ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 42


    ที่มีค่าต่างๆ บ้าง ลองคิดถึงผู้ที่ไม่มีจักขุปสาท คือไม่มีจักขุนทรีย์ ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา สำหรับบุคคลที่มีจักขุปสาทนั้นเป็นอย่างไร แต่ว่าสามารถที่จะกระทบสัมผัส ถ้ามีกายปสาท ก็กระทบสัมผัสมหาภูตรูปได้ แต่ยังไม่สามารถที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นรูปารมณ์ หรือเป็นวรรณะ เป็นสีสันต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า ตัวของมหาภูรูปเองก็มี หรือรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น เหล่านั้นทั้งหมด จะไม่สามารถปรากฏเลย ถ้าขาดปสาทรูปซึ่งเป็นอินทรียะ เพราะฉะนั้น แม้ว่าที่ตัวนี้จะมีรูปถึงแต่ละท่าน ท่านละ ๒๗ รูป ก็ควรที่จะได้ทราบว่า รูปใดเป็นอินทรีย์ นี่จะต้องรู้ในความเป็นอินทรีย์ของรูปนั้น มิฉะนั้นแล้ว ปัญญาไม่เจริญ ไม่สามารถที่จะเห็นสภาพความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลาย ทั้งนามธรรมและรูปธรรม

    แต่ถ้าพูดถึงอินทรีย์เฉยๆ โดยไม่เจริญสติปัฏฐานเลย จะไม่มีความหมายเลย จะไม่เข้าถึงลักษณะสภาพความเป็นอินทรีย์ของตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย เพราะเหตุว่า ไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางทวารต่างๆ เหล่านั้น

    ถาม …… ไม่ได้ยิน …..

    อ.สุจินต์ ปัญหานี้น่าคิด ท่านผู้ฟังถามว่า ทำไมโลภะไม่เป็นใหญ่ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นสมุทัยใช่ไหม

    ประวิทย์ ครับ

    อ.สุจินต์ ถ้าไม่มีโลภะ หรือว่าดับโลภะแล้ว สังสารวัฏฏ์ย่อมไม่มี แต่อะไรใหญ่กว่าโลภะ จึงดับโลภะได้

    ประวิทย์ ปัญญา

    อ.สุจินต์ ปัญญา เพราะฉะนั้นปัญญาเป็นอินทรีย์

    ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะได้เห็นความละเอียดของพระธรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบจริงๆ ซึ่งเวลาที่ได้ฟังธรรมแต่ละเรื่องแล้ว ก็ยังมีขณะที่จะพิจารณา แล้วก็เกิดความคิด ความสงสัย พร้อมกันนั้นถ้าพิจารณาเหตุผล ก็อาจจะตอบได้ด้วยตัวเอง เช่น ถ้าถามต่อไปว่า เมื่อโลภะไม่เป็นอินทรียะแล้ว โลภมูลจิตเป็นอินทรียะหรือเปล่า นี่ ต่างกันนิดเดียว คือคำถามว่า โลภะเป็นอินทรียะไหม คำคอบคือ ไม่เป็นอินทรียะ แต่คำถามต่อไปว่า โลภมูลจิตเป็นอินทรียะหรือเปล่า เป็น เป็นอะไร เป็นมนินทรีย์ นี่ เพราะฉะนั้น เพียงแต่โลภะเพียงคำเดียว เป็นเจตสิก ไม่ใช่อินทรียะ แต่พอเป็นโลภมูลจิต เป็นจิต เป็นมนินทรีย์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอินทรียะ

    สำหรับในเรื่องของการอกเสียงภาษาบาลี และภาษาไทย โดยเฉพาะในเรื่องของอินทรียะ ท่านผู้ฟังก็คงจะแปลกใจว่า เดี๋ยวก็เป็นอินทรีย์ เดี๋ยวก็เป็นอินทรียะ ที่เป็นอย่างนี้ ก็เป็นเพราะเหตุว่า ภาษาไทย กับภาษาบาลีนี้ ปะปนกันมานานแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้ภาษาบาลีล้วน ท่านผู้ฟังบางท่านก็อาจจะรู้สึกแปร่งหู หรือว่าถ้าจะใช้แต่เฉพาะภาษาไทยเท่านั้น ก็ไม่ทราบว่าากรออกเสียงที่ถูกต้องในภาษาบาลีควรจะเป็นอย่างไร

