การศึกษาธรรมของชาวพุทธ ๑


    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศ

    พ.ศ. ๒๕๓๕

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามอาจารย์ให้แน่นอนว่าคำจำกัดของการที่เป็นพุทธศาสนิกชน คนประเภทใดบ้างที่จะเรียกว่า “พุทธศาสนิกชน” อย่างตัวดิฉันเองพอเกิดมา สำมะโนครัวก็บอกว่าเป็นศาสนาพุทธ แล้วพอโตขึ้นก็เรียนสวดมนต์ นะโมตัสสะ เป็น ในขณะที่อยู่โรงเรียน และเห็นผู้ใหญ่ใส่บาตรทุกวันๆ ก็รู้ว่าการใส่บาตรทุกวันนั้นเป็นการทำบุญ อย่างนี้จะเรียกว่าตัวดิฉันเป็นพุทธศาสนิกชนที่ถูกต้องได้ไหม อยากขอเรียนถามอาจารย์

    อ.สมพร ชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไร เราก็ต้องตีความหมายว่า “ชาวพุทธ” คือใคร พุทธะ คือใคร “ชาว” ก็หมายความว่าพวกเราทุกคนนี้เอง เป็นผู้ที่นับถือพุทธศาสนาคำว่า “พุทธะ” คือชาวพุทธ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว ชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไร การปฏิบัติตนของเรา ถ้าจะว่าโดยเบื้องแรก ก่อนที่เราจะฟังธรรม เราก็เคารพในพระพุทธเจ้า เปล่งออก ที่บอกว่าอะไรเปล่งคำว่า “นะโม” หรือนอบน้อมอะไร แต่ว่าคำนี้เป็นการที่เราเคารพนับถือปฏิบัติตนที่ยังไม่แนบเนียน เราจะต้องศึกษา ศึกษาให้ถึงแก่นธรรมของพระพุทธเจ้าเรียกว่าคำสั่งสอน พระองค์สอนอย่างไร แล้วเราจึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง จริงอยู่เรามีสำมะโนครัวเรียกว่าชาวพุทธ แต่ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาเราไม่มีเลย บางคนไม่ใช่ทั่วไปส่วนมาก ถ้าเปรียบเทียบแล้วก็๑,๐๐๐ คนจะมีสัก ๑ คนก็ได้ คนที่จะศึกษาธรรมให้เข้าใจจริงๆ ๑,๐๐๐ คนจะมีสัก ๑ คนบางทีก็ยังยากเอาส่วนรวมทั้งหมด ดังนั้นการที่เราจะเป็นชาวพุทธที่ดี เราต้องศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า เมื่อศึกษาแล้วก็ปฏิบัติตาม การปฏิบัติตามของเราเป็นการขัดเกลากิเลสได้ อย่างน้อยกิเลสก็ระงับไปสงบไปชั่วครั้งชั่วคราว การปฏิบัตินั้นเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถึงว่าเราจะไม่บรรลุธรรมอะไรก็แล้วแต่ ขอให้เราปฏิบัติได้ถูกต้อง ฟังธรรมที่ดีที่แยบยลแล้วปฏิบัติถูกต้อง ก็ถือว่าเป็นชาวพุทธได้เหมือนกันส่วนหนึ่ง

    ผู้ฟัง อยากขอความกรุณากราบเรียนเชิญอาจารย์สุจินต์กรุณาช่วยขยายข้อความเกี่ยวกับชาวพุทธอีกสักนิดหน่อย

