ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 27


    ตลับที่ ๑๔

    หรือว่าจะไม่เปิดพัดลม

    ความสุขทางกายก็เป็นอัพยากตธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้ความสุขทางกายเกิดอีกได้ เพราะอาศัยความยินดีพอใจในความสุขทางกายอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ตลอดเรื่อยมา อยู่ในโลกของปรมัตถธรรมเท่านั้น หรืออยู่ในโลกของอรรถบัญญัติด้วย หรือว่าอยู่ในโลกของอรรถบัญญัติตลอดเวลา ไม่ได้รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นปรมัตถ์ทั้งสิ้น

    พอที่จะทราบได้ไหมว่า อยู่ในโลกไหน อยู่ในอรรถบัญญัติ ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะอื่นทั้งหมด เป็นอรรถบัญญัติ คือเห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ โดยไม่ได้ระลึกรู้เลยว่า ทางตา แท้ที่จริงที่เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั้น สภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่ที่ปรากฏเป็นสัณฐานรูปร่างต่างๆ เพราะเป็นนิมิตของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมรวมกัน จึงปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน เมื่อปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน รวมทั้งกลิ่น และรส จึงปรากฏเป็นอรรถบัญญัติ ว่าเป็นข้าว เป็นน้ำ เป็นผลไม้ เป็นพืชผัก เป็นบุคคลต่างๆ แต่สภาพที่แท้จริงแล้ว คือปรมัตถธรรมซึ่งเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย และดับไปอย่างรวดเร็ว ตามความเป็นจริง

    ด้วยเหตุนี้ ในปัจจัยต่อไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง ปุเรชาตปัจจัย ซึ่งหมายความถึง รูปธรรมซึ่งเกิดก่อน เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้น ในขณะที่รูปธรรมนั้น ยังไม่ได้ดับไป

    แสดงความสัมพันธ์ และความเป็นปัจจัยกัน ของนามธรรมและรูปธรรม ซึงเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก สิ่งที่เคยคิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ แม้ที่จริงแล้ว ในขณะที่ปรากฏทางตานั้น เป็นแต่เพียง สีสรรวัณณะ เป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถจะมองเห็นได้ คือปรากฏทางตาได้

    เสียงที่กำลังได้ยินนี้ ทุกท่านก็คงจะมีความคิดตามอรรถบัญญัติ ว่า เสียงนั้น หมายความว่าอะไร และยังรู้อรรถบัญญัติ จากรูปร่างนิมิตสัณฐานว่า ใครเป็นผู้พูด แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้เลย โดยพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ขณะจิตขณะหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นเห็นก็ตาม ได้ยินเสียงต่างๆ ก็ตาม รูปธรรมซึ่งเกิดก่อน แล้วยังไม่ดับไป ทั้งๆ ที่มีอายุเพียงการเกิด – ดับของจิต ๑๗ ขณะ ก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้น ในระหว่างที่รูปธรรมนั้นยังไม่ดับ

    ความหมายของปุเรชาต ชาต = เกิด, ปุเร = ก่อน

    เพราะฉะนั้น ปุเรชาตปัจจัย คือสภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัย โดยการเกิดก่อน ซึ่งได้แก่รูปธรรมนั่นเอง เป็นปัจจัยแก่นามธรรม โดยรูปธรรมนั้นต้องเกิดก่อน นามธรรมและยังไม่ดับไป เพราะเหตุว่า รูปทุกรูปที่จะเป็นปัจจัยได้ จะต้องเป็นปัจจัย เฉพาะในฐีติขณะ ไม่ใช่ในอุปาทขณะของรูป นอกจากในขณะปฏิสนธิกาล ขณะเดียวเท่านั้น ซึ่งหทยวัตถุเกิด พร้อมกับปฏิสนธิจิต

    เพราะฉะนั้น หทยวัตถุที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะ หลังจากปฏิสนธิขณะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ เป็นปัจจัยก็ตาม จะต้องเป็นปัจจัยได้ เฉพาะในขณะที่เป็นฐีติขณะ คือพ้นจากอุปาทขณะของรูป และรูปนั้นยังไม่ดับ จึงเป็นฐีติขณะ

