รัตนสูตร ๑


    สำหรับเรื่องของภัยพิบัติในชีวิต ไม่ได้มีแต่เฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ แม้สมัยก่อน ก็มี และสมัยต่อไปก็มี ซึ่งขอกล่าวถึงการบำบัดทุกข์ด้วยกุศลจิตที่ตั้งมั่นใน พระรัตนตรัย

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร มีข้อความว่า

    เมื่อกรุงเวสาลีเกิดทุพภิกขภัย และโรคภัยเบียดเบียนนั้น พวกเจ้าลิจฉวีเสด็จไปทูลเชิญพระผู้มีพระภาคให้เสด็จไปกรุงเวสาลี พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาว่า เมื่อพระองค์ตรัสรัตนสูตรที่กรุงเวสาลีจบแล้ว จะมีผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก จึงทรงรับนิมนต์

    พระเจ้าพิมพิสารทรงตระเตรียมหนทางเสด็จ แล้วส่งเสด็จถึงแม่น้ำคงคา พวกเจ้าลิจฉวีพากันบูชารับเสด็จพระผู้มีพระภาคเป็นสองเท่าที่พระเจ้าพิมพิสาร ทรงกระทำการส่งเสด็จ

    ลำดับนั้น มหาเมฆก็ตั้งขึ้นทั้ง ๔ ทิศ พอพระผู้มีพระภาคทรงยกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ใครต้องการเปียกก็เปียก ใครไม่ต้องการก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่งน้ำไหลพัดสิ่งปฏิกูลทั้งหลายลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน

    พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ทุกๆ หนึ่งโยชน์ในระหว่างทาง ถวายมหาทาน ทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี

    พระผู้มีพระภาคประทับยืนใกล้ประตูพระนคร ตรัสรัตนสูตร ท่านพระอานนท์เมื่อจะกล่าวรัตนสูตรเพื่อเป็นปริตร (ป้องกันอุปัทวอันตราย) ได้เอาบาตรของ พระผู้มีพระภาคใส่น้ำเดินปะพรมไปทั่วพระนคร โรคก็สงบไป

    พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับที่อาสนะที่เขาปูลาดไว้ ท่านพระอานนท์เมื่อทำอารักขาแล้ว ได้เข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมกับ ชาวกรุงเวสาลี พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสรัตนสูตร

    พระผู้มีพระภาคทรงเริ่มตรัสสัจจวาจา เพื่อระงับอุปัทวภัยของมนุษย์เหล่านั้น และเพื่อการฟังธรรมของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ด้วยการประกาศคุณของ พระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสให้เทวดา และมนุษย์ที่มาเฝ้าฟังพระธรรม ตั้งใจฟัง เพราะเหตุว่าเทวดา และมนุษย์ ละทิพยสถาน และความพรั่งพร้อมแห่งเครื่อง อุปโภคบริโภคในสถานนั้นๆ มาประชุมในที่นี้ก็เพื่อฟังธรรม ไม่ใช่เพื่อดูการรำ การฟ้อนเป็นต้น

    อนึ่ง ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีจิตใจดีงาม ด้วยการตั้งตนไว้ชอบ ด้วย โยนิโสมนสิการ และด้วยความเป็นผู้อยากฟังโดยเคารพ ด้วยความเพียรที่ถูกต้อง อันเป็นเหตุใกล้ให้เข้าหาสัตบุรุษ และการฟังธรรมจากผู้อื่น ฉะนั้น จึงควรตั้งใจฟัง

    สำหรับเทวดาก็ละทิพยสถาน สำหรับมนุษย์ก็ละความพรั่งพร้อมแห่งเครื่องอุปโภคบริโภคในบ้านเรือนเพื่อมาฟังธรรม ไม่ใช่มาดูการฟ้อน การรำ ก็ควรที่จะ ฟังด้วยความตั้งใจ

