ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 24
ให้เกิดอัพยากตธรรมอีก เคยชอบเสียงอย่างไร ที่ขวนขวายที่จะให้ได้ยินเสียงนั้นอีก เพราะฉะนั้น อัพยากตธรรมทางหู ที่เคยเกิดแล้ว เพราะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยกตธรรมทางหูอีก
ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน
นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ละท่านชอบสิ่งใด เห็นสิ่งใด ก็จะเห็นสิ่งนั้นอีก ถ้าไม่มีในวันนั้น ก็ไปขวนขวายมามาจนกระทั่งมีสิ่งนั้นอีก ที่จะได้เห็นอีก ที่จะได้ยินอีก ที่จะได้กลิ่นอีก ที่จะได้ลิ้มรสอีก ที่จะกระทบสัมผัสอีก แสดงว่าไม่พ้นจากปกตูปนิสสยปัจจัยเลย ในวันหนึ่งๆ ถ้าพิจารณาโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตุ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเสนาสนะ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อัพยากตธรรมก็ได้ กุศลธรรมก็ได้ อกุศลธรรมก็ได้
มีข้อสงสัยอะไรบ้าไหม ในปกตูปนิสสยปัจจัย
จารุพรรณ อยากจะเรียนถามอาจารย์ ในคำจำกัดความอันแรก ธรรมที่เป็นที่อาศัยอันมีกำลังแรงกล้า ที่ทำมาด้วยดี คำว่าด้วยดี หมายถึงกุศลเท่านั้นหรือเปล่า
อ.จ. ไม่ใช่ หมายถึงทุกอย่าง ทำมาแล้วมาก ด้วยดี คือสามารถที่จะเป็นกำลัง สามารถที่จะมีกำลัง ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดอีกได้
เมื่อเข้าใจเรื่องของปกตูปนิสสยปัจจัย ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟัง พิจารณาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของปัจจัยนี้ ในชีวิตประจำวันบ้างแล้วหรือยัง
สำหรับปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่กว้างขวาง และสามารถจะเข้าใจได้ในชีวิตประจำวัน เช่นกุศลธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลธรรม กุศลที่ได้เคยทำมาแล้ว ในอดีต เป็นอุปนิสสปยัจจัย เป็นอุปนิสสัย เป็นปกติ ที่จะทำให้เกิดกุศลอีกในขณะนี้
เช่นท่านที่สนใจในการฟังพระธรรม หรือในการศึกษาธรรม ถ้าไม่พิจารณาถึงปกตูปนิสสยปัจจัย ก็อาจจะไม่ทราบว่า เพราะอะไร จึงทำให้เป็นผู้ที่สนใจศึกษาพระธรรม แต่ให้ทราบว่า ท่านที่สนใจศึกษาธรรม จะไม่ให้สนใจศึกษาธรรมก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ต้องเป็นไปตามปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่า เป็นผู้ที่มีปกติสะสมกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือสัทธา ศีล สุตตะ จาคะ มาแล้วในอดีต
ชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟัง ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ทาน ในขณะนั้นสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่า แม้การให้ทาน หรือกุศลที่เป็นไปในทาน ในขณะนั้น ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย คือทานกุศลที่ได้กระทำมาแล้วในอดีตเป็นปัจจัย แต่ว่าชีวิตของแต่ละคน ก็มีการสะสมในเรื่องสภาพธรรม ทั้งจิตและเจตสิกในลักษณะต่างๆ เช่นบางท่านก็เป็นผู้ที่ให้ทานมากจริง มีอุปนิสสัยในการให้ทาน แต่เป็นผู้ที่มีศีลน้อย หรือว่ามีสุตตะ คือมีการฟัง มีการศึกษาน้อย เป็นไปตามปัจจัยอีกเหมือนกัน เพราะเหตุว่า สะสมปัจจัยที่จะกระทำทานกุศล แต่ว่าไม่ได้สะสมปัจจัยในการฟัง ในการศึกษาธรรม หรือว่าในการที่จะเจริญศีลให้มั่นคงขึ้น
หรือว่า บางท่านก็เป็นผู้ที่มีศีลดี เพราะเหตุว่า มีอุปนิสสัยสะสมมา ในการที่จะวิรัติทุจริต ทางกาย ทางวาจา แต่ว่าเป็นผู้ที่มีทานกุศลน้อย นี่ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น หรือบางท่านเป็นผู้ที่มีศีลดี แต่เมตตาน้อย เป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น ศีลย่อมไม่มั่นคง ถ้าเป็นผู้ที่ขาดเมตตา เพราะเหตุว่า บางท่านเป็นผู้ที่ไม่ทำทุจริตทางกาย ทางวาจาเป็นปกติ แต่ว่าเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว ไม่ผิดศีล ไม่ได้ทำทุจริตทางกาย ทางวาจา แต่คิดถึงแต่ความสุขของตนเอง ไม่คำนึงถึงความสุขของคนอื่น ก็แสดงว่าเป็นผู้ที่มีศีลดี แต่ว่าเป็นผู้ที่ยังขาดเมตตา เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้ามีการปรารถนาความสุขของตนมากขึ้น ศีลนั้นก็ย่อมจะไม่มั่นคง เพราะเหตุว่า ย่อมจะมีการกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจาได้ ถ้ายังคงจะเป็นผู้ที่เห็นแก่ความสุขของตนเอง จนกระทั่งสามารถที่จะทำทุจริตทางกาย ทางวาจาได้
