ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 38
เสบียงก็หมด สองภรรยาสามีนั้น ก็หิวเต็มที่ แล้วพากันนั่งพักอยู่ที่ต้นไม้ มีเงาห่างๆ
นี่ชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าจะพิจารณาแล้ว ย่อมเห็นกัมมปัจจัย ว่าย่อมให้ผลเกิดขึ้น แม้แต่ที่จะนั่งในยามร้อน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้วล่ะก็ แม้เงาไม้ก็ยังห่างๆ ไม่สามารถที่จะให้ร่มเงาได้เต็มที่ เพราะเหตุว่าทุกขณะจิตนี้ ถ้าพิจารณาในวันหนึ่งๆ จะทราบว่าขณะใดก็ตาม ที่อารมณ์ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นเป็นวิบก เป็นผลของกรรม โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เดินทางหลีกเลี่ยงไม่ได้ พบต้นไม่ที่จะนั่งพัก หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้นไม้จะมีเงาห่าง หรือว่ามีเงาร่มรื่น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมความว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นผลของกรรม แต่หลังจากนั้นแล้ว อย่าลืมว่า ไม่ใช่ผลของกรรม พอเริ่มคิดนึก เป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งหมด เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตแล้ว ซึ่งไม่ใช่วิบากจิต
ลำดับนั้น
นี่ ทั้งหิวด้วย เหนื่อยด้วย และก็นั่งพักที่ต้นไม้มีเงาห่างๆ
ลำดับนั้น สามีจึงกล่าวกับภรรยาว่า ตั้งแต่นี้ไปยังมีระยะทางอีกห้าสิบโยชน์ บ้านหรือนิคมก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการงาน มีการทำนา และการเลี้ยงโคเป็นต้น ที่บุรุษต้องกระทำอันใดมีอยู่ บัดนี้ เราก้ไม่อาจจะทำการงานนั้นได้ เจ้าจงฆ่าเราเสีย กินเนื้อเราครึ่งหนึ่ง แล้วทำเป็นเสบียงทางครึ่งหนึ่ง อุ้มลูกเดินทางไปให้พ้นทางกันดารให้ได้
นี่เป็นการที่สามีจะเสียสละ เพราะว่าเมื่อหมดเรี่ยวหมดแรง ไม่สามารถที่จะกระทำหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว ที่จะประกอบกิจการงานต่างๆ ได้แล้ว ก็ควรที่จะตายเสีย แล้วก็ให้ภรรยากินเนื้อครั้งหนึ่ง แล้วก็ทำเป็นเสบียงทางครึ่งหนึ่ง แล้วก็อุ้มลูกเดินทางไปให้พ้นทางกันดาร
ฝ่ายภรรยาก็กล่าวกับสามีว่า สิ่งใดที่หญิงควรทำ มีการปั่นด้ายเป็นต้น สิ่งนั้นก็ไม่อาจทำได้ ท่านจงฆ่าเราเสีย กินเนื้อเราครึ่งหนึ่ง ทำเป็นเสบียงทางครึ่งหนึ่ง แล้วจงอุ้มลูกไปให้พ้นทางกันดาร
นี่คือการอุปมาที่จะให้เห็นว่า อาหารเป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วก็ควรจะบริโภคโดยการไม่ติด ละคลายความยินดีลง เพื่อที่จะได้ลดความทุกข์ในการแสวงหา หรือในการเกิดในภพชาติต่อไป
สามีก็กล่าวกับภรรยาว่า การตายของคนสองคนจะมีขึ้น ด้วยการตายของแม่ เพราะว่าเด็กอ่อนพรากจากแม่แล้ว ก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็จักได้ลูกอีก อย่าอย่างนั้นเลย เราฆ่าลูกกินเนื้อ แล้วเดินทางกันดารต่อไปเถิด
ทีแรกก็จะตาย โดยการที่ให้ภรรยากินเนื้อ แล้วก็ภรรยากับลูก ก็จะได้มีชีวิตรอด แต่ภรรยาก็บอกว่า เขาเองก็ไม่สามารถจะทำกิจหน้าที่การงานของภรรยาได้ ชีวิตก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็ให้กินเนื้อเขา ให้เขาตาย แล้วก็ให้สามีกับลูกรอดต่อไป สามีก็กลับมาคิดอีกว่า ถ้าแม่ตาย ลูกก็ต้องตายด้วย เพราะว่าลูกยังต้องอาศัยแม่เลี้ยง ลูกยังเป็นเด็กอ่อนอยู่ แต่ถ้าฆ่าลูกเสีย ทั้งสองคนรอดไป ก็ยังมีโอกาสที่จะมีลูกอีกได้ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะฆ่าลูกกินเนื้อเสีย
