ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 49


    ตลับที่ ๒๕

    เรื่องวิปัสสนาญาณ (ต่อ)

    นี่คือเส้นทางชีวิตที่ทุกคนจะพิจารณาเลือกเดินต่อไป ทุกๆ ขณะ แม้ในขณะนี้เอง

    สำหรับปัจจยปริคหญาณ ก็ต้องมีเหตุให้เกิด ซึ่งได้แก่การฟังพระธรรม ทั้งก่อนที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิด ก่อนที่ปัจจยปติคหญาณจะเกิด และแม้หลังจากที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดแล้ว ก็ยังจะต้องฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะได้ไตร่ตรอง พิจารณาระลึกรู้ลักษณะของปัจจัย ในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิด

    ถ้าศึกษาเรื่องของเหตุปัจจัย คือโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุ เป็นประโยชน์ ในขณะที่วันหนึ่งๆ นี้ โลภะมีมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่โลภะเกิด แล้วก็เป็นเหตุให้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ในขณะนั้นก็ยังสามารถที่จะรู้ว่า รูปนั้นเกิดเพราะจิตที่เป็นโลภะ เพียงแต่ว่า ในขณะที่เป็นปัจจยปริคหญาณ สัตว์บุคคลตัวตน และโลกนี้ไม่ปรากฏ ไม่มีเลย มีแต่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ เท่านั้น ที่กำลังปรากฏ นี่คือความต่างกัน ของขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน และขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ความต่างกันคือ ขณะที่เป็นสติปัฏฐานนี้ นามธรรมและรูปธรรมเกิดสืบต่อกัน จนปรากฏเป็นโลก เป็นคน เป็นสัตว์ แล้วก็ชั่วขณะที่สติระลึกบ้าง ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็ยังคงสืบต่อปรากฏเหมือนเดิม แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ลักษณะที่ปรากฏสืบต่อ ไม่เหมือนเดิม เพราะเหตุว่าปรากฏเฉพาะทางมโนทวาร ทีละลักษณะเท่านั้น

    ในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมปรากฏทีละลักษณะ ในขณะที่เป็นปัจจยปริคหญาณ ลักษณะการแทงตลอดของปัจจัย จะสืบต่อทันที ซึ่งเวลาที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ก็ไม่ได้ว่างเว้น หรือขาดไปจานามธรรมและรูปธรรมเลย แม้ว่าจะเป็นมโนทวารวิถีจิต แต่ก็มีนามธรรมหนึ่ง รูปธรรมหนึ่ง ที่ปรากฏทีละลักษณะ นั่นคือนามรูปปริจเฉทญาณ

    แต่เวลาที่เป็นปัจจยปริคหญาณ ก็ปรากฏทางมดนทวาร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่ปรากฏรวมกันเป็นโลก แต่ว่าสภาพความเป็นปัจจัยสืบต่ออย่างรวดเร็ว ที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น อย่างเช่นปกติธรรมดา ที่พูดแล้ว สติก็ระลึกบ้าง ก็ยังคงมีอย่างอื่นปรากฏสลับ จนโลกปรากฏเหมือนเดิม แต่เวลาที่เป็นปัจจปริคหญาณ ความรวดเร็วของมโนทวารที่รู้ลักษณะของจิตและเสียงที่ปรากฏ จะรู้ได้ทันทีว่า จิตนั้นเป็นปัจจัยให้เสียงนั้นเกิดอย่างรวดเร็ว

    มีข้อสงสัยไหม

    เรื่องของวิปัสสนาญาณ แต่ละวิปัสสนาญาณ ก็ต้องมีเหตุให้เกิดข้น และขณะที่เกิด ก็มีสภาพของธรรมที่ปรากฏ ด้วยปัญญาที่แทงตลอด ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น และหลังจากที่ปัจจยปริคหญาณดับไปแล้ว ความรู้ชัดในลักษณะของปัจจัย ของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดในขณะนั้น ก็ทำให้ละคลายความหวัง หรือความคิดต้องการนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด

    เพราะฉะนั้น ลองคิดดูว่าในชีวิตประจำวันนี้ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างที่จะเกิด ต้องมีปัจจัยทั้งนั้น ชีวิตของแต่ละบุคคล ที่จะเกิดแต่ละขณะ จะปราศจากปัจจัยไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้แต่ที่จะคิดนึก ก็จะต้องมีปัจจัยทั้งสิ้น ถ้ารู้จริงๆ อย่างนี้ ก็จะทำให้คลายความหวัง ความห่วง ความต้องการ ความกังวล ทุกอย่างได้ และสติก็จะระลึกพร้อมทั้งการรู้ลักษณะของปัจจัย ละเอียดขึ้นๆ โดยที่ไม่มีการที่จะคิดจดจ้อง หรือว่าต้องการที่จะรูนามหนึ่งนามใดโดยเฉพาะ

    สำหรับปัจจยปริคหญาณ ละทิฏฐิ คือความเห็นว่า ไม่มีเหตุ และปราศจากเหตุอันควรแก่การเกิดขึ้นของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่า วิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ก็ละกิเลสหรือความเห็นต่างๆ ออก เช่นนามรูปปริจเฉทญาณ ละสักกายทิฉฐิ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏรวมกันเป็นกลุ่มก้อน และปัจจยปริคหญาณ ก็ละความเห็นว่าไม่มีเหตุ หรือที่เข้าใจว่าทุกอย่างที่เกิด เกิดโดยปราศจากเหตุ ผู้ที่ประจักษ์แจ้งในปัจจยปริคหญาณแล้ว ไม่มีความสงสัยในเรื่องปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น

    มีข้อสงสัยไหม ปัจจยปริคหญาณ ไม่สงสัยแต่ก็ยังไม่ประจักษ์ แต่ก็ยังไม่ต้องเป็นห่วงอะไรเลย เป็นเรื่องของการสะสมจริงๆ สะสมการฟัง สะสมสติปัฏฐาน สะสมความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกว่า ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณเกิดเมื่อใด เมื่อนั้นจะรู้ได้ว่าไม่ต้องห่วงอะไรเลย เพราะเหตุว่าทุกอย่างที่จะเกิด ต้องมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๓ ซึ่งทั้ง ๓ วิปัสสนาญาณนี้ เป็นตรุณวิปัสสนา เมื่อเทียงกับวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้น นามรูปปริจเฉทญาณก็ดี ปัจจยปริคหญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๒ ก็ดี และสมสนญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓ ก็ดี ยังเป็นตรุณวิปัสสนา เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูถึงปุถุชน ที่กว่าจะไต่ไปถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ด้วยการที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้าง ไปเรื่อยๆ แต่ว่า ถ้าถึงวิปัสสนาญาณแล้ว หนทางปฏิบัตินี้ ก็จะมั่นคงขึ้น และก็จะทำให้เพิ่มสภาพธรรมที่เป็นพละ คือมีกำลังขึ้น ทั้งศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

    วิปัสสนาญาณที่ ๓ คือสมสนญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่อวิชชาไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓ คือสมสนญาณ ขณะนั้นเป็นการประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้น และดับไป ซึ่งสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม

    ขณะนี้รู้ว่าเสียงปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อใช่ไหม ขั้นพิจารณานี้เข้าใจได้ แต่ไม่ใช่ขณะที่ประจักษ์ แต่ก็รู้ว่าเร็วแค่ไหน คือเสียงเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ประจักษ์ความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ไม่ได้มีความต่างกันเลย เพียงแต่ว่า ขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ก็เข้าใจว่าเสียงดับ แล้วก็สภาพธรรมอื่นก็เกิดสืบต่อ แต่ในขณะที่เป็นสมสนญาณ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไปๆ จะปรากฏสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ลองเทียบดู ขณะนี้เข้าใจว่าเสียงดับ แล้วก็สภาพธรรมอื่นเกิด แต่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณก็ประจักษ์เร็วขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วก็รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อในขณะนั้นด้วย

