ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 07


    ตลับที่ ๔

    และโมหะก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุเจตสิกเพียงเหตุเดียว ก็เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน โดยลักษณะของโมหเจตสิก เมื่อไม่ประกอบด้วยโลภะ ไม่ประกอบด้วยโทสะ ก็ไม่เป็นอธิปติ โมหมูลจิตจึงไม่มี แม้จิตตาธิปติ และสำหรับวิมังสาธิปติก็ไม่เกิดกับโมหมูลจิตเลย คือไม่เกิดกับอกุศลจิต ทุกประเภท

    สำหรับวิบากจิต ก็ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า โลกียวิบากทั้งหมด ไม่มีอธิปติ ไม่มีสหชาตาธิปติปัจจัย แต่โลกุตตรวิบากมีสหชาตาธิปติปัจจัย

    สำหรับกิริยาจิต ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เป็นจิตของพระอรหันต์ สำหรับกิริยาจิตที่เป็นชวนจิต ต้องเป็นของพระอรหันต์เท่านั้น ปุถุชนจะไม่มี กิริยาจิตที่เป็นชวนจิตเลย เพราเหตุว่า สำหรับปุถุชน เห็นแล้วเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แต่ไม่ใช่เป็นมหากิริยา เพราะฉะนั้น กิริยาจิตที่เป็นชวนจิต จึงเป็นของพระอรหันต์เท่านั้น

    สำหรับกิริยาจิตที่เป็นชวนจิต ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ มี ๑ ดวง คือ

    หสิตุปปาทจิต เป็นจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ทำให้เกิดการยิ้มแย้มเพียงเล็กน้อย สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ เวลาที่เกิดโสมนัสยินดี เป็นปัจจัยให้รูปปรากฏ เป็นลักษณะของการยิ้มและการหัวเราะขึ้น

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังก็ยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ทราบเลยว่า ในขณะนั้นยิ้มเพราะจิตอะไร หรือถ้าเป็นหัวเราะ อาจจะทราบได้ใช่ไหม ว่าหัวเราะเพราะจิตอะไร ทราบได้ไหม ปกติที่หัวเราะเพราะจิตอะไร กุศลจิตหรืออกุศลจิต อกุศลจิตเป็นโลกมูลจิต

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าจิตที่จะทำให้เกิดการยิ้มหรือการหัวเราะ ต้องเป็นจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ถ้าขณะนั้นจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ จะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดหัวเราะ หรือยิ้ม เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่ยิ้ม หรือหัวเราะ เวทนาในขณะนั้นเป็นโสมนัสเวทนา สติปัฏฐานเกิดได้ไหมขณะที่ยิ้ม หรือหัวเราะ ไม่มีใครไปบังคับว่า อย่าเกิด หรือเกิดไม่ได้ ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐานแล้วต้องไม่ยิ้ม ต้องไม่หัวเราะ สติเป็นอนัตตา การยิ้ม ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิดขึ้น แล้วในขณะที่ยิ้มแล้วสติเกิด สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของโสมนัสเวทนาได้ ในขณะนั้น หรืออาจจะรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใด หรือนามหนึ่งนามใด ก็ได้

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะบังคับว่า โสมนัสเวทนาอย่าปรากฏ ความดีใจอย่าปรากฏ ความสนุกสนานรื่นเริง อย่าปรากฏ ในขณะที่กำลังสนุก ลักษณะสภาพที่เป็นโสมนัส หรือความรู้สึกสนุกสนานปรากฏ เมื่อปรากฏแล้ว สติย่อมสามารถที่จะระลึกรู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของความรู้สึกชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังดีใจ เพลิดเพลิน หรือว่าสนุกสนานในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ก็ยิ้มด้วยจิต ที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ที่เป็นมหากุศลโสมนัส ๔ ดวง ได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ๒ ดวง และมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ๒ ดวง และยิ้มด้วยโลภมูลจิต ที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ ดวง คือเกิดร่วมกับทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๒ ดวง ทิฏฐิคตวิปยุตต์ ๒ ดวง