    ท่านอาจารย์ ทุกท่านในที่นี้ก็คงจะบอกว่าท่านเป็นชาวพุทธ แต่ว่าการที่หัวข้อเรื่องตั้งว่าชาวพุทธควรจะปฏิบัติตนอย่างไร จะทำให้ทุกคนกลับมาพิจารณาตนเองถึงความหมายของคำว่า ชาวพุทธ เพราะเหตุว่าในพุทธศาสนานั้นก็ทราบว่า ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นหัวข้อที่ว่า ชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไร “ตน”ในที่นี้จะหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความถึงผู้ที่เกิดในประเทศที่มีพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีศาสนาอื่นบ้างแต่ว่าส่วนใหญ่ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา คนที่เกิดมาในประเทศนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะใช้คำว่าชาวพุทธ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เกิดมาในพุทธศาสนา และก็เข้าใจว่าตนเองเป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร “ตน”ในที่นี้ก็คือหน้าที่ของชาวพุทธ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเกิดมาแล้วก็มีชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนาเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ทรงแสดงธรรมอะไร ถ้าไม่รู้ ผู้นั้นก็ควรจะพิจารณาได้ว่าเป็นชาวพุทธแล้วหรือยัง หรือว่าเป็นแต่เพียงผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ เหมือนทั่วโลก คือว่าทุกประเทศก็มีคนที่จำแนกได้ว่านับถือศาสนาอะไรตามประเทศนั้น แต่ว่าถ้าถามว่าคำสอนของศาสนานั้นเป็นอย่างไร ยุคนี้สมัยนี้ส่วนใหญ่จะตอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะมีชาวพุทธหรือว่าชาวศาสนาอื่นๆ โดยชื่อเท่านั้นโดยที่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าคำสอนของพระศาสดาซึ่งท่านเคารพนับถือว่าเป็นพระศาสดานั้นสอนอย่างไร เพราะฉะนั้นชาวพุทธควรจะได้ระลึกถึงหน้าที่ของตน ในฐานะของชาวพุทธคือว่าต้องเป็นผู้ที่เข้าใจว่าเป็นชาวพุทธโดยเข้าใจคำสอนของพระผู้มีพระภาคแล้วก็เห็นว่าเป็นคำสอนที่ประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ที่ควรจะศึกษาให้เข้าใจให้ถูกต้อง แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามด้วย ขอตอบสั้นๆ เท่านี้ก่อน

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ อยากจะขอความกรุณาเรียนเชิญอาจารย์สมพร ช่วยกรุณาชี้แจงว่า ถ้าจะเป็นชาวพุทธโดยยังไม่ต้องสละบ้านเรือนไปครองเพศบรรพชิตนั้น เราควรจะได้มีแนวทางการศึกษาอย่างไร

    อ.สมพร ปัญหานี้ผมเห็นว่าดีเหมือนกัน เพราะว่าการปฏิบัติธรรมไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระหรือสละบ้านเรือนแล้วไปปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิบัติในธรรมซึ่งเป็นของพระพุทธเจ้า แบ่งประเภทใหญ่ๆ แล้วมี ๒ ประเภท ๑ ครองเรือน อีกประเภท ๑ ไม่ครองเรือน อย่างภิกษุ มีศีลประเภทไม่ครองเรือนเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนฆราวาสอย่างพวกเรานี้เรียกว่า ครองเรือน หรือว่า อาคาริยวินัย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ตามอัธยาศัยอย่างผู้ที่ไม่ชอบครองเรือน

    ถ้าเป็นฆราวาสชอบสันโดษ ชอบความสงบ ก็บวชเป็นภิกษุ แต่บางคนก็มีภาระมากทางบ้านทางการงานบ้าง ทางลูกบ้าง บิดามารดาบ้าง เรื่องทรัพย์บ้าง แล้วก็ครองเรือน แต่ว่าศึกษาธรรมให้เข้าใจแล้วปฏิบัติได้ ธรรมที่จะศึกษานี้ก็ไม่มีอะไรมาก ถ้าว่าโดยย่อไม่มีมาก แต่ทว่าโดยพิสดารแล้วธรรมของพระพุทธเจ้านั้นลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่จะเห็นได้ ธรรมของพระพุทธเจ้า พูดง่ายๆ พูดเฉพาะหัวข้อ โดยพิสดารยากจริงๆ แล้วก็ศึกษาตามแนวหลักใหญ่คือพระไตรปิฎก ถ้าผู้ใดนำพระไตรปิฎก มากล่าวถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก เราก็ยึดถือผู้นั้นเป็นหลัก เพราะเราก็ไม่ได้อ่านพระไตรปิฎกทุกคนใช่ไหม

