ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 16


    แต่ต้องทราบว่า ปัจจัยอะไร

    เช่นสหชาตปัจจัย ได้แก่

    หมวดที่ ๑ ได้แก่ จิตและเจตสิก ต้องเกิดพร้อมกัน

    อัญญมัญญปัจจัย จิตต้องอาศัยเจตสิก เจตสิกต้องอาศัยจิต

    เพราะฉะนั้น จิตเป็นอัญญมัญญปัจจัยของเจตสิก ทำให้เจตสิกเป็นปัจจยุปบันนเกิดขึ้น และเจตสิกที่เกิดพร้อมจิตนั้น นอกจากจะเป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ก็ยังเป็นอัญญมัญญปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีอะไร ซึ่งเป็นของใหม่ เพียงแต่ชื่อเท่านั้นเอง สำหรับสหชาตปัจจัย หมวดที่ ๒ ได้แก่ รูปธรรม ซึ่งเกิดพร้อมกัน คือ

    มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๔ ในขณะที่มหาภูตรูป ๔ เกิดขึ้น

    โดยยก มหาภูตรูป ๑ เป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๓

    มหาภูตรูป ๒ เป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๒

    หรือ มหาภูตรูป ๓ เป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๑

    ธาตุดิน เป็นปัจจัยให้เกิด ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    ธาตุน้ำ เป็นปัจจัยให้เกิด ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม

    ธาตุไฟ เป็นปัจจัยให้เกิด ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม

    ธาตุลม เป็นปัจจัยให้เกิด ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ

    โดยสหชาตปัจจัย และโดยอัญญมัญญปัจจัย

    เพราะเหตุว่า ที่ธาตุดินจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    หรือ ที่ธาตุลมจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ

    เพราะฉะนั้น ความต่างกันของสหชาตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย คือ สหชาตปัจจัย เป็นสภาพธรรมซึ่งทำให้ปัจจยุปบันน เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่อัญญมัญญปัจจัยนั้น นอกจากจะเกิดพร้อมกันแล้ว ยังต้องต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งสำหรับหมวดที่ ๑ ของสหชาตปัจจัย และหมวดที่ ๒ ของสหชาตปัจจัย เป็นทั้งสหชาตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย

    หมวดที่ ๓ ของสหชาตปัจจัย คือ ปฏิสนธิจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปัญจโวการปฏิสนธิจิต และเจตสิก เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ

    เพราะเหตุว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในอุปาขณะ ในขณะนั้นเกิดพร้อมกับปฏิสนธิหทยวัถตุ ปฏิสนธิหทยวัตถุ ไม่ได้เกิดก่อนปฏิสนธิจิต และไม่ได้เกิดหลังปฏิสนธิจิต ต้องเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตนั่นเอง ซึ่งหลังจากปฏิสนธิกาลแล้ว รูปทุกรูปไม่สามารถจะเป็นปัจจัยในอุปาทขณะของรูป ไม่ว่าจะโดยเป็นทวาร หรือโดยเป็นวัตถุ หรือโดยเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องสังเกตความละเอียดของหมวดนี้ ที่ว่า ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยแก่ ปฏิสนธิหทยวัตถุ ซึ่งปฏิสนธิหทยวัตถุนี้ เป็นกัมมชรูป เป็นรูป ซึ่งเกิดเพราะกรรม ถึงแม้ว่าจิตไม่เกิด กัมมชรูปก็เกิดได้ เช่นในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ ซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิ ซึ่งมีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิ คือไม่มีจิตและเจตสิกเกิดในรูปพรหมภูมินั้นเลย

    หรือในขณะที่เป็นนิโรธสมาบัติ ขณะนั้นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี ที่ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สามารถที่จะดับจิตและเจตสิกได้ แต่รูปอื่น ซึ่งไม่ใช่จิตตชรูป คือรูปซึ่งไม่ได้เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ยังเกิดได้ เช่นกัมมชรูป ถึงแม้ว่าจะเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมก็จริง แต่ขณะแรกที่จะเกิดในชาติหนึ่งภพหนึ่ง ต้องมีปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ในหมวดที่ ๓ ของสหชาตปัจจัยคือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ปัญจโวการปฏิสนธิจิต เป็นสหชาตปัจจัยแก่ ปฏิสนธิหทยวัตถุ และปฏิสนธิหทยวัตถุ ก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่ ปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น หมวดนี้จึงเป็นทั้งสหชาตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย

    ก็เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น ตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ

    สำหรับ หมวดที่ ๔ ของสหชาตปัจจัย คือ จิต ๗๕ ดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐, และเว้นอรูปวจรวิบาก ๔ ซึ่งทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหม และปฏิสนธิจิต และจุติจิตของพระอรหันต์

    จิต ๗๕ ดวงนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป โดยสหชาตปัจจัย หมายความว่า ในทันทีที่จิตเกิดขึ้นในอุปาขณะ จิตตชรูปก็เกิดพร้อมกัน แต่ว่าจิตตชรูปไม่ได้เป็นปัจจัยให้จิตเกิด เพราะฉะนั้น จิต ๗๕ ดวงนี้ เป็นสหชาตปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด แต่ไม่เป็นอัญญมัญญปัจจัย เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นอัญญมัญญปัจจัยแล้ว จิตที่จะเกิดต้องอาศัยจิตตชรูปด้วย แต่จิตตชรูปไม่ได้มีกำลัง หรือว่าเป็นสมุฏฐานที่จะให้จิตเกิดเลย แต่จิตต่างหาก เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด เพราะฉะนั้น จิตจึงเป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตตชรูป

    หมวดที่ ๕ มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัย แก่อุปาทายรูป ๒๔ รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ก็ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่มีรูปอื่นสามารถจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ ถ้าปราศจาก มหาภูตรูป ๔ เพราะฉะนั้น มหาภูตรูป ๔ เป็นประธาน เป็นที่อาศัยของรูปอีก ๒๔ รูป ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะฉะนั้น มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยของอุปาทายรูป ๒๔ รูป แต่อุปาทายรูปไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดมหาภูตรูป ๔ เพราะฉะนั้น มหาภูตรูป ๔ ไม่เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่อุปาทยรูป เป็นเพียงสหชาตปันนจัยเท่านั้น

    สำหรับ หมวดที่ ๖ ของสหชาตปัจจัย ก็ได้กล่าวถึงแล้วว่า หทยวัตถุในปฏิสนธิกาลเป็นสหชาตปัจจัยแก่ปัญจโวการปฏิสนธิจิตได้ แต่หทยวัตถุในปวัตติกาลเป็นสหชาตปัจจัยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงอัญญมัญญปัจจัย คือปัจจัยที่ ๗ ก็มีเพียง ๓ หมวดเท่านั้นคือ

    หมวดที่ ๑ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒

    หมวดที่๒ มหาภูตรูป ๔ เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๔

    และหมวดที่ ๓ ซึ่งอัญญมัญญปัจจัยมีเพียง ๓ หมวดเท่านั้น คือ ปฏิสนธิจิตและเจตสิกในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ

    เพราะเหตุว่า ปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตและเจตสิกในภูมที่มีขันธ์ ๕

    เพราะเหตุว่า ถ้าปฏิสนธิหทยวัตถุไม่เกิด ปฏิสนธิจิตและเจตสิกก็เกิดไม่ได้

    แต่เรื่องของปัจจัยและปัจจยุปบันน เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถึงแม้ว่าจะได้กล่าวถึงปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ๗ ปัจจัย แต่สามารถจะทวนกลับไปได้ทุกปัจจัย หรือสามารถที่จะกล่าวถึงสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง จากปัจจัยทั้ง ๗ เหล่านี้ เช่น ที่ว่า อัญญมัญญปัจจัย หมวดที่ ๑ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ หรือสหชาตปัจจัย ที่ว่า จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒

    ทวนกลับไปได้ทุกปัจจัย เช่น ถ้าจะทวนไปถึงเห-ตุปัจจัย เพื่อความแจ่มแจ้ง เห-ตุปัจจัยได้แก่ เจตสิก ๖ อย่าลืม