    สำหรับปุเรชาตปัจจัย คือรูปที่เกิดก่อน แล้วยังไม่ดับ เป็นปัจจัยแก่นามธรรม โดยปัจจัย ๒ อย่างคือ เป็น “วัตถุปุเรชาตปัจจัย” หรือเรียกว่า “วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย” ก็ได้

    หมายความถึง รูปที่เป็นที่อาศัย เป็นที่เกิดของจิต โดยเป็นสภาพธรรมที่เกิดก่อนจิต แล้วยังไม่ดับ อีกอย่างหนึ่ง คือ “อารัมมณปุเรชาตปัจจัย” ซึ่งได้แก่รูปซึ่งเป็นอารมณ์ของจิต ซึ่งรูปที่จะเป็นอารมณ์ของจิตได้ รูปนั้นก็ต้องเกิดก่อนจิต

    สำหรับวัตถุปุเรชาตปัจจัย หรือวัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย

    โดยศัพท์ ก็ทราบแล้วว่า

    “นิสสย” หมายความถึง ที่อาศัย

    “ปุเรชาต” แปลว่า เกิดก่อน

    เพราะฉะนั้น รูปซึ่งเป็นที่อาศัยให้จิตเกิดขึ้น โดยรูปนั้นเกิดก่อน ชื่อว่า “ปุเรชาตนิสสยปัจจัย”

    สำหรับปุเรชาตนิสสยปัจจัย ไม่ได้หมายความถึงรูปทั้งหมดทุกรูป แต่หมายเฉพาะกัมมชรูป ๖ รูป ซึ่งเป็นที่อาศัย เป็นที่เกิดของจิต ในภูมิที่มีขันธ์๕ เพราะเหตุว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรม คือจิตและเจตสิก จะเกิดโดยไม่อาศัยรูปเป็นที่เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต มี ๖ รูป ได้แก่

    จักขุปสาทรูปเป็น จักขุวัตถุ คือเป็นที่เกิดของ จักขุวิญญาณและเจตสิกที่เกิดกับ จักขุวิญญาณจิต

    โสตปสาทรูปเป็น โสตวัตถุ คือเป็นที่เกิดของ โสตวิญญาณและเจตสิกที่เกิดกับ โสตวิญญาณจิต

    ฆานปสาทรูปเป็น ฆานวัตถุ คือเป็นที่เกิดของ ฆานวิญญาณและเจตสิกที่เกิดกับ ฆานวิญญาณจิต

    ชิวหาปสาทรูปเป็น ชิวหาวัตถุคือเป็นที่เกิดของ ชิวหาวิญญาณและเจตสิกที่เกิดกับ ชิวหาวิญญาณจิต

    กายปสาทรูปเป็น กายวัตถุ คือเป็นที่เกิดของ กายวิญญาณและเจตสิกที่เกิดกับ กายวิญญาณจิต

    โดยเป็นปุเรชาตปัจจัย คือรูปที่จะเป็นที่เกิดของจิต ต้องเกิดก่อนจิต ทั้งหมด ๕ รูป ทางทวารทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นอกจากจิต ๑๐ ดวง คือ จักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒

    ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒ แล้ว

    จิตอื่นทั้งหมด ต้องเกิดที่หทยวัตถุ

    เพราะฉะนั้น หทยวัตถุ ต้องเกิดก่อนจิตนั้น จึงจะเป็นปุเรชาตนิสสยปัจจัยของจิต ซึ่งเกิดที่หทยวัตถุ

    ๖ รูปแล้ว ซึ่งเป็นที่อาศัยให้จิตเกิดขึ้น โดยเกิดก่อน โดยเป็นปุเรชาตนิสสยปัจจัย

    กุศลจิตเกิดที่ไหน หทยวัตถุ โดยมีหทยวัตถุนั้นเกิดก่อน แล้วยังไม่ดับ จึงเป็นปุเรชาตนิสสยปัจจัย

