ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 03


    ตลับที่ ๒

    ไม่ใช่โดยการเพ่งจ้อง อยากจะให้ประจักษ์ความเกิดดับ โดยที่ไม่ได้ตรึกระลึกถึง สภาพความเป็นจริงของปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศล ท่านมีฉันทะที่จะทำกุศลประเภทใด ในชีวิตประจำวันของท่าน ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่บำเพ็ญกุศลและเจริญกุศล ขอให้ดูการบำเพ็ญกุศล การเจริญกุศล ของแต่ละท่านว่า ท่านมีฉันทะ ความพอใจที่จะกระทำกุศลอย่างใด แม้แต่ในเรื่องของทาน ก็มีฉันทะต่างๆ กัน และบางครั้งก็ต้องเป็นวิริยะ จึงจะทำสำเร็จ มีฉันทะจริงๆ แต่ฉันทะนั้นไม่มีกำลังพอที่จะทำให้สำเร็จ ต้องอาศัยวิริยะเกิดขึ้น เป็นหัวหน้า เป็นอธิปติ การกระทำกุศลนั้น จึงจะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกในขณะนั้น จะเห็นลักษณะที่เป็นอธิปติ ของกุศลจิตในขณะนั้นว่า อะไรเป็นอธิปติปัจจัย นี่เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศลก็เช่นเดียวกัน พอที่จะระลึกได้ ต่อไปนี้ค่ะ ว่าท่านมีฉันทะขณะใด หรือว่าอาศัยวิริยะขณะใด

    เวลาที่ทำธุรกิจการงาน ซึ่งทุกคนมีอาชีพประจำอยู่ มีกิจการงานที่จะต้องกระทำอยู่ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล นี่ต้องรู้ก่อนใช่ไหม ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล ขณะนั้นมีฉันทะเป็นอธิบดี หรือว่ามีวิริยะเป็นอธิบดี

    สำหรับการงานอาชีพซึ่งไม่ได้เป็นไปในเรื่องของกุศล ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในสมถภาวนา ไม่เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐาน จะไม่มีปัญญาเป็นอธิบดีแน่นอน เพราะเหตุว่า ปัญญาไม่เกิดกับอกุศลจิต หรือแม้กุศล ซึ่งเป็นญาณวิปปยุตต์ คือที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะมีเพียงฉันทะหรือวิริยะ เป็นอธิบดี แต่จะไม่มีวิมังสะคือปัญญาเป็นอธิบดี

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องละเอียดในชีวิตประจำวัน ของแต่ละบุคคล ซึ่งจะได้เห็นความเป็นปัจจัย แม้เพียงชั่วขณะจิตที่เกิด ก็จะได้รู้ว่า ขณะนั้นประกอบด้วยเจตสิกอะไร เป็นปัจจัยอะไร เช่น โลภะ เป็นเห-ตุปัจจัย ไม่เป็นอธิปติปัจจัย ฉันทะเป็นอธิบดี หรือเป็นอธิปติปัจจัย แต่ไม่ใช่เห-ตุปัจจัย ผัสสะไม่ใช่เห-ตุปัจจัย ไม่ใช่อธิปติปัจจัย แต่เป็นอาหารปัจจัย ทั้งๆ ที่เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกัน และดับไปอย่างรวดเร็ว แต่เจตสิกแต่ละเจตสิกก็เป็นปัจจัยเฉพาะตามลักษณะของตนๆ ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ

    มีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม ในเรื่องสหชาตาธิปติปัจจัย ถ้าไม่มีขอกล่าวถึงอารัมมณาธิปติ เป็นคำรวมของอารมณ์ และ อธิบดี

    ท่านผู้ฟังทราบเรื่องของอารัมมณปัจจัยแล้ว สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่จิตกำลังรู้ เป็นปัจจัยของจิตที่รู้ โดยเป็นอารมณ์ จึงเป็นอารัมมณปัจจัย ไม่ยากเลย แต่สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ไม่ใช่เพียงอารมณ์ธรรมดาๆ แต่ต้องเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง หรือว่าไม่ควรดูหมิ่น ด้วยอำนาจความเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจของความปรารถนา

