แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
ครั้งที่ ๗๗๕
สุ. สำหรับการเจริญสมถภาวนาโดยการระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ คือ พระอริยเจ้า โดยมากท่านผู้ฟังก็ทราบแล้วว่า เป็นการระลึกถึงคุณที่กล่าวกันเสมอๆ หรือสวดพระคุณของพระอริยเจ้าที่ว่า
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
นี่คือคุณของพระอริยสงฆ์ซึ่งปฏิบัติดีแล้ว หมายความถึงเป็นผู้ที่ปฏิบัติตาม พระธรรมวินัย ไม่ผิด ในการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ จนกระทั่งสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
คือ เป็นผู้ที่ละข้อปฏิบัติที่ไม่ตรง โดยการปฏิบัติตรง ไม่คด ไม่งอ ไม่โค้ง โดยการละโทษที่คดโกงทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อญายธรรม
ญายธรรม หมายความถึงพระนิพพาน ท่านไม่ได้ปฏิบัติเพื่ออย่างอื่นในการที่จะเป็นพระอริยเจ้า ต้องมุ่งที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ควรแก่สามีจิกรรม
สามีจิกรรม คือ การต้อนรับด้วยความเคารพ เวลาที่ท่านผู้ฟังพบท่านผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งควรแก่การต้อนรับด้วยความเคารพ ท่านก็ลุกขึ้นต้อนรับ และก็มีวัตถุสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องสักการะ เป็นเครื่องต้อนรับ ก็เป็นสามีจิกรรม คือ การต้อนรับด้วยความเคารพ
ยะทิทัง
แปลว่า เหล่านี้เหล่าใด
จัตตาริ ปุริสะยุคานิ
คำว่า คู่แห่งบุรุษ ๔ คือ โดยสามารถแห่งคู่ ท่านผู้ตั้งอยู่ในปฐมมรรคและปฐมผล คือ โสตาปัตติมรรคและโสตาปัตติผล ทุติยมรรคและทุติยผล คือ สกทาคามิมรรคและสกทาคามิผล ตติยมรรคและตติยผล คือ อนาคามิมรรคและอนาคามิผล จตุตถมรรคและจตุตถผล คือ อรหัตตมรรคและอรหัตตผล
อัฏฐะปุริสะปุคคะลา
บุรุษบุคคล ๘ ด้วยอำนาจมรรคหนึ่ง ผลหนึ่ง โดยเรียงตัวบุคคล
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
นี้สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ได้แก่ บุรุษ ๔ คู่ ด้วยสามารถแห่งคู่ บุรุษบุคคล ๘ โดยเรียงตัว เหล่านี้ใด นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
อาหุเนยโย
ผู้ควรแก่ของบูชา
คำว่า อาหุนะ คือ วัตถุที่เขานำมาบูชา แม้แต่ทางไกล คือ บางท่านก็นำมาจากที่ไกลเพื่อให้แก่คนที่มีศีลทั้งหลาย พระสงฆ์เป็นผู้ควรรับอาหุนวัตถุ คือ วัตถุที่เขานำมาบูชา เพราะทำให้วัตถุทานนั้นมีผลมาก ซึ่งข้อความใน วิสุทธิมรรค กล่าวถึง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ก็สัตว์ใดพึงบำเรอไฟในป่าตั้ง ๑๐๐ ปี ส่วนสัตว์ใดพึงบูชาท่านที่อบรมตนแล้ว ผู้เดียวแม้เพียงชั่วครู่ การบูชานั้นแลของคนหลังนี้ ประเสริฐกว่าการบูชาของคนแรกนั้น เพราะเหตุนั้น พระสงฆ์จึงควรแก่การบูชา
ปาหุเนยโย
ผู้ควรแก่ของต้อนรับ
ปาหุนะ คือ วัตถุสำหรับต้อนรับแขก คือ วัตถุทานที่จัดแจงตระเตรียมตบแต่งไว้ด้วยสักการะ เพื่อประโยชน์แก่ญาติมิตรซึ่งเป็นที่รักที่ชอบพอ สำหรับผู้ที่มาแล้วจากทิศน้อยทิศใหญ่ แต่ว่าปาหุนวัตถุนั้นก็ควรแก่พระสงฆ์โดยแท้ เพราะว่าไม่มีแขกคนใดที่จะประเสริฐเท่าพระอริยสงฆ์ และพระอริยสงฆ์นั้นก็ย่อมจะปรากฏเฉพาะในกาลที่พระศาสนายังตั้งอยู่ ถ้าพระศาสนาหมดสิ้นไป ก็ไม่มีผู้ที่ควรต้อนรับที่เป็นแขกเสมอเท่ากับผู้ที่เป็นพระอริยสงฆ์ ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์จึงเป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ
ทักขิเณยโย
ผู้ควรแก่การทักขิณา
ทักขิณา คือ ทานที่บุคคลพึงให้โดยเชื่อปรโลก คือ ชาติหน้า หรือโลกหน้า ท่านเรียกว่า ทักขิณา เวลาที่ท่านผู้ฟังใส่บาตร หรือว่าทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติมิตร ในขณะนั้นท่านก็เป็นผู้ที่มีความเชื่อในปรโลก คือ โลกหน้า และพระสงฆ์เป็นผู้ที่เป็นทักขิเณยโย คือ ผู้ที่ควรแก่ทักขิณา เพราะเป็นผู้ที่สามารถรับทักขิณานั้น และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้
อัญชะลีกะระณีโย
ผู้ควรยกมือไหว้บนเศียรทีเดียว
เพราะย่อมสูงกว่าการไหว้คนธรรมดา
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ
เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีนาบุญอื่นเทียบเท่า
