ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 04
ตลับที่ ๒ (ต่อ)
จริงหรือไม่จริง ธรรมนี้ต้องพิจารณา เห็นรูปเป็นประจำ ชีวิตประจำวัน ที่จะให้ทราบตามความเป็นจริงว่า ขณะที่เห็น หลังจากที่เห็นแล้ว เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ เพราะเหตุว่า รูปธรรมเป็นอารัมมณปัจจัยของกุศลจิตได้ ของอกุศลจิตได้
แต่รูปนั้นจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้ รูปนั้นจะเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้ นี่เป็นเหตุที่จะต้องพิจารณาธรรมจริงๆ เวลาที่เห็นพระพุทธรูป เกิดกุศลจิต พระพุทธรูปเป็นอารัมมณปัจจัย ทำให้กุศลจิตเกิด แต่พระพุทธรูป ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต เพราะเหตุว่า รูปทั้งหมด ไม่สามารถที่จะทำให้กุศลจิตงอกงามไพบูลย์ได้ มีรูปไหนบ้าง ที่จะทำให้กุศลจิตงอกงามไพบูลย์ แต่ที่กุศลจิตจะงอกงามไพบูลย์ เพราะการสะสมอบรมกุศลจิตบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่เพราะอาศัยรูปนั้นเป็นอารัมมณาธิปติให้กุศลจิตเกิด แต่ที่กุศลจิตจะเพิ่มขึ้น งอกงามไพบูลย์ขึ้น เพราะการสั่งสมของกุศลแต่ละขณะ ทำให้กุศลเจริญขึ้น แต่กุศลจะเจริญขึ้นเพราะรูปเป็นอธิปติปัจจัยไม่ได้ แต่เพราะปัจจัยอื่น เช่นสหชาตาธิปติ เพราะฉันทะในกุศล หรือเพราะวิริยะในกุศล หรือเพราะปัญญาในกุศลได้ แต่ไม่ใช่เพราะรูปนั้นเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้น
เวลาที่ท่านผู้ฟังนึกอยากจะทำบุญถวายบางสิ่งบางประการเป็นพิเศษ ลองพิจารณาว่า ขณะนั้นจะเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยของกุศลได้ไหม ถ้าเห็นผ้าเนื้อดี จีวรที่เหมาะควรสำหรับการใช้สอยอย่างสบาย เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต คิดที่จะถวายแก่พระภิกษุได้ แต่ว่าที่จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลได้ไหม
นี้คือชีวิตประจำวันแท้ๆ ที่จะต้องเข้าใจตามความเป็นจริงให้ถูกต้อง และก็ควรที่จะสังเกต บางท่านนี้ ได้ถวายทานบางประการที่ประณีต เป็นที่พอใจในกุศล ขณะนั้นต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ จึงจะรู้ว่าเป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นกุศลจิต และที่กุศลจะเพิ่มพูลไพบูลย์ขึ้น ไม่ใช่ว่าเพราะติด หรือว่ายินดีพอใจในรูปธรรมที่ปรากฏ แต่เพราะเหตุว่า ระลึกถึงกุศล อย่าลืม ระลึกถึงสภาพความผ่องใสของจิต ด้วยโยนิโสมนสิการ จึงจะทำให้จิตเป็นกุศลเพิ่มพูลขึ้นได้ แต่ถ้าไปติดในทานนั้น โดยความที่เป็นวัตถุที่ประณีต หรือโดยความที่เป็นเราที่กระทำทานนั้น หรือว่าวัตถุทานนั้นเป็นของเรา ขณะนั้นให้ทราบว่าไม่ใช่กุศลจิตแล้ว การที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็จะต้องรู้ลักษณะของกุศลตามความเป็นจริงว่า กุศลจิตไม่ใช่อกุศลจิต แล้วกุศลจึงจะเจริญขึ้นได้
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหม ในเรื่องของอธิปติปัจจัยในชีวิตประจำวัน
ทรง.ก. ขอให้อาจารย์ช่วยขยายความว่า อารัมมณปัจจัย กับอารัมมณาธิปติปัจจัยต่างกันอย่างไร อธิบดีก็หมายถึงความเป็นใหญ่ ความเป็นใหญ่นั้นก็เป็นอธิปติปัจจัย เป็นอารมณ์ การพูด ก็หมายความว่ารูปทั้งหมดเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยไม่ได้
อ.จ. ขอประทานโทษ รูปธรรมเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิตได้ แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิตไม่ได้ ตามความเป็นจริง ทุกท่านทิ้งรูป ทิ้งได้ไหม ไม่ให้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ให้ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู หมดความสนใจใยดีในสิ่งที่สวยๆ งามๆ ทางตา ในเสียงที่เพราะๆ ในกลิ่นหอมๆ ในรสที่อร่อย ในโผฏฐัพพะที่เป็นสุข ทิ้งได้ไหม
ทรง.ก. บางครั้งก็ทิ้งได้
อ.จ. ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นรูปเหล่านั้นเป็นอารัมมณปัจจัย แต่เวลาที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ให้สังเกตดูว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ซึ่งไม่ทิ้งอารมณ์นั้น ทิ้งได้เดี๋ยวเดียวใช่ไหม เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยใหม่อีกแล้ว
