ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 19


    ตลับที่ ๑๐

    อารัมมณูปนิสสยปัจจัย อารมณ์ซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น ๑

    อนันตรูปนิสสยปัจจัย ได้แก่ การเกิดและดับไป เป็นที่อาศัยที่มีกำลังให้ ปัจจยุปบันธรรมเกิดต่อ คือให้จิตและเจตสิกดวงหลังเกิดต่อ ๑

    ปกตูปนิสสยปัจจัย ได้แก่ สภาพการสะสมจนเป็นปกติ และเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น เป็นไปต่างๆ ๑

    ซึ่งจะขอกล่าวถึง อุปนิสสยปัจจัยทั้ง ๓ ตามลำดับ

    สำหรับคำอธิบายของ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย มีว่า

    อารัมมณูปนิสสยปัจจัย คืออารมณ์ซึ่งเป็นที่อาศัย ที่มีกำลังมาก หรือมีกำลังอย่างแรงกล้า ก็ได้แก่ อารัมมณาธิปติปัจจัย นั่นเอง

    ทวนกลับไปหา อารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ว่ามีข้อที่ต่างกัน ซึ่งจะต้องทราบว่า อารัมมณาธิปติปัจจัย ได้แก่อะไร ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว แต่ก็ต้องทบทวนอีก เพื่อที่จะได้ไม่ลืม และเพื่อที่จะได้เข้าใจอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ว่า มีความต่างจากอารัมมณาธิปติปัจจัยอย่างไร

    สำหรับ “อารัมมณาธิปติปัจจัย” นั้น เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ ในฐานะที่เป็นอารมณ์ที่ดี ลักษณะของอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดี เช่นเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ เป็นอิฏฐนิปผันนรูป โดยศัพท์ หมายถึงอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อารมณ์ซึ่งมีสภาวธรรมจริงๆ เกิดขึ้น รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป และรูปที่เป็นนิปผันนรูป คือรูปที่มีลักษณะจริงๆ ของตน คือ นิปผันนรูป มี ๑๖ รูป แต่เท่าที่ปรากฏ คือรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งเป็นอารมณ์อยู่ทุกๆ วันนี้ เป็นอารมณ์ที่ดี ที่น่าพอใจก็มี เป็นอารมณ์ซึ่งไม่น่าพอใจก็มี

    เพราะฉะนั้น อารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ ต้องเป็นอารมณ์ที่ดีเท่านั้น จึงจะเป็นอารัมมณาธปิตปิปัจจัย กลิ่นหอมเป็นอารมณ์ที่ดี โดยลักษณะ สภาพของกลิ่นที่ดี เป็นอารัมมณธิปติปัจจัย นั่นคือความหมายของอธิปติปัจจัย

    แต่ถ้าเป็นอุปนิสสยปัจจัย อารมณ์ที่ดีนั้นต้องมีกำลัง ที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น พอใจอย่างหนักแน่น ในอารมณ์นั้น

    บางคนเฉยๆ ใช่ไหม อารมณ์ที่ดี สมมติว่า จะไปที่ร้านเพ็ชรนิลจินดา ก็มีอารมณ์ที่ดีปรากฏ สีต่างๆ แต่ใจก็เฉยๆ ไม่ได้สนใจ ถึงแม้ว่า อารมณ์นั้น โดยลักษณะสภาพของอารมณ์เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นอารมณ์ที่ดี เป็นอารมณ์ที่น่าใฝ่ใจเป็นพิเศษ แต่ไม่เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นติด หรือพอใจอย่างหนักแน่นในอารมณ์นั้น

