การศึกษาธรรมของชาวพุทธ ๒


    ท่านอาจารย์ เรื่องของการศึกษานี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย แต่ว่าส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องของการปฏิบัติ คิดว่าเมื่อศึกษาแล้วก็จะต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดแล้วก็ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น จึงจะชื่อว่าปฏิบัติหรือทำ

    เพราะเหตุว่าถ้าขณะที่ทุกคนนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วก็จะเกิดปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งในครั้งที่ผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่กำลังฟังสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันเป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นถึงพระอรหันต์ ในขณะนั้นไม่มีใครสงสัยเรื่องการปฏิบัติธรรม เพราะเหตุว่าเข้าใจถูกต้องในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องการต้องไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น

    แต่ว่าเรื่องของพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของการที่จะต้องอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียด แล้วก็เป็นเรื่องยาก ซึ่งถ้าทุกคนไม่ใจร้อนแล้วก็รู้ว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ แล้วท่านผู้ฟังก็ฟังนิดหนึ่งแล้วก็จะไปรีบปฏิบัติ ย่อมเป็นสิ่งซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรื่องการไปทำ แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามมีความเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้อง นั่นคือกำลังประพฤติปฏิบัติธรรม

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจความละเอียดของแม้แต่คำสั้นๆ ซึ่งได้ยินบ่อยๆ คือคำว่า ธรรม หรือว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ทรงแสดง ถ้ายังไม่เข้าใจคำนี้โดยละเอียดลึกซึ้งแล้วก็ประพฤติปฏิบัติไม่ได้ เพราะเหตุว่าจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่ได้ฟังพระธรรมจนละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องรีบร้อนที่จะไปทำผิด แต่ว่าจะต้องเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาให้ถูกต้องว่า ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมกับเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วมีความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าเรื่องของพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่จะไปปฏิบัติเพื่อเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นในวันนี้ เท่าที่ได้ฟังมา มีความรู้ความเข้าใจในธรรมอะไรเพิ่มขึ้น ทุกครั้งที่ฟังพระธรรม ก็จะรู้ได้ว่าเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นนั่นคือการได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ แต่ถ้าฟังแล้วก็ยังไม่มีอะไรที่จะเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเลย ก็จะต้องฟังอีกจนกว่าจะเข้าใจเพราะว่าธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด

    ผู้ฟัง การคุมกำเนิดเป็นอกุศลกรรมหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คือถ้าผู้ฟังจะติดอยู่ที่คำว่าบาป โดยมากทุกคนจะถามว่าบาปไหม หรือว่าเป็นบุญไหมแต่ว่ายังไม่เข้าใจจริงๆ ว่า อกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใดเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้นก็เป็นชีวิตประจำวันของชาวพุทธ จะรับประทานอาหารอร่อยๆ ก็จะถามว่าบาปไหม จะไปดูหนังดูละครก็บาปไหม จะอ่านหนังสือพิมพ์ก็บาปไหม คือติดอยู่ที่คำนี้ แต่ให้ทราบว่าปกติประจำวันแล้วก็อกุศลจิตเกิดเป็นประจำ แต่ว่ายังไม่มีกำลังถึงกับล่วงเป็นทุจริตกรรมขณะใดขณะนั้นจึงจะไม่ใช่อกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยกอกุศลจิตกับอกุศลกรรม อกุศลจิตก็ได้แก่จิตที่ไม่ดีงาม ๑๒ ประเภท คือเป็นโลภะ ๘ เป็นโทสะ ๒ เป็นโมหมูลจิต ๒ นี่ก็เป็นเรื่องละเอียดซึ่งคิดว่าทุกคนก็คงพอจะทราบหรือแม้ว่ายังไม่ทราบละเอียดก็อาจจะทราบเพียงชื่อเป็นเลาๆ ว่าทุกวันทุกคนมีโลภมูลจิต และบางกาลก็มีโทสมูลจิต มีโมหมูลจิต นานๆ จะมีกุศลจิต แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนทำอกุศลกรรมทุกวัน เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกว่าอกุศลจิตเป็นเรื่องธรรมดาในขณะที่ยังไม่ล่วงเป็นทุจริตกรรมที่เป็นกุศลกรรมบถ แต่ขณะใดที่ล่วงเป็นอกุศลกรรมบถเมื่อนั้นจึงถึงความเป็นอกุศลกรรมเป็นทางที่จะทำให้เกิดวิบากข้างหน้า