ลำดับนั้น แม่ก็บอกลูกว่า เจ้าจงไปหาพ่อ ลูกก็ได้ไปหาพ่อ ลำดับนั้น พ่อก็ว่า เราได้รับทุกข์เป็นอันมาก ด้วยการนำมา และเลี้ยงโค เป็นต้น ก็ด้วยคิดจะเลี้ยงลูก เราไม่อาจฆ่าลูกได้ เจ้าจงฆ่าลูกของเจ้าเถอะ ว่าแล้ว ก็บอกลูกว่า เจ้าจงไปหาแม่ ลูกก็ได้ไปหาแม่ แม่ก็กล่าวว่า แม่ต้องการลูก จึงได้รับทุกข์เป็นอันมาก ด้วยการกระทำข้อวัตรต่างๆ มีทำตามเยี่ยงอย่างโค ทำตามเยี่ยงอย่างสุนัข และอ้อนวอนเทวดาเป็นต้น ไม่ต้องพูดถึงการอุ้มท้องประคองครรภ์ ข้าพเจ้าไม่อาจฆ่าลูกได้ แล้วจึงบอกลูกว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปหาพ่อ เด็กนั้นก็เวียนไปเวียนมา อยู่ในระหว่างพ่อและแม่อยู่อย่างนี้ จนกระทั่งตายเอง ภรรยาสามี ได้เห็นลูกตาย ก็ร้องไห้ รำพัน ได้เอาเนื้อของลูกกิน แล้วก็เดินทางไปตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น
อาหารคือเนื้อแห่งบุตรนั้น ของคนทั้งสองนั้น ย่อมไม่ทำให้เกิดความคะนอง ความมัวเมา ความผ่องใสแห่งร่างกาย ความประดับร่างกายแต่อย่างใดเลย เพราะเป็นของน่าเกลียด ด้วยเหตุการณ์ ๙ อย่าง เพียงแต่เพื่อให้ข้ามทางกันดารเท่านั้น
ถ้ามีคำถามว่าที่ว่าน่าเกลียดด้วยเหตุการณ์ ๙ อย่างนั้น คืออย่างไร
ก็มีคำแก้ว่า เป็นเนื้อของผู้มีกำเนิดอย่างเดียวกัน ๑
(คือเป็นเนื้อมนุษย์ด้วยกัน ๑)
เป็นเนื้อของญาติ ๑
เป็นเนื้อของบุตร ๑
เป็นเนื้อของบุตรสุดที่รัก ๑
เป็นเนื้อของเด็กอ่อน ๑
เป็นเนื้อดิบ ๑
เป็นเนื้อที่ไม่ควรกิน ๑
เป็นเนื้อที่ไม่เค็ม ๑
เป็นเนื้อที่ไม่ได้ทำให้หอม ๑
เพราะฉะนั้น ภิกษุใด เห็นอาหาร เป็นคำๆ เปรียบเหมือนเนื้อแห่งบุตรอย่างนั้น ภิกษุนั้นก็ครอบงำซึ่งความยินดี ในอาหารนั้นได้ อันนี้เป็นอรรถโยชนา ในข้อเปรียบกับเนื้อแห่งบุตรก่อน
ต่อไปจะบริโภคด้วยความยินดี ในอาหารน้อยลงบ้างไหม คือเพียงให้รู้ว่าเป็นอาหารปัจจัยจริงๆ ขาดไม่ได้ เพราะเหตุว่า ชีวิตยังต้องดำรงอยู่ เพื่อที่จะเจริญกุศล ที่จะรู้แจ้งในอริยสัจจธรรมเท่านั้นเอง จะเย็นไป จะร้อนไป จะเปรี้ยวไป จะหวานไป จะเค็มไป ก็เป็นอาหารปัจจัย หรือว่ากลับไป จะปรุงให้อร่อย เหมือนเดิม
นี่ก็เป็นสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจรอง ตราบใดที่ยังมีความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะยังไม่ใช่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงขั้นที่จะดับความยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้ ก็ต้องเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น การที่จะละสังสารวัฏฏ์ สามารถที่จะเหลือการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ ไม่ใช่โดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติว่ายังมีความยินดี พอใจ ในนามธรรม ในรูปธรรม ในความเป็นตัวตนหนาแน่น เหนียวแน่นมากเพียงไร
ด้วยเหตุนี้ การที่ละสังสารวัฏฏ์ได้จริงๆ จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย ตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่เกิดขึ้น
ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม ในเรื่องของความยินดีในกพฬีงการาหาร
สำหรับข้อความต่อไป แสดงให้เห็นภัยของผัสสาหาร ซึ่งมีว่า พวกเข้าใกล้ผัสสะ พวกยินดีในผัสสะ ย่อมทำผิดในภรรยาเป็นต้น อันบุคคลเหล่าอื่นปกครองไว้ ความจริงแล้ว ความยินดีพอใจนี้ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในรสอาหาร แต่ไม่ว่าจะเป็นรูป เช่น เสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ ก็เป็นที่ยินดีพอใจทั้งสิ้น แต่พระผู้มีพระภาค บางครั้งทรงแสดงโดยอุกฤษ คือการที่จะให้เห็นโทษชัดเจน เช่นการประพฤติผิดในกาม การยินดีในภรรยาของบุคคลอื่น ย่อมให้โทษ โดยที่พวกสามี จับพวานั้นได้ ก็ … ในอรรถกถาใช้คำว่า… สัมพันธ์เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ แล้วนำไปทิ้งที่กองหยากเยื่อก็มี จับไปถวายพระราชาก็มี
