ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 21


    ตลับที่ ๑๑

    แม้ในขณะนี้เอง สติปัฏฐาน ก็ยังสามารถที่จะเกิดได้ นี่แสดงถึงสภาพที่เป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ที่อาศัยที่มีกำลัง ซึ่งทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น ตามวิถีต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ทรงเกียรติ แล้วที่ว่า ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เป็นที่อาศัยทำให้ภวังคจิตเกิด และเมื่อจิตดับไปแล้ว ยังจะเป็นที่อาศัยของภวังคจิตได้อย่างไร

    อ.จ. ถ้าปฏิสนธิจิตไม่ดับ ภวังคจิตเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภวังคจิตเกิดได้ โดยอาศัยการดับไปของปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น การดับไปของปฏิสนธิจิต จึงเป็นที่อาศัยที่มีกำลังของภวังคจิต

    ทรงเกียรติ พูดถึงรูป ที่ว่าจักขุปสาท เป็นที่อาศัยของจิตและเจตสิก แต่รูปยังไม่ดับไป จึงไม่ค่อยสงสัยเท่าไร แต่ว่า เมื่อดับไปแล้ว เป็นปัจจัย เป็นที่อาศัย นี่ไม่น่าเป็นไปอย่างนั้น

    อ.จ. สภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไป เพราะปัจจัยต่างๆ ในขณะนี้ มีหลายลักษณะ สภาพธรรมบางอย่างดับไป จึงเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น หรือสภาพธรรมอื่นที่จะมีได้ ต้องในขณะที่สภาพธรรมนั้นยังไม่ดับไป

    นี่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม ซึ่งต้องพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ แต่ให้เห็นความสำคัญของอนันตรปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยนี้ ก็ไม่ต้องมีจิตและเจตสิกในขณะนี้ ซึ่งเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ได้ลิ้มรสบ้าง ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้างสืบต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจุติ และเมื่อจุติจิตดับไปแล้ว ก็ยังเป็นอนันตรปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อ ไม่มีระหว่างคั่น ไม่มีการหยุด ไม่มีใครสามารถที่จะทำร้าย หรือทำลายอนันตรปัจจัยของจิตและเจตสิกดวงก่อน นอกจากผู้ที่เป็นพระอรหันต์ และจุติจิตดับเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะไม่เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกดวงต่อไป ขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่ถ้าตราบใดยังไม่เป็นพระอรหันต์ จิตทุกขณะก็จะเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น และเพราะสภาพที่เป็นอนันตรปัจจัยนั่นเอง มีกำลัง จึงเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    มีข้อสงสัยอะไรไหม ในเรื่องนี้

    ทรงเกียรติ ผมสงสัยศัพท์ครับ คำว่า “อุปนิสสัย” ในภาษาไทย ก็หมายความถึง การสั่งสมการกระทำทุกอย่างที่สั่งสมมานาน จนป็นอุปนิสสัย แต่ในปัจจัยนี่ “อุปนิสสยปัจจัย” ทำไมจึงแปลว่า เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ซึ่งไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจ

    อ.จ. โลภะเกิดขึ้นขณะหนึ่ง วิถีหนึ่ง หรือโดยชวนะ ก็เกิด – ดับสืบต่อกัน ๗ ครั้ง ดับไปแล้ว อย่าคิดว่าไม่มีกำลัง

    ชวนจิตเกิด – ดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ มากกว่าจักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต แต่เพราะการเกิด – ดับของจิต เป็นไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ชวนจิตเกิด – ดับไป ๗ ขณะนี้ กี่ครั้ง กี่วาระแล้ว ในขณะทีกำลังฟังธรรม หรือว่าในขณะที่เป็นโลภชวนะ เป็นโทสชวนะก็ตาม แม้ว่าจะเกิด – ดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ ก็แสนเร็ว และดับไปแล้วก็จริง แต่อย่าคิดว่า ไม่มีกำลัง เพราะเหตุว่า สะสมสืบต่อในจิต ซึ่งเกิด – ดับ ต่อๆ มา ทุกดวง จึงเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ที่จะทำให้ลักษณะของโลภะเช่นนั้นๆ เกิดขึ้นอีก หรือว่าโทสะ โมหะ หรือว่ามหากุศล ที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง เช่นนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะการสะสมสืบต่อ ของจิตที่เกิด – ดับ ทุกดวงนั้นเอง

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ทำไมโลภะจึงมีมาก เพราะเคยเกิดมาแล้ว ๗ ขณะๆ ทุกวาระไป บ่อยๆ เนื่องๆ สะสมสืบต่อ โดยอนันตรปัจจัย และมีกำลัง เมื่อเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ไม่รู้เลยใช่ไหม ว่าจะมีกำลังถึงอย่างนี้ แต่ผลปรากฏคือ ชีวิตแต่ละคน มีอุปนิสสยต่างๆ กัน ตาม

    อนันตรปัจจัย และอนันตรูปนิสสยปัจจัย ที่ได้สะสมมา จนกระทั่งเป็นปกติ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย

    แต่ละท่านรู้จักตัวเองพอสมควร ว่ามีฉันทะ หรืออุปนิสสัยในทางใด แต่ไม่ทราบว่า นั่นเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่า สะสมสืบต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นอุปนิสสัย เป็นปกติที่มีกำลัง ถ้าคิดจะให้ทานเกิดขึ้น ไม่น่าจะสงสัยเลยว่า ทำไมจึงคิดอย่างนี้ ถ้าไม่เคยสะสมเป็นอุปนิสสัย จนเป็นปกติ ย่อมจะไม่คิดอย่างนั้น เพราะเหตุว่า คนอื่นคิดในทางที่เบียดเบียน แทนการสละให้ หรือว่าท่านที่สามารถจะรักษาศีลได้ วิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา ถ้าทราบเรื่องของปกตูปนิสสยปัจจัย ก็จะไม่สงสัยเลยว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุว่า เคยเกิดสะสมเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย จนกระทั่งเป็นปกติ จึงเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยของแต่ละบุคคล

    และนอกจากเรื่องของอกุศล ซึ่งเป็นไปต่างๆ ตามฉันทะ โลภะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือว่ากุศลเป็นไปต่างๆ ในทาน ในศีล ในสมถะ ความสงบของจิต หรือว่าในการอบรมเจริญปัญญา อุตุ ความเย็น ความร้อน หรือโภชนะอาหาร หรือเสนาสนะ ที่อยู่ หรือบุคคล ที่เป็นผู้ใกล้ชิด ก็ยังเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่สะสมมา จนเป็นปกติที่สามารถจะให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น อากาศเย็นๆ บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ บางคนก็สบาย บางคนก็ไม่สบาย เพราะอะไร ทำไมไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เคยสะสมความพอใจ หรือว่าการที่จะเป็นสัปปายะ ที่สบายที่เหมาะที่ควรสำหรับบุคคลนั้น สภาพธรรมนั้นๆ ก็จะไม่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือไม่เป็นสภาพธรรมที่เป็นปกติ ที่มีกำลัง สำหรับบุคลนั้นได้

    หรือแม้แต่บุคคลก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การที่จะพอใจในกาย ในวาจา ในอัธยาศัยของบุคคลใด จะมีการคบหาสมาคมโดยธาตุ เช่น ผู้ที่มีความเห็น เช่นท่านพระเทวทัต ก็คบหาสมาคมกับท่านพระเทวทัต ผู้ที่มีฉันทะในการ

    อบรมพอใจในปัญญา ก็คบหาสมาคม เป็นพวกๆ ไป ตามอัธยาศัย อัชฌาสัย หรือโดยการที่สะสมมา โดยสภาพของปกตูปนิสสยปัจจัย

    แต่ปกตูปนิสสยปัจจัย ก็เป็นปัจจัยที่กว้างขวาง เพราะเหตุว่า กุศลทั้งหมดที่เคยกระทำ เคยประพฤติมา สะสมมา มีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไปในลักษณะนั้นๆ อีก หรือว่าอกุศลที่เคยสะสมมา ก็มีกำลังที่จะทำให้เกิดอกุศลกรรมนั้นๆ อีก ในชาติหลังๆ หรือว่าในชาติต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการสะสม แม้ในปัจจุบันชาติ ที่ถ้าจะให้อนาคตข้างหน้า เป็นไปตาม