ทรง.ก. ก็ทิ้งเดี๋ยวเดียว ขณะนั้นก็เป็นอารัมมณาธิปติแล้วนี่ครับ
อ.จ. ไม่ค่ะ เพราะเหตุว่า เป็นอารัมมณาธิปติ เมื่อเวลาเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น ไม่ควรทอดทิ้ง แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ได้ปรารถนา ไม่ได้ต้องการ ไม่ได้ติด เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่อารัมมณาธิปติปัจจัย แต่ถ้าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้ง เพราะฉะนั้น จึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโทสมูลจิต เพราะเหตุว่า โทสมูลจิตไม่ปรารถนาในอารมณ์นั้น
ทรง.ก. คำจำกัดความอารัมมณาธิปติว่าอย่างไรครับ
อ.จ. เป็นธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง ไม่ควรดูหมิ่น ด้วยอำนาจความเคารพยำเกรง หรือด้วยอำนาจความปรารถนา นี่คือลักษณะของอารัมมณาธิปติปัจจัย สภาพธรรมที่เป็น “อารัมมณาธิปติปัจจัย”
ชีวิตประจำวันจริงๆ แล้วเป็นอย่างนี้ อารมณ์ที่ไม่ควรทอดทิ้งทั้งหลาย ที่กำลังปรารถนาขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่เป็นแต่เพียงอารัมมณปัจจัยของโลภมูลจิต ซึ่งเกิดอยู่บ่อยๆ เป็นประจำ แต่ว่าเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว
ถ้าเป็นรูป รูปทั้งหมดที่ปรารถนาเป็นอารัมมณธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต บางท่านอาจจะบอกว่า ปรารถนาที่จะถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ถูกไหม เกิดกุศลจิต ขณะที่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารมมณาธิปติปัจจัย ไม่มีกำลังโดยที่ว่า เมื่อเห็นรูปนั้นแล้ว กุศลจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ หรืองอกงามไพบูลย์ แต่ที่กุศลจะเจริญงอกงามไพบูลย์ เพราะกุศลก่อนๆ ที่ได้กระทำแล้ว หรือเวลานึกถึงกุศลที่ได้กระทำแล้ว นึกถึงสภาพที่เป็นกุศล แล้วจิตก็ผ่องใส ว่าขณะที่ทำเป็นกุศลแท้ๆ ไม่ได้ปรารถนาสิ่งใดเลย ในขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด แต่ไม่ใช่ไปนึกถึงวัตถุทานซึ่งเป็นรูป แล้วกุศลจะผ่องใสได้มากมาย แต่ว่าขณะใดก็ตามที่นึกถึงวัตถุทานที่ประณีต สติสัมปชัญญะควรจะเกิดระลึกรู้ว่า ในขณะนั้น เป็นโลภมูลจิตหรือเปล่า แม้แต่ในขณะที่กระทำทานกุศล ถ้าอารมณ์ประณีตกำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังกระทำกุศล สติสัมปชัญญะก็ควรที่จะระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่รูปซึ่งประณีต กำลังเป็นอารมณ์นั้น เป็นโลภมูลจิตหรือเป็นกุศลจิต
นี่คือการที่จะอบรมเจริญกุศลแท้ๆ ยิ่งขึ้น คือสามารถที่จะแยกรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นอกุศลได้ ว่าต่างกับขณะที่เป็นกุศล ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะทราบไหม ว่าความพอใจในวัตถุทานเป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นกุศลจิต ใกล้ชิดกันมาก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สังเกตจริงๆ ไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของโลภมูลจิตออก ในขณะที่กำลังกระทำกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ถ้าอาหารที่จะถวายพระภิกษุ มีรสอร่อย แยกได้ไหม ว่าขณะไหนเป็นกุศลจิต ขณะไหนเป็นอกุศลจิต หรือจะเหมารวมไปว่าเป็นกุศลทั้งนั้น ถ้าเหมารวมว่าเป็นกุศลทั้งนั้น ผิดหรือถูก เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แม้แต่ในการที่จะพิจารณา เมื่อมีความเข้าใจที่จะให้ตรึกตรอง พิจารณาเพิ่มขึ้น จึงเกื้อกูลอุปการะในขณะที่ทำกุศล ที่จะให้สติระลึกได้ ว่าแม้ในขณะนั้น จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สติสัมปชัญญะก็จะต้องตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เมื่อเป็นอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลจิต เมื่อเป็นกุศลจิตก็เป็นกุศลจิต ซึ่งไม่ใช่เรา อกุศลจิตก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา กุศลจิตก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา
แต่การเข้าใจเรื่องของปัจจัย จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาละเอียดขึ้น ชีวิตตามความเป็นจริง เห็นรูปทางตาเสมอ ได้ยินเสียงทางหูก็บ่อยๆ ได้กลิ่นทางจมูกอยู่เรื่อยๆ เมื่อกลิ่นกระทบกับจมูก ลิ้มรสนาน เช้า เที่ยง บ่าย เย็น หลายนาทีทีเดียว และมีการกระทบสัมผัสอยู่บ่อยๆ ประโยชน์ก็คือว่า จะได้ระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า กุศลหรืออกุศลเกิดตามปกติ
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า อกุศลนี้เกิดแล้วๆ ๆ โดยความไม่รู้ แต่เมื่อได้ศึกษาโดยละเอียด จึงเริ่มเห็นโทษของอกุศล ซึ่งเกิดบ่อยเหลือเกิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
นี่เป็นหนทางที่จะทำให้สติเริ่มระลึกรู้ตามความเป็นจริง เมื่อรู้ว่าอกุศล เป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษา เรื่องของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ให้ละเอียดขึ้น การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะเหตุว่า จะต้องพิจารณาให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ลักษณะที่แท้จริง ของสภาพธรรมนั้น เพราะเหตุว่า สภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้ว จะไม่เห็นเลยว่า ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอย่างไร
บางท่านอาจจะคิดว่า ที่กำลังพูดถึงในขณะนี้ คือเรื่องปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเรื่องที่ละเอียดเกินไป บางท่านเข้าใจอย่างนั้น แต่ว่าถ้าไม่รู้ลักษณะของปัจจัย ที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น ก็ยากที่จะเห็นว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังถึงเพื่อนของท่านคนหนึ่ง เวลาที่ได้ฟังวิทยุเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ตรงกับใจที่กำลังต้องการฟังธรรมบางประการ เช่นอยากจะฟังเรื่องเมตตา แต่ในวันที่เปิดวิทยุ ก็ไม่ได้รับฟังเรื่องเมตตา เป็นเรื่องอื่น ก็ไม่ตรงกับใจของท่าน เพราะเหตุว่า ท่านคงอยากจะเป็นผู้ที่เจริญเมตตา แต่ก็อย่าลืมว่า ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าเมตตาคืออะไร มีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นในขณะไหนก็ตาม ถึงอย่างนั้นอกุศลจิตก็ยังเกิดอยู่ ไม่ใช่ว่าเมื่อมีใครที่รู้เรื่องเมตตาแล้ว จะมีเมตตาอยู่ได้ตลอดเวลา โดยที่อกุศลจิตไม่เกิดเลย เพราะเหตุว่า อกุศลธรรมเป็นพืชเชื้อที่ตายยาก ดับยาก ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยถ่องแท้ โดยละเอียด ถูกต้องจริงๆ อกุศลธรรมทั้งหลายไม่สามารถที่จะดับได้ ถึงแม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของเมตตา หรือเรื่องของกุศลนานาประการก็ตาม อกุศลก็ยังเกิดอยู่
แต่ข้อสำคัญทีสุด ก็คือจะต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ในขณะนี้ อย่าลืม นี่เป็นเหตุที่จะต้องศึกษาธรรมโดยละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ เพราะมิฉะนั้นก็จะเข้าใจว่าอกุศลเป็นกุศลได้ อย่างท่านที่ต้องการจะมีเมตตา เป็นเพราะเหตุว่า ท่านไม่ต้องการที่จะมีโทสะ เพราะฉะนั้น ท่านจึงปรารถนาที่จะมีเมตตา แต่เวลาที่โทสะไม่เกิดขึ้น ไม่ทราบว่าท่านจะเห็นโทษของโลภมูลจิต และโมหมูลจิตหรือเปล่า ว่าแท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมที่เป็นอกุศลนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่เวลาที่เป็นโทสะ แม้ในขณะที่เป็นโลภะ หรือขณะที่เป็นโมหะ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว และข้อสำคัญก็คือว่าลักษณะของอกุศลที่ละเอียด ซึ่งไม่เคยคิดมาก่อน ว่าเป็นอกุศล ก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นกุศล