ลำดับนั้น พระราชาก็ให้ลงอาชญาต่างๆ แก่พวกนั้น เวลาพวกนั้นตายแล้ว ก็ต้องไปตกทุกคติ เป็นอันว่า ภัยอันเป็นปัจจุบันบ้าง เป็นอนาคตบ้าง อันมีความยินดีในผัสสะเป็นมูลราก ได้มาถึงแล้วอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้จึงควรทราบว่า การเข้าถึงผัสสาหารเป็นภัยอันหนึ่ง ตัวอย่างย่อ แต่ว่าสรุปกว้าง ว่าการเข้าถึงผัสสาหารเป็นภัยอันหนึ่ง
การเข้าถึงผัสสาหารก็คือ ยังมีปัจจัยที่จะให้ผัสสเจตสิกเกิดขึ้น กระทบกับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่เรื่อยๆ โดยไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นในขณะเมื่อกี้นี้เอง หรือว่าขณะเดี๋ยวนี้เอง ถ้าสติระลึก จะรู้เลยว่า ผัสสะกระทบอีกแล้วๆ เห็นอีกแล้ว ได้ยินอีกแล้ว คิดนึกอีกแล้ว ถ้าผัสสะไม่เกิดขึ้น ไม่กระทบ สภาพธรรมเหล่านี้ ก็ย่อมเกิดปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของผัสสะครั้งหนึ่ง กระทบครั้งหนึ่ง ย่อมเป็นภัยที่น่ากลัว ครั้งหนึ่งๆ
ภัยของผัสสาหารนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เปรียบด้วยแม่โค ไม่มีหนัง ซึ่งมีคำอธิบายว่า
ส่วนในข้อเปรียบกับแม่โคที่ไม่มีหนัง (คือผัสสาหารนี้ เปรียบกับแม่โคที่ไม่มีหนัง) มีเนื้อความว่า
แม่โคที่คนถลกหนัง ตั้งแต่คอลงไป จนถึงเล็บตีน … อรรถกถาใช้คำว่าอย่างนั้น … แต่ยังมีชีวิตอยู่ได้ เพราะอาศัยสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นเหตุแห่งทุกข์อย่างยิ่ง ด้วยการถูกตัวสัตว์เล็กๆ กันเจาะฉันใด ถึงผัสสมีอยู่เพราะอาศัยวัตถุ หรืออารมณ์ใดๆ วัตถุหรืออารมณ์นั้นๆ ก็เป็นต้นเหตุ แห่งทุกข์ที่ได้เสวย อันเกิดจากวัตถุ และอารมณ์ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ภิกษุใด เห็นผัสสาหาร เช่นกับแม่โคไม่มีหนังอย่างนี้ ภิกษุนั้น ก็ครอบงำความยินดี ในผัสสาหารนั้นได้ อันนี้เป็นการประกอบเนื้อความ ในข้อเปรียบกับแม่โคที่ไม่มีหนัง
มองยังไม่ออกใช่ไหม ผัสสะที่กระทบนี้ จะเหมือนกับแม่โคที่ไม่มีหนังอย่างไร เพราะเหตุว่า ยังไม่เห็นว่าการเกิดเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วดับไป ไม่เที่ยง ถ้าประจักษ์อย่างนี้ เมื่อไหร่ จึงจะเข้าใจชัดในคำอุปมาที่ว่า ผัสสะอุปมาเหมือนแม่โคที่ไม่มีหนัง เพราะเหตุว่า จะต้องมีการกระทบอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายโคก็ตาม แต่ถ้าตราบใดยังไม่รู้ความเกิดขึ้นและดับไป ก็ไม่เห็นโทษของผัสสาหาร หรือผัสสเจตสิกเลย ว่าเพราะผัสสะนี้เอง สภาพในขณะนี้ จึงเกิดและปรากฏ ไม่หยุด ถ้าพอใจอยู่ ก็ยังมีผัสสาหารอยู่เรื่อยๆ
มีท่านผู้ฟังสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องของอาหารปัจจัยที่ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อน คือผัสสาหาร ถ้าไม่มี
สำหรับวันนี้ก็ขอกล่าว มโนสัญเจตนาหารต่อไป ซึ่งเป็นเจตนาเจตสิก สำหรับมโนสัญเจตนาหารนี้ ได้แก่เจตนาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง โดยนัยของอาหารปัจจัย แต่ถ้าเป็นโดยนัยของปฏิจจสมุปบาท หมายความถึง กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งเป็นสภาพที่นำมาซึ่งผล คือการกระทำที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล ให้สำเร็จลงไป
