ปัฎฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ 08


    อย่าลืมว่า ๔ อสงขัยแสนกัปป์ หรือ ๒ อสงขัยแสนกัปป์ หรือแสนกัปป์ หรือว่า เมื่อไม่เป็นพระมหาสาวก ก็น้อยกว่านั้น แต่ไม่ใช่เมื่อวานนี้ กับวันนี้ หรือว่าเดือนก่อน กับเดือนนี้ หรือว่าปีก่อนกับปีนี้ หรือว่าชาติก่อนกับชาตินี้

    ที่น้อมไปนั้น ถูกต้องแล้ว ที่จะต้องเริ่มจากการน้อมไป โดยการคิด แต่ไม่ใช่หมายความว่าต้องคิด แล้วแต่การคิดจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ขณะใดที่ยังไม่รู้ชัด ขณะนั้นก็ยังเป็นส่วนของการน้อมด้วยความคิด เพราะเหตุว่า ยังไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่เป็นการถูกต้อง ที่จะมีการเริ่มน้อมไปสู่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าความรู้ชัด หรือการประจักษ์แจ้งจะเกิดขึ้น เพราะอาศัยการน้อมไปเรื่อยๆ จากชาติหนึ่ง ไปอีกชาติหนึ่ง ไปอีกชาติหนึ่ง เรื่อยๆ ไป

    มีใครมีวิธีที่จะทำให้พืช ที่ต้องอาศัยกาลเวลา เป็นเดือน เป็นปี ให้ดอกให้ผล ภายในวัน ๒ วันที่ปลูกได้บ้าง ก็เป็นไปไม่ได้ แล้วถ้ายิ่งเป็นปัญญา ก็ยิ่งจะเจริญยากจริงๆ

    ชาญ ขณะที่น้อมไป เป็นตัวสติที่ระลึกรู้หรือเปล่าครับ

    อ.จ. เป็นค่ะ

    สติเกิด เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่ได้ระลึกที่อื่น แต่กำลังน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ลืมใช่ไหม ว่าขณะนี้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นของจริง และจะจริงยิ่งกว่านั้น เมื่อปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่ลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่น การที่เคยมีตัวคน คือตัวเอง และมีบุคคลอื่นมากหน้าหลายตา รวมทั้งวัตถุสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ หลายแสนกัปป์ชาติมาแล้ว กับการที่จะรู้ว่า ไม่มีตัวตนเลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีวัตถุสิ่งใดๆ เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วดับ เป็นแต่เพียงรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับ เป็นรูปธรรมแต่ละชนิด ประชุมรวมกัน และเป็นนามธรรมแต่ละชนิด ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน จึงปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องอาศัยสติที่จะระลึกรู้ลักษณะ ของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง แต่ละชนิด แต่ละลักษณะ ที่กำลังปรากฏจริงๆ จริงหรือเปล่า ที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล จริงหรือเปล่า ที่เป็นนามธรรมแต่ละชนิด คือสภาพเห็นไม่ใช่สภาพได้ยิน คิดนึก หรือรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ จริงหรือเปล่าที่ว่า รูปธรรมแต่ละลักษณะ ปรากฏแต่ละทาง แล้วก็ดับไป จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ก็จะต้องให้ประจักษ์แจ้งความจริง ถึงขั้นยิ่งกว่านี้ คือประจักษ์ในสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ไม่ใช่ว่ากำลังเห็นเป็นคนแล้ว คนนี้เกิด – ดับ นั่นยังไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะของอนัตตาทางตา จนกว่าที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่คน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เท่านั้นเอง สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่อ่อนไม่แข็ง ไม่เย็นไม่ร้อน กระทบสัมผัสจับไม่ได้ เพียงเห็นได้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ อบรม จากการฟัง การพิจารณา การน้อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไปเรื่อยๆ

    พระภิกษุ อีกประการหนึ่ง ในขณะที่สติระลึกรู้ตรงเย็น ในขณะนั้นที่พูดกันว่า แยกรูป แยกนาม อาตมาเข้าใจว่า ในขณะที่สติ ระลึกรู้ตรงเย็น ที่ปรากฏ ในขณะนั้นแยกแล้ว อย่างนี้ อาตมาจะเข้าใจผิดหรือถูก

