ธรรมในชีวิตประจำวัน แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๑
ธรรมในชีวิตประจำวัน
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เรื่องของการศึกษาธรรมนั้น เป็นเรื่องการศึกษาสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะในชีวิต เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม และในภาษาบาลี ใช้คำว่า สัจธรรม ถ้าใช้ภาษาไทยง่ายๆ อย่างธรรมดา ก็หมายความถึงธรรมที่มีจริงนั่นเอง
เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็น พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกขณะในชีวิต ซึ่งพระธรรมได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด
ในวันหนึ่งๆ ที่ทุกคนนอนหลับสนิท แม้ว่าจะมีจิตซึ่งกำลังเกิดดับสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ แต่โลกนี้ก็ไม่ได้ปรากฏเลย ขณะใดที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ไม่มีใครรู้ว่ามีโลกนี้ และไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรบ้างในโลกนี้ เพราะว่าโลกนี้ ไม่ปรากฏ
แต่เมื่อใดที่ตื่นขึ้นเห็น ก็มีความรู้สึกว่ากำลังอยู่ในโลกนี้ ในขณะที่ได้ยินเสียง ก็เป็นเสียงของโลกนี้ ไม่ใช่เสียงในสวรรค์ ไม่ใช่เสียงทิพย์ ไม่ใช่เสียงในนรก หรือ ไม่ใช่เสียงอื่น แต่เป็นเสียงที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้แต่ความคิดนึกของแต่ละคน ก็คิดนึกเรื่องของโลกนี้ ไม่มีใครระลึกถึงโลกก่อน ชาติก่อนซึ่งทุกคนจากมา และไม่มีใครรู้ว่าโลกหน้าชาติหน้าจะเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็เป็นแต่เพียงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นของจริง แต่เป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่สภาพธรรมที่ยั่งยืน ไม่ใช่สภาพธรรมที่จะพึงยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น และดับไปทุกขณะ
สภาพธรรมใดที่ดับไปแล้ว สภาพธรรมนั้นไม่ได้กลับมาอีกเลย แต่เพราะ มีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นปรากฏอยู่เรื่อยๆ ความสำคัญ ความยึดถือสภาพธรรมที่เกิดปรากฏจึงทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่ได้กลิ่น เป็นเราที่ลิ้มรส เป็นเราที่กระทบสัมผัส เป็นเราที่คิดนึก แต่ถ้า ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกเลย เราก็ไม่มี โลกก็ไม่มี สภาพธรรมใดๆ ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมใดมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นปรากฏ ความไม่รู้ ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ก็ทำให้เกิดความยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏ
แต่ละคนเหมือนกันหมด คือ มีตาเห็น และเกิดความชอบหรือไม่ชอบ ในสิ่งที่เห็น มีหูได้ยิน ก็ชอบหรือไม่ชอบในเสียง มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกาย รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวันหนึ่งๆ และก็เปลี่ยนไปทุกขณะ แต่แม้กระนั้นด้วยความไม่รู้ก็ทำให้มีความยึดถือว่าเป็นเรา และมีความพอใจ มีสุข มีทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงมีความรู้สึกเหมือนกับว่า มีทุกข์คนละอย่างๆ คนที่มั่งมีเงินทอง ก็มีทุกข์ในเรื่องทรัพย์สมบัติ คนที่ไม่มีเงินทองก็เป็นทุกข์ในเรื่องของการไม่มีเงินทอง คนที่มีโรคภัยไข้เจ็บก็เป็นทุกข์ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ รวมความแล้ว ทุกคนมีทุกข์เป็นส่วนใหญ่ และมีสุขเป็นส่วนน้อยในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1637
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาพระไตรปิฎก และอรรถกถา จะไม่พ้นจากเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริง ลักษณะที่แท้จริงของธรรมต่างๆ เหล่านี้ไว้โดยละเอียดที่จะให้พิสูจน์ความจริง จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม และดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น
