ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 22
ตามลำดับ หรือสำหรับท่านผู้ใดก็ตาม ซึ่งในขณะนี้ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ก็ให้ทราบว่า เพราะกุศลก่อนๆ ที่ได้กระทำ สะสมมาแล้ว เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือเป็นปัจจัยโดยสภาพที่มีกำลังตามปกติ ที่จะให้วิปัสสนาญาณในขณะนี้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีธรรมในอดีตที่สะสมมา ที่มีกำลัง พร้อมที่จะให้สภาพธรรมในขณะนี้เกิดขึ้น เป็นไปอย่างนี้ สภาพธรรมในขณะนี้ ก็จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะมีสัทธาในการกุศลในขั้นใด เช่นในทานต่างๆ ประเภทต่างๆ หรือในศีลต่างๆ ไม่ว่าจะศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือว่าศีล ๒๒๗ ก็เป็นเพราะอดีตกุศล เคยสะสมมาด้วยดี จนเป็นปกติที่จะทำให้สภาพกุศลประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ข้อความในพระไตรปิฎก เมื่อเวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด มีกิริยา หรือมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นเหตุให้พระภิกษุกราบทูลพระผู้มีพระภาค ถึงเรื่องของบุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงว่า แม้การกระทำนั้นๆ ของบุคคลนั้น ในปัจจุบันชาตินี้ ก็ได้เคยกระทำมาแล้วในอดีตเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ในชาดกต่างๆ หรือในประวัติของพระสาวกต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่า กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับท่านในชาตินี้ ไม่ได้เพียงเกิดขึ้นกับท่านเฉพาะในชาตินี้ แต่ว่าเคยเกิดขึ้น เป็นไป ได้เคยกระทำมาแล้ว ในอดีตชาติ จนเป็นปกติ เป็นอุปนิสสัย เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ทำให้กุศลนั้นๆ เกิดขึ้นอีก ในปัจจุบันชาตินี้
มีข้อสงสัยไหม ในเรื่องนี้
ทรงเกียรติ ก็หมายความว่า การกระทำของทุกคนนี้ ในอดีตชาติก็ได้เคยกระทำมาแล้วทั้งนั้น หรือบางที พวกเราที่มานั่งประชุมกันในที่นี้ ก็แสดงว่า ในชาติก่อนๆ ก็คงได้เคยฟังคำบรรยายของอาจารย์มาแล้วทั้งนั้น
อ.จ. ชาติก่อนๆ คงไม่ใช่ดิฉันเป็นผู้บรรยาย เพราะเหตุว่า ดิฉันบรรยายในชาตินี้ แต่ชาติก่อนก็คงจะเป็นบุคคลอื่น แต่ข้อสำคัญก็คือว่า ไม่ว่าท่านผู้ฟังจะเคยเป็นใครในอดีตชาติ ก็เป็นผู้ที่สนใจศึกษาในพระธรรม
แล้วถ้าจะพิจารณาถึงบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ครั้งที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมที่พระวิหารเชตวันบ้าง พระวิหารเวฬุวันบ้าง พระวิหารนิโครธารามบ้าง ในสถานที่ต่างๆ มีผู้ที่สนใจไปเฝ้า และฟังพระธรรมเป็นอันมาก บางท่านก็ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในชาตินั้น บางท่านก็เป็นพระนาคามีบุคคล บางท่านก็เป็นพระสกทาคามีบุคคล บางท่านก็เป็นพระโสดาบันบุคคล บางท่านก็เพียงถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ แต่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ท่านเหล่านั้น หลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ๒๕๐๐ กว่าปีนี้ จะอยู่แถวไหน หรือว่าจะอยู่ที่ไหน จะคงอยู่ในโลกนี้ แล้วก็มีปัจจัยที่จะทำให้สนใจศึกษา ฟัง และพิจารณาธรรม และอบรมเจริญปัญญาต่อไป ซึ่งคงจะมีจำนวนไม่มากเท่ากับผู้ที่มีความเห็นผิด เพราะเหตุว่า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่มีความเห็นผิด ก็ยังมีจำนวนมากกว่าผู้ทีมีความเห็นถูก แต่แม้ว่า พระผู้มีพระภาค จะดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม แต่เพราะพระธรรมยังอยู่ และผู้ที่เคยสนใจ เคยศึกษาธรรม ฟังธรรมในครั้งโน้น ภพชาติก็ยังไม่หมดสิ้น ก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยทำให้ได้มีโอกาสฟังพระธรรม และได้พิจารณาศึกษาพระธรรมต่อไป
ถาม ปกตูปนิสสยปัจจัยนี้ ผมเคยเห็น คนส่วนมาชอบไปในทางที่กิจกรรม เช่นสร้างโบสถ์ หรือไปนั่งสมาธิ เป็นต้น ไม่สนใจศึกษาพระธรรม อย่างที่อาจารย์แสดงนี้ เพื่อให้เกิดปัญญา จะอยู่ในอันนี้ไหมครับ