นี่ก็เป็นในขณะที่กุศลเกิดในวันหนึ่งๆ แล้วแต่จะเป็นกุศลประเภทของทาน หรือศีล หรือการศึกษาธรรม การอบรมเจริญปัญญา
ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้มีแต่กุศล อกุศลก็มีมาก เพราะฉะนั้น ขณะใด ซึ่งแต่ละบุคคล จะเป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเกิดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ลักษณะใด ก็เป็นเพราะอุปนิสสยปัจจัย ที่สะสมมาเป็นปกติ คือเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้พอใจในรูปเช่นนั้นๆ หรือว่าในเสียงอย่างนั้นๆ ในกลิ่นอย่างนั้นๆ ในรสอย่างนั้นๆ เป็นชีวิตปกติประจำวัน ซึ่งเวลาที่ท่านผู้ฟังนึกถึงอาหารที่จะบริโภค แต่ละคนก็นึกถึงอาหารที่ชอบใจ ตามการสะสมที่เป็นปกติ ทำให้พอใจในรสอาหารเช่นนั้นๆ หรือขณะที่โกรธไม่พอใจ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนอีก ไม่ว่าจะเป็นความโลภ หรือความโกรธ บางคนก็ไม่พอใจในรูปอย่างนั้น ในเสียงอย่างนั้น ในกลิ่นอย่างนั้น ในรสอย่างนั้น ในกิริยาอาการ ในมารยาท ในวาจาของบุคคล อย่างนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นที่พอใจของบุคคลอื่น แต่สำหรับท่าน ไม่พอใจ นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นความต่างกันตามอุปนิสสัย ที่สะสมมาเป็นปกติ จึงเป็นอุปนิสสัยที่มีกำลัง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
ท่านผู้ฟังซึ่งยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ย่อมมีทุจริตกรรมบ้าง แล้วแต่ว่า จะเป็นทางกาย หรือทางวาจา คงจะมีการฆ่าสัตว์เล็ก สัตว์น้อย ปาณาติบาตเกิดขึ้น ให้ทราบว่า ถ้าไม่เคยฆ่ามาก่อนในอดีต ปัจจุบันนี้ก็คงจะไม่ฆ่า เพราะเหตุว่า บางท่านไม่ฆ่าสัตว์ใหญ่ แต่ยังมีการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อย เป็นข้ออ้างได้หลายอย่าง ว่าเป็นสัตว์ที่ทำให้ท่านเดือดร้อน เช่นยุง มด เป็นต้น แต่ให้ทราบว่า ในขณะที่ทำปาณาติบาตครั้งหนึ่ง ก็จะเป็นอุปนิสสยปัจจัย คือเป็นปัจจัยที่มีกำลัง ที่จะทำให้เกิดการฆ่า หรือปาณาติบาตอีกในอนาคต และอาจจะรุนแรงจนกระทั่งถึงกับสามารถจะฆ่า แม้มารดา บิดา มิตรสหาย หรือผู้ที่มีคุณก็ได้ นี่ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย คือปัจจัยที่มีกำลัง ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น
ข้อความในพระไตรปิฎกได้แสดงว่า
ปาณาติบาต คือการฆ่าสัตว์อื่น เป็นอุปนิสสยปัจจัยให้เกิดปาณาติบาตอีก หรือเป็นปัจจัยให้เกิดอทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เป็นปัจจัยให้เกิดกาเมสุมิจฉาจาร เป็นปัจจัยให้เกิดมุสาวาทได้
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน ที่แสดงให้เห็นว่า แต่ละขณะที่เกิดขึ้น อกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลประเภทต่างๆ มากขึ้น เพิ่มขึ้น เช่น ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์ เป็นปัจจัยให้เกิดอทินนาทานได้ เมื่อฆ่าแล้ว ก็เอาทรัพย์ สิ่งของของบุคคลนั้นด้วย มีไหม?อย่างนี้
เป็นปัจจัยให้เกิดกาเมสุมิจฉาจารได้ เพราะเหตุว่า บางทีบางท่านฆ่าสามีแล้ว ก็ประพฤติผิดในกาม ในภรรยาของบุคคลนั้นด้วย
และสำหรับปาณาติบาต เป็นปัจจัยให้เกิดมุสาวาท เป็นของธรรมดา เพราะเหตุว่า เมื่อฆ่าแล้ว ก็ย่อมจะมีทุจริตกรรมต่อไป คือไม่ต้องการที่จะให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดมุสาวาท
แม้อทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เป็นปัจจัยแก่ปาณาติบาตได้ ใช่ไหม ปล้นแล้วก็ฆ่าด้วย ไม่ใช่เพียงแต่จะเอาทรัพย์ไป เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อปล้นแล้ว ก็ยังฆ่าปิดปาก
เพราะฉะนั้น การที่ปล้นเอาทรัพย์ของบุคคลอื่น
ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดปาณาติบาตได้
ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดกาเมสุมิจฉาจารได้
ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดมุสาวาทได้
ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดผรุสวาจา การพูดคำหยาบได้
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ คำหยาบที่พูด ถ้าไม่มีปัจจัย ก็ย่อมพูดไม่ได้ เกิดไม่ได้ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้พูดคำหยาบครั้งหนึ่ง ก็จะเป็นปัจจัยให้พูดคำหยาบครั้งต่อไป ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นอุปนิสสัยที่จะให้เป็นผู้ที่มีปกติพูดคำหยาบคายได้
และสำหรับคำผรุสวาท ก็จะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดปาณาติบาตได้
เป็นปัจจัยให้เกิดอทินนาทานได้
เป็นปัจจัยให้เกิดกาเมสุมิจฉาจารได้
ผู้ที่พูดคำหยาบ จิตที่พูดในขณะนั้น ต้องเป็นจิตที่ ประทุษร้ายบุคคลที่ตนกล่าวคำหยาบด้วย และถ้ามีโทสะเกิด มีกำลังแรงกล้าขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่จะกล่าววาจาที่เป็นผรุสวาจาเท่านั้น ก็ยังจะถึงประทุษร้ายร่างกายได้ หรือถึงกับทำลายชีวิตได้ อันเนื่องมาจากการพูดคำหยาบนั้นเอง
เพราะฉะนั้น แม้การสะสมการพูดคำหยาบ ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ เช่นปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร
เป็นไปได้ไหม คำหยาบที่จะทำให้เกิดกาเมสุมิจฉาจาร คำหยาบ คำลามก ซึ่งจะทำให้เกิดกาเมสุมิจฉาจาร ได้ ถ้าทีการเสพบ่อยๆ
สำหรับคำพูดส่อเสียด แม้เพียงคำพูดส่อเสียด แต่ก็จะเห็นได้ว่า เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะทำให้เกิดทุจริตกรรม แม้ปาณาติบาตก็ได้ อทินนาทานก็ได้ กาเมสุมิจฉาจารก็ได้ มุสาวาทก็ได้
สำหรับวัยรุ่น จะเห็นได้ว่า เพียงการส่อเสียดกันเล็กๆ น้อยๆ ทีละนิด ทีละหน่อย ก็จะเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ถึงกับโกรธอย่างรุนแรง แล้วเกิดการทำร้ายกัน ฆ่ากันได้ นี่ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยของการสะสมคำพูดส่อเสียด
และในขณะเดียวกัน เมื่อมีการส่อเสียดแล้ว มีจิตคิดจะประทุษร้ายแล้ว เป็นเหตุให้ทำอทินนาทานได้ ถ้าคิดที่จะประหัตประหารกัน ก็จะต้องแสวงหาอาวุธที่จะทำการประหัตประหารกัน ก็จะต้องเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ คืออาวุธต่างๆ เหล่านั้น แล้วก็ประหัตประหารกัน เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า อกุศลทั้งหมด สามารถที่จะเชื่อมโยงเป็นปัจจัย โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะให้อกุศลกรรมทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นไป สืบเนื่องกัน ทั้งทางกาย ทางวาจา
แม้สัมผัปปลาปวาจา คำพูดเพ้อเจ้อ สร้างอารมณ์เพ้อฝันต่างๆ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร และมุสาวาทได้
เพราะฉะนั้น การไม่อบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะละความไม่รู้ ย่อมจะทำให้อกุศลจิตเกิดเป็นไป ไขว้เขว ประการต่างๆ สนับสนุน เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะทำให้พอกพูนอกุศลยิ่งขึ้น
สำหรับอกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ยังมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม
ทรงเกียรติ อาจารย์ว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ สามารถเป็นปัจจัยให้ ทำอกุศลด้วย อทินนาทานด้วยก็ได้ กาเมสุมิจฉาจารด้วยก็ได้ มุสาวาทด้วยก็ได้ ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย น่าจะเป็นเห-ตุปัจจัยมากกว่า