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า โลภมูลจิตเกิดบ่อยเหลือเกินในชีวิตประจำวัน จะรู้หรือไม่รู้นั้นอีกเป็นเรื่องหนึ่ง เพราะเหตุว่า ไม่มีท่านผู้ใดที่อยากจะไม่เห็น หรือไม่อยากจะเห็นอีกแล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามีความยินดี มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เพียงแต่ว่าท่านไม่ทราบเท่านั้นเอง ว่า ถึงแม้ว่าจะนั่งเฉยๆ แล้วเห็น ไม่ได้กระทำกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ทางกาย วาจา โลภมูลจิตก็เกิดขึ้นเป็นไปในอารมณ์ที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว แต่ว่าถ้าไม่มีกำลัง ไม่เป็นอารมณ์ที่หนักแน่น หรือว่าไม่เป็นอารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้งแล้ว ไม่ใช่อารัมมณาธิปติปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ นี้ โลภะเกิดก็เกิดไป แล้วก็ดับไปแล้ว แต่ว่าขณะใดซึ่งปรารถนาอย่างยิ่งในอารมณ์ใด อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า แล้วก็ควรที่จะได้ทราบว่า อารมณ์ใดบ้างที่จะเป็นอารัมมณาธิปติ ในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน ในวันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังอดคิดไม่ได้ ถ้าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คิดถึงสิ่งนั้นแล้วทันที ถ้ามองไปที่หน้าต่าง เห็นดอกไม้ จะไม่คิดถึงดอกไม้ที่เห็นสักครู่หนึ่งได้ไหม อย่างน้อยก็จะต้องคิด อาจจะเป็นความคิดสั้นๆ ไม่ได้คิดยาวอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ใช่อารัมมณธิปติ เพราะเหตุว่า ไม่ได้ทำให้เกิดต้องการ หรือเป็นไปอย่างหนักแน่นในอารมณ์นั้น แต่ขณะใดที่ท่านผู้ฟังประเดี๋ยวก็คิดถึงสิ่งนั้นอีก ประเดี๋ยวก็คิดถึงสิ่งนั้นอีกๆ จนกระทั่งดูเหมือนว่า คิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ มีความปรารถนา มีความพอใจ มีความต้องการในสิ่งนั้น ให้ทราบว่า ในขณะนั้น อารมณ์ที่ท่านกำลังคิดถึงนั้น เป็นอารัมมณาธิปติ เป็นอารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัย โดยเป็นใหญ่ที่ทำให้จิตนี้หนักแน่นในอารมณ์นั้น ไม่ใช่เพียงผ่านไปๆ พิสูจน์ได้ไหม ในชีวิตประจำวัน ที่จะเข้าใจว่า อารมณ์ใดเป็นอารัมมณปัจจัย และอารมณ์ใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ซึ่งแต่ละคนมีอยู่เป็นประจำวัน เพียงแต่ไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นเพียงอารัมมณปัจจัย หรือว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาว่า ผัสสเจตสิกเป็นอธิปติปัจจัยได้ไหม ถ้าโดยสหชาตาธิปติ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ผัสสะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยไม่ได้ เพราะเหตุว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วกระทบกับอารมณ์ แล้วดับ ไม่ใช่ ฉันทะ ไม่ใช่วิริยะ ไม่ใช่จิตตะ ไม่ใช่วิมังสา แต่ว่าสำหรับ “อารัมมณาธิปติปัจจัย” ผัสสเจตสิก จะเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยได้ไหม ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าได้ทราบสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ยิ่งเห็นความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วแต่ว่าสภาพธรรมนั้นๆ จะเป็นปัจจัยโดยประการใด เป็นได้ไหม

