ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 20


    เพราะเหตุว่า ได้เคยกระทำกุศลอย่างนั้นแล้ว ก็ใคร่ที่จะกระทำกุศลอย่างนั้นอีก เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการที่คิดถึงกุศลที่เคยทำแล้ว ก็คือสามารถที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้น งอกงามไพบูลย์ขึ้น แต่ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ ระลึกถึงกุศลที่ได้ทำแล้ว เกิดมานะ ความสำคัญตน หรือว่าเกิดโลภะ หรือว่าเกิดความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น โดยไม่รู้ เช่น มีท่านผู้หนึ่ง ท่านก็เคยรับประทานสุรา แล้วท่านก็ศึกษาธรรม ก็เห็นประโยชน์ว่า ควรที่จะรักษาศีล ให้ครบถ้วน ไม่ควรจะขาดข้อหนึ่งข้อใด ในศีล ๕ ท่านก็รักษาศีล ๕ แล้วท่านก็ถามว่า ทำไมรักษาศีล ๕ แล้ว ไม่เห็นปีติเลย

    ต้องการอะไร มาแล้ว ต้องการปีติ เพื่อปีติ เพื่ออย่างหนึ่งอย่างใด แต่ถ้าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นการสะสมทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย โดยการรู้เหตุ จะเกิดปีติได้ว่า กำลังสะสมสภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติ ที่เป็นฝ่ายกุศล

    เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะไม่ให้โลภะเกิด จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ และ ต้องรู้ด้วยว่า เหตุอะไร จะทำให้โลภะไม่เกิด หรือว่ากุศลจะเกิดได้ คือแทนที่จะคอยว่า น่าจะปีติแล้ว เพราะเหตุว่า ได้รักษาศีล ๕ แล้ว แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอาการของความหวังอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอากุศล แต่ถ้าไม่หวังปีติเลย แต่รู้ว่า ขณะนี้กำลังสะสมอารัมมณูปนิสสยปัจจัยฝ่ายกุศล ซึ่งวันหนึ่งจะต้องมีกำลังขึ้น ขณะนั้นปราศจากความหวัง หรือความเป็นตัวตน ก็ย่อมจะเกิดปีติได้

    นี่ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคน ก็ควรที่จะพิจารณาสภาพธรรม ซึ่งจะต้องเป็นสติสัมปชัญญะ จึงจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้ว กุศลและอกุศล ซึ่งเกิด – ดับสลับกันอย่างรวดเร็ว จะทำให้ปัญญาไม่สามารถที่จะชัดแจ่มแจ้งได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัยต่างๆ เช่น อารัมมณาธิปติปัจจัย หรืออารัมมณูปนิสสยปัจจัย ถ้าได้เข้าใจโดยละเอียด ก็จะเกื้อกูลทำให้สติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ได้เข้าใจโดยขั้นของการฟัง และการพิจารณา แล้วจะเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย จนกระทั่งถึงเป็นขั้นที่เป็นอารมณ์ ที่กำลังปรากฏของกุศลจิตได้ เพราะเหตุว่า ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ จึงจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นถูกต้อง ตามความเป็นจริง

    ในขณะที่ฟัง ขั้นการศึกษา ก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ขั้นฟัง แต่ก็จะสะสมอบรมไปจนกระทั่งถึงขณะที่เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย คือเป็นอารมณ์ให้สติสัมปชัญญะเกิดกับมหากุศลญาณสัมปยุตต์ สามารถที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม ตรงตามที่ได้ศึกษา

    วันหนึ่งๆ อย่าลืม ปัจจัยทั้งนั้น ถ้าสติระลึกก็รู้ แต่ถ้าสติไม่ระลึก ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว คือจิต เจตสิก รูป ซึ่งต่างเป็นปัจจัย โดยปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง แม้ในขณะนี้เอง เห-ตุปัจจัยมี อารัมมณปัจจัยมี อนันตรปัจจัยมี สมนันตรปัจจัยมี สหชาตปัจจัยมี อัญญมัญญปัจจัยมี นิสสยปัจจัยมี อุปนิสสยปัจจัยก็มี รู้เมื่อไร ก็จริงเมื่อนั้น มีจริงๆ เป็นจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย

    สำหรับอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ยัง มีข้อสงสัยอะไรอีกไหม