จะเห็นได้ว่า การกระทำทุกอย่าง ทุกขณะจิตนี้ เกิดขึ้นเพราะการทบทวนของเจตนา ไม่ใช่เพราะสภาพธรรมอื่นเลย แต่เพราะสภาพของเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ขวนขวาย กระทำกิจการงานนั้นๆ และให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วย คือสัมปยุตตธรรม เกิดขึ้น กระทำกิจของตนๆ เพราะฉะนั้น ในจิตดวงหนึ่ง มีอาหารปัจจัย ซึ่งเป็นนามธรรม ๓ อย่าง ได้แก่ ผัสสเจตสิกเป็นผัสสาหาร เจตนาเจตสิกเป็นมโนสัญเจตนาหาร และจิตเป็นวิญญาณาหาร ในจิตดวงเดียว ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอาหารปัจจัยไว้ ๓ อย่าง
เช่นเดียวกับในรูปกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นรูปกลุ่มที่เล็กที่สุดก็ตาม ในรูปกลุ่มนั้น ต้องมีอาหารรูปคือโอชะ รวมอยู่ด้วย ๑ รูป เพราะฉะนั้น ในจิตดวงหนึ่ง ซึ่งมีเจตสิกหลายดวง แต่ว่าที่เป็นอาหารปัจจัยนั้นมี ๓
ข้ออุปมาที่แสดงโทษภัยของมโนสัญเจตนาหาร ข้อความใน ปปัญจสูทนี อุปมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง ซึ่งมีข้อความอธิบายว่า
ส่วนในข้อเปรียบกับหลุมถ่านเพลิง มีเนื้อความว่า ภพ ๓ เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง อันหมายความว่า เป็นที่เร่าร้อนใหญ่ บุรุษ ๒ คน ที่จับบุรุษคนหนึ่งข้างละแขน ดึงเข้าไปในหลุมถ่านเพลิงนั้น ฉันใด มโนสัญเจตนาก็ฉันนั้น โดยหมายความว่า ฉุดเข้าไปในภพทั้ง ๓ เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเห็นมโนสัญเจตนาหาร ว่าเป็นเหมือนบุรุษที่ฉุดเข้าไปในหลุมถ่านเพลิงอย่างนั้น ภิกษุนั้นก็ครอบงำความยินดี ในมโนสัญเจตนาหารนั้นได้ อันนี้เป็นการประกอบเนื้อความในข้อเปรียบกับหลุมถ่านเพลิง
การมาสู่โลกนี้ ของท่านผู้ฟังทุกท่านนี้ มีใครฉุดมาหรือเปล่า ไม่มี ใครพามา มโนสัญเจตนาหาร ซึ่งเป็นกรรม เป็นเจตนาเจตสิก ซึ่งกระทำจิต ให้สำเร็จลงไป เป็นกุศลกรรม ทำให้เกิดในสุคติภูมิ แต่ทรงอุปมาว่า
บุรุษ ๒ คนที่จับบุรุษคนหนึ่งข้างละแขน ดึงเข้าไปหลุมถ่านเพลิง ไม่ได้พาไปในที่ๆ สบายเลยใช่ไหม หลุมถ่านเพลิง ไม่ว่าจะเป็นภพไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกามภพ มนุษย์ สวรรค์ หรือว่านรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน หรือว่ารูปพรหมก็ตาม อรูปพรหมก็ตาม พระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง เพราะเหตุว่า นำมาซึ่งความเร่าร้อน ความเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่า การเกิดขึ้นมาแล้วนี้ จะมีความเร่าร้อน หรือว่าจะมีความทุกข์ มากมายอย่างไร
แต่ข้อความใน สัมโมหวิทโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ได้แสดงเรื่อง ความทุกข์ของชาติ ชรา และมรณะว่า
อุปมาเหมือนกับคน ๓ คน ซึ่งเป็นข้าศึก คนหนึ่งก็บอกว่า ขอใหพาคนนี้ เข้าป่าไป เรื่องการพานี้ เป็นเรื่องไม่ยากสำหรับเขา อีกคนหนึ่ง ก็บอกว่า เมื่อพาไปแล้ว เขาจะโบยตีให้อ่อนกำลังลง เรื่องของการโบยตีให้อ่อนกำลังลงนั้น เป็นเรื่องไม่ยากสำหรับเขา และคนที่ ๓ ก็บอกว่า ส่วนเขาเอง จะตัดศรีษะเสีย ซึ่งเรื่องการตัดศรีษะของบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย สำหรับเขา
เพราะฉะนั้น ในขณะที่จุติ และปฏิสนธิ จะเกิดต่อ ปฏิสนธิที่เกิดต่อนี้ ก็เหมือนกับพาไปสู่ป่า หรือว่าพาไปเที่ยว ยังสถานที่หนึ่งสถานที่ใด โดยที่ในอรรถกถา อธิบายพรรณนาว่า เหมือนกับการพรรณนาว่า จะไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด พร้อมที่จะพาบุคคลนั้นไป หลังจากที่จุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธินี้ ก็มีกิจทำให้บุคคลนั้นเกิดขึ้นยังภพใหม่ เป็นสถานที่ใหม่ เหมือนกับที่ที่ยังไม่เคยไป
