แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 779


    ครั้งที่ ๗๗๙


    ถ. กลิ่นก็เป็นเพียงกลิ่นเฉยๆ หรืออย่างไร ไม่มีกลิ่นหอม กลิ่นอะไร นั่นนึกเอาเอง ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ กลิ่นแต่ละกลิ่นเกิดขึ้นต่างกันไปตามเหตุปัจจัย เสียงเกิดขึ้นต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย สีสันวัณณะที่ปรากฏต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย แต่การเห็น เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ยังไม่ได้นึกถึงสัณฐานที่ละเอียดลออของสิ่งที่ปรากฏ

    ถ้ามีเสียงๆ เดียวเท่านั้นจะฟังกันรู้เรื่องไหม และตามความเป็นจริง จะมีเสียงๆ เดียวได้ไหมในเมื่อมีปัจจัยที่จะให้เกิดเสียงต่างกัน แม้แต่เสียงดนตรีชนิดเดียวกัน เสียงยังต่างกันตามเครื่องประกอบของดนตรีชนิดนั้นๆ แต่ได้ยินก็เป็นได้ยินเท่านั้นเอง ยังไม่ทันตรึกนึกว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร

    ถ. รู้สึกว่ามีมากมาย เสียงได้ยินขณะนี้ก็รู้สึกว่าได้ยินหลายๆ เสียงพร้อมกัน

    สุ. ไม่พร้อม พร้อมไม่ได้เลย ถ้าพร้อมกันก็เป็นเราได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใด ยังไม่แยกเป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนก็ยังมีอยู่

    ถ. ถ้าต่างจริงๆ แล้ว จะไม่เห็นว่าเกิดพร้อมกันทีละลักษณะหรืออย่างไร

    สุ. แม้แต่ได้ยินกับการนึกถึงคำ ปัญญายังรู้ได้ว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่อย่างนั้นก็ยังคงเป็นตัวตนอยู่ ไม่มีใครสามารถเพียงแต่จะนึกว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นอนัตตา และก็หมดกิเลส โดยที่ไม่ประจักษ์สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ว่า เป็นเพียงนามธรรมแต่ละลักษณะ และรูปธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น

    เวลานี้นามธรรมและรูปธรรมทั้งหมดเลย ซึ่งอวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ แต่ปัญญาสามารถที่จะรู้ได้ และต้องอบรมเจริญปัญญาทีละเล็กทีละน้อย ปัญญาก็จะเพิ่มขึ้น คมกล้าขึ้น

    ถ. คำว่า ตรงลักษณะ หมายความว่าอย่างไร

    สุ. เวลานี้กำลังเห็นใช่ไหม สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง แต่ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ขณะนั้นไม่ตรงลักษณะ เพราะว่าแทนที่จะเห็นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ นั่นไม่ตรงลักษณะของสภาพที่ปรากฏทางตา

    ในโลกของการเห็น ไม่มีใคร ไม่มีคนหนึ่งคนใด หรือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะอยู่ผู้เดียวจริงๆ เพราะว่าขณะนั้นไม่มีใคร มีแต่เพียงเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงชั่วขณะหนึ่งๆ

    ถ. และปัญญาจะประจักษ์ทีละลักษณะใช่ไหม

    สุ. พร้อมกันไม่ได้ สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละขณะ ทีละอย่าง

    ถ. ทำไมจิตเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกัน และรู้อารมณ์เดียวกัน แต่ทำไมเวลาสติระลึกรู้ จะรู้หลายๆ อย่างไม่ได้ อย่างรู้วิตก หรือรู้มนสิการ รู้พร้อมกันไม่ได้หรือ ต้องประจักษ์ทีละลักษณะหรืออย่างไร ทั้งๆ ที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน และรู้อารมณ์เดียวกัน

    สุ. จิตเจตสิกเกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน รู้อารมณ์เดียวทีละอารมณ์ หรือว่าหลายอารมณ์

