แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773


    ครั้งที่ ๗๗๓


    ประการต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ การสงเคราะห์เป็นไฉน สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ ทาน ๑ เปยยวัชชะ ๑ อัตถจริยา ๑ สมานัตตตา ๑

    ในบรรดาการสงเคราะห์ คือ สังคหวัตถุ ๔ ประการ ได้แก่ ทาน การสงเคราะห์ด้วยการให้วัตถุที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เปยยวัชชะ การพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก อัตถจริยา การประพฤติที่เป็นประโยชน์ สมานัตตตา การเป็นผู้มีตนเสมอ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในบรรดาทานทั้งหลาย ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก

    สำหรับเปยยาวัชชะ คือ การพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก ก็ย่อมทำให้บุคคลที่ได้ฟังสบายใจ เพียงสบายใจ แต่ว่าถ้าเป็นธรรม คือ การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก

    วันหนึ่งๆ มีเรื่องที่จะคุยกันมาก หลายเรื่อง แต่ว่าเรื่องใดซึ่งเป็นการสงเคราะห์กันด้วยธรรม ย่อมมีประโยชน์ที่สุด เพราะทำให้บุคคลนั้นเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแต่ทำให้สบายใจด้วยถ้อยคำอันเป็นที่รัก ซึ่งนอกจากจะเป็นถ้อยคำอันเป็นที่รักแล้ว ก็ยังเป็นถ้อยคำที่มีประโยชน์เกื้อกูลแก่การอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า การแสดงธรรมบ่อยๆ แก่บุคคลผู้ต้องการ ผู้เงี่ยโสตลงสดับ นี้เลิศกว่าการพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เวลาที่จะคุยกัน เรื่องที่จะสนทนาก็มีมาก รวมทั้งธรรมด้วย อย่าลืม ธรรมก็เป็นเรื่องที่จะสนทนากันได้เสมอ

    ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงอัตถจริยา การประพฤติที่เป็นประโยชน์ทั้งหลายว่า

    การชักชวนคนผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา ชักชวนผู้ทุศีลให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศีลสัมปทา ชักชวนผู้ตระหนี่ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา ชักชวนผู้มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา นี้เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย

    เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้นที่จะชักชวนบุคคลอื่นซึ่งไม่มีศรัทธาให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในศรัทธาสัมปทา หรือว่าใครซึ่งเป็นผู้ที่ทุศีล ถ้าสามารถที่จะชักชวนให้ผู้นั้นดำรงตั้งมั่นอยู่ในศีลสัมปทา ชักชวนคนที่ตระหนี่ให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในจาคสัมปทา หรือว่าชักชวนให้คนที่มีปัญญาทรามให้ตั้งมั่นดำรงอยู่ในปัญญาสัมปทา ก็จะเป็นการประพฤติสิ่งที่มีประโยชน์ยิ่งกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย

    สำหรับสมานัตตตา คือ การเป็นผู้มีตนเสมอ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    พระโสดาบันมีตนเสมอกับพระโสดาบัน พระสกทาคามีมีตนเสมอกับ พระสกทาคามี พระอนาคามีมีตนเสมอกับพระอนาคามี พระอรหันต์มีตนเสมอกับพระอรหันต์ นี้เลิศกว่าความมีตนเสมอทั้งหลาย นี้เรียกว่ากำลัง คือ การสงเคราะห์ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๔ ประการนี้แล ฯ

    ไม่ใช่สงเคราะห์เฉพาะแต่ในเรื่องของทานอย่างเดียว ต้องคำพูดที่มีประโยชน์ซึ่งเลิศกว่าถ้อยคำอันเป็นที่รัก และการประพฤติที่เป็นประโยชน์ที่เลิศกว่าการประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย และต้องเป็นการมีตนเสมอ คือ ประพฤติธรรมจนกระทั่งมีคุณธรรมเสมอกับพระโสดาบัน และยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คือ ให้บรรลุถึงคุณธรรมที่เสมอกับพระสกทาคามี และให้ยิ่งขึ้นไปอีก คือ ให้มีคุณธรรมบรรลุถึงความเสมอกับพระอนาคามี และก็ให้มีคุณธรรมยิ่งขึ้น จนกระทั่งบรรลุถึงความเป็นผู้เสมอกับ พระอรหันต์

    ถ้ามีบุคคลที่กระทำความดี หากท่านเห็น อนุโมทนา ยินดีด้วยจริงๆ ที่คนนั้นสามารถจะกระทำความดีได้ถึงอย่างนั้น แต่ก็ยังไม่พอ ต้องสำหรับตัวท่านเองด้วย ที่จะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม จนเป็นผู้ที่มีคุณธรรมเสมอกับพระอริยเจ้า

    ความเป็นผู้มีตนเสมอ ควรเสมอในคุณธรรมตามลำดับยิ่งขึ้น หรือว่าบางท่านจะคิดมีตนเสมอกับผู้ที่มีอกุศลจิต ไม่ควรใช่ไหม ถ้าใครมีอกุศลแรงเท่าไร แรงขึ้นๆ เท่าไร ก็ไม่ควรที่คนหนึ่งคนใดจะคิดทำอกุศลให้แรงหรือให้มากเท่ากับบุคคลอื่น แต่โดยมากท่านผู้ฟังลืมประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้เป็นผู้มีคุณธรรมเสมอกับผู้ที่มีความประพฤติดี