    อนันตรูปนิสสยปัจจัย และปกตูปนิสสยปัจจัย สำหรับในอนาคต ไม่ว่าท่านต้องการที่จะเป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยอย่างไร ก็จะต้องอาศัยอุปนิสสยปัจจัยสะสมต่อไป

    ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่า

    สำหรับประโยชน์ของการเข้าใจ เรื่องอนันตรูปนิสสยปัจจัย และปัจจัยอื่นๆ ทั้งหมด ก็เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในสภาพธรรม และการปฏิบัติ คือการอบรมเจริญปัญญา ถ้ามีการเข้าใจผิดในเรื่องปฏิบัติ อบรมเจริญปัญญา และไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะ ของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เช่น ถ้าคิดว่า ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริง ในขณะนี้ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ แล้วจะไม่เข้าใจด้วยว่า ปัจจัยทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วนั้น เพื่อที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นอนัตตาจริงๆ

    แม้แต่อนันตรูปนิสสยปัจจัย ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะไม่ทราบเลยว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย คืออะไร แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ในขณะนี้จริงๆ จะเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่เห็นนี้ ไม่นานเลย เพราะเหตุว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย ทำให้เกิดการได้ยินขึ้น และทั้งๆ ที่กำลังได้ยินนี้เอง ก็ไม่นานเลย เพราะเหตุว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย ทำให้เกิดการคิดนึกเรื่องต่างๆ ขึ้น

    เพราะฉะนั้น ชีวิตตามปกติ ตามความเป็นจริงของแต่ละคน เมื่อสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏทางทวารต่างๆ ซึ่งตามปกติ มักจะหลงลืม ในขณะที่หลงลืม แม้ว่าสภาพธรรมจะปรากฏทางตาชั่วขณะเล็กน้อย ปรากฏทางหูชั่วขณะเล็กน้อย ปรากฏทางใจ คิดนึกแต่ละคำ เพียงชั่วขณะเล็กน้อย ก็ไม่เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างๆ ถ้าปราศจากปัจจัยต่างๆ แล้ว สภาพธรรมแต่ละอย่างจะปรากฏไม่ได้เลย แต่เมื่อเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานเมื่อไร จะเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่เกิดปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ทีละเล็ก ทีละน้อย จนสามารถที่จะเข้าใจถึงสภาพที่เป็นอนัตตา แม้แต่เรื่องของอนันตรูปนิสสยปัจจัย

    และปัจจัยทั้งหลายที่ได้ฟัง และได้ศึกษามาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้น เป็นอนัตตาจริงๆ ถ้าปราศจากปัจจัย แม้เพียงปัจจัยหนึ่งปัจจัยใด ซึ่งจะเป็นเหตุให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ถ้าขาดปัจจัยนี้ การได้ยิน ก็จะเกิดไม่ได้ การคิดนึกก็จะเกิดไม่ได้ การเห็น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมจะเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาทั้งหมด เพื่อที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นตามปกติ ตามความเป็นจริง ท่านผู้ฟังเคยนอนไม่หลับไหม บางท่านรู้สึกเป็นห่วงมากกับการนอนไม่หลับ แต่เพราะเหตุใดจึงนอนไม่หลับ ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย การนอนไม่หลับจะเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าท่านอยากจะหลับ แล้วก็ไม่เหลับ ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าไม่อยากจะหลับ แต่ก็หลับ เช่นในขณะที่ฟังธรรม บางท่านก็อาจเผลอไป หลับไป ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะหลับเลย แต่ถ้าปราศจากเหตุปัจจัย การหลับในขณะนั้นก็เกิดไม่ได้ แต่ก็แสดงให้เห็นแล้ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    สำหรับอนันตรูปนิสสยปัจจัย ยังมีข้อสงสัยอะไรไหม ถ้าไม่มี วันนี้ ก็เป็นอุปนิสสยปัจจัยหมวดที่ ๓ คือ “ปกตูปนิสสยปัจจัย” ซึ่งหมายถึงธรรมอันเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้า ที่ได้ทำมาแล้วด้วยดีนั้น ชื่อว่าปกตูปนิสสยปัจจัย

    นี่คือความหมายหนึ่ง ปกตูปนิสสยปัจจัย คือธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้า ที่ได้ทำมาแล้วด้วยดีนั้น ชื่อว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย

    อีกอย่างหนึ่ง ธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังกล้า ด้วยอำนาจสภาวะของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องด้วยอารัมมณูปนิสสยปัจจัย และอนันตรูปนิสสยปัจจัย ชื่อว่าปกตูปนิสสยปัจจัย

    และอีกความหมายหนึ่ง อาจารย์บางท่านให้ความหมายของปกตูปนิสสยปัจจัยว่า ธรรมที่เป็นปกติ เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เช่นแสงสว่าง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย แก่การเห็น

    โดยแยกศัพท์ไว้ดังนี้คือ ปกตูปนิสสย มาจากคำว่า ปกติ และอุปนิสสย

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า สำหรับปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางมาก เพราะเหตุว่า ธรรมใดๆ ก็ตาม ซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับอารัมมณูปนิสสปยัจจัย และอนันตรูปนิสสยปัจจัยแล้ว เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย

    ซึ่งก็ได้แก่ จิต ๘๙ ดวง และเจตสิก ๕๒ ดวง และรูป ๒๘ และบัญญัติด้วย เป็นปกตุปนิสสยปัจจัย คือเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้จิต ๘๙ ดวง และเจตสิก ๕๒ ดวง เกิดขึ้นในปัจจุบันกาล หรือที่จะเกิดหลังๆ คือที่จะเกิดต่อไป

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็เป็นจิตประเภทหนึ่งประเภทใด ในจิต ๘๙ ดวง เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะเป็นปัจจยุปบันนธรรม เป็นผลซึ่งเกิดเพราะจิตและเจตสิกก่อนๆ ที่ได้เกิดแล้วในอดีต

    หรือในขณะนี้เอง จิตประเภทหนึ่งประเภทใด ที่เกิดแล้วในขณะนี้ ก็จะเป็นอุปนิสสย คือเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะให้จิตต่อๆ ไปเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งท่านผู้ฟังจะเข้าใจลักษณะของปกตูปนิสสยปัจจัย โดยการระลึกรู้ลักษณะของจิตที่เกิดขึ้น ปรากฏในขณะนี้ว่า การที่จิตในขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นกุศลอย่างนี้ๆ ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปปัจจัย คือเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะมีปกตูปนิสสยปัจจัย อันเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแรงกล้า ที่ได้กระทำมาแล้วด้วยดี ถ้าไม่ระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในปัจจุบัน ไม่มีทางที่จะเข้าใจปัจจัยทั้งหลายได้ แม้ปกตูปนิสสยปัจจัย

    จิตของแต่ละคน ยากที่คนอื่นจะรู้ได้ แต่ว่าจิตใดเกิดกับผู้ใด ผู้นั้นมีโอกาสที่จะพิจารณารู้ ในลักษณะของจิตนั้นๆ เพราะเหตุว่า จิตเป็นสภาพที่เกิด – ดับอย่างรวดเร็ว และถ้าไม่มีอาการที่ปรากฏภายนอก ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง คนอื่นย่อมไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตของผู้อื่น แต่สติของบุคคลนั้นเอง สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น เช่นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตลบ้าง

    เคยคิดสงสัยไหม ว่าทำไมจิตอย่างนี้จึงเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ ในขณะนี้ได้ ท่านที่ได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม คือจิตเจตสิกรูป ได้เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็กล่าวว่า สติเกิดน้อย สติปัฏฐานเกิดน้อยมาก ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีปกตูปนิสสยปัจจัย ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า แม้จิตในขณะนั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ก็เป็นอนัตตา

    ถ้าไม่มีอวิชชา ซึ่งเคยเกิดแล้วในอดีต ขณะนี้อวิชชาก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีโลภะที่เคยเกิดแล้วในอดีต สะสมมาเป็นอันมากด้วยดี โลภมูลจิตในขณะนี้ก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังจนสามารถเป็นปัจจัย ทำให้ลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นไปตามกำลังของปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งทำให้แต่ละท่านมีอุปนิสสัยต่างๆ กัน