    ถ. ทีละอารมณ์

    สุ. ทีละอารมณ์ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของวิตก คือ การตรึกหรือการนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ในขณะนั้นสัญญา ความจำ หรือว่าเวทนา ความรู้สึก ซึ่งเกิดพร้อมกับสตินั้น ก็ระลึกรู้ลักษณะของวิตก เป็นสภาพที่จำลักษณะของวิตก หรือว่ารู้สึกในลักษณะของวิตก แต่ว่าวิตกกำลังเป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียว

    ถ. การเจริญสติ มีเพื่อนฝูงที่เจริญสติอยู่หลายคน เจริญสติอย่างที่อาจารย์บรรยายนี้ ระลึกรู้ที่ตาบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง ที่ลิ้นบ้าง ที่กายบ้าง ใจบ้าง เขาก็รู้สึกเหมือนกับว่า ปัญญายังไม่เพิ่ม อินทรีย์ ๕ ไม่เพิ่ม เป็นไปได้ไหมที่ปัญญาจะไม่เพิ่มขึ้น เพราะว่าความคลาดเคลื่อนอย่างนี้

    สุ. เวลาพูดถึงปัญญาที่เพิ่มขึ้น ต้องการให้เพิ่มถึงขั้นไหน เจริญสติมานานเท่าไรแล้ว

    ถ. หลายคนก็เป็นปีๆ เหมือนกัน

    สุ. ถึงกัปๆ หรือยัง

    ถ. ยัง

    สุ. และจะให้เพิ่มขึ้น

    ถ. ก็เพิ่มขึ้นบ้าง เมื่อใดที่มีสติระลึกรู้ ขณะนั้นปัญญาจะต้องเกิดร่วมด้วย เพื่อนที่ไปวัดด้วยกัน มีอยู่คนหนึ่งอายุมากแล้ว ท่านทำสมาธิตั้งแต่สาวๆ บัดนี้อายุท่านได้ ๘๕ ปี ดิฉันก็อยากชักชวนท่าน จะมีวิธีพูดอย่างไรให้ท่านเข้าใจ

    สุ. โดยมากท่านผู้ฟังจะอยากให้บุคคลอื่นปฏิบัติทันที หรือว่าตัวท่านก็อยากจะเจริญสติปัฏฐานให้มากๆ ทันที แต่สำหรับดิฉันคิดว่า เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของสัมมาสติ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลนั้นมีความเข้าใจในการอบรมเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง และมีการฟังบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยไม่เร่งรีบ หรือว่าโดยไม่เร่งรัด เพราะสภาพธรรมที่ปรากฏก็ปรากฏอยู่

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ให้สัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงที่จะต้องเข้าใจให้ถูก และสติก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นปกติ เพราะถ้าผิดปกติจะทำให้เกิดโลภะ ความต้องการในผลที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นปกติจริงๆ อย่างในขณะนี้ มีสภาพธรรมอะไรปรากฏบ้าง ถ้าสติไม่เกิด ไม่รู้จริงๆ มีตั้งหลายอย่างใช่ไหม เจตนา ความจงใจ หรือความตั้งใจก็มี นอกจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก โลภะ ความยินดี ความชอบใจก็มี หรือว่าความไม่แช่มชื่นก็มี ริษยาก็มี ตระหนี่ก็มี มีลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติที่มีและที่ปรากฏให้สติระลึกได้ ให้เป็นปกติอย่างนี้จริงๆ สำหรับเรื่องผลย่อมตามมาในภายหลังเมื่อเหตุเจริญขึ้นสมบูรณ์แล้ว แต่ไม่ใช่คอยว่า เมื่อไรจะให้ผลอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าจะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม เพราะคิดว่าได้ปฏิบัติมามากพอแล้ว แต่ความจริงกี่ปี ยังไม่ถึงกัปๆ เพราะฉะนั้น จะต้องเจริญต่อไปอีกนาน

    ถ. บางคนฟังอาจารย์บรรยายแล้ว ความเข้าใจในภาษาหนังสือรู้สึกว่า ไม่ค่อยมี ก็ต้องอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีก

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องให้เข้าใจจริงๆ ก่อน และความเข้าใจจริงๆ นี้จะเป็นปัจจัยให้สัมมาสติของบุคคลนั้นเกิดขึ้น ระลึกได้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เรื่องของสังฆานุสสติ ในคราวก่อนมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งกล่าวว่า ท่านใคร่ที่จะบวชเหลือเกิน เพื่อที่จะได้เจริญธรรมให้ยิ่งขึ้นในเพศบรรพชิต แต่การที่จะเป็นพระภิกษุจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีใจเป็นภิกษุ จึงสามารถอบรมเจริญ สติปัฏฐานรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศของบรรพชิตได้

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่ท่านผู้ใดจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ควรที่จะได้พิจารณาสภาพจิตใจของท่านจนกระทั่งรู้ว่า ท่านสามารถที่จะละเพศฆราวาสสู่เพศบรรพชิตได้จริงๆ มีจิตที่สามารถจะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ เพื่อที่จะได้เจริญกุศลให้เต็มเปี่ยมถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทไว้มากในเรื่องของการเป็นบรรพชิต

    ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาอัสสปุรสูตร ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า การที่จะเป็นบรรพชิตที่แท้จริง ที่จะเจริญสติปัฏฐานบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า จะต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมเพียงไร

    ข้อความในพระสูตรมีว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของหมู่อังคราชกุมาร ในอังคชนบท ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประชุมชนย่อมรู้จักพวกเธอว่า สมณะๆ ก็แหละพวกเธอ เมื่อเขาถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นอะไร ก็ปฏิญญา (รับ) ว่า พวกเราเป็นสมณะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอนั้นมีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้แล้ว ก็ควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักสมาทานประพฤติธรรมเป็นเครื่องทำความเป็นสมณะด้วย เป็นเครื่องทำความเป็นพราหมณ์ด้วย เมื่อพวกเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของพวกเราก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น พวกเราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายนั้น ของทายกเหล่านั้นก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มากในเพราะพวกเรา อีกอย่างหนึ่งเล่า บรรพชานี้ของพวกเรา ก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ

    คือ ไม่ใช่เพียงชื่อว่า สมณะ หรือภิกษุ หรือบรรพชิต โดยชื่อ หรือโดยเพศ แต่จะต้องเป็นการประพฤติธรรม เป็นเครื่องทำความเป็นสมณะด้วย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเป็นเครื่องทำความเป็นสมณะ และเป็นเครื่องทำความเป็นพราหมณ์เป็นอย่างไร พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่า พวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละ พวกเราทำเสร็จแล้ว สามัญญัตถะ (มรรค ผล นิพพาน) พวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลาย ขอเตือนแก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนาอย่าได้เสื่อมไปเสียเลย

    จะเห็นได้ว่า เพียงแต่มีหิริโอตตัปปะ คือ มีการละอายในการที่จะครองเพศคฤหัสถ์ซึ่งเป็นเพศที่เต็มไปด้วยความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใคร่ต่อการบวชก็เกิดละอาย มีหิริ มีโอตตัปปะ เห็นว่าเพศบรรพชิตนั้นเป็นเพศที่สะอาดกว่า สูงกว่าเพศฆราวาส แต่ว่าบวชเพียงเพราะมีหิริโอตตัปปะที่เห็นชีวิตที่ไม่บริสุทธิ์พอของฆราวาสเท่านั้น ไม่พอ ยังมีกิจอื่นที่จะต้องกระทำต่อไป

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปเป็นอย่างไร พวกเธอควรศึกษาอยู่ว่า เราทั้งหลายจักมีกายสมาจารบริสุทธิ์ ปรากฏ เปิดเผย ไม่มีช่อง และคอยระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์นั้น บางทีพวกเธอจะมีความดำริว่า พวกเราเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ มีกายสมาจารบริสุทธิ์แล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ พอละ พวกเราทำเสร็จแล้ว สามัญญัตถะพวกเราถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไรๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี พวกเธอถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกแก่เธอทั้งหลาย ขอเตือนแก่เธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ สามัญญัตถะที่พวกเธอปรารถนาอย่าได้เสื่อมไปเสียเลย