เพราะว่าบุญทั้งหลายอาศัยพระสงฆ์จึงงอกงาม เนื่องจากทำให้เกิดปีติโสมนัสเวลาท่านให้วัตถุแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่การประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมไม่ควร ย่อมไม่ทำให้จิตของท่านผ่องใส แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้านั้น ย่อมทำให้ท่านเกิดความปีติ โสมนัส ผ่องใส ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นคุณธรรมของผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น พระอริยสงฆ์ทั้งหลายเป็นที่งอกงามแห่งบุญทั้งหลายของโลก เพราะท่านย่อมจะใช้ปัจจัยนั้นให้เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ โดยที่ว่าปัจจัยนั้นย่อมให้กำลัง ให้ชีวิตสามารถที่จะประกอบเจริญกุศลธรรมยิ่งขึ้น และยังมีส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นเวลาที่ท่านสั่งสอน แสดงธรรม เผยแพร่ เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกยิ่งขึ้น
ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ แสดงความหมายของคำว่า “พระสงฆ์” มีข้อความว่า
จตุอริยมคฺคสมงฺคีนํ จตุสามญฺญผลสมาธิวาสิต ขนฺธสนฺตานานญฺจ ปุคฺคลานํ สมุโห ทิฏฺฐิสีลสํฆาเตน สงฺฆาตตฺตา สํโฆ
แปลว่า หมู่แห่งบุคคลทั้งหลายที่ประกอบพร้อมด้วยอริยมรรคทั้ง ๔ และแห่งบุคคลทั้งหลายผู้มีขันธสันดานอันอบรมแล้วด้วยสมาธิ คือ สามัญผล ๔ ชื่อว่า พระสงฆ์ เพราะเป็นผู้ประชุมกันแล้วโดยการประชุมแห่งทิฏฐิและศีล
คือ ท่านเป็นผู้มีทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก และศีลเสมอกัน
สมจริงดังพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ดูกร อานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คือ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นใดอันเรารู้ยิ่งแล้วแสดงแล้ว คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อานนท์ เธอย่อมจะไม่เห็นภิกษุ ๒ รูปที่มีวาทะต่างกันในธรรมเหล่านี้เลย ด้วยว่าปรมัตถสงฆ์นี้ อันบุคคลพึงถึงว่าเป็นสรณะ และพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในพระสูตรทั้งหลายว่า ผู้อันบุคคลควรบูชา ผู้อันบุคคลควรคำนับ คือ ต้อนรับ ผู้ควรทักขิณา ผู้ควรอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ก็สรณคมน์ของบุคคลผู้ถึงปรมัตถสงฆ์ว่าเป็นสรณะ หาได้แตก หาได้เศร้าหมอง เพราะการกระทำ มีการกราบไหว้ภิกษุสงฆ์ หรือภิกษุณีสงฆ์แม้อื่น หรือพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข หรือสมมติสงฆ์ หรือประเภทแห่งสงฆ์ มีจตุวรรค เป็นต้น หรือแม้บุคคลคนเดียว หรือไหว้ผู้ที่บวชอุทิศเจาะจงต่อพระพุทธไปไม่ ความพิเศษในการถึงพระสงฆ์นี้ มีเพียงเท่านี้
คือ การนอบน้อมต่อพระอริยเจ้าซึ่งเป็นพระสงฆ์ไม่แตก คือ ไม่ผิด หรือไม่เสีย เวลาที่กราบไหว้ภิกษุสงฆ์ หรือภิกษุณีสงฆ์เหล่าอื่นซึ่งไม่ใช่ปรมัตถสงฆ์ พระสงฆ์ที่เป็นสมมติสงฆ์ หรือสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายกระทำสังฆกรรมเป็นจตุวรรค เป็นต้น หรือแม้ภิกษุบุคคลที่บวชอุทิศเจาะจงต่อพระผู้มีพระภาค การไหว้บุคคลเหล่านั้นซึ่งแม้มิใช่ อริยสงฆ์ เป็นแต่เพียงสมมติสงฆ์ ก็ไม่ทำให้แตก หรือว่าผิด สำหรับผู้ที่ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ซึ่งผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ไม่ใช่สังฆรัตนะที่เป็นสังฆานุสสติ
ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สังฆโสภณสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวก ซึ่งเป็นสังฆโสภณ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับแนะนำดีแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมยังหมู่ให้งาม (สงฆ์ แปลว่า หมู่) ๔ จำพวกเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คือ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับแนะนำดีแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมยังหมู่ให้งาม ฯ
บุคคลใดเป็นผู้ฉลาด แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลเช่นนั้นเราเรียกว่า ผู้ยังหมู่ให้งาม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นพหูสูตรเหล่านี้แล ย่อมยังหมู่ให้งาม แท้จริง บุคคลเหล่านี้ เป็นผู้ยังหมู่ให้งาม ฯ
