แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
ครั้งที่ ๗๗๐
สำหรับการที่จะถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เป็นที่พึ่ง ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๙๓ แสดงถึงเหตุการณ์ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพาน คือ ในระหว่างทางเสด็จไปยังเมืองกุสินารา เพื่อที่จะโปรดสุภัททปริพาชก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์พุทธบริษัทตลอดทางเป็นครั้งสุดท้าย
ซึ่งข้อความบางตอนมีว่า
ครั้งนั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ทรงประชวรอย่างหนัก เกิดเวทนาอย่างร้ายแรงถึงใกล้จะปรินิพพาน ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะอดกลั้น ไม่พรั่นพรึง ทรงพระดำริว่า การที่เราจะไม่บอกภิกษุ ผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไร เราพึงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่เถิด ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนั้น ทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่แล้ว อาพาธของพระองค์สงบไปแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงหายประชวร คือหายจากความเป็นคนไข้ไม่นาน เสด็จออกจากวิหารไปประทับนั่งบนอาสนะที่ภิกษุจัดถวายไว้ที่เงาวิหาร ฯ
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นความสำราญของพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพระองค์เห็นความอดทนของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็แต่ว่าเพราะการประชวรของพระผู้มีพระภาค กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระองค์มามีความเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคจักยังไม่เสด็จปรินิพพานจนกว่าจะได้ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราได้แสดงแล้ว กระทำไม่ให้มีในมีนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลายมิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดจะพึงคิดอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จะเชิดชูเรา ดังนี้ ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ ดูกร อานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จักเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวหนึ่ง
ดูกร อานนท์ บัดนี้เราแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ แม้ฉันใด กายของตถาคต ฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฯ
ดูกร อานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด ฯ
ดูกร อานนท์ อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่
ดูกร อานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักปรากฏอยู่ในความเป็นยอดยิ่ง ฯ
จบ คามกัณฑ์ในมหาปรินิพพานสูตร ฯ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใดจะพึงคิดอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จะเชิดชูเรา ดังนี้ ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ บางคนมีจิตที่ต้องการความเป็นใหญ่โดยคิดว่า จักบริหารภิกษุสงฆ์ และก็แสดงธรรม หรือมีความหวังว่า ภิกษุสงฆ์จะเชิดชูตน จึงกล่าวคำใดคำหนึ่ง คือ แสดงธรรม แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคนั้นพระองค์ตรัสว่า ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จักเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวหนึ่ง คือ เวลาที่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่ ภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรม
สำหรับการนอบน้อมบูชาพระธรรมโดยการประพฤติปฏิบัติตาม เป็นการนอบน้อมที่สูงที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาที่มีพระธรรมเป็นอนุสสติ คือ การระลึกถึงพระธรรม บางครั้งเมื่อจิตสงบเพราะระลึกถึงพระธรรมแล้ว แต่อย่าลืมว่า ต้องประพฤติปฏิบัติตาม จึงเป็นการบูชาอย่างสูงสุด โดยการเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ซึ่งก็คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง
ใน มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๑๒๘ และ ๑๒๙ ข้อความบางตอนมีว่า
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ตั้งเตียงหันพระเศียรไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละทั้งคู่ พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัสเบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ ฯ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกร อานนท์ ไม้สาละทั้งคู่เผล็จดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ในอากาศเพื่อบูชาตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต
ดูกร อานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นชื่อว่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้ ฯ
ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่บูชาด้วยการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการบูชาอย่างยิ่ง ถ้าท่านผู้ฟังจะเพียงบูชาสักการะด้วยดอกไม้ของหอม แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม จะชื่อว่าเป็นการเคารพ นับถือ บูชาจริงๆ ไหม แต่ถ้าขณะใดที่ประพฤติปฏิบัติตาม ขณะนั้นเป็นการเคารพ บูชา นับถือจริงๆ
สำหรับอานิสงส์ในการเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จุนทิสูตร ข้อความที่พระผู้ทรงแสดงกับราชกุมารีชื่อว่าจุนที มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถานใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ราชกุมารีชื่อว่าจุนที แวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และกุมารี ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ราชกุมารพระนามว่าจุนทะ พระภาดาของหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ว่า หญิงหรือชายเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ดังนี้
หม่อมฉันจึงขอทูลถามว่า ผู้ที่เลื่อมใสในศาสดาเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในธรรมเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในสงฆ์อย่างไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่ทำให้บริบูรณ์ในศีลเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ฯ
น่าสงสัยไหม แต่นี่เป็นความสงสัยของราชกุมารีชื่อว่าจุนที ซึ่งเมื่อได้ฟัง ราชกุมารชื่อว่าจุนทะกล่าวก็มีความสงสัยว่า การที่จะเลื่อมใสในพระศาสดา ใน พระธรรม ในพระสงฆ์อย่างไร จึงจะทำให้เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร จุนที สัตว์ที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสัตว์เหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ธรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคะ คือ ธรรมอันย่ำยีความเมา กำจัดความกระหาย ถอนเสียซึ่งอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าธรรมเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ฯ
หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของพระตถาคต คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ศีลมีประมาณเท่าใด ศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว คือ ศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าศีลเหล่านั้น ชนเหล่าใดย่อมทำให้บริบูรณ์ใน อริยกันตศีล ชนเหล่านั้นชื่อว่า ทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ฯ
บุญอันเลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุข และกำลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมที่เลิศ เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ คือ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลชั้นเยี่ยม เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ อันปราศจากราคะ เป็นที่เข้าไปสงบ เป็นสุข เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ เป็นนาบุญชั้นเยี่ยม ให้ทานในสิ่งที่เลิศ ปราชญ์ผู้ถือมั่นธรรมที่เลิศ ให้สิ่งที่เลิศ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ย่อมถึงสถานที่เลิศ บันเทิงใจอยู่ ฯ
จบ สูตรที่ ๒
ท่านผู้ฟังกำลังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า คือ เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในบุคคลผู้เลิศ ในธรรมที่เลิศ และในหมู่คณะที่เลิศ
เวลาที่ท่านถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หรือเวลาที่ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยก็ดี ในขณะนั้นท่านอาจจะไม่ทราบว่า ตัวของท่านเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ คือ ทั้งในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ในพระธรรมที่เลิศ และในหมู่คณะคืออริยสงฆ์ที่เลิศ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วว่า ไม่มีบุคคลใดที่จะเลิศกว่าพระผู้มีพระภาค ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่มีเท้า หรือไม่มีเท้า มี ๒ เท้า มี ๔ เท้า มีสัญญา ไม่มีสัญญา
สัญญาเป็นความจำ เพราะฉะนั้น บุคคลที่เกิดมาแล้ว ถ้าเป็นในปัญจโวการภูมิ ต้องพร้อมทั้งขันธ์ ๕ คือ มีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งสัญญาขันธ์ คือ สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จำ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ที่จะปราศจากสัญญานั้น ไม่มี
เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า ผู้ที่มีสัญญาก็ดี ผู้ที่ไม่มีสัญญาก็ดี ผู้ที่ไม่มีสัญญานั้น หมายความถึงบุคคลผู้อบรมเจริญสมถภาวนา จนกระทั่งฌานจิตเกิดถึงปัญจมฌาน และเห็นโทษของการมีนามธรรม โดยเห็นว่า ถ้ามีแต่รูปธรรมโดยปราศจากนามธรรมย่อมไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุปัญจมฌานและมีความหน่ายในนามธรรมก็ตั้งความปรารถนาที่จะมีแต่รูปปฏิสนธิ เมื่อจุติจากภูมินั้นแล้ว ก็จะเกิดในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่มีแต่รูป ไม่มีนามธรรม เมื่อไม่มีนามธรรม ก็ไม่มีทั้งเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ แต่แม้อย่างนั้น ก็ไม่ใช่ ผู้เลิศ เพราะไม่ว่าจะเป็นสัตว์มีเท้า ไม่มีเท้า ๒ เท้า ๔ เท้า มีสัญญา หรือไม่มีสัญญา ผู้ที่เลิศที่สุด คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
และผู้ที่มีความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็ย่อมจะได้รับวิบากที่เลิศ ตามกำลังความเลื่อมใสนั้นด้วย
ถ้าท่านผู้ฟังเลื่อมใสบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสดงธรรมที่เลิศ และไม่ใช่ในหมู่คณะคือพระอริยสงฆ์สาวกผู้เลิศ วิบากของการเลื่อมใสนั้น ก็ย่อมไม่เลิศเท่ากับความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยซึ่งเลิศ
ถ. ที่ว่าเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าถึงอย่างไร
สุ. ด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม
ถ. มีจิตเลื่อมใสเฉยๆ ได้ไหม
สุ. มีจิตเลื่อมใส แต่ไม่เข้าใจในพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมจะไม่เห็นความเป็นพระอรหันต์ของพระองค์ เช่น กล่าวคำว่า อะระหัง พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต์ หมายความถึงผู้ที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าเข้าใจเพียงเท่านี้ก็มีความเลื่อมใสพอสมควร แต่ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจในธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ความเลื่อมใสนั้นก็น้อยมาก เพราะฉะนั้น ต้องมีการศึกษา และประพฤติปฏิบัติตามด้วย
ถ. ที่กล่าวว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา หมายความว่าอย่างไร
สุ. เห็นโลกุตตรธรรม คือ มรรคผลนิพพานว่า เป็นสิ่งที่มีจริง สามารถที่จะบรรลุถึงได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้บรรลุแล้ว และได้ทรงแสดงหนทางให้บรรลุ จึงเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะแสดงหนทางนี้ได้
ถ. ธรรม ในที่นี้หมายถึงอะไร
สุ. ธรรมหมายความถึง ถ้าอย่างสูงสุดก็คือโลกุตตรธรรม แต่การที่จะรู้แจ้งพระนิพพานซึ่งเป็นโลกุตตรธรรมได้ จะต้องมีการประพฤติปฏิบัติ และการประพฤติปฏิบัติจะมีได้ ก็ต่อเมื่อมีการศึกษาพระธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองและทรงแสดงไว้ให้ประพฤติปฏิบัติตามได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๗๖๑ – ๗๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780