ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 36
ชินตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แต่ลืมความสำคัญของอาหาร ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งซึ่งปราศจากไม่ได้เลย ถ้าปราศจากอาหาร ซึ่งรับประทาน หรือว่าบริโภคนี้ขาด ชีวิตย่อมดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้เลย แต่มีใครในวันหนึ่งๆ ที่คิดถึงเรื่องปัจจัยของชีวิตบ้างไหม แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยประการทั้งปวง ที่จะให้เห็นว่า ชีวิตตามความเป็นธรรม เป็นธรรม ไม่ได้ต่างกันเลย เพราะฉะนั้น ธรรม พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมต่างๆ ว่า สภาพธรรมใดเป็นปัจจัยอย่างไร
สำหรับอาหารปัจจัย ที่ชื่อว่าอาหาร เพราะเหตุว่านำมาซึ่งผลของตน และเป็นธรรมค้ำจุน อุปถัมภ์แก่นามธรรมและรูปธรรม โดยการสืบต่อไม่ให้ขาดสาย ที่ต้องอาศัยธรรมที่เป็นอาหารนี้ ก็เพื่อการดำรงสืบต่อไปอยู่เรื่อยๆ โดยไม่ขาดสาย
สำหรับธรรมที่เป็นอาหารปัจจัย มี ๒ ประเภทคือ รูปอาหาร ๑ และนามอาหาร ๑ สำหรับรูปอาหารปัจจัยก็คือกพฬิงการาหาร ได้แก่อาหารซึ่งเป็นคำ ซึ่งบริโภคอยู่ทุกวันนี้ เป็นปัจจัยแก่ร่างกาย
สำหรับนามอาหารมี ๓ อย่างคือ ผัสสเจตสิกเป็นผัสสาหาร เจตนาเจตสิกเป็นมโนสัญเจตนาหาร และจิตทั้ง ๘๙ ดวงเป็นวิญญาณาหาร
ข้อความใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณนาสก์ มูลปริยายวรรค สัมมทิฏฐิสูตร มีข้อความเรื่องอาหารปัจจัย มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น พระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุพวกนั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้ว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ อริยสาวกจึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
พวกภิกษุกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกล ก็เพื่อจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาสเนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งแก่ท่านพระสารีบุตรเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อท่านพระสารีบุตรแล้ว จักทรงจำไว้
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ถ้าเช่นนั้นจงฟังเถิดท่านผู้มีอายุ จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุพวกนั้น รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว
ท่านพระสารีบุตรกล่าวมีใจความว่า เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้าอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้าของกุศล ย่อมละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิดขึ้น ….. ตลอดไป จนกระทั่งถึง ….. สามารถจะดับทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวก ชื่อว่าสัมมทิฏฐิ
เกี่ยวกับปัจจัยที่ได้ศึกษาแล้วหรือเปล่า กัมมปัจจัย กุศลและอกุศล ถ้าไม่รู้นี่ จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่เพราะเหตุว่า เป็นเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม แต่ถ้าทราบว่าเป็นกัมมปัจจัย เป็นเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเจตนา หรือกุศลเจตนา ย่อมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตร จึงกล่าวว่า
เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล และรากเหง้าของอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้าของกุศล ย่อมละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิดขึ้น ….. ข้อความละต่อไป ….. แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ
แต่ก้คงจะไม่เพียงพอ ถ้ารู้เพียงเท่านั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถที่จะละกิเลสได้ เพราะเหตุว่า แต่ละบุคคลนี้ มีอุปนิสสยปัจจัย สะสมมาต่างๆ กัน บางท่านเพียงฟังคาถาสั้นๆ ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ตามความเป็นจริงได้ แต่บางท่านนี้ ต้องอาศัยการฟัง มากมายหลายนัย
ด้วยเหตุนี้ ข้อความต่อไป ข้อ ๑๑๒ มีว่า
ภิกษุชื่นชม อนุโมทนา แล้วก็ได้ถามปัญหาต่อไปว่า ปริยายแม้อย่างอื่น ที่อริยสาวก ซึ่งชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ มีอยู่หรือ
ซึ่ง ข้อ ๑๑๓ เป็นข้อความเรื่องอาหารปัจจัย ซึ่งท่านพระสารีบุตรตอบว่า
พึงมีอยู่ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับอาหาร และทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ซึ่งข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัมมทิฏฐิสูตรที่ ๘ ก็ได้มีข้อความอธิบายว่า
เพราะเหตุใด พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอาหาร ๔ เป็นปัจจัยอีก แม้ว่าปัจจัยอื่นๆ ก็มี เพราะเหตุว่า ปัจจัยอื่นๆ ก็มี เช่นกัมมปัจจัยก็มี วิปากปัจจัยก็มี แต่เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอาหาร ๔ เป็นปัจจัย แม้ปัจจัยอื่นๆ ก็มี
ข้อความในปปัญจสูทนีมีว่า
มีคำแก้ว่า เพราะเป็นปัจจัยพิเศษ แห่งความสืบต่อในภายใน
อย่าลืมว่า อาหารมี ๔ คือ รูปอาหาร ๑ และนามอาหาร ๓ สำหรับรูปอาหาร ก็เป็นอาหารที่จะทำให้มีการสืบต่อของร่างกายต่อๆ ไป เพราะเหตุว่า อย่าลืมว่า รูปอยู่ที่กาย ถ้าปราศจากอาหารแล้ว รูปนั้นก็ไม่สามารถที่จะสืบต่อหรือว่าดำรงต่อไปได้
ซึ่งมีคำอุปมาว่า อาหารที่บริโภคเข้าไป ทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้
เพระาว่ากายนี้ ถึงเกิดด้วยกรรมก็จริง แต่ได้รับอุปถัมภ์จากอาหารที่เป็นคำๆ จึงตั้งอยู่ได้ ๑๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ตั้งอยู่จนตลอดอายุ
คือตลอดอายุนี้ ต้องบริโภคอาหารอยู่เรื่อยๆ จะขาดการบริโภคอาหารไม่ได้
ข้อนี้เหมือนกับอะไร เหมือนกับทารกที่เกิดจากมารดา เมื่อพี่เลี้ยงเลี้ยงดูด้วยในดื่มน้ำนมเป็นต้น ก็อยู่ได้นานฉันใด เรือนที่ค้ำไว้ด้วยไม้ค้ำ อยู่ได้นานฉันใด กายนี้ ก็ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น จะไม่บริโภคอาหารนี่ มีไหม ในโลกนี้ ที่เกิดมาแล้ว ทั้งๆ ที่กรรมทำให้รูปเกิดก็จริง แต่แม้กระนั้น ทุกคนก็ต้องอาศัยอาหารคือกพฬิงการาหาร อาหารเป็นคำๆ สำหรับที่จะให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องของกพฬิงการาหาร ไม่สงสัย แต่ลืมที่จะพิจารณาใช่ไหม ว่าเป็นอาหารปัจจัย ถ้าปราศจากอาหารปัจจัยแล้วอยู่ไม่ได้จริงๆ
วันนี้ก็ขอต่อเรื่องของอาหารปัจจัย ซึ่งในคราวก่อนได้กล่าวถึงกพฬิงการาหาร ซึ่งหมายความถึง อาหารเป็นคำๆ ที่บริโภคกันทุกวันนี้ เพื่อความตั้งอยู่ คือเพื่อความไม่ขาดสาย ด้วยอำนาจแห่งความสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรม
ท่านผู้ฟังคงจะไม่ได้คิดเลยใช่ไหม ว่าวันนี้ท่านผู้ฟัง มานั่งฟังอยู่ได้ในขณะนี้ โดยสดวกนี้ ก็เพราะอาหารปัจจัย ที่ท่านบริโภคอยู่เป็นประจำ โดยการไม่พิจารณาถึงสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงนี้ จะทำให้ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยต่างๆ แม้แต่อาหารที่บริโภค ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งจะทำให้นามธรรมและรูปธรรมตั้งอยู่ได้โดยไม่ขาดสาย คือด้วยอำนาจแห่งการสืบต่อกัน และเพื่ออนุเคราะห์ คือความเกิดขึ้นแห่งสิ่งที่ยังไม่เกิด ที่จะมีชีวิตอยู่ไป ที่จะเกิดขึ้นนี้ ก็จะต้องอาศัยอาหารนี้อนุเคราะห์ให้ร่างกายดำรงอยู่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องอาหาร เพื่อที่จะให้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยประการต่างๆ โดยละเอียด