    อาจจะเห็นว่าคนอื่นทำไมร้ายได้ ตัวท่านก็ควรต้องร้ายเสมอกับผู้นั้น ถูกไหมที่คิดอย่างนี้ เป็นผู้เสมอในทางอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ควรที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมจนกระทั่งมีคุณธรรมเสมอกับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าตามลำดับขั้น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงผลของผู้ที่ประกอบด้วยกำลัง ๔ ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการ ภัย ๕ ประการเป็นไฉน คือ อาชีวิตภัย ๑ อสิโลกภัย ๑ ปริสสารัชภัย ๑ มรณภัย ๑ ทุคติภัย ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนั้นแลพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราไม่กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต ไฉนเราจักกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเล่า เรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทรามแลจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คนเกียจคร้านจึงกลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต คือ กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิตเพราะการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ คนที่ไม่สงเคราะห์ใครก็กลัวต่อภัยอันเนื่องด้วยชีวิต

    เราไม่กลัวต่อภัย คือ การติเตียน (อสิโลกภัย) …

    เราไม่กลัวต่อภัย คือ การสะทกสะท้านในบริษัท (ปริสสารัชภัย) ...

    เราไม่กลัวต่อภัย คือ ความตาย (มรณภัย) ...

    เราไม่กลัวต่อภัยคือทุคติ ไฉนเราจักกลัวต่อภัยคือทุคติเล่า เพราะเรามีกำลัง ๔ ประการ คือ กำลังปัญญา กำลังความเพียร กำลังการงานอันไม่มีโทษ กำลังการสงเคราะห์ คนที่มีปัญญาทรามแลจึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คนเกียจคร้านแลจึงกลัวต่อภัยคือทุคติ คือ กลัวต่อภัยคือทุคติเพราะการงานทางกาย ทางวาจา และทางใจที่มีโทษ คนที่ไม่สงเคราะห์ใครก็กลัวภัยคือทุคติ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วยกำลัง ๔ ประการนี้แล ย่อมก้าวล่วงภัย ๕ ประการนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๕

    เป็นอานิสงส์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะทำให้เป็นผู้ที่ไม่กลัวต่อภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยที่เนื่องด้วยชีวิต อาชีวิตภัย หรือว่าเป็นภัยที่เกิดจากการ ติเตียน อสิโลกภัย หรือว่าเป็นภัยที่มีการสะทกสะท้านในบริษัท ปริสสารัชภัย หรือว่าภัยคือความตาย มรณภัย หรือว่าภัยคือทุคติ ทุคติภัย ซึ่งผู้ที่มีปัญญาและมีความเพียรที่จะเจริญกุศล มีการสงเคราะห์ มีการงานที่ไม่มีโทษ ย่อมเป็นผู้ที่พ้นภัย ๕ ประการ

    ถ. ที่กล่าวว่า บุคคลควรจะประพฤติตามพระอริยะ แต่พระอริยะท่านมีคุณธรรมสูงมาก ท่านสละสิ่งต่างๆ ที่ท่านรักมากได้ บุคคลธรรมดาไม่สามารถสละอย่างนั้นได้ แต่อาจารย์อธิบายว่า ควรปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้นคือถึงไหน แค่ไหน สมควรอย่างไร ช่วยให้ความกระจ่างด้วย

    สุ. ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบัน จะมีคุณธรรมบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบันได้ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคุณธรรมจริงๆ ไม่ใช่ว่า พระโสดาบันท่านทำอย่างนี้ได้ ท่านก็อยากจะทำอย่างพระโสดาบัน โดยที่คุณธรรมยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน

    ถ. ต้องทำคุณธรรมให้ถึง

    สุ. ต้องอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งบรรลุถึงคุณธรรม คือ ความเป็น พระโสดาบัน จึงจะเป็นผู้มีตนเสมอกับพระโสดาบัน เสมอได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติเจริญมรรคมีองค์ ๘

    ถ. การเจริญสมถภาวนา มีความจำเป็นอย่างหนึ่ง คือ ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ใน วิสุทธิมรรค ท่านกล่าวว่า ถ้าใครมีศรัทธาแก่กล้า อินทรีย์อื่นๆ คือ วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาจะทำกิจของตนๆ ไม่ได้ โดยนัยเดียวกัน ถ้าใครมีวิริยะแก่กล้าเกินไป ศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญาก็จะทำกิจของตนไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะต้องปรับอินทรีย์ ถ้ามีศรัทธาแก่กล้าก็จะต้องพิจารณาสภาวธรรม คือ ขณะที่พิจารณาสภาวธรรมแล้ว ท่านกล่าวว่า ศรัทธานี้จะลดกำลังลง ถ้าใครมีวิริยะแก่กล้าเกินไป ท่านก็ให้เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ขอถามอาจารย์ว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้นจะต้องเจริญอย่างไร

