แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
ครั้งที่ ๗๗๒
ถ. ผู้ที่ปฏิบัติเจริญสมถภาวนา การศึกษาเป็นปลิโพธมาขัดขวาง ท่านก็ไม่ศึกษา และไปปฏิบัติสมณธรรม ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน
สุ. ปนสมถะกับวิปัสสนาหรือเปล่า
ถ. ไม่ทราบ แต่มีตัวอย่างใน วิสุทธิมรรค
สุ. สำหรับปลิโพธใน วิสุทธิมรรค มี ๑๐ ซึ่ง ๙ อย่างเป็นปลิโพธของสมถะ เพียงอย่างเดียวเป็นปลิโพธของวิปัสสนา
ถ. มีบุคคลตัวอย่างของคันถปลิโพธ ใน วิสุทธิมรรค คือ ท่านจูฬาภยะ เป็นผู้ศึกษาในพระสูตรนิกายเดียว และท่านก็ทิ้งไป ๒๐ ปี ไปปฏิบัติธรรม ท่านจะเจริญสติปัฏฐาน หรือเจริญสมาธิก็ไม่มีกล่าวไว้ ท่านใช้คำว่า เจริญสมณธรรม ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อบรรลุแล้ว พระไตรปิฎกท่านก็รู้หมด จะเป็นไปได้หรือที่ไม่ได้ศึกษาเลย แต่เมื่อบรรลุเป็นพระอริยบุคคลแล้ว จะรู้ขึ้นมาเอง
สุ. ท่านศึกษามากี่ปี
ถ. ไม่ได้บอก บอกแต่ว่าศึกษา ท่านได้นิกายเดียว
สุ. ท่านผู้ฟังก็เคยศึกษา กำลังศึกษา และเหตุการณ์ทั้งหลายซึ่งไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า อาจจะทำให้ท่านขาดการศึกษาได้ไหม อาจจะเป็นเพียง ชั่วระยะอาทิตย์หนึ่ง หรืออาจจะมากกว่านั้น คือ ถึงเดือน หรืออาจจะมากกว่านั้น ถึงปี หรืออาจจะมากกว่านั้น ถึงหลายๆ ปี อย่างบางท่านอยู่ที่เมืองไทยก็ได้ศึกษาธรรม ได้ฟังธรรมอยู่เป็นประจำ แต่เวลาที่จำเป็นต้องกลับต่างประเทศ การศึกษาซึ่งมีอยู่เป็นปกติ ก็คงจะห่างเหินไป แล้วแต่เหตุการณ์ในชีวิตว่า จะมีโอกาสศึกษาต่อไปมากหรือน้อย เพราะฉะนั้น ในชีวิตจริงๆ ของท่าน ซึ่งท่านศึกษาและมีเหตุการณ์ที่ทำให้ขาดการศึกษาไป แต่สิ่งที่ศึกษามาแล้วไม่สูญหายไปไห น เวลาที่ได้ฟังอีกครั้งหนึ่งจะมีความเข้าใจที่เร็วขึ้น ถึงแม้ว่ามีการฟังธรรมในมนุษย์นี้แล้ว เวลาที่สิ้นชีวิต และไปเกิดบนสวรรค์ มีสิ่งที่น่าเพลิดเพลินมากทีเดียว แต่ว่าธรรมที่ได้ฟังแล้ว ได้ศึกษาแล้ว ได้ปฏิบัติแล้ว ก็ไม่สูญหายไปไหน ยังมีปัจจัยที่จะทำให้ระลึกขึ้นเองได้บ้าง หรือว่าเวลาที่ได้ฟังธรรมเทศนาจากเทพบุตร ก็ทำให้สามารถระลึกถึงธรรมที่ได้ฟังแล้ว และมีความรู้ มีความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือฆราวาสก็ตามที่ได้ศึกษาแล้ว และขาดการศึกษา ขาดการฟังไป แต่ก็มีปัจจัยที่สะสมมาพอที่ว่า เมื่อได้ฟังอีก เมื่อระลึกอีก เมื่อปฏิบัติอีก ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดผลถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะศึกษาหรือไม่ศึกษา แต่สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ เป็นปัจจัยให้ปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้นได้
ถ. มีอีกเรื่องหนึ่ง เวลานี้มีพระองค์หนึ่ง พรรษาไม่มาก ประมาณ ๑๐ พรรษา หรือน้อยกว่านนั้น ท่านสามารถได้ยินเสียงในบริเวณวัดนี้ทั้งหมด ไม่ว่ากุฏิไหนคุยอะไร อย่างนี้จะเรียกว่า อภิญญาหรือเปล่า
สุ. สนใจไหม
ถ. สนใจ
สุ. สนใจหรือ ถ้าเป็นธรรม เป็นการเจริญสติปัฏฐาน เป็นปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะน่าสนใจกว่าไหม
ถ. ก็ด้วยกัน
สุ. อะไรพิสูจน์ได้ การอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านสามารถจะพิสูจน์ธรรมได้ด้วยตนเอง แต่การที่จะไปรู้บุคคลอื่นว่า บุคคลนั้นจะได้อภิญญาไหม จะมีประโยชน์อะไร