    ผัสสเจตสิก จะเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยได้ไหม ท่านผู้ฟังปรารถนาอะไร โลภะมีความต้องการ บางอย่างหนักแน่นมาก ไม่ลืมที่จะแสวงหาสิ่งนั้น ไม่ลืมที่จะพยายามหาสิ่งนั้น ในขณะนั้น สิ่งนั้นเป็นอารัมมณธิปติปัจจัย เป็นอกุศลได้ไหม สิ่งที่ท่านต้องการ ท่านผู้ฟังอยากมีโลภะมากๆ ไหม หรือว่าไม่อยากจะมีโลภะเสียแล้ว ไม่อยากจะลิ้มรสอาหารอร่อยๆ พิเศษเสียแล้ว หรือว่าอาหารบางชนิดช่างอร่อยเสียจริงๆ ไม่ได้รับประทานหลายวันแล้ว วันนี้จะต้องพยายามรับประทานให้เกิดความยินดี พอใจในรสนั้น ที่เป็นความยินดี พอใจอย่างมากในวันนี้ ต้องการความยินดี พอใจขั้นนั้นไหม จากรส จากรูป จากกลิ่น จากเสียง ต้องการไหม ต้องการ ในขณะนั้นต้องการผัสสะที่จะกระทบกับอารมณ์นั้นๆ ไหม อยากจะให้ผัสสะกระทบกับอารมณ์อะไร ทางตา ก็คงจะมีรูปพิเศษที่อยากจะให้ผัสสะกระทบอารมณ์นั้น ทางหู ก็อาจจะมีเพลงบางเพลง ซึ่งพอใจเป็นพิเศษ ซึ่งอยากจะให้ผัสสะกระทบกับเพลงนั้น ทางจมูก ก็อาจจะมีน้ำหอมหลายชนิด ซึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งอยากจะให้ผัสสะกระทบกับกลิ่นที่น่าพอใจเป็นพิเศษ ทางลิ้น ก็อาจจะมีรสอาหาร ซึ่งอยากจะให้ผัสสะกระทบกับรสนั้นเป็นพิเศษ ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น ต้องการให้ผัสสะเกิดขึ้นกระทบกับอารมณ์ที่ปรารถนา อย่างหนักแน่นขณะใด ขณะนั้นผัสสะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของจิต ซึ่งกำลังปรารถนาที่จะให้ผัสสะกระทบกับอารมณ์นั้น ในขณะนั้น ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น สังสารวัฏฏ์ ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดได้ ถ้าไม่สามารถที่จะเห็นว่า แม้ขณะที่กำลังมีความยินดี ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างมากอย่างหนักแน่น ก็เป็นเพราะเหตุว่า ขณะนั้นอารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงอารัมมณปัจจัยเท่านั้น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องปัจจัย ท่านผู้ฟังจะเห็นว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรม แต่ไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าจะถึงเวลานั้น แต่ถ้าสามารถที่จะเข้าใจสิ่งใดได้ในชีวิตประจำวัน แล้วเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะสภาพของปัจจัยต่างๆ ก็จะทำให้คุ้นเคยกับสภาพของปัจจัย ๒๔ แล้วก็ทำให้สามารถที่จะรู้ในสภาพ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็คงจะเข้าใจว่า ขณะไหนเป็นอารัมมณปัจจัย และขณะไหนเกิดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยขึ้น ก็ทราบว่าขณะนั้นสิ่งนั้น หรือสภาพนั้นกำลังเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ของจิตในขณะนั้น แล้วก็ดับไป ไม่สามารถที่จะเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยอยู่ได้ตลอดไป เพราะเหตุว่า จิตอื่นก็มีปัจจัยเกิดขึ้น