ซึ่งข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌมนิกาย มีข้อความซึ่งแสดงเรื่องของอาหาร มีข้อความว่า
คำว่าอาหารที่เป็นคำๆ ได้แก่อาหารที่กระทำให้เป็นคำๆ แล้วจึงกลืนกิน
ท่านที่คิดว่า ทำไมต้องกล่าว หรือว่าต้องแสดงโดยละเอียด ก็ขอให้คิดว่าเป็นความจริงไหม ในการบริโภคแต่ละครั้งนี้ ต้องกระทำอาหารให้เป็นคำๆ แล้วจึงกลืนกิน มีใครที่จะไม่ทำให้เป็นคำๆ แล้วก็บริโภคได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น อาหารที่กระทำเป็นคำๆ แล้วกลืนกินนั้นเป็นกพฬิงการาหาร
คำนี้หมายเอาโอชะ อันมีข้าวสุก และขนมสดเป็นต้น เป็นวัตถุ
คือเป็นอาหารที่บริโภค แต่ว่าอาหารที่บริโภคนี้ มีทั้งอาหารที่หยาบและอาหารที่ละเอียด ซึ่งความหมายของหยาบหรือละเอียด ข้อความในอรรถกถามีว่า
เมื่อว่าตามอาหารที่เป็นคำๆ ชื่อว่าละเอียดเพราะนับเข้าในสุขุมรูป ความหยาบและความละเอียดโดยวัตถุแห่งอาหารนั้น ควรทราบด้วยการเทียบกันเป็นชั้นๆ คือ เมื่อเทียบอาหารของจรเข้แล้ว อาหารของนกยูงก็ชื่อว่าละเอียด
ท่านที่เลี้ยงสัตว์ คงจะทราบได้ว่า สัตว์แต่ละประเภทนี้ ก็ต้องบริโภคอาหารแต่ละชนิด จะให้สัตว์ที่มีอาหารหยาบ ไปบริโภคอาหารที่ละเอียดก็ไม่ได้
เพราะพวกจรเข้ ย่อมกลืนกินกระทั่งก้อนหิน ก้อนหินเหล่านั้นพอตกถึงท้องจรเข้ ก็แหลกละเอียดไป แต่ถ้าสัตว์ใดไม่บริโภคอาหารที่หยาบอย่างจรเข้ จะให้อาหารที่หยาบอย่างก้อนหินแก่สัตว์นั้น ก็ไม่ได้ นกยูงทั้งหลาย ย่อมกินสัตว์ทั้งหลาย มีงูและแมลงป่องเป็นต้น
ข้อความต่อไป ก็เทียบอาหารที่หยาบและละเอียดเป็นชั้นๆ ของสัตว์โลก คือ
เมื่อเทียบกับอาหารนกยูง อาหารของหมาในก็ละเอียด คือพวกหมาในย่อมเคี้ยวกินเขา และกระดูก แม้อันตั้งอยู่ตั้งอยู่ ๓ ปีได้ ด้วยว่าสิ่งเหล่านั้น พอชุ่มด้วยน้ำลายของหมาใน ก็อ่อนเหมือนกับข้าวมัน เมื่อเทียบกับอาหารหมาใน อาหารของช้างก็ชื่อว่าละเอียด คือช้างเคี้ยวกันกิ่งไม้ต่างๆ เมื่อเทียบกับอาหารช้าง อาหารของโคป่าชื่อว่าละเอียด คือโคป่าและกวางเป็นต้นนั้น ย่อมกินซึ่งของที่ไม่มีแก่น มีต้นไม้และกวางเป็นต้น ใบไม้ต่างๆ เป็นต้น เมื่อเทียบกับอาหารของสัตว์เหล่านั้น อาหารของโคบ้านก็ชื่อว่าละเอียด เพราะโคบ้ากินหญ้าสดและหญ้าแห้ง เมื่อเทียบกับอาหารของโคบ้าน อาหารของกระต่ายก็ชื่อว่าละเอียด เมื่อเทียบกับอาหารของกระต่าย อาหารของนกก็ชื่อว่าละเอียด
เมื่อเทียบกับอาหารของผู้ที่อยู่ปลายแดน อาหารของผู้กินบ้านกินเมือง (ซึ่งก็คงจะหมายถึงผู้ที่เป็นเจ้าเมือง) ก็ชื่อว่าละเอียด เมื่อเทียบกับอาหารของผู้กินบ้านกินเมือง อาหารของพระราชาและมหาอำมาตย์ก็ชื่อว่าละเอียด เมื่อเทียบกับอาหารของพระราชาและมหาอำมาตย์ อาหารของจักพรรดิ์ก็ชื่อว่าละเอียด เมื่อเทียบอาหารของจักรพรรดิ์ อาหารของภุมเทวดาก็ชื่อว่าละเอียด
ในการที่อ่านจากอรรถกถาให้ฟังนี้ ก็เพื่อที่ท่านผู้ฟังที่ไม่ได้อ่านเอง ก็จะได้ทราบข้อความที่เกี่ยวกับอาหาร เพราะเหตุว่าจะอยู่ในอรรถกถาตอนนั้นบ้างตอนนี้บ้าง
ข้อความต่อไปได้แสดงเรื่องโอชะ คือรูปที่จะทำให้เกิดรูปร่างกาย ว่า ในวัตถุใดมีโอชะหยาบ ในวัตถุใดมีโอชะละเอียด
มีข้อความว่า
ก็ในข้อนี้มีเนื้อความว่า โอชะในวัตถุหยาบมีอยู่น้อย ไม่มีกำลัง ส่วนโอชะในวัตถุละเอียดมีกำลัง จริงอย่างนั้น ผู้ดื่มข้าวต้น แม้เต็มกระบวย สักประเดี๋ยวก็หิว ผู้ใคร่จะกินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ได้ดื่มเนยใสแม้เพียงซองมือหนึ่ง ก็ไม่อยากกินอะไรตลอดวัน คืออิ่มอยู่ตลอดวัน
วัตถุในอาหารนั้น ย่อมบรรเทาความกระวนกระวายได้ แต่ไม่อาจรักษาชีวิตไว้ได้ โอชะรักษาชีวิตไว้ได้ แต่ไม่อาจบรรเทาความกระวนกระวายได้ เมื่อรวมสิ่งทั้งสองเข้าด้วยกัน จึงบรรเทาความกระวนกระวายได้ด้วย รักษาชีวิตได้ด้วย