    ในวันหนึ่งๆ ที่ยิ้ม ให้ทราบว่า เพราะโสมนัสเวทนาเกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต เวลาที่กำลังเพลิดเพลินในธรรม ซาบซึ้งผ่องใส เบิกบานในกุศล ที่กำลังประกอบ กำลังกระทำอยู่ หน้าตาจะปรากฏ เป็นลักษณะที่ยิ้มแย้มได้ไหม ในขณะนั้นเป็นมหากุศล ซึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แล้วแต่ว่าจะเป็นญาณสัมปยุตต์ หรือว่าญาณวิปปยุตต์

    สำหรับสหชาตาธิปติปัจจัย ยังมีข้อสงสัยไหม จิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวง แต่ที่จะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย ไม่ใช่ทั้ง ๘๙ ต้องเป็นจิตที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นชวนจิต และต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ เหตุ แม้ว่าจิตนั้นจะเป็นชวนจิต แต่ถ้าประกอบด้วยเหตุเดียว ก็ไม่มีสหชาตาธิปติปัจจัย และถึงแม้ว่าจะเป็นชวนจิต แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย เช่นหสิตุปปาทจิต จิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้มของพระอรหันต์ ในขณะนั้นก็ไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย

    เจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม ได้

    เจตสิกอะไรเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก ปัญญาเจตสิก

    รูปเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม ไม่ได้เลย

    นิพพานเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม ไม่ได้ เพราะเหตุว่า สหชาตาธิปติปัจจัย หมายความถึงนามธรรมที่เกิดร่วมกัน ได้แก่จิต และเจตสิก ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีปัจจัย ทำให้จิตและเจตสิกเกิดร่วมกันก็จริง แต่ในบางกาละ ในบางครั้ง สภาพธรรมบางอย่างในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นหัวหน้า ซึ่งสภาพธรรมที่จะเป็นหัวหน้า เป็นอธิบดี เป็นใหญ่ได้ ได้แก่สภาพธรรมเพียง ๔ อย่างคือ สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ๓ ได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสกิ ปัญญาเจตสิก และสภาพธรรมซึ่งได้แก่ ชวนจิต ๕๒ ดวง

    มีอะไรสงสัยบ้างไหม ในเรื่องของสหชาตาธิปติปัจจัย

    ธงชัย. ผมเสียดายที่ไม่ได้มาฟังคราวที่แล้ว เรื่องปัจจัย ความจริงผมได้ฟังมาเสมอๆ เวลาที่ไปฟังพระสวดอภิธรรม พอถึงปัจจัย พอฟังได้ค่อยข้างจะชัดเจน เราจะได้ยินคำว่าวิปากปจฺจโย อาหารปจฺจโย กมฺมปจฺจโย ผมเองก็รู้สึกว่า ตอนที่เรามีชีวิตอยู่ เราก็ไม่ค่อยได้ศึกษาพระอภิธรรม แต่ว่าพอตายไปแล้ว จึงจะมีคนมาสวดให้เราฟัง รู้สึกจะไม่เป็นประโยชน์แก่เราเลย ผมเองก็ฟังอาจารย์บรรยายมาหลายปีแล้ว ฟังทีไรก็เกิดความเลื่อมใส ว่าอาจารย์สามารถเอาธรรม ซึ่งอยู่ในพระอภิธรรม อยู่ในตำรามาอธิบาย ว่าความจริงสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ผมเองผมก็รู้สึกเลื่อมใส รู้สึกว่าผมเองจะมีฉันทะในการเผยแพร่ธรรม ดังที่อาจารย์ว่า บางคนอาจจะมีฉันทะในอะไรต่างๆ กัน ผมรู้สึกว่า ผมมีความพอใจในการจะเผยแพร่ธรรมของอาจารย์ และผมก็พยายามทำอยู่

