเพียงเล็กน้อยชั่วขณะที่ให้ ไม่มั่นคง และจิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว แม้แต่ขณะที่ให้เป็นกุศล เจตนาที่ให้เกิดขึ้นและดับไป ขณะต่อไปอาจจะเป็นความเสียดายก็ได้ หรืออาจจะเป็นความรำคาญใจในข้อบกพร่องของทานนั้นก็ได้ หรืออาจเป็นโลภะ ความพอใจในวัตถุที่ให้ ในอาหาร ในดอกไม้ธูปเทียนต่างๆ ที่สวยงาม ที่จัดไว้อย่างดีก็ได้ ก็เป็นเรื่องสภาพของจิตซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว จากกุศลเป็นอกุศล จากอกุศลเป็นกุศล
เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่ให้ทาน กุศลเจตนาเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว ชั่วขณะนั้นความสงบจึงน้อยมาก ไม่ตั้งมั่นมั่นคงพอที่จะให้รู้ในลักษณะที่เป็นความสงบของจิต ด้วยเหตุนี้ขณะที่ไม่ได้ให้ทาน ขณะที่ไม่ได้รักษาศีลหรือวิรัติทุจริต สภาพของจิตส่วนใหญ่ในวันหนึ่งๆ ย่อมจะเป็นอกุศล ตามปัจจัยที่ได้สะสมมา
แต่ถ้ามีปัญญาที่รู้ว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบได้ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่สามารถจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เพราะปัญญาที่รู้ว่าลักษณะของความสงบเป็นอย่างไร เป็นปัจจัยให้ความสงบของจิตเกิดขึ้นได้ และจะเพิ่มความสงบเป็นสมถะ เป็นความสงบของจิตขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
ฌานจิต เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบโดยไม่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่จะบรรลุถึงอัปปนาสมาธิ ถึงขั้นฌานนั้น แสนยาก เพราะฉะนั้น ตัวของท่านสามารถที่จะสงบได้ถึงขั้นนั้นไหม
ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ซึ่งไม่รู้อะไรเลย แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ก็ไปทำสมาธิกัน และก็บอกว่า เด็กคนนั้นคนนี้บรรลุถึงขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ขอให้ท่านคิดดูว่า การที่จะให้จิตตั้งมั่นในความสงบ ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย และก็เพียงจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด ปัญญาอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีปัญญาจะสงบได้อย่างไร
ในขณะที่ให้ทาน สามารถระลึกถึงสภาพที่สงบของจิตชั่วขณะที่ให้หรือเปล่า ในขณะที่วิรัติทุจริต เห็นความสงบซึ่งปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะที่วิรัติทุจริตหรือเปล่า ถ้าไม่สามารถรู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตแล้ว ไม่สามารถเจริญสมถภาวนาได้
ในยุคนี้ สมัยนี้ ท่านที่จะเจริญสติปัฏฐานย่อมทราบว่า ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นสงบ พร้อมกับปัญญาเริ่มเกิดขึ้นที่จะสังเกตพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นความสงบของสติปัฏฐาน ซึ่งประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่เพียงความสงบโดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ท่านใคร่จะเจริญความสงบในลักษณะใด ท่านจะเจริญความสงบเพียงในขั้นของสมถะที่รู้ว่าทำอย่างไรจะสงบ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือว่าท่านจะเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และสงบในขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
