ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 11


    ตลับที่ ๖

    ไม่ได้หมายความให้คิดว่านี้แข็งเป็นรูป นี้ต่างกัน ไม่ใช่ให้คิดว่า แข็งเป็นรูป แต่ในขณะที่แข็งปรากฏ น้อมไปที่จะศึกษาในขณะนั้น เพื่อรู้ว่าลักษณะที่รู้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งกำลังรู้แข็ง ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คิดใช่ไหม

    ทั้งหมดนี้คืออนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยทั้งนั้น

    วิท คิดก็เป็นการรู้อารมณ์ใช่ไหม

    อ.จ. คิดเป็นการรู้อารมณ์ทางทวารไหน

    วิท มโนทวาร

    อ.จ. มโนทวาร ไม่ใช่ที่รู้แข็ง ทางปัญจทวาร

    วิท แต่ขณะที่น้อมไป พอกระทบ

    อ.จ. เวลานี้แข็งก็ปรากฏ ตามปกติ

    วิท แล้วที่อาจารย์ว่า น้อมไป ขณะนั้นหมายความว่า แข็งหมดไปแล้ว ใช่ไหมครับ

    อ.จ. ยังกำลังปรากฏอยู่ ไม่ใช่ไปนึกอย่างอื่น ถ้านึก ขณะนั้นไม่ได้รู้ที่แข็ง แต่นี้แข็งกำลังปรากฏ รู้ตรงแข็ง น้อมไปที่แข็ง ไม่น้อมไปที่อื่น ลักษณะแข็งกำลังปรากฏ ไม่ต้องใช้ชื่อ

    วิท ก็ไม่ต่างกับขณะที่ (……. ไม่ได้ยิน ……..)

    อ.จ. ต้องต่างกับขณะที่หลงลืมสติแน่นอน และต้องต่างกับขณะที่คิดเป็นคำ

    วิท แล้วขณะนั้น ปัญญาจะเจริญหรือครับ

    อ.จ. ถ้าปัญญาไม่เกิดในขณะนั้นแล้ว ปัญญาจะรู้อะไรในขณะไหน

    วิท ก็ในขณะนั้นล่ะครับ

    อ.จ. แน่นอน เพราะฉะนั้น ในขณะที่กระทบแข็ง ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว ไม่ต้องพิจารณายางนานเลยว่า ลักษณะนี้เป็นธาตุรู้ หรือว่าลักษณะอีกอย่างหนึ่งเป็นรูปธรรม ลักษณะที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม เพราะเหตุว่า บุคคลนั้น อบรมเจริญนาน จนกระทั่งมีกำลัง ปัญญาเป็นพละ ที่เมื่อระลึกแล้ว รู้ทันทีได้ว่า สภาพรู้เป็นอย่างไร ลักษณะที่แข็ง ที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นอย่างไร นี่คือผู้ที่อบรมเจริญแล้ว เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นปัญญารู้แข็ง ว่าต่างกับสภาพที่รู้แข็ง เพราะฉะนั้น เข้าใจลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง และไม่ใช่เพียงขั้นรู้ตาม หรือคิดตาม แต่เป็นความรู้ ในขณะที่สภาพนามธรรมนั้นเอง ซึ่งเป็นธาตุรู้ กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    วิท ที่อาจารย์พูดนี้ หมายความถึงวิปัสสนาหรือเปล่า

    อ.จ. เริ่มตั้งแต่การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่จะรู้ว่าลักษณะใดเป็นรูปธรรม ลักษณะใดเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ใช่รู้อื่น ต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม จึงค่อยๆ ละคลายความเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่จะเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่ขณะอื่น จากที่กำลังเห็นตามปกติ กำลังได้ยินตามปกติ กำลังได้กลิ่นตามปกติ กำลังลิ้มรสตามปกติ กำลังกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามปกติ กำลังคิดนึกตามปกติ แล้วสามารถบรรลุคุณธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ ในขณะทีสภาพธรรมตามปกตินี้เอง กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่า ปัญญาเจริญขึ้นๆ ๆ ๆ จนกระทั่งเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    วิท ขณะที่กระทบ แล้วขณะนั้นปัญญารู้ว่า เป็นลักษณะที่แข็ง ซึ่งต่างกับลักษณะที่รู้แข็ง ขณะนั้นจิตจะต้องรู้อย่างนี้ด้วยใช่ไหม