    เพราะเหตุที่ธรรมดาภาษิตของพระพุทธเจ้าหาได้ยากยิ่ง เพราะเป็นขณะที่ เว้นจากอขณะทั้งปวง จึงเป็นขณะที่หาได้ยาก และมีอานิสงส์มาก เพราะเป็นขณะที่เป็นไปด้วยพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณเป็นต้น

    เป็นความจริงไหม วันนี้ ถ้าตั้งใจฟังจริงๆ จะได้รับประโยชน์เต็มที่ แต่ถ้า ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง เผลอบ้าง นึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง เมื่อกี้พูดอะไร ลืมไป ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังพระธรรมก็ไม่เต็มที่

    จากนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสให้คนเหล่านั้นรวมทั้งเทพ และอมนุษย์ทั้งหลาย มีเมตตาต่อผู้ที่ได้รับภัยพิบัติ อย่าเบียดเบียน และให้กตัญญู อารักขามนุษย์ผู้ทำการนอบน้อมเทพ และทำบุญอุทิศแก่เทพ โดยถวายสลากภัต และจัดให้มีการฟังธรรม เป็นต้น

    พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้มีเมตตาจิตก่อนฟังธรรม ขอให้ระลึกถึงประโยชน์ ที่จะได้รับจากการฟังพระธรรมจริงๆ ถ้าท่านผู้ใดโกรธมาจากบ้าน หรือยังผูกโกรธ คนหนึ่งคนใดอยู่ และมาฟังพระธรรมทั้งๆ ที่กำลังโกรธ คิดดู จะรับพระธรรมได้ เต็มที่ไหม แต่บุคคลใดก็ตามที่มีเมตตาจิต ขณะนั้นจิตย่อมสงบจากอกุศลทั้งหลาย ขณะนั้นไม่คิดที่จะเบียดเบียนใครด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การรับฟังในขณะนั้น ก็ย่อมมีประโยชน์มาก

    แม้แต่เพียงการจะฟังก็ควรรู้ว่า ก่อนฟังควรจะเป็นอย่างไร คือ ควรเป็นกุศล และมีเมตตา ขณะนั้นจิตไม่กังวล ไม่หมกมุ่น ไม่คิดถึงเรื่องความผูกโกรธ เรื่องโลภะ เรื่องโทสะ ซึ่งตามปกติจะมีการให้รับศีลก่อนฟังธรรม แต่ควรจะทราบว่า ศีลทั้งหลายจะสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อมีเมตตา เพราะขณะใดที่มีเมตตา ขณะนั้นไม่ล่วงศีล

    ไม่ใช่เพียงรับศีล แต่ยังโกรธ เพราะว่าความโกรธอาจจะยังติดอยู่ ยังผูกไว้ ยังไม่ลืม เพราะฉะนั้น ฟังไปอาจจะเกิดโกรธอีกก็ได้ ถ้าหากไม่คิดว่ารับศีลก่อนแล้วฟัง แต่คิดว่าต้องมีเมตตาจิตด้วย ก็จะทำให้จิตใจในขณะนั้นผ่องใส เมื่อฟังเข้าใจ ก็จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามได้อย่างเต็มที่

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    บรรดาทรัพย์เครื่องปลื้มใจ และรัตนะทั้งหลายนั้น รัตนะแม้แต่สักอย่างหนึ่ง ซึ่งเสมอด้วยพุทธรัตนะนั้น ไม่มีเลย

    เวลากราบไหว้พระพุทธรูป เวลาเห็นพระเครื่อง หรือเวลาเห็นแก้วแหวนเงินทอง คิดอย่างนี้หรือเปล่า แหวนเพชรก็เป็นรัตนะ แต่ บรรดาทรัพย์เครื่องปลื้มใจ และรัตนะทั้งหลายนั้น รัตนะแม้แต่สักอย่างหนึ่งซึ่งเสมอด้วยพระพุทธรัตนะนั้น ไม่มีเลย