ด้วยเหตุนี้ ถ้าสามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นปรากฏกับตัวท่านโดยละเอียด ก็ยิ่งจะมีปัจจัยที่จะทำให้รู้ได้ถูกต้องว่า จิตในขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพื่อที่จะได้อบรมเจริญกุศลได้ยิ่งขึ้น มิฉะนั้น ก็จะมีแต่ความต้องการธรรมบางประการ เหมือนกับยาบางชนิดในร้ายขายยา เวลาที่เป็นโรคชนิดหนึ่งชนิดใด ก็อยากจะซื้อยาชนิดนั้นมาบำบัดโรค แต่ธรรมไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่า จะต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ซึ่งเมื่อได้ศึกษาธรรมยิ่งขึ้น ก็จะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยการพิจารณา การไตร่ตรอง จะกว่าจะเป็นความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการท่องจำ แต่ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในเหตุผล จนกว่าจะเข้าใจ
เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ก็เป็นเรื่องของเหตุและผลทั้งหมด ที่คงทนแก่การพิสูจน์ และคงทนแก่การพิจารณา
ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่า เพราะเหตุว่าเมื่อกล่าวสรรเสริญคุณของท่านพระอานนท์ ก็มีข้อความที่กล่าวว่า บางท่านมีความสามารถในการฟัง แต่ไม่มีความสามารถในการเรียน และบางท่านก็มีความสามารถในการฟัง และมีความสามารถในการเรียน แต่ไม่มีความสามารถในการกล่าว เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรม จะเห็นได้จริงๆ ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วต้องพิจารณาจิตใจของแต่ละบุคคลจริงๆ
สำหรับเรื่องที่จะต้องพิจารณาในเหตุผล จนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ใช่เป็นการท่องจำ ขอยกตัวอย่างเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นสังขารธรรมซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น โดยเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน และเป็นปัจจัยแก่กันและกันตามสมควรของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้น
สำหรับปัจจัยที่ได้กล่าวถึงแล้วคือ เห-ตุปัจจัย อารัมมณปัจจัย และอธิปติปัจจัย
สำหรับเจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้สภาพธรรม คือจิต และเจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตนในขณะนั้น ถ้าพิจารณาก็จะทราบได้ว่า สำหรับเห-ตุปัจจัยนั้น เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก และรูปเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า ถ้าจิตเป็นโลภะ จะต้องมีการเคลื่อนไหวของกายบ้าง ของวาจาบ้างด้วยได้ วันหนึ่งๆ ที่ทุกท่านกระทำกิจสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยไม่รู้ตัวเลย ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะพูด วันนี้ก็มีการกระทำหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นโลภเจตสิก ที่เกิดกับจิตและเจตสิก เป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้รูปเคลื่อนไหว กระทำกิจการงานต่างๆ ด้วยโลภมูลจิตในขณะนั้น ไม่ทราบใช่ไหม ไม่ได้พิจารณาเลย แต่ให้ทราบว่า เวลาที่เจตสิกที่เป็นเหตุเกิดขึ้น พร้อมกับจิตและเจตสิก เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นกระทำกิจต่างๆ ทางกาย และทางวาจาได้
แต่สำหรับอารัมมณปัจจัย คือสภาพธรรมใดก็ตาม ซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น รู้สภาพธรรมนั้น โดยสภาพธรรมนั้น เป็นอารัมมณปัจจัย คือเป็นอารมณ์ของจิตดวงนั้น อารัมมณปัจจัยเป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณปัจจัย ทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น รู้อารมณ์นั้น แต่ไม่ได้ทำให้รูปเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น
นี่ก็เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซึ่งมีเกิดขึ้นปรากฏในชีวิตปกติประจำวัน โดยที่ไม่ได้รู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง แต่ถ้าพิจารณาแล้ว สามารถที่จะเข้าใจ โดยการที่ว่า เมื่อศึกษาความละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจชีวิตตามปกติ ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันนั่นเอง
วันนี้ขอประมวลและสรุปอธิปติปัจจัยอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับอธิปติปัจจัยนั้นมี ๒ คือ สหชาตาธิปติปัจจัย ๑