    นี่คือความต่างกันของอารัมมณาธิปติปัจจัย และอารัมมณธปนิสสยปัจจัย

    ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ใช่ไหม อารมณ์ที่ดีคือรูปที่ดีทั้งหมด ลักษณะของรูปนั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ขณะใดก็ตาม ซึ่งมีกำลัง ทำให้จิตเกิดขึ้น พอใจ หนักแน่นในอารมณ์นั้น อารมณ์นั้น นอกจากจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แล้ว ก็ยังเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้จิตเกิดพอใจใฝ่หาอย่างหนักแน่นในอารมณ์นั้น โลภมูลจิตใช่ไหม ตามปกติของอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน ว่าอารมณ์ที่ดีมี และอารมณ์ที่ดีเหล่านั้นเอง เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ที่ทำให้จิตพอใจหนักแน่น เกิดขึ้น โดยไม่ขาดสาย ซึ่งจะเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสนี้ ถ้าไม่ทราบเรื่องของปัจจัยจริงๆ ว่า เกิดขึ้น สืบต่อ เป็นมาอย่างแรงกล้า อย่างมีกำลัง และอย่างเหนียวแน่นแค่ไหน จะไปเพียรทำการบังคับ ไม่ให้กิเลสเกิด หรือว่า บังคับที่จะดับกิเลส โดยที่ไม่รู้สภาพที่แท้จริง ของปัจจัยทั้งหลาย ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น การศึกษาให้เข้าใจ เรื่องของสภาพปัจจัยต่างๆ โดยละเอียดขึ้น จะทำให้เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ถูกต้องขึ้น และสามารถที่จะละคลาย ดับกิเลส ได้ตามความเป็นจริง แต่ถ้าไม่เข้าใจ จะไม่รู้กำลังของปัจจัยทั้งหลายเลย แม้แต่อารัมมณาธิปติปัจจัย ซึ่งเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยอยู่เสมอ สำหรับทุกคนที่ยังมีโลภมูลจิต เพราะเหตุว่า โลภมูลจิตเอง ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และเป็นจิตซึ่งเกิดขึ้นพอใจในทุกสิ่งได้ แม้ในโลกียกุศล นอกจากอิฏฐนิปผันรูป คือรูปซึ่งโดยลักษณะแล้ว เป็นรูปที่ดี ที่น่าปรารถนาแล้ว จิตทุกดวง เว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง และทุกขกายวิญญาณ คือการปวด เจ็บ เมื่อย ความทุกข์กายต่างๆ ๑ ดวง จิตอื่นนอกจากนี้ทั้งหมด เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    ซึ่งโดยลักษณะที่เป็นที่พอใจของทุกคน ที่ต้องการจะมีจิตอยู่เรื่อยๆ แต่ว่า มีจิตหลายประเภท คือ ในบรรดาอกุศลจิต ๑๒ ดวง อย่าลืม อกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ ดวง เมื่อเว้น โทสมูลจิต ๒ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวงแล้ว โลภมูลจิต ๘ ดวง เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แสดงให้เห็นว่า ในบรรดาอกุศลจิตทั้งหมด ๑๒ ดวง ที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย คือสภาพที่น่าพอใจ ได้แก่เฉพาะ โลภมูลจิต ๘ ดวงเท่านั้น ไม่มีใครปรารถนาโทสมูลจิต ทุกคนถามเสมอ เมื่อไรจะไม่มีโทสะ ไม่ชอบเลย โมหมูลจิต ก็ไม่เป็นที่ปรารถนาเหมือนกัน รวมทั้งทุกขกายวิญญาณด้วย สำหรับประเภทวิบากจิต แต่สำหรับประเภทอกุศลจิต ๑๒ ดวงแล้ว ตัดโทสมูลจิตและโมหมูลจิตได้ ให้ทราบว่า ในอกุศลจิต ๑๒ ดวง เฉพาะโลภมูลจิต ประเภทเดียวเท่านั้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่า ลักษณะของโลภะ เป็นลักษณะที่เพลิดเพลิน สนุก พอใจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอารัมมณาธิปติ โดยลักษณะสภาพของเจตสิก คือโลภเจตสิกก็ดี หรือโลภมูลจิตก็ดี เป็นสภาพซึ่งทุกคนพอใจ ติดใจ เพลิดเพลิน ยินดี เพราะฉะนั้น จึงเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    จิตไม่สามารถจะฝืนกระแส ที่จะไม่ยินดี พอใจในโลภะนั้นๆ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตนั้นๆ จึงเป็นอารัมมณูปนิสสย คือเป็นอารมณ์ซึ่งมีกำลัง ซึ่งทำให้จิตและเจตสิก ติด หรือยินดี ต้องการในอารมณ์นั้นอยู่เรื่อยๆ