    เจตสิกอื่นเป็นเห-ตุปัจจัยไม่ได้เลย

    จิตทั้งหมด เป็นเห-ตุปัจจัยไม่ได้เลย

    รูปทั้งหมด เป็นเห-ตุปัจจัยไม่ได้เลย

    นิพพาน เป็นเห-ตุปัจจัยไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ยกเห-ตุปัจจัย ๑ คือโลภเจตสิก ซึ่งเป็นโลภเหตุ เป็นปัจจัยให้อะไรเกิดบ้าง นี่ทวนกลับไป โดยสหชาตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย

    โลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้จิตเกิด

    และโลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้เจตสิกอื่นเกิดพร้อมกันด้วย

    และโลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดพร้อมกันกับโลภมูลจิต หรือโลภเจตสิกนั้นด้วย

    ผัสสเจตสิกเกิดเพราะโลภเหตุหรือเปล่า ถ้ากล่าวถึงเห-ตุปัจจัย เวลาที่โลภเจตสิกเกิดเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก และจิตตชรูปเกิด

    เพราะเหตุว่า ท่านผู้ฟังจะพิสูจน์ธรรม ด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ลักษณะของโลภะ เป็นสภาพที่ติด แต่ว่าไม่รู้ตัวเลยใช่ไหม ท่านอาจจะรู้ตัวว่า ติดสิ่งของบางอย่าง แล้วแต่อัธยาศัย บางคนอาจจะติดชา ติดกาแฟ เป็นสภาพที่ละไม่ได้ ติดแล้ว นั่นเป็นลักษณะของโลภะ เวลาที่โลภเจตสิกเกิดนี้ จะห้ามไม่ให้จิตในขณะนั้นติด ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย นี่คืออนัตตา ซึ่งสติ จะต้องระลึกรู้ จะรู้ลักษณะของความติด หรือความต้องการ หรือความเพลิดเพลิน หรือความยินดี ซึ่งมีโลภะเป็นเหตุ ถ้าลักษณะของเห-ตุปัจจัยนี้ คือโลภะเกิดขึ้นแล้ว

    จิตต้องเป็นอย่างนั้น ใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของโลภมูลจิตซึ่งต้องเกิด เพราะเหตุว่า โลภเจตสิกเป็นเหตุเกิดขึ้น ทำให้จิตในขณะนั้นต้องเป็นสภาพที่ติด เป็นสภาพที่ต้องการ รวมทั้งเจตสิกอื่นทั้งหมด ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ก็มีโลภะนั้นเป็นเหตุ

    ขณะที่กำลังเห็นทั่วๆ ไป ที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่รู้สึกว่า ติดในสิ่งที่เห็นใช่ไหม ดูเป็นธรรมดาก็ ก็เห็นอยู่เป็นประจำทุกวันๆ แต่ทำอย่างไรจึงจะสังเกต และพอที่จะรู้ได้ว่าติดแล้ว ตั้งแต่เกิด เมื่อลืมตาก็ติด เพราะเหตุว่า เมื่อมีการเห็น ก็ติดในสิ่งที่เห็น และติดในการเห็น ที่จะรู้ได้ว่าติด ก็ต่อเมื่อเริ่มจะคลาย จึงจะรู้ได้ว่า ก่อนนั้นเคยติด

    เพราะเหตุว่า ลักษณะของการติด ไม่รู้ จนกว่าจะรู้ว่า มีการค่อยๆ ระลึก แล้วรู้ แล้วก็ละความไม่รู้ แล้วจึงจะค่อยๆ คลายการติด ทั้งๆ ที่ติดอยู่ทุกขณะนี้ แต่ไม่รู้สึก เช่นในขณะที่เห็น ถ้าสติไม่เกิด ไม่ได้ระลึกรู้ว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง จะไม่มีการคลายเลย เมื่อไม่มีการคลาย จึงรู้ว่าติดเสียแล้ว และติดมานานแล้ว แล้วก็ติดอยู่เรื่อยๆ

    เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า ยังไม่คลาย ยังไม่มีความรู้สึกที่จะคลาย เพราะความรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานั้น เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งคนตาบอดไม่เห็น ถ้ากล่าวโดยกว้างๆ ทั่วๆ ไป ก็อาจจะยังไม่เป็นตัวอย่าง ที่สติจะระลึกได้ แต่ถ้าขณะที่กำลังรับประทานอาหาร แล้วสติเกิด อาจจะเป็นขั้นพิจารณาก็ได้ว่า ข้าวสีนี้ กับในจานแต่ละจานนี้ แต่ละสี ไม่ว่าจะเป็นแกงเผ็ด หรือแกงจืด หรือผักนานาชนิด อาหารนานาชนิด คนตาบอดไม่มีโอกาสเห็นเลย แม้แต่สีของข้าว คนตาบอดสามารถจะกระทบสัมผัสข้าว สามารถที่จะลิ้มรสของข้าว แต่ไม่สามารถที่จะเห็นสีของข้าวได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ถ้ามีการระลึกได้ ขณะนั้นจะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตา ซึ่งคนตาบอดไม่มีโอกาสที่จะเห็น เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มรู้จริงๆ นอกจากขณะที่กำลังรับประทานอาหาร ยังขณะอื่นๆ อีกทุกขณะ ที่สติสามารถจะระลึกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่อ่อน ไม่ใช่แข็ง ต้องแยกออกโดยเด็ดขาด จึงจะปรากฏสภาพธรรมแท้จริงว่า สภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ทางตา ไม่ใช่ ทางหู

    ไม่ใช่ ทางจมูก

    ไม่ใช่ ทางลิ้น

    ไม่ใช่ ทางกาย

    ไม่ใช่ ทางใจ

    ทุกท่านก็คงจะเคยกราบนมัสการพระพุทธรูป ระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งสติก็อาจจะเกิดระลึกได้อีกว่า คนตาบอดสามารถจะเช็ด ถู ทำความสะอาด แต่ไม่สามารถที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ในขณะนั้น แต่ละขณะ ที่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ละความไม่รู้ จึงจะถึงการคลาย ในวันหนึ่ง ว่า การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง จึงจะทำให้ไม่ติดในสิ่งซึ่งติดแล้ว และติดมานานแล้ว และติดอยู่ทุกขณะ ที่สติไม่ได้ระลึกทางตาหรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    เพราะฉะนั้น จะซาบซึ้งในลักษณะของโลภะไหม ว่า เมื่อโลภเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุ เกิด ที่จะไม่ให้จิตเป็นโลภะ เป็นไปไม่ได้ และผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ไม่ได้หลอกตัวเอง และไม่ได้หลอกคนอื่นด้วย เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ละยาก แม้แต่การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่จะละได้ ก็ต้องบรรลุคุณธรรม ถึงความเป็นพระ

    อนาคามีบุคคล จึงจะดับความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ เป็นสมุจเฉท พระอนาคามีเห็นเหมือนอย่างปุถุชน เหมือนอย่งพระโสดาบัน เหมือนอย่างพระสกทาคามี เหมือนอย่างพระอรหันต์ แต่แม้กระนั้น ความต่างกันของพระอนาคามี และพระสกทาคามี และปุถุชน และพระอรหันต์ ก็ต้องมี ตามขั้นของกิเลส ซึ่งได้ดับไปแล้วเป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น สำหรับปุถุชน ซึ่งเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส ด้วยความไม่รู้ และถ้าเป็นปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ คือไม่ได้ฟังพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงโดยละเอียด ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้รู้สภาพธรรม ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง เมื่อเป็นพาลปุถุชน ไม่ใช่กัลยาณปุถุชน จึงไม่ใช่เสกขบุคคล

    เพราะเหตุว่า ข้อความในอรรถกถา อธิบายว่า ที่ปุถุชนไม่ใช่เสกขบุคคล เพราะเหตุว่า ไม่มีปัญญาที่จะเรียน ผู้ที่จะเรียนอะไรได้ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา จึงจะสามารถเรียนได้ ตามโรงเรียนสามัญทั่วๆ ไป ผู้ที่จะเรียนได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน หรือไม่ใช่กัลยาณปุถุชน ผู้ได้สดับ