ยากไหมการที่จะเป็นผู้ยังหมู่ให้งาม โดยการที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า หรือว่าถ้าเป็นพระภิกษุสงฆ์ ก็ต้องเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
ถ. ความสงสัยในข้อความธรรมเป็นวิจิกิจฉาไหม
สุ. ในขณะนั้นเป็น เพราะวิจิกิจฉาหมายความถึงความสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต เพราะว่ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งสำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ไม่พ้นวิจิกิจฉา เพราะยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท
ถ. ปัญญาขั้นโลกียะกับโลกุตตระต่างกันอย่างไร
สุ. ต่างกันที่ว่า ขณะใดที่โลกุตตรจิตยังไม่เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในสภาพของนิพพาน ขณะนั้นต้องเป็นโลกียปัญญา
ขณะที่กำลังศึกษาธรรม ขณะนั้นเป็นปัญญาที่เป็นโลกียะ ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นโลกียะ ขณะที่วิปัสสนาญาณเกิดประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นโลกียะ จนกว่าโลกุตตรจิตเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นจึงพ้นจากโลกียปัญญา
ถ. สภาวะโลกุตตรจิตนั้นเป็นอย่างไร
สุ. ขณะนั้นไม่ใช่เห็นสี ไม่ใช่ได้ยินเสียง ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ใช่คิดนึกเป็นไปด้วยความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่ว่ามีสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่จิตปรมัตถ์ ไม่ใช่เจตสิกปรมัตถ์ ไม่ใช่รูปปรมัตถ์เป็นอารมณ์ คือ มีนิพพานเป็นอารมณ์เท่านั้น
ถ. นิพพานมีตัวตนไหม
สุ. หมายความว่าอย่างไร ตัวตน
ถ. เที่ยงไหม
สุ. ไม่เกิด ไม่ดับ
ถ. เป็นของเที่ยงหรือเปล่า
สุ. ไม่เกิด และไม่ดับ จะใช้คำสมมติบัญญัติอย่างไรก็ได้ แต่ว่าสภาพของนิพพานนั้นไม่เกิดและไม่ดับ จะใช้คำว่าเที่ยงก็ได้ เป็นสุขัง นิจจัง อนัตตา แต่สำหรับสังขารธรรมทั้งหลายเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา
ถ. จิตที่อยู่ในสภาวะนิพพาน ผ่องใส ไม่มีอะไรเจือปน
สุ. ทำไมเฝ้าคิด หรือว่าสงสัย หรือว่าคาดคะเน ในเมื่อไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของจิตอย่างนั้นได้เพียงด้วยการฟัง แต่ถ้ารู้หนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเป็นขั้นๆ ตามความเป็นจริง ผู้นั้นเองก็จะค่อยๆ หมดความคิดถึง คาดคะเนลักษณะของนิพพาน เพราะถ้ายังคงคิดถึงคาดคะเนอยู่ ก็ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน
แม้แต่ที่ใน พระไตรปิฎก เวลาที่พระภิกษุไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงนิพพาน พระผู้มีพระภาคยังตรัสว่า ล่วงเลยปัญหาที่ควรจะถามเสียแล้ว
ก่อนที่พระภิกษุรูปนั้นจะทูลถามถึงนิพพาน ก็ได้ทูลถามถึงเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และกุศลธรรมที่เป็น โพธิปักขิยธรรมอื่นๆ เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ เป็นต้น เมื่อภิกษุนั้นได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยตลอด ภิกษุนั้นก็ได้ทูลถามถึงนิพพาน ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ล่วงเลยปัญหาที่ควรจะถามแล้ว
ถ. จิตเดิมประภัสสรเป็นอย่างไร
สุ. หมายความถึงภวังคจิต ต้องเรียนเรื่องจิตโดยละเอียดจะได้ทราบว่า ขณะไหนเป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ขณะไหนเป็นภวังคจิต เป็นชวนจิต เป็นโลภมูลจิต กุศลจิต อกุศลจิต
คำว่า ปภสฺสรํ หรือว่าประภัสสร หมายความถึงขณะที่จิตไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้อารมณ์ที่กระทบทางกาย และไม่คิดนึกใดๆ ทางใจ ที่จะทำให้เกิดความยินดียินร้าย เพราะฉะนั้น จึงได้แก่ขณะที่เป็นภวังคจิต
ถ. ได้ยินอาจารย์พูดว่า บวชอุทิศแด่พระผู้มีพระภาค มีความหมายอย่างไร ช่วยขยายความให้ละเอียด
สุ. น่าสนใจ เพราะจุดประสงค์ของการบวชต้องมีว่าเพื่ออะไร อยู่ดีๆ จะบวชทำไมถ้าไม่มีจุดประสงค์