ถ. คือ ไม่ใช่บุคคลนั้น แต่หมายความว่า ผู้ที่ได้อย่างนี้ จะเป็นอภิญญาหรือเปล่า ผู้ที่สามารถได้ยินเสียงในบริเวณวัด ถ้าท่านต้องการจะได้ยินแล้ว ก็ได้ยินทั้งนั้น เหตุการณ์ข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็สามารถรู้ได้ วิธีของท่าน คือ กำหนดให้มีแสงสว่างเป็นวงกลม อยากจะรู้อะไรในวงกลมนั้น จะเห็นเหตุการณ์นั้นปรากฏในวงกลมนั้น
สุ. จิตสงบหรือเปล่าเวลานั้น ดิฉันไม่ค่อยจะสนใจว่า จะมีอะไรปรากฏที่วงกลม แต่สนใจที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาในเหตุผลว่า จิตของท่านในขณะนั้นสงบหรือเปล่า นี่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจะต้องรู้ว่า ธรรมใดมีประโยชน์ไม่เป็นโทษ ธรรมใดไม่มีประโยชน์และเป็นโทษ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า มีอะไรจะปรากฏในวงกลมนั้น ก็ไม่เท่ากับการที่จะรู้ว่า จิตของบุคคลนั้นในขณะนั้นสงบไหม เป็นกุศลไหม สมควรที่จะประพฤติปฏิบัติตามไหม
ถ้าไม่เป็นกุศล ไม่สงบ ก็ไม่น่าสนใจใช่ไหม เป็นอกุศลจะสนใจทำไม ไม่สงบจะสนใจทำไม แต่ควรสนใจในสิ่งที่จะทำให้กุศลจิตเกิดขึ้น ทำให้สงบ และประกอบด้วยปัญญายิ่งขึ้น
อย่างไหนจะดีกว่ากัน การระลึกถึงพระธรรมคุณ กับการที่จะให้มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏในวงกลม
สำหรับผลของธัมมานุสสติ ตาม วิสุทธิมรรค มีว่า
เมื่อพระโยคีนั้น นึกถึงคุณของพระธรรมอันต่างโดยประเภท มีสวากขาตธรรมเป็นต้น อย่างนี้อยู่ ในสมัยนั้น จิตของท่านจะไม่ถูกราคะกลุ้มรุม จะไม่ถูกโทสะ กลุ้มรุม จะไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ในสมัยนั้นจิตของท่านจะปรารภพระธรรมดำเนินไปตรงทีเดียว ด้วยเหตุนี้องค์แห่งฌานทั้งหลาย ย่อมบังเกิดขึ้นในขณะเดียวกันแก่เธอผู้มีนิวรณ์อันข่มแล้วตามนัยมีในก่อน แต่เพราะเหตุที่พระคุณแห่งพระธรรมทั้งหลายเป็นสภาวะลึกซึ้ง และเพราะบุคคลน้อมใจไปตามการนึกถึงพระคุณมีประการต่างๆ ฌานจึงยังไม่ถึงอัปปนา ย่อมถึงเพียงอุปจาระเท่านั้น ฌานนี้นั้นถึงซึ่งอันนับว่า ธัมมานุสสติ เพราะเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งการระลึกถึงธรรมคุณ
ก็ภิกษุผู้หมั่นประกอบตามธัมมานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ด้วยการอนุสรณ์ถึงคุณของพระธรรมอย่างนี้ว่า ในส่วนแห่งกาลที่ล่วงแล้วไป เรายังไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์แม้นี้ ผู้แสดงซึ่งพระธรรมอันควรน้อมเข้ามาอย่างนี้เลย แต่เดี๋ยวนี้ เราก็ยังไม่เห็นใครคนอื่น นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฉะนี้ ย่อมเป็นผู้ทำความเคารพในพระธรรม ย่อมถึงซึ่งความเป็นผู้ไพบูลย์ด้วยศรัทธา เป็นต้น เป็นผู้มากด้วยปีติและปราโมทย์ เป็นผู้อดทนได้ซึ่งภัยที่น่าจะพึงกลัว เป็นผู้สามารถจะอดกลั้นทุกข์ไว้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งความสำคัญว่า มีการอยู่ร่วมกันกับพระธรรม ก็แม้สรีระของท่านซึ่งถูกธัมมคุณานุสสติเข้าอยู่ ย่อมเป็นสรีระอันที่ควรบูชาปานดังเรือนเจดีย์ จิตของท่านย่อมน้อมไปในการบรรลุธรรมอันยอดเยี่ยม และเมื่อท่านหมั่นระลึกถึงความเป็นธรรมที่ดีแห่งพระธรรมอยู่ หิริและโอตตัปปะย่อมปรากฏขึ้น ในขณะที่ประจวบกับวัตถุอันจะพึงล่วงละเมิด และเมื่อท่านยังไม่แทงตลอดซึ่งคุณวิเศษ ก็ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เหตุนั้นแหละ ผู้มีปัญญาดีพึงทำความไม่ประมาทในการระลึกถึงพระธรรม ซึ่งมีอานุภาพมากอย่างนี้ ในกาลทุกเมื่อเทอญ