    อ.จ. ก็ขออนุโมทนาที่ท่านเห็นประโยชน์ว่า สำหรับเรื่องของปัจจัยทั้งหลาย ไม่ควรจะเป็นหลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว จึงค่อยฟัง หรือได้ยิน แต่ควรจะเป็นการศึกษา ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ให้เข้าใจว่า สิ่งที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด แท้ที่จริงแล้ว คือทุกขณะในชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่ได้ยินได้ฟังเลย เราก็ไม่รู้เท่านั้นเอง ว่าในขณะนี้การกระทำนี้ โดยเห-ตุปัจจัย หรือว่าโดยอธิปติปัจัย เพราะเหตุว่า ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า สำหรับเวลาที่โลภเจตสิกเกิดขึ้น ทำให้จิตเป็นโลภมูลจิต นอกจากจะทำให้จิตและเจตสิกเกิดแล้ว โลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุนั้น ยังทำให้รูปเกิดร่วมด้วย และสำหรับทางฝ่ายอโลภะ อโทสะ ก็เช่นเดียวกัน เวลาที่เกิดขึ้น นอกจากจะทำให้จิต เจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดขึ้น เป็นไปในกุศลทั้งหลายด้วย และในขณะที่จิตเจตสิกเกิดขึ้นเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้างนั่นเอง สภาพธรรมใดเป็นอธิปติ เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าในขณะนั้นก็ล้วนแต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทั้งสิ้น

    ทรง.ก. เรื่องพระอภิธรรมนี้ ฟังแล้วจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ก็ยังเป็นประโยชน์ ขอให้มีโอกาสได้ฟัง แล้วเป็นประโยชน์ จะมีชีวิตอยู่ หรือตายไปแล้ว แม้แต่กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ฟังภาษาคนรู้เรื่องที่ไหน แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ เช่นค้างคาวในถ้ำ ได้ฟังพระท่านสวดอภิธรรม ตายไปก็ยังได้ไปเกิดในสวรรค์ ชาติสุดท้ายก็ยังได้มาเกิดเป็นลูกศิษย์ของท่านพระสารีบุตร เป็นพระที่ทรงพระอภิธรรมมาตลอดด้วย นี่ก็คือประโยชน์ แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน

    อ.จ. มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านก็บอกว่า ท่านรู้สึกว่าการฟังของท่านสับสน เพราะเหตุว่า เป็นเรื่องของสติปัฏฐาน แล้วก็เป็นเรื่องจิต เป็นเรื่องเจตสิก บางครั้งก็มีเรื่องรูปด้วย แล้วก็มาถึงเรื่องของปัจจัย รู้สึกว่าเป็นการยากสำหรับท่าน เพราะเหตุว่า ท่านอาจจะไม่คุ้นเคยกับการที่จะศึกษาธรรมในแบบต่างๆ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว มักจะศึกษาตามนัยของอภิธรรมมัตถสัคหะ ซึ่งรจนาโดยท่านพระอนุรุทธาจารย์

    โดยที่ท่านประมวลจิตทั้งหมด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นปริจเฉทที่ ๑ และเจตสิกทั้งหมดเป็นปริจเฉทที่ ๒ ตลอดไปจนกระทั่งถึงปริจเฉทที่ ๙

    แต่ว่าสำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จุดประสงค์ในการบรรยาย เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรม เพื่อที่จะเห็นสภาพความเป็นอนัตตาของธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อได้พูดถึงเรื่องจิตบ้าง เจตสิกบ้างเล็กน้อย เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังเห็นสภาพที่เป็นอนัตตาจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จึงได้กล่าวถึงเรื่องของปัจจัย เพราะเหตุว่า การที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัย คือสภาพธรรมที่อิงอาศัย อุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะเหตุว่า สภาพธรรมที่เป็นอนัตตานั้น ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นตามใจชอบได้ แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วสำหรับปัจจัยทั้งหมด มีโดยประเภทใหญ่ๆ ๒๔ ปัจจัย