    ผู้ฟัง ปัจจุบันนี้โรงเรียนต่างๆ นิยมให้นักเรียนทำพิธีพุทธมามกะ ขอเรียนถามว่าการทำพิธีพุทธมามกะมีประโยชน์กับใครอย่างไร

    อ.สมพร พุทธมามกะเราก็แยกศัพท์ดูก่อน แล้วเราค่อยตอบปัญหาเขาว่า พุทธ กับ มามกะ แปลว่านับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของๆ เรา นับถือคือนับถือพระพุทธเจ้าโดยที่ว่าเพื่อจะศึกษาธรรม เขาว่าของๆ เราเป็นสิ่งที่เราใกล้ชิด พุทธมามกะแปลว่า ของๆ เราถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นของเราก็คือนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า เป็นของๆ เราแต่ว่า ของๆ เราเป็นระยะเริ่มต้น เพราะว่าให้ชุมชนมาประชุมกันแล้วนับถือแล้วมีการศึกษา ถ้านับถืออย่างเดียวยังไม่ศึกษา มันก็ยังไม่เกิดประโยชน์ ต้องศึกษาให้เข้าใจเพราะเรานับถือ บางทีอาศัยศรัทธาอย่างเดียว ศรัทธาอย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะว่านับถือพระพุทธเจ้าจะต้องศึกษาให้เข้าใจให้ปัญญาเกิดให้มีศรัทธาด้วยมีปัญญาด้วย อาศัยศรัทธาอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ คำว่านับถือ พระพุทธเจ้าว่าเป็นของๆ เราเรียกว่าพุทธมามกะ

    ผู้ฟัง เรียนเชิญอาจารย์สุจินต์กรุณาให้ความคิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องนี้

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของยุคสมัย เพราะเหตุว่าทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้รวมทั้งดิฉันด้วย ไม่เคยทำพิธีนี้เลยไม่ทราบว่ามีใครทำบ้างหรือเปล่า นี่ก็เป็นยุคโบราณกาลมาแล้วนาน

    ผู้ฟัง เคยทำอยู่เลย

    ท่านอาจารย์ เคยทำหรือ เหมือนประกาศนียบัตรหรืออย่างไร และขณะนั้นมีความเข้าใจอะไรบ้างหรือยัง ไม่รู้เรื่องเลยแต่ก็เหมือนกับบัตรใบหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าท่านผู้นี้ได้ประกาศตนว่ามีพระผู้มีพระภาคเป็นของๆ เรา แต่จริงๆ แล้วเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของกาลสมัยจริงๆ เพราะเหตุว่าการที่จะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะนั้นต้องถึงด้วยปัญญา ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำว่าพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ หรือว่าสวดมนต์เท่านั้น เพราะเหตุว่าเพียงเท่านั้นแล้วก็ไม่เข้าใจพุทธศาสนานั้นก็ยังไม่พอ แต่ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่า ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน นอกจากในเรื่องของโพธิราชกุมารไม่ทราบว่ามีเรื่องอื่นหรือเปล่า ที่แสดงว่ามีผู้ที่ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ นี่ก็แสดงให้เห็นเรื่องความเป็นอิสระทางความคิดว่า เมื่อใดผู้ใดมีสติปัญญาเข้าใจประโยชน์ของพระธรรมเมื่อนั้นผู้นั้นเองจะเป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ โดยที่ไม่ต้องมีพิธีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น