    อ.จ. ขณะที่ระลึกที่รูปที่เย็น ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นแขนเราเย็น หรือว่าตัวเราเย็น ในขณะนั้นศึกษาลักษณะที่เย็น รู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น ในขณะนั้นรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่า เป็นแต่เพียงลักษณะที่เย็น

    แต่สักกายทิฏฐิมีถึง ๒๐ คือ ยึดถือรูปว่าเป็นตน

    ยึดถือเวทนา

    ยึดถือสัญญาขันธ์

    ยึดถือสังขารขันธ์

    ยึดถือวิญญาณขันธ์

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของรูป กำลังรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพเย็น จึงไม่ใช่เรา ขณะนั้นรู้ลักษณะของรูปขันธ์ ถ้าในขณะนั้นไม่ได้อบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่รู้เย็น ขณะนั้นก็ยังเป็นเรา ซึ่งกำลังรู้รูป

    เพราะฉะนั้น กว่าการยึดถือขันธ์ ๕ จะค่อยๆ ละคลายลงไป ด้วยการรู้ลักษณะของรูป และการรู้ลักษณะของนาม ก็จะต้องพิจารณาลักษณะของขันธ์ ๕ ทั้ง ๕ ขันธ์ เพราะแม้ว่าบางครั้งกำลังพิจารณาลักษณะ ของสภาพรู้ เช่นกำลังเห็นก็ดี หรือกำลังได้ยินก็ดี เสียงปรากฏ เพราะมีสภาพรู้เสียง ขณะนั้นยังยึดถือเวทนา ความรู้สึกว่าเป็นเราได้ เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกขันธ์ ๕ ก็เพื่อที่จะให้อบรมเจริญปัญญา พิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ จนกว่าจะละคลายการยึดถือ ขันธ์ทั้ง ๕ ว่า เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่สติจะเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ควรมีได้ตลอดเวลา โดยไม่เลือกกาล หรือสถานที่ เพราะเหตุว่า ใน ขณะใดที่มีการเห็น สติระลึกได้

    ขณะใดที่มีการได้ยิน สติก็ระลึกได้

    ขณะใดที่มีการได้กลิ่น สติก็ระลึกได้

    ขณะใดที่มีการลิ้มรส สติก็ระลึกได้

    ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ขณะนี้ สติก็ระลึกได้

    ขณะที่กำลังคิดนึกต่างๆ ทางใจ สติก็ระลึกได้

    เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด แต่เมื่อไรปัญญาจะรู้ในสภาพ ที่ไม่ใช่ตัวตนของธรรม ที่กำลังปรากฏ ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็ต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง ที่กำลังปรากฏ

    ถ้าระลึกแล้ว ยังไม่รู้ จะทำอย่างไรดี จะโกรธ หรือจะอึดอัดใจ ก็เปล่าประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ว่าระลึกรู้อีก ศึกษาอีก ในขณะนั้น เป็นสัมมาวายาโม ระลึกชอบ เพียรชอบ แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรจะท้อถอย หรือหงุดหงิดรำคาญใจ เมื่อความไม่รู้สะสมมามาก กว่าความรู้จะเจริญขึ้น ก็ต้องอาศัยกาลเวลา นามมากทีเดียว

    นามธรรมนี้ เกิด – ดับอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ารู้เพียงชื่อ ว่าเป็นนามธรรม รู้เพียงชื่อว่านามธรรมนั้นเป็นสภาพรู้ ทั้งๆ ที่ลักษณะของนามธรรมแล้ว ก็เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ อยู่เรื่อยๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ที่จะให้รู้จริงๆ ว่าสภาพรู้ ต่างกับรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ก็จะต้องอาศัยการระลึกได้ในขณะเห็น ในขณะได้ยิน ในขณะได้กลิ่น ในขณะลิ้มรส ในขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ในขณะที่คิดนึก นอกจากนี้ มีหนทางอื่นไหม ท่านผู้ฟังลองพิจารณาจริงๆ ดูซิว่า จะมีหนทางอื่นไหม ถ้าอยากจะหาทางลัด หรือทางเร็ว ