ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 23
ตลับที่ ๑๒
เวลาที่กุศลเกิด อาจจะไม่ทราบว่าเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดแล้วด้วย
สำหรับในหมวดต่อไป ที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือในหมวดของอกุศล
อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ๑
อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล ๑
อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม ๑
สำหรับอกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล
(อกุศล ๑๒ + ๒๗ อกุศล ๑๒ + ๒๗)
นี่ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้โดยไม่ยาก อวิชชาในอดีตที่มีมาแล้วเนิ่นนาน เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อวิชชาเกิดอีกในปัจจุบัน และอวิชชาในปัจจุบันนี้แหละเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อวิชชาเกิดต่อไปในอนาคตด้วย
สำหรับอกุศลอื่นๆ เช่นโลภะ ก็เช่นเดียวกัน โลภะที่เกิดปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำไมคนโน้นมีน้อย คนนี้มีมาก ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามการสะสม ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เกิดกับตนเอง ตามความเป็นจริง ก็จะรู้ได้ว่า ที่ท่านชอบรูปอย่างนี้ ติดแล้วในรูปอย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่า เคยติดมาแล้วในอดีต ท่านที่ชอบรสอย่างนี้ ชอบเสียงอย่างนี้ ชอบกลิ่นอย่างนี้ ชอบโผฏฐัพพะอย่างนี้ ก็เป็นเพราะเหตุว่า เคยติดมาแล้วในอดีต เคยชอบมาแล้วในอดีตอย่างนั้นๆ ก็ย่อมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้โลภะเกิดขึ้นเป็นไป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตามที่ได้สะสมมา แต่ให้ทราบว่า สำหรับอกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นภพไหน ภูมิไหน ซึ่งยังไม่ได้ดับอกุศลเป็นสมุจเฉทตราบใด อกุศลก็ย่อมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อกุศลเกิดขึ้น
ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ทุกท่านก็มีอกุศลเกิดบ่อยๆ เวลาที่สติเกิด ระลึกที่จะรู้ เวลาที่จะรู้ไม่ต้องไปรู้ถึงกับที่จะดับอกุศลไม่ให้เกิดอีก เพียงแต่ให้ดับความเห็นผิด ยึดถืออกุศลนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เสียก่อน ก็เป็นเรื่องที่ดับยาก เพราะเหตุว่า ปัญญาจะต้องอบรมเจริญขึ้น เป็นขั้นๆ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นเป็นขั้นๆ แล้ว ไม่สามารถที่จะดับแม้อกุศล ที่ยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ทั้งๆ ที่ศึกษาปรมัตถธรรม เรื่องจิตประมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ นิพพานปรมัตถ์ ศึกษาเรื่องของปัจจัยต่างๆ ก็ตาม แต่เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นผู้ตรง ที่จะรู้ว่า ในขณะนั้นกำลังศึกษา และรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรม ต่างกับลักษณะของรูปธรรม โดยที่นามธรรมนั้น เป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ ไม่ใช่เราจริงๆ
นี่ ต้องเป็นผู้ที่ตรงจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น จนกว่าจะสามารถรู้แจ้งในความเกิด – ดับ ของนามธรรม รูปธรรมได้
สำหรับข้อนี้ มีข้อสงสัยอะไรไหม อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล ขอให้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นอกุศลชนิดใด ประเภทใด ขณะใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีความอ่อนความแรงประการใดก็ตาม ผู้ที่เป็นปุถุชน ที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะเป็นพระอริยเจ้า ก็คือ สติเกิดระลึกตรงลักษณะซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน หรือว่าเป็นลักษณะที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะรู้ชัด และคล่องแคล่ว ทั้ง ๖ ทาง คือทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก่อนที่ปัญญาจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่ถ้าทางตายังไม่เคยระลึกรู้เลย ว่าลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอย่างหนึ่ง และสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางนั้น เป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือธาตุรู้เท่านั้น ถ้ายังไม่รู้จริงๆ ไม่สามารถที่จะละการยึดถือว่า เป็นเรา หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ได้
แต่ถ้าศึกษาเรื่องของปัจจัย มีทางที่จะน้อมศึกษา ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ได้ว่า แม้เพียงการเห็นซึ่งเป็นปกติอย่างนี้เอง ซึ่งเห็นตั้งแต่เกิด มาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ก็เห็น ดูเหมือนเป็นของธรรมดา แต่ถ้าสติระลึกในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แล้วน้อมนึกถึงสภาพของปัจจัย จะรู้ได้ทันทีว่า ถ้าปราศจากแสงสว่างแล้ว ในห้องนี้จะไม่ปรากฏว่ามีอะไร นอกจากความมืด ไม่มีการที่จะรู้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะฉะนั้น ที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล สิ่งต่างๆ ต้องมีปัจจัย ซึ่งเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้มีการเห็นรูปร่าง สัณฐาน ของสิ่งที่ปรากฏ ว่าเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าเป็นบุคคลใด
นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ถ้าสติระลึก ก็จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ยังต้องมีปกตูปนิสยัปจจัย มิฉะนั้นแล้ว การเห็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็มีไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าขาดปัจจัยหนึ่งปัจจัยใด คือจักขุปสาท หรือแสงสว่าง การเห็นก็เกิดไม่ได้ แต่ขณะที่จะระลึกทางตา ไม่ใช่ให้คิดนึกเป็นเรื่องที่ยาวอย่างนี้ แต่น้อมที่จะพิจารณารู้ว่า เป็นแต่เพียงอาการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะชำนาญ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
สำหรับหมวดที่ ๒ ของอกุศลคือ อกุศลเป็นปตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล เป็นไปได้ไหม ช่างเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และละเอียด ซับซ้อนจริงๆ กว้างขวางมาก สำหรับปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่า เป็นปัจจัยได้โดยกว้างขวางจริงๆ แม้แต่อกุศลก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจยให้เกิดกุศลได้
ท่านที่กลัวยากลำบาก กลัวว่า ถ้าไม่ให้ทานแล้ว จะเป็นคนยากจนขัดสน เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีกุศลกรรมเป็นปัจจัย กุศลวิบากทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ เมื่อรู้อย่างนี้ เพราะต้องการผล คือกุศลวิบาก จึงกระทำกุศล มีทานกุศลเป็นต้น มีไหมอย่างนี้ มี
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าอกุศลนั่นเอง คือโลภะ ความต้องการมนุษย์สมบัติ หรือสวรรค์สมบัติ เป็นปัจจัยให้กระทำกุศล เพราะฉะนั้น อกุศลก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล
หรือว่าบางท่านเป็นผู้มีความสำคัญตน ในฐานะ หรือในชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงทำทานกุศลก็ได้ แต่ไม่ใช่เพื่ออะไร เพราะตนเอง เพราะความสำคัญตน หรือเพราะเกียรติยศ หรือเพราะชื่อเสียง นั่นก็อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศล
หรือว่าบางครั้ง ความไม่รู้ หรือความเห็นผิด ก็เป็นปัจจัยให้ทำกุศลได้เหมือนกัน เคยได้ยินได้ฟังไหม ที่ว่า มีการตื่นเต้นว่า ผู้ที่เกิดปีระโรงจะต้องตาย ถ้าไม่มีการให้ทาน ก็ปรากฏว่า ผู้ที่เกิดปีมะโรง ก็ให้ทานกันเป็นการใหญ่ที่เดียว เพราะเหตุว่า กลัวว่า เมื่อตนเกิดปีนั้น แล้วไม่ให้ทาน ผู้ที่เกิดปีมะโรง ปีนั้น จะต้องตาย
นี่ก็เป็นเพราะความไม่รู้ หรือความเห็นผิด ความเข้าใจผิด อกุศล จึงเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล หรือว่าบางคนอาจจะทำอกุศลกรรมแล้ว นึกถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้ว ก็เห็นว่าเป็นโทษ เพราะฉะนั้น จึงขวนขวายที่จะทำกุศล ชดเชยกับอกุศลที่ได้กระทำแล้ว ก็มี แม้ในครั้งอดีต พระเจ้าอโศกมหาราช หรือพระเจ้าอาชาตศัตรู ซึ่งเป็นผู้ที่ได้กระทำอกุศลไว้มาก ก็เป็นผู้ที่ระลึกได้แล้วก็ทำกุศล
เพราะฉะนั้น อกุศล ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้
สำหรับหมวดต่อไปของอกุศล คือกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากต ก็โดยนัยเดียวกันกับ กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากต
เพราะเหตุว่า เวลามี่อกุศลเกิดขึ้น มีความปรารถนา มีความอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม นั่งเฉยๆ จะได้ไหม ก็ไม่ได้ ก็จะต้องมีการขวนขวายประกอบกิจการงานต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความโลภ มีความต้องการ มีความปรารถนาวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการขวนขวาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วแต่ว่าจะเป็นอัพยากต คือวิบากจิตประเภทใด อาจจะเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากก็ได้
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน ตามความเป็นจริง ซึ่งเกิดขึ้น เพราเหตุปัจจัย
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องนี้
ทรงเกียรติ ที่ว่าอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล สมัยนี้หมอดูต่างๆ มีเยอะ ผู้ที่ไปหาหมอ ส่วนใหญ่มีความทุกข์ อาจจะมีการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเคราะห์ร้ายต่างๆ ส่วนใหญ่ หมอก็จะเแนะนำให้ทำสังฆทาน ทำบุญ ทำกุศลต่างๆ รักษาศีลก็มี การกระทำอย่างนี้ ผมคิดว่า ไม่มีกำลังอะไร เพราะเชื่อหมอ จะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยหรือเปล่า
อ.จ. เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่า เพราะเหตุใดกุศลนั้นจึงเกิด