นี่เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาโดยถ่องแท้
ถ. กสิณที่เป็นอารมณ์ของสมถะ ทำให้สงบได้อย่างไร
สุ. กสิณมีถึง ๑๐ ปฐวีกสิณ คือ วงกลมที่ทำขึ้นจากดิน ปฐวี แปลว่า ดิน ธาตุดิน และต้องเป็นดินพิเศษซึ่งมีสีที่ไม่ทำให้จิตตกไปสู่อารมณ์อื่น หมายความว่า สามารถที่จะผูกจิตไว้กับกสิณนั้นได้ เป็นดินสีอรุณอ่อนๆ และต้องกลึงให้ดี ให้เรียบด้วย แต่ว่านั่นหรือจะทำให้จิตสงบ เพียงแต่ไปจ้องดูเฉยๆ จิตจะสงบได้ไหม ความสงบต้องอยู่ที่ปัญญา ไม่ใช่อยู่ที่ดินนั้น สิ่งนั้นเป็นวัตถุที่ทุกท่านสามารถที่จะมองเห็นได้ เด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี ก็ไปดูปฐวีกสิณได้ถ้าอยากจะรู้ว่าปฐวีกสิณเป็นอย่างไร มีบางวัดที่ทำปฐวีกสิณ หรือว่ากสิณอื่น ซึ่งใครๆ ก็ไปดูได้ แต่จะสงบไหมถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสงบเพราะอะไร เช่นเดียวกับอสุภะ ใครๆ ก็เห็น แต่ทำอย่างไร หรือมนสิการอย่างไร ความสงบจึงจะเกิดได้ ความสงบไม่ใช่อยู่ที่ต่างคนก็ต่างไปมุงดู หรือไปดูปฐวีกสิณ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่า จิตที่สงบเพราะอาศัยปฐวีกสิณนั้นด้วยเหตุใด
ถ. เพราะเหตุใดปฐวีกสิณจึงจะทำให้จิตสงบได้
สุ. ทำไมใช้ดิน ก็เพราะว่ามีอะไรในโลกนี้บ้างที่ปรากฏในสภาพความเป็นรูปซึ่งจะปราศจากดิน ความอ่อน ความแข็ง ในวัตถุทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ทั่วไป บนบ้านก็มีสภาพที่อ่อนแข็ง ที่พื้นหญ้า พื้นสนาม พื้นดิน พื้นโลก รูปทั้งหลายที่จะปราศจากธาตุดินไม่มี รู้อย่างนี้แล้ว จิตสงบหรือยัง
เพราะฉะนั้น ที่จะสงบ ต้องเป็นปัญญาที่จะพิจารณาอย่างไร ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ไปดูปฐวีกสิณ ให้ไปดูกันมากๆ และก็เข้าใจว่าจิตจะสงบได้ นั่นไม่ใช่ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่า นอกจากธาตุดินแล้ว ก็ไม่มีอะไร
ที่กายนี้ ก็เป็นแต่เพียงดินชนิดหนึ่ง ถ้าเอาดิน คือ กาย ใส่ลงไปในดินที่เราสมมติกันว่าดิน อีกไม่นานก็จะมีลักษณะผสมผสานปนเปกันเป็นดินเหมือนกัน เพราะฉะนั้น โดยแท้จริงแล้ว รูปธรรมทั้งหลายจะต้องมีธาตุดินเป็นใหญ่ เป็นประธาน และลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่เป็นรูป ก็หาสาระอะไรไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นแต่เพียงลักษณะของธาตุดินในรูปร่างลักษณะต่างๆ ที่กายซึ่งเป็นเนื้อหนังมังสา ก็เป็นแต่เพียงลักษณะอาการหนึ่งของธาตุดิน ดินที่เราเรียกกันว่าดิน ก็เป็นลักษณะหนึ่งอาการหนึ่งของธาตดิน แต่ว่าโดยสภาวะที่เป็นสามัญลักษณะทั่วไปแล้ว ธาตุดินก็คือธาตุดิน ไม่ว่าจะอยู่ที่กาย หรือว่าจะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าดิน
ถ. ธาตุดินที่เห็นกันตามพื้นที่ สถานที่ต่างๆ นี้ ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ โดยสภาพ หรือโดยการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่ใช่ธาตุดิน
สุ. สัมผัสแล้วไม่แข็งหรือ
ถ. ไม่ใช่ ทางตา