นี่เป็นเหตุที่ต้องบริโภคอาหารที่เป็นคำๆ แม้ว่าโอชะจะมีอยู่เพียงเล็กน้อย ในอาหารที่บริโภคกันครั้งหนึ่งๆ อย่างในคำข้าวคำหนึ่งนี้ โอชะก็จะเป็นเพียงรูปๆ หนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส เพราะฉะนั้น โอชะเป็นรูปหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในรูป ๘ รูป เพราะฉะนั้น ถ้าจะบริโภคแต่เพียงโอชะเท่านั้น จะไม่สามารถบรรเทาความกระวนกระวาย คือยังต้องหิว แต่ว่าถ้าจะบริโภคอาหารมา แต่โอชะน้อย ร่างกายก็ได้ประโยชน์น้อย เพราะฉะนั้น การบริโภคทั้งสอง คือทั้งโอชะและวัตถุ ก็ทำให้สามารถที่ความกระวนกระวายได้ด้วย และก็รักษาชีวิตได้ด้วย คือบรรเทาความหิวได้ด้วย ถ้าใครจะบริโภคแต่เพียงโอชะอย่างเดียว จะไม่หายหิว ไม่หนักท้อง
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องนี้
ทรงเกียรติ อาหารที่เฉพาะโอชะนี้นะครับ เทวดานี้ อาหารของเทวดานี้เป็นจุฑาโภชน์ ไม่มีกาก จะชื่อว่าเป็นอาหารเป็นคำๆ ที่มีแต่โอชะเพียงอย่างเดียวได้ไหมครับ
อ.สุจินต์ มีรูปอื่นรวมอยู่ด้วย จะไม่มีแต่เพียงโอชะรูปๆ เดียว แต่เพราะเหตุว่าเป็นเทพ เพราะฉะนั้น รูปจึงละเอียดกว่ากพฬิงการาหารของมนุษย์
ท่านที่สนใจในเรื่องของเทวโลก พรหมโลกต่างๆ ก็คงจะต้องเปิดตำราในเรื่องเหล่านั้นโดยเฉพาะจริงๆ แต่ถึงจะเปิด ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้ท่านนี้หมดความสงสัย ตราบใดที่ยังไม่ได้อยู่ในภูมินั้น ยังไม่ได้บริโภคอย่างนั้น ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ จริงๆ
และการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของอาหารปัจจัย คือกพฬีการาหาร เรื่องของการบริโภคในชีวิตประจำวันนี้ ไม่ใช่โดยที่ไม่เป็นประโยชน์เลย แต่เพราะเหตุว่า เรื่องของการบริโภคเป็นชีวิตประจำวัน เป็นนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นในขณะใดทั้งสิ้น ในขณะที่กำลังฟัง สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็พิจารณาเพื่อที่จะให้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ลักษณะสภาพนั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน นี่คือในขณะที่กำลังฟังธรรม แต่ชีวิตประจำวัน ก็มีการบริโภคอาหาร ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย
เพราะฉะนั้น เมื่อทรงแสดงเรื่องกพฬีการาหาร การบริโภคอาหารเป็นคำๆ ก็ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงได้ทรงแสดงไว้ด้วย ซึ่งท่านผู้ฟังนี้ ต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องของการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และการเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมและปัจจัย เพื่อที่จะได้พิจารณา ได้ประโยชน์จากการที่ทรงแสดงเรื่องของการบริโภคกพฬีการาหาร
ซึ่งข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาฑีฆนิกาย วรรณาสามัญผลสูตร มีข้อความเกี่ยวกับการบริโภคว่า
ในภายในร่างกายนี้ จะได้ชื่อว่ามีตัวตนอะไรบริโภคอาหารก็หาไม่
ไม่เว้นเลย ที่จะแสดงความเป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ในขณะที่บริโภคว่า ในภายในร่างกายนี้ จะได้ชื่อว่ามีตัวตนบริโภคอาหารก็หาไม่ เป็นแต่โดยความผลักดัน หรือซ่านไปแห่งวาโยธาตุ
ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย จะไม่รู้ลักษณะของวาโย แต่ว่าขณะใดที่สติระลึก เมื่อสภาพธรรมมีลักษณะปรากฏ จะไม่ใช่ตัวตน จะไม่ใช่ท่าทาง แต่ว่าจะเป็นลักษณะอาการของธราตุ ซึ่งในขณะที่บริโภคนั้น เป็นแต่โดยความผลักดัน ปรือซ่านไปกห่งวาโยธาตุ อันเกิดแต่พลังงานของจิต หรือว่าซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐานนั่นเอง ถ้ายังไม่เคยสังเกต ยังไม่เคยพิจารณา ต่อจากนี้ไป เวลาที่บริโภคอาหาร สติระลึกนี้ สามารถที่จะรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในขณะนั้นได้