    เพราะฉะนั้นสำหรับในรุ่นต่อไป หวังว่าการบรรยายธรรมนี้ ก็คงจะเป็นภาษาบาลีล้วน โดยถูกต้อง ให้ตรงกับพุทธศาสนาสากล ซึ่งใช้ภาษาบาลีโดยถูกต้องมากกว่าใช้ภาษาบาลีแบบไทย แต่ทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่ความนิยม หรือว่าแล้วแต่การวินิจฉัยของแต่ละท่านว่า สมควรจะเป็นอย่างไร เพราะว่าเรื่องภาษาเป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว ต้องแล้วแต่ความนิยม ของแต่ละสมัย เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะได้ฟังอินทรียะบ้าง อินทรีย์บ้าง ก็เป็นเรื่องของภาษาไทยกับภาษาบาลี ที่ปนกัน แต่ก็ให้ทราบว่า ถ้าพูดถึงอินทรียะ ก็เป็นภาษาบาลี ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่าอินทรีย์

    นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม ในเรื่องของอินทรียะ

    ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาเอง จากพระไตรปิฎกหรืออรรถกถา ก็จะเห็นได้ว่าการจำแนกอินทรียะ หรือว่าการนับจำนวนของอินทรียะ ๒๒ นี้ ก็อาจจะนับได้หลายนัย เช่น รูปที่เป็นอินทรีย์หรืออินทรียะมี ๘ นามที่เป็นอินทรีย์ก็มี ๘ เช่นเดียวกัน โดยนับองค์ธรรม ได้แก่ ชีวิตินทรียะ ๑ มนินทรียะ ๑ เวทนินทรียะ ๑ สัทธินทรียะ ๑ วิริยินทรียะ ๑ สตินทรียะ ๑ สมาธินทรียะ ๑ ปัญญินทรียะ ๑

    ถ้านับโดยย่อ ไม่จำแนกปัญญาออกเป็น ๔ และไม่จำแนกเวทนาออกเป็น ๕ ก็นับ ชีวิตินทรียะ ๑ มนินทรียะ ๒ เวทนินทรียะ ๓ สัทธินทรียะ ๔ วิริยินทรียะ ๕ สตินทรียะ ๖ สมาธินทรียะ ๗ ปัญญินทรียะ ๘

    ก็เป็นนามอินทรีย์ก็มี ๘ รูปอินทรีย์ ก็มี ๘ ได้ใช่ไหม เพราะเหตุว่า การศึกษาสภาพธรรมนี้ ศึกษาเพื่อให้เข้าใจให้ถูก ส่วนการที่จะแสดงจำนวนโดยวิธีต่างๆ ก็แล้วแต่ว่าจะแสดงโดยจำนวน ๒๒ หรือว่าจะแสดงโดยจำนวนที่เป็นรูป ที่เป็นอินทรีย์ ๘ นามอินทรีย์ ๘ หรือว่าจะแสดง รูปอินทรีย์ ๗ นามอินทรีย์ ๑๔ นามและรูปอินทรีย์ ๑ ก็ได้ ถ้าเข้าใจโดยถูกต้องแล้ว ไม่ว่าเพราะผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างไร ก็สามารถที่จะพิจารณาและเข้าใจได้

    ถ้าจะจัดอินทรียะตามทวาร ๕ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นความต่างกันของคัมภีร์ปัฏฐาน และในคัมภีร์วิภังค์ ซึ่งต่างก็เป็นอภิธรรมปิฎก สำหรับในคัมภีร์วิภังค์ จัดอินทรีย์ตามทวาร ซึ่งจำแนกออก คือ