    ข้อความในอรรถกถาจึงได้อธิบายว่า ที่ชื่อว่ายังไม่ใช่เสกขบุคคล เพราะเหตุว่า ยังไม่มีแม้ปัญญาเพียงที่จะเรียน หรือที่จะศึกษา แต่สำหรับพระโสดาบันบุคคล ท่านเป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะศึกษาต่อไป จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ที่ทุกท่านสนใจฟังพระธรรม และศึกษาเรื่องของปัจจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง จะทราบไหม ว่าเพราะอะไร หรือว่าทำไมจึงศึกษา

    ถ้าโลภเจตสิกเกิด ที่จะไม่ให้จิตนั้นติด หรือต้องการอารมณ์ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า โลภเจตสิกเป็นเห-ตุปัจจัย ฉันใด เวลาที่อโลภเจตสิกเกิด อโมหเจตสิกเกิด ที่จะไม่ให้จิตเป็นกุศล เป็นโสภณ เป็นจิตที่ดีงามในขณะนั้นก็ไม่ได้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย นี่คือประโยชน์ของการที่สติจะระลึกรู้จริงๆ สนสภาพที่ต่างกันของกุศลธรรมและอกุศลธรรม

    เพราะแม้แต่กุศลเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพียงแต่ว่า ถ้าสติไม่ระลึก ก็ไม่สามารถที่จะเห็นลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นกุศลได้ ถ้าท่านผู้ฟังช่วยเหลือบุคคลอื่น มีจิตเมตตาต่อบุคคลอื่น ดูเป็นสิ่งซึ่งอาจจะเกิดได้ง่าย และรวดเร็ว จนกระทั่งเป็นปกติ เพราะเหตุว่า เป็นอุปนิสสัย เป็นสิ่งซึ่งสะสมมา จนกระทั่งมีกำลัง เกิดขึ้นโดยสะดวก แต่ให้ทราบว่า ในขณะนั้น อโลภเจตสิกเป็นเหตุ อโทสเจตสิกเป็นเหตุ เมื่ออโลภะ และอโทสะ ซึ่งเป็นโสภณเหตุเกิดขึ้นแล้ว ที่จะไม่ให้จิตคิดเมตตา หรือคิดช่วย หรือว่าเป็นโสภณในขณะนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็คือลักษณะของเห-ตุปัจจัยนั่นเอง ไม่ว่าในขณะนั้นจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ก็เพราะเจตสิกซึ่งเป็นเห-ตุปัจจัยนั่นเองเกิดขึ้น ทำให้จิตในขณะนั้นเป็นไปอย่างนั้น

    แล้วขอทบทวนถึงความละเอียด

    ผัสสเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เกิดขึ้นเพราะโลภะเป็นเหตุหรือเปล่า

    เพราะเหตุว่า แม้ผัสสะที่จะกระทบอารมณ์ ก็กระทบด้วยโลภะ คือกระทบด้วยการติด ซึ่งต่างกับผัสสเจตสิก ซึ่งเกิดกับกุศลจิต ในขณะนั้น แม้กระทบอารมณ์ ก็กระทบด้วยความไม่ติด หรือว่าความไม่โกรธ หรือถ้าในขณะนั้น เป็นการอบรมเจริญปัญญา ในขณะที่ผัสสะกระทบกับ นามธรรม หรือรูปธรรม ขณะนั้น ผัสสะก็กระทบด้วยอโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ จนกระทั่งถึงผัสสะที่เกิดกับโลกุตตรจิต ในขระนั้น กระทบกับอารมณ์ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นโลกุตตระ

    เพราะฉะนั้น แม้ผัสสะที่จะกระทบอารมณ์ต่างๆ ก็ต้องแล้วแต่เห-ตุปัจจัย ซึ่งเป็นสหชาตปัจจัยด้วย และเป็นอัญญมัญญปัจจัยด้วยหรือเปล่า

    นี่ คือการที่จะทวนปัจจัยทั้งหมด ที่ได้ศึกษาทีละปัจจัย ทีละปัจจัย กลับไปถึงปัจจัยต้นๆ ที่ได้ศึกษาแล้ว เพื่อความเข้าใจชัดเจนจริงๆ