    ประการที่ ๑ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะว่าทำให้เกิดความยำเกรง สิ่งที่เป็นรัตนะ ไม่มีใครทิ้ง ใช่ไหม ไม่มีใครละทิ้ง ไม่มีใครทอดทิ้งสมบัติทั้งหลาย แต่ย่อมทำการพิทักษ์รักษาดูแลเป็นอย่างดี ให้ควรค่าแก่ความเป็นรัตนะนั้นๆ

    ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า ทำให้เกิดความเคารพยำเกรง พระตถาคตเท่านั้นชื่อว่ารัตนะ

    จริงอยู่ เมื่อพระตถาคตทรงอุบัติแล้ว เทวดา และมนุษย์ผู้มีศักดิ์มาก ทุกหมู่เหล่า ย่อมไม่ทำความเคารพยำเกรงในรัตนะอื่น ย่อมไม่บูชารัตนะอะไรๆ อื่น จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม เทวดาเหล่าอื่น และมนุษย์ทั้งหลาย มีพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าโกศล และท่านอนาถบิณฑิกะเป็นต้น ก็บูชาตามกำลัง พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสละพระราชทรัพย์ ๙๖ โกฏิ ทรงสร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง ทั่วชมพูทวีปอุทิศถวายพระผู้มีพระภาค แม้ทรงปรินิพพานแล้ว

    ผู้ที่เคารพยำเกรงพระผู้มีพระภาค ย่อมกระทำการเคารพยำเกรงแม้สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่ทรงแสดงพระธรรมจักร และสถานที่ปรินิพพาน หรือแม้เจติยะ คือ พระปฏิมา (พระพุทธรูป)

    รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต แม้อรรถว่า ทำให้เกิดความยำเกรง ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้

    แก้วแหวนเงินทองเพชรนิลจินดาเป็นรัตนะ มีใครกราบไหว้บ้างหรือเปล่า ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าเป็นรัตนะจริงๆ ไหม แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัททั้งหลายก็ยังเคารพยำเกรงแม้สถานที่ที่ประสูติ สถานที่ที่ตรัสรู้ สถานที่ที่ประกาศพระธรรมจักร และสถานที่ที่ปรินิพพาน

    ประการที่ ๒ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นใด ชื่อว่ารัตน เพราะอรรถว่ามีค่ามาก เช่นผ้าแคว้นกาสี แม้เก่าก็ยังมีสีสัน มีสัมผัสสบาย และมีค่ามาก ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นเสมอด้วยพระพุทธรัตน ย่อมไม่มี ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตน เพราะอรรถว่ามีค่ามาก พระตถาเท่านั้นชื่อว่ารัตน

    จริงอยู่ พระตถาคตทรงรับแม้บังสกุลจีวรของชนเหล่าใด ทานนั้นของชนเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ทั้งนี้ก็เพราะพระตถาคตนั้นมีค่ามาก รัตนเสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่ามีค่ามาก ย่อมไม่มี ด้วยประการฉะนี้

    เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะทรัพย์เครื่องปลื้มใจอื่นๆ แต่ก็ไม่พ้นจากทุกข์ คนที่มีสมบัติมาก มีแก้วเเหวนเพชรนิลจินดามาก โกรธหรือเปล่า เป็นทุกข์หรือเปล่า สำคัญตนหรือเปล่า เดือดเนื้อร้อนใจหรือเปล่า นี่ก็เเสดงให้เห็นว่ารัตนอื่น ไม่ได้มีค่ามากจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่ได้ทำให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ แต่ว่าพระพุทธรัตนนั้นมีค่ามาก ด้วยการทรงตรัสรู้ และการทรงแสดงพระธรรม เพราะฉะนั้นก็ทราบแล้ว อะไรมีค่าสูงสุดในชีวิต