อ.จ. แน่นอน เพราะเหตุว่า การศึกษาปรมัตถธรรม คือจิต เจตสิก รูป จะเห็นได้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย เป็นแต่สภาพธรรม คือจิตและเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน แล้วดับไปตามเหตุตามปัจจัย
กรรมหนึ่ง ซึ่งเป็นกุศลกรรม เป็นปัจจัย ทำให้มหาวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิเป็นมนุษย์ แต่ว่ากรรมอื่นๆ เจตสิกอื่นๆ ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ซึ่งสะสมมา ก็ยังเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะทำให้แต่ละบุคคลในโลกมนุษย์ มีอัธยาศัยต่างๆ กันไป บางท่านก็เป็นผู้ที่สนใจเพียงการให้ทาน บางท่านก็สนใจในการรักษาศีล บางท่านสนใจในการที่จะอบรมเจริญความสงบ บางท่านก็สนใจในการที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานตามกำลัง ซึ่งเป็นปกติของการที่ได้กระทำมาแล้วด้วยดีของแต่ละบุคคล
เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการที่จะกล่าวโทษบุคคลอื่น เพราะเหตุว่า รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย ไม่ว่าใครจะมีกาย วาจา ใจที่ผิด ที่เป็นอกุศล หรือว่าที่เป็นไป เพราะความเห็นผิดต่างๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่า มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศลเจตสิก ซึ่งเมื่อบุคคลนั้นสะสมมา สืบต่อมาเป็นอันมากในอดีต เป็นปัจจัยที่จะให้มีความโน้มเอียง ที่จะเห็นผิด พิจารณาผิด เข้าใจผิด ประพฤติปฏิบัติผิด บุคคลนั้นก็มีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น สภาพธรรมเหล่านั้นเอง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่ทำให้จิตในปัจจุบันเกิดขึ้น เป็นไปอย่างนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรจะคิดถึงจิตและเจตสิก ซึ่งจะเกิดต่อไปในอนาคต เมื่อได้ทราบว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต และทุกท่านเห็นโทษของอกุศล ใคร่ที่จะดับอกุศล เพราะฉะนั้น มีทางเดียว ที่จะดับอกุศลได้ โดยการที่เริ่มอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะได้เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้กุศลจิตเกิด และสามารถที่จะดับกิเลสได้ในอนาคต เพราะเหตุว่า ทุกอย่างแล้วแต่ปัจจัย
เพราะฉะนั้น อัธยาศัยของแต่ละคน ถึงแม้ว่า ปฏิสนธิเป็นเศรษฐี เป็นผลของกุศลกรรมในอดีต แต่อาจจะเป็นผู้ที่ตระหนี่มาก เพราะเหตุว่า ยังมีอกุศลธรรมที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยทำให้ความตระหนี่เกิดขึ้นก็ได้ หรือความริษยาก็มีได้ เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่ากุศลกรรมเป็นปัจจัยที่มีกำลัง คือเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้วิบากจิตปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ แต่ริษยาก็ยังไม่ได้ดับไปเป็นสมุจเฉท ถ้าริษยาบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นปกติ เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยทำให้อกุศลจิตเกิด พร้อมกับความริษยาในปัจจุบันนี้ และต่อไปในอนาคต
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของปัจจัยจริงๆ โดยเฉพาะคือ ปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กว้างขวาง เพราะเหตุว่า กุศลก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลต่อๆ ไปได้ หรือกุศลในอดีตที่ได้สะสมมาแล้วด้วยดีจนเป็นปกติ ก็ทำให้ผู้นั้น เป็นผู้ที่มีอุปนิสสัยในกุศล
ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าบุคคลใดไม่ได้สะสมกุศลในอดีต จนกระทั่งมีกำลังเป็นปกติ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ไม่สามารถที่จะชักชวนบุคคลเหล่านั้น ให้เกิดกุศลได้ หรือถ้าบุคคลนั้น ไม่ได้สะสมกุศลขั้นที่จะสนใจศึกษาพระธรรมมาก่อนบ้างเลย บุคคลนั้น ก็ไม่มีความสนใจที่จะศึกษา และอบรมเจริญปัญญาตามปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเคยเกิดมาแล้ว จนเป็นปกติด้วยดี
สำหรับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล คงไม่มีข้อสงสัยอะไร แต่ให้ทราบว่า ถ้าจะให้กุศลเจริญเพิ่มพูลขึ้นได้ ก็จะต้องอบรมเจริญกุศลจนเป็นปกติ เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังสามารถที่จะทำให้กุศลต่อๆ ๆ ไปเกิด และเจริญขึ้นได้ และเพิ่มพูลขึ้นเรื่อยๆ
กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล เป็นไปได้ เช่นโลภเจตสิก สามารถที่จะพอใจในทุกสิ่งทุกอย่างได้ หรือสภาพธรรมที่เป็นอกุศล คือมานเจตสิก ความสำคัญตน ก็สามารถที่จะเกิดขึ้น เพราะชาติ สกุล ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ หรือวิชาความรู้ก็ได้
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้รู้ลักษณะของจิตจริงๆ ว่า ขณะใดอกุศลเกิดคั่นกุศลบ้าง สำหรับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลนั้น ก็เป็นเพราะเหตุว่า อกุศลยังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้น บางท่านเป็นผู้ที่มีสัทธาในพระศาสนา มีการศึกษาธรรม มีความรู้ในธรรมที่ได้ศึกษา แต่ว่าเกิดมานะ เพราะกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ บางท่านคิดว่า ท่านเข้าใจธรรมแจ่มแจ้งดีกว่าบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเป็นความจริง ก็ไม่ควรที่จะให้เกิดความสำคัญตนขึ้น หรือว่าไม่ควรที่จะให้เกิดการยกตน ด้วยโลภะ หรือข่มบุคคลอื่นด้วยโทสะ นั่นคือลักษณะของมานะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดก็ตาม เช่นการให้ทาน เมื่อให้ไปแล้ว บางท่านก็อาจจะยกตนด้วยโลภะ เมื่อพูดถึงทานกุศลซึ่งตนได้กระทำไปแล้ว เป็นกุศลอย่างประณีต เป็นกุศลที่คนอื่นยากที่จะทำได้ ในขณะใดก็ตามที่มีการยกตน ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นเพราะโลภะ โดยการที่มีสัทธา และมีกุศลนั่นเอง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย หรือในขณะที่ข่มบุคคลอื่นด้วยโทสะ ขอให้สังเกตลักษณะสภาพของจิต เวลาที่ข่มบุคคลอื่น ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อคนอื่น จะข่มบุคคลอื่นไม่ได้เลย ไม่ว่าด้วยการทำกุศลใดๆ หรือไม่ว่าด้วยสัทธาของตน หรือด้วยสติปัญญาของตนก็ตาม แต่ขณะใดก็ตามที่มีการข่มบุคคลอื่น แสดงว่าตนเองรู้มากกว่า และบุคคลอื่นรู้น้อยกว่า ในขณะนั้นให้ทราบว่า แม้กุศลนั้นเอง ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่ทำให้เกิดอกุศล เช่นความสำคัญตน เกิดมานะขึ้นได้
นอกจากนั้น บางท่าน แม้ว่าจะได้ศึกษาธรรมขั้นสูง เช่นบางท่านก็ได้ศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ หรืออภิธรรมปิฎก เกิดความเห็นผิดได้ เพราะเหตุว่า ขาดการพิจารณาไตร่ตรอง โดยละเอียดในธรรมที่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของปกตูปนิสสยปัจจัย ก็เพื่อความไม่ประมาทจริงๆ ถ้าขณะใดที่ได้เป็นผู้ที่ได้คึกษาพระอภิธรรม หรือพระสูตร หรือว่าพระวินัยก็ตาม แต่เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่ทางที่จะดับกิเลส เป็นสมุจเฉทได้ ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นเพราะกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ไม่ใช่ว่าบุคคลนั้นไม่มีกุศล บุคคลนั้นมีกุศล มีสัทธาที่จะศึกษาธรรม มีความเข้าใจเรื่องของจิต เจตสิก ตามที่อ่าน แต่เพราะขาดการพิจารณาโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดได้ และเมื่อเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิด ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัยนั่นเอง
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน มีสัทธาในพระศาสนา หลายขั้น และถึงแม้ว่า จะเป็นผู้ที่มีสัทธาในพระศาสนา แต่อาศัยสัทธานั่นเอง ทำให้เกิดยึดมั่นในความเห็นผิดต่างๆ ซึ่งไม่ตรงกับพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ที่เป็นอย่างนี้ ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย
มีข้อสงสัยอะไรในเรื่องนี้
ทรงเกียรติ ทำไมคนที่ศึกษาจากพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา แล้วยังมีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติ อย่างนี้จะยังมีอีกหรือครับ
อ.จ. ได้ค่ะ มิฉะนั้น การปฏิบัติก็จะไม่ต่างกันไป ตามสำนักต่างๆ
ทรงเกียรติ พระธรรมก็ใช้ในชุดเดียวกัน แล้วเพราะเหตุใด จึงทำให้เขาเหล่านั้น มีความเข้าใจผิดได้