    สำหรับปุเรชาตนิสสยปัจจัย มีข้อสงสัยอะไรไหม

    ชาญ ที่อาจารย์พูดว่า หทยวัตถุที่เกิดก่อน แล้วยังไม่ดับ หมายความว่าอย่างไร

    อ.จ. รูปมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต จิตเกิด – ดับไป ๑๗ ขณะ รูปที่เกิดพร้อมจิตในอุปาทขณะของจิต จึงจะดับไปพร้อมกับภังคขณะของจิตดวงที่ ๑๗ หรือขณะที่ ๑๗ รูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต แล้วจิตนั้นเกิด – ดับไป ๑๗ ขณะ รูปซึ่งเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตขณะที่ ๑ จะดับพร้อมกับภังคขณะของจิตขณะที่ ๑๗

    ไม่ว่ารูปใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่รูปนั้นเกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยได้ในอุปาทขณะของรูป จะไม่สามารถจะเป็นปัจจัยได้เลย เพราะเหตุว่า ยังมีกำลังอ่อน พึ่งเป็นอุปาทขณะเท่านั้น แต่เมื่อล่วงเลยอุปาทขณะของรูป ซึ่งเป็นฐีติขณะ คือยังไม่ดับไป เทียบกับจิตแล้ว จิต ๑๗ ขณะใหญ่ เมื่อรวม ๓ ขณะย่อยของจิตทุกดวงๆ ก็จะเป็น ๕๑ ขณะ ๓ x ๑๗ = ๕๑ ขณะ อุปาทขณะของรูปคือขณะที่ ๑ ฐีติขณะคือขณะที่ ๒ ถึงขณะที่ ๔๙ ขณะสุดท้ายคือขณะที่ ๕๑ เป็นภังคขณะของรูป

    ขณะนี้ แม้แต่รูปภายนอก จะเป็นต้นไม้ใบหญ้า โต๊ะ เก้าอี้ หรืออะไรก็ตามแต่ รูปกลาปใดซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่เพียงการเกิด – ดับ ของจิต ๑๗ ขณะ ถ้าไม่อาศัยการเกิด – ดับของจิตเป็นเครื่องกำหนด จะเอาอะไรวัดความเร็วของการดับไปของรูป แต่สิ่งซึ่งเร็วกว่ารูป ซึ่งเกิด – ดับ คือจิต

    เพราะฉะนั้น โดยพระปัญญาคุณที่ทรงประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่ารูปซึ่งเกิด – ดับอย่างรวดเร็วนั้น เท่ากับการเกิด – ดับของจิต ๑๗ ขณะ หรือ ๑๗ ครั้ง หรือ ๑๗ ดวง ซึ่งจิตเกิด – ดับเร็วกว่า รูปๆ หนึ่ง

    แต่ในขณะนี้ เมื่อยังไม่ปรากฏว่ารูปดับ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ขณะนี้ท่านผู้ฟังทราบว่า ที่ร่างกายของแต่ละบุคคล มีรูปหลายรูป หลายกลุ่มประชุมรวมกัน มีอากาศธาตุคั่นอยู่ทุกกลาป หรือทุกกลุ่มของรูป และแต่ละกลาป บางกลาปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดขึ้นเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน

    แต่เวลานี้ไม่ปรากฏว่ารูปเกิด – ดับใช่ไหม ทั้งๆ ที่โดยการศึกษาทราบว่า กลุ่มของรูปแต่ละกลุ่มแต่ละกลาป ซึ่งเกิดอยู่นี้ กำลังทยอยกันดับ อุปมาเหมือนงาในกระทะร้อนๆ ซึ่งก็แตกดับอยู่ตลอดเวลาๆ นี้ เพราะฉะนั้น จะเห็นความจริงว่า ถึงแม้ว่ารูปที่ร่างกาย จะมีมากมายหลายรูป ไม่ใช่เพียงกลุ่มเดียว หรือกลาปเดียว เพราะเหตุว่า ถ้าแตกย่อยลงไป โดยที่อากาศธาตุที่คั่นอยู่ ย่อมมีมากมายหลายพันหลายหมื่นกลาปทีเดียว เพราะเหตุว่า ร่างกายสามารถแตกย่อยเป็นส่วนเล็กที่สุดได้ แต่มีความสำคัญอะไรไหม ถ้ารูปนั้นๆ ไม่ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิต รูปทุกรูปกำลังแตกดับไป ไม่มีใครเดือดร้อนเลยใช่ไหม ในขณะที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ รูปที่ร่างกายของแต่ละบุคคลนี้ กำลังทยอยกันเกิด – ดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีใครปรากฏว่าเดือดเนื้อร้อนใจเลย ทั้งๆ ที่รูปกำลังเกิด – ดับ และนามธรรมก็กำลังเกิด – ดับ

    เพราะฉะนั้น รูปใดก็ตาม ซึ่งไม่ปรากฏ ไม่มีความสำคัญอะไรเลยทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะรู้อยู่ว่า มีรูปนั้นๆ และกำลังเกิด – ดับอยู่ก็จริง แต่ถ้ารูปใดไม่ปรากฏเป็นอารมณ์ รูปนั้นๆ ไม่มีความสำคัญอะไร แต่รูปใดซึ่งกำลังปรากฏ รูปนั้นจึงจะสามารถให้ความจริงได้ เมื่อรู้อย่างนี้ การที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของรูปตามความเป็นจริง จึงต้องเป็นรูปที่ปรากฏ แต่ละรูปแต่ละอย่าง ไม่ใช่ปรากฏรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ต้องเป็นรูปๆ เดียว ที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย เวลาที่ท่านผู้ฟังกระทบสัมผัสส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย ท่านรู้รูปอื่นทั่วตัว หรือรู้เฉพาะรูปแข็ง หรือรูปอ่อน หรือรูปเย็น หรือรูปร้อนที่ปรากฏ ที่กระทบตรงส่วนนั้นของกาย รู้รูปไหน เวลานี้ทั้งตัวนี้เป็นรูปทั้งนั้น กำลังเกิด – ดับ แต่ขณะใดก็ตาม รูปใดที่กระทบส่วนใดของกาย สภาพรู้ ธาตุรู้ รู้เฉพาะรูปที่ปรากฏตรงส่วนที่กระทบกาย รูปนั้น ซึ่งอาจจะเป็นรูปแข็ง หรือรูปอ่อน หรือรูปร้อน หรือรูปเย็น หรือรูปไหว หรือรูปตึงก็ได้ จะรู้เฉพาะตรงนั้นรูปเดียว หรือจะรู้รูปอื่นที่ตัวทั่วทั้งกายไปหมด ตามความเป็นจริงที่ถูกต้อง

    รู้เฉพาะตรงส่วนที่ปรากฏใช่ไหม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ ก็ในขณะที่รูปนั้นเท่านั้น ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงต้องเพิกอิริยาบถ ไม่ใช่รู้รวมทั้งหมด แต่รู้เฉพาะลักษณะของรูปที่ปรากฏ ตรงส่วนที่กระทบ ที่ยึดถือว่าเป็นกายของเรา แต่ว่าลักษณะตามความเป็นจริง คือเย็น หรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เท่านั้น

    ขอกล่าวถึงข้อความในอัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ ซึ่งอุปมารูปซึ่งรวมกันอยู่ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว แยกออกเป็นแต่ละรูป แต่ละกลาป แต่ละกลุ่ม ซึ่งมีข้อความว่า

    ข้ออุปมาอุปาทายรูป (คือรูปซึ่งไม่ใช่มหาภูตรูป) ไม่ระคนกันอีกนัยหนึ่ง อีกประการหนึ่ง พึงทราบแม้ข้ออุปมา ในภาวะที่อุปาทายรูปเหล่านี้ไม่ระคนกัน ดังต่อไปนี้

    เหมือนอย่างว่า ธง ๕ สีที่เขายกขึ้นไว้ เงาย่อมเป็นเหมือนเนื่องเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่เงาของธงผืนนั้น ก็ไม่ระคนกันเลย ฉันใด และเมื่อเขาเอาฝ้าย ๕ สี ขวั่นเป็นไส้ ตามประทีปไว้ เปลวย่อมเป็นเหมือนเนื่องเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่เปลวแห่งแสงของฝ้ายนั้นๆ ต่างก็เป็นเฉพาะละอย่างๆ ไม่ระคนกันเลย ฉันใด อายตนะทั้ง ๕ นี้ ก็เปรียบได้เหมือนฉันนั้น แม้จะรวมอยู่ในอัตตภาพเดียวกันก็จริง แต่ก็ไม่ระคนกันและกันเลย

    อย่าลืม อายตนะ ๕ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูปนั่นเอง

    อายตนะทั้ง ๕ นี้ ก็เปรียบได้เหมือนกันฉันนั้น แม้จะรวมอยู่ในอัตตภาพเดียวกันก็จริง แต่ก็ไม่ระคนกันและกันเลย

    คือไม่สามารถที่จะรวมกันเป็นอันเดียวกัน แม้ว่าจะรวมอยู่ในอัตตภาพอันเดียวกันก็ตาม จักขุปสาท ไม่ใช่โสตปสาท ชิวหาปสาท ฆานปสาท กายปสาท แต่ละอายตนะก็เป็นแต่ละรูป แต่ละอย่าง แม้รูปที่เหลือ คือนอกจากอายตนะทั้ง ๕ ก็ไม่ระคนกัน เหมือนกัน

    สำหรับ “วัตถุปุเรชาตปัจจัย” หมายเฉพาะ กัมมชรูป ๖ รูป ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของจิต แต่ “อารัมมณปุเรชาตปัจจัย” หมายความถึงรูป ซึ่งเป็นอารมณ์ ซึ่งที่จะปรากฏได้ ก็ต้องเกิดก่อนนามธรรม ซึ่งรู้รูปนั้น