ขณะนี้ ถ้าระลึกถึง และสงบนิดๆ หน่อยๆ ก็ดีกว่าที่จะไปทำอย่างอื่น ซึ่งขณะนั้นจิตไม่สงบ และเมื่อทราบแล้วว่า การระลึกถึงพระธรรมไม่สามารถที่จะทำให้บรรลุถึงอุปจารสมาธิได้ แต่ก็ควรที่จะระลึก เพราะจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตปราศจากกิเลสในขณะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ควรเจริญ
ขอกล่าวถึงอานิสงส์ของการประพฤติปฏิบัติธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ใน พระไตรปิฎก ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เป็นพละ เป็นกำลังอย่างยิ่ง ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กำลังนั้นไม่ใช่อกุศล แต่สภาพธรรมที่เป็นพละที่มีกำลังจริงๆ นั้น ต้องเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะหวัง หรือคิดว่า อย่างอื่นจะมีกำลังกว่ากุศล
ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต พลสูตร ข้อ ๒๐๙ มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ กำลัง คือ ปัญญา ๑ กำลัง คือ ความเพียร ๑ กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ ๑ กำลัง คือ การสงเคราะห์ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ปัญญาเป็นไฉน ธรรมเหล่าใดเป็นกุศลนับว่าเป็นกุศล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ นับว่ามีโทษ ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใดดำ นับว่าดำ ธรรมเหล่าใดขาว นับว่าขาว ธรรมเหล่าใดไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ธรรมเหล่าใดควรเสพ นับว่าควรเสพ ธรรมเหล่าใดไม่สามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าไม่สามารถทำความเป็นอริยะ ธรรมเหล่าใดสามารถทำความเป็นพระอริยะ นับว่าสามารถทำความเป็นพระอริยะ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันบุคคลเห็นแจ้ง ประพฤติได้ด้วยปัญญา นี้เรียกว่ากำลัง คือ ปัญญา ฯ
ปัญญามีกำลัง คือ กำลังที่สามารถจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะบางท่านยังสับสนธรรมที่เป็นกุศลกับธรรมที่เป็นอกุศล แต่เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้น มีกำลัง สามารถที่จะพิจารณารู้ชัดได้ว่า ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล ก็นับว่าเป็นกุศลจริงๆ ส่วนธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล ก็นับว่าเป็นอกุศล
และนอกจากจะเห็นว่า ธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดเป็นอกุศล ก็ยังเห็นว่า ธรรมใดที่เป็นกุศล เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ ก็นับว่าเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ ส่วนธรรมใดที่เป็นอกุศลนั้นมีโทษ ก็ต้องนับว่ามีโทษตามความเป็นจริง มีความตรงที่จะไม่เอนเอียง ที่จะไม่ให้อกุศลเป็นกุศล หรือที่จะให้อกุศลเป็นกุศล และยังรู้ว่า เมื่อเป็นธรรมที่เป็นกุศลไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ขาวแล้ว ก็ยังเป็นธรรมที่ควรเสพ สามารถทำความเป็นอริยะได้
ผู้ที่จะรู้จริงอย่างนี้ ต้องปฏิบัติถูก มีความเข้าใจถูกในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ด้วย มิฉะนั้น ย่อมจะเห็นหนทางผิดว่าเป็นหนทางถูก ซึ่งตามความจริง ทางนั้นหรือธรรมนั้น ไม่สามารถที่จะทำความเป็นอริยะได้