    ประการที่ ๓ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่าพระรัตน เพราะอรรถว่าชั่งไม่ได้ ก็เหมือนกัน เช่น จักรรัตน หัตถิรัตนะ (คือช้างแก้ว) อัสสะรัตน (คือม้าแก้ว) มณีรัตน อิฏฐีรัตน (นางแก้ว) คฤหบดีรัตน (เศรษฐีแก้ว ผู้ทำการงานโดยปรกติของพระราชา เพราะเหตุว่าท่านสามารถเห็นขุมทรัพย์ ทั้งที่มีเจ้าของ และไม่มีเจ้าของ ท่านได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ทำกิจที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของพระราชา เพื่อพระราชาจะได้ไม่ทรงพระกังวล ปริณายกรัตน (คือผู้ที่บริหารแผ่นดินแทนพระราชา เพราะเป็นผู้มีปัญญารู้จิตใจของบริษัทหมู่ใหญ่ สามารถในการลงโทษ ในการยกย่อง เป็นผู้ที่สามารถควบคุม บริหารงาน และบริษัทบริวารได้ดี)

    ก็หรือว่า ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้อื่นใดเห็นปานนั้น ชื่อว่ารัตน เพราะอรรถว่าชั่งไม่ได้ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันใด ไม่สามารถพินิจพิจารณา ตีราคาว่า มีค่า ๑๐๐ ๑๐๐๐ หรือ ๑โกฏ ในทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้น แม้รัตนซักอย่างหนึ่ง ซึ่งเสมอด้วยพุทธรัตน ไม่มีเลย

    หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่าพระรัตน เพราะอรรถว่าชั่งไม่ได้ พระตถาคตเท่านั้นชื่อว่ารัตน จริงอยู่ พระตถาคต ใครๆ ก็ไม่สามารถพินิจพิจารณาโดยศีล โดยสมาธิ หรือโดยบรรดาปัญญา เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วกำหนดว่า ทรงมีพระคุณเท่านี้ทรงเสมอ หรือเทียบเคียงกับผู้นี้ รัตนเสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่าชั่งไม่ได้ ไม่มีเลย ด้วยประการฉะนี้

    สมบัติพอชั่งได้ แต่ว่าถ้าสิ่งที่มีค่าจริงๆ ไม่ทราบว่าจะชั่งยังไง เหนือกว่านั้น ไม่มีใครสามารถที่จะชั่งศีล สมาธิ หรือปัญญา ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น รัตนโดยอรรถว่าชั่งไม่ได้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ชื่อว่ารัตน

    ประการที่ ๔ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นใด ชื่อว่ารัตน เพราะอรรถว่าเห็นได้ยาก คือหายาก ก็เหมือนกัน ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนี้ก็คือความเป็นของปรากฏได้ยาก ได้เเก่พระจักรพรรดิ์ และรัตน ๗ ประการของพระจักรพรรดิ์ ได้แก่ จักรรัตน หัตถิรัตนะ (คือช้างแก้ว) อัสสะรัตน (คือม้าแก้ว) มณีรัตน อิฏฐีรัตน (นางแก้ว) คฤหบดีรัตน ปรินายกรัตน

    รัตนแม้นั้นที่เสมอด้วยพุทธรัตนนั้นไม่มี ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตน เพราะอรรถว่าเห็นได้ยากไซ้ เพราะตถาคตชื่อว่ารัตน ความเป็นรัตนของพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นต้น จักเห็นได้อย่างไรเล่า เมื่อเทียบกับการเห็นได้ยาก คือการหาได้ยาก หรือการเกิดขึ้นได้ยากของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จริงอยู่เพราะรัตนเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นเป็นอันมากในกัปป์เดียวเท่านั้น เเต่เพราะเหตุที่โลกต้องว่างเปล่าจากพระตถาคต นับเป็นอสงไขยกัลป์ ฉะนั้นพระตถาคตเท่านั้น ชื่อว่าเห็นได้ยาก ต้องคอยกันนานมากกว่าจะมีการตรัสรู้ของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นรัตนจริงๆ เพราะเหตุหาได้ยาก