    แต่สำหรับในยุคนี้สมัยนี้ก็ห่างเหินพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน จนแสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่ทีเดียว ยังไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจริงๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายแห่งที่พยายามที่จะอาศัยพิธีกรรมต่างๆ เพื่อที่จะพยายามที่จะชักจูงให้เกิดความสนใจในพระศาสนา แต่ก็เป็นเพียงในขั้นของพิธีกรรมเท่านั้น ยังไม่ใช่การที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจจริงๆ อย่างที่อาจารย์บุญสุขเป็นห่วงอยู่ คือว่าเพียงแต่มาทำพิธีนิดหน่อย แต่ว่าเด็กนักเรียนก็ยังไม่เข้าใจอะไร ก็เป็นหน้าที่ของชาวพุทธอีกที่จะช่วยกันศึกษาพระธรรม เพราะเหตุว่าจะเกี่ยงให้บุคคลอื่นศึกษาโดยที่ตัวท่านไม่ศึกษานั้นเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เหมือนการแก้สังคม เกี่ยงให้คนนั้นแก้ คนนี้แก้ แต่ว่าถ้ายังไม่แก้ตัวเอง สังคมก็แก้ไม่ได้ฉันใด ผู้ที่เป็นชาวพุทธ และต้องการที่จะประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่ของชาวพุทธเพื่อที่จะส่งเสริมผดุงรักษาพุทธศาสนาไว้ ก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจ แล้วก็จะได้ช่วยเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไปได้ ไม่ใช่เพียงแต่พยายามที่จะทำพิธีกรรมเท่านั้น

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่าทำไมต้องนับถือพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว เข้าใจว่าที่จะเป็นชาวพุทธจริงๆ ข้อสำคัญข้อหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ต้องเป็นผู้ที่ศึกษา และเข้าใจพระพุทธศาสนาถูกต้อง ถ้ามิฉะนั้นแล้วจะบอกว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงก็คงจะยังไม่สมบูรณ์ และที่จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ทราบว่าจะแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์อย่างไร แต่ให้ทราบว่าถึงแม้ว่าจะเป็นคนดีมีศีลธรรมมีอะไรก็ตามแต่ แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจพุทธศาสนา หรือว่าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ยังไม่ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ผู้ที่มีศรัทธานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตั้งแต่เด็ก ก็เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เลิศ เป็นผู้ที่หมดกิเลส เป็นพระอรหันต์ ซึ่งสมควรที่แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็จะระลึกถึงด้วยความนอบน้อมกราบไหว้ แต่เมื่อโตแล้วก็ควรที่จะได้มีการพิจารณาละเอียดขึ้นว่า บุคคลซึ่งเราถือเป็นสรณะนั้นเป็นผู้ที่หมดจดกิเลสได้อย่างไร และก็ทรงแสดงธรรมอย่างไร เป็นประโยชน์กับพุทธบริษัทอย่างไร เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงหมดกิเลสแล้วพระอรหันต์ และพระอริยสาวกก็หมดกิเลสแล้ว แต่คำสอนของพระองค์ จะเป็นประโยชน์กับพุทธบริษัทที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างไร ถ้าไม่มีประโยชน์ก็ไม่มีใครสามารถที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่ทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์

    เพราะฉะนั้น ต้องมีประโยชน์มหาศาลโดยที่ว่าต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ จึงจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์แต่แทบไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ประโยชน์ที่ได้รับจากพระธรรม ก็ไม่ทราบว่าได้รับส่วนไหนอย่างไร เพราะเห็นว่ายังไม่มีความเข้าใจพระธรรมเลย เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า ทำไมต้องนับถือพระพุทธศาสนา จริงๆ แล้วก็ไม่ได้บังคับ ไม่ได้หมายความว่าต้อง ใครไปบอกใครว่าต้องนับถือศาสนาอะไรเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องของความคิด ซึ่งความคิด ความเห็น ความเชื่อ ทุกคนมีอิสรเสรี ซึ่งทุกคนก็ยอมรับว่า ถ้าจะมีกฎหมายบังคับ ก็อาจจะบังคับความประพฤติทางกาย ทางวาจาเท่านั้น