    เมื่อผู้ใดอ่านพระไตรปิฎกแล้วเข้าใจดีอย่างอาจารย์สุจินต์ที่นำมาบรรยาย สามารถแจกแจงแยกแยะให้คนที่ไม่ได้อ่านหรืออ่านไม่เข้าใจฟังแล้วนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง คือเราไม่ได้ยึดถืออาจารย์โดยเฉพาะ แต่ถ้าเรายึดถืออาจารย์โดยเฉพาะเราอาจจะผิดพลาดเพราะว่าสำนักอาจารย์บางแห่งมีความหมายคนละอย่าง แต่ถ้าเราก็จะพิจารณาให้จริงๆ พิจารณาโดยแยบคายโดยเหตุโดยผลของคำพูดที่อาจารย์บรรยายว่า การบรรยายอย่างนี้ตรงกับเหตุ มีเหตุที่จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะว่าในสมัยก่อนก็มี มีเรื่องชาวกาลามโคตร เพราะว่าพวกคณาจารย์พวกหนึ่งก็บรรยายธรรมอย่างหนึ่ง พวกหนึ่งไปบรรยายธรรมอย่างหนึ่ง เหล่านี้เป็นต้น จนกระทั่งครั้งสุดท้ายพระศาสดาเสด็จไป พระองค์ก็แสดงธรรมอีกอย่างหนึ่ง คนละอย่างสองอย่าง ถ้าผู้ฟังไม่เข้าใจ ไม่มีเหตุไม่มีผลก็จะหลงเชื่อแล้วก็ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เพราะไม่ประกอบด้วยเหตุผล

    ดังนั้น การที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ ก็หลักที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ ก่อนที่จะฟังเราก็ต้องคบกัลยาณมิตรคืออาจารย์นั่นเอง คบคือไม่ใช่มานั่งสนทนาปราศรัยอย่างนี้เสมอไป คือแค่การฟังก็เป็นการคบ ฟังธรรมที่อาจารย์บรรยายเรียกว่าการคบเหมือนกัน ฟัง แต่ว่าคบนั่นคือหมายความว่ามาฟัง แต่ฟังนั้นเป็นอีกข้อหนึ่ง เมื่อฟังแล้วเราก็ใคร่ครวญใคร่ครวญดูเหตุผล ว่าธรรมมันเป็นจริงอย่างนั้นไหม จุดประสงค์ของเราเรื่องการปฏิบัติ เราก็ฟัง ค่อยฟังค่อยถามค่อยคิดค่อยพิจารณา ทีละเล็กละน้อย ให้ปัญญาเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นๆ เราก็จะได้ประโยชน์มาก

    ผู้ฟัง กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ ลองให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้สักเล็กน้อย

    ท่านอาจารย์ ชาวพุทธเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่าทุกคนมีหน้าที่ของชาวพุทธ คือไม่ใช่เป็นชาวพุทธเฉยๆ แล้วก็ไม่ทำอะไร แต่ว่าการที่จะเป็นชาวพุทธก็ต้องมีหน้าที่ของชาวพุทธด้วย เพราะฉะนั้นก่อนที่ใครจะทำอะไร ก็ควรที่จะได้ศึกษาเรื่องหน้าที่ที่จะต้องทำเสียก่อน ให้ชัดเจนว่าหนักเบาแค่ไหน การเป็นชาวพุทธยาก ไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าต้องทราบว่าผู้ที่เป็นพระศาสดาที่ได้ทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตามนั้น เป็นผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้นคำสอนของพระองค์กับคนธรรมดาซึ่งยังมีกิเลสเต็มกว่าที่จะได้เข้าใจ ในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ และในพระมหากรุณาคุณ เพื่อที่จะได้เห็นประโยชน์ของหน้าที่ที่จะทำ ซึ่งประโยชน์นั้นเป็นของตัวท่านเอง เพราะว่าทุกคนทำหน้าที่ของตน เป็นหน้าที่ที่ยาก แต่ว่าคุ้มอย่างมหาศาล หมายความว่าจะติดตามไปตลอดจนกระทั่งท่านสามารถที่จะประสบความสุขที่เป็นสันติสุขจริงๆ