มีประการดังกล่าวแล้วเท่านั้น
คือในตอนต้นนั้น ได้แสดงเรื่องของการบริโภคอาหารโดยสาตถกสัมปชัญญะ และสัปปายสัมปปชัญญะ โคจรสัมปชัญญะ ในขณะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอสัมโมหสัมปชัญญะ คือการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามเป็นจริง ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของพระภิกษุนวก ซึ่งสำหรับฆราวาส ก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่ว่าวัตถุที่ใช้ต่างกัน
สำหรับพระภิกษุ มีข้อความว่า อาการที่เรียกว่า จับบาตร การจับบาตรที่มีเป็นปกติที่เกิดขึ้นนี้ โดยความผลักดัน หรือซ่านไปแห่งวาโยธาตุดันเกิดแต่จิตเท่านั้น อาการที่เรียกว่า หย่อนมือลงในบาตร
การบริโภค ตามปกติ ก็ต้องมีการเอื้อมไปสู่อาหารจานหนึ่งจานใด ก็โดยผลักดันหรือซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่จิตเท่านั้น ในขณะที่บริโภค การตะล่อมคำข้าว มีไหม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน การยกคำข้าวขึ้น และการอ้าปากจึงเกิดขึ้น หาได้มีใครใช้กุญแจหรือเครื่องจักรมาไขกระดูกคางให้อ้าไม่ เป็นเรื่องของวาโยธาตุทั้งหมด โดยการผลักดันหรือซ่านไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่จิตเท่านั้น จึงทำให้หยิบคำข้าวใส่ปาก แล้วฟันบนจึงทำหน้าที่เป็นสากหลายอัน ฟันล่างทำหน้าที่เป็นครกหลายใบ ไม่ใช่ฟันเดียวใช่ไหม ไม่ใช่ซี่เดียว
นี่คือความละเอียดของการที่จะแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่บริโภคจริงๆ นี้ นามธรรม และรูปธรรมทั้งหมด มีลักษณะอย่างไรบ้าง ลิ้นทำหน้าที่เป็นมือตะล่อม ในการบริโภคดังว่ามานี้ มีน้ำลายบางๆ ที่ปลายลิ้น และน้ำลายหนาๆ ที่โคนลิ้น สังเกตบ้างหรือเปล่า น้ำลายบางๆ อยู่ที่ไหน น้ำลายหนาๆ อยู่ที่ไหน ถ้าไม่สังเกต ต่อไปนี้ก็จะทราบได้ว่า มีน้ำลายบางๆ ที่ปลายลิ้น และน้ำลายหนาๆ ที่โคนลิ้น มาช่วยคลุกเคล้าอาหารที่ในปากนั้น และอาหารนั้นก็ถูกกวาดตะล่อมไว้ในครก คือฟันล่างด้วยลิ้น ซึ่งเป็นประดุจมือ และทำหน้าที่ให้เปียกชุ่มด้วยน้ำ คือน้ำลาย และถูกโขลกให้ละเอียดด้วยสากคือฟันบน จะได้มีใครเอาช้อนหรือทัพพี มาตักใส่เข้าไปในร่างกายก็หาไม่ ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุนั่นเอง นี่ล่วงลำคอเข้าไปแล้ว
ข้อความต่อไปมีว่า เมื่ออาหารได้ล่วงลงคลองไปแล้ว หมายความว่าล่วงลำคอลงไปแล้ว จะได้มีใครเอาภาชนะอะไรมารอรับก็หาไม่ ที่ตั้งอยู่ได้ก็ด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุนั่นเอง เมื่ออาหารนั้นเข้าไปตั้งอยู่ๆ เช่นนั้นแล้ว จะได้มีใครไปตั้งเตาก่อไฟ ทำการหุงต้มก็หาไม่ ย่อมสุกด้วยอำนาจแห่งเตโชธาตุเท่านั้น ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงกฎของชีวิตประจำวันได้ เป็นปกติ ทำไป กระทำหน้าที่ไป โดยไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ใช่ไหม ไม่มีใครสังเกตด้วยว่า เมื่ออาหารที่บริโภคนี้ ล่วงลงสู่ลำคอลงไปแล้วนี้ แต่ละธาตุมีหน้าที่ทำอย่างไร
อาหารที่สุกแล้วๆ นั้น จะได้มีใครเอาท่อนไม้เขี่ย หรือเอาไม่เท้าเขี่ยออกมาข้างนอกก็หาไม่ วาโยธาตุนั้นเอง ทำหน้าที่ขับถ่ายออกมา ท่านผู้ฟังทำอะไรบ้างหรือเปล่า ไม่ได้ทำเลย อย่าลืม ธาตุต่างๆ ทำหน้าที่ ตั้งแต่เช้าตื่นนอน จนกระทั่งหลับไป อาการที่เป็นดังกล่าวมานี้ ก็คือวาโยธาตุ มีหน้าที่นำอาหารเข้าไปข้างใน เปลี่ยนแปลง ตะล่อมไว้ กลับไปกลับมา บดให้ละเอียด ให้แห้ง ตลอดจนการนำออกมาข้างนอก ทั้งหมดนี้ เป็นกิจของวาโยธาตุ
ปฐวีธาตุ ทำหน้าที่ค้ำจุนไว้ บดให้ละเอียด ให้เปลี่ยนสภาพไป และให้แห้งด้วย อาโปธาตุมีหน้าที่ทำให้เหนียว และรักษาให้เปียกชุ่มตลอดไป เตโชธาตุ มีหน้าที่ทำอาหารที่เข้าไปข้างในให้สุก
ยังเหลือธาตุอะไรอีกหรือเปล่า วาโยธาตุ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ ยังเหลือธาตุอะไรอีกไหม ถ้าข้อความในอรรถกถาไม่แสดงไว้ ก็คงจะไม่มีใครคิดถึง อากาศธาตุ มีหน้าที่แยกธาตุอื่นๆ ให้เป็นส่วนๆ มิให้ปะปนกัน ดุจหนทางที่แบ่างเป็นสายๆ
มีธาตุอะไรเหลืออีกไหม
จบ เทปปัจจัย ๒๔ ตลับที่ ๑๘
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 01
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 02
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 03
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 04
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 05
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 06
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 07
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 08
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 09
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 10
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 11
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 12
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 13
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 14
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 15
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 16
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 17
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 18
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 19
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 20
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 21
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 22
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 23
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 24
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 25
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 26
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 27
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 28
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 29
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 30
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 31
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 32
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 33
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 34
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 35
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 36
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 37
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 38
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 39
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 40
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 41
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 42
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 43
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 44
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 45
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 46
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 47
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 48
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 49
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 50