    ผู้ฟัง ธรรมของพระพุทธองค์แจ่มแจ้งทุกอย่าง พระพุทธรัตนะก็ประเสริฐที่สุด แม้อย่างนั้น เราเองฟังมาก็ดี หรือพูดว่า พุทธังสรณังคัจฉามิ ธัมมังสรณังคัจฉามิ สังฆังสรณังคัจฉามิก็แล้ว พระพุทธองค์ก็ตรัสพระธรรมเทศนาอีกว่า ต้อง ทุติยัมปิ ตติยัมปิ ตั้ง ๓ ครั้ง ปากเราก็พร่ำไปอยู่อย่างนั้น แต่เราก็ไม่ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจริงๆ ได้ ไม่ทราบว่าอาจารย์จะมีอะไรเตือนระลึกเอาพระธรรมมาช่วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจพระธรรมก็พึ่งพระธรรมไม่ได้

    ผู้ฟัง ตอนไปกรุงเวสาลีที่ว่า พระอานนท์ทำการอารักขาทั่วเมือง เป็นการ ปะพรมน้ำมนต์หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกท่านต้องคิดถึงเรื่องนี้แน่นอน และคงอยากจะทราบว่า ธรรมเนียมนี้มาจากครั้งไหน ที่ไหน อย่างไร

    ความจริงก็คือว่า มีทุพภิกขภัยที่เวสาลี และเจ้าลิจฉวีมาทูลเชิญเสด็จ พระผู้มีพระภาคไป เพราะเห็นว่าพระองค์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เลิศ และกุศลของบุคคลอื่นที่จะเกิดจากการฟังธรรมย่อมเป็นปัจจัยทำให้ได้รับผลของกุศลนั้นๆ เพราะว่าไม่มีกุศลอื่นที่จะกระทำ นอกจากการฟังพระธรรม ไม่ใช่ทูลเชิญเสด็จไปเฉยๆ และพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงพิจารณาแล้วว่า เมื่อเสด็จไปเวสาลี และแสดงธรรมแล้ว จะมีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมมากมาย จึงได้เสด็จไปที่นั่น นี่ประการหนึ่ง

    และเมื่อทรงแสดงรัตนสูตร ท่านพระอานนท์ก็กล่าวธรรมที่แสดงถึงคุณของ พระรัตนตรัย และปะพรมน้ำไป น่าคิด ใช่ไหม เพราะท่านพระอานนท์เป็นผู้ทำ แต่ อย่าลืม กุศลของใครก็ของคนนั้น กรรมของใครก็ของคนนั้น เพราะฉะนั้น กรรมของชาวเวสาลีมีไหมที่จะได้รับทุพภิกขภัย หรือมีกุศลกรรมไหมที่จะทำให้พ้นจากทุพภิกขภัย ถ้าผู้นั้นมีกุศลที่มั่นคงในพระรัตนตรัย เพราะว่ายามที่เดือดร้อนมีทุกข์ภัยต่างๆ ลืมคิดถึงพระธรรมกันส่วนใหญ่ อย่างที่บอกว่า ขอ ง่ายดี เร็วดีด้วย ไม่ต้องทำอะไรก็ขอ ขอพระภิกษุบุคคล หรือพระเครื่อง หรือพระพุทธรูปอะไรก็ขอ นั่นดูจะเป็นวิธีลัด เป็นวิธีง่าย แต่ไม่ใช่เหตุผล เหตุผลก็คือว่า กรรมของใครก็ของคนนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าชาวเวสาลีเกิดกุศลจิตมั่นคงในพระรัตนตรัย ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้พ้นจากภัยพิบัติ และทุพภิกขภัยได้

    และการที่ท่านพระอานนท์เอาบาตรของพระผู้มีพระภาคใส่น้ำ เดินไปทั่ว กรุงเวสาลี ก็เลยทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจในเหตุผล ทำตาม เพราะว่าธรรมเนียมประเพณี ต่างๆ ถ้าไม่พิจารณาในเหตุผล เพียงทำ จะไม่เข้าใจในเหตุผลเลยสักอย่างเดียว แต่ธรรมเนียมทุกอย่างถ้าศึกษาให้เข้าใจถึงเหตุผล ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่า น้ำที่ ท่านพระอานนท์ประพรมไปนั้นจะมีประโยชน์อะไรบ้างหรือเปล่า

