แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 729


    ครั้งที่ ๗๒๙


    สุ. ถ้าท่านผู้ใดเข้าใจเรื่องของสมาธิแล้ว ซึ่งท่านเคยคิดว่าเป็นความสงบ แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงมิจฉาสมาธิ เพราะไม่ใช่ความสงบของจิต เพราะฉะนั้น ท่านก็คงจะไม่สนใจในสมาธิต่างๆ เหล่านั้น และก็อบรมความสงบของจิตในขณะนี้ โดยรู้ว่าขณะนี้จิตสงบไหม สงบขั้นใด และเพราะเหตุอะไร

    สงบเพราะสติระลึกรู้ในลักษณะสภาพธรรม ศึกษารู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือว่าสงบเพราะรู้ลักษณะของกุศลจิตที่กำลังสงบ ด้วยเมตตา ด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ หรือด้วยการระลึกถึงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ หรือระลึกถึงสีสันวัณณะต่างๆ ด้วย โยนิโสมนสิการแล้วจิตสงบ ซึ่งเป็นปกติธรรมดา และเป็นความสงบที่แท้จริง เพราะว่าไม่ใช่ความต้องการที่ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยการไปทำขึ้นและไม่รู้ในสิ่งนั้น ขณะนั้นไม่รู้ แต่ว่าขณะนี้เป็นความสงบเพราะรู้ว่า จะสงบได้ด้วยเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา หรือว่าด้วยอารมณ์อื่นของสมถกัมมัฏฐาน เป็นปัญญาที่รู้ว่า ความสงบเกิดขึ้นเพราะมนสิการอย่างไรจิตจึงสงบได้ ความสงบอย่างนี้เป็นความสงบจริงๆ ปรากฏลักษณะของความสงบตามปกติ พร้อมสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

    ถ. เมื่อก่อนผมติดในรส เช่น เห็นปลาตัวใหญ่ก็คิดว่า เนื้อคงจะอร่อย แม้เราไม่ได้ฆ่า เพราะรักษาศีล ก็ยังนึกอยากจะกิน แต่เดี๋ยวนี้พอเห็นปั๊บเกิดเมตตาว่า นี่ก็เป็นสัตว์ร่วมโลก มีกรรมที่เกิดมาเป็นปลาอย่างนี้ มีความเมตตา ความคิดที่อยากจะกินหรืออยากจะฆ่าก็ไม่มี อย่างนี้จัดเป็นเมตตาไหม

    สุ. ขณะนั้นสงบ ไม่ใช่ขั้นทาน ไม่ใช่ขั้นศีล แต่เป็นขั้นความสงบของจิตเพราะระลึกด้วยเมตตา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ได้มีความต้องการที่จะให้เกิดอะไรที่พิเศษผิดปกติแปลกประหลาดและก็ไม่รู้ ใช่ไหม แต่เป็นการรู้ชัดพร้อมสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

    ถ. อย่างนี้จัดอยู่ในสมถะ

    สุ. เป็นสมถะ แต่ว่ายากที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ

    ถ. ยังไม่ต้องถึง เพียงแต่ว่าให้มีแนวทางนิดๆ หน่อยๆ เพื่อจะได้เป็นทางต่อๆ ไปอีกเป็นแสนๆ กัป ยังดีกว่าวนเวียนอยู่อย่างนี้

    สุ. ท่านผู้ฟังไม่มีความต้องการที่จะให้มีความสงบมั่นคงถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เป็นการถูกต้อง เพราะยากที่จะถึงได้

    ถ้าศึกษาโดยตลอดจะเห็นว่า กว่าจิตจะสงบเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิได้นี้แสนยาก ในร้อยคน พันคน หมื่นคนที่จะเกิดอุคคหนิมิตซึ่งเป็นเครื่องหมายความสงบของจิตที่ประกอบพร้อมด้วยสมาธิที่มั่นคงในขณะนั้นก็ยาก และกว่าจะให้ถึงปฏิภาคนิมิต ซึ่งใกล้ที่จะถึงฌานจิต ก็แสนที่จะยากอีก ซึ่งในขณะเหล่านั้น ถ้าเป็น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะสามารถรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมยิ่งขึ้น และแทนที่จะมีความปรารถนาเพียงให้จิตสงบ ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจิตขณะนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร ก็ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระอริยสาวกซึ่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าโดยไม่ได้บรรลุถึงฌานจิต จึงมีมากกว่าพระอริยสาวกซึ่งบรรลุฌานด้วย ยิ่งในยุคนี้สมัยนี้ ท่านผู้ฟังที่ศึกษาเรื่องฌานจิตจริงๆ จะเห็นได้ว่า เป็นการบรรลุที่ยากมาก เพราะฉะนั้น จึงควรเจริญอบรมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยเจ้า โดยไม่คำนึงถึงว่าต้องให้บรรลุฌานจิต

