รัตนสูตร ๒
ประการต่อไป คือ ประการที่ ๕ ข้อความในอรรถกถามีว่า
ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแม้นั้นได้ชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภค ใช้สอยของผู้ไม่ต่ำทราม ก็เหมือนกัน
ทุกท่านมีทรัพย์ ก็คงทราบประโยชน์ของทรัพย์ว่า มีไว้สำหรับบริโภคใช้สอย ถ้ามีทรัพย์แล้วเก็บไม่ใช้สอยเลย ก็ลองคิดดูว่า จะได้ประโยชน์อะไรจากทรัพย์นั้นบ้าง เพราะฉะนั้น แม้พระรัตนตรัยก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เก็บ ไม่ใช้ ไม่บริโภค แต่ต้องบริโภคเพื่อประโยชน์
ทรัพย์เครื่องปลื้มใจนั้นคืออะไร คือ รัตนะเป็นต้นของพระเจ้าจักรพรรดิ
จริงอยู่ รัตนะนั้นไม่ใช่บังเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องบริโภคแม้ด้วยความฝันของ บุรุษต่ำทราม ผู้ซึ่งมีทรัพย์ตั้งแสนโกฏิก็ดี อยู่บนมหาปราสาท ๗ ชั้นก็ดี และของผู้มีตระกูลต่ำ เช่น คนจัณฑาล ช่างจักสาน พราน ช่างรถ และคนเทขยะเป็นต้น แต่เป็นเครื่องบริโภคของบุคคลผู้ไม่ต่ำทราม เพราะบังเกิดเพื่อเป็นเครื่องบริโภคของพระราชามหากษัตริย์ ผู้เป็นอุภโตสุชาติ บำเพ็ญจักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการบริบูรณ์ แม้รัตนะนั้น ที่เสมอกับพุทธรัตนะ ไม่มีเลย
ก็หากว่าทรัพย์เครื่องปลื้มใจชื่อว่ารัตนะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องบริโภคของ ผู้ไม่ต่ำทรามไซร้ พระตถาคตเท่านั้นชื่อว่ารัตนะ
จริงอยู่ พระตถาคตไม่ใช่เป็นเครื่องบริโภคแม้ด้วยความฝันของครูทั้ง ๖ มีบูรณกัสสปเป็นต้น ซึ่งสมมติกันว่าเป็นบุคคลผู้ต่ำทราม ผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย มีทัศนะอันวิปริต และของบุคคลเหล่าอื่นเห็นปานนั้น แต่เป็นเครื่องบริโภคของ เหล่าท่านผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ผู้สามารถบรรลุพระอรหัตเมื่อจบคาถาแม้ ๔ บท ผู้มีญาณทัสสนะทำลายกิเลส มีท่านพระพาหิยทารุจีริยะเป็นต้น และของ พระมหาสาวกทั้งหลายอื่นๆ ผู้เป็นบุตรของตระกูลใหญ่
จริงอยู่ เหล่าบุคคลผู้ไม่ต่ำทรามเหล่านั้น เมื่อยังทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ และปาริจริยานุตริยะเป็นต้นให้สำเร็จ ชื่อว่าบริโภคใช้สอยพระตถาคต
รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภคของสัตว์ ผู้ไม่ต่ำทราม ไม่มีเลย ด้วยประการฉะนี้
พระองค์ทรงอุปมาให้เห็นว่า รัตนะ คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ พระรัตนตรัยเป็นเครื่องบริโภคใช้สอย ไม่ใช่ให้อยู่เฉยๆ หรือเก็บไว้ และต้องสำหรับบุคคลผู้ไม่ต่ำทราม เพราะว่าบุคคลผู้ต่ำทรามหมายถึงบุคคลที่ มีความเห็นผิด หรือไม่ได้สะสมกุศลมา แม้จะมีทรัพย์ตั้งแสนโกฏิ หรืออยู่บนปราสาท ๗ ชั้น แต่ถ้ามีจิตใจสกปรก ถึงเป็นเศรษฐีมีเงิน ก็เป็นผู้ที่ต่ำทราม เพราะฉะนั้น ทรัพย์ที่เป็นรัตนะไม่ใช่บังเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องบริโภคแม้ด้วยความฝันของบุรุษ ผู้ต่ำทราม
ความฝันเป็นสิ่งที่ทุกคนห้ามไม่ได้ แต่ที่จะฝันว่าไปบริโภคจักรรัตนะของ พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่าว่าแต่ความจริง แม้ ความฝันก็เป็นไปไม่ได้ ฉันใด สำหรับผู้ที่มีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด ผู้ที่ไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย จริงอยู่ พระตถาคตมิใช่เป็นเครื่องบริโภคแม้ด้วยความฝันของ ครูทั้ง ๖ มีบูรณกัสสปเป็นต้น
จะฝันว่า อบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไม่ใช่ความจริง เพราะ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจผิด มีความเห็นผิดแล้ว ฝันไม่ได้
จริงไหม เวลาที่ไม่ฝัน สติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด และถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด จะฝันว่าสติปัฏฐานเกิด ปัญญาเกิด รู้แจ้งสภาพธรรม ก็ต้องเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะฉะนั้น รัตนะที่เสมอด้วยพระตถาคต แม้เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภคของสัตว์ผู้ไม่ต่ำทราม ไม่มีเลย
ทุกคนกำลังบริโภคธรรมขณะที่ศึกษา พิจารณา เข้าใจ และจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อเป็นผู้ที่ได้ใช้สอยพระธรรม
ผู้ฟัง ผมต้องขอสารภาพว่า ผมไม่ค่อยมีสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมเท่าไร ก็พยายามพากเพียร แต่ที่ทำอยู่เสมอ คือ เวลาโกรธ เตือนตัวเองว่านี่โกรธ หรือมีมานะ ก็นี่เรามานะ หรือนี่เราอิจฉาเขาแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้หมายความว่า มีสติระลึกรู้สภาพนามธรรมได้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ทุกคนทราบว่า ขณะนี้กำลังมีปรมัตถธรรม และกำลังฟังเรื่องของปรมัตถธรรม บางขณะก็มีสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ยังไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน บางคนอาจจะใส่ชื่อของปรมัตถธรรมนั้นๆ บางคนก็เริ่มด้วย นี่โลภะ และบางคนโกรธ ก็ว่านี่โทสะ และบางคนพอแข็ง ก็ว่านี่แข็ง คือ มีชื่อเข้าไปนึกคิด อยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นยังคงเป็นเรื่องของปรมัตถธรรม
เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะที่จะทำให้รู้ว่า ขณะนี้เป็นการรู้ชื่อ หรือเป็นการ รู้เรื่อง หรือเป็นการรู้สภาพธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาและสังเกตโดยรู้ว่า ลักษณะรู้ สภาพรู้ คือ ขณะนี้เอง แล้วแต่ว่าสติจะระลึกและเข้าใจในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ หรือในขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้ หรือในขณะที่กำลังคิดนึกขณะนี้ หรือในขณะที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อนแข็งขณะนี้ คือ มีสภาพธรรมปรากฏ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องของความเข้าใจ
ปัญญาเริ่มจากความเข้าใจ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องปรมัตถ์ แต่กำลังเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมในขณะนี้ เป็นปกติ ไม่ต้องไปทำสติ ไม่ต้อง ตั้งสติ เพราะขณะนั้นไม่ใช่ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่เป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ และขณะใดสติเกิด ซึ่งเป็นปกติจริงๆ
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นมรรคองค์ที่ ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ ขาด สัมมาทิฏฐิไม่ได้เลย การอบรมเจริญปัญญาต้องรู้จริงๆ ว่า ปัญญารู้ลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏ โดยเริ่มเข้าใจ นี่คือสัมมาทิฏฐิ
ผู้ฟัง ผมเข้าใจว่า รู้สภาพธรรมแม้นิดเดียว ซึ่งไม่ใช่รู้แต่ชื่อ รู้สภาพ และ รู้เรื่อง ต่อไปค่อยก้าวไปถึงไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างกับลักษณะที่เป็นรูปธรรม มิฉะนั้นแล้วเราอาจจะบอกว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นการพูดอีกว่า เห็นไม่ใช่ตัวตน หรืออาจจะบอกว่า เห็นเป็นสภาพรู้ เห็นเป็นธาตุรู้ เห็นเป็นอาการรู้ ก็พูดไป แต่ขณะนั้นให้ค่อยๆ รู้ จริงๆ ในสภาพที่กำลังเห็นว่า อาการรู้คืออย่างนี้ สภาพรู้หรือธาตุรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ต่างกันจริงๆ ค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย
เป็นเรื่องสัจจธรรมที่จะต้องอดทน มีความเพียรที่จะฟังไปเรื่อยๆ ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ต้องห่วง อย่าได้คิดห่วงว่าอายุมากแล้ว หรือไม่รู้ว่าจะมีอายุ อยู่อีกกี่ปี สติปัฏฐานเกิดน้อยเหลือเกิน หรือสติปัฏฐานไม่เกิด ทำอย่างไรสติปัฏฐานจึงจะเกิด ถ้าใช้คำว่า ทำอย่างไรสติปัฏฐานจึงจะเกิด โลภะมีแล้ว และมีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติด้วย คือ ทำอย่างไร
เพราะว่าไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏส่วนใหญ่ท่านผู้ฟังถามว่า ทำอย่างไรจะไม่โกรธ รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่เหลือเกิน แสวงหาหนทางที่จะไม่โกรธ พยายามสอบถามจากที่ต่างๆ บุคคลต่างๆ หนังสือ ต่างๆ นักปราชญ์ นักจิตวิทยาต่างๆ ว่า ทำอย่างไรจะไม่โกรธ รู้สึกพอใจถ้ามีคน บอกวิธีทำให้ แต่ถ้ามีใครสักคนบอกว่าให้ศึกษาพระธรรม ให้ฟังพระธรรม ให้เข้าใจจริงๆ และกุศลทั้งหลายจะค่อยๆ เจริญขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ คลายอกุศล และเมื่ออบรมเจริญปัญญาความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริงขึ้น ความโกรธหรือความขุ่นเคืองใจก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ว่ายังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ถ้าได้ฟังอย่างนี้ ไม่ทราบว่าคนนั้นจะพอใจหรือเปล่า
วิธี คือ ศึกษาให้เกิดปัญญาของตนเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นบอกให้เราทำ ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ไม่โกรธ แต่กิเลสทั้งหลายที่จะละคลายหรือหมดไปได้ ต้องด้วยปัญญาอย่างเดียวเท่านั้น
ถ้าปัญญาซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘ ในการเจริญสติปัฏฐานไม่เกิด อาจจะระงับอกุศลทั้งหลายได้ชั่วคราว สามารถอบรมสมถภาวนาจิตสงบจนถึงขั้น ฌานจิต และถ้ารูปฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต คนนั้นก็สามารถระงับโทสะได้ชั่วคราวระหว่างที่เป็นพรหมบุคคลเกิดในพรหมโลก แต่อนุสัยกิเลสยังไม่ได้ดับ ยังไม่มีปัญญา ที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ มีความติดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และโทสะก็ต้องเกิดอีก
หรือแม้ไปเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ เพราะได้บรรลุฌานจิตถึงขั้นอรูปฌาน ไม่มีรูปใดๆ เลย ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่มีการกระทบสัมผัส เพราะไม่มีรูป ร่างกายไม่มีเลย มีแต่นามธรรมเท่านั้นที่เกิดดับ แต่อนุสัยกิเลสยังไม่ได้ดับ เมื่อหมดอายุ หมดกรรมที่ทำให้เป็นอรูปพรหมบุคคล ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