    สุ. เวลาที่กุศลจิตเกิด เป็นความสงบแล้ว

    ถ. หมายความว่า พยายามทำจิตให้เป็นกุศลอย่างนั้นหรือ

    สุ. ถ้าท่านผู้ฟังจะอบรมเจริญสมถภาวนาจริงๆ จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ก็สนใจว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์จะเป็นอย่างไร หรือวิริยสัมโพชฌงค์จะเป็นอย่างไร แต่ข้อสำคัญคือ ท่านจะเจริญอะไร

    ถ. ต้องการหมด

    สุ. ต้องการหมด พร้อมกันได้ไหม ต้องทีละอย่างหรือเปล่า

    ถ. ต้องทีละอย่าง แต่วันหนึ่งได้หลายอย่างเหมือนกัน

    สุ. ทีละอย่างก่อน ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น แต่ละขณะ โลกทั้งหมดก็ปรากฏเพียงชั่วขณะจิต เพราะฉะนั้น ต้องทราบก่อนว่า สมถะ คือ ความสงบ มี ๒ อย่าง เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้นต้องสงบ พร้อมปัญญาที่พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สามารถจะดับความเห็นผิด ความยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ นั่นสงบประการที่หนึ่ง ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นไปในสติปัฏฐานที่สามารถจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ส่วนความสงบอีกอย่างหนึ่ง คือ ขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล และขณะที่จิตเป็นกุศล ปัญญาก็รู้ว่าขณะนั้นสงบ แต่น้อยมาก

    ทำไมจึงว่าสงบ เพราะขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ปราศจากอกุศลธรรม เช่น ในขณะที่มีการให้ทาน หรือมีเจตนาที่จะให้ทาน ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แต่ว่าชั่วครู่ เดี๋ยวเดียว เพียงแต่จะคิดถึงวัตถุทาน จิตก็เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้างอย่างรวดเร็ว ลักษณะของความสงบจึงไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การจะเจริญความสงบ จะเจริญเพื่ออะไร ต้องคิดด้วย เพื่ออะไร เพื่อที่จะให้ปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือเพราะว่าขณะนั้นเป็นอกุศลเป็นธรรมที่มีโทษ เป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมที่ไม่ควรเสพ จึงควรที่จะสงบ โดยเจริญธรรมที่เป็นกุศล ที่เป็นธรรมฝ่ายขาว ที่เป็นธรรมที่ควรเสพ

    ควรที่จะได้ทราบว่า สติปัฏฐานเป็นกุศลขั้นที่สูงที่สุด ที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่มีใครจะบังคับให้สติปัฏฐานเกิดอยู่เรื่อยๆ ในขณะนี้พิสูจน์ได้ ทางตาที่กำลังเห็น ปกติ ไม่ใช่ตั้งใจว่าจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม นั่นผิดไปนิดหนึ่งแล้ว ซึ่งต่อไปท่านผู้ฟังจะเห็นถึงคุณธรรมของพระภิกษุสาวกที่เป็นอริยสงฆ์ว่า ท่านสามารถที่จะกำจัดแม้ความเห็นผิด การปฏิบัติผิด ในขณะที่มีความคิดเกิดขึ้นว่า จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะให้ สติปัฏฐานจริงๆ ที่เป็นสัมมาสติเกิดอยู่เรื่อยๆ บ่อยๆ แต่ผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในลักษณะของจิตที่สงบ ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้เกิดความสงบ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นสมถะ

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านนอนไม่หลับ ท่านก็คิดถึงกุศลทั้งหลายที่ท่านได้กระทำแล้ว คิดถึงทาน เคยให้อะไร ที่ไหน อย่างไร คิดถึงศีล คิดไปคิดมาท่านก็หลับ ซึ่งระหว่างนั้นเป็นกุศล เป็นอนุสสติ เวลาคิดถึงทานก็เป็นจาคานุสสติ เวลาคิดถึงศีล ก็เป็นสีลานุสสติ ขณะนั้นสงบเป็นกุศล ซึ่งท่านก็กระทำไปโดยที่ว่าลักษณะของความสงบก็ไม่ถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ แต่ขณะนั้นเป็นนัยหนึ่งของสมถะ สติปัฏฐานไม่เกิด แต่ว่าสภาพความสงบของกุศลจิตเกิด

    ยังต้องการที่จะเจริญสมถภาวนาจนถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หรือว่า จะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล สงบ เป็นสมถะ ขณะใดเป็นสติ ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ. นี่แน่นอน พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้ว่า กุศลทุกขั้นควรเจริญ แต่อาจารย์กำลังพูดถึงเรื่องสมถภาวนา ผมก็จะถามเรื่องเกี่ยวกับสมถภาวนา ส่วนจะปฏิบัติได้แค่ไหนนั้น ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน

    สุ. เคยเรียนให้ท่านผู้ฟังทราบแล้วว่า การที่จะกล่าวถึงสมถภาวนาในรายการนี้ จะเป็นสมถภาวนาโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน เท่าที่จะอุปการะเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐาน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๗๗๑ – ๗๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564