    นี่คือความต่างกันของอารัมมณาธิปติปัจจัย และอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    อารัมมณาธิปติปัจจัย หมายเฉพาะลักษณะสภาพของอารมณ์นั้น เป็นที่พอใจ แต่ขณะใดก็ตามที่มีกำลัง ทำให้จิตเกิดติด หรือพอใจขึ้น ขณะนั้น นอกจากจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว ก็เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยด้วย เพราะเหตุว่า เป็นอารมณ์ซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ซึ่งทำให้จิตติด หรือว่าพอใจ ใฝ่ใจเป็นพิเศษในอารมณ์นั้น แสนโกฏิกัปป์มมาแล้ว แล้วจะละอย่างไร ในชาตินี้ ชาติเดียว จะไปเป็นพระอรหันต์ ชาตินี้ชาติเดียว โดยไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้กำลังของอารัมมณาธิปติปัจจัย หรืออารัมมณูปนิสสยปัจจัยเลย ว่า ทุกวันๆ นี้ แม้ว่า นอกจากอิฏฐนิปผันรูป คือรูปที่ดี ซึ่งเป็นที่พอใจ นอกจากโลภมูลจิตแล้ว จิตอื่นที่ดี ก็เป็นอารัมมณาธปิติปัจจัยด้วย เช่นมหากุศลจิต โดยสภาพแล้ว เป็นสภาพที่ดีแน่ กุศลจิต ใครไม่ชอบ เป็นจิตซึ่งปราศจาก โลภะ โทสะ โมหะ ประกอบด้วย อโลภะ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ติด ไม่ได้ติดในอารมณ์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นมีอโทสเจตสิกเกิดด้วย เป็นสภาพของจิต ซึ่งผ่องใส สงบ ปราศจากโลภะ โทสะ

    เพราะฉะนั้น โดยลักษณะแล้ว กุศลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    แม้มหากุศล หรือกามาวจรกุศล ซึ่งเป็นกุศลขั้นที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น โลกียกุศล ทั้งหมด และโลกุตตรกุศล เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ต้องแยกอีกว่า สำหรับโลกียกุศลเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของจิตประเภทใดได้ และโลกุตตรกุศล เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของจิตประเภทใดได้

    ถ้าไม่เข้าใจความละเอียด สับสนอีก จะคิดว่าอกุศลเป็นกุศลอีก

    ถ้าเข้าใจผิด คิดผิดเมื่อไร เมื่อนั้นก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลสอีกแล้ว เพราะฉะนั้น หนทางที่จะดับกิเลสนี้ เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ละเอียด ถูกต้องชัดเจน เพื่อที่จะไม่เป็นผู้ที่ประมาท และอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะแม้แต่กุศลจิต ที่เป็นขั้นกามาวจร คือเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ยังมี ๒ ประเภท คือ มหากุศลจิต ที่ประกอบด้วยปัญญา และมหากุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    และท่านผู้ฟังจะทราบได้ว่า ว่าตัวของท่านเอง กุศลประเภทใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย หรือเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยแล้ว ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน เป็นขบวนการของจิต เจตสิก รูป เกิด – ดับ สืบต่อ สะสมมาเนิ่นนาน แสนโกฏิกัปป์ จนกระทั่งถึงขณะนี้

    เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่า แต่ละบุคคล จะมีอุปนิสสัยต่างๆ ตามปัจจัยต่างๆ บางท่านก็มีอุปนิสสัย คือ มีอารัมมณาธิปติปัจจัย และอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ในทางอกุศลมากเหลือเกิน เต็มไปด้วยโลภะ ในรูป ไม่พอ ในเสียง ไม่พอ ในกลิ่น ไม่พอ ในรส ไม่พอ ในโผฏฐัพพะ ไม่พอ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่ละขณะจิต ซึ่งเกิด – ดับ สะสม สืบต่อ ด้วยกำลังของปัจจัยต่างๆ

    และสำหรับบางท่าน ซึ่งสะสมอุปนิสสัยในทางกุศลมาบ้าง ก็ยังเป็นกุศลที่ต่างกัน เพราะเหตุว่า บางท่านเป็นผู้ที่ให้ทาน สละวัตถุได้ แต่ยังไม่มีอารัมมณาธิปติปัจจัย หรืออารัมมณูปนิสสยปัจจัยทางฝ่ายมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ซึ่งประกอบด้วยปัญญา

    นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละคนใช่ไหม ซึ่งท่านผู้ฟัง ก็จะเห็นได้จากญาติสนิท มิตรสหายทั่วๆ ไป บางท่านก็มีกุศลศรัทธาในการให้ทาน แต่ไม่สนใจที่จะศึกษาธรรมที่จะให้เข้าใจเหตุในผล เพราะฉะนั้น กุศลญาณวิปปยุตต์สำหรับท่านผู้นั้น ขณะใดที่เกิดขึ้น ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ทำให้กุศลจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลนี้ ก็จะทราบได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ แล้วแต่อธิปติปัจจัยบ้าง เห-ตุปัจจัยบ้าง หรืออารัมมณาธิปติปัจจัยบ้าง อารัมมณูปนิสสยปัจจัยบ้าง

    นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ว่าเป็นเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยของใครบ้างแล้ว พอพูดถึงนิพพาน ทุกคนก็ต้องยกไว้ว่า เป็นอารมณ์ที่ประณีต ที่ดับกิเลส เป็นโลกุตตร สงบอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า ไม่เกิดขึ้น ไม่ดับไป ไม่สามารถที่จะเป็นที่ตั้งของความยินดี พอใจได้เลย เพราะฉะนั้น นิพพานปรมัตถ์ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย โดยสภาพของนิพพาน แต่ใครต้องการนิพพานบ้างแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็ยังไม่เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย คือยังไม่มีกำลังมาก ที่จะให้จิตเริ่มขวนขวายที่จะอบรมเจริญ หนทางข้อปฏิบัติ ที่จะให้รู้แจ้งนิพพานได้

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะมีการฟัง แล้วก็เข้าใจว่า นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยก็จริง แต่ขึ้นอยู่กับจิต ว่าสภาพธรรมของนิพพาน ที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยนั้น จะเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยให้จิต เริ่มที่จะประพฤติปฏิบัติ ศึกษา ขวนขวาย เพื่อที่จะให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพานหรือยัง

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การที่จะบรรลุถึงนิพพาน ไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ ไม่รู้อะไรเลย เพียงแต่ปรารถนาอยากจะถึง ก็ไปนั่งจดจ้อง เพื่อที่จะให้ถึงนิพพาน แต่ต้องเข้าใจว่า แม้แต่นิพพาน ซึ่งเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยนั้น ได้เริ่มเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยแก่มหากุศลญาณสัมปยุตต์แล้วหรือยัง เพราะเหตุว่า หลายท่านก็อาจจะได้ฟังว่า นิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส และมีความเห็นด้วย ขณะนั้นอย่าลืม อธิปติปัจจัย ว่าเป็นอธิปติปัจจัยประเภทไหน