    ถ. มีสติรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ถึงจะมีไม่ตลอด มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่ถึงขั้นปัญญา ถ้าปัญญาจริงๆ ต้องไม่ยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่า เป็นตัวตน บุคคล เรา เขา อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. ไม่ยึดเฉยๆ เอาเองไม่ได้ แต่ต้องเกิดปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น จนกว่าจะดับความยึดถือหรือความเห็นผิดในสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า การเจริญวิปัสสนาให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขอให้อาจารย์ขยายความว่า ธรรม เป็นอย่างไร

    สุ. กำลังลืมตา สภาพธรรมปรากฏแล้ว หลับตาลง สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาในขณะที่ลืมตาก็ไม่ปรากฏแล้ว นี่คือความจริง หรือไม่จริง

    เพราะฉะนั้น จึงศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ ตามความเป็นจริง เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง แต่ก็ยากเหลือเกินที่จะถ่ายถอนสละคืนความเห็นผิดในสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ออกได้ แต่ให้น้อมระลึกถึงความจริงอยู่เสมอว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หลับตาแล้ว ความจริงคือไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏอีก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

    ถ. ผมชอบเจริญสติปัฏฐาน เพื่อฝึกตนให้รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ได้ยินก็เพียงได้ยิน เห็นก็เพียงเห็น แต่ผู้ฟังท่านอื่นๆ อาจจะเขวไป เพราะฉะนั้น ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายเน้นว่า สมาธิก็อย่างหนึ่ง สมถะก็อย่างหนึ่ง และเจริญสติปัฏฐานก็อีกอย่างหนึ่ง

    สุ. สมาธิ เป็นความตั้งมั่นคงที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ทำให้จิตรู้ในอารมณ์หนึ่ง ทีละหนึ่งเท่านั้นในขณะหนึ่ง ทางตาที่กำลังเห็นจะได้ยินด้วยไม่ได้ เอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นคงในอารมณ์ที่ปรากฏในขณะที่เห็น จึงเห็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่เป็นลักษณะของสมาธิ แต่ว่าโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน ลักษณะของสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏ เพราะว่าจิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว ต่อเมื่อใดจิตมีความตั้งมั่นคงในอารมณ์เดียวนานๆ จึงจะปรากฏลักษณะของสมาธิ

    เวลาที่มีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่สนใจในสิ่งอื่นเลย เรียกก็ไม่ได้ยิน ในขณะนั้นก็พอจะรู้ได้ว่า คนนั้นกำลังใจจดใจจ่อ จิตตั้งมั่นสนใจอยู่ที่อารมณ์นั้นอารมณ์เดียวเท่านั้น นั่นเป็นลักษณะของสมาธิ

    เพราะฉะนั้น สมาธิแม้ว่าจะเกิดกับจิตทุกดวง แต่ว่าบางครั้งบางขณะไม่ปรากฏลักษณะสภาพของสมาธิจนกว่าจิตจะตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียวนานๆ ด้วยอกุศลจิตก็ได้ เช่น ด้วยความพอใจ เพลิดเพลิน จดจ้องในอารมณ์ที่กำลังได้รับอยู่ จะเป็นการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ถ้าตั้งใจจดจ้องที่อารมณ์นั้น ก็จะปรากฏลักษณะของสมาธิ หรือบางคนโกรธจัดๆ ใครจะพูด ใครจะเตือนก็ไม่ได้ยิน ในขณะนั้นความโกรธมีกำลัง ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ คิดเรื่องอื่นไม่ได้เลย ผูกโกรธ เดี๋ยวก็คิดเรื่องโกรธๆ อยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นลักษณะของมิจฉาสมาธิ ซึ่งเกิดกับอกุศลจิต

    ในขณะที่ให้ทาน เอกัคคตาเจตสิกก็ต้องเกิดร่วมกับจิตในขณะนั้นด้วย ทุกขณะไป แต่ว่าชั่วครู่ชั่วขณะที่มีการให้นั้นเล็กน้อยมาก ลักษณะอาการของสมาธิก็ไม่ปรากฏอีกเหมือนกัน หรือในขณะที่วิรัติทุจริต ลักษณะอาการของสมาธิก็ไม่ปรากฏ