    เป็นส่วนที่ยากที่สุดของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะเหตุว่า ในขณะนี้เอง จิตของแต่ละบุคคลเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว แล้วดับไปอย่างรวดเร็ว ทันที ยังไม่มีใครประจักษ์ในความเกิดขึ้น และดับไปของจิตดวงที่ดับแล้ว หรือที่กำลังดับอยู่ในขณะนี้ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้รู้ความจริง หรือความชัดเจตของจิต ซึ่งเกิดแล้วดับเมื่อครู่นี้ เมื่อก่อนนี้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีอะไรเป็นปัจจัย แต่ว่าพระผู้มีพระภาค แม้ว่าจิตจะเกิด – ดับอย่างรวดเร็ว คือเพียงเกิดขึ้น ขณะเดียวแล้วก็ดับไป ทรงตรัสรู้สภาพที่เป็นปัจจัย ซึ่งทำให้จิตดวงนั้นเกิดขึ้น และทำให้จิตดวงต่อๆ ไป เกิดขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัยเป็นส่วนที่ยากที่สุด จึงได้ขอกล่าวถึงเรื่องของปัจจัยก่อน เพราะเหตุว่า ถ้าจะรอจนถึงปริจเฉทที่ ๘ ก็จะเป็นเวลาที่นานมากทีเดียว และสำหรับการที่จะกล่าวถึงปัจจัย ในตอนต้นนี้ ก็จะไม่กล่าวถึงโดยละเอียด เพียงแต่จะแสดงความเป็นปัจจัย เท่าที่ท่านผู้ฟังจะสามารถพิจารณาได้ เมื่อกล่าวถึงจิตและเจตสิกนั้นๆ

    เพราะเหตุว่า ข้อความในอรรถกถามีว่า “แม้ว่าผู้นั้นจะมีอายุยืนยาวนานสักเท่าไรก็ตาม และพูดถึงแต่เฉพาะเรื่อง ของปัจจัยอยู่เรื่องเดียวนี้ ตลอดชีวิตก็ยังไม่จบ เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัยเป็นเรื่องที่จะแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมโดยละเอียด แต่ว่าสำหรับในตอนต้น จะกล่าวถึงเพียงเพื่อให้เป็นปัจจัยให้รู้ในความเป็นอนัตตาของนามธรรม และรูปธรรม ในชีวิตประจำวันเท่านั้น

    ไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่า ในเรื่องนี้

    พระภิกษุ เจริญพรอาจารย์ อาตมาภาพฟังอยู่ทางชัยนาท อำเภอมโนรมย์ มีความสงสัยเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะอาตมภาพเผยแพร่

    อยู่ในแนวทางนี้เหมือนกัน โยมๆ ปฏิบัติไป แล้วอาตมาก็กระทำไปด้วย อยากจะถามโยมอาจารย์ว่า ในขณะที่ตาเห็นสี สติระลึกรู้สี อย่างนี้ชื่อว่าระลึกรู้รูปใช่หรือไม่ใช่

    อ.จ. ต้องหยั่งลงถึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เจ้าค่ะ

    พระ. ก็หมายความว่า ลักษณะที่ปรากฏทางตานั้น ไม่เฉพาะสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ในขณะที่ลักษณะนั้นปรากฏทางตา สติระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏทางตานั้น ขณะนั้นอาตมาขอทราบชัดๆ ว่า เป็นการที่ว่าระลึกรู้ตรงรูปลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นใช่ไหม อาตมาสงสัยเท่านี้ ที่มา

    อ.จ. ขณะที่เริ่มพิจารณารู้ว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏได้ทางตา ในขณะนั้นเป็นการน้อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ปรากฏทางตา ตามความเป็นจริง จนกว่าลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะปรากฏจริงๆ ว่าไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งใดๆ เลย ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    พระ. เฉพาะทางตา เป็นสิ่งที่เข้าใจยากมากทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พอจะทำความเข้าใจได้ ส่วนทางตานี้ การสะสมคืออนุสัยสะสมทีละเล็ก ละน้อย จนเห็นทีไร เพิกถอนได้รู้สึกว่ายากมาก