    ๑.จักขุนทรีย์ ๒.โสตินทรีย์ ๓.ฆานินทรีย์ ๔.ชิวหินทรีย์ ๕.กายินทรีย์

    ๖.มนินทรีย์ ๗.อิตถินทรีย์ ๘.ปุริสินทรีย์ ๙.ชีวิตินทรีย์ ๑๐.สุขินทรีย์

    ๑๑.ทุกขินทรีย์ ๑๒.โสมนัสินทรีย์ ๑๓.โทมนัสินทรีย์ ๑๔.อุเบกขินทรีย์ ๑๕.สัทธินทรีย์

    ๑๖.วิริยินทรีย์ ๑๗.สตินทรีย์ ๑๘.สมาธินทรีย์ ๑๙.ปัญญินทรีย์

    ๒๐.อนัญญาตัญญัติสามีตินทรีย์ ๒๑.อัญญินทรีย์ ๒๒.อัญญาตาวินทรีย์

    โดยนัยของวิภังคปกรณ์ จำแนกโดยทวาร ๖ ซึ่ง

    จักขุนทรีย์ เป็นที่ ๑

    โสตินทรีย์ เป็นที่ ๒

    ฆานินทรีย์ เป็นที่ ๓

    ชิวหินทรีย์ เป็นที่ ๔

    กายินทรีย์ เป็นที่ ๕

    มนินทรีย์ เป็นที่ ๖

    โดยเหตุผลที่ว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เพราะอินทรีย์ ๖ ถ้าไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท และจิต จะไม่มีสภาพธรรมใดๆ ปรากฏเลย เพราะเหตุว่า แม้ว่าจิตจะเกิดดับที่หทยวัตถุ ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ คือปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับปฏิสนธิกัมมชรูป ซึ่งกลุ่มนั้นเป็นหทยทสก เป็นรูปที่เกิดของจิตในขณะนั้น จิตเกิดขึ้นแล้ว เป็นสภาพซึ่งรู้อารมณ์ แต่ว่าเป็นการรู้อารมณ์ที่สืบต่อมาจากอารมณ์ของจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่อารมณ์ที่ต้องอาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น แม้มีจิต และมีรูป พร้อมทั้ง ๕ ขันธ์ แต่ไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ในคัมภีร์วิภังคปกรณ์ ก็ได้จำแนกอินทรียะ ๒๒ ตามทวาร แต่สำหรับในคัมภีร์ปัฏฐาน จำแนกการเป็นปัจจัยของรูปส่วนหนึ่ง และจำแนกการเป็นปัจจัยของนามส่วนหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นสำหรับคัมภีร์ปัฏฐาน ก็แสดงรูปเป็นปัจจัยโดย ๑.จักขุนทรีย์ ๒.โสตินทรีย์ ๓.ฆานินทรีย์ ๔.ชิวหินทรีย์ ๕.กายินทรีย์ ๖.อิตถินทรีย์ ๗.ปุริสินทรีย์ ๘.ชีวิตินทรีย์ ๙.มนินทรีย์

    นี่เป็นความต่างๆ กัน เพราะเหตุว่า ยกรูปทั้งหมดขึ้นเป็นอินทรีย์ก่อน แม้ว่าอิตถินทรีย์ และปุริสินทรีย์ จะไม่เป็นอินทรียปัจจัย แต่เพราะเหตุว่า เป็นรูป จึงได้ยกสภาพของรูป ซึ่งเป็นอินทรีย์ทั้งหมดก่อน รวม ๘ รูป ที่เป็นอินทรีย์ คือ

    จักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ โสตปสาทเป็นโสตินทรีย์ ฆานปสาทเป็นฆานินทรีย์

    ชิวหาปสาทเป็นชิวหินทรีย์ กายปสาทเป็นกายินทรีย์ อิตถีภาวรูปเป็นอิตถินทรีย์

    ปุริสภาวรูปเป็นปุริสินทรีย์ ชีวิตินทรียะซึ่งเป็นทั้งนามและรูป

    มีท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมในเรื่องนี้

    เพราะเหตุว่าบางแห่ง ถ้าท่านผู้ฟังสังเกต จะเห็นลำดับที่ต่างกันในวิภังคปกรณ์ แต่โดยเหตุผล ให้ทราบว่าคัมภีร์ปัฏฐานแสดงโดยความเป็นปัจจัยของรูปก่อน แล้วต่อจากนั้นก็แสดงสภาพของนามธรรมที่เป็นอินทรีย์ สำหรับวัภังคปกร์นั้นแสดงอินทรียะโดยทวาร