    แต่ว่าข้อสำคัญก็คือว่า ต้องทราบว่าการเป็นชาวพุทธต้องศึกษาให้เข้าใจพระธรรม ซึ่งพระธรรมไม่ง่าย และเมื่อศึกษาแล้วก็ต้องทราบว่าไม่ใช่เพียงศึกษาให้เข้าใจ แต่ว่าจะต้องพิจารณาเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตามตามความสามารถ ตามสติปัญญา และตามการสะสมที่จะต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะมีชีวิตอย่างชาวพุทธที่ได้ทำหน้าที่ของชาวพุทธ เพราะเหตุว่าขณะนี้ ทุกคนก็มีกิเลสมากๆ คงจะไม่มีใครบอกว่ากิเลสน้อย ถ้าเป็นคนที่รู้จักตัวเอง ถ้ายังไม่ได้ศึกษาแล้วจะบอกว่ากิเลสน้อย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพียงเริ่มต้นที่จะให้ศึกษา บางท่านก็บอกว่ายากเสียแล้ว ยากเหลือเกิน ไม่มีเวลาพอที่จะศึกษา แม้แต่เพียงจะฟังวิทยุฟังธรรม ซึ่งโอกาสที่จะได้ฟัง ก็แสนสะดวกสบาย คือเมื่อตื่นนอน และก่อนนอน ก็เป็นเวลาที่เรียกว่าพักผ่อนหรือว่าควรจะแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์คือความเข้าใจในชีวิตในพระธรรม

    แต่บางท่านด้วยกำลังของกิเลส และไม่เห็นประโยชน์ และก็ไม่รู้หน้าที่ว่า ถ้าเป็นชาวพุทธแล้วควรจะฟังพระธรรม ก็ไม่ฟัง นี่ก็เป็นความยากประการหนึ่ง แต่ว่าบางท่านก็เริ่มเห็นประโยชน์แล้วก็พยายามที่จะฟัง แต่ก็จะสังเกตชีวิตจริงๆ ได้ว่า ช่างยากจริงๆ เพราะเหตุว่า อย่างอื่นรู้สึกว่าจะสนุกกว่า หรือว่าน่าสนใจกว่า บางคนก็ฟังเฉพาะบางตอน ซึ่งสะดวก และบางตอนที่ไม่สะดวกก็ไปฟังอย่างอื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขั้นฟังก็ยังยาก และเมื่อฟังแล้วจะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของชาวพุทธนั้นตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตของชาวพุทธที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม และก็ยังไม่เห็นประโยชน์ในการที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เช่นเรื่องของเมตตา ความเป็นมิตรความหวังดี แต่เวลาที่มีสถานการณ์เหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น