    คำว่า สมาธิ เป็นคำกลาง เช่นเดียวกับคำว่า ทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นถูกก็ได้ เป็นความเห็นผิดก็ได้ ถ้าให้ชัดหรือให้ตรง ความเห็นผิด คือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ ฉันใด ถ้าจะให้ชัดให้ตรง สมาธิที่เป็นอกุศลก็ควรกล่าวว่า เป็นมิจฉาสมาธิ และสมาธิที่เป็นกุศลก็ควรกล่าวว่า เป็นสัมมาสมาธิ

    แต่ว่าพระธรรมมีมาก เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าจะอยู่ในหัวข้อใด ถ้าเป็นไปในเรื่องของกุศล แม้จะใช้คำว่าสมาธิเท่านั้นก็มุ่งหมายสมาธิที่เป็นกุศล ซึ่งท่านผู้ฟังต้องเป็นผู้ที่ละเอียดศึกษาด้วยความรอบคอบว่า ขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องของกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นเรื่องของอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศลฌานก็มี เป็นฝ่ายอกุศลทั้งสิ้น

    ถ้าเป็นฝ่ายกุศล สมาธิ แม้ไม่ได้กล่าวถึงว่าเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ ก็ต้องเป็นสัมมาสมาธิ เพราะเป็นทางฝ่ายกุศล

    เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคำกลางๆ ว่า สมาธิ ในพระไตรปิฎก ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมฝ่ายอกุศลหรือฝ่ายกุศล หรือแม้ใน ฝ่ายกุศล ถ้าเห็นคำกลางๆ ว่า สมาธิ ก็ควรที่จะได้เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา เพราะว่าเป็นสัมมาสมาธิทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แต่ว่าสัมมาสมาธิของสมถภาวนานั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิ ในมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่าสัมมาสมาธิในวิปัสสนานั้นเป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องละเอียดจริงๆ

    ผู้ฟัง เรื่องสัมมาสมาธิ ถ้าพระผู้มีพระภาคจะทรงอธิบายสัมมาสมาธิ ในอินทรีย์ก็ดี ในโพชฌงค์ก็ดี ในมรรคมีองค์ ๘ ก็ดี ดูเหมือนพระผู้มีพระภาคจะทรงอธิบายเหมือนๆ กันหมด คือ อธิบายตั้งแต่ปฐมฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌาน พระผู้มีพระภาคมักจะแสดงอย่างนี้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิก็ต้องเป็นฌานเท่านั้น

    สุ. เป็นเรื่องที่ละเอียดอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมโดยกว้างขวาง เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ย่อมมีปัจจัยที่จะให้กุศลทุกประการเจริญขึ้น แม้แต่สมถะหรือความสงบ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ไม่เคยรู้จักหน้าตาของความสงบเลย แต่เวลาที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว บางขณะมีปัจจัยของกุศลขั้นทานเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นทานกุศล และสติปัฏฐานอาจจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของธรรมในขณะที่กำลังบำเพ็ญทานกุศล แต่ว่าทานในชีวิตก็ไม่ใช่มีครั้งเดียว มีหลายครั้ง บางครั้งสติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตในขณะนั้น บางครั้งก็ไม่เกิด ก็เป็นแต่เพียงทาน ศีลก็โดยนัยเดียวกัน ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานมีความรู้ลักษณะของสภาพธรรมละเอียดขึ้น ถ้าจิตเป็นอกุศล ปัญญาก็รู้ตรงตามความเป็นจริงของอกุศลจิตในขณะนั้น