ทรงเกียรติ ก็ไม่มีกำลังอะไรนี่ครับ
อ.จ. จะมีกำลังหรือไม่มีก็ตาม แต่เมื่อเกิดแล้ว แสดงงว่ามีกำลังพอจึงเกิด ส่วนกำลังจะมากจะน้อยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุด ก็มีกำลังพอที่จะเกิด จึงเกิด ถูกไหม เมื่อเกิดแล้ว แสดงว่าปัจจัยมีกำลัง จึงจะเป็นปัจจัยให้อกุศลในขณะนั้นเกิดได้ ที่เกิดแล้ว แสดงว่ามีกำลัง มีปัจจัยที่มีกำลัง จึงทำให้เกิด แม้แต่วิบากกรรมต่างๆ คือผลของกรรมในชาตินี้ ก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่ได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้จะไม่รู้ว่าเพราะกรรมอะไร แต่กรรมนั้นต้องเป็นอุปนิสสยปัจจัย เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแล้ว จึงสามารถเป็นปัจจัยทำให้วิบากประเภทนั้นๆ เกิดได้ เพราะเหตุว่า กรรมมีมากเหลือเกิด แต่กรรมใดซึ่งสามารถทำให้วิบากเกิดได้ กรรมนั้นต้องเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย จึงทำให้วิบากนั้นเกิด
ถาม เพื่อความชัดเจน ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยทั้งกุศลและอกุศล อย่างที่อาจารย์ว่า คือเป็นแสง เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่ทำให้เราเห็น
อ.จ. สภาพธรรมใดก็ตาม ซึ่งเป็นที่อาศัย ที่มีกำลัง ด้วยอำนาจสภาวะของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องด้วยอารัมมณูปนิสสยปัจจัย และอนันตรูปนิสสยปัจจัย ชื่อว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย
นี่แสดงถึงความกว้างขวางของปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่า ธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลังกล้า ด้วยอำนาจสภาวะของตนเอง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องด้วยอารัมมณูปนิสสยปัจจัย และอนันตรูปนิสสปยัจจัย แล้ว เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล หรืออัพยากตธรรม ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะทำให้กุศล หรืออกุศล หรืออัพยากต เกิดขึ้น แล้วในวันหนึ่งๆ ก็มี กุศลบ้าง อกุศลบ้าง อัพยากต คือวิบากจิต และกิริยาจิตเกิดบ้าง
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งทำให้กุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากจิตบ้าง กิริยาจิตบ้าง เกิดขึ้น ในวันหนึ่งๆ กรรมมีมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งในชาตินี้ ในชาติก่อน ในอดีตอนันตชาติ แต่ขณะที่ได้รับผลของกรรมหนึ่งกรรมใด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ให้ทราบว่าในขณะนั้น กรรมที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น หรือทำให้กุศลจิตเกิดได้ไหม
วันหนึ่งๆ มีจิตซึ่งเป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง วิบากจิตบ้าง กิริยาจิตบ้าง วิบากจิตเป็นผลของกุศล และอกุศล ซึ่งได้กระทำแล้ว อาจจะเป็นกุศลในชาตินี้เอง หรือในชาติก่อน หรือในอดีตอนันตชาติมาแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นการรับผลของกรรมหนึ่ง หรือว่าขณะที่ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสทางกาย ขณะเหล่านั้น เป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม แต่เพราะเหตุว่า กรรมมีมากเหลือเกิน ขณะใดซึ่งกรรมใดให้ผลทางตา ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นเหล่านี้ แสดงว่ากรรมนั้น เป็นกรรมที่มีกำลัง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย จึงสามารถทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นได้ ตอนหนึ่งแล้ว และกรรมนั้นเอง จะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้กุศลจิตเกิด ได้ไหม ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อกี้นี้ กล่าวถึงกุศลกรรม เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ให้อัพยากตจิตเกิด คือให้มีการเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น การได้ลิ้มรส การรู้กระทบสัมผัสทางกาย แต่ไม่เพียงแต่ให้วิบากเกิด แม้กุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปรกตูปนิสสยปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ เพราเหตุว่า การสะสมสืบต่อที่ได้กระทำมาแล้ว ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปกติ เป็นอุปนิสสัย โดยปกติ จึงทำให้กุศลจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น อกุศลก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดอีกได้ หรือเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดได้ หรือยิ่งกว่านั้น เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้กุศลจิตเกิดก็ได้ นี่เป็นความกว้างขวางของปกตูปนิสสยปัจจัย แสดงให้เห็นว่า นามธรรมขณะหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้น ย่อมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะให้นามธรรมข้างหน้าเกิดขึ้นต่อๆ ไปอีก ตามประเภทของนามธรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นๆ