    สำหรับความต่างกันของนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นวปัสสนาญาณที่ ๑ และปัจจยปริคหญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๒ และสมสนญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนญาณที่ ๓ แม้ว่าจะเป็นการแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวาร แต่ว่าในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ เพียงแทงตลอดในลักษณะที่เป็นนามธรรม ซึ่งไม่เคยประจักษ์แจ้งว่า ธาตุรู้เป็นแต่เพียงอาการรู้ โดยที่ไม่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใด ในขณะนั้นปรากฏร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้น ก็ใส่ใจเฉพาะในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ ทีละอย่าง แต่ไม่ใช่หมายความว่าเพียงอย่างเดียว แล้วแต่ว่า ในขณะนั้น วิปัสสนาญาณ จะเกิดนานหรือว่ามากน้อยแค่ไหน

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๒ คือปัจจยปริคหญาณ สามารถที่จะแทงตลอดถึงปัจจัยที่เกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว เช่นในขณะที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว ทันทีที่จิตคิดก็มีเสียงปรากฏอย่างรวดเร็วที่สุด นั่นคือการประจักษ์ในสภาพที่เป็นปัจจัยของเสียงที่เกิดขึ้นเพราะจิตที่คิด โดยที่ว่าไม่ต้องคำนึงว่าจะพูดอย่างไร จะคิดอย่างไรเลย จะมีสภาพที่ปรากฏ โดยความเป็นอนัตตา ที่ทันทีที่คิด เสียงนั้นก็ปรากฏเลย นั่นเป็นลักษณะของปัจจยปริคหญาณ

    สำหรับสมสนญาณ ถ้าเป็นการที่สามารถประจักษ์ในการเกิดขึ้นและดับไป ใส่ใจในการเกิด และดับของแต่ละลักษณะที่สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สำหรับสสนญาณ ก็ละความยึดถือว่าเราหรือของเราได้ ด้วยกลาปสมสนญาณ ที่พิจารณาเห็นรูปกลาป และกลุ่มของนามที่เกิดดับสืบต่อกันใจขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ตอนแรกที่ภามว่า ถ้าสติยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง แล้วก็นามรูปปริจเฉทญาณจะไม่เกิด ไม่ต้องเป็นข้อกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เรื่อง ๖ ทาง หรือยังไม่ใช่ ๖ ทาง หรือว่าเริ่มจะเป็น ๖ ทางแล้ว ขอเพียงแต่ว่า ให้เข้าใจจริงๆ ก่อน ว่าสิ่งที่เคยเข้าใจก่อนการศึกษานี้ เข้าใจผิด คือเข้าใจว่ามีเรา แล้วก็เข้าใจว่าเป็นตัวเรา เป็นตัวตน แต่เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่า ไม่มีเราเลย แต่ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่นั้นเป็นขั้นการฟัง แล้วก็เป็นขั้นเข้าใจ แต่ว่าสภาพที่เป็นธรรมจริงๆ ยังไม่ได้ประจักษ์

    เพราะเหตุว่าขั้นของการเข้าใจนี้ เป็นขั้นหนึ่ง ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นสุตมยญาณ คือญาณอันสำเร็จแต่การฟัง ๑ และปัญญาในการฟังธรรม แล้วสังวรไว้ เป็นศีลมยญาณ คือญาณอันสำเร็จมาแต่ศีล คือการประพฤติ ๑ เมื่อฟังแล้ว ยังจะต้องสังวรที่จะประพฤติ ที่จะพิจารณา นั่นคือศีลมยญาณ ก่อนที่จะถึงภาวนามยญาณ เพราะฉะนั้น ฟังให้เข้าใจจริงๆ ขณะนี้เป็นธรรมทุกขณะทุกอย่าง ทุกลักษณะ ไม่ใช่เรา จนกว่าปัญญาในการสำรวมแล้ว ตั้งไว้ดี เป็นภรวนามยญาณ คือญาณอันสำเร็จจากการอบรมเจริญ

    ผู้ที่ได้ฟังคำว่านามรูปปริจเฉทญาณ ก็ทราบว่าปัญญาขั้นนี้เป็นขั้นประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ขั้นฟัง ไม่ใช่ขั้นคิด ไม่ใช่ขั้นพิจารณา แต่ลักษณะของนามธาตุ หรือว่าสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้นี้ ขณะนั้นไม่มีความสงสัย เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นปรากฏให้รู้ทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น การที่จะเกิดปัญญาขั้นนั้นได้ ต้องมีเหตุ ธรรมทุกอย่างต้องไหลมาจากเหตุ ต้องมีเหตุเป็นแดนเกิด แม้แต่นามรูปปริจเฉทญาณ ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ผลก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องข้ามขั้น หรือว่าไม่ต้องไปคิดถึง ต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร

    เพียงแต่ว่าขณะนี้ได้ฟังว่ามีสภาพธรรม ๒ อย่าง คือนามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้อย่างหนึ่ง แล้วก็สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สภาพรู้ เพียงเท่านี้ แล้วก็มั่นคงจริงๆ ที่จะเข้าใจ ในขณะที่เห็น เป็นอาการรู้อย่างไร เป็นลักษณะรู้อย่างไร เป็นธาตุรู้อย่างไร ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่คิดนึก แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปเรียงทีละทวาร หรือว่าต้องไปคอยกำหนดว่าทาวรนี้รู้แล้ว ทวารนั้นยังไมู้ แต่ไม่ว่าสติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมขณะใด เริ่มศึกษา คือสังเกตที่จะเข้ถึงอรรถที่ไม่ใช่เรา ที่กำลังเห็นไม่ใช่เรา ที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่เรา ที่กำลังกระทบสัมผัส แต่ว่าเป็นเพียงลักษณะของธาตุรู้

    ไม่ต้องคำนึงถึง ๖ ทวาร แต่ว่าให้มีความมั่นคง มีความมั่นใจจริงๆ ในการสังเกตลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วก็เริ่มชินกับลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แล้วเมื่อเหตุสมควรแก่ผล นามรูปปริจเฉทญาณก็เกิด ช่วงขณะที่นามรูปปริจเฉทญาณที่เกิด ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้งหมด เพราะเหตุว่า ในขณะนี้สภาพนามธรรมและรูปธรรมกำลังปรากฏ หรือเกิดขึ้น เพียงเท่านี้ ที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้ง แล้ววันพรุ่งนี้ แล้ววันต่อไป แล้วชีวิตขณะอื่น ซึ่งมีความสับสน มีเหตุปัจจัย มีเหตุการณ์ที่จะให้นามธรรมแต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละชนิดเกิดขึ้น ปัญญาจะต้องพิจารณา จนกระทั่งเพิ่มความรู้ชัดขึ้นอีก แต่ในขั้นต้นนี้ ขอให้เข้าถึงลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นอาการู้ ซึ่งต่างกับรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้

    ถาม เรื่องปัจจยปริคหญาณ กระผมก็อยากจะขอเรียนถามท่านอาจารย์ ให้ช่วยกรุณาอธิบาย ซ้ำอีกหน่อยว่า ปัจจยปริคหญาณนี้ ที่ว่าญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามรูปนี้ หมายถึงปัจจัย ๒๔ หรือเปล่าครับ

    อ.สุ ปัจจัยใน ๒๔ ตามความสามารถของปัญญาที่จะรู้ได้ในขณะนั้น ปัจจัย จะไม่พ้นจาก ๒๔ ปัจจัยเลย แต่ว่าขณะนั้นมีความสามารถที่จะรู้ลักษณะของปัจจัยใด ก็รู้ในลักษณะของปัจจัยนั้นทางมโนทวารด้วย จึงจะเป็นการประจักษ์แจ้ง เพราะเหตุว่า ปัจจยปริคหญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งสภาพของปัจจัย ที่ทำให้สภาพธรรมในขณะนั้นปรากฏทางมโนทวาร

    ถาม สมมติว่าขณะที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็รู้จักขุวิญญาณ คือนามเห็นนี้ รู้เป็นนามรูปปริจเฉทญาณทางจักขุทวาร ในขณะนั้น สมมติว่าปัจจปริคหญาณเกิดแล้วนี้ ปัจจัยอะไรที่รู้ตอนที่ ขณะที่รู้นามรูปทางตา มีปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นปัจจยปริคหญาณ

    อ.สุ ต้องรู้ว่าเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น แล้วก็ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเห็นไหม