เพราะฉะนั้น เรื่องที่ถามว่า ทำอย่างไรจะไม่โกรธ ก็คงต้องอาศัยการพิจารณาของท่านผู้นั้นว่า ท่านจะอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังพระธรรม และรู้สัจจธรรมตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีเหตุที่จะให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เกิด แต่ ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นโทสะก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียง สภาพธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป
ข้อความต่อไปตอนหนึ่งใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร มีว่า
พระผู้มีพระภาค ครั้นตรัสความที่พระพุทธรัตนะอันรัตนะอื่นๆ เทียบไม่ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อระงับอุปัทวะที่เกิดแก่บริษัทเหล่านั้น ไม่ทรงอาศัยชาติ ไม่ทรงอาศัยโคตร ไม่ทรงอาศัยความเป็นกุลบุตร ไม่ทรงอาศัยความเป็นผู้มีวัณณะงาม เป็นต้น หากแต่ทรงอาศัยความที่พระพุทธรัตนะไม่มีอะไรเทียบเคียงได้ด้วย คุณทั้งหลายมีศีลขันธ์และสมาธิขันธ์เป็นต้น ในโลกที่มีอเวจีเป็นต้น มีภวัคคพรหม เป็นที่สุด จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ
แปลโดยความว่า โดยประการแม้นี้ พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะอันประณีต คือ ประเสริฐสุด ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี ดังนี้ ขอความที่สิ่งดีงามทั้งหลาย มีอยู่ ความไม่มีโรค ความปราศจากอุปัทวะ จงมีแก่สัตว์เหล่านี้
อีกนัยหนึ่ง บทว่า อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ พึงทราบความหมายอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะ โดยประการแม้นี้
พอพระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถา ความสวัสดีก็เกิดแก่ราชสกุล ภัยก็ระงับไป
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวตอนหลังว่า ให้ความประเสริฐเกิดขึ้น ไม่มีโรค มีภัย อันนี้เป็นพร หรือไม่ใช่พร เพราะเหตุใด
ท่านอาจารย์ เป็นสัจจวัจนะ เป็นความจริง จิตที่ตรงต่อสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่เป็นกุศล เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะผู้ไม่มีปัญญาไม่สามารถเห็นความเป็นรัตนะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น เมื่อพระคุณนั้น มีจริงๆ เป็นสัจจวาจาจริงๆ ก็อาศัยกุศลที่ระลึกถึงสัจจะความจริงนี้ ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามความต้องการได้
ผู้ฟัง ที่เมืองเวสาลีมีโรคภัยมากมาย เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแบบนั้นแล้ว โรคทั้งหลายอันตรธานไปหมดหรือ
ท่านอาจารย์ สงบระงับ
ผู้ฟัง สงบระงับ เป็นพุทธานุภาพหรือ
ท่านอาจารย์ เป็นสัจจวจนะของพระผู้มีพระภาค
ผู้ฟัง เหมือนกับสัจจวาจาที่คนธรรมดาทำ
ท่านอาจารย์ แต่ใครเป็นผู้กล่าว คุณของใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัส และพระคุณของใคร ผู้ตรัสมีคุณอย่างไร เพราะฉะนั้น สัจจวาจานั้นก็เป็นสิ่งซึ่ง ...
ผู้ฟัง คงจะแรงกว่าธรรมดามาก
ท่านอาจารย์ มากกว่า นี่เป็นผลของกุศลที่ระลึกถึงสัจจะความจริง และประจักษ์แจ้งในความจริง ตระหนักในความจริง ระลึกถึงความจริง บูชาความจริง และกล่าว คำจริง
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคุณของพระธรรมรัตนะ คือ พระนิพพานว่า
ธรรมทั้งหลายไม่ว่าเป็นสังขตะหรืออสังขตะ วิราคธรรม ท่านกล่าวว่า เป็นเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น
ธรรมที่ดับความยินดี ธรรมอันเป็นที่สิ้นกิเลส จะเป็นเลิศกว่าธรรมทั้งหลายไหมกิเลสเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อยากมีและอยากหมด เวลาที่มีกิเลสซึ่งทำให้มีความสุข ความเพลิดเพลินก็พอใจ แต่ที่ว่ามีกิเลสเป็นความทุกข์ เพราะเหตุว่าความทุกข์ ก็เป็นกิเลส ความโศกเศร้าก็เป็นกิเลส ความขุ่นเคือง ไม่พอใจ ความโทมนัสทั้งหลายก็เป็นกิเลส ถ้าเป็นกิเลสประเภทนั้นก็กล่าวว่า แสนทุกข์ อยากจะหมดเสียเร็วๆ แต่ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาถึงเหตุที่จะให้กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นก็รู้ว่า อวิชชา ความไม่รู้ โลภะ ความยินดีติดข้องในสิ่งทั้งหลาย เป็นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ควรอบรมเจริญธรรมที่ทำให้ถึงธรรมอันเป็นที่สิ้นกิเลส
ถ้าได้รู้ความจริงอย่างนี้ ถึงแม้กิเลสจะยังเกิดอยู่ แต่ปัญญาก็ไม่ได้หนีไปไหน หรือไม่ได้หายไปไหน แม้ว่ามีกิเลสเกิด ปัญญาก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ว่า กิเลสยังมีอยู่เพราะปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น ที่จะดับกิเลสได้ จะต้องอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้นกว่านั้นอีก และเมื่อได้อบรมเจริญปัญญาถึงกาล ที่สมควรจริงๆ กิเลสจึงจะดับสิ้นได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง คุณของพระธรรมรัตนะคือพระนิพพานว่า ธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสังขตะหรือ อสังขตะ วิราคธรรม ท่านกล่าวว่าเป็นเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น