    ท่านผู้ฟังฟังพระธรรม ก็หลงลืมสติบ้าง ใช่ไหม เผลอบ่อยๆ ถ้ามีคนเตือน อาจจะระลึกได้ และท่านพระอานนท์จะเตือนอย่างไร คนตั้งมากมายทั่วพระนคร เวสาลี แต่ถ้าประพรมน้ำเพื่อเป็นการเตือนให้ตั้งใจ ให้ระลึกถึงพระธรรม ให้เกิด กุศลจิต ให้ฟัง ให้มีใจที่มั่นคงแน่วแน่ อย่างนั้นก็เป็นอุบายอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้นั้น ไม่หลงลืมสติ แต่ไม่ใช่ว่าน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่คนมีโรคภัยไข้เจ็บ มีทุกข์ ไปพรมน้ำมนต์ที่ไหนก็จะหาย และถ้าหาย ก็เพราะว่าถึงกาลที่กรรมของเขาจะให้ผลอย่างนั้นๆ ถ้าไม่หาย ก็เป็นกรรมของบุคคลนั้นเองที่จะต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นคนที่มีเหตุผล

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังสามารถจะมีสติโดยไม่ต้องให้ใครมาสะกิด หรือ มาพรมน้ำมนต์ก็ได้ แต่ไม่ใช่น้ำมนต์นั้นจะเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูด ผมเข้าใจ แต่ผมสงสัยว่าที่เมืองเวสาลี จะมีคนรู้ว่าพระอานนท์มาสะกิดให้คิดอย่างนี้สักกี่คน ผมว่าไม่มีเลย

    ท่านอาจารย์ ชาวเวสาลี นี่ชาวกรุงเทพ ๒๖๐๐ ปี กับเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน กาลสมบัติ พระอรหันต์มากมาย แล้วยังพระอริยบุคคล ทั้งพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี คนที่ฟังธรรมแล้วบรรลุได้ทันที มี เพราะฉะนั้นควรที่จะได้คิดว่า ต่างกันไหมกับกรุงเทพมหานคร กับ กรุงเวสาลี ของเรายังต้องฟังแล้วยังต้องคิด ยังต้องพิจารณาในเหตุผล แต่ท่านเหล่านั้นต้องได้ฟังพระธรรมมาแล้ว ท่านถึงได้รู้ว่าไม่มีรัตนใดที่จะประเสริฐเท่าพระรัตนตรัย

    ผู้ฟัง คำว่ายำเกรง ที่พูดถึงรัตนตรัย ว่ายิ่งกว่าพระรัตนทั้งหลาย ผมไม่เข้าใจคำว่ายำเกรง หมายความว่ายังไง

    ท่านอาจารย์ ไม่ดูหมิ่น ไม่ลบหลู่ ท่านผู้ฟังเห็นที่บูชาพระสกปรก ขัดถูเช็ดหรือเปล่า มีฝุ่นละอองหรือเปล่า ยำเกรงไหม หรือทิ้งไว้ ปล่อยไป

    ท่านพระอานนท์ เมื่อจะกล่าวรัตนสูตร ได้เอาบาตรของพระผู้มีพระภาคใส่น้ำ เดินประพรมไปทั่วพระนคร ไม่ใช่พรมเฉยๆ เมื่อจะกล่าวรัตนสูตร แล้วไม่ใช่กล่าวเฉยๆ อย่างคนสมัยนี้อีกนะคะ เพราะเหตุว่าคงจะมีบางแห่งซึ่งอาจจะพรมน้ำมนต์ และกล่าวรัตนสูตร แต่ว่าคนฟังเข้าใจในสูตรที่กล่าวหรือเปล่า นั่นก็แล้วแต่กุศลของแต่ละบุคคล

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 48
    22 ก.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