    แต่ไม่มีกฎหมายที่จะบังคับใจใครได้ว่าให้นับถือศาสนาอะไร เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่ต้องนับถือพุทธศาสนา แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนมีโอกาสที่จะได้ฟังคำสอนของทุกๆ ศาสนา และมีการเปรียบเทียบพิจารณาว่า ศาสนาไหนเป็นศาสนาที่จะเป็นประโยชน์กับตน สำหรับพระพุทธศาสนา ประโยชน์ก็คือว่า ทำให้รู้จักตัวเอง รู้จักโลก รู้จักทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ไม่ใช่สอนให้งมงายหรือว่าให้เชื่อ แม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงเคารพธรรม เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมให้เป็นอย่างอื่นได้ อย่างสภาพธรรมที่แข็งพระพุทธเจ้าก็จะเปลี่ยน บอกว่าให้เย็นหรือว่าให้ร้อน ให้หวานให้เปรี้ยวก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่พระองค์ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน

    เพียงฟังอย่างนี้ ไม่ทราบว่าชาวพุทธจะหันกลับ ไปนับถือศาสนาอื่นเพราะว่าง่ายดี หรือว่าจะยังคงสนใจที่จะเข้าใจว่าอนัตตาคืออะไรเพราะเหตุว่าตั้งแต่เกิดมาก็มีตัว มีคนนั้นมีคนนี้แต่พระธรรมแสดงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจะเชื่อใคร เชื่อตัวเองหรือว่าเชื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระองค์ไม่ได้ทรงแสดงว่าต้องเชื่อว่าเมื่อพระองค์ตรัสว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาแล้วต้องเห็นอย่างนั้น แต่ทรงแสดงความละเอียดความจริงของสภาพธรรมจนกระทั่งบุคคลนั้นสามารถที่จะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามพระองค์ได้ ประโยชน์ก็คือว่าจะทำให้ละคลายความไม่รู้ความเห็นผิด และก็กิเลสก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตน ไม่มีเรา แล้วก็ไม่มีของเรา

    ผู้ฟัง จุดมุ่งหมายของการนับถือพระพุทธศาสนาคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะเข้าใจพระธรรม สั้นที่สุด เพราะว่าทุกอย่างที่ฟังทุกคนฟังเพื่ออะไรอย่างวันนี้ทุกคนมาที่นี่ ก็เพื่อฟังฟังเพื่อให้ได้เข้าใจสิ่งซึ่งอาจจะเคยฟังมาแล้ว ก็ยังสงสัยหรือว่ายังไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย ก็เข้าใจยิ่งขึ้น ที่ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษาก็เพื่อที่จะให้คนที่ได้ไปเฝ้าฟังพระธรรมนั้นเกิดปัญญาคือความเข้าใจของตัวเอง ไม่ใช่พระปัญญาของพระผู้มีพระภาคมีมากแล้วก็ไม่สามารถที่จะถ่ายทอดให้บุคคลอื่นได้เกิดความเข้าใจ แต่เมื่อได้ทรงแสดงธรรม และผู้ที่ได้ฟังก็ศึกษาแล้วก็มีความเข้าใจมีปัญญาเพิ่มขึ้นสืบต่อกันมา จนกระทั่งสามารถที่จะทำให้บุคคลอื่นที่ได้ยินได้ฟังได้มีการสนทนาได้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ก็คือเพื่อความเข้าใจ