ต่อจากนั้น ทรงแสดงคุณของอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่า
ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นสังขตะ (อันปัจจัยปรุงแต่ง) มีประมาณเท่าใด อริยมรรค มีองค์ ๘ กล่าวกันว่า เลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น
ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหมด อริยมรรคมีองค์ ๘ เลิศกว่าสังขตธรรมทั้งหลาย เพราะว่าเห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับ โลภะเกิดขึ้น ติดข้องพอใจ ในสิ่งที่เห็น ไม่มีประโยชน์อันแท้จริงเลย แต่สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและเข้าใจขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลาย อริยมรรค กล่าวกันว่า เลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น
บทว่า สมาธินา เตน สโม น วิชฺชติ ความว่า รูปาวจรสมาธิหรือ อรูปาวจรสมาธิใดๆ ที่เสมอด้วยอนันตริกสมาธิอันบริสุทธิ์ที่พระผู้มีพระภาค ผู้ประเสริฐสุดสรรเสริญแล้วนั้น ไม่มีเลย เพราะเหตุไร เพราะบุคคลแม้เกิดใน พรหมโลกนั้นๆ เพราะอบรมสมาธิเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีการเกิดในอบายมีนรกเป็นต้นอีกได้
คำว่า อนันตริกะ หมายถึงสมาธิที่เกิดในลำดับ เพราะอำนวยผลแน่นอน ในลำดับการดำเนินการปฏิบัติของตน หมายความถึงสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ เมื่อเจริญอบรมไปเรื่อยๆ แล้ว อำนวยผลแน่นอน คือ สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ไม่เหมือนรูปาวจรสมาธิ หรืออรูปาวจรสมาธิ เพราะบุคคลแม้เกิดในพรหมโลกนั้นๆ เพราะอบรมสมาธิเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีการเกิดในอบายมีนรกเป็นต้นอีกได้
พระผู้มีพระภาคครั้นตรัสความที่อนันตริกสมาธิ อันสมาธิอื่นๆ เทียบไม่ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ทรงอาศัยความที่รัตนะคือมรรคธรรม อันรัตนะอื่นเทียบไม่ได้ จึงทรงประกอบสัจจวจนะว่า
อิทมฺปิ ธมฺเม รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ
แปลโดยความว่า แม้โดยประการนี้ พระธรรมเป็นรัตนะอันประณีต ด้วย สัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมี
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงคุณของพระอริยสงฆ์ ๘ บุคคลว่า
ท่านเหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่าสาวก เพราะฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค คนอื่นๆ ถึงฟังก็จริง ถึงเช่นนั้นเขาฟังแล้วก็ไม่ทำกิจที่ควรทำ ส่วนท่านที่เป็นสาวกเหล่านี้ ฟังแล้วทำกิจที่ควรทำ คือ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงตรัสเรียกว่า สาวก
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสคุณต่างๆ ของพระอริยสาวกแล้ว จึงทรงประกอบ สัจจวจนะว่า
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ
แปลโดยความว่า แม้โดยประการนี้ พระสงฆ์ก็เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวจนะนี้ ขอความสวัสดีจงมี
ผู้ฟัง ด้วยสัจจวัจนะนี้ ขอให้สวัสดี ถ้าแค่นี้สามารถได้ประโยชน์มากมาย ก็อยากจะท่องไว้ แต่คงจะไม่ได้ผล
ท่านอาจารย์ ประโยชน์ จะเอาไปเป็นประโยชน์
ผู้ฟัง เอามาเป็นที่พึ่งเบื้องต้น
ท่านอาจารย์ พึ่งเดี๋ยวนี้ พึ่งตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย อย่าไปหวังพึ่งในโอกาสอื่น
ผู้ฟัง ยังมีชีวิตอีกหลายๆ วัน หลายๆ เดือน
ท่านอาจารย์ ต้องพึ่งทุกวัน พึ่งทุกขณะ
ผู้ฟัง การที่จะเอาพระธรรมมาใช้สอย เราก็ยังรู้ไม่พอ จะนำมาใช้สอยก็ ยังไม่ได้ เพราะว่าพระธรรมที่เราเข้าถึงอรรถ เข้าถึงสภาวะยังไม่พอ พูดถึงความลึกซึ้งของพระธรรม ความประณีตของพระธรรมแล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ต้องค่อยๆ รู้จักสภาวธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้ พร่ำสอนอยู่ตลอดเวลา คงต้องเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ต้องอบรม ต้องเจริญ มีหนทางเดียวจริงๆ ถ้าทราบว่า รู้น้อย ก็ต้องค่อยๆ รู้ขึ้นอีก ค่อยๆ รู้ขึ้นอีก ตามความเป็นจริง และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ท่านที่รู้มาก หรือรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ต้องมาจากรู้น้อยก่อน และค่อยๆ เพิ่ม มากขึ้น แต่ให้เห็นความจริงที่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนว่า พระอริยสงฆ์ ท่านเหล่านั้นทั้งหมดชื่อว่าสาวก เพราะว่าฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