    อ.จ. ปัญญาเกิดพร้อมกับจิต

    วิท ก็ไม่ใช่เป็นการรู้แข็ง แต่รู้ว่าแข็ง ต่างกับสภาพที่รู้แข็ง

    อ.จ. โดยที่แข็งกำลังปรากฏ หรือไม่ปรากฏ

    วิท ต้องขณะที่แข็งกำลังปรากฏ

    อ.จ. เมื่อแข็งกำลังปรากฏ แข็งเป็นอารมณ์ของมหากุศล เกิดพร้อมกับปัญญาได้ ขณะที่รู้แข็งกำลังปรากฏ มหากุศลที่เกิดพร้อมสติและปัญญา มีสภาพนามธรรมที่รู้แข็งเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ยึดถือสภาพที่รู้แข็งนั้นว่าเป็นเรา

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงขัยแสนกัปป์ คนในสมัยนี้ อยากจะบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ชาติเดียว ก็เป็นไปไม่ได้ใช่ไหม ขณะที่ฟังนี้ เป็นการศึกษาเรื่องของสภาพธรรม โดยที่สติยังไม่ได้ระลึก ตรงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งกำลังเป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น แต่กำลังฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม นี่ขั้นหนึ่ง และขณะที่สติระลึก ที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญาจะเริ่มศึกษา คือน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะใดลักษณะใดเป็นลักษณะของนามธรรม ขณะใดลักษณะใด สภาพธรรม ที่ปรากฏนั้น เป็นลักษณะของรูปธรรม ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    คำพูดเดิม ท่านผู้ฟังจะรู้ว่า สภาพธรรมปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน คำนี้ไม่เปลี่ยน แม้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ โดยการแทงตลอด หรือประจักษ์แจ้ง ก็ยังคงเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าในขณะที่สติเริ่มระลึก อย่าเข้าใจว่า ขณะนั้นสภาพธรรมปรากฏโดยลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว เพราะเหตุว่า ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์ หรือแทงตลอด ยังเป็นขั้นที่กำลังน้อมไปศึกษา เพื่อที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    นิภัทร ผมสงสัยว่า อารมณ์ที่เกิดทางปัญจทวารวิถี ตลอดวิถี จะเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ในปัญจทวารวิถี ก็จะต้องมีชวนะเกิด ในชวนจิตนั้น ถ้าอารมณ์เป็นปรมัตถ์ คือยังไม่รู้ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตอนนั้นจะเป็นบุญ เป็นบาปอย่างไร

    อ.จ. ท่านผู้ฟังเห็นว่า การเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ช่างเล็กน้อย และช่างสั้น นิดหน่อยเสียเหลือเกิน แต่แม้กระนั้นก็ตาม เมื่อไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว จิตในขณะนั้น ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ที่เป็นชวนะ คือเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ชวนวิถีทางปัญจทวาร หรือทางมโนทวาร ต้องเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    นิภัทร ทั้งๆ ที่อารมณ์นั้นเป็นปรมัตถ์

    อ.จ. แน่นอน แม้จะเล็กน้อย แสนสั้น แสนเร็วแค่ไหนก็ตามแต่ อกุศลจิตก็เกิดแล้ว

    แต่สำหรับอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย แสดงวิสยปวัตติ คือจิตที่เกิดขึ้นเป็นไป รู้อารมณ์ตามทวารต่างๆ โดยละเอียดว่า จิตขณะไหนเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ให้จิตดวงใดเกิดต่อ

    ขอยกตัวอย่างทางปัญจทวาร ทวารหนึ่งทวารใด คือทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป โดยนัยของปฏิจจสมุปปาท

    วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว ว่าได้แก่ เจตสิก และกัมมชรูป ซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณ และหลังจากนั้นแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้อายตนะเกิด เพราะเหตุว่า นามรูป เป็นปัจจัยแก่อายตนะ เมื่อมีตา ซึ่งเป็นกัมมชรูป เกิดขึ้นเพราะกรรม มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เกิดขึ้นเพราะกรรม ที่จะไม่ให้เป็นอายตนะ คือไม่เป็นทางที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น อนันตรปัจจัย เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิด ดับแล้ว นามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ เพราะเหตุว่า จักขุปสาท เมื่อถึงกาล หรือเวลาที่จะเกิด กรรมก็เป็นปัจจัย ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด – ดับ แต่ยังไม่เป็นอายตนะ ถ้าขณะนั้นผัสสะยังไม่กระทบกับรูปารมณ์ เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นแต่เพียงกัมมชรูป เป็นจักขุปสาทรูป เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษ ที่ใส ที่จะรับกระทบเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา

    โสตปสาทรูป ก็เป็นกัมมชรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม ไม่สามารถจะมองเห็นได้ ใครจะใช้กล้องจุลทัศน์ ไปส่องไปขยายอย่างไรก็ตาม ไม่สามารถที่จะเห็นจักขุปสาท หรือโสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท หรือรูปอื่นๆ ทั้งหมด นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งใช้คำว่า แสงหรือสี หรือวัณณะ หรือรูปารมณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ หรือไม่ต้องใช้คำอะไรเลยก็ได้ เพราะเหตุว่า ในขณะนี้ สภาพธรรมนั้นเอง เป็นของจริง ที่กำลังปรากฏ เพราะกระทบกับจักขุปสาท

    เพราะฉะนั้น ปสาทรูปทั้งหมด เป็นสภาพที่ใส เมื่อเปรียบเทียบ กับความใสของกระจก ซึ่งสามารถจะรับกระทบกับอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่ภวังคจิตดับแล้ว นามรูป เป็นปัจจัยแก่อายตนะ ต้องในขณะที่อารมณ์กระทบกับทวารหนึ่งทวารใด ทวารนั้นจึงเป็นอายตนะ เพราะเหตุว่า อายตนะมี ๖ คือ จักขวายตนะ ได้แก่ จักขุปสาทรูป ๑

    โสตายตนะ ได้แก่ โสตปสาทรูป ๑

    ฆานายตนะ ได้แก่ ฆานปสาทรูป ๑

    ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาทรูป ๑

    กายายตนะ ได้แก่ กายปสาทรูป ๑

    มนายตนะ ได้แก่ จิตทุกดวง

    ในที่นี้ ไม่ได้กล่าวถึงทวาร แต่กล่าวถึงอายตนะ เพราะฉะนั้น

    มนายตนะ ได้แก่ จิตทุกดวง เพราะเหตุว่า จิตทุกดวงรู้อารมณ์

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ภวังคจิตเกิด – ดับสืบต่อโดยอนันตรปัจจัย และขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา กระทบกับจักขวายตนะ คือกระทบกับจักขุปสาทรูป โดยความละเอียด ท่านอรรถกถาจารย์ ท่านก็ยังให้คำอธิบายไว้ว่า เมื่อรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ทำไมภวังคจิตจึงไหว เพราะเหตุว่า ภวังคจิตไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท นี่แสดงให้เห็นถึง ความละเอียดของสภาพที่เป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม

    สิ่งที่ปรากฏทางตา แม้แต่พระอาทิตย์ หรือพระจันทร์ ซึ่งอยู่ไกลก็ยังเป็นอารมณ์ได้ สามารถจะกระทบกับจักขุปสาทรูปได้ สำหรับจักขุปสาทรูป กับหทยวัตถุรูป อยู่ไกลกันถึงกับจักขุปสาท และพระอาทิตย์ พระจันทร์ไหม หรือว่าใกล้กว่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหาเลยที่ว่า เมื่อรูปารมณ์กระทบกับจักขวายตนะ คือจักขุปสาทแล้ว ภวังคจิตไหว เพื่อที่จะรู้อารมณ์ต่อไป เพราะเหตุว่า ถ้าภวังคจลนะไม่เกิดขึ้นไหว วิถีจิตจะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ต้องอาศัยรูปหนึ่งรูปใด กระทบกับทวารหนึ่งทวารใด เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตไหว คำอุปมาในอรรถกถา มีว่า เหมือนกับแมลงวัน ซึ่งเกาะอยู่ที่ก้อนกรวด บนกลองด้านหนึ่ง และเวลาที่มีคนตีกลองอีกด้านหนึ่ง ก้อนกรวดก็ไหว ตามความไหวของกลอง และเชือก และหนังกลอง แล้วแมลงวันก็บินไป