    เป็นฉันทาธิปติ

    หรือว่า เป็นวิริยาธิปติ

    หรือว่า เป็นจิตตาธิปติ

    หรือว่า เป็น วิมังสาธิปติ

    เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีเหตุผลมากกว่านั้น เพียงแต่ได้ยินได้ฟังว่า นิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลส ขณะที่มีความเห็นถูกอย่างนั้น ขณะนั้นเป็นจิตตธิปติได้ โดยที่ยังไม่ใช่วิมังสาธิปติ เพราะเหตุว่า ยังไม่ได้พิจารณาไตร่ตรอง สอบทาน จนกระทั้งเห็นจริงๆ ว่า การที่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้จริงๆ นั้น จะต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญาอย่างไร

    เพราะฉะนั้น แม้อารมณ์ที่เป็นกุศลเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศลก็ได้ เพียงแต่ขาดความรอบคอบเพียงเล็กน้อย ขณะที่โลภะเกิดขึ้น ยินดี พอใจในกุศล ในขณะนั้น ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศลเสียแล้ว

    นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ โดยละเอียดจริงๆ ถึงจะประจักษ์แจ้งได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย และอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกไหม

    อย่าลืม การที่จะให้นิพพานเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย จะต้องเริ่มตั้งแต่ ให้เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยของมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ที่เข้าใจถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ แล้วอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึง อนันตรูปนิสสยปัจจัย และปกตูปนิสสยปัจจัย

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องของอารัมมณาธิปติปัจจัย และอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสติสามารถจะระลึกรู้ถึงปัจจัยทั้งหลาย ซึ่งกำลังเกิดขั้นเป็นไป ของแต่ละบุคคล

    แม้แต่เห-ตุปัจจัย หรืออารัมมณาปัจจัย หรืออธิติปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย สหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย อุนิสสยปัจจัย

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม

    ทรงเกียรติ อาจารย์กล่าวว่า การที่จะอบรมให้สภาพของนิพพานเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ก็ในเมื่อสภาพของนิพพานเรายังไม่ประจักษ์ ในสิ่งที่เรายังไม่ประจักษ์ เราจะอบรมอย่างไร

    อ.จ. มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดขึ้น พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับลักษณะของนิพพาน

    เพราะฉะนั้น จะขาดการศึกษาไม่ได้ จะขาดการอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะกุศลก็มี แม้ที่เป็นญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น อย่าพึงพอใจเพียงมีกุศลญาณวิปปยุตต์ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ได้อบรมเจริญมหากุศลญาณสัมปยุตต์เพิ่มขึ้น ก็ไม่มีวันที่จะประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้ แม้ว่านิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่เมื่อเข้าใจแล้ว ในขณะที่ท่านผู้ฟังมีฉันทะบ้าง หรือมีวิริยะบ้าง ที่สนใจศึกษาพระธรรม นี่เป็นการเริ่มแล้วใช่ไหม สำหรับอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ที่ถูก เพราะเหตุว่า ต้องศึกษาให้เกิดความรู้ก่อน ถ้าไม่มีมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ที่จะรู้เรื่องของนามธรรมและรูปธรรม และการอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ก็ไม่มีทางที่นิพพานจะเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยได้ เพราะเหตุว่า ไม่เข้าใจ ไม่รู้ลักษณะของนิพพาน ไม่รู้ลักษณะของสติและไม่รู้ลักษณะของปัญญา ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่รู้ลักษณะสภาพที่เป็นปัจจัย ของนามธรรมและรูปธรรม ก็ต้องเป็นตัวตน

    แต่ขณะใดก็ตาม ถ้าโทสะเกิดขึ้น สติระลึก จะรู้ได้ว่า เป็นสภาพธรรมซึ่งจะต้องเป็นไปตามลักษณะของโทสะ เพราะเหตุว่า โทสเจตสิกเกิดแล้ว ที่จะให้จิตเป็นอื่น นอกจากโทสมูลจิต เป็นไปไม่ได้ ซึ่งจะให้รูปซึ่งเกิดเพราะโทสมูลจิต เปลี่ยนสภาพเป็นรูปอื่นก็ไม่ได้ ลักษณะของรูปต้องหยาบกระด้าง หรือว่าเป็นสภาพธรรม ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่มีใครพอใจลักษณะอาการซึ่งเกิดจากโทสมูลจิต เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาอย่างนี้ จะไปทำอย่างอื่น จะเห็นเห-ตุปัจจัยไหม หรือแม้แต่ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร อกุศลเกิดขึ้นได้อย่างไรก็ไม่รู้ กุศลเกิดขึ้นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่มีตัวตน ซึ่งจะพยายามไปเปลี่ยนแปลง จะไปดับอกุศลโดยไม่รู้ปัจจัยทั้งหลายเลย ก็ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้