    ถาม ไม่เห็น

    อ.สุ ดูเหมือนธรรมดาที่สุดเลย แต่ว่าพิจารณาได้ในขณะนี้ว่า ถ้ารู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ แล้วก็สภาพรู้ที่เห็น รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย มิฉะนั้นแล้ว ก็จะไม่ได้ใช่ไหม ว่าขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะสมบูรณ์ขึ้นแต่ละขั้นๆ จะต้องสืบเนื่องติดต่อกัน คือนามรูปปริจเฉทญาณ ยังไม่เกิด ปัจจยปริคหญาณเกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เพยงขั้นการพิจารณา ว่าขณะที่เห็นนี้ ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนี้จึงมีธาตุที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือกำลังเห็น

    ถาม อย่างนั้น ที่เรียกว่ารู้ปัจจยปริคหญาณ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจำแนกชื่อว่า ปัจจัยอะไรบ้าง อย่างนั้นใช่ไหม ไม่ต้องไปจำแนกอย่างนั้นใช่ไหม

    อ.สุ ไม่ต้องเลย แต่หมายความว่าลักษณะของความเป็นปัจจัยนั้น ปรากฏให้ปัญญารู้ ว่าสิ่งนี้เกิด เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ถาม เพราะมีสิ่งที่ปรากฏทางตา จึกขวิญญาณจึงเกิด

    อ.สุ เช่นเดียวกับขณะที่ได้ยิน ใช่ไหม ถ้าพิจารณารู้ว่า ขณะที่ได้ยินนี้เป็นสภาพรู้ กำลังได้ยินนี้เป็นสภาพรู้ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า เพราะเสียง สภาพรู้คือได้ยินจึงเกิด

    นี่คือความต่างกันของแต่ละทวาร เพราเหตุว่านามธรรมแต่ละทวารนี้ไม่เหมือนกัน ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก เพราะฉะนั้น แต่ละชาติที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะเห็นพระมหากรุณาคุณจริงๆ แล้วก็จะได้ประจักษ์ในการที่ว่า เป็นญาณจริงๆ ที่มีโอกาสได้ฟังเรื่องของสัจจะ คือความจริง เรื่องของการเห็น ของการได้ยิน และนี่คือการสะสม แม้แต่ธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ฟังไปเถอะ จะคิดจะพิจารณาอย่างไร ก็ยังดี เพราะเหตุว่ายังเป็นการสะสมเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่จะให้เข้าใจถูกต้อง

    สำหรับวิปัสสนาญาณขั้นต้น ขั้นที่ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความแยกขาด ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แม้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ ก็ละสักกายทิฏฐิ แต่ไม่ใช่เป็นสมุจเฉท หมายความว่า ในขณะนั้น สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ รวมกันเป็นก้อน เป็นแท่ง หรือว่าเป็นตัวตน แต่ว่าจะปรากฏเฉพาะลักษณะของนาม และรูปทีละลักษณะ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นละสักกายทิฏฐิ

    วิปัสสนาญาณที่ ๒ คือปัจจยปริคหญาณ เป็นการประจักษ์แจ้ง ปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมเกิดปรากฏ เพราะเหตุว่า เมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ทางมโนทวาร เวลาที่ปัจจยปริคหญาณเกิด ในขณะนั้น จะใส่ใจรู้ถึงลักษณะความเป็นปัจจัยของนามธรรม หรือรูปธรรม ที่เกิดในขณะนั้นด้วย เพราะเหตุว่า ลักษณะของนามมีหลายอย่าง เช่นได้ยิน ทันทีที่เกิดขึ้น ก็รู้ว่าลักษณะนี้มีปัจจัยคือเสียง เวลาที่กลิ่นปรากฏ สภาพของนามธรรมที่รู้กลิ่นปรากฏทางมโนทวาร ปัญญาขณะนั้น ก็รู้ปัจจัยของสภาพที่รู้กลิ่น ที่เกิดปรากฏในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ปัจจยปริคหญาณนี้ เป็นขณะที่รู้ปัจจัยของสภาพที่เกิด ประจักษ์แจ้งในปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นปัจจยปริคหญาณ ละความเห็นผิดว่าไม่มีเหตุ และการที่เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุอันควรที่จะให้เกิด ของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ก็รู้ด้วยว่า สภาพธรรมซึ่งไม่มีแล้วเกิดมีขึ้นเพราะเหตุ จะไม่ใช่ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม นามธรรมแต่ละลักษณะ รูปธรรมแต่ละลักษณะ เหมือนอย่างนามรูปปริจเฉทญาณ แต่ว่าปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่พิจารณาทันที รู้แจ้งทันที ในลักษณะของปัจจัย ที่ทำให้สภาพนาธรรมนั้นๆ ต่างกัน