    อ.จ. เพราะเหตุว่า สภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นอนัตตา ต้องเป็นอนัตตาจริงๆ จะเป็นอนัตตาเพียงตัวหนังสือ หรือว่าเป็นอนัตตาแต่เพียงชื่อไม่ได้ แต่เมื่อสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องหมายความว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละอย่าง ซึงปรากฏแต่ละทาง

    สำหรับทางตา ต้องทราบจริงๆ ว่า เมื่อเห็นแล้ว มีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานแน่นอน จึงปรากฏเป็นคน หรือเป็นวัตถุ หรือเป็นสิ่งต่างๆ ถ้าเพียงเห็น แล้วไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน จะปรากฏเป็นคนแต่ละคน หรือเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ลองดู เพียงชั่วขณะที่หลับตา แล้วลืมตาทันทีชั่วขณะเดียว ชั่วขณะเดียวที่ลืมตาขึ้นมาแล้วหลับไป จะบอกได้ไหมว่าเห็นอะไร เห็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน

    เพราะฉะนั้น ทางตาหลังจากที่วิถีจิตเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นอย่างรวดเร็ว มโนทารวิถีเกิดต่อทันที ไม่มีใครไประงับยับยั้งการเกิดต่อ ของมโนทวารวิถีได้ นี่เป็นเหตุที่ทำให้ดูเสมือนปรากฏว่า เห็นคนกำลังนั่ง กำลังยืน กำลังนอน กำลังเดิน หรือว่าเห็นวัตถุสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ

    ถ้าเพียงแต่ทางมโนทาวารวิถีจิต ไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐานเท่านั้น จะไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น บางครั้งท่านผู้ฟังเห็น แต่ไม่ชัด ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เคยมีไหมอย่างนี้ แสดงว่าทางมโนทวาร ไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้น จึงไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร หรือบางทีก็เห็นรูปร่างสัณฐาน แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร จนกว่าจะสัมผัสกระทบ หรือว่าหยิบขึ้นมาพิจารณาดู จึงจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ตามความเป็นจริง ทางตาเพียงเห็นเท่านั้น ทางตาจะให้รู้ไม่ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเห็นแล้ว บางอย่างยังต้องสัมผัส ยังต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาดู จนกว่าจะแน่ใจว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ซึ่งในขณะที่กำลังพิจารณาถึงรูปร่างสัณฐาน ส่วนละเอียดนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่จิตเห็นทางตา เพราะฉะนั้น สำหรับทางตาเพียงเห็น แล้วก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจริงๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ว่าปัญญาจะต้องอบรมเจริญ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในสภาพ ที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย ต้องไม่เว้น

    ทางตาก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา

    ทางหูก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา

    ทางจมูกก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา

    ทางลิ้นก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา

    ทางกายก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา

    ทางใจก็ต้องปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่ว่าปัญญาจะสามารถประจักษ์แจ้ง โดยที่ไม่อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะ ของสภาพธรรม ซึ่งเป็นเพียงนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ ในขณะนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ที่ปัญญาจะรู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ ก็เพราะสติระลึกได้ว่า ขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังเป็นนามธรรมที่ปรากฏ สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

    นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ถ้าในขณะนี้ยังหานามธรรมและรูปธรรมไม่พบ หาไม่เจอ การที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งว่าสภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่า รู้ว่าขณะนี้สภาพรู้ทางตา ที่กำลังเห็นทางหนึ่ง ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม ทางตาที่กำลังเห็น สภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ระลึกหรือยัง ถ้ายังไม่ระลึก เพราะเหตุว่า ระลึกยาก แต่ก็รู้ว่าขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งปัญญาจะต้องอบรมจนกว่าจะรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่มีการที่จะดับกิเลส เพราะเหตุว่า ทางตายังปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ยังไม่ใช่อนัตตา

    เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ใช่อนัตตา ก็ต้องเป็นตัวตน ยังเป็นอัตตาอยู่ ก็ดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ทั้งหมด ต้องเข้าใจว่าสภาพธรรมใดเป็นนามธรรม เพื่อสติจะได้ระลึกได้ และศึกษาจนกระทั่งเป็นความรู้ชัด แต่ในตอนต้นๆ ไม่มีใครที่สามารถจะประจักษ์แจ้งในสภาพของความเป็นอนัตตาได้ โดยรวดเร็ว ถ้าไม่เคยอบรมเจริญปัญญาในอดีตมาก่อน ถ้าคิดถึงพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงมีปัญญายอดเยี่ยม ก็ยังอบรมพระบารมีถึงสี่อสงขัยแสนกัปป์ ไม่ได้เป็นพระโสดาบันในชาติใดชาติหนึ่งมาก่อนชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันวิสาขะบูชา แสดงให้เห็นว่า การอบรมปัญญาที่จะประจักษ์ความเป็นอนัตตา สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ที่จะดับกิเลส ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ขั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังต้องอบรมพระบารมีถึงสี่สงขัยแสนกัปป์

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาน้อยกว่านั้น ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญานาน เพียงแต่ว่าเมื่อไม่ปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ต้องอบรมบารมีถึง สี่อสงขัยแสนกัปป์ หรือแปดอสงสัยแสนกัปป์ หรือ ๑๖ อสงขัยแสนกัปป์ ตามประเภทของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยศรัทธา หรือวิริยะ หรือว่าด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นเรื่องที่ควรจะเริ่มอบรมไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ในขณะใด ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนี้ ก็คือการฟังพระธรรม และการพิจารณาธรรม ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่า ในเรื่องนี้

    ทรง.ก. เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ ถ้ามโนทวารวิถียังไม่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากระทบแล้ว ขณะที่พิจารณาในขณะนั้น ไม่ว่าจะพิจารณานามก็ดี รูปก็ดี คล้ายๆ กับว่า น้อมเอา หรือนึกเอาว่า นี่เป็นรูป หรือนี่เป็นนาม เพราะเหตุว่า อารมณ์ไม่ปรากฏจะรู้ได้อย่างไร ว่านี่เป็นรูปารมณ์ นี่เป็นนามเห็น เพราะฉะนั้น ในเมื่อแยกรูปารมณ์ กับจักขุปสาท จักขุวิญญาณ แยกไม่ออก เพราะเหตุว่า ไม่ปรากฏชัด เพราะฉะนั้น ที่เราพิจารณาว่า นี่เป็นรูป เป็นนาม ก็คล้ายๆ กับว่านึกเอาเท่านั้น

    อ.จ. เป็นเรื่องยากจริงๆ สำหรับการเจริญขึ้นทีละเล็กละน้อยของสติปัฏฐาน

    ทรง.ก. เวลานี้ปัญญาที่จะแยกว่า สภาพที่เป็นรูปกับ สภาพที่เป็นนาม ปัญญายังแยกไม่ออก เพราะฉะนั้น ที่ผมว่านึกเอาๆ เพราะเวลามีการรู้สึกตัว อารมณ์ทางตาปรากฏ เมื่ออารมณ์ทางตาปรากฏ มีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ก็เท่านั้น ถ้าบางครั้งน้อมไป คิดว่านี่เป็นรูป บางครั้งน้อมไปว่า นี่เป็นนามเท่านั้นเอง เวลาที่รู้สึกตัว และขณะที่น้อมไปนั้น ก็คล้ายๆ กับว่านึกเอา แต่แท้ที่จริง รูปก็ดี นามก็ดี ยังแยกไม่ออก

    อ.จ. เป็นการถูกต้องทุกประการ ที่จะต้องเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถที่จะเกิดปัญญาอย่างรวดเร็ว และประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม โดยความเป็นอนัตตาทันที อย่าลืมว่า ๔ อสงขัยแสนกัปป์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    22 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