แม้เพียงคำว่า ฟัง ยังต้องแยกเป็นหลายขั้น ผู้ที่ฟังไม่คิด ไม่พิจารณา ฟังเป็นครั้งเป็นคราวและผ่านไปก็มี แต่ผู้ที่ฟังแล้วไตร่ตรองเพื่อให้เกิดปัญญา ความเข้าใจขึ้น และฟังจนกระทั่งรู้ว่าเป็นหนทางเดียวซึ่งขาดไม่ได้ที่จะอบรม เจริญปัญญา ฟังจนกระทั่งมีปัจจัยทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ชื่อว่าเป็นผู้ที่ฟังจริงๆ เพราะว่า คนอื่นๆ ถึงฟังก็จริง ถึงเช่นนั้นเขา ฟังแล้วก็ไม่ทำกิจที่ควรทำ ส่วนท่านที่เป็นสาวกเหล่านี้ ฟังแล้วไตร่ตรองเพื่อให้ เกิดปัญญาความเข้าใจขึ้น และฟังจนกระทั่งรู้ว่าเป็นหนทางเดียวซึ่งขาดไม่ได้ที่จะอบรมเจริญปัญญา ฟังจนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏสมควรแก่ธรรม บรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า สาวก
ท่านผู้ฟังก็เป็นสาวก แต่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ก็เพราะฟัง ไม่ใช่เพราะไม่ฟังก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เพราะฟัง เข้าใจ และกำลังประพฤติปฏิบัติตามด้วย และเมื่อไรที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะรู้ได้ว่าต้องอาศัยการฟังพระธรรม
ข้อความต่อไป ทรงแสดงว่า พระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น คือ ไม่ใช่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมครั้งแรกก็เป็นพระอรหันต์หมดกิเลสเลย แสดงให้เห็นว่ากิเลสเหนียวหนาแน่นแค่ไหน ประมาทไม่ได้เลย และเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะเห็นได้จริงๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อสติปัฏฐานเกิด
ข้อความต่อไปแสดงการละสังโยชน์ ๓ ของพระโสดาบัน ข้อความมีว่า
สักกายทิฏฐิจะละได้ด้วยการถึงพร้อมด้วยการเห็นทุกข์ วิจิกิจฉาจะละได้ ด้วยการถึงพร้อมด้วยการเห็นสมุทัย สีลัพพตปรามาสจะละได้ด้วยการเห็นมรรค และการเห็นพระนิพพาน
เป็นความจริงทุกคำ ไม่มีคำไหนเลยที่ผิด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง
ท่านผู้ฟังเคยได้ยินอริยสัจจะ ๔ ใช่ไหม ทุกขอริยสัจจะ สมุทยอริยสัจจะ ทุกขนิโรธอริยสัจจะ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจะ
สักกายทิฏฐิจะละได้ด้วยการถึงพร้อมด้วยการเห็นทุกข์ วิจิกิจฉาจะละได้ ด้วยการถึงพร้อมด้วยการเห็นสมุทัย สีลัพพตปรามาสจะละได้ด้วยการเห็นมรรค และการเห็นพระนิพพาน
แสดงให้เห็นว่า กว่าจะละ ปัญญาต้องอบรมเจริญ อย่างสักกายทิฏฐิ การยึดถือกายที่ประชุมรวมกันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นวัตถุ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะละได้ด้วยการถึงพร้อมด้วยการเห็นทุกขสัจจ์ หมายความถึง สภาพที่เป็นไตรลักษณ์ของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อใดได้ประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรม เมื่อนั้นจึงจะเริ่มละการยึดถือสภาพธรรม ซึ่งก็ตรงกับภังคญาณ ที่เป็นวิปัสสนาญาณ เริ่มเป็นปหานปริญญา เพราะถ้ายังไม่ประจักษ์การเกิดดับ ขณะนี้เป็นนามธรรม ใครไม่รู้ ขณะนี้เป็นรูปธรรม ใครไม่รู้ ก็รู้ ไม่เดือดร้อน ใช่ไหม เป็นนามธรรมก็เป็น เป็นรูปธรรมก็เป็น แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ถึงขั้นประจักษ์ลักษณะที่เกิดและดับไป คือ สภาพที่เป็นทุกขอริยสัจจ์ เมื่อนั้นจึงเริ่มละคลายสักกายทิฏฐิ การที่เคยยึดถือสภาพธรรมรวมกันเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
วิจิกิจฉาจะละได้ด้วยการเห็นสมุทัย ความสงสัยในเรื่องเหตุของทุกข์ ถ้ากล่าวตามก็กล่าวได้ การเกิดขึ้นของนามธรรมและรูปธรรม มีความยินดี ความติดข้อง ซึ่งเป็นโลภะ ตัณหา เป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิด แต่จะเห็นสมุทัยในขณะไหนที่จะกล่าวว่า วิจิกิจฉาจะละได้ด้วยการเห็นสมุทัย
ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า
สักกายทิฏฐินั้น เป็นมูลรากของกิเลสทั้งหลาย
ทุกคนก็พิจารณาเข้าใจได้ ถ้ายังเห็นสภาพธรรมเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ที่จะไม่ให้มีความยินดีพอใจติดข้องก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีสักกายทิฏฐิ ยังยึดมั่นในสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐินั่นเองเป็นมูลรากของกิเลสทั้งหลาย
ปัญญาท่านเรียกว่า จิกิจฉิตะ เพราะระงับพยาธิคือกิเลสทั้งหลาย
เวลาที่กุศลจิตเกิด โลภะก็ต้องการให้เป็นกุศลมากๆ ได้บุญมากมาย เพราะฉะนั้น โลภะพอใจในทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้นซึ่งไม่เป็นอารมณ์ของโลภะ แต่ที่ใดที่มีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีกิเลสทั้งหลาย เพราะปัญญาเท่านั้นเป็นสภาพธรรมที่ระงับพยาธิคือกิเลสทั้งหลาย