    นี่ก็แสดงให้เห็นความเป็นปัจจัย ซึ่งแม้ว่า รูปารมณ์ ไม่ได้กระทบกับหทยวัตถุ ซึ่งภวังคจิตกำลังเกิด แต่แม้กระนั้น ก็ไม่ได้ไกลกัน เหมือนกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ที่จะมาเป็นอารมณ์ของการเห็นได้ ฉันใด เวลาที่รูปารมณ์กระทบกับ จักขวายตนะ คือจักขุปสาท ภวังคจลนจิตก็เกิด แล้วก็ดับ เมื่อดับแล้ว ภวังคจลนะเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ให้เกิดภวังคุปัจเฉท และเมื่อภวังคุปัจเฉทดับ ภวังคุปัจเฉทเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น แล้วดับ ต่อจากนั้น อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยก็ทำให้จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้น แล้วดับ สัมปฏิจฉนะเกิดแล้วดับ สันตีรณจิตเกิดแล้วดับ โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วดับ ชวน ซึ่งต้องเป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ คือผู้ที่เป็นปุถุชนถึง ๗ ขณะ ทั้งๆ ที่เป็นปัญจทวารวิถี อย่างรวดเร็ว เป็นปรมัตถ์อารมณ์ และยังไม่รู้ด้วยว่า ขณะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นอะไร แม้กระนั้น ก็ให้เห็นสภาพความเป็นปัจจัยว่า

    เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับแล้ว ชวนะต้องเกิด และสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ชวนะต้องเป็นกุศล หรืออกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ชวนะก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต เกิด – ดับ สืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ขณะ และถ้าเป็นตทาลัพนวาระ คือรูปารมณ์นั้นยังไม่ดับไป ตทาลัมพนจิตก็เกิดต่อ

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อกุศลมากแค่ไหน ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ก็ไม่มีทางรู้เลย ว่าเป็นอกุศลมากเหลือเกิน ในวันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แต่นี่คือ อนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ทางปัญจทวาร

    สำหรับทางมโนทวารวิถี วิสยปวัตติ คือการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร มี ๒ วาระคือ ถ้ามโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนจิตเกิดต่อ และตทาลัมพนจิตเกิดต่อ นั่นเป็นตทาลัมพนวาระ

    แต่บางครั้งบางคราว เวลาที่มโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนวิถีจิตเกิดสืบต่อ ๗ ขณะ และไม่มีตทาลัมพนจิต ก็เป็นชวนวาระ

    เพราะฉะนั้น สำหรับทางปัญจทวาร ขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่กระทบ ว่าเมื่อกระทบแล้ว ภวังคจิตจะไหวทันที หรือว่ากระทบหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งวิถีจิตไม่สามารถจะเกิดถึงตทาลัมพนะได้ หรือไม่สามารถที่วิถีจิตจะเกิดถึงชวนะได้ มีเพียงแค่โวฏฐัพพนะ หรือไม่สามารถ แม้วิถีจิตจะเกิดเลย มีแต่เพียงภวังคจลนะเท่านั้น นั่นก็เป็นวิถีจิตทางปัญจทวาร ซึ่งต้องอาศัยรูป ตามกำหนดอายุของรูป แต่ว่าทางมโนทวารแล้ว ก็มีเพียง ๒ วาระ คือตทาลัมพนวาระ และชวนวาระ

    ตามอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ไม่มีใครหยุดยั้งได้ ขณะจิตที่ดับไปหมดแล้ว แต่ว่าเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ให้ขณะนี้เกิดสืบต่อเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น การที่มีความสงสัย หรือว่ามีการเคลือบแคลง ความไม่แจ่มชัดในธรรมประการต่างๆ จะหมดสิ้นไป เมื่อได้ศึกษาเรื่องของปัจจัยโดยละเอียด เช่นในเรื่องของอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ที่ทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร แม้ว่ายังไม่รู้ว่า อารมณ์นั้นเป็นอะไร แต่ชวนะซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ต้องเกิดตามอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย แม้ว่าขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิตทางมโนทวาร

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องของอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย บังคับไม่ได้เลย เป็นภวังค์อยู่ดีๆ ก็ไม่สามารถจะเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ได้ตลอดไป เพราะเหตุว่า นามรูปเป็นปัจจัยแก่อายตนะ ถ้าอนันตรปัจจัย หรือสมนันตรปัจจัย เป็นปัจจัยเพียงให้ปฏิสนธิจิต ที่เกิด – ดับแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อเท่านั้น ก็ไม่ต้องมีสุข มีทุกข์ใดๆ ในโลกทั้งสิ้น แต่ที่จะมีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ทางทวารต่างๆ นั้น เพราะอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยนั่นเอง