ท่านผู้ฟังที่ชอบไปเที่ยว ก็จะมีการเที่ยว หลังจากที่จุติจิตดับแล้ว จะไปสู่ภพไหนภูมิไหน ไกลมากน้อยเท่าไรนี้ ไม่สามารถที่จะทราบได้ แต่ว่าปฏิสนธิจิต การเกิดนั้นเอง เป็นผู้ที่พาไป
ส่วนชรา คือผู้ที่เป็นข้าศึกคนที่ ๒ ซึ่งคอยกระหน่ำโบยตีให้อ่อนล้า หมดแรงลงไปทุกทีๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มากเลย สำหรับชรา เพราะว่าเป็นกิจของชราอยู่แล้ว และสำหรับผู้ที่เป็นศัตรูหรือข้าศึกคนที่ ๓ ที่จะทำหน้าที่ตัดศรีษะลง นั้นก็คือขณะที่จุติ หรือมรณะคือตาย
ซึ่งเป็นชีวิตที่เลี่ยงไม่ได้เลย ในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่อาศัยการอุปมา ก็จะไม่เห็นภัยของมโนสัญเจตนาหาร ว่าเป็นสภาพที่ขวนขวาย เป็นสภาพที่ประมวลมา ซึ่งภพชาติ การเกิด เพราะเหตุว่า ตราบใดซึ่งยังไม่หมดกรรม กรรมนั่นเอง ก็ย่อมเป็นผู้ที่พาไปสู่ภพต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เหมือนกับหลุมถ่านเพลิงซึ่งเป็นที่เร่าร้อนใหญ่
มีข้อสงสัยไหม ในเรื่องนี้ เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง กระทำกิจของอาหารปัจจัย แต่ว่าโดยนัยของปฏิจสมุปบาท หมายความถึง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิต สำหรับวิญญาณาหาร โดยนัยของปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ปฏิสนธิจิต แต่ว่านัยอาหารปัจจัยแล้ว ได้แก่จิตทุกดวง
ซึ่งข้อความใน ปปัญจสูทนี มีข้ออธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เปรียบวิญญาณาหาร ด้วยการถูกแทงด้วย หอก ๓๐๐ เล่ม โดยนัยเป็นต้นว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ราชบุรุษทั้งหลาย จับโจรที่เที่ยวทำโจรกรรม แม้ฉันใดดังนี้ เพื่อความสิ้นไปแห่งความยินดีในวิญญาณาหาร ในข้อนี้มีอรรถโยชนา โดยสังเขป ด้วยคำอธิบายดังต่อไปนี้
ส่วนในข้อเกี่ยวกับการถูกแทงด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม มีเนื้อความว่า บุรุษนั้นย่อมทุกข์ร้อน ด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม อันใด ในเวลาเช้า สรีระของบุรุษนั้น ก็มีรอยปากแผลถึงร้อยแห่ง รอยปากแผลนั้น ไม่หยุดอยู่เพียงในระหว่าง ได้ทะลุออกไปถึงอีกข้างหนึ่ง หอก ๒๐๐ เล่มนอกจากนี้ ก็แทงทะลุเหมือนกัน ร่างกายทั้งสิ้นของบุรุษนั้น เป็นช่องน้อยช่องใหญ่ อันไม่หยุดยั้ง เพียงในที่ถูกแทงอย่างนั้น ประมาณแห่งทุกข์อันเกิด แม้ในปากแผลเพียงแห่งเดียว แห่งบุรุษนั้น ย่อมไม่มี ไม่ต้องพูดถึงปากแผล แห่งหอกทั้ง ๓๐๐ เล่ม
ปฏิสนธิเป็นเหมือนเวลาถูกแทงด้วยหอก การเกิดแห่งขันธ์เป็นเหมือนการทำให้เกิดปากแผล ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ต่างๆ อันมีวัฏฏะเป็นมูลรากในขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว เหมือนกับการเกิดแห่งทุกขเวทนา ในปากแผลทั้งหลาย
แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงอย่างนี้ ก็ยากที่จะเห็นจริง ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏว่า จะเหมือนกับบุรุษที่ทุกข์ร้อนด้วยหอกแทง ๓๐๐ เล่ม ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า เวลากลางวัน เวลาเย็น
และพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ปฏิสนธิเหมือนเวลาถูกแทงด้วยหอก แล้วก็ปากแผลทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้น ก็นำมาซึ่งทุกข์มากมายทีเดียว