การที่จะดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น ในขั้นแรกจะต้องรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียง สภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นเอง
นี่เป็นขั้นต้นของการที่จะศึกษาพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก แต่เรื่องของพระธรรม ที่ได้ทรงแสดงไว้นั้นมีมากมายตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว แม้เป็นเวลาที่ยังเช้าอยู่ ยังไม่ควรแก่การเสด็จบิณฑบาต ก็ได้ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่ควรแก่การ ที่จะรับฟังพระธรรม และได้เสด็จไปแสดงธรรมหรือสนทนาธรรมกับบุคคลนั้น เมื่อเสด็จบิณฑบาต เสวยภัตตาหารแล้ว มีเวลาว่างที่จะทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย และก็ได้ทรงแสดงธรรมกับผู้ที่ไปเฝ้าในตอนบ่าย ในตอนเย็น ในตอนค่ำ และแม้ ตอนก่อนที่จะบรรทมพักผ่อน
เพราะฉะนั้น พระมหากรุณาคุณมีมากเหลือเกินที่ทรงแสดงเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเป็นเรื่องที่มีจริง ปรากฏจริงตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ถ้าผู้ใดไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียด แม้มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่รู้ความจริงในลักษณะของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าจะศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษาเฉพาะในตัวหนังสือ ในคัมภีร์ต่างๆ ในตำราต่างๆ แต่ต้องฟัง และพิจารณาเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนี้ประกอบด้วยว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นความจริงอย่างไร
ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องสติปัฏฐานจนกระทั่งทำให้สติปัฏฐานเกิด จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงก่อนว่า ขณะนี้เห็นมีจริง เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าการเจริญสติปัฏฐานเพื่อปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะฉะนั้น ในขั้นการฟังต้องพิจารณาสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อนว่า ขณะนี้เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตามีปรากฏเมื่อจิตรู้ คือ เห็น
นี่เป็นการเริ่มต้นของสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ถ้ายังไม่ได้พูดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางหู เช่น เสียง และสภาพที่ได้ยินเสียง สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ เพราะสติปัฏฐานหมายความถึงการระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม จึงจะ ไม่มีความยึดถือว่า นามธรรมเป็นเรา รูปธรรมเป็นเรา และเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นก็สามารถประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของทั้งนามธรรม และรูปธรรมนั้นเอง จนกระทั่งสามารถละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จนประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นอริยสัจธรรม
นั่นคือจุดสูงสุดของสติปัฏฐาน ซึ่งจะต้องเริ่มจากการฟังเรื่องของสิ่งที่ กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนเข้าใจจริงๆ ก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่นานมาก แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงทุกแห่งที่เสด็จไป ไม่ว่าจะที่กุรุ หรือที่พระวิหารเชตวัน ที่พระวิหารเวฬุวัน ที่เมืองเวสาลี ที่เมืองโกสัมพี ทุกแห่ง ทรงแสดงเรื่องของสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่เป็นเวลาเพียง ๒ ชั่วโมง ทรงแสดงแล้วแสดงอีก ทรงแสดงทั้งอภิธรรมโดยละเอียด ทรงแสดงทั้งพระสูตร ทรงแสดงทั้งประโยชน์ ของพระวินัยในการที่จะเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ตลอด ๔๕ พรรษา
แต่ให้ทราบว่า สติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังได้กลิ่น ที่กำลังลิ้มรส ที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่กำลังคิดนึก
คำถาม ช่วยอธิบายความหมายหรือคำจำกัดความ ธรรมชาติ หน้าที่ ภาวะที่เกิดขึ้น และดับไปของคำเหล่านี้ คือ ๑. จิต ๒. สติ ๓. เจตสิก ๔. ใจ ๕. พุทธะ ๖. ฌาน ๗. ญาณ
สุ. ทั้งหมด คือ สภาพของธรรมในขณะนี้เอง เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณา ก็พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ประกอบ เพื่อให้เข้าใจคำเหล่านี้ได้ถูกต้อง
เช่น คำว่า จิต ภาษาไทยจะใช้คำว่า ใจ จะใช้คำว่า หทัย จะใช้คำว่า มโน จะใช้คำว่า มนัส หรือแม้ในภาษาบาลีจะใช้คำว่า ปัณฑระ ก็หมายความถึงจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้น สภาพของจิต ไม่ใช่คำว่า จิต
ทุกคนก็รู้จักจิตโดยคำ แต่ยังไม่รู้จักลักษณะของจิต ถ้าบอกว่า มีจิต ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรู้ว่าจิตคืออะไร แต่ถ้าอธิบายว่า จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งคำว่า ธาตุ หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสภาวะ เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะของจิต คือ วิชานนลกฺขณํ หมายถึงมีลักษณะรู้อารมณ์ คือ จิตเป็นสภาพรู้
นาที 12.21
เมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องรู้อย่างหนึ่งอย่างใด จะมีจิตที่รู้โดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ คนเป็นจึงต่างกับคนตาย เพราะคนตายมีแต่รูป ซึ่งแต่ก่อนนั้นมีจิตด้วย แต่เพราะ จิตขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้น และดับไป ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เพราะฉะนั้น มีแต่เพียงรูปซึ่งปราศจากจิต จึงไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน คนตายไม่ได้กลิ่น คนตายไม่ลิ้มรส คนตายไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คนตายไม่ได้คิดนึกอีกต่อไป
ถ้าจะเปรียบเทียบลักษณะของคนเป็นกับคนตาย จะทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของจิตในขณะนี้ซึ่งกำลังเห็นได้ ถ้าคิดถึงคนตาย ในขณะนี้ ถ้ามีซากศพ ๑ ศพที่นี่ ไม่เห็นอะไร เพราะฉะนั้น ขณะนี้สภาพเห็น อาการเห็น ขณะที่เห็น เป็นจิตชนิดหนึ่ง เพราะเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้
นี่คือหน้าที่ของจิต คือ เป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ และจิตก็อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
คำต่อไป สติ
สติไม่ใช่จิต
ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งทรงจำแนกไว้โดยประเภท ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑
ปรมัตถธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง แม้จะไม่เรียกชื่ออะไรเลย ลักษณะนั้นก็มีจริงๆ เช่น เย็น หรืออ่อน หรือแข็ง หรือหวาน หรือเปรี้ยว ไม่ต้องเรียกอะไรเลย จะเป็นชาติไหน ภาษาไหน จะใช้คำอะไร หรือไม่ใช้คำอะไร แต่ขณะใดที่รสปรากฏ รสเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น เป็นปรมัตถธรรม
ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ คือ จิต เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ๑ เจตสิกเป็นสภาพรู้ที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้
เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด หรือ ๕๒ ประเภท เจตสิกเกิดกับจิต และดับพร้อมจิต เจตสิก ๕๒ ประเภทนั้น มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เช่น โลภะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง โทสะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง อโลภะ ความไม่โลภ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง อโทสะ เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง
ถ้าพิจารณาสภาพของธรรมที่เกิดกับตนในวันหนึ่งๆ ก็สามารถบอกได้ว่า สภาพใดเป็นเจตสิก สภาพใดเป็นจิต เช่น จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น เป็นใหญ่เป็นประธานในการได้ยิน เป็นใหญ่เป็นประธานในการลิ้มรส แต่ ชอบหรือเปล่า ไม่ชอบ ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต และดับพร้อมจิต
สำหรับสติเจตสิกนั้น เป็นโสภณเจตสิก หมายความว่าเป็นเจตสิกฝ่ายดี ถ้าสติเจตสิกเกิดขณะใด สภาพของจิตในขณะนั้นต้องเป็นโสภณจิต
วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาพระธรรม คือ เมื่อทราบคำจำกัดความ หรือลักษณะของสภาพธรรมใด บทฝึกหัดในชีวิตประจำวันมีมาก โกรธ เป็นจิตหรือเจตสิก เป็นเจตสิก เห็นเป็นจิตหรือเจตสิก เป็นจิต อย่างนี้ก็จะสามารถแยกแยะสภาพของจิต และเจตสิกในวันหนึ่งๆ ได้ด้วยตนเอง และเมื่อแยกแยะถูกต้อง ในพระไตรปิฎกตรงกัน จะไม่มีความคลาดเคลื่อนเลย
เมตตาเป็นจิตหรือเจตสิก ริษยาเป็นจิตหรือเจตสิก เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ทั้งหมดนี้ตรงกับพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎก คือ การตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดง ดังนั้นสภาพธรรมที่เป็นจริงต้องตรงกับพระไตรปิฎกทั้งหมด ไม่คลาดเคลื่อนกันเลย
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1638
นาที 17.29
ผู้ฟัง ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องข้อปฏิบัติในพุทธศาสนา เช่น สมถะหรือสมาธิ และวิปัสสนา จะสงเคราะห์ในข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาได้ไหม เพราะว่าปกติแล้วเท่าที่ได้มีโอกาสพบปะเพื่อนธรรม ก็มักจะพูดกันถึงเรื่องว่า ไปปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม ที่มีโอกาสสอบถามก็ได้ความว่าก็คือ การไปนั่งแล้วก็ปฎิบัติตามที่มีผู้สอน ก็เลยมีข้อปฏิบัติที่ว่าน่าจะเป็น ๒ อย่างหรือ ๒ ลักษณะคือ ไปนั่งปฏิบัติที่เป็นสมาธิ กับการปฏิบัติที่เป็นแนวทางเจริญวิปัสสนา ก็อยากจะขอกราบเรียนอาจารย์ให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าท่านผู้อื่นสนใจในเรื่องนี้หรือเปล่า ก็เป็นชีวิตประจำวัน ข้อสำคัญที่สุดคือก่อนอื่นต้องทราบว่า พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่ทุกชีวิต ในชีวิตประจำวัน ทุกขณะ อันนี้ก่อน เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องของสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องที่สูงมาก เป็นเรื่องของผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของกิเลสของตนเอง
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่เห็นกิเลสในวันหนึ่งๆ ว่ามีมากแค่ไหนซะก่อน อย่างเวลาที่เราตื่นนอนมาแล้วก็บางคนก็บอกว่า เขาไม่มีกิเลสเลย เขาไม่ได้อยากได้อะไรของใคร เขาก็ไม่โกรธใครด้วย นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ และก็ผู้นั้นเจริญสมถะก็ไม่ได้ เจริญวิปัสนาก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ตัวเองว่า มีกิเลสตั้งแต่ลืมตาตื่น
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเจริญความสงบจากกิเลส ต้องเห็นโทษ และต้องรู้จักกิเลสจริงๆ อย่างเวลาที่ตื่นมา เพียงลืมตาขึ้นมาเราอาจจะไม่รู้ว่า เรามีความต้องการเกิดขึ้นทันทีที่เราตื่น บางคนก็อาจจะอยากฟังเพลง เอื้อมมือไปเปิดวิทยุ บางคนก็รีบเข้าไปในห้องน้ำทำกิจธุระต่างๆ ทั้งหมด