    ท่านผู้ฟังชอบกุศลจิตใช่ไหม ชอบหรือไม่ชอบ จริงๆ แล้ว ต้องหยั่งลงไปถึงใจอีก เพราะเหตุว่า บางที ฟังชื่อดู ก็น่าชอบ ใช่ไหม กุศลจิต ดีงาม น่าที่จะปรารถนา ต้องการพอใจ แต่ลึกลงไปจริงๆ จะชอบสักแค่ไหน แต่ว่าโดยทั่วๆ ไป ทุกท่านก็ปรารถนาที่จะมีจิตที่ดีงาม ขณะใด ขณะนั้นกุศลประเภทนั้นๆ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตก็ได้ หรือของโลภมูลจิตก็ได้ โลภมูลจิตนี้ จะกล่าวได้เลยว่าหนีไม่พ้น แม้แต่เป็นกุศล อารมณ์เป็นกุศล ขึ้นอยู่กับโยนิโสมนสิการว่า อารมณ์ที่เป็นกุศลนั้น เป็นอารมณ์ของกุศลจิต หรือว่าเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิต

    ธรรมนี้ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ถ้าไม่ตรงเพียงนิดเดียว หรือว่าเข้าใจผิด แทนที่กุศลจะเจริญ อกุศลเจริญเสียแล้ว โดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ก็ต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะสามารถรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังนึกถึง คิดถึงกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นกุศล หรือเป็นโลภมูลจิต

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ว่าโลภะ อะไรก็กินเรียบหมด เว้นแต่อารมณ์ของโลกุตตร แต่ถ้าเป็นกุศล เป็นปัจจัยต่อ ให้เป็นกุศลอีก ได้ใช่ไหมครับ

    อ.จ. กุศลจิตเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ เวลาที่นึกถึงกุศลแล้วเกิดปลาบปลื้ม ผ่องใสในกุศลที่ได้กระทำแล้ว ในขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตได้ แต่ถ้าทำกุศลแล้ว อย่าลืม ต้องพิจารณาว่าถ้าเกิดดีใจว่า เรา ตัวเรานี้ได้กระทำกุศลอย่างใหญ่สำเร็จลงไปแล้ว กุศลหรือเปล่า ขณะนั้น

    ผู้ฟัง โลภะครับ

    อ.จ. มานะได้ไหม สำคัญตนได้ไหม ว่าเราได้กระทำกุศลอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลจิต และอกุศลจิตเป็นเรื่องที่จะต้องเป็นสติสัมปชัญญะ ที่ระลึกรู้ในขณะนั้น จึงจะรู้ความต่างกัน เวลาที่กระทำกุศลแล้ว นึกถึงกุศล แล้วเกิดเบิกบาน ผ่องใสในกุศล ไม่ใช่ด้วยความสำคัญตน นี้ต่างกันใช่ไหม

    ผู้ฟัง อารัมมณา นี้หมายความถึงอารมณ์ที่หนักแน่นจริงๆ ว่า จะเป็นโลภะ อาจารย์หมายความว่าหนักแน่นอย่างไร

    อ.จ. หมายความว่า ไม่ทิ้งอารมณ์นั้นเลย เพราะเหตุว่าท่านผู้ฟังจะเห็นได้ ว่าตั้งแต่ลืมตามาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ โลภมูลจิตเกิดนับไม่ถ้วน ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส รับประทานอาหารทุกวันๆ ที่พอใจ โลภมูลจิตหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสมูลจิต ไม่ใช่ความรู้สึกที่ไม่แช่มชื่นแล้วละก็ ขณะนั้นก็รับประทานด้วยโลภะ ทางกายที่กระทบสัมผัส ก็กระทบสัมผัสสิ่งที่พอใจ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสมูลจิต หรือไม่ใช่กุศลจิต เพราะฉะนั้น โลภะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ว่าขณะใดบ้างซึ่งรู้สึกว่า ปรารถนาต้องการอารมณ์ใดบางอารมณ์ในวันนี้ อารมณ์นั้นในขณะนั้นเป็นอารัมมณาธิปติ ไม่ใช่เป็นเพียงอารัมมณปัจจัย

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวว่าเป็นธรรมที่ไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควรทอดทิ้ง