    ผู้ฟัง เมื่อเข้าใจพระธรรมแล้วเป็นอย่างไรต่อท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คงไม่แล้ว เพราะเห็นว่าจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่มีความรู้มากในพุทธศาสนา แล้วมีความสำคัญตนว่าเก่ง หรือว่าเป็นผู้ที่ได้รับ ลาภ ยศ สรรเสริญ นั่นเป็นจุดประสงค์ที่ผิด แต่จุดประสงค์ที่ถูกก็คือว่า เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว พร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เพราะเห็นคุณค่าของพระธรรมว่า เป็นพระธรรมที่บริสุทธิ์ที่จะทำให้ผู้ที่ได้เข้าใจแล้วพยายามขัดเกลากิเลสจนกระทั่งสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะเราจะเห็นได้ว่าคนที่บอกว่าเป็นชาวพุทธมักจะถูกติว่า ชาวพุทธแล้วทำไมโกรธมาก หรือทำไมตระหนี่ หรือทำไมประทุษร้ายคนอื่น หรือเวลาที่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ความเป็นชาวพุทธหายไปไหนหมด ที่ว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวรก็ดี หรือว่าพรหมวิหาร ๔ ก็ดี ชาวพุทธกี่คนที่ปฏิบัติตามนี้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนา กับการที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น เป็นสิ่งซึ่งจะเป็นไปได้มาก ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้นในพระธรรม แต่ถ้าความเข้าใจในพระธรรมยังน้อย ยังไม่ถูกต้อง กิเลสที่มีกำลัง แม้จะรู้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่บุคคลนั้นกลับทำสิ่งที่ตรงกันข้าม แม้ว่าศึกษาธรรมหรือว่าเป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาตนแล้วก็เห็นกิเลสของตน โดยพระธรรมที่ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดเปรียบเสมือนกระจกเงา ซึ่งจะติดตามทุกคนไปทุกหนทุกแห่ง พร้อมที่จะส่องให้เห็นสภาพของจิตว่าจิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลอย่างไร นี่คือประโยชน์อย่างยิ่ง

    สำหรับผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบในการศึกษาธรรม คือเมื่อเริ่มศึกษาก็เริ่มที่จะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามทุกโอกาสจนกว่ากิเลสจะค่อยๆ เบาบางลง ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าผู้ที่ได้ศึกษาแล้วมีความเข้าใจธรรม แล้วจะรู้ได้ว่าคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นทำให้ผู้ฟังที่ศึกษาแล้วเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความเข้าใจความต่างกันของอวิชชาความไม่รู้ กับวิชา และก็สามารถที่จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ความต่างกันของคนตาบอดกับคนตาดีนั่นคืออย่างไร ทั้งๆ ที่ทุกคนในขณะนี้ไม่ใช่คนตาบอด แต่เมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ยังไม่ชื่อว่ามีตาปัญญา เพราะเหตุว่าแม้สภาพธรรมกำลังปรากฏก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีใครบ้างที่สอนว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริงแล้วก็กำลังปรากฏชั่วขณะที่มีจักขุปสาทกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ การเห็นก็เกิดขึ้น

    แม้ว่าจะทรงแสดงพระธรรมไว้ตลอด ๔๕ พรรษาผู้ที่เริ่มศึกษาก็ยากเหลือเกินที่จะมีปัญญาเหมือนผู้ที่ได้ศึกษามาก่อนแล้วเป็นเวลา ๒๐ ปี ๓๐ ปีหรือว่าเป็นเวลาหลายกัปป์มาแล้ว อย่างผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ข้อความธรรมไม่เปลี่ยน เพราะเหตุว่าธรรมคือธรรมมีลักษณะอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ผู้ที่ได้อบรมปัญญามามากแล้วเพียงฟังสั้นๆ สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของธรรม และเข้าใจความหมายของธรรมว่า เมื่อเป็นธรรมจึงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชาติซึ่งเป็นธาตุแต่ละธาตุ ที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมจึงต้องอาศัยกาลเวลา แล้วผู้ที่ศึกษาต้องมีศรัทธาที่เห็นประโยชน์ และเมื่อได้ศึกษาแล้วก็จะรู้ได้ว่า ก่อนศึกษาไม่เคยมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ถึงมีแสงสว่างมีรูปมีการเห็น แต่ปัญญาก็ไม่รู้สภาพสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และการเห็นอย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้พระธรรมจึงทำให้ผู้ที่ได้ศึกษาเข้าใจแล้วสามารถที่จะเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงได้ แล้วก็รู้ว่า ผู้ที่ตรัสรู้นั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง การปฏิบัติธรรมของชาวพุทธนั้นปัจจุบันนี้รู้สึกชาวพุทธสนใจมากเลยที่จะปฏิบัติธรรมแต่ไม่แน่ใจว่าชาวพุทธจะรู้จักไหมว่า การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร หรือความหมายของการปฏิบัติธรรมนั้นคืออย่างไร