สำหรับวิจิกิจฉา ได้แก่ ความสงสัยในพระศาสดา ความสงสัยในสภาพธรรม ก็เป็นมูลของกิเลสทั้งหลายด้วย ถ้ามีความเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจน ไม่สงสัยเลย กิเลส ก็เกิดไม่ได้ มีแต่จะระงับลงจนกระทั่งถึงดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท แต่ถ้ายังเคลือบแคลง ยังคลางแคลง ยังไม่แน่ใจ ตายแล้วจะเกิดอีกไหม กิเลสที่มีอยู่จะเป็นปัจจัยอย่างไร เหล่านี้ ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อยังมีความสงสัย ก็เป็นปัจจัยให้สงสัยต่อไป เป็นปัจจัยให้กิเลสอื่นๆ เจริญขึ้นอีกจากความสงสัย หรือความเคลือบแคลงสงสัยไม่แน่ใจ ในพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้น จะเริ่มละวิจิกิจฉาด้วยการเห็นสมุทัย เมื่อปัญญา รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วขึ้น ละเอียดขึ้น ตามปกติ
ถ้าพูดถึงเรื่องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ และกล่าวว่าละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น ก็เหมือนกับเป็นคำพูด ไม่ใช่การกระทำ แต่ความจริงแล้วเป็น การกระทำ และเป็นปัญญาจริงๆ ซึ่งปัญญานั้นต้องเจริญจนกระทั่งสามารถรู้ สภาพธรรมทั่วตามปกติได้
ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด แต่เป็นเรื่องของการอบรมด้วยความเข้าใจถูก ด้วยความเห็นถูก จนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความ เป็นจริง จึงจะเห็นสมุทัย มิฉะนั้นแล้วสมุทัยก็เป็นเพียงชื่อว่าสมุทัย คือ โลภะ แต่ขณะนี้โลภะอยู่ที่ไหน ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดจะไม่รู้เลยว่า มีสมุทัยแทรกคั่น หรือเปล่าในขณะที่กุศลจิตกำลังเกิด
ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่ใช่ผู้ที่ตั้งสติ ไม่ใช่ผู้ที่ทำสติ แต่เป็นผู้ที่รู้ว่า สติเกิดตามปกติ หลงลืมสติตามปกติ และสติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ จึงจะเห็นสมุทัย
ท่านผู้ฟังอยู่ที่บ้าน ตื่นขึ้นมาและสติเกิดระลึก เห็นสมุทัยไหม เห็นจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่นึกขึ้นมาว่า โลภะเป็นสมุทัย เพราะเหตุใด ก็เพราะกำลังเอื้อมมือที่จะ ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด สติระลึก ขณะนั้นรู้เลยว่าเป็นความต้องการ เป็นความยินดี ไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ กำลังอ่านอยู่ สติเกิด ขณะที่กำลังมีความสนใจในเรื่องที่อ่าน ขณะนั้นถ้าเป็นสติปัฏฐานรู้ได้ทันทีว่า สมุทัยไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย เป็นชีวิตประจำวัน ทุกขณะจริงๆ ที่สติระลึกได้
ถ้าสติระลึกจริงๆ เป็นสัมมาสติจริงๆ เป็นปกติจริงๆ ที่จะไม่เห็นสมุทัย ในชีวิตประจำวัน ไม่มี ไม่ว่าในขณะใดทั้งสิ้น กำลังจะดื่มน้ำ สติเกิดระลึก ถ้าขณะนั้นรู้ลักษณะของจิตจะรู้ได้ว่า มีความต้องการ หรือแม้แต่การกระทบสัมผัส สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางกาย ขณะที่ทุกขเวทนาไม่เกิด ขณะนั้นก็มีความยินดีพอใจที่จะกระทบสัมผัสสิ่งนั้น เช่น จะหยิบหนังสือ สติปัฏฐานเกิดระลึกที่แข็ง ที่จะไม่เห็น สมุทัยนั้นไม่มี นอกเสียจากในขณะนั้นเป็นกุศลจิตเท่านั้นจึงไม่ใช่สมุทัย
ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเป็นผู้ที่รู้สมุทัยจริงๆ ว่า วันทั้งวันมีแต่โลภะ สติเกิดระลึกเมื่อไรก็เจอโลภะทันที ตามปกติ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น วิจิกิจฉาจะละได้ด้วยการถึงพร้อมด้วยการเห็นสมุทัย
ผู้ฟัง สมุทัย ผมก็เชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า มีแน่ๆ แต่ด้วยความเคยชิน เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว เอื้อมมือไปหยิบ เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ความเคยชินทำให้ไม่เห็นสมุทัย เลยสมุทัยไป กลายเป็นว่า รีบๆ แปรงฟัน รีบๆ ให้เสร็จ และไปแต่งตัว จะออกไปข้างนอก
ท่านอาจารย์ รีบๆ นั่นแหละ สติระลึกก็รู้เลย สมุทัยทั้งนั้น ตลอดเวลา แต่ถ้าตื่นเช้าเปิดวิทยุฟังธรรม ไม่เหมือนกัน
ผู้ฟัง ก็สมุทัยอีก
ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้ละเอียดจะรู้ได้
ผู้ฟัง ฟังด้วยความเคยชิน วันนี้ขาดไม่ได้
ท่านอาจารย์ สามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะหรือเป็นกุศล แต่ถ้าสติสัมปชัญญะ ไม่เกิด ปัญญาไม่รู้ ไม่มีทางใดที่จะละอกุศลได้เพราะความไม่รู้ จะละอกุศลได้ต่อเมื่อรู้ในขณะที่เป็นอกุศลจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอกุศล ก็ไม่ละ
ผู้ฟัง เป็นเรื่องที่ละเอียด วันหนึ่งๆ สักนิดเดียวคงได้ ต่อรองได้ไหม
ท่านอาจารย์ มิได้ เป็นเรื่องการอดทน เป็นเรื่องความเพียร
ผู้ฟัง ก็เป็นได้ตอนที่สติระลึกถึงสภาพธรรม นิดเดียวจริงๆ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็นสมุทัย จะไม่ละสมุทัย
ผู้ฟัง ต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน การเจริญถึงขั้นที่ว่ารู้ชัด เมื่อมาเจริญเห็นแต่ที่ไม่ชัด รู้ว่าที่ชัดนั้นต้องยิ่งกว่านี้มาก เวลานี้เห็นแต่ที่ไม่ชัดๆ ทั้งนั้น อย่างที่อาจารย์บอกว่า ต้องบ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นการย้ำให้เรามีสติระลึกในสภาวธรรมเหล่านั้นจริงๆ