    ถ้าจะเข้าใจตามภาษาไทย อุปนิสสัยนั่นเอง ที่แต่ละคนสะสมมาแล้วด้วยดี เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย แต่ว่าสำหรับอุปนิสสยปัจจัย ปกตูปนิสสยปัจจัยนี้ เป็นปัจจัยซึ่งกว้างขวางมาก เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องพิจารณาเป็นลำดับไป ตั้งแต่ปฏิสนธิ ทุกท่านทราบว่า ปฏิสนธิจิต เป็นวิบากจิต โดยชาติ คือ ไม่ใช่จิตที่กระทำกรรมในขณะนั้น ไม่ใช่กุศลจิตและอกุศลจิต เพราะเหตุว่า อกุศลจิตรึกุศลจิตเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่ง กรรมเดียวเท่านั้น ในกรรมหลายๆ กรรม ซึ่งได้กระทำทุกๆ ชาติมาเนิ่นนานมาแล้ว แล้วแต่ว่า กรรมหนึ่งกรรมใด จะทำให้ให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำปฏิสนธิกิจ ซึ่งถ้าเกิดในภูมิมนุษย์ เป็นสุคติภูมิ ก็เป็นกุศลวิบาก แต่เป็นกุศลขั้นกามาวจรกุศล ยังเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นกามาวจรวิบาก หรือมหาวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิในขณะแรกในภพนี้

    เห็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำกิจปฏิสนธิไหม เพราะเหตุว่า กรรมมีมากมายหลายกรรมเหลือเกิน ในชาติก่อนๆ หลายชาติ แสนโกฎิกัปป์ชาติมาแล้ว กรรมใด ซึ่งสามารถเป็นปัจจัย ทำให้วิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิในภูมินี้ กรรมนั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัย ที่ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำปฏิสนธิกิจ หมายความว่า เป็นกรรมซึ่งมีกำลังแรงกล้า กระทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    หลังจากปฏิสนธิจิตแล้ว ไม่ว่าแต่ละขณะในชีวิต จะมีการเห็น จะมีการได้ยิน จะมีการได้กลิ่น จะมีการได้ลิ้มรส จะมีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งในวันหนึ่งๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย การเห็นเป็นผลของกรรมในอดีต ที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งกรรมนั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัย คือเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย มีกำลังแล้ว จึงสามารถทำให้จักขุวิญญาณ และวิถีจิตเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนั้น

    ในขณะที่ได้ยินเสียง ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย คือกรรมหนึ่งกรรมใดมีกำลัง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้วิบากจิตนั้นๆ เกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ปกตูปนิสสยปัจจัย ก็จำแนกออกคือ

    กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันได้

    กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันได้

    กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพพยากตธรรมคือวิบากจิตและกิริยาจิตได้

    อกุศลซึ่งกำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลภายหน้าได้

    อกุศลจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้

    อกุศลจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพพยากตธรรมก็ได้

    อัพพยากตธรรมจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพพยากตธรรมก็ได้

    อัพพยากตธรรมจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลธรรมก็ได้

    อัพพยากตธรรมจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลธรรมก็ได้

    นี่แสดงถึงสภาพธรรมที่มีกำลังเป็นปกติ ที่จะทำให้สภาพธรรม คือจิตและเจตสิกในปัจจุบันเกิดขึ้น หรือจิต เจตสิกในอนาคตเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะขอกล่าวถึงตามลำดับ พอสมควรที่จะให้เข้าใจ ลักษณะของปกตูปนิสสยปัจจัย

    เช่นข้อที่ว่ากุศลธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลธรรม ท่านผู้ฟังมีสัทธาเกิดขึ้น สะสมมาเป็นผู้ที่มีอุปนิสสัย มีสัทธาในการที่จะให้ทาน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น มีสัทธา เป็นไป ในทานประเภทใด สติสามารถที่จะระลึกรู้ว่า ในขณะนั้น เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้น เพราะกุศลในอดีต ซึ่งเคยให้ทานมาแล้วในอดีต เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้ทานกุศลในขณะนี้เกิดขึ้น และจะเพิ่มพูลยิ่งขึ้นด้วย

    ถ้าท่านที่มีสัทธาในการฟังพระธรรม ในการศึกษาธรรม ในการพิจารณาธรรม ในการอบรมเจริญปัญญา ในการเจริญสติปัฏฐาน กุศลเหล่านี้ จะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ให้เกิดวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นตามลำดับ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    23 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