    อ.นิพัทธ์ คือยังติดใจอยู่ตรงที่ว่า การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจธรรม ทีนี้การเข้าใจธรรมคือเข้าใจอย่างไรผมก็ยังไม่ไม่สามารถที่จะให้คำจำกัดความ เข้าใจหมายถึงจำได้ พูดได้แสดงได้ บอกกล่าวคนอื่นได้ อย่างนั้นใช่ไหม ที่เข้าใจเข้าใจธรรมคือเข้าใจอย่างไร ธรรมคืออะไร และเข้าใจธรรมคือเข้าใจอย่างไร เพราะว่าต้องรู้จุดนี้เสียก่อนแล้วจึงจะปฏิบัติธรรมได้

    ท่านอาจารย์ เรื่องของธรรมนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ การที่แต่ละคนจะได้รับประโยชน์จากธรรม จะเห็นได้ว่าต้องใช้กาลเวลา และความละเอียดมาก เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะได้ฟังวันนี้ กิเลสก็ยังเยอะ โลภะก็ยังมาก โทสะก็ยังมาก อะไรที่ไม่ดีก็ไม่ใช่ว่าจะหมดไปเพียงแค่ฟังครั้งเดียว ต้องฟังแล้วฟังอีก แล้วก็ต้องตั้งต้นแล้วตั้งต้นอีก แม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นธรรมดาที่สุด คือหัวข้อของการสนทนาตั้งแต่หัวข้อแรกที่ว่าชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไร หรือว่าการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดแล้วก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเป็นการถูก ที่จะต้องเริ่มตั้งแต่คำว่ารู้จักธรรมที่จะปฏิบัติแล้วหรือยัง ถ้าไม่รู้จักธรรม ก็จะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร เพราะเหตุว่าแต่ละคนเวลานี้ดูเหมือน เพียงแต่ดูเหมือนว่าเข้าใจหลายคำหลายเรื่อง แต่ความจริงถ้าซักถามแล้วจะไม่เข้าใจเลย อย่างเช่นหัวข้อวันนี้ที่ว่า การปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ ถ้าถามชาวพุทธหลายๆ ท่านว่า ปฏิบัติธรรมหรือเปล่า ลองกลับไปถามเพื่อนฝูงว่าปฏิบัติธรรมหรือเปล่า แล้วคำตอบจะเป็นอย่างไร เขาคงจะงง ว่าอยู่ดีๆ ก็มาถามเขาว่าปฏิบัติธรรมหรือเปล่า เพราะว่าจริงๆ แล้ว เขาก็ยังไม่เข้าใจว่าเขาปฏิบัติธรรม หรือว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม แต่ส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่รู้ ถ้าถามท่านผู้ฟังที่นี่จะตอบว่าไง

    ผู้ฟัง ถ้าไปถามเขา เขาบอกเขาปฏิบัติธรรม เขาตื่นขึ้นมาเขาก็ใส่บาตร บางครั้งเขาก็ไปวัด

    ท่านอาจารย์ ลองถามนักศึกษาอายุประมาณสัก ๒๐ กว่า ๓๐ กว่าก็ได้ว่าคุณปฏิบัติธรรมหรือเปล่าเขาคงจะมองหน้าใช่ไหม

    ผู้ฟัง แน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่รู้จักธรรม



    หมายเลข 46
    12 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