ชาตินี้ท่านผู้ฟังทำกุศลประเภทนี้ไว้ ชาติหน้าท่านผู้ฟังก็จะกระทำกุศลประเภทนี้อีกนั่นแหละ เพราะเหตุว่า กุศลประเภทที่ท่านทำในชาตินี้ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้กุศลประเภทนี้เกิดอีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของการศึกษาอบรมเจริญปัญญา
สำหรับหมวดต่อไปของปกตูปนิสสยปัจจัย คืออัพยากตธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม ได้แก่ วิบากจิตและกิริยาจิต เมื่อไม่ใช่กุศล หรือกุศล ก็เป็นอัพยากต และรูป ๒๘
อุตุ โภชนะ เสนาสนะ เป็นปัจจัยให้เกิด กายวิญญาณจิต ๒ ได้ หรือเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต และอกุศลจิตได้
เพราะฉะนั้น อัพยากตเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตได้
อัพยากตเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้
อัพยากตเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลได้
นี่แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่กว้างขวาง รวมถึงอุตุ ความเย็น ความร้อน
โภชนะ อาหารที่บริโภค
เสนาสนะ คือที่อยู่
เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตได้ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตได้ และเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตจิตได้
ข้อความในปปัญจสูทนีย์ อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร มีข้อความที่แสดงว่า
ด้วยเหตุใด พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง มหาสติปัฏฐานสูตร กับชาวกุรุ มีข้อความว่า
มีคำถามว่า เหตุไร พระผู้มีพระภาค จึงได้ทรงแสดง พระสูตรนี้กับชาวกุรุ
แก้ว่า เพราะพวกชาวกุรุ สามารถจะรับฟัง ซึ่งเทศนาอันลึกได้ คือพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่อยู่ในแคว้นกุรุ เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยปัจจัย คืออุตุเป็นต้น เป็นผู้มีร่างกายชุ่มชื่น มีจิตใจชุ่มชื่นอยู่เป็นนิจ ด้วยแว่นแคว้นนั้นมีปัจจัย คืออุตุเป็นที่สบาย
พวกนั้นเป็นผู้มีกำลังปัญญา อันความชุ่มชื่นแห่งจิต และร่างกายทำนุบำรุงไว้แล้ว เป็นผู้สามารถจะรับการแสดงธรรมอันลึกซึ้งได้
ท่านผู้ฟังจะเห็นความสำคัญของอุตุ อากาศที่สบาย ทำให้ร่างกายและจิตใจชุ่มชื่น ถึงแม้ว่า จะเป็นผู้ที่มีกำลังปัญญา แต่ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เป็นยังไงคะ ปัญญาสามารถที่จะร่าเริง อาจหาญ ลึกซึ้ง เข้มแข็ง กว้างขวาง ได้ไหม ยามป่วยไข้ ไม่ได้ใช่ไหม ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าชาวกุรุ จะเป็นผู้มีกำลังปัญญาที่ได้สะสมมามากแล้วก็จริง แต่พวกนั้นเป็นผู้มีกำลังปัญญาอันความชุ่มชื่นแห่งจิตใจและร่างกาย ทำนุบำรุงไว้แล้ว เป็นผู้สามารถจะรับการแสดงธรรมอันลึกซึ้งได้ เพราะเหตุว่า แว่นแคว้นนั้น มีปัจจัยคืออุตุเป็นที่สบาย
อากาศสบายๆ กับอากาศร้อนๆ กับอากาศหนาวๆ ซึ่งผิดปกติ ท่านผู้ฟังจะรู้สึกอย่างไร จิตใจของท่านผู้ฟังจะมาศึกษาด้วยความสดวกสบาย คล่องแคล่ว ร่าเริง หรือว่าด้วยความร้อนไปบ้าง หนาวไปบ้าง โดยเฉพาะ ถ้ามีผลกับร่างกาย ที่จะทำให้ถึงกับป่วยไข้ อย่างรุนแรง ขณะนั้น กำลังปัญญาก็ไม่พอที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าท่านผู้ฟังอยู่ในสภาพที่ป่วยไข้อย่างกระทันหัน เป็นลมอย่างปัจจุบันทันด่วน มีความปั่นป่วนในร่างกาย เพราะอุตุ ขณะนั้น จะรู้ได้ว่า ปัญญาก็ไม่อาจหาญ ร่างเริง แจ่มแจ้งได้
นอกจากผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ไม่ว่าในขณะไหนทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นในขณะที่กำลังอบรมเจริญปัญญา จะเห็นได้ว่าเรื่องของอุตุ คืออากาศก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเหตุว่า ร่างกายนี้ นับแต่เกิด จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ แม้ในขณะนี้เอง มีภัยอย่างใหญ่ คือ สามารถที่จะแตกย่อยยับลงได้ ในวินาทีหนึ่งวินาทีใด ก็ได้ ไม่มีปัญหาเลย ใช่ไหม นี่เป็นภัยทางร่างกาย ที่ว่าเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องระวังที่สุด กระทบนิดเดียวมีแผล หรือมีภัย ซึ่งอาจจะถึงแก่ชีวิตเมื่อไรก็ได้ และร่างกายที่เห็นอยู่นี้ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ยั่งยืน เพราะเหตุว่า เมื่อวานก็ยังมีอยู่ เมื่อวันก่อนก็ยังมีอยู่ แต่ความจริงแล้ว ในนาทีหนึ่งนาทีใด อาจจะย่อยยับแตกสลาย กระจัดกระจายไป เมื่อไรก็ได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของอุตุ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะทำให้เกิดอกุศลจิต กุศลจิต หรืออัพยากตธรรมก็ได้ ถ้าอากาศสบาย จิตเป็นอย่างไร ชอบไหม เย็นดี สบายดี พอเริ่ม ก็โลภมูลจิต ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล
หรือถ้าเห็นว่า ไม่ว่าจะหนาวหรือจะร้อน ก็ควรที่จะอบรมเจริญปัญญา ไม่จำเป็นต้องรอให้อากาศสบายๆ เสียก่อน แล้วจึงจะอบรมเจริญปัญญา ในขณะนั้น ถึงแม้จะหนาว หรืออุตุจะร้อน ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลได้