    ลองคิดดูว่า การที่จะรู้ลักษณะของอินทรีย์ที่เป็นรูปนี้ จะเป็นไปได้ไหม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ก็จะได้พิจารณาถึงความสำคัญของรูปที่เป็นอินทรีย์ ซึ่งไม่ว่าท่านจะศึกษาโดยวิชาการใดๆ ก็ตาม ลองพิจารณาดูโดยถ่องแท้ว่าพระธรรมที่รพะผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ที่ว่าที่ร่างกายทั้งหมดนี้ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปใดบ้างที่เป็นอินทรีย์ จะมีเกินกว่า จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาทได้ไหม สำหรับรูปซึ่งเป็นอินทรีย์

    ท่านผู้ฟังซึ่งศึกษาวิชาการ จะคิดว่ามีรูปอื่นซึ่งมีความสำคัญหรือว่าเป็นใหญ่บ้างไหม นอกจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และชีวิตินทรียรูป ไม่ทราบท่านผู้ฟังจะมีความเห็นว่าอย่างไร จะมีรูปอื่นซึ่งท่านยังมีความคิด ความเข้าใจ เป็นรูปที่เป็นใหญ่ หรือว่าสำคัญ สมอง หัวใจ เลือด ปอด ตับ ทั้งหมดไม่ใช่อินทรียรูปเลย เพราะเหตุว่า เพียงไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปอื่นที่คิดว่าเป็นปอดบ้าง เป็นหัวใจบ้าง เป็นม้ามบ้าง เป็นตับบ้าง เป็นส่วนต่างๆ ของร่างกายที่สำคัญนั้น จะมีได้ไหม

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญานี้ ก็เพื่อที่จะรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า รูปใดที่เป็นอินทรีย์ รูปนั้นต้องเป็นอินทรียะแน่นอน เพราะฉะนั้น ในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ที่ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าอิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ คณะสัญญาปิดบังอนัตตา สัตติปิดบังอนิจจัง คือการเกิดดับซึ่งสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    เพราะเหตุว่าทุกขลักษณะก็ดี อนิจจลักษณะก็ดี อนัตตลักขณะก็ดี เป็นไตรลักษณ์ เป็นการเกิดดับของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตน จึงเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นทุกข์ได้ คือทุกขลักษณะตามความเป็นจริง ต้องเพิดอิริยาบถ อย่าลืม ท่านที่ผ่านพยัญชนะที่ว่า อิริยาบถปิดบังทุกข์ ทำให้ไม่เห็นทุกขลักษณะ เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นทุกขลักษณะได้ ก็เพราะเพิกอิริยบถ

    ความหมายของเพิกอิริยาบถคืออย่างไร จะเพิกอย่างไร อิริยาบถ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละลักษณะโดยไม่ยึดรูปร่างใดๆ ไว้ในขณะนั้น ทางตาที่กำลังเห็นนี้ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏท่านั้น แล้วก็รู้ในลักษณะของสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ อาการรู้เท่านั้น ลักษณะอื่นไม่สามารถจะร่วมปรากฏในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือในสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่มีรูปร่างทั้งหมด มีแต่เฉพาะอินทรียะหนึ่ง คือจักขุนทรีย์ กำลังเป็นใหญ่ที่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู โดยนัยเดียวกัน ขณะใดที่สติระลึกที่เสียงที่กำลังปรากฏ ต้องไม่ยึดถือรูปร่างซึ่งเคยคิดว่ามี

    เพราะฉะนั้น รูปนี้เกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก แต่ละรูปจะดับไปพร้อมกับ เมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น เมื่อรูปเกดพร้อมกับขณะจิตใด รูปนั้นจะมีอายุอยู่จนกระทั่งจิตเกิดดับแล้ว ๑๖ ขณะ รวมทั้งในขณะที่รูปนั้นเกิดด้วยอีก ๑ ขณะ จึงเป็น ๑๗ ขณะ แล้วรูปนั้นก็ดับไปหมด เพราะฉะนั้นรูปนั้นไม่ได้ปรากฏร่วมด้วย ในขณะที่สีกำลังปรากฏทางตา หรือเสียงกำลังปรากฏทางหู หรือกลิ่นกำลังปรากฏทางจมูก หรือรสกำลังปรากฏทางลิ้น หรือเย็น ร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวกำลังปรากฏที่กาย เพราะฉะนั้น ต้องเพิกอิริยาบถ จึงจะเห็นสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ แต่ละอินทรีย์ตามปกติ ตามความเป็นจริงได้