อ.จ. เพราะเหตุว่า เคยสะสมความโน้มเอียงที่จะเข้าใจผิด ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมนั้น โดยถูกต้องได้
ทรงเกียรติ แล้วจะศึกษาวิธีไหน จึงจะเข้าใจถูก
อ.จ. เทียบเคียงกับพระธรรมวินัย โดยละเอียดทุกประการ คือต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเทียบคียงกับพระธรรมวินัยโดยละเอียดทุกประการ ถ้าเว้นบางประการ เทียบเคียงบางประการ บางประการไม่เทียบเคียง อย่างนั้นจะไม่ทำให้เกิดความเห็นถูกได้ เพราะเหตุว่า ยังยึดมั่นในความเห็นผิด ในส่วนที่ยังไม่ได้เทียบเคียงให้ถูกต้อง
ทรงเกียรติ อีกนัยหนึ่ง ที่ว่ากุศลเป็นปัจจัยให้อกุศลโดยปกตูปนิสสยปัจจัย ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน บางวันสติเกิดมาก เมื่อเกิดมากแล้ว ก็มีความพอใจ เกดโสมนัสอย่างนี้ จะเป็นกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่อกุศลหรือเปล่าครับ
อ.จ. แน่นอน เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง คือ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญา แต่เมื่อยังไม่ถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าสติปัฏฐานจะเกิด แต่ว่าขณะใดที่เผลอสติ แล้วไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น อกุศลคือโลภะก็เกิดได้ อยากจะถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น เคยมีบ้างไหม ความรู้สึกอย่างนี้ ขณะนั้น ให้เห็นได้ว่า กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล หวังอยากจะบรรลุนิพพาน หรือว่ายากจะถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น
ถาม เมื่ออาจารย์บรรยายเรื่องปกตูปนิสสยปัจจัยนี้ เมื่อเห็นเพื่อนฝูงที่เห็นผิด ปฏิบัติผิด แต่รู้ว่าเป็นเพราะเขาสั่งสมของเขามา เราควรจะพยายามช่วยไหม หาทางช่วยให้เขาเข้ามาเข้าแนวที่ถูกต้องทางปัญญา
อ.จ. ควรจะพยายาม แล้วแม้แต่การฟัง ถ้าเขาสามารถที่จะฟังได้ ก็ย่อมจะเป็นหนทางหนึ่ง แต่ถ้าพยายามแล้ว ไม่สามารถแม้เพียงแต่จะชวนให้ฟัง ก็คงจะไม่มีหนทางอื่น
ถาม เพราะเหตุว่า เวลาชวนทีไร เขาบอกว่าง่ายๆ ในขณะที่ผมกำลังหาเอกสาร หรืออะไรที่เขาต้องการไม่ได้ ก็บอกว่า เช้าขอให้เขาฟังหน่อยได้ไหม เย็นขอให้ฟังหน่อยได้ไหม ก็ยังไม่ได้รับรายงาน ในใจจริงนั้น ผมเห็นมาก็เกิดทุกข์ เมื่อ ๒ - ๓วันนี้ ไปเที่ยวด้วยกัน ตั้ง ๔ - ๕ จังหวัด ทางภาคอีสาน ตามวัดที่สำคัญๆ ดูๆ แล้วรู้สึกว่า จะไปติออยู่ในเรื่องอยากจะทำ หรืออยากจะสร้างอะไรมากกว่า ที่จะศึกษาเจริญปัญญา หรือความเห็นที่ถูกต้อง ผมก็พยายามจะช่วย อย่างบางข้อ ผมตอบไม่ได้ ก็พยายามค้นเอกสาร เพื่อไปตอบให้ คิดว่าได้พยายามทุกทางที่จะช่วย
อ.จ. ขออนุโมทนาในกุศลจิต ที่คิดจะเกื้อกูลสหายธรรม และส่วนมากทุกท่านก็จะรู้สึกอย่างนี้ แต่ก็จะเห็นได้ว่า ช่างยากเสียจริงๆ ที่จะให้เกิดกุศล คือความเห็นถูก และการประพฤติปฏิบัติที่ถูก เพราะเหตุว่า กุศลอื่นนั้นไม่ยาก เช่นทานกุศล ก็ยังชักชวนกันได้ โดยไม่ยาก หรือการรักษาศีล ก็ยังชักชวนกันโดยไม่ยาก แต่การที่จะให้เกิดความเห็นถูก ตรงลักษณะของสภาพธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้ เป็นสิ่งที่ยากที่สุด
เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้มีปกตอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะรู้ลักษณะของปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งแต่ละท่านสะสมมาจนเป็นปกติ
ถ้าดูรูปร่างหน้าตาของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะในครั้งเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี หรือก่อนนั้น จนถึงปัจจุบันนี้ มีหน้าตาใครซ้ำกับใคร หรือเหมือนกับใครบ้าง นี่เป็นเพียงรูปภายนอก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ตัวกรรมจริงๆ แต่ละกรรมๆ จะวิจิตรต่างกันสักแค่ไน เพราะเหตุว่า กรรมหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ มีหน้าตาอย่างนี้ ในชาตินี้ ในชาติต่อไป บุคคลนั้นเองแหละ แต่ว่า กรรมอีกกรรมหนึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น มีรูปร่างหน้าตาอีกอย่างหนึ่งเสียแล้ว เพราะฉะนั้น แม้แต่รูปร่างสัณฐาน ก็ยังจำแนกต่างกันไปตามความวิจิตรของกรรม