สุ. ทางตาก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนาจึงต่างกัน สมถะอาศัยสัญญา ความจำ จากสิ่งที่ปรากฏและนึกถึงธาตุดิน แต่วิปัสสนาภาวนานั้น ระลึกตรงลักษณะสภาพที่อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ ไม่ใช่ทางตา
การเจริญวิปัสสนาภาวนาที่จะรู้ลักษณะของธาตุดิน ไม่ใช่ทางตา แต่ต้องกระทบสัมผัส สภาพที่อ่อนหรือแข็งเสมอกันหมด ไม่ว่าจะเป็นที่กายหรือที่อื่นก็ตาม นั่นคือ วิปัสสนาภาวนา มีลักษณะของธาตุแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ
แต่สมถภาวนาอาศัยสัญญา ความจำ ในสิ่งที่สมมติว่าธาตุดิน และก็น้อมไปสู่การที่จะสงบ เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรเลย ไม่มีสาระ สิ่งที่ปรากฏที่เป็นใหญ่เป็นประธานของรูปธรรมทั้งหลาย ก็คือ ธาตุดินเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยปฐวีกสิณ ในขั้นต้น
ถ. ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าให้พระภิกษุเจริญอสุภะ และภิกษุเหล่านั้นก็พากันฆ่าตัวตาย ทำไมจึงทรงให้เจริญอสุภะ ในเมื่อทรงรู้ว่าเขาจะไปฆ่าตัวตาย
สุ. ในอรรถกถาอธิบายไว้ว่า ภิกษุเหล่านั้นได้ทำกรรมไว้ในอดีต ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้ท่านเหล่านั้นฆ่าตัวตาย ตามการสะสมที่ได้สะสมมา
ถ. ผมคิดว่า ภิกษุเหล่านั้นคงจะไม่มีปัญญา จึงพากันฆ่าตัวตาย
สุ. ปัญญาดับไหม ปัญญาเกิดขึ้นแล้วดับไหม
ถ. ดับแน่นอน
สุ. เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ใช่โลกุตตรปัญญาถึงขั้นดับกิเลสทั้งหลายเป็นสมุจเฉท ก็ยังมีปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นได้
นี่คือความวิจิตรของจิต ซึ่งไม่ควรจะประมาทอกุศลธรรมเลย อกุศลธรรมมีกำลังมากมายมหาศาล สามารถที่จะปิดกั้นไม่ให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือให้เห็นผิด คือ เห็นอกุศลเป็นกุศล
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะทำอย่างไร จะสงบพร้อมสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท หรือว่ายังใคร่ที่จะไปทำสมาธิ และก็เข้าใจว่าขณะนั้นจิตสงบ โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้เลยว่าจิตจะสงบได้อย่างไร เพียงแต่ไปนั่งจดจ้องอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดและก็ถือเอาอกุศลจิตเป็นกุศลจิต ก็ ไม่สงบ เพราะไม่รู้ แต่ถ้ารู้แล้ว จึงสงบ
เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาไม่เกิด เจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพียงแต่จดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดให้เป็นสมาธิเกิดขึ้น ผลก็คือ ไม่รู้ว่าทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่แปลกประหลาด นั่นเป็นความไม่รู้ และความสงสัยก็เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของความสงบเลย และสำหรับสมถภาวนา เพียงแต่รู้ว่าสมถกัมมัฏฐานมีอะไรบ้าง ยังไม่พอเลยกับการที่จะเจริญสมถภาวนา
อย่างเช่น คำถามของท่านผู้ฟังเรื่องปฐวีกสิณ จะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถที่จะสงบได้ และขณะนี้มีปฐวีกสิณไหมที่จะให้เป็นสมถภาวนา แต่ว่ามีสภาพธรรมที่ปรากฏและยังไม่รู้ ก็ควรที่จะรู้ ซึ่งขณะใดที่รู้ ขณะนั้นสงบด้วย