    ด้วยเหตุนี้ ในการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านพระอานนท์ก็ได้กล่าวถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมของบุคคลทั้งหลายว่า มีถึง ๔ อย่าง บางท่านสมถะเกิดก่อน วิปัสสนาเกิดภายหลัง บางท่านวิปัสสนาเกิดก่อน สมถะเกิดภายหลัง ซึ่งสมถะนี่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ เพียงแต่ว่าแทนที่อกุศลจิตจะเกิดบ่อยๆ มากๆ เหมือนเคย แม้ว่าไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล จิตก็ยังสงบได้ด้วยเมตตาบ้าง กรุณาบ้าง มุทิตาบ้าง อุเบกขาบ้าง หรือด้วยพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ มรณสติ หรืออารมณ์อื่นๆ ของสมถภาวนาของการที่จะให้จิตสงบในขณะนั้นก็ได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกุศลทุกประการว่า เป็นสิ่งที่ควรเจริญ พระผู้มีพระภาคไม่สามารถที่จะให้สติของใครเกิดเป็นสติปัฏฐานอยู่ได้ตลอดเวลา แล้วแต่ว่าขณะใดเป็นปัจจัยของทานกุศล หรือศีล หรือสมถะ ทรงแสดงคุณของกุศลทุกประการว่าเป็นสิ่งที่ควรเจริญ ควรอบรมให้เป็นบารมี เพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลสให้เบาบางจนกระทั่งสามารถที่จะมีปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ดับความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    ด้วยเหตุนี้ สำหรับท่านที่เจริญสมถภาวนา มีความสงบของจิตมั่นคงด้วยสมาธิ ขณะนั้นก็เป็นสัมมาสมาธิของสมถะ และถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในขณะนั้น สัมมาสมาธินั้น ก็เป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพของความสงบและความมั่นคงของสมาธิในขณะนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของกุศลแต่ละขั้นซึ่งเกิดสลับกันตามเหตุตามปัจจัย ตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล

    สมถภาวนาก็เป็นกุศลที่ควรเจริญ แต่ไม่ใช่ว่าต้องไปเจริญที่อื่น ขณะนี้จิตสงบไหม ไม่ต้องคอยถึงข้างหน้า เพราะว่าการอบรมเจริญกุศล ควรที่จะเจริญทันที เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้จิตไม่สงบ แต่มีปัญญาที่รู้เหตุที่จะให้สงบ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิดในขณะนี้โดยไม่ต้องรอคอย อย่าเข้าใจว่า ต้องเป็นที่อื่นจิตจึงจะสงบได้

    ขณะนี้ถ้ามีปัจจัยที่จะให้สงบ จิตก็สงบได้ และควรที่จะอบรมความสงบของจิต เพราะว่ายากเหลือเกินที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทโดยไม่เจริญกุศลทุกประการ จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้รู้ชัดว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ต้องค่อยๆ อบรม ปัญญานั้นจึงจะเกิด ถ้าใครเพียงมุ่งหวังให้สติเกิดขึ้น และศึกษาให้รู้ชัดทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการอบรมเจริญกุศลทุกประการประกอบด้วย

    ถ้าเป็นสมาธิที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นอกุศลสมาธิ จะเต็มไปด้วยความสงสัย ความต้องการ ความไม่รู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีแต่ความต้องการให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นอีก เพราะว่าบางครั้งอาจจะปรากฏเหมือนสภาพที่จิตใสมากทีเดียว แต่ว่าไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอะไร และที่ใสๆ อย่างนั้น รู้อะไรก็ไม่รู้ในขณะนั้น เป็นแต่เพียงลักษณะของจิตซึ่งปรากฏเหมือนใสเหลือเกิน และยังมีความปรารถนาที่จะให้ใสยิ่งกว่านั้น เพราะคิดว่าอาจจะรู้อะไรบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ารู้อะไร นั่นเป็นลักษณะของอกุศลสมาธิ

    ท่านผู้ใดก็ตามที่พยายามจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทำให้จิตตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อาการปรากฏของสมาธิจะมีลักษณะต่างๆ แต่ทั้งหมดไม่มีความรู้ แต่จะมีความสงสัย และมีความต้องการให้ยิ่งขึ้นกว่านั้นอีก เพราะหวังว่าคงจะรู้อะไรบ้างถ้าจิตสงบยิ่งกว่านั้น แต่ก็ปรากฏว่าไม่รู้อะไร เพราะว่าไม่ประกอบด้วยความรู้ตั้งแต่เริ่มต้น

    ผู้ฟัง น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ที่อาจารย์กล่าวว่า ก่อนที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ต้องมีปัญญารู้ลักษณะของสติว่า เวลามีสติต่างกับหลงลืมสติอย่างไร จึงจะเจริญวิปัสสนาได้ ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติว่า เวลามีสติต่างกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไรแล้ว จะเจริญวิปัสสนาไม่ได้

    และในการเจริญสมถภาวนา อาจารย์ก็ได้กล่าวว่า ก่อนที่จะเจริญสมถภาวนานั้น ต้องรู้จักลักษณะของความสงบ ถ้าผู้ใดไม่รู้จักลักษณะของความสงบแล้ว ผู้นั้นจะเจริญสมถภาวนาไม่ได้ นี่น่าอัศจรรย์ กระผมยังไม่เคยได้ยิน และผมคิดว่า เป็นความจริงอย่างนั้น ตามที่อาจารย์กล่าว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๗๒๑ – ๗๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564