คนที่เป็นแผล คงจะเข้าใจดี ถึงความทุกข์ที่เกิดจากแผล แต่เวลาที่ไม่มีแผล ก็ไม่สามารถที่จะเห็นได้ว่า ทุกข์ที่เกิดจากปากแผลนั้นเป็นอย่างไร แต่ปากแผลนั้น ไม่น้อยเลย ลองคิดดูว่า ถูกแทงด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม แล้วก็ทะลุไปอีกข้างหนึ่งด้วย
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ จะเป็นเหมือนอย่างนั้นหรือเปล่า มีแผลที่ไหนบ้างที่กำลังถูกแทง มองไม่เห็น ตาหนึ่งล่ะที่ถูกแทง ผัสสะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ดับไป เหมือนถูกแทงไหม ไม่เหมือน ยังไม่เหมือน เพราะเหตุว่า ยังไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป
ซึ่งข้อความในอรรถกถาบางแห่งนี้ ได้แสดงถึงความเป็นอายตนะของจักขุปสาท และรูปารมณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดการเห็นว่า ในขณะนี้ กระทบอยู่จนกระทั่งเป็นประจำเลย มีการขวนขวาย คือมีการลืมตาตื่นขึ้น มีการเห็น โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้น อุปมาเหมือนกับถูกแทงด้วยหอก แต่เพราะเหตุว่า ขวนขวายหนักหนาในการเห็น
ขณะนี้ท่านผู้ฟัง โดยปริยัติจะทราบได้ว่า วิถีจิตทางตาดับหมด วิถีจิตทางหูเกิดหลังจากที่ภวังค์เกิดคั่นหลายขณะ และทางตาก็ไม่ได้ขี้เกียจที่จะเห็นอีก ใช่ไหม ในขณะนี้ ช่างขยันที่จะสืบต่อภพชาติ หรือความเป็นอายตนะ หรือสภาพของสังสารวัฏฏ์ ในการที่เห็นแล้วเห็นอีก เห็นแล้วเห็นอีก อย่างนี้จะเหมือนกับการถูกแทงด้วยหอกทีละเล่มๆ ในขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ ไหม ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า การเห็นในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ จักขุปสาทเกิดขึ้นแล้วยังไม่ดับ กระทบกับรูปารมณ์ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วยังไม่ดับ แล้วปัญจทวาราวัชชนจิต รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่จักขุปสาทดับไป เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น
ไม่ได้ขี้เกียจเลย ขวนขวายที่จะถูกแทงอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะที่เห็น ทุกขณะที่ได้ยิน ทุกขณะที่ได้กลิ่น ทุกขณะที่ลิ้มรส ทุกขณะที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่รู้ลักษณะสภาพธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ ในขณะที่กำลังเห็น เพื่อที่จะละคลาย การยึดถือว่าเราเห็น ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัย
ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป คือเป็นสภาพที่ปรากฏ รูปารมณ์นี้ หมายความถึงสภาพที่ปรากฏ เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตา คือรูปารมณ์ เป็นสภาพที่ปรากฏ กระทบ จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็น ไม่มีใครยับยั้งได้
นี่คือถูกแทงด้วยหอก ๑ เล่ม เพราะฉะนั้น ๓๐๐ เล่มนี้ก็ยังน้อยไปใช่ไหม สำหรับตอนเช้า ตอนกลางวัน และตอนเย็น
ถ้าเจริญสติปัฏฐาน แล้วรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ก็จะเห็นว่าสภาพธรรมทั้งหลายนี้ ไม่ยั่งยืน แต่ว่ากรรมเป็นปัจจัย ทำให้จักขุปสาทเกิดขึ้น ตั้งอยู่เพียงชั่วขณะ ๑๗ ขณะของจิต แล้วดับ ปสาทรูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิตแล้วดับ จะยั่งยืนเกินกว่านั้นไม่ได้ และกรรมนั่นเอง ก็เป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปกลุ่มใหม่เกิดขึ้น มีอายุ ๑๗ ขณะของจิตแล้วดับ แม้รูปารมณ์ซึ่งปรากฏ ก็มีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิตแล้วดับ
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 01
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 02
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 03
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 04
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 05
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 06
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 07
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 08
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 09
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 10
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 11
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 12
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 13
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 14
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 15
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 16
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 17
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 18
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 19
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 20
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 21
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 22
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 23
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 24
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 25
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 26
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 27
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 28
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 29
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 30
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 31
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 32
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 33
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 34
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 35
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 36
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 37
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 38
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 39
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 40
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 41
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 42
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 43
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 44
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 45
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 46
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 47
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 48
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 49
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 50