    แต่ถ้าตราบใดยังมีความรู้สึกเหมือนกับเป็นรูปร่างของตัวเราอยู่ เมื่อนั้นจะไม่สามารถประจักษ์ในความเป็นอินทรีย์ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้

    ทรงเกียรติ ที่อาจารย์บอกให้เพิกอิริยาบถ ขณะที่เกอิริยาบถก็คือว่า ให้มีสติระลึกรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นไม่ได้พูดถึงอิริยาบถนี่ครับ ในเมื่อไม่ได้พูดถึงอิริยาบถ แล้วก็จะว่าเพิกอิริยาบถได้อย่างไรครับ

    อ.สุจินต์ ตามปกติ ทุกท่านยึดถือรูปใดว่าเป็นตัวตน

    ทรงเกียรติ ก็ทั้งหมดล่ะครับ ดิน น้ำ ไฟ ลม

    อ.สุจินต์ ท่านผู้ฟังกล่าวว่าทั้งหมด ถูกไหม

    ทรงเกียรติ ก็ทั้งหมดล่ะครับ ดิน น้ำ ไฟ ลม

    อ.สุจินต์ ท่านผู้ฟัง กล่าวว่าทั้งหมดถูกไหม

    ทรงเกียรติ ใช่ครับ

    อ.สุจินต์ ยึดถือรูปทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถที่จะมีอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใดปรากฏ เพราะเหตุว่า ยึดถือรูปซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ยังไม่ได้เพิกอิริยาบถออกใช่ไหม แต่เวลาที่สติระลึกลักษณะของรูป เช่นที่กายนี้ ที่เย็นจะปรากฏได้ ก็ต้องมีกายปสาท ที่รับกระทบกับโผฏฐัพพะ ที่เย็น ในขณะนั้น โผฏฐัพพะที่เย็น ตรงนั้น ส่วนนั้น เฉพาะที่นั้นจึงปรากฏ

    เพิกอิริยาบถคือไม่ยึดถือ หรือไม่เข้าใจว่ายังมีตัวตนซึ่งเป็นรูปร่างทั้งหมดของเราอยู่ในขณะนั้น เพราะเหตุว่า เมื่อไม่ปรากฏ แล้วก็ยังยึดถือว่าเป็นรูปร่างของเราอยู่อย่างนี้ จะเป็นความเห็นถูกหรือความเห็นผิดในเมื่อรูปร่างในขณะนั้นไม่ปรากฏเลย

    ท่านผู้ฟังลองพิจารณาลักษณะของเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งซึ่งกำลังปรากฏตรงส่วนหนึ่งส่วนใดในขณะนี้ ถ้าสติระลึกตรงนั้น จะมีรูปร่างทั้งหมดปรากฏได้ไหม ยังมีอิริยาบถอยู่ได้ไหม ในขณะนั้น

    ทรงเกียรติ ขณะนั้นมีไม่ได้ครับ

    อ.สุจินต์ เมื่อมีไม่ได้ จึงชื่อว่าขณะนั้นที่สติระลึกที่ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดที่ปรากฏเป็นการเพิกอิริยาบถ

    ทรงเกียรติ เสร็จแล้ว อิริยาบถทั้งหมดมี ๔ ขณะที่มีสติระลึกรูปที่เย็น ขณะนั้นเพิกแล้วทั้ง ๔ หรือว่าเพิกอิริยบถหนึ่งอิริยาบถใด