เพราะฉะนั้น จะเห็นพระคุณของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงสภาพธรรมพร้อมด้วยเหตุและผลอย่างละเอียดแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายย่อมไม่สามารถที่จะพ้นไปจากความเห็นผิดและความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยเฉพาะเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว และต่อไปก็จะนานๆ ต่อไปอีก ถ้าท่านผู้ใดไม่ศึกษาธรรม ไม่ฟังธรรม และคิดว่าเข้าใจธรรมแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ที่ประมาท เพราะย่อมมีความเข้าใจผิด แต่ถ้าศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมอยู่เสมอ ก็ย่อมมีความรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น
และธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้ที่ได้รับฟังได้ ซึ่งทุกท่านพิสูจน์ได้กับตัวของท่านเองว่า อย่างน้อยที่สุดท่านก็เปลี่ยนจากความไม่รู้อะไร เป็นรู้ขึ้น และถ้าได้ศึกษาธรรมต่อไป กุศลประการอื่นๆ ก็จะเพิ่มพูนขึ้น ซึ่งท่านจะเปรียบเทียบได้จริงๆ ว่า พระธรรมเปลี่ยนจากอกุศลซึ่งเคยมีมากให้ลดน้อยลง และก็เพิ่มพูนทางฝ่ายกุศลยิ่งขึ้น
ขอกล่าวถึงชีวิตของพระเจ้าอโศกมหาราชต่อจากคราวก่อน ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ธรรมได้เปลี่ยนพระองค์จากการเป็นอโศกมหาราชผู้ดุร้าย เป็นธัมมาโศกราช คือ เป็นมหาราชผู้ทรงธรรม
ข้อความใน สมันตปาสาทิกา มีว่า
เมื่อพระเจ้าอโศกทอดพระเนตรเห็นอาการอันสงบน่าเลื่อมใสของนิโครธสามเณรแล้ว ก็คิดว่าสามเณรนี้คงบรรลุโลกุตตรธรรม
แสดงให้เห็นว่า แม้พระเจ้าอโศกเองก็ทรงเป็นผู้ที่ใคร่ในการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสวงหาผู้ที่ควรแก่การเลื่อมใส คือ ผู้ที่บรรลุโลกุตตรธรรม ซึ่งตามความเป็นจริง นิโครธสามเณรได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันบรรพชา ขณะที่ท่านปลงเกศาเสร็จ
พระเจ้าอโศกจึงทรงส่งอำมาตย์ทั้งหลายไปนิมนต์สามเณรมารับภัตตาหารในพระราชวัง
นี่เป็นการแสวงหาบุคคลที่ประกอบด้วยปัญญา
เมื่ออำมาตย์เหล่านั้นยังช้าอยู่ ก็ได้ทรงส่งอำมาตย์ไปอีก ๒ – ๓ คน รับสั่งขอให้สามเณรมาเร็วๆ เถอะ ซึ่งนิโครธสามเณรก็เดินไปตามธรรมดาของตน แต่ว่าในความรู้สึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ไม่ทันพระทัยของพระองค์ที่จะใคร่ให้นิโครธสามเณรไปรับภัตตาหารโดยเร็ว นิโครธสามเณรเมื่อได้เข้าไปในพระราชวังแล้ว พระเจ้าอโศกก็รับสั่งว่า
ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรู้อาสนะอันสมควรแล้วนั่งเถิด
ซึ่งก่อนหน้านั้น พวกนักพรตต่างๆ มารับถวายภัตตาหารในพระราชวังนั้น เวลาที่พระเจ้าอโศกรับสั่งว่า ขอพระคุณเจ้า จงนั่งบนอาสนะอันสมควรแก่ตนเถิด บางพวกก็นั่งบนพระเก้าอี้ แล้วบางพวกก็นั่งบนแผ่นกระดาน
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกยุคทุกสมัยที่แสดงให้เห็นอัธยาศัยที่ต่างๆ กันตามการสะสม แต่เมื่อพระเจ้าอโศกรับสั่งกับนิโครธสามเณรว่า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงรู้อาสนะอันสมควรแล้วนั่งเถิด