    มีข้อสงสัยอะไรไหม ในเรื่องนี้

    ท่านผู้ฟังจะเห็นความน่าอัศจรรย์ ของการที่สภาพธรรมปรากฏครั้งหนึ่งๆ ในชีวิตได้ เพราะเหตุว่า ถ้าย่อเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตลงอย่างละเอียดที่สุดแล้ว ก็จะปรากฏว่า มีการเกิดขึ้นของจิต ที่กำลังรู้อารมณ์หนึ่งเพียงขณะเดียวๆ จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ขณะหนึ่ง แล้วก็ดับไป จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ขณะหนึ่ง แล้วก็ดับไป แต่ถ้าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ จะปรากฏเหมือนกับเป็นเหตุการณ์ยาวนานสำคัญเหลือเกิน แต่ถ้าย่อ หรือตัดลงมาแล้ว จะเหลือเพียงการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ของจิตแต่ละขณะเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น บางท่านกล่าวว่า รูปซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของจิต จะแตกกระจัดกระจายลง ในขณะใดได้ทั้งหมด คือความตาย ง่ายที่สุด เพราะเหตุว่า เพียงไม่รักษา ไม่ทะนุถนอมรูปนี้ไว้อย่างดี รูปนี้ก็คงจะต้องไม่สามารถจะเป็นปัจจัย เป็นที่อาศัยให้เกิดจิตได้ เพราะเหตุว่า รูปนี้บอบบาง และอันตรายมาก เพียงถูกมีดนิดเดียว เลือดก็ไหล กระทบอะไรหน่อย ก็พร้อมที่จะแตกย่อยไปได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า รูปนี้ไม่ยั่งยืน ความตาย เป็นสิ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อไรก็ได้ แต่การที่จะมีชีวิตเป็นอยู่ต่อไป โดยที่ยังไม่ตาย ที่น่าอัศจรรย์ ว่ามีปัจจัยอะไรที่จะทำให้การประจวบกันของปัจจัยต่างๆ ของนามธรรมและรูปธรรม ที่จะสัมพันธ์ และเป็นปัจจัยกัน ให้สภาพธรรมปรากฏแต่ละขณะ เพราะเหตุว่า กรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดจักขุปสาท ไม่มีใครสามารถจะสร้างจักขุปสาทรูปได้ เพราะเหตุว่า จักขุปสาทรูปเป็นรูปซึ่งใส สามารถรับกระทบเฉพาะสี คือสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ไม่ใช่สีสรรวัณณะ แต่เป็นคุณลักษณะ เป็นสภาพของรูป ซึ่งกรรมทำให้สามารถรับกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กรรมทำให้จักขุปสาทเกิด – ดับ ๑๗ ขณะ เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้ว ๑๗ ขณะก็ดับไป อาจจะยังไม่มีการเห็นเลย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ขณะที่กำลังได้ยินเสียง จักขุปสาทซึ่งเกิด พอ ๑๗ ขณะของจิต ก็ดับโดยที่ไม่ได้กระทำกิจการงาน ไม่ปรากฏว่าเป็นที่เกิดของการเห็น หรือว่าไม่ปรากฏให้รู้ว่ามีรูปนั้นเลย เมื่อไม่ปรากฏ จึงไม่รู้ว่าเป็นรูปนั้น แต่ถึงจะหรือไม่รู้ก็ตาม รูปซึ่งมีสมุฏฐานเกิด ก็เกิดตามอายุ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น การประจวบกันของแต่ละขณะ อย่างรวดเร็วเหลือเกิน เพราะเหตุว่า จักขุปสาท หรือโสตปสาท หรือฆานปสาท หรือชิวหาปสาท หรือกายปสาท หรือหทยวัตถุ ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต มีอายุเพียงแต่จิตเกิด – ดับ ๑๗ ขณะ

    รูปารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏทางตา สัททารมณ์ เสียงคือสิ่งที่ปรากฏทางหู คันธารมณ์ กลิ่น คือสิ่งที่ปรากฏทางจมูก รสารมณ์ รสคือสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏกระทบทางกาย ก็มีอายุ ๑๗ ขณะเหมือนกัน แต่ว่า ทั้งจักขุปสาทก็ดี และรูปารมณ์ก็ดี ซึ่งต่างก็มีอายุ ๑๗ ขณะ จะต้องเกิด และเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการเห็นเกิดขึ้นได้ อย่างรวดเร็วเพียงไร เพราะเหตุว่า จักขุปสาทที่เกิด ต้องยังไม่ดับ คือยังไม่ถึง ๑๗ ขณะ รูปารมณ์ที่เกิด ต้องยังไม่ถึง ๑๗ ขณะ ยังไม่ดับ จึงจะเป็นปัจจัย ซึ่งกระทบกัน และทำให้ภวังคจิตไหว เป็นภวังคจลนะ ๑ ขณะ เป็นขณะที่ ๒ ของรูปทั้งสอง แล้ว ภวังคุปัจเฉทะ เป็นขณะที่ ๓ ของรูปทั้งสอง เมื่อ

    ภวังคุปัจเฉทจิตดับแล้ว เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น ทั้งสองรูปยังไม่ดับ จักขุปสาทและรูปารมณ์ยังไม่ดับ

    เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว เป็นปัจจัยให้วิถีจิตที่ ๑ เพราะเหตุว่า ภวังคจิตทั้งหมดไม่ใช่วิถีจิต จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต, ภวังคจิต, และจุติจิต จิตนั้นเป็นวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น ภวังคจลนะไม่ใช่วิถีจิต