    ทรงเกียรติ ก็หมายความว่า ถ้าเราศึกษาสภาพของนิพพาน รู้ว่า นิพพานนี้มีสภาพดับกิเลส ดับตัณหา ดับสังขารทั้งหลาย ในเมื่อศึกษาอย่างนี้ รู้อย่างนี้ ก็ชื่อว่ารู้นิพพานแล้วใช่ไหมครับ

    อ.จ. ขณะนั้นกุศลจิตก็เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่า ทำให้ใฝ่ใจแสวงหา อบรมเจริญกุศล ซึ่งเรื่องของกุศลจิต ที่จะเกิดนี้ ท่านผู้ฟังลองพิจารณาซิว่ายากไหม มีการสั่งสอนเรื่องศีลธรรมมากมายประการต่างๆ แต่ว่าในวันหนึ่งๆ อกุศลจิต โลภมูลจิตก็ยังเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    เพราะฉะนั้น กว่ากุศลประเภทหนึ่งประเภทใดจะเกิด ลักษณะของกุศล ซึ่งโดยสภาพของกุศลแล้ว เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ว่าใครจะเห็นคุณค่า หรือใครจะเห็นประโยชน์ หรือใครจะเห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งควรจะเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย คือหมายความว่าเป็นสภาพธรรมที่ควรจะเจริญ หรืออบรม แม้กุศลญาณวิปปยุตต์ ยิ่งเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย จนกว่าจะถึงโลกุตตรกุศล ซึ่งนิพพานในขณะนั้น จะเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลกุตตรกุศล

    ต้องค่อยๆ พากเพียรไป แล้วเห็นประโยชน์ของอารัมมณาธิปติปัจจัย ที่เป็นฝ่ายกุศล โดยรู้ว่า อารัมมณาธิปติปัจจัยนั้น มีทั้ง ๒ ฝ่าย คือที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นกุศลก็มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ควรที่จะสะสมอบรม อารัมมณาธิปติปัจจัย โดยเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ทางฝ่ายกุศล เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จะไปฝืนบังคับยังไงก็ไม่ได้ ที่จะให้หมดโลภะ โทสะ โมหะ นอกจากปัญญาจะอบรมเจริญขึ้น

    ท่านผู้ฟังเคยคิดถึงกุศลที่เคยทำมาแล้วหรือเปล่า เคย

    ระลึกถึงแล้วเป็นอย่างไรบ้าง นี่เป็นข้อสำคัญต่อไป ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงแค่เคยใช่ไหม เพราะเหตุว่า ทุกคนก็เคยคิดถึงกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ที่ผ่านมาแล้ว อย่าลืมว่า สติปัฏฐานระลึกรู้สภาพจิตซึ่งกำลังมีกุศล ที่ได้เคยทำมาแล้ว เป็นอากุศล หรืออกุศลที่เคยทำมาแล้ว เป็นอารมณ์ ประโยชน์อยู่ที่ขณะนั้น เพราะเหตุว่า ถ้าระลึกถึงกุศลที่ได้เคยทำมาแล้ว จิตผ่องใสเบิกบาน ขณะนั้นเป็นกุศลอีก และอาจจะคิดถึงกุศลที่จะกระทำต่อไปอีก เพราะเหตุว่า ได้เคยกระทำกุศลอย่างนั้นแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    23 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