นิโครธสามเณรเหลียวข้างโน้นข้างนี้ คิดว่า บัดนี้ไม่มีภิกษุอื่นๆ จึงเข้าไปใกล้พระราชบัลลังก์มีเศวตรฉัตรอันยกขึ้นไว้ ได้แสดงอาการแก่พระราชาเพื่อประโยชน์ในการทรงถือบาตร พระราชาทอดพระเนตรเห็นสามเณรนั้นเข้าไปใกล้พระราชบัลลังก์ ทรงพระดำริว่า สามเณรนี้จักเป็นเจ้าของเรือนนี้เวลานี้ วันนี้เอง
สามเณรถวายบาตรไว้ในพระหัตถ์ของพระราชา แล้วขึ้นพระราชบัลลังก์ นั่งแล้ว พระเจ้าอโศกทรงน้อมถวายข้าวยาคู ของขบเคี้ยว และภัตตาหารทุกชนิดที่เขาจัดถวายพระองค์ สามเณรรับแต่เพียงพอยังอัตภาพให้เป็นไปแก่ตนเท่านั้น ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระเจ้าอโศกมีพระราชดำรัสขอให้นิโครธสามเณรแสดงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ประทานไว้แก่พุทธบริษัท ซึ่งนิโครธสามเณรก็ได้กล่าวอัปปมาทวรรคในพระธรรมบท อันเหมาะแก่พระราชา เพื่อประโยชน์แก่การอนุโมทนา พระราชาทรงเลื่อมใส แม้นิโครธสามเณรก็ได้ให้พระราชาพร้อมทั้งพระราชบริษัทดำรงอยู่ในสรณะ ๓ และศีล ๕
พระเจ้าอโศกทรงรับสั่งให้สร้างมหาวิหาร ชื่อว่าอโศการาม และได้ทรงสร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง ประดับด้วยเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ซึ่งเสร็จภายในเวลา ๓ ปี และพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยเลือกพระภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงพระปริยัติ คือ พระไตรปิฎก มีปฏิสัมภิทาแตกฉาน ต่างทรงคุณวิเศษ มีได้วิชชา ๓ เป็นต้น จำนวน ๑.๐๐๐ รูป ในจำนวนพระภิกษุ ๖,๐๐๐,๐๐๐ รูป
สังคีติ คือ สังคายนา ครั้งนี้กระทำ ๙ เดือน ที่อโศการาม ในเมืองปาฏลีบุตร ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า มีสถานที่หลายแห่งที่ควรจะไปนมัสการและน้อมระลึกถึงคุณของผู้ที่ได้กระทำการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ก่อนที่พระมหินทเถระจะไปเผยแพร่ พระธรรมที่ลังกา ก็ได้ไปอยู่ที่อโศการาม และก่อนที่ไปสู่ลังกา ก็ได้จาริกไปทางทักขิณาคีรีชนบท เยี่ยมญาติทั้งหลาย ๖ เดือน และได้เยี่ยมลาพระมารดาที่กรุงอุชเชนี
นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใส และแสดงให้เห็นถึงอานุภาพ คุณของพระธรรม ซึ่งสามารถที่จะเปลี่ยนบุคคลจากความเป็นบุคคล ผู้เหี้ยมโหดดุร้าย ให้เป็นผู้ที่ทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชก็ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า
เป็นการยากที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่าจะรู้แจ้งได้โดยง่าย ถึงแม้ว่าจะได้สร้างมหาวิหารชื่ออโศการาม สร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง และได้ทรงส่งพระเถระไปเผยแพร่พระธรรม แต่ถ้าบารมีที่สะสมมายังไม่พร้อมที่จะบรรลุคุณธรรมเป็น พระอริยเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ก็ได้เปลี่ยนจากความเป็นบุคคลผู้ดุร้าย ผู้อธรรม มาเป็นผู้ที่ทรงธรรม
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรจะติดตามรับฟังศึกษาพระธรรมต่อไป เพื่อที่จะได้เจริญกุศลทุกประการยิ่งขึ้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๗๒๑ – ๗๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780