ท่านอาจารย์ จากความเป็นปุถุชนจะไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคล ขอให้คิดดูว่า เป็นผู้ที่ติดโดยไม่รู้ตัวอยู่ตลอด ทันทีที่เห็นติดข้องในสิ่งที่เห็นโดยไม่รู้ตัว ทันทีที่ได้ยิน ทันทีที่ได้กลิ่น ทันทีที่ลิ้มรส ให้ทราบว่า มีโลภะ มีความติดข้องโดยไม่รู้ตัววันหนึ่งๆ มากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ติดข้องโดยรู้ตัวก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง ใช่ไหม ขั้นแรกติดข้อง ก็ไม่รู้ตัว เห็นก็ไม่รู้ว่าติดแล้ว ได้ยินก็ไม่รู้ว่าติดแล้ว แต่ปัญญาอีกขั้นหนึ่ง คือ ติดก็รู้ว่าติด เห็นสมุทัยตามความเป็นจริงแล้วจึงจะละได้
ผู้ฟัง ผมยังติดใจเรื่องสักกายทิฏฐิ ที่บอกว่าละได้ด้วยการถึงพร้อมด้วยการเห็นทุกข์ เห็นไตรลักษณ์ ตรงนี้มีคำถามว่า ทิฏฐิหมายถึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อว่า มีพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อว่าตายแล้วเกิด ไม่เชื่อว่ามีนรก สวรรค์ เป็นต้น ตรงนี้จะละ ได้หรือด้วยการเห็นไตรลักษณ์ หรือเห็นทุกข์ ละได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทุกคนมีทุกข์ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด ต้องมีคำจำกัดความตกลงกันก่อนว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์โปรดกรุณา
ท่านอาจารย์ ถ้าจะบอกคนอื่นว่า ขณะนี้มีทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือไม่ใช่ ชาวพุทธ หรือชาวพุทธที่ยังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด ก็จะไม่รู้เลยว่า พูดเรื่องอะไร หมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ใช้เวลานานในการปรับความเห็น หรือทำความเห็นผิดให้ค่อยๆ เห็นถูกขึ้น ค่อยๆ ตรงขึ้น และเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลด้วย ถ้าบุคคลนั้นสะสมมาที่จะฟังเหตุผล ก็ยังพอพูดเรื่องสัจจธรรมได้ แต่ถ้าบุคคลนั้น ไม่ได้สะสมมาที่จะฟังเหตุผล คำดีก็เป็นคำชั่ว เพราะทำให้เขาเกิดโทสะ ทำให้เกิดมานะ ทำให้เขาเกิดความลบหลู่อีกมากมาย เพราะฉะนั้น ควรพูดกับผู้ที่พร้อมจะ รับฟังเหตุผล สิ่งใดผิดก็จะต้องตกลงกันว่า ผิดเป็นผิด ถ้าสิ่งใดถูกก็ถูก
เพราะฉะนั้น ทุกข์ที่ว่าไม่ใช่สิ่งที่เห็นง่าย เพราะทุกข์ในที่นี้หมายความถึง การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมทุกอย่าง ก็ต้องมาตั้งต้นกันที่ธรรมอีก ใช่ไหม เพราะว่าการจะกล่าวถึงทิฏฐิ ความเห็นต่างๆ มี ๑๐๐ คน ก็ ๑๐๐ ความเห็น มี ๑,๐๐๐ คน ก็ ๑,๐๐๐ ความเห็น มี ๑๐๐,๐๐๐ คน ก็ ๑๐๐,๐๐๐ ความเห็น ความเห็นนี่มากมายจริงๆ
แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่ทุกคนมี จะทำให้เข้าใจขึ้นได้ เช่น คำว่า สัจจะ ความจริง ของจริง และธรรม ถ้าใช้คำว่า ธรรม ก็หมายความว่าไม่ได้พูดถึงใครทั้งสิ้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ธรรมคือธรรม เป็นสภาพที่มีจริง เพราะฉะนั้น ถ้าพูดว่า ธรรม ก็หมายความว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน
เพราะฉะนั้น ก็เริ่มพิจารณาว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ทุกคนยอมรับไหม ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ภาษาใด นับถือศาสนาใดก็ตาม ที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ให้ถูกต้องขึ้น เช่น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส ความรู้สึก ความสุข ความทุกข์ต่างๆ เป็นการเรียนให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมเพื่อจะได้ไม่ยึดถือ หรือ ไม่เห็นผิด แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่สนใจเรื่องความเห็นผิดเห็นถูก อยากจะไปสวรรค์ ก็ไม่มีทาง เพราะอาจมีหนทางอื่นที่เขาคิดว่าทำให้เขาไปสวรรค์ได้โดยที่ไม่ใช่กุศลกรรมของเขาเอง
ผู้ฟัง เป็นพระคุณอย่างสูง ท่านอาจารย์ ยังมีอีกคำหนึ่งที่อาจารย์พูดแล้ว ยังไม่ได้อธิบาย คือ สัจจะ
ท่านอาจารย์ สัจจะ หมายความถึงสิ่งที่มีจริง ใช้ได้กับทุกศาสนา ทุกชาติ เห็นมี จริงไหม ได้ยินมีจริงไหม เห็นเกิดขึ้นได้อย่างไร อาศัยอะไรจึงเห็น เห็นดับหรือเปล่า ขณะไหนไม่เห็น เพราะอะไรจึงไม่เห็น และเพราะอะไรจึงเห็น ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ถ้ามีความเห็นถูกในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะชื่อว่าเห็นถูกหรือเห็นผิด ถ้ามี ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จะชื่อว่าเห็นถูกหรือเห็นผิด
ผู้ฟัง ไม่ทราบท่านผู้ฟังจะเข้าใจแจ่มแจ้งไหม สำหรับผม ผมคิดว่าเข้าใจ ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ การที่จะพูดเรื่องทิฏฐิต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องคำ ๓ คำ คำว่า ทุกข์ ต้องเข้าใจตรงกันในนัยของพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสัจจธรรม คำว่า ธรรม และคำว่า สัจจะ คือ สิ่งที่ปรากฏขึ้นจริงๆ ถ้าจะพูดความจริงกัน จะพูดกันรู้เรื่อง