    อ.จ. นิพพานหรือโลกุตตรธรรม

    เพราะฉะนั้น อารัมมณาธิปติปัจจัยนี้ นอกจากกุศลจิต และที่เป็นโลกียกุศลแล้ว โลกุตตรกุศลก็เป็นอารัมมณธิปติปัจจัย แต่เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยแก่เฉพาะกุศลญาณสัมปยุตต์ หรือว่ากิริยาจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์เท่านั้น จะไม่เป็นปัจจัยแก่โลภมูลจิตเลย ถ้าเป็นฝ่ายโลกุตตรธรรม แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลญาณสัมปยุตต์ และกิริยาญาณสัมปยุตต์ได้ หลังจากที่บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ก็จะมีการพิจารณามัคคจิต ผลจิต และนิพพาน กิเลสที่ดับ และกิเลสที่เหลือ ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่พิจารณาโลกุตตรจิต ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ ที่พิจารณาโลกุตตรธรรม

    เพราะฉะนั้น ฝ่ายสูงสุดของอารัมมณาธิปติก็ได้แก่ โลกุตตรธรรม ซึ่งจะไม่เป็นปัจจัยของโลภมูลจิตเลย โลภมูลจิตไม่มีทางที่จะมีโลกุตตรธรรมเป็นอารมณ์ แต่ว่าสำหรับกุศลอื่น ทาน ศีลหรือสมถภาวนา ไม่ว่าจะเป็นรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศลทั้งหมด ก็ยังเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิต ซึ่งเป็นอารัมมณธิปติปัจจัย ไม่ใช่อารมณ์ธรรมดาที่ผ่านไปวันหนึ่งๆ แล้วก็เกิดโลภะ แต่เป็นอารมณ์ซึ่งมีกำลัง ชักจูงให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นได้

    สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ให้ทราบว่าอารมณ์ซึ่ง ไม่ควรทอดทิ้ง หรือว่าเห็นว่าควรได้ ไม่ควรดูหมิ่น สิ่งใดก็ตามในวันหนึ่งๆ ที่ท่านผู้ฟังรู้สึกว่าท่านอยากจะได้ เดินไปตามถนน หรือตามที่ต่างๆ โลภะก็เกิดแล้ว แม้ว่าจะไม่รู้ตัว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่ใช่ว่าท่านจะปรารถนาไปทุกอารมณ์ที่เห็น แต่ว่าอารมณ์ใดก็ตาม ซึ่งเกิดปรารถนาอย่างหนักแน่น ไม่ทอดทิ้ง คิดว่าควรจะได้ ควรจะมี ในขณะนั้น อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณธิปติปัจจัย

    สำหรับกุศลทั้งหลายเป็นอารัมมณธิปติปัจจัย ให้เกิดกุศลต่อไปอีกได้ อย่าลืม สำหรับผู้ที่มีปัญญา กุศลทั้งหลายเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลต่อๆ ไปอีก เพราะฉะนั้น สำหรับกุศลทั้งหลาย เป็นปัจจัยให้เกิดกามาวจรกุศลได้ และเป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตก็ได้

    สำหรับโลภมูลจิต ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตได้ เพราะเหตุว่า ทุกท่านนี้ ลึกลงไปจริงๆ ยังปรารถนาโลภะอยู่ ยังชอบยังต้องการ ไม่ได้อยากให้หมดไปเร็วๆ นัก ใช่ไหม ตามความเป็นจริง เป็นอย่างไร สภาพธรรมคือโลภมูลจิตก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ให้เกิดโลภมูลจิต แล้วแต่ว่าปรารถนาที่จะให้โลภมูลจิตประเภทใดเกิดขึ้น

    สำหรับโลกียวิบากทั้งหมด เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต จะเห็นได้ว่า สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัย ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยของโลภมูลจิต นอกจากถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ พวกกุศลทั้งหลายก็เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยแก่กุศลได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องละเอียด และสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง จึงจะสามารถรู้ได้ว่า ในขณะที่นึกถึงกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตรึกุศลจิตที่มีอารมณ์นั้น

    สำหรับ รูปขันธ์ทั้งหมด เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตเท่านั้น ไม่เป็นแม้อารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