เพราะฉะนั้น สภาพของจิตของแต่ละบุคคลในแต่ละขณะ จะวิจิตร คือต่างกันไป ตามปัจจัยแต่ละปัจจัยมากสักแค่ไหน ซึ่งปัญญาพร้อมสติเท่านั้น ที่สามารถจะระลึกรู้สภาพที่เป็นอนัตตาแท้ๆ ของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ แล้วจึงจะดับการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ถ้าไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดปรากฏ ตามปกติในขณะนี้ได้ ไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญปัญญาแน่นอน และไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ด้วย เพราะเหตุว่า ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้แม้ขณะนี้ ทำไมจิตจึงเป็นกุศล หรือทำไมอกุศลจิตจึงเกิดขึ้น ทำไมจึงมีการกระทำทางกาย ทางวาจาอย่างนั้น ซึ่งถ้าเป็นผู้มีปกติ อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ลักษณะของปัจจัยทั้งหลาย ตามความเป็นจริงด้วย
สำหรับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม สำหรับอัพยากตธรรม ก็ได้แก่ จิตและเจตสิก ซึ่งเป็นวิบาก ได้แก่จิตและเจตสิกซึ่งเป็นกิริยาและได้แก่รูปธรรม แต่สำหรับอุปนิสสยปัจจัยนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปธรรมด้วย
อุปนิสสยปัจจัยเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิก ซึ่งเป็นปัจจยุปบันนธรรมเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่มีกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อัพยากตธรรม คือให้เกิดวิบากจิต เป็นไปได้ไหม อย่างผู้ที่จะทำบุญ อาจจะต้องเสวยทุกขเวทนาทางกาย ได้ไหม ได้ ต้องลำบากต้องเดือดร้อน ต้องแสวงหา เช่นท่านที่จะไปนมัสการสังเวชนียสถาน จะทราบว่าในบางแห่ง สถานที่พักไม่สดวกเลย แต่ท่านมีกุศลสัทธาเกิดขึ้น ที่จะไปนมัสการสังเวชนียสถาน นั่นเป็นกุศลจิต แต่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกขกายวิญญาณ เช่นที่เมืองสาวัตถี ที่พักไม่สดวกเลย ถ้าอยากจะพักที่อื่น ก็จะได้นมัสการพระเชตวันมหาวิหาร ในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็รีบกลับที่พักที่อื่น ที่สดวกสบาย แต่ถ้าอยากจะที่ใกล้ๆ พระเชตวันมหาวิหาร ก็จะต้องพักที่โรงแรมที่เมืองสาวัตถี ซึ่งไม่สดวกด้วยประการทั้งปวง เป็นโรงแรมซึ่งเป็นบ้านของมหาราชาในอดีต เก่าแก่มาก แล้วทุกอย่างไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมเลย ห้องน้ำไม่สดวก ห้องนอนมีจริง แต่มุ้งไม่มีเลย และถ้าไปหลายๆ คน ห้องหนึ่งก็ต้องนอนกันอย่างน้อยก็ ๘ คน ๙ คน หรือ ๑๐ คน แล้วแต่จำนวนของผู้ที่ไป มุ้งไม่มี ทุกคนก็ต้องห่อผ้าพันตัวเอง เพื่อที่จะกันยุงกัด
นั่นก็เป็นกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม คือแล้วแต่จะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากได้
หรือว่าท่านที่ต้องการจะกระทำกุศล แต่ว่าจะต้องทำด้วยความสุจริต ไม่ใช่การคดโกง เพราะฉะนั้น ท่านก็จะต้องมีความพากเพียร ในการที่จะแสวงหาปัจจัย ที่จะทำกุศล อาจจะต้องลำบาก แต่เป็นปัจจัยที่ได้มาด้วยความสุจริต
เพราะฉะนั้น กุศลนั่นเอง ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม คืออกุศลวิบากทางกายได้
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุการณ์ต่างๆ แล้วแต่ๆ ละท่าน ถ้าจะคิดก็คงจะสงสัย ว่าทำไมจะต้องเป็นอย่างนี้กับตัวท่านแต่ก็ให้ทราบได้ว่า ทุกอย่างแล้วแต่ปัจจัยทั้งสิ้น และปัจจัยที่กว้างขวางมากปัจจัยหนึ่ง ก็คือ ปกตูปนิสสยปัจจัย ถ้าท่านผู้ใดเกิดกุศล แล้วไม่ทำอะไรเลย เพื่อที่จะได้สบายๆ กุศลนั้นจะสำเร็จไหม กุศลนั้นก็ย่อมไม่สำเร็จ ไม่ว่าการที่จะปรุงอาหาร มือที่กระทบสัมผัส ก็อาจจะเป็นทุกขกายวิญญาณที่ไม่สบายก็ได้ในขณะนั้น แต่เพราะเหตุว่า กุศลจิตเกิดขึ้น และต้องการที่จะทำกุศลกรรมให้สำเร็จไป เพราะฉะนั้น สัทธาซึ่งเป็นกุศลจิตนั้นเอง ก็เป็นปัจจัยให้อัพยากตธรรมเกิดได้ นี่ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยหมวดของกุศล ซึ่ง
กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้ ๑
กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ๑
กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม ๑
เพราะฉะนั้น ท่านที่มั่นคงในกุศล ก็ไม่เดือดร้อนในเรื่องของกุศล ที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากต ได้แก่ วิบากจิตต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นอกุศลวิบากก็ได้ แต่ท่านควรจะระวัง ไม่ลืมที่จะเป็นผู้ที่รอบคอบ ไม่ประมาทในข้อที่ว่า กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ข้อนี้เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง และพิจารณา มิฉะนั้นแล้ว ในวันหนึ่งๆ เวลาที่กุศลเกิด อาจจะไม่ทราบว่าเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดแล้วด้วย
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 01
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 02
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 03
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 04
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 05
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 06
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 07
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 08
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 09
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 10
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 11
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 12
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 13
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 14
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 15
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 16
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 17
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 18
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 19
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 20
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 21
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 22
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 23
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 24
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 25
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 26
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 27
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 28
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 29
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 30
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 31
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 32
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 33
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 34
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 35
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 36
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 37
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 38
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 39
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 40
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 41
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 42
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 43
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 44
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 45
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 46
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 47
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 48
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 49
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 50