    ชาญ อารัมมณาธิปติเห็นอารมณ์กี่ชนิด

    อ.จ. อารัมมณาธิปติปัจจัย รูปที่ดี อย่าลืม รูปที่ดีเป็นอธิปติ เป็นใหญ่ในฐานะที่เป็นอารมณ์ที่ดี มีสภาพน่าใฝ่ใจเป็นพิเศษ ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ เพราะทุกคนชอบรูปที่ดีเท่านั้น รูปที่ไม่ดี ไม่ชอบ จิตทุกดวง เว้น โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ และทุกขกายวิญญาณจิต ๑ ดวง

    สรุป คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง เฉพาะโลภมูลจิต ๘ ดวงเท่านั้น ที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย สำหรับวิบากจิต ๑ ดวง คือ ทุกขกายวิญญาณจิตเท่านั้น ที่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เพราะเหตุว่า ไม่มีใครชอบ สำหรับเจตสิกที่เกิดกับจิต ก็เว้นตามประเภท เช่นเว้นโทสเจตสิก อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก กุกกุจจเจตสิก คือเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตได้เท่านั้น ต้องเว้น และเว้นวิจิกิจฉาเจตสิก ซึ่งเกิดได้เฉพาะกับโมหมูลจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย นิพพานเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    เพราะฉะนั้น การทบทวนปัจจัย ในชีวิตประจำวันจริงๆ ได้ แต่อย่าลืมว่า ขณะนั้นเป็นขั้นคิด ไม่ใช่สติปัฏฐานที่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ เพราะเหตุว่า ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใด สามารถที่จะยับยั้งการคิด ถ้าคิดถูก ก็เป็นสัมมาสังกัปปะ เป็นมหากุศลจิต แต่ว่าไม่ใช่การที่จะรู้ลักษณะ ที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทวาร ขณะที่คิด ไม่ใช่พยายามหยุดไม่ให้คิด แต่ให้เริ่มระลึกรู้ว่า ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่ลักษณะของนามธรรมกำลังปรากฏแก่สติ หรือลักษณะของรูปธรรมกำลังปรากฏ แต่ขณะนั้นเป็นเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ก็มีลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมปรากฏ สลับกับเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น เรื่อง ไม่ใช่นามธรรมและรูปธรรม แต่จิตที่กำลังคิดเรื่อง เป็นนามธรรม

    ต้องอบรมเจริญไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดความสงสัย ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    สำหรับอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ยังมีข้อสงสัยอีกไหม ประโยชน์ก็คือ จะได้ทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยของกุศลหรืออกุศล สำหรับท่าน ซึ่งจะรู้ได้ เมื่อสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรู้ง่ายเลย เพราะเหตุว่า จิต เจตสิก เกิด – ดับ สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    นี่เป็นเหตุซึ่งบางท่านจะต้องถามว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ใครจะตอบได้ ในเมื่อทั้งกุศลและอกุศล ก็เกิด – ดับสลับกันไปอย่างรวดเร็วแล้ว เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ชัดจริงๆ ได้ ก็คือ สติระลึก แล้วปัญญาเริ่มพิจารณาขณะใด ก็จะเป็นหนทางที่จะทำให้รู้จริงๆ ว่า จิตในขณะที่มีอารัมมณาธิปติปัจจัยเป็นอารมณ์ เป็นปัจจัยนั้น เป็นปัจจัยของกุศลจิต หรืออกุศลจิต เพราะเหตุว่า อย่าลืมว่า รูปที่ดีทั้งหมดเป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้ แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดยินดีพอใจ ติดใจในรูปหนึ่งรูปใด ซึ่งเป็นรูปที่ดี อย่าเข้าใจผิดว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต ต้องเป็นโลภมูลจิตแล้ว เพราะเหตุว่า รูปที่ดี เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

    ทุกท่านที่มีรูปที่ดี ขณะนั้น แล้วแต่ว่า รูปที่ดีนั้น จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลหรืออกุศล เป็นอารมณ์ของกุศลจิตก็ได้ ถ้าไม่ติด ถ้าสละให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น สามารถที่จะสละได้ ไม่ติด สามารถที่จะบริจาค ในขณะนั้น รูปที่ดีนั้น เป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้ แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ของโลภมูลจิตได้ ติดแล้วทันที

    เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นความต่างกันที่จะต้องเข้าใจ อารัมมณปัจจัย อารัมมณาธิปติปัจจัย อารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    ถ้าไม่มีข้อสงสัยในเรื่องของอารัมมณูปนิสสยปัจจัย