    โลภะเหตุเป็นสหชาตปัจจัย เป็นเห-ตุปัจจัย ให้โลภมูลจิตเกิด และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย ไม่เป็นปัญหาใช่ไหม ผัสสเจตสิก ซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต เป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิกหรือเปล่า โลภเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิต และเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับโลภมูลจิต ผัสสะก็เกิดกับโลภมูลจิต เวทนาก็เกิดกับโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิกหรือเปล่า ไม่เป็น ก็ผิด นี่ เรื่องที่จะต้องเข้าใจความละเอียดจริงๆ โดยเหตุผล เหตุผล ต้องเป็นเหตุผล ผัสสเจตสิกต้องเป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิก โดยสหชาตปัจจัย ไม่ใช่โดยเห-ตุปัจจัย หนึ่งแล้ว โดยอัญญมัญญปัจจัย ไม่ใช่โดยเห-ตุปัจจัย

    ชีวิตตามความเป็นจริงแต่ละขณะ กว่าจะรู้ชัดเจนว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลยสักขณะเดียว สภาพธรรมแต่ละอย่าง อาศัยกับเกิดขึ้นจริงๆ แต่ต้องละเอียด จึงจะรู้ตามความเป็นจริง ว่านามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง เท่านั้นเองจริงๆ แต่ที่เกิดเป็นไปแต่ละครั้งๆ เพราะปัจจัยอะไรบ้าง

    ต่อไปนี้ก็ไม่มีปัญหาอีกแล้วใช่ไหม

    ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิก โดยเป็นสหชาตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย

    แต่โลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสเจตสิก โดยเป็นเห-ตุปัจจัย สหชาตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย

    ชื่ออาจจะยาก แต่ภาษาไทยก็คุ้นเคยกันเป็นส่วนใหญ่ เช่นคำว่าเห-ตุ เป็นสภาพธรรม ซึ่งเป็นเหตุ เป็นมูลของกุศลและอกุศล สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์แล้ว ดับโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ แต่ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิด อโลภะเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ แต่ไม่ใช่กุศล เพราะเหตุว่า ไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้น อโลภะเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุของพระอรหันต์ จึงเป็นอัพพยากตเหตุ คือเป็นกิริยา และเป็นวิบากได้

    นี่เรื่องของเห-ตุปัจจัย ซึ่งโลภเจตสิกเป็นเห-ตุปัจจัย ทำให้เกิดปัจจยุปบันน คือโลภมูลจิต และเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมด้วย และจิตตชรูป

    เพราะฉะนั้น ถ้าถามย้อนไปว่า โลภเจตสิก เป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูปหรือเปล่า เหตุนะคะ เจตสิกนะคะ โลภเจตสิก เป็นปัจจัยให้เกิดรูปหรือเปล่า นี่ บางทีก็เข้าใจว่า ได้เข้าใจมาบ้างแล้วพอสมควร แต่ยังมีความละเอียดอีกเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งควรจะเข้าใจให้ชัดเจนจริงๆ เมื่อถึงสหชาตปัจจัยแล้ว อย่าลืมที่เดียว ว่า จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกัน เป็นอัญญมัญญปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้น ถ้ายกเจตสิกหนึ่งเป็นเหตุ คือโลภเจตสิกเป็นเหตุ อย่างอื่นต้องเป็นปัจจยุปบันน จิตที่เกิดร่วมด้วย ก็ต้องเป็นปัจจยุปบันน เพราะกล่าวถึงโลภเจตสิก ในขณะนั้นเป็นเหตุ สภาพธรรมอื่น จะเป็นตัวเหตุไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เกิดพร้อมกัน โลภเจตสิกเกิดพร้อมกับโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้น ถ้ายกเจตสิกหนึ่งเป็นเหตุ คือโลภเจตสิกเป็นเหตุ อย่างอื่นต้องเป็นปัจจยุปบันน จิตที่เกิดร่วมด้วย ก็ต้องเป็นปัจจยุปบัน เพราะกล่าวถึงโลภเจตสิก ในขณะนั้นเป็นเหตุ สภาพธรรมอื่น จะเป็นตัวเหตุไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เกิดพร้อมกัน โลภเจตสิกเกิดพร้อมกับโลภมูลจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    23 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