    ลืมหมดว่าชาวพุทธควรที่จะได้มีเมตตาอย่างไร กำลังของกิเลสก็ทำให้กลับไปเป็นคนซึ่งไม่สนใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามแนววิถีของชาวพุทธ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการที่แต่ละคนจะค่อยๆ ละคลายกิเลส ก็จะต้องอาศัยปัญญา เพราะเหตุว่าไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่จะละคลายหรือดับกิเลสได้นอกจากปัญญา ถ้าจะเอาอวิชชาความไม่รู้ หรือว่าโลภะความติดข้องความพอใจในความคิดความเชื่อต่างๆ แต่ละคนก็มีความเห็นซึ่งต่างจากวิถีของชาวพุทธทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการศึกษาให้เห็นประโยชน์ของพระธรรมจริงๆ เพื่อที่ปัญญานั่นเองจะค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้กุศลจิตเพิ่มขึ้น พัฒนาขึ้น สติปัญญามากขึ้น จนกระทั่งได้เป็นพุทธสาวกคือผู้ฟังซึ่งสามารถอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามได้

    ผู้ฟัง ภิกษุณีจะเรียกว่าบรรพชิตได้ไหมขอเชิญอาจารย์สมพร

    อ.สมพร ภิกษุณี คือว่าบริษัท ๔ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑ บริษัท ๔ ภิกษุณีนี้ก็เป็นนักบวช ต้องบวช ภิกษุณี คือว่าในสมัยนี้ไม่มีแล้ว เป็นผู้หญิงก่อนที่จะบวชได้ก็ลำบากแสนยาก เป็นผู้หญิงในสมัยนี้บวชเป็นภิกษุณีไม่ได้

    ผู้ฟัง เรียกว่าบรรพชิตได้ไหม

    อ.สมพร เป็นประเภทบรรพชิต บรรพชิตแปลว่าเป็นผู้ละ ละทั่ว บรรพชิตเป็นประเภทนักบวชเหมือนกัน แต่ว่าเป็นผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย บรรพชิตที่เราเข้าใจกัน เรามุ่งว่าเป็นพระที่บวชแล้วเป็นผู้ชายใช่ไหม แต่ว่าเป็นผู้หญิงก็บวชได้ แต่ว่าเราเรียกว่าภิกษุณี

    ผู้ฟัง หมายความว่าอาจารย์ตอบว่าภิกษุณีนั้นคือนักบวช นักบวชก็คือบรรพชิตนั่นเอง ถือว่าอยู่ในพุทธบริษัท ๔ แต่ปัจจุบันนี้พุทธบริษัทเหลือ ๓ แล้ว เราคงไม่นับผู้ที่ยังขอประทานโทษอย่างบรรดาผู้ที่ถือศีล ๘ นุ่งขาวอะไรพวกนี้เป็นภิกษุณี เพราะไม่เหมือนกัน ภิกษุณีนั้น ท่านมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีศีล รู้สึกว่าศีลมากกว่าพระภิกษุเสียอีก เราจะยังไม่พูดกันที่นี้ ยังมีคำถามของท่านผู้นี้อีกซึ่งก็ง่ายเหมือนกัน พระโพธิสัตว์เป็นอริยบุคคลหรือไม่ ขอเชิญอาจารย์สุจินต์

    ท่านอาจารย์ พระโพธิสัตว์ขอความกรุณาอาจารย์แปลศัพท์เล็กน้อยได้ไหม

    อ.สมพร “พระโพธิสัตว์” หมายถึง สัตว์ที่จะตรัสรู้ ไม่ใช่ตรัสรู้แล้ว ที่จะตรัสรู้ คำว่าจะมุ่งถึงอนาคตกาล โพธิ แปลว่า ตรัสรู้ สัตว์ที่จะตรัสรู้ หมายความว่านั้น

    ท่านอาจารย์ ขอเพิ่มเติม คือว่าถ้าท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็เป็นเพียงสาวก ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นคำว่า “โพธิสัตว์” ใช้สำหรับสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะได้บรรลุโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ยังติดใจอยู่ตรงที่ว่า การศึกษาธรรม เพราะว่าศึกษาไม่รู้จะให้ปฏิบัติอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังดูรู้สึกว่าเรื่องของการศึกษานี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย แต่ว่าส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องของการปฏิบัติ คิดว่าเมื่อศึกษาแล้วก็จะต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด



    หมายเลข 46
    13 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