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๓ สมสนญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับสืบต่อกันของนามธรรม และการเกิดดับสืบต่อกันของรูปธรรม อย่างรวดเร็ว ทางมโนทวาร เพราะขณะนี้นามธรรมและรูปธรรม นามธรรมก็เกิดดับสืบต่อหันอย่างรวดเร็ว รูปธรรมก็เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สมสนญาณ ละความยึดถือว่าเรา หรือของเรา ได้ด้วยกลาปสมสนญาณ เพราะว่าเป็นญาณที่ประจักษ์รูปกลาป และสภาพของนามธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันในขณะนั้น

    เวลาที่เกิดปวดเมื่อย จะรู้ได้ไหมว่าเพิ่มขึ้นๆ เวลาที่จะประจักษ์ลักษณะสภาพการเกิดของเวทนาทางมโนทวาร ซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้ง ก็สามารถที่จะประจักษ์สภาพที่เกิดดับๆ ๆ สืบต่อเพิ่มขึ้นได้ ตามปกติตามความเป็นจริง โดยสภาพที่ไม่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน หรือเป็นเรา หรือเป็นของเรา นั่นจึงจะเป็นสมสนญาณ

    ซึ่งทั้ง ๓ ญาณนี้ ยังเป็นตรุณวิปัสสนา เพราะเหตุว่า แม้ในขณะนั้นก็ยังมีการตรึกถึงลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนั้นด้วยได้

    มีข้อสงสัยไหม หรือว่าเป็นเรื่องกาลข้างหน้า ซึ่งการรู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมจะต้องมี จากการที่สติเริ่มระลึกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไปเรื่อยๆ แต่ว่าจะต้องสังเกตจนเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่าระลึกเฉยๆ แต่ในขณะที่กำลังระลึกนั่นเอง ศึกษาเพื่อที่จะแยกรู้ชัด ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

    บางท่านก็เข้าใจว่า เวลาที่พิจารณาว่า นามนี้เกิดเพราะรูปนั้น หรือว่ารูปนั้นเกิดเพราะนามนี้ เป็นปัจจยปริคหญาณ ซึ่งความจริงนั่นเป็นแต่เพียงขั้นคิด ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง จนกว่านามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดแล้ว ต่อจากนั้น ความสมบูรณ์ของปัญญา จึงจะเป็นปัจจยปริคหญาณได้ หรือแม้แต่การที่จะสามารถประจักษ์แจ้ง การเกิดดับสืบต่อกัน ของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสมสนญาณ ก็ต้องหลังจากที่นามรูปปริจเฉญาณ และปัจจยปริคหญาณ เกิดเสียก่อน ถ้าทั้ง ๒ ญาณยังไม่เกิด สมสนญาณก้เกิดไม่ได้

    และสำหรับสมสนญาณที่เป็นวิปัสสนาญาณ ทั้งหมดต้องประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น เมื่อปัญญาที่สะสมเหตุสมควรแก่การที่จะประจักษ์ ลักษณะที่เกิดดับสืบต่อกัน ของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นไม่มีการที่จะต้องคิดไตร่ตรอง หรือว่าคาดหวัง หรือตระเตรียม เพราะเหตุว่าสภาพธรรม แม้วิปัสสนาญาณ ก็เป็นอนัตตา ทันทีที่สติเกิด หรือว่าขณะนั้น ความสมบูรณ์ของปัญญา ที่ได้อบรมมาแล้ว ก็ทำให้มโนทวารวิถีเกิดปรากฏ ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสิบต่อกัน ถ้าเป็นรูป ก็จะประจักษ์ในรูปกลาป ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน อย่างแข็งนี้ ก็จะประจักษ์การเกิดดับๆ ๆ ของแข็ง หรือว่านามธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็สามารถที่จะรู้ได้ด้วยสมสนญาณ

    แต่ทั้ง ๓ วิปัสสนาญาณนี้ ยังเป็นตรุณวิปัสสนา เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณขั้นต่อไป คืออุทยัพพยญาณ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    25 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