ท่านอาจารย์ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าพูดถึงความเห็นเรื่องตายแล้วเกิด ก็แสดงว่า ไม่ได้พูดถึงเรื่องสัจจธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ เป็นความเห็นที่ไกลไปถึงขณะที่ยัง ไม่เกิดจริงๆ ยังไม่ตายจริงๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่เป็นการคาดคะเนเรื่องการเกิดการตาย โดยที่บุคคลนั้นยังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนี้จริงๆ จะมีอะไรพิสูจน์ได้ว่า ความคิดนั้น ความเห็นนั้น ถูกหรือผิด
แต่ถ้าเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ก่อน และพูด เรื่องเกิดเรื่องตาย ก็จะเป็นความถูกต้อง เพราะรู้ว่าขณะนี้อะไรเกิด อะไรตาย
ขอกลับไปกล่าวถึงตอนท้ายของ รัตนสูตร ซึ่งมีข้อความว่า
ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงพระดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงอาศัย คุณพระรัตนตรัยประกอบสัจจวาจา ทรงทำความสวัสดีแก่ชาวนคร แม้พระองค์เอง ก็พึงกล่าววาจาอาศัยคุณพระรัตนตรัย เพื่อความสวัสดีแก่ชาวนคร
ท้าวสักกเทวราชตรัสวาจาสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และกล่าวรวมพระองค์และเทวบริษัททั้งหมดว่า
ตถาคตํ เทวมนุสฺสปูชิตํ พุทฺธํ นมสฺสาม สุวตฺถิ โหตุ
ความว่า พวกเรานอบน้อมพระตถาคตพุทธเจ้า ผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมี
ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสคาถานี้แล้ว ทรงทำประทักษิณพระผู้มีพระภาค เสด็จกลับสู่สวรรค์พร้อมด้วยเทพบริษัท
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงรัตนะสูตรนี้ถึง ๗ วัน ซึ่งมีผู้บรรลุธรรมทุกวัน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลี กึ่งเดือนแล้ว จึงมีพระพุทธประสงค์ เสด็จกลับ ต่อนั้นพวกเจ้าลิจฉวีก็นำเสด็จพระผู้มีพระภาคสู่ฝั่งแม่น้ำคงคาด้วยสักการะเป็นทวีคูณอีก ๓ วัน แม้พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ทำสักการะแก่พระผู้มีพระภาค เป็นทวีคูณกว่าที่พวกเจ้าลิจฉวีทรงกระทำครั้งที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมา พระเจ้าพิมพิสารทรงนำเสด็จพระผู้มีพระภาค ๕ วัน จึงถึงกรุงราชคฤห์
พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงราชคฤห์แล้ว ภายหลังภัตตาหาร พวกภิกษุที่ นั่งประชุมกัน ณ ศาลาทรงกลม ได้สนทนากันถึงอานุภาพของพระผู้มีพระภาคที่ได้ ทรงรับสักการะอย่างใหญ่ยิ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงเสด็จไปยังศาลาโรงกลม และตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
บูชาวิเศษนี้มิได้บังเกิดเพราะพุทธานุภาพของเรา ทั้งมิใช่เพราะอานุภาพ ของนาค เทวดา และพรหม ที่แท้บังเกิดเพราะอานุภาพของการบริจาคเล็กๆ น้อยๆ แต่ก่อนต่างหาก
พวกภิกษุจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่รู้การบริจาคนั้นๆ ขอ พระผู้มีพระภาค โปรดตรัสบอกพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสเชื่อมชาดกกับปัจจุบันว่า
สมัยนั้น เราเป็นสังฆพราหมณ์ เราถอนหญ้าที่ลานเจดีย์ของพระสุสีมปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงทำทาง ๘ โยชน์ให้ปราศจากตอและหนาม ทำพื้นที่ให้ราบเรียบสะอาด เราโรยทรายที่ลานเจดีย์ พระสุสิมปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงโรยทรายที่ หนทาง ๘ โยชน์ เรากระทำบูชาที่พระสถูปด้วยดอกไม้ป่า ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงได้ทำเครื่องลาดดอกไม้ด้วยดอกไม้ป่านานาชนิดทั้งบนบก ทั้งในน้ำ ในหนทาง ๙ โยชน์ เราปะพรมพื้นดินด้วยน้ำในคนโทที่พระสถูปนั้น ด้วยผลกรรม ของเรานั้น ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงที่กรุงเวสาลี เรายกธงแผ่นผ้าและผูกฉัตรที่ พระเจดีย์นั้น ด้วยผลกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงยกธงแผ่นผ้าและฉัตรน้อยใหญ่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้นบูชาวิเศษนี้มิใช่บังเกิดเพราะพุทธานุภาพของเรา ไม่ใช่บังเกิดเพราะอานุภาพของนาค เทวดา และพรหม ที่แท้บังเกิดเพราะอานุภาพของการบริจาคเล็กๆ น้อยๆ ต่างหากเล่า
เมื่อจบคาถา ได้ตรัสพระคาถานี้
ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์เพราะสละสุขพอประมาณไซร้ ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ พึงสละสุขพอประมาณเสีย ดังนี้
สั้นมาก ใช่ไหม เรื่องของกุศล แต่จะทำก็ลำบาก ไม่ได้สบายๆ คนที่จะ ทำกุศลเป็นผู้ที่เสียสละ เสียสละเวลา เสียสละความสนุก เสียสละหลายอย่าง แต่ขอให้พิจารณาว่า ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์เพราะสละสุขพอประมาณไซร้ ผู้มีปัญญาเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ พึงสละสุขพอประมาณเสีย ดังนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยพระองค์เองว่า ไม่ใช่เพราะพุทธานุภาพ หรือ อานุภาพของนาค ของเทวดา ของพรหม แต่เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทรงกระทำแล้วในชาติก่อนๆ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นถึงเรื่องของเหตุและผล เรื่องของกรรมและผลของกรรม