อ.จ. ท่านผู้ฟังอาจจะคิดถึงประเภทของจิต ที่เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำนั้นๆ ได้ เช่นการฆ่า จะต้องเกิดขึ้นเพราะโทสมูลจิต คืออกุศลประเภทโทสะ เป็นปัจจัย ไม่ใช่โลภมูลจิตใช่ไหม ที่ทำให้เกิดการฆ่า
เพราะฉะนั้น โลภะจะเป็นปัจจัยให้เกิดการฆ่าได้ไหม ลองคิดดู เป็นปัจจัยได้ โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย อย่าลืม จิตที่ฆ่า ต้องเป็นโทสมูลจิต ต้องการทำลายชีวิตของบุคคล หรือสัตว์นั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นจิตต้องเป็นโทสมูลจิตแน่นอน แต่ว่าที่จะฆ่าเพราะปรารถนาทรัพย์สมบัติ เพราะฉะนั้น การฆ่านั้นย่อมเกิดจากมูล ๓ ได้ คือเกิดจากโลภมูลก็ได้ เกิดจากโทสมูลก็ได้ เกิดจากโมหมูลก็ได้ ถ้าเกิดจากโลภะเป็นมูล โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดการฆ่า แต่ในขณะที่ฆ่า จิตที่จะฆ่านั้น ต้องเป็นโทสมูลจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นความกว้างขวางของปกตูปนิสสยปัจจัย โลภะก็เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะได้ แต่เวลาที่โลภะจะเป็นปัจจัยให้โทสมูลจิตเกิด ขณะนั้นโดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ไม่ใช่อนันตรูปนิสสยปัจจัย
ทรงเกียรติ เห-ตุปัจจัย จะมีปัจจัยร่วมถึง ๙ ปัจจัย หรือ ๑๑ ปัจจัย จึงคิดว่า ทำไมการฆ่าจะเป็นปัจจัยให้ถือเอาสิ่งของๆ เขาด้วย และถือเอาภรรยาของเขาด้วย ไม่น่าจะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
อ.จ. ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า แต่ปกตูปนิสสยปัจจัยไม่เป็นสหชาตปัจจัย เช่นการที่ท่านผู้ฟังจะมาศึกษาธรรม ขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ แต่อะไรเป็นปัจจัยให้ท่านมาศึกษาธรรม ต้องเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
สัทธาเป็นปัจจัยให้ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ถ้าขาดสุตตะ คือการฟัง การพิจารณาโดยแยบคาย สัทธาเป็นปัจจัยให้เกิดมานะ หรือทิฏฐิได้ โดยปกตูปนิสสยปัจจัย
อาศัยสัทธานั่นเอง เพราะฉะนั้น อุปนิสสย หมายความถึงสภาพธรรม ซึ่งเป็นที่อาศัยซึ่งมีกำลัง
นิสสย = ที่อาศัย
อุป = สภาพที่มีกำลัง
เพราะฉะนั้น อุปนิสสยปัจจัย คือที่อาศัยที่มีกำลัง
เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการอยากจะได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น เป็นอุปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้เกิดทุจริตกรรม คืออทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้ เมื่อถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ไดให้โดยการปล้น แล้วยังฆ่าด้วย
เพราะฉะนั้น เมื่อฆ่าในขณะนั้น ที่ปล้นแล้วฆ่า การปล้นนั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่ทำให้ฆ่า เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ถ้าไม่ปล้นก็ไม่ฆ่า แต่เมื่อปล้นแล้วฆ่า การปล้นนั้นเอง เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้เกิดการฆ่าในขณะนั้น เพราะฉะนั้น อทินนาทาน ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้เกิดปาณาติบาต แล้วก็เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่จะทำให้เกิดมุสาวาท และก็เป็นที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้เกิดผรุสวาท แล้วก็อาจจะเป็นที่อาศัยที่มีกำลังตามเหตุการณ์ ที่จะให้ให้เกิดกาเมสุมิจฉาจารได้ เพราะอาศัยการฆ่า หรืออาศัยอทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
เพราะฉะนั้น ก็เชื่อมโยงกันไป โดยที่เหตุการณ์หนึ่ง ก็เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่จะทำให้เหตุการณ์อีกอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นต่อไป นี่คือสภาพที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย
ทรงเกียรติ ขอย้อนกลับมาเรื่องให้ทาน คือผู้ที่ให้ทานในสมัยนี้ ผมเห็นเขาเอาอาหารใส่ในจาน ยกขึ้นบนศรีษะ อธิษฐาน ซึ่งก็คงจะอยากได้อะไรๆ ไม่ให้ป่วยไข้ ร่ำรวย หรืออะไร หรือสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง การถวายทานแบบนี้ จะถือว่าเป็นปัจจัยอะไรครับ
อ.จ. กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล เพราะเหตุว่า มีทานกุศลเกิดแล้ว แต่อาศัยทานกุศลนั่นเอง เป็นปัจจัย คือเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้ปรารถนาผลอย่างหนึ่งหนึ่งอย่างใดของกุศลนั้น ขึ้นในขณะนั้น
ทรงเกียรติ ถ้าเราจะไม่ให้อกุศลจิตเกิด ทำยังไงครับ
อ.จ. เจริญสติ ที่มีประโยชน์ที่สุด คือมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่ให้ทาน หรือในขณะที่วิรัติทุจริต จะเห็นได้ว่า การให้ทาน ที่เป็นกุศลญาณวิปปยุตต์ ก็มาก คือไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าประกอบด้วยปัญญาแล้ว แม้ในขณะที่ให้ทาน สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมในขณะนั้น เป็นหนทางที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท โดยการที่เพิ่มความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัยต่างๆ แต่ละขณะ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ไม่ว่าจะให้ทาน ก็ต้องเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เมื่อให้ทานแล้ว ยังเกิดความปรารถนาผล ที่จะเกิดจากทานนั้น ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลก็ได้ กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอัพยากตธรรม คือวิบากจิตและกิริยาจิตก็ได้
ท่านเองที่ท่านคิดว่า ท่านถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ อาจจะไม่ทราบว่า ขณะใดท่านเคลื่อนไปจากการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เช่น โดยไม่รู้ตัวเลย เข้าใจว่า ตัวเองนั้น อาศัยสัทธา จึงถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ในขณะที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้พิจารณาหนทางข้อปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่มีความเลื่อมใสนับถือ ในข้อประพฤติปฏิบัติของบุคคล ซึ่งข้อประพฤติปฏิบัตินั้น ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น บุคคลนั้น ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีพระอริยสงฆ์เป็นสรณะ
เมื่อไม่มีพระอริยสงฆ์เป็นสรณะ ก็ไม่มีพระธรรม และพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะด้วย เพราะเหตุว่า ถ้ามีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ ก็มีพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้วโดยละเอียดเป็นสรณะ แล้วก็มีผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์เป็นสรณะ แต่ถ้าขาดการพิจารณา สัทธาคือกุศลนั้น เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้เกิดทิฏฐิ คือความเห็นผิด การเลื่อมใสผิด ซึ่งไม่ทราบว่า ได้เคลื่อนแล้วจากการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะอย่างแท้จริง
ทรงเกียรติ จะขอถามถึงเรื่องศีลกับเมตตา ที่อาจารย์กล่าวเมื่อกี้นี้ ถึงผู้มีศีลแต่ขากเมตตา หมายความว่าไงครับ
อ.จ. ไม่กระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ เว้นวจีทุจริต ไม่มุสาวาท เว้นคำหยาบ แต่เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว เห็นแต่ความสุขของตนเอง ไม่ได้คิดถึงความสุขของคนอื่น มีไหม ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ถือเอาของๆ คนอื่นมาเป็นของตน แต่ขณะเดียวกัน ก็ปราศจากการอบรมเจริญเมตตา เพราะคิดถึงแต่ความสุขของตัวเอง
ทรงเกียรติ คือที่บ้านผม มีมดดำมาก แล้วก็ไปเดินแถวๆ ที่ผมนั่งอยู่ ส่วนมากผมขยัน ผมก็เอาไม้กวาดไปกวาดเสียก่อนจึงไปนั่ง แต่บางครั้งขี้เกียจ ก็นั่งไป เท้าอาจจะไปเหยียบ หรือไม่เหยียบก็ไม่รู้ เพราะมันเดินอยู่แถวๆ นั้น แล้วเราก็วางเท้าไว้ที่นั่น ขณะที่ขี้เกียจไปดู ขี้เกียจไปใส่ใจ ขณะนั้น ชื่อว่าขาดเมตตาหรือเปล่า
อ.จ. ใครจะทราบ คนอื่นจะทราบดีกว่า หรือว่าท่านที่ประกอบด้วยเจตนานั้นเอง เป็นผู้ที่รู้ชัดเจนยิ่งกว่าบุคคลอื่น
เพราะเหตุว่า จิตเกิด – ดับเร็วที่สุด ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ผ่านไปแล้ว จะมานั่งนึกว่า เมื่อกี้นี้เป็นกุศลหรืออกุศล ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ชัดเจนได้ ต้องในขณะที่สภาพนั้นๆ กำลังปรากฏ แล้วสติระลึกพิจารณารู้ลักษณะสภาพนั้น จึงรู้ว่าลักษณะนั้น เป็นลักษณะของอกุศลจิตรึกุศลจิต
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 01
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 02
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 03
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 04
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 05
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 06
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 07
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 08
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 09
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 10
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 11
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 12
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 13
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 14
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 15
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 16
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 17
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 18
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 19
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 20
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 21
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 22
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 23
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 24
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 25
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 26
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 27
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 28
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 29
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 30
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 31
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 32
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 33
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 34
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 35
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 36
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 37
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 38
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 39
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 40
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 41
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 42
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 43
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 44
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 45
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 46
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 47
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 48
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 49
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 50