    อ.สุจินต์ ขณะนั้น ยึดถือรูปใด อิริยาบถใดว่าเป็นเรา

    ทรงเกียรติ ก็ถ้ามีสติรู้ที่อารมณ์ ก็ไม่มีอิริยาบถหนึ่งว่าเป็นเรา

    อ.สุจินต์ ก่อนที่สติจะระลึกนี่ ยึดถืออิริยาบถใดว่าเป็นเรา

    ทรงเกียรติ ก็ขณะที่นั่งก็ยึดว่ากำลังนั่ง

    อ.สุจินต์ เพราะฉะนั้นขณะที่นั่ง ยึดถือรูปที่นั่งว่าเป็นเรา เวลาเพิกอิริยาบถคือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ที่ปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใด จึงจะเพิกอิริยาบถได้

    เช่นในขณะที่กำลังเห็นทางตานี้ สีสันวรรณะเท่านั้นที่ปรากฏ ถ้ามีความเห็นถูก ก็คือรู้ในสภาพที่เป็นจักขุนทรีย์ ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีสภาพเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งไม่ใช่อิริยาบถ ทางหูก็โดยนัยเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น แม้ทางกายนี้ ลักษณะที่แข็งปรากฏตรงไหน สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของแข็ง ซึ่งยังไม่ดับ จึงได้ปรากฏในขณะนั้น

    ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ สติระลึก ความเยื่อใยในรูปร่างในอิริยาบถต้องไม่มี จึงจะชื่อว่าเพิกอิริยาบถ

    ทรงเกียรติ ถ้าอาจารย์พูดอย่างนี้ ก็หมายความว่า ในขณะที่เรากำลังนั่ง ปกติถ้าไม่มีสติปัฏฐานเกิดขึ้น ก็ยึดว่าเรากำลังนั่ง

    อ.สุจินต์ ถูกไหมล่ะ เป็นอย่างนั้นไหม

    ทรงเกียรติ เป็นอย่างนั้นทุกทีครับ ในเมื่อมีสติระลึกรู้ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็ไม่ได้ยึดว่าเรากำลังนั่ง ก็ชื่อว่าเพิกอิริยาบถนั่ง

    อ.สุจินต์ ถูกต้อง การที่จะรู้จักอินทรีย์ตามความเป็นจริง คือในขณะใดที่รูปใดปรากฏทางทวารใด สติระลึกรู้ลักษณะของรูปนั้นที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นแล้วไม่อาลัย เยื่อใยในรูปร่าง ในอิริยาบถ ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา ต้องไม่มีรวมอยู่ในที่นั้น จึงจะชื่อว่าเพิกอิริยาบถ

    มิฉะนั้น คำว่าเพิกอิริยาบถ จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้ายังคงมีรูปร่างนั้นอยู่ ถ้ายังคงมีอิริยาบถนั้นอยู่ คำว่าเพิกอิริยาบถก็ไม่มีความหมาย แต่ที่จะรู้ลักษณะทางแต่ละอินทรีย์ได้ตามความเป็นจริง ก็เพราะเพิกอิริยาบถ จึงจะรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา แล้วก็ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ เพราะเกิดดับ

    ทรงเกียรติ อันนี้เข้าใจครับ แต่ว่าอิริยาบถมี ๔ ก็อยากจะถามอาจารย์ว่า เพิกทีเดียวได้อิริยาบถทั้ง ๔ หรือว่าเพิกทีละอิริยาบถ

    อ.สุจินต์ ขณะนี้ กำลังอยู่ในอิริยาบถไหน

    ทรงเกียรติ เวลานี้ยืนอยู่ครับ

    อ.สุจินต์ ค่ะ ยึดอิริยาบถไหนว่าเป็นตัวตน

    ทรงเกียรติ ก็ยึดยืนน่ะครับว่าเป็นตัวตน

    อ.สุจินต์ เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดขณะนี้ ไม่มีอาลัยเยื่อใยในอิริยาบถยืน เพราะเหตุว่า อิริยาบถยืน ไม่ได้ปรากฏทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นน่ะ สติจะระลึกอิริยาบถไหน ก็ต้องเพิกความยึดถืออิริยาบถนั้นในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นอิริยาบถอื่น แต่ในอิริยาบถซึ่งสติกำลังระลึก จึงจะรู้ว่าในขณะนั้น ไม่มีอิริยาบถ เพราะเหตุว่าต้องเพิกอิริยาบถ ลักษณะของอินทรีย์จึงจะปรากฏได้