    ทรง.ก. ผมอยากทราบว่า เมื่อจักขุทวารวิถีดับไปแล้ว มโนทวารวิถีก็เกิดขึ้น รับรูปารมณ์ต่อจากจักขุทวารวิถี ในเมื่อมีปัญญารู้ลักษณะของมโนทวารวิถี และจักขุทวารวิถี ปัญจทวารวิถีอื่น เช่นโสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี จะรู้ได้หมดด้วยหรือเปล่า หรือรู้ได้ทีละทวาร

    อ.จ. แล้วแต่ขณะนั้น สภาพธรรมใดปรากฏ ถ้าถึงขั้นประจักษ์ ก็ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมอื่น ที่ไม่ได้ปรากฏในขณะนั้น

    ทรง.ก. เมื่อประจักษ์แจ้งสภาพธรรมทางมโนทวารวิถี เกิดขึ้นรับรูปารมณ์ทางจักขุทวารวิถีแล้ว ทางทวารอื่นจะประจักษ์แจ้งด้วยหรือเปล่าครับ

    อ.จ. ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ต้องเป็นมโนทวารวิถี ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรม และลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ ในขณะนั้น แล้วแต่ว่าขณะนั้น อารมณ์ใดทางปัญจทวาร หรือทางมโนทวารจะปรากฏ แต่ไม่ใช่ปรากฏทั้งหมด ไม่ใช่ว่าจิตทั้ง ๘๙ หรือเจตสิกทั้งหมด ๕๒ หรือว่ารูปทั้ง ๒๘

    ทรง.ก. ไม่ใช่อย่างนั้นครับ หมายความว่า ในเมื่อประจักษ์ลักษณะของโสตทวารแล้ว ทางจักขุทวารจะต้องประจักษ์ด้วยหรือเปล่า หรือปัญญาจะต้องอบรมต่อไปอีก จึงจะประจักษ์ได้

    อ.จ. ในขณะนั้น สภาพธรรมใดปรากฏ ให้ประจักษ์ ก็ประจักษ์ในสภาพธรรมนั้น ที่กำลังปรากฏ ส่วนสภาพธรรมใดที่ยังไม่ปรากฏในขณะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะประจักษ์ เป็นไปได้ไหม ในขณะนี้ อะไรกำลังเป็นอารมณ์ ตาเห็น บางครั้ง หูไม่ได้ยิน ใช่ไหม เสียงไม่ได้ปรากฏ กลิ่นกำลังปรากฏ หรือเปล่าในขณะนี้ รสกำลังปรากฏหรือเปล่า สุขหรือทุกขเวทนากำลังปรากฏหรือเปล่า ตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ นี่คือขณะที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง แต่ในขณะที่ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ประจักษ์แจ้ง ก็ประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังเป็นอารมณ์ ของขณะที่ยังไม่ได้ประจักษ์ ในขณะนี้นั่นเอง ขณะที่ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ เป็นอารมณ์ คือในขณะนี้บ้าง กำลังปรากฏกับอกุศลในขณะนี้ ถ้าขณะนั้นสติปัฏฐานไม่เกิด แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด แทนอกุศลเหล่านั้น ก็คือประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นอารมณ์ในขณะนี้ เท่านั้น ถ้าสภาพธรรม เช่นกลิ่นก็ตาม หรือรสก็ตาม ในขณะนี้ ไม่ได้ปรากฏ ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใด จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็คือประจักษ์แจ้งลักษณะ สภาพธรรมที่ปรากฏ ที่ไม่ใช่กลิ่น และไม่ใช่รส เพราะเหตุว่า กลิ่น และรส ในขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น อารมณ์ตามปกติ เป็นอารมณ์ของอกุศล บางขณะสติปัฏฐานเกิด ก็อารมณ์ตามปกตินั่นเอง เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน และในขณะที่ปัญญาประจักษ์แจ้ง ก็ไม่ได้ประจักษ์แจ้งอารมณ์อื่น จากอารมณ์ตามธรรมดา ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงไม่พอ เพียงแค่นี้ยังไม่พอ แค่นี้ไม่พอๆ ๆ ๆ จนกว่าจะบรรลุอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังไม่พอ เพราะเหตุว่า เป็นเพียงเสกขบุคคล ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ควรต้องศึกษาต่อไป จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