    สำหรับอุปนิสสยปัจจัยที่ ๒ คือ อนันตรูปนิสสยปัจจัย คำอธิบายมีว่า เหมือนอนันตรปัจจัย คือสภาพธรรมได้แก่ จิตและเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิก ขณะต่อไป เกิดขึ้นติดต่อกันไม่มีระหว่างคั่น และมีกำลังมาก สำหรับอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    เพราะฉะนั้น สำหรับอนันตรูปนิสสยปัจจัย องค์ธรรมคือสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย เหมือนอนันตรปัจจัย ก็ได้แก่ จิตทุกดวง และเจตสิกทุกดวงที่เกิดก่อนๆ เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ เป็นปัจจัยให้จิตทุกดวง และเจตสิกทุกดวง ที่เกิดหลังๆ เกิดขึ้น

    ท่านผู้ฟังยังไม่เห็นกำลังของอนันตรปัจจัยใช่ไหม เพราะเหตุว่า ดูเป็นธรรมดา ธรรมชาติ เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่เคยขาดจิตเจตสิกเลย แต่ที่จิตเจตสิกขณะใด เกิดปรากฏมีกำลังขึ้น ให้ทราบว่า ถ้าจิตดวงก่อนไม่ดับไป จิตดวงนั้นก็เกิดไม่ได้ ก็แสดงว่า การดับของจิตดวงก่อน มีกำลัง จึงทำให้จิตดวงหลัง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยนั้น เกิดขึ้นได้

    ถ้าจะเอาอย่างย่อ ก็ย่อ ถ้าจะต้องการให้ละเอียด ก็มีการที่จะพิจารณาเรื่องของอนันตรูปนิสสยปัจจัยว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นติดต่อกัน ไม่มีระหว่างคั่น และมีกำลังมาก

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การที่จะเห็นหรือจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ต้องในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ เช่นในขณะนี้ ทุกครั้งที่ศึกษาเรื่องของธรรม จะไม่พ้นจากขณะนี้ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมต้องกำลังปรากฏอยู่ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ทาง คือทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ซึ่งพร้อมที่จะให้พิสูจน์ แม้แต่อนันตรปัจจัย จิตและเจตสิก ซึ่งเกิดและดับไป เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้น ดูเหมือนเป็นธรรมดา แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า อนันตรปัจจัยนั่นเอง เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง

    เพราะฉะนั้น สำหรับอนันตรูปนิสสยปัจจัย ที่จะรู้หรือที่จะเข้าใจ ก็คือในขณะนี้เอง อนันตรปัจจัย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย การเกิดขึ้น และดับไปของจิตดวงก่อน เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ทำให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้น พ้นจากขณะนี้ไหม ถ้าไม่พิจารณา หรือไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถที่จะรู้ความสำคัญของอนันตรูปนิสสยปัจจัยเลย แต่ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ “เห็น” เป็นสภาพธรรมอย่างเหนึ่ง แต่ท่านผู้ฟังก็ได้ยินเสียงอีก ไม่ใช่มีแต่เห็น เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่า ต้องทำอะไรเลย ทุกๆ ท่านนี้ ปกติธรรมดา แต่สติระลึกรู้ลักษณะของการเห็นว่า ต่างกับขณะที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง ไม่มีใครที่สามารถจะยับยั้ง การเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป แล้วก็มีจิตทางทวารอื่น หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว เกิดขึ้นได้ยินเสียง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ขณะที่ทั้งดูเหมือนว่าเห็นด้วย และได้ยินด้วย ให้ทราบว่า จิตนี้ เกิด – แล้ว – ดับไป แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ถ้าอารมณ์ไม่ปรากฏว่าเปลี่ยนแปลง ก็ยากที่จะรู้ได้ ว่าจิตเห็นต้องดับไป จิตที่ได้ยิน ถึงจะกำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาเรื่องของอนันตรูปนิสสยปัจจัยว่า การเกิดขึ้น และดับไปของจิตดวงก่อน เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ที่ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ ซึ่งเป็นขณะแรกของจิตในภพนี้ ในชาตินี้ ทุกท่านมีปฏิสนธิจิต เกิดขึ้น เป็นขณะแรกในภพนี้ ในชาตินี้ ต่างกันหรือไม่ต่างกัน ถ้าโดยประเภท เป็นผลของมหากุศลจิต จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ เป็นมหาวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในสุคติภูมิ เมื่อเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ ภูมิ คือเกิดในนรก หรือเปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน นั่นเป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น อกุศลจิต ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ แต่สำหรับในสุคติภูมิ คือภูมิมนุษย์ ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบาก เป็นผลของมหากุศล แล้วแต่ว่าจะเป็นมหาวิบากดวงไหน ใน ๘ ดวง เพราะเหตุว่า มหากุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุมี ๘ ดวง ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ๔ ดวง ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ๔ ดวง เป็นอสังขาริก ๔ ดวง เป็นสสังขาริก ๔ ดวง

    เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตของแต่ละท่าน ต้องเป็น ๑ ใน ๘ ดวง แต่ถ้าพิจารณาดูกรรม ซึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น พร้อมกัมมชรูป และเมื่อเติบโตขึ้น กัมมชรูปก็ปรากฏทางตา เพื่อให้เห็นรูปร่างสัณฐานที่ต่างกัน สภาพของรูปธรรม กรรมยังจำแนกให้ต่างกันถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตของแต่ละบุคคล แม้ว่าโดยประเภท จะเป็นมหาวิบาก ๑ ใน ๘ ดวง ก็จริง แต่ความละเอียดของการสะสมของปฏิสนธิจิต ของแต่ละคน ก็ย่อมวิจิตร แต่เป็นสิ่งซึ่งมองไม่เห็น สามารถที่จะเห็นได้เพียงรูปร่างสัณฐานในภายหลังที่เจริญเติบโตขึ้น แต่ว่าลักษณะของมหาวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิ ก็ย่อมต่างกันไป และเมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว อนันตรปัจจัย การดับไปของปฏิสนธิจิต เป็นอุปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ที่ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เหมือนกับปฏิสนธิจิต แล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตของใคร จะสะสมประสพการณ์ หรือว่าการเห็น การได้ยิน โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ต่างกันมากน้อยปอย่างไร เมื่อดับไปแล้ว อนันตรปัจจัย เป็นอุปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังทำให้มหาวิบากจิตลักษณะเดียวกัน ประเภทเดียวกันเกิดขึ้น ทำกิจภวังค์ สืบต่อจากปฏิสนธิจิต ไม่มีใครสามารถจะยับยั้ง อนันตรูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดต่อ ไม่ว่าจะเป็นในภพไหน ภูมิไหนทั้งสิ้น ก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้ลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือว่าการคิดนึกเรื่องต่างๆ ทางใจ

    ย้อนกลับมาถึงขณะนี้ ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งธรรมดาเหลือเกิน ที่ทุกท่านเห็น แต่ลองคิดจริงๆ ว่า

    ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด จักขุวิญญาณจิตเกิดไม่ได้

    ถ้าภวังคุปัจเฉทจิตไม่เกิด ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดไม่ได้ ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เอง

    ภวังคุปัจเฉทจิตต้องเกิดขึ้นแล้วดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงเกิดได้

    ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดขึ้นแล้วดับไป จักขุวิญญาณจิตจึงเกิดเห็นในขณะนี้ได้

    จักขุวิญญาณจิตต้องเกิดขึ้นแล้วดับไป สัมปฏิจฉนจิตจึงเกิดรับอารมณ์ รู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณจิตได้

    สัมปฏิจฉนจิตต้องดับไป สันตีรณจิตจึงเกิดขึ้นพิจารณารู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏได้

    สันตีรณจิตต้องดับไป โวฏฐัพพนจิตจึงเกิดขึ้นตัดสินอารมณ์ที่เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตที่จะเกิดต่อ

    โวฏฐัพพนจิตต้องดับไป ชวนจิตดวงที่๑ แล้วแต่จะเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องดับไป ชวนจิตดวงที่ ๒ จึงเกิดขึ้นได้ ตลอดไปจนถึงชวนจิตดวงที่ ๗ และตทาลัมพนจิต และภวังคจิตจะเกิดต่อได้ตามลำดับ

    เป็นอย่างนี้ในขณะนี้ อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้ง หรือหยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลง สภาพที่เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยได้เลย

    แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ แต่ขอให้ทราบว่า แม้อนันตรปัจจัย คือ จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดก่อน แล้วดับไปนั่นเอง เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ของจิตดวงต่อไป ทุกท่านมีกุศลจิต ในวันหนึ่ง แล้วก็มีอกุศลมากในวันหนึ่ง แต่ลืมพิจารณาว่า ถ้าจิตดวงก่อนๆ ไม่เกิด กุศลจิต และอกุศลจิต ในขณะนี้ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นเรื่องของการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า สภาพธรรมใด เป็นอุปนิสสยปัจจัย นอกจากอารมณ์เป็นอุปนิสสยปัจจัย คือเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัยแล้ว อนันตรปัจจัย สภาพธรรมของจิตและเจตสิก ซึ่งเกิดแล้วดับไป ก็เป็นอุปนิสสยปัจจัย คือเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัยนั่นเอง

    ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่า ในเรื่องนี้

    ทรงเกียรติ ฟังดูแล้ว คล้ายๆ กับ ทั้ง ๒ ปัจจัยก็เหมือนกัน ในเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว อนันตรปัจจัยเป็นปัจจัยทำให้ภวังคจิตเกิดขึ้น กับ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ดับไปแล้ว อนันตรูปนิสสยปัจจัย ก็ทำให้ภวังคจิตเกิดขึ้น ๒ ปัจจัยนี้ ก็ทำกิจเหมือนๆ กัน ทำไมจะต้องแยกเป็น ๒ ปัจจัยด้วย

    อ.จ. ไม่ต่างกันเลย สำหรับอนันตรปัจจัย และอนันตรูปนิสสยปัจจัย แต่ความหมายหรืออรรถ หรือลักษณะที่เป็นปัจจัยต่างกันที่ว่า ถ้ากล่าวถึงอนันตรปัจจัยเท่านั้น หมายความว่า สภาพธรรม ซึ่งเป็นนามธรรม คือจิตและเจตสิก ที่เกิดแล้วดับไป ทำให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดต่อ นี่คือความหมายของอนันตรปัจจัย แต่ถ้ากล่าวโดยสภาพซึ่งเป็นที่อาศัยซึ่งมีกำลัง อนันตรปัจจัยนั่นเอง เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น

    ๒ ความหมายใช่ไหม โดยลักษณะของอนันตรปัจจัย หมายความถึงการเกิด – ดับ สืบต่อ โดยไม่มีระหว่างคั่น เป็นสภาพธรรมดาของการเกิด – ดับ สืบต่อ โดยไม่มีระหว่างคั่น นั่นคือลักษณะของอนันตรปัจจัย

    แต่ถ้าเป็นอุปนิสสยปัจจัย สภาพซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ถ้าไม่พิจารณาชีวิตของแต่ละบุคคลจริงๆ จะไม่เห็นสภาพที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังของอนันตรปัจจัยว่า เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบาก ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วแต่จะเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใด ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จะเปลี่ยนให้ภวังค์ของมนุษย์มาเกิดต่อจากปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นอกุศลวิบากไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเห็นสภาพอันเป็นที่อาศัย ซึ่งมีกำลังของปฏิสนธิจิตว่า เพราะปฏิสนธิจิต ซึ่งเกิดและดับไปนั้นเอง เป็นที่อาศัยซึ่งมีกำลัง ซึ่งทำให้ภวังคจิตประเภทนั้นเกิดขึ้น โดยไม่มีระหว่างคั่น ไม่ว่ากระแสของจิต จะเกิด – ดับ สืบต่อกันอย่างไร ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาย้อนไปถึง ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตได้ว่า ทำไมชีวิตของแต่ละคน จึงต่างกันมาก ก็เป็นเพราะอนันตรูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเป็นที่อาศัย ซึ่งมีกำลัง คือตั้งแต่ปฏิสนธิจิต เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่จะทำให้วิถีจิต แต่ละวิถีเกิดขึ้น เป็นไปในวันหนึ่งๆ เดือนหนึ่งๆ ปีหนึ่งๆ จนกระทั่งถึงชาติหนึ่งๆ ซึ่งแต่ละคนจะไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมสิ่งนี้จึงเกิดกับท่านในวันนั้น หรือในเดือนนั้น ในปีนั้น ถ้าไม่มีปัจจัย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ วิถีจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ก็เกิดไม่ได้

    ในขณะนี้ แม้ว่าทุกท่านจะอยู่ที่นี่ เห็นเหมือนกันหรือเปล่า อยู่รวมกันในห้องนี้ ก็จริง แต่สิ่งซึ่งปรากฏในห้องนี้ ซึ่งท่านกำลังเห็น อาจจะต่างกันก็ได้ บางคนอาจจะมองไปทางซ้าย บางคนอาจจะดูทางขวา บางคนอาจจะหันหลังไป เพราะฉะนั้น แม้แต่ในขณะนี้เอง อนันตรูปนิสสยปัจจัย ก็ทำให้แต่ละบุคคล มีวิถีจิตแต่ละทาง แล้วแต่ว่า จะเป็นสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ หรือบางท่านอาจจะกำลังคิดนึก บางท่านก็อาจจะฟังแล้วพิจารณาธรรม บางท่านสติปัฏฐานกำลังเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าปฏิสนธิจิต ไม่มีอะไรที่ต่างกันเลย ทุกท่านจะไม่ต่างกัน แต่สำหรับผู้ที่สะสมอุปนิสสัย ที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แม้ในขณะนี้เอง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    18 มิ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