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เพียงหิริโอตตัปปะในการที่ละเพศฆราวาสสู่เพศบรรพชิต ไม่พอ ต้องมีกายสมาจาร ความประพฤติเป็นไปทางกายที่บริสุทธิ์ ปรากฏ ไม่มีที่ลับ เปิดเผย ไม่มีช่อง และคอยระวัง ไม่ยกตนข่มผู้อื่นด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์นั้น แต่ก็ยังไม่พอ เพียงการที่มีกายสมาจาร ความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์เพราะฉะนั้น ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสให้เป็นผู้ที่ จักมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ปรากฏ เปิดเผย ไม่มีช่อง

    ทางกายอย่างเดียวไม่พอ ต้องคำพูดด้วย และถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่พูดโดยมี วจีสมาจารบริสุทธิ์ ก็ยังต้องมีหิริโอตตัปปะ ไม่ยกตนข่มผู้อื่นด้วย

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถึงแม้จะมีกายสมาจาร วจีสมาจารที่บริสุทธิ์แล้ว ก็ยังไม่พอ จะต้องมีความคิด คือ มโนสมาจารที่บริสุทธิ์ด้วย แต่ถึงกระนั้น ทั้งๆ ที่มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจารที่บริสุทธิ์แล้ว ก็ยังไม่พอ ต้องมีอาชีวะที่บริสุทธิ์ด้วย เพราะอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบของสมณะ ไม่ใช่โดยการเลี้ยงชีพอย่างคฤหัสถ์ คือ ไม่ใช่ให้กระทำกิจอื่น นอกจากกิจที่เป็นการเลี้ยงชีพชอบตามพระวินัยบัญญัติเท่านั้น

    และถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว ก็ยังไม่พอ เพราะว่าการบวชนั้นก็เพื่อจะอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงควรเป็นผู้ที่มีทวารอันคุ้มครองแล้วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ก็ยังไม่พออีก ลำบากไหม การที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ที่ รู้จักประมาณในโภชนะ จักพิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนอาหาร จักไม่กลืนเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อตบแต่ง เพื่อประดับ จักกลืนเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ เป็นไป ห่างไกลจากความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์เท่านั้น และจะบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และจักให้มีความดำเนินไป ความไม่มีโทษ ความอยู่สบาย ด้วยประการฉะนี้

    นี่คือจิตใจจริงๆ ของผู้ที่เป็นภิกษุ ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาเทียบเคียงได้ว่า ท่านเป็นอย่างนั้นหรือยัง หรือว่าท่านจะเป็นอย่างนั้นได้ไหม ถ้าเป็นคฤหัสถ์ที่จะขัดเกลากิเลส โดยที่ว่ายังไม่ถึงความเป็นเพศบรรพชิต แต่ว่าเมื่อได้ศึกษาพระวินัยบัญญัติ เห็นว่าข้อใดเป็นสิ่งที่ควร มีประโยชน์ เป็นคุณ ท่านจะอบรมการประพฤติปฏิบัติตามเช่นนั้นก็ได้

    แม้แต่ในเรื่องของการบริโภค ท่านที่เคยบริโภคด้วยความมัวเมา หรือว่าเพื่อเหตุอื่น เช่น เพื่อเล่น เพื่อตบแต่ง เพื่อประดับ เพื่อความอร่อย ต่อไปนี้ท่านก็ขัดเกลากิเลสได้ ถึงแม้ว่ายังไม่ได้เป็นภิกษุ ก็สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เป็นการขัดเกลากิเลสไปทีละเล็กทีละน้อยได้ คือ ละการบริโภคเพราะอร่อย ได้ไหม ไม่ใช่บังคับ เพราะว่าไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบุคคลอื่นได้เลย แต่เวลาที่สติเกิดสามารถที่จะรู้ได้ว่า สิ่งที่จะบริโภคนั้นเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ บริโภคเพื่ออะไร เพื่อความเป็นอยู่ เพื่อความสบายของกาย เพื่อการที่จะมีชีวิตและสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาโดยไม่ป่วยไข้ และสามารถที่จะละการติดในรส หรือว่าการบริโภคเพื่อเหตุอื่นได้ ถ้าระลึกถึงว่า พระผู้มีพระภาคทรงเตือนพระภิกษุทั้งหลายให้เป็นผู้ที่รู้จักประมาณในโภชนะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๗๗๑ – ๗๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564