    การอบรมเจริญอินทรีย์นี้ ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็เพราะเหตุว่า สามารถจะประจักษ์ชัดในลักษณะของแต่ละอินทรีย์ ซึ่งแยกขาดจากกัน อินทรีย์แต่ละอินทรีย์นี้ ไม่ใช่ว่าต่อเนื่องสืบต่อเป็นอันเดียว เช่น เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราลิ้มรส เรารู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส หรือเราคิดนึก แต่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละลักษณะ แล้วก็ค่อยๆ แยกลักษณะของอินทรีย์ แต่ละอินทรีย์ขาดออกจากกัน เป็นแต่ละอินทรีย์

    ทรงเกียรติ ทีนี้ก็ยังสงสัยต่อไปว่าอิริยาบถนี้ปิดบังทุกข์ ก็เวลานี้ผมยืนอยู่นี่ มีอะไรเป็นทุกข์ ผมนี้ กำลังยืนอยู่นี้ ไม่มีทุกข์เลยนี่ครับ ผมนี้สบายมาก

    อ.สุจินต์ ทุกข์มีมาก แต่ไม่รู้เลย เพราะเหตุว่า ทุกข์ในที่นี้หมายถึงสภาพธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับทันที ไม่มีอายุยืนยาว พอที่จะยึดถือว่าเป็นเราหรือพอที่จะยึดถือว่าเป็นสุข เพราะเหตุว่า ทุกท่านนั่ง จะรู้สึกว่าเป็นสุข ก็ต่อเมื่อสภาพธรรมนั้นยังคงอยู่ พอที่จะให้เป็นที่ตั้งของความสุขได้ ถ้ารู้ว่าสิ่งนั้นไม่ยั่งยืนเลย แม้แต่ความสุข ปรากฏเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยนิดเดียว เล็กน้อยที่สุด แล้วก็ไม่ใช่ของใคร เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถที่จะให้ความสุขนั้นเที่ยงอยู่ได้นาน

    แม้ความสุขนั้นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที นี่ถึงจะประจักษ์ลักษณะที่เป็นทุกข์ แม้ของความรู้สึกที่เป็นสุขได้ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่ายังไม่เป็นทุกข์เลยนี้ ก็เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์ในทุกขลักษณะ เพราะฉะนั้นปัญญาจะต้องอบรม แล้วก็ประจักษ์ในลักษณะที่เป็นทุกขลักษณะ จึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้

    สภาพธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมชนิดหนึ่งชนิดใด ซึ่งปรากฏทางหนึ่งทางใด ก็เพียงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปทันทีอย่างรวดเร็ว นั่นคือทุกขลักษณะ เพราะฉะนั้น ทุกขเวทนาก็เป็นทุกขลักษณะ สุขเวทนา ก็เป็นทุกขลักษณะ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นทุกขลักษณะ เห็นที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นทุกขลักษณะ ได้ยินในขณะนี้ก็เป็นทุกขลักษณะ เสียงที่ปรากฏก็เป็นทุกขลักษณะ เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา เพื่อประจักษ์ความจริงนี้ ไม่ใช่อย่างอื่นเลย การที่จะประจักษ์ ช้าหรือเร็ว นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องเห็นถูกตามความเป็นจิรง มิฉะนั้นแล้ว จะไม่สามารถดับการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    สำหรับอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส ทางรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้น แต่ยังต้องมีอินทรีย์ที่ ๖ คือมนินทรีย์ด้วย

    เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็นนี้ เมื่อทางตาจิตเกิดขึ้น อาศัยตาเห็น จิตที่เห็นและจิตอื่นๆ ที่เกิดโดยอาศัยทวารตา ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดดับ มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่วิถีจิตทางตาเพิ่งรู้และดับไปซ้ำอีก เพราะฉะนั้น ทางใจนี้ ก็รับรู้อารมณ์ต่างๆ ต่อจากจิตที่อาศัยทางตาเกิดขึ้นเห็น จิตที่อาศัยทางหูเกิดขึ้นได้ยิน จิตที่อาศัยจมูกเกิดขึ้นได้กลิ่น

    จบ ปัจจัย ๒๔ ตลับที่ ๒๑


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    18 ส.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