    สภาพธรรมตามปกติในขณะนี้จริงๆ ถ้าอกุศลกำลังเกิดขึ้นเป็นไป ในขณะนี้ สติปัฏฐานไม่เกิด ก็เป็นอารมณ์ตามปกติอย่างนี้ ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกบ้าง ก็เป็นการรู้อารมณ์ตามปกติ แทนอกุศลเท่านั้นเอง และถ้าเป็นการประจักษ์ ก็คือประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติในขณะนี้ ตามความเป็นจริง

    ทรง.ก. ถ้าประจักษ์แจ้งในจักขุทวารวิถี และมโนทวารวิถี ขณะนั้นชื่อว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ใช่ไหมครับ

    อ.จ. วิถีไหนก็ได้ อารมณ์อะไรก็ได้ ถ้าปัญญาเกิดขึ้นทางมโนทวาร แทงตลอดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ทีละอย่าง เวลานี้ไม่ใช่ทีละอย่าง ใช่ไหม เป็นโลกที่เต็มไปด้วยบุคคลหลายคน แสดงว่ามโนทวารวิถี เกิดสืบต่อจากทางตา แล้วทางหูก็ยังได้ยินเสียงต่างๆ เสียงอะไร เสียงรถจักรยานยนต์ เสียงอะไร เสียงกบ กบอยู่ที่ไหน จักรยานยนต์อยู่ที่ไหน ตามสภาพธรรม ตามความเป็นจริง คือเสียงเท่านั้น ถูกไหม ที่ปรากฏทางหู แต่เวลาเสียงเกิดขึ้นนี้ เสียงอะไร ในขณะนั้น ท่านคิดว่าเป็นเสียงกบ ขณะนั้นความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตน อยู่ที่เสียง จึงไม่ใช่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่า เป็นกล เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงเสียงปรากฏ แล้วไม่นึกถึงกบ หรือเสียงปรากฏแล้ว ไม่นึกถึง จักรยานยนต์ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ถ้าเพียงเท่านั้น ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ทางมโนทวาร แต่ที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ คือสภาพธรรมปรากฏทางมโนทวาร ทีละอย่าง ไม่ปนกันเลย

    ทรง.ก. ก็ในเมื่อเห็นแล้วว่า เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เราจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไรครับ

    อ.จ. การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไม่ให้รู้ว่าเป็นใคร แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ในขณะที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ลักษณะแท้ๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น คืออย่างไร นี่คือการที่จะรู้ความต่างกันของ นามธรรม และรูปธรรม ซึ่งดูเหมือนกับเป็นเรื่องที่น่าเบื่อเหลือเกิน ที่จะพูดถึงบ่อยๆ ว่าทางตา นามธรรมเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ รูปธรรมเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่กว่าจะรู้ชัดตามความเป็นจริง ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ เท่านั้นเอง ก็จะต้องอาศัยการพูดถึงเรื่องของ ขณะที่กำลังเห็นนี้ จนกว่าสติจะเกิด ระลึกได้ ศึกษา และรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ที่เข้าใจว่าอยู่ด้วยกันหลายคน ในที่นี้ แท้ที่จริงแล้ว แม้แต่ตัวผู้ที่เข้าใจว่า กำลังอยู่กับคนอื่น หลายคน ก็ไม่มี ตามความเป็นจริง คือ จิต กำลังอยู่กับรูปารมณ์ ที่ปรากฏทางตา ชั่วขณะหนึ่ง เท่านั้นเอง ไม่มีคน แต่มีจิต สภาพรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่ารูปารมณ์ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนี้ ถ้าจะลืมเสียว่าไม่มีใครเลย นอกจากจิตกำลังรู้ รูปารมณ์เท่านั้นเอง

    ทรง.ก. ทางหู อาทิตย์ที่แล้ว อาจารย์ยกตัวอย่างได้ยินเสียงกบ เสียงกบนั้นก็เป็นบัญญัติ กบนั้น ไม่มี ทีนี้ในเมื่อได้ยินเสียงกบแล้ว ชอบใจหรือไม่ชอบใจเกิดขึ้น หรือบางครั้งอาจจะเฉยๆ ก็ได้ ย่อมเกิดขึ้น ในเมื่อเราได้ยินอย่างนี้เลย เราจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไรครับ

    อ.จ. การเจริญสติปัฏฐาน ไม่จำกัดว่าจะเป็นเสียงอะไร จะเป็นเสียงกบ เสียงรถจักรยานยนต์ หรือเสียงคำพูดต่างๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    23 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