ฆราวาสก็สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่บวช บวชทำไม เพื่ออะไร ถ้าเพื่อที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี หรือแม้พระอนาคามี พระอรหันต์ เป็นฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา ก็บรรลุได้
แต่ว่าผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่สามารถดำรงเพศของความเป็นฆราวาสได้ต่อไป เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของผู้ที่บวช ก็เพื่อที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นอรหันต์และดำรงอยู่ในเพศของบรรพชิต เพราะเมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่สามารถเป็นอุบาสก อุบาสิกา ฆราวาสอีกต่อไปได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงหนทางที่จะให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ ที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
และถ้าไม่บวชอุทิศพระผู้มีพระภาค ก็บวชอุทิศครูบูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล หรือนิครนถ์ เจ้าลัทธิต่างๆ แต่ว่าภิกษุเหล่านั้นมิได้มีศรัทธาในคำสอนของนิครนถ์ เจ้าลัทธิอื่นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมีศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จึงบวชอุทิศพระผู้มีพระภาค คือ อุทิศต่อการที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของ พระผู้มีพระภาค ที่จะให้ถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
ถ. การบวชอุทิศเพื่อพระพุทธเจ้า มีอีกความหมายหนึ่ง อย่างเช่น นายช่างหม้อที่ภายหลังบรรลุเป็นพระอนาคามี ท่านยังไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาค แต่ได้ยินคำว่า พุทโธ คือ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก เพียงแค่นี้ท่านก็มีศรัทธาที่จะบวชอุทิศเพื่อพระผู้มีพระภาค เมื่อพบพระผู้มีพระภาค ก็ยังไม่รู้จักพระผู้มีพระภาค จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีแล้ว ท่านจึงรู้ว่า นี่เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น การบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคนั้น ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
สุ. ก็เพื่อประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ทรงแสดงใช่ไหม หรือว่าบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคแล้วไปประพฤติปฏิบัติตามลัทธิของเดียรถีย์ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่การบวชอุทิศพระผู้มีพระภาค
ถ. ในเมื่อการบวชอุทิศพระผู้มีพระภาค แต่ยังไม่ได้พบคำสอน ไม่ได้พบตัว จะไปประพฤติปฏิบัติตามคำสอนในพระธรรมวินัยได้อย่างไร
สุ. ผู้นั้นมีปัญญาพอที่จะรู้ความหมายของคำว่า พุทโธ ไหม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๗๗๑ – ๗๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 751
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 752
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 753
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 754
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 755
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 756
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 757
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 759
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 760
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 763
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 764
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 768
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 771
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 772
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 773
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 774
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 775
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 777
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 778
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 780