สำหรับอาหาร ก็โดยนัยเดียวกัน เพราะเหตุว่า ถ้าอาหารเป็นที่สดวกสบาย จิตใจเข้มแข็ง ร่าเริง ไม่กระสับกระส่าย ไม่กระวนกระวาย ก็ไม่มีอุปสรรค ในการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น แต่ถ้าเป็นผู้ซึ่งได้รับโทษเพราะอาหาร เช่นอาหารเป็นพิษ ก็คงจะต้องเป็นปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม คือทุกขกายวิญญาณ เป็นเรื่องที่จะต้องเยียวยารักษา เป็นเรื่องของความเดือดร้อน เป็นเรื่องของความกระวนกระวาย กายและใจ ซึ่งก็แสดงว่า อาหารก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยของกุศลจิต อกุศลจิต หรืออัพยากตจิต
มีท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องนี้ อัพยากตเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม อกุศลธรรม หรือกุศลธรรมก็ได้ กายวิญญาณที่เคยเกิดในอดีต เป็นอัพยากต เป็นปัจจัยให้เกิดกายวิญญาณในปัจจุบันได้ไหม โดยปกตูปนิสสยปัจจัยแล้ว ได้ทั้งนั้น ย่อมได้
ถ้าเคยอยู่ในที่ใด ที่รู้สึกสบาย เช่นในที่ๆ มีเครื่องปรับอากาศ เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดสุขกายวิญญาณ คืออยู่ในที่นั้นอีก ให้เกิดสุขกายวิญญาณ อีกได้ ใช่ไหม เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยได้
ไม่ว่าจะเป็นความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ย่อมทำให้เกิดการแสวงหาให้ได้เห็นสิ่งนั้นอีก เพราะฉะนั้น อัพยากตธรรมก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรมอีก
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 01
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 02
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 03
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 04
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 05
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 06
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 07
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 08
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 09
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 10
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 11
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 12
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 13
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 14
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 15
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 16
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 17
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 18
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 19
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 20
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 21
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 22
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 23
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 24
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 25
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 26
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 27
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 28
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 29
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 30
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 31
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 32
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 33
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 34
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 35
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 36
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 37
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 38
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 39
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 40
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 41
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 42
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 43
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 44
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 45
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 46
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 47
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 48
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 49
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 50