ถ้าขณะใดไม่เป็นกุศล ไม่เป็นไปไหนทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปปัญญาที่รู้สภาพของจิตที่สงบว่าต่างกับจิตที่ไม่สงบ ไม่มีปัญญาที่รู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏพระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดงว่าอย่างไร ถ้าไม่มีปัญญาอย่างนี้ ไม่พ้นจากโลภะในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่า ความต้องการในวันหนึ่งมีหลายระดับ ความต้องการที่เรามีจนกระทั่งเราสังเกตเห็น อย่างเวลาที่เราไปตามห้างสรรพสินค้าหรือไปตลาด หรือเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วรู้สึกว่าสวย อยากจะได้ ชอบ เป็นสิ่งที่เรากำลังต้องการ ในขณะนั้นถ้าไม่พิจารณา เราก็อาจจะไม่เห็นว่าเป็นโลภะ หรือเป็นความต้องการแล้ว แต่ก่อนนั้นอีก ก็ยังมีความต้องการในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ เรื่อยมา
ซึ่งผู้ที่จะเจริญความสงบ ก่อนอื่นต้องเห็นโทษของกิเลสของตนเอง และเวลาที่ภาษาไทยเรา ใช้คำภาษาบาลี เราไม่ได้เรียนจริงๆ เพราะฉะนั้นเรามักจะนึกเอาเองว่าคงจะหมายความว่าอย่างนี้ หรือว่าคงจะหมายความว่าอย่างนั้น แม้แต่คำว่า สมถะ และคำว่า วิปัสสนา ยังไม่ทันรู้ความหมายจริงๆ เลย ก็จะทำ และลองคิดดูสิว่า ยังไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วจะทำ แล้วมันจะเป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะให้เป็นอย่างนั้นได้ยังไง เพราะว่า สมถะ ก็ยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร หมายความว่าอะไร วิปัสสนาก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร แล้วจะไปทำอะไร แล้วจะได้ผลตรงกับที่ทำหรือเปล่า เพราะว่าเรายังไม่มีความรู้เลย
เพราะฉะนั้นก่อนอื่น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา หลังจากที่ตรัสรู้แล้วไม่นานเลย เสด็จจากสถานที่ตรัสรู้เพื่อที่จะทรงโปรดเวไนยสัตว์เสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อแสดงพระธรรม เห็นไหมว่าประโยชน์ของพระธรรมนี้จะมีมากสักแค่ไหน และหลังจากนั้นมา ทรงแสดงพระธรรมมากกว่าใครในโลก คือเมื่อตื่นบรรทมแล้วก่อนที่จะเสด็จไปบิณฑบาต ก็ได้ตรวจดูด้วยพระญาณว่าควรจะเสด็จไปโปรดใคร ถ้าเวลายังเช้านัก ก็เสด็จไปสนทนาธรรมกับคนนั้น ซึ่งรับฟังพระธรรม และเข้าใจได้ คุ้มต่อการที่จะเสด็จไปโปรด นี่ก่อนบิณฑบาต และเมื่อบิณฑบาตแล้ว หลังจากที่เสวยภัตรแล้ว ทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย ก็จะมีการแสดงธรรมกับพระภิกษุ แล้วก็ตอนเย็นก็จะมีพวกคฤหัสถ์ไปเฝ้า ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน หรือที่ไหนก็ตามเพื่อฟังพระธรรม เมื่อคฤหัสถ์กลับไปแล้ว พระภิกษุก็มาทูลถามปัญหาอีก และหลังจากนั้นแล้ว เทวดาทั้งหลายซึ่งท่านก็มีปัญหา เพราะไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือพรหมถ้ายังมีกิเลส ก็ล้วนแต่มีปัญหาทั้งนั้น ก็มาถามปัญหาของตนๆ แก่พระองค์ นี่แสดงให้เห็นว่าชีวิตประจำวัน ทรงแสดงธรรม เพื่อให้เราเข้าใจให้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น พระธรรมมีประโยชน์มาก ที่เราต้องฟังก่อนที่เราจะปฏิบัติ แต่ถ้าเราไม่ฟังก่อน เราจะปฏิบัติผิด หรือว่าเข้าใจผิดได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้น ขอให้ปรึกษา หรือว่าศึกษาพระธรรมดูซะก่อนว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร อย่าง สมถะ ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้อง โดยศัพท์ภาษาบาลี เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วหมายความว่า สงบ เพียงแค่นี้ไม่พอเลย คนก็ไปตีความอีกว่า นั่งคนเดียวเงียบๆ แต่นั่นไม่ใช่ เพราะเหตุว่า สงบ ต้องสงบจากอกุศล สงบจากกิเลส จึงจะชื่อว่าสงบจริงๆ ถ้าเราไปตามท้องนาไกลๆ ไม่มีผู้คนเลย มีต้นตาล มีต้นข้าว มีฟ้า มีน้ำ แล้วจะบอกว่าที่นั่นสงบ ไม่ได้ ใจของเราต่างหาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นจิตของเรามีโลภะมีความต้องการอะไรรึเปล่า
ที่มา ...