ถ. ขณะที่เห็นดอกไม้และชอบ ต่างกันกับขณะที่ตั้งใจจะเอาไปบูชาพระที่เป็นกุศล ถ้าไม่ปฏิบัติธรรม ก็คงรู้จักยากเหมือนกัน
สุ. ในขณะที่เห็นแล้วว่า ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นกุศล ปัญญายังรู้ว่า ธรรมใดควรเสพ ธรรมใดไม่ควรเสพ ซึ่งขณะนั้นปัญญาต้องรู้ว่า ที่เป็นกุศลควรเสพ ควรกระทำให้มาก แต่ที่เป็นอกุศล คือ มีความยินดีพอใจ ไม่ควรเสพ ไม่ควรเจริญให้มาก ปัญญาจะต้องพิจารณา และรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงอยู่เรื่อยๆ และยิ่งขึ้น จนกระทั่งรู้ว่า ขณะที่เพียงแต่เป็นกุศลนั้น ก็ยังไม่ใช่การรู้แจ้งธรรมที่จะทำให้เป็นอริยะได้ เพราะฉะนั้น ต้องสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ถ. ถ้าสติไม่เกิดรู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏ การแยกกันระหว่างขณะที่จิตเป็นโลภะกับขณะที่จิตเป็นศรัทธาที่จะเอาดอกไม้ไปบูชา รู้สึกว่า จะแยกกันไม่ได้
สุ. และปัญญาจะต้องเพิ่มกำลังขึ้นจนกระทั่งรู้จริงว่า ขณะใดเป็นขณะที่สามารถทำความเป็นอริยะได้
ข้อความต่อไป ประการที่ ๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ความเพียรเป็นไฉน
ท่านผู้ฟังก็ได้ทราบเรื่องของความเพียรมามาก แต่ความเพียรที่จะเป็นกำลังนั้น ต้องเป็นความเพียรอย่างไร ซึ่งท่านจะได้ทราบว่า ท่านมีความเพียรน้อย หรือว่าท่านมีความเพียรมาก
ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล … บุคคลยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละธรรมเหล่านั้น
เป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าขณะใดเป็นอกุศล ที่กำลังยินดีพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่นี่เป็นอกุศล บุคคลยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละธรรมเหล่านั้น
ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล คือ ไม่มีโทษ เป็นธรรมขาว เป็นธรรมควรเสพ เป็นธรรมที่สามารถทำความเป็นอริยะ บุคคลย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อได้ธรรมเหล่านั้น นี้เรียกว่ากำลัง คือ ความเพียร ฯ
ประการที่ ๓. พระผู้มีพระภาคตรัสถึงกำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ถึงปัญญาของท่าน ถึงความเพียรของท่าน ถึงการกระทำของท่านในชีวิตประจำวัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่ากำลัง คือ การงานอันไม่มีโทษ ฯ
การงานนี้อย่าลืมว่า ต้องพร้อมทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม บางท่านอาจจะนึกถึงกายกรรมเท่านั้น ลืมวจีกรรมและมโนกรรม แต่ที่ถูกแล้วจะต้องเป็นทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมด้วย ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ย่อมยากที่จะรู้ว่า กายกรรมขณะนั้นเป็นกายกรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ วจีกรรมเป็นวจีกรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สติจะระลึกได้ทันทีในขณะที่กายกรรมกำลังเป็นกายกรรมที่มีโทษ หรือแม้แต่ในขณะที่กล่าวคำพูดอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นคำพูดที่มีโทษ ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สติก็สามารถที่จะเกิด และปัญญาเห็นลักษณะของโทษของธรรม ซึ่งเป็นอกุศลในขณะนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๗๗๑ – ๗๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780