    ถ้าไม่ศึกษาอย่างนี้ ก็จะหลงคิดว่า ขณะที่กำลังพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นเป็นกุศลได้ แต่ว่าสำหรับรูปขันธ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในชีวิตประจำวัน ตามปกติตามความเป็นจริง ให้ทราบว่า เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต

    ท่านผู้ฟังชอบสีสรร วัณณะของเสื้อผ้า ของวัตถุเครื่องใช้ของสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกระทั่งท่านต้องไปแสวงหา ซื้อมา นั้นน่ะ ขณะนั้นอารมณ์นั้น รูปนั้น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภะ ไม่ใช่เพียงแต่ผ่านไปเฉยๆ แต่ไม่ควรทอดทิ้ง เห็นไหม ว่าเป็นที่ปรารถนาเพียงไร เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังที่ทำให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่กระทบลิ้น โผฏฐัพพะที่กระทบกาย ก็จะได้เห็นว่า รูปใดเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย และรูปใดเป็นอารัมมณปัจจัย

    สำหรับอารัมมณปัจจัย ก็ชอบ แต่ว่าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว ไม่เป็นอย่างนั้น ทำให้เกิดความขวนขวาย และทำให้เกิดความปรารถนาอย่างหนักแน่น ที่จะไม่ทอดทิ้งในอารมณ์นั้นไป นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่าพระผู้พระภาคทรงแสดงสภาพธรรมนั้น โดยบัญญัติศัพท์ เพื่อที่จะให้รู้ถึงลักษณะสภาพธรรมนั้นๆ ว่า สภาพธรรมใดเป็นปัจจัย โดยปัจจัยใด เมื่อเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ก็จะไม่ใช้แต่เพียงคำว่า อารัมมณปัจจัย

    มีท่านผู้ฟังสงสัยไหม เชิญค่ะ

    โกศล เท่าที่ฟังอาจารย์บรรยายมานี้ พอสรุปได้ว่า อธิปติปัจจัยนี้ คือองค์ธรรม ๔ ประการ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา

    อ.จ. สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย

    โกศล ยังสงสัยวิมัสาธิปติ เป็นไปในทางกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้

    อ.จ. อกุศลไม่ได้เลย และสำหรับกุศลก็ต้องเว้นญาณวิปปยุตต์ด้วย

    โกศล ถ้าอย่างนั้นก็เหลือองค์ธรรมอีก ๓ เท่านั้น ที่เป็นไปได้ทั้ง ๒ ทาง ทีนี้ เมื่อมาเปรียบเทียบกับอิทธิบาท ๔ ที่คุณทรงเกียรติพูดเมื่อกี้นี้ ก็แสดงให้เห็นว่า อิทธิบาท ๔ นั้น ไม่มีทางที่จะเป็นไปในอกุศลได้

    อ.จ. ถูกต้อง แล้วก็ไม่เป็นไปได้ในกุศลอื่น นอกจากในภาวนากุศลด้วย เพราะเหตุว่า เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งได้แก่ความสำเร็จที่เป็นความมั่นคงของความสงบ เป็นสมถภาวนา และความสำเร็จคือประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนาภาวนา

    ที่ว่ารูปขันธ์ทั้งหมดไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต มีท่านผู้ฟังสงสัยไหม ท่านผู้ฟังคิดว่าถูกต้องไหม ที่ว่ารูปขันธ์ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

    ทรง.ก. อันนี้ก็น่าคิดอยู่ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นล่ะครับ ก็ขณะที่รูปมาเป็นอารมณ์ทางตา ขณะที่สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ว่าเป็นเพียงรูปธรรม ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศล ทำไมว่าเป็นกุศลจิตไม่ได้ ในรูปทั้งหมด

    อ.จ. เป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้ แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล

    นี่ค่ะ เป็นความละเอียดของสภาพธรรม ซึ่งเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องพิจารณาจริงๆ รูปธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตได้ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตได้ แต่รูปธรรมทั้งหมดไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

    จริงหรือไม่จริง ธรรมนี้ต้องพิจารณา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    27 ก.พ. 2566

    ซีดีแนะนำ