    ภวังคุปัจเฉทะไม่ใช่วิถีจิต

    ปัญจทวาราวัชชนะเป็นวิถีจิตที่ ๑ ดับไป

    จักขุวิญญาณจิต ซึ่งเกิดต่อ เป็นวิถีจิตที่ ๒ ดับไป

    สัมปฏิจฉนจิต เป็นวิถีจิตที่ ๓

    สันตีรณจิต เป็นวิถีจิตที่ ๔

    โวฏฐัพพนจิต เป็นวิถีจิตที่ ๕

    ชวนจิตอีก ๗ ขณะ เป็นวิถีจิตที่ ๖

    และ ตทาลัมพนจิต ๒ ขณะ เป็นวิถีจิตที่ ๗

    อายุของรูป ๑๗ ขณะ จึงดับพร้อมกับตทาลัมพนจิต ๒ ขณะ ทั้งจักขุปสาท และรูปารมณ์

    นี่คือการเป็นปัจจัยอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม น่าอัศจรรย์ไหม แต่ละขณะที่จะเห็นได้ ได้ยินได้ ได้กลิ่นได้ ลิ้มรสได้ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสได้

    การที่รูปธรรมและนามธรรมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างรวดเร็ว เป็นความน่าอัศจรรย์ เพราะเหตุว่า รูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะ ซึ่งก็นับว่าสั้นมาก และนามธรรมก็เกิด – ดับ เร็วกว่ารูปนั้นอีก แต่ก็ยังสามารถที่นามธรรม และรูปธรรม จะเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน โดยรูปธรรมที่เป็นปัจจัย เป็นปัจจัยโดยปุเรชาตปัจจัย เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดก่อนนามธรรม แต่เวลาที่นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรม เป็นปัจจัยโดยปัจฉาชาตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยการเกิดภายหลัง ซึ่งก็จะได้กล่าวถึงต่อไป

    สำหรับวันนี้ เป็นเรื่องของปุเรชาตปัจจัย ซึ่งหมายความถึงรูปซึ่งเกิดก่อน แล้วยังไม่ดับไป เป็นปัจจัยให้นามธรรม คือจิตและเจตสิกเกิด

    ถ้ารูป ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ๑๗ ขณะ แล้วดับไป โดยไม่เป็นปัจจัยให้นามธรรม คือไม่เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกเกิด รูปนั้นก็ไม่ใช่ปุเรชาตปัจจัย เพราะเหตุว่า ไม่เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิด เฉพาะรูปใดก็ตาม ซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกาล คือการเป็นปัจจัยกัน ว่ารูปต้องเกิดก่อน เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ในการที่จะรู้แจ้งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมนั่นเอง

    สำหรับ “ปุเรชาตปัจจัย” ก็มี ๒ อย่าง คือ

    “วัตถุปุเรชาตปัจจัย” หรือ “ปุเรชาตนิสสยปัจจัย” หรือจะเรียกว่า “วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย” ก็ได้

    หมายความถึง รูป ซึ่งเป็นที่อาศัย เป็นที่เกิดของจิต โดยเป็นสภาพธรรมที่เกิดก่อนจิต แล้วยังไม่ดับ

    อีกอย่างหนึ่ง คือ

    “อารัมมณปุเรชาตปัจจัย” ได้แก่ รูป ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิต ซึ่งรูป ที่จะเป็นอารมณ์ของจิตได้ รูปนั้นต้องเกิดก่อนจิต

    แสดงให้เห็นว่า การที่รูปใดๆ ก็ตาม จะเป็นปัจจัยให้เกิดจิตได้ รูปนั้นต้องเกิดก่อน แล้วยังไม่ดับ จึงเป็นปัจจัยได้ แต่ถ้ารูปใดเกิดแล้วดับไป โดยนามธรรมไม่เกิด รูปนั้นก็ไม่เป็นปัจจัยของจิต

    สำหรับรูป ซึ่งเป็นปุเรชาตปัจจัย มี ๑๑ หมวด คือ

    จักขายตนะ ได้แก่ จักขุปสาทรูป เป็นจักขุวัตถุ เป็นปุเรชาตปัจจัย แก่จักขุวิญญาณจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    โสตายตนะ ได้แก่โสตปสาทรูป เป็นโสตวัตถุ เป็นปุเรชาตปัจจัย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    24 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