และ อารัมมณาธิปติปัจจัย ๑
ท่านผู้ฟังซึ่งพึ่งมาฟัง ได้กรุณาให้ทราบว่า ยังไม่เข้าใจความหมายของศัพท์บางศัพท์โดยชัดเจน เพราะฉะนั้น ก็จะได้อธิบายความหมายของศัพท์ด้วย เช่นคำว่า สหชาตาธิปติ เป็นคำรวมของสหชาต และอธิปติ
สหชาต หมายความว่า เกิดพร้อมกัน ร่วมกัน ได้แก่จิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน
อธิปติ หมายความถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่
เพราะฉะนั้น สหชาตาธิปติ หมายถึงสภาพธรรมที่ สามารถกระทำกิจเป็นหัวหน้า หรือเป็นใหญ่ ชักจูงให้สหชาตธรรม คือสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วยเกิดขึ้น ในบรรดาจิตและเจตสิก ที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย ได้ทีละอย่างนั้น ก็ได้แก่ ฉันทเจตสิก เป็นสหชาตาธิปติ เป็นสภาพธรรมซึ่งสามารถเป็นหัวหน้า ชักจูงให้จิตและเจตสิกอื่นเกิดพร้อมตนได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นฉันทะในกุศล หรือในอกุศลก็ได้ แต่ให้เห็นว่าในวันหนึ่งๆ นั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้น เพราะมีฉันทะ คือสภาพธรรมที่พอใจจะกระทำ ซึ่งจะต้องเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของฉันทะ และโลภะ ว่า โลภเจตสิกเป็นอกุศลเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ติด ยึดมั่น ไม่ปล่อยวาง แต่ส่วนฉันทเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่พอใจจะกระทำ
เพราะฉะนั้น สำหรับฉันทเจตสิก เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ ถ้าจำแนกโดยนัยของชาติ ๔
นอกจากฉันทเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยแล้ว ก็ยังมีวิริยเจตสิก และชวนจิต ๕๒ ดวง และวิมังสา คือปัญญาเจตสิกอีกหนึ่ง รวมเป็นสภาพธรรมที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ มี ๔ คือ เจตสิก ๓ ได้แก่ ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑ และชวนจิต ๕๒ ดวง
ท่านผู้ฟังบางท่าน ซึ่งพึ่งจะรับฟัง ก็อาจจะสงสัยว่า “ชวนจิต” คืออะไร ชวนะ โดยศัพท์หมายความถึง แล่นหรือเร็ว ที่ภาษาไทยใช้คำว่า เชาวน์ ความไว การแล่นไปโดยรวดเร็ว ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะคิดว่าจิตจะแล่นได้หรือ เพราะเหตุว่า จิตทุกดวงเกิด – ดับๆ มีอายุเท่ากันทุกดวง คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐีติขณะ ขณะที่ตั้งอยู่ และภังคขณะ ขณะที่ดับไป จิตทุกดวงมีอายุเท่ากัน คือแบ่งเป็นอนุขณะ ๓ ขณะ แต่ว่าสำหรับจิตอื่น เช่นจักขุวิญญาณที่เห็น เกิดขึ้นขณะเดียว แล้วดับ ไม่สามารถที่จะแล่นไปในอารมณ์ โดยเกิด – ดับสืบต่อซ้ำกันได้หลายขณะ เท่ากับจิตประเภทที่เป็นชวนจิต
เพราะฉะนั้น คำว่า “ชวนจิต” ไม่ได้เป็นจิตอื่น ต่างจากขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ คือเป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง ในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย หรือว่าชวนจิต ไม่ใช่จิตอื่น เป็นจิตที่มีอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ว่า โดยศัพท์ ทำให้ไม่เข้าใจว่า หมายความถึงจิตขณะไหน ประเภทไหน แต่ถ้าเข้าใจว่า หมายความถึง ไม่ใช่จิตที่เป็นจิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คือไม่ใช่จักขุวิญญาณจิต ไม่ใช่โสตวิญญาณจิต ไม่ใช่ฆานวิญญาณจิต ไม่ใช่ชิวหาวิญญาณจิต ไม่ใช่กายวิญญาณจิต สัมปฏิจฉนจิต ซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ ถ้าเป็นการเห็นทางตา หรือเกิดต่อจากโสตวิญญาณ ถ้าเป็นการได้ยินเสียงทางหู เกิดต่อจากฆานวิญญาณ ถ้าเป็นการได้ยิน เกิดต่อจากชิวหาวิญญาณ ในขณะที่ลิ้มรส เกิดต่อจากกายวิญญาณ ที่กระทบรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สัมปฏิจฉนจิตเกิดขึ้นขณะเดียว แล้วดับ ไม่ใช่ชวนจิต เมื่อสัมปฏิจฉนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิดต่อขณะเดียว แล้วดับ ไม่ใช่ชวนจิต โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นขณะเดียว กระทำกิจตัดสินอารมณ์ เพื่อกุศลหรืออกุศลที่จะเกิดต่อ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น จิตต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่ชวนจิต แต่ชวนจิตคือขณะที่เห็นแล้วพอใจ เป็นโลภมูลจิต
ทุกท่านรู้สึกในสภาพที่พอใจ ขณะนั้นเป็นเพราะ โลภมูลจิตทำชวนกิจเกิด – ดับ สืบต่อกันเท่ากับแล่นไปในอารมณ์ จนปรากฏเป็นความพอใจ ซึ่งในขณะที่เป็นสัมปฏิจฉนจิตก็ดี สันตีรณจิตก็ดี โวฏฐัพพนจิตก็ดี ไม่ปรากฏ มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉนจิต หรือสันตีรณจิต หรือโวฏฐัพพนจิตบ้าง ในขณะนี้
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 01
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 02
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 03
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 04
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 05
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 06
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 07
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 08
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 09
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 10
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 11
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 12
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 13
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 14
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 15
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 16
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 17
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 18
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 19
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 20
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 21
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 22
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 23
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 24
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 25
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 26
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 27
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 28
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 29
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 30
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 31
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 32
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 33
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 34
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 35
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 36
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 37
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 38
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 39
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 40
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 41
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 42
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 43
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 44
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 45
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 46
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 47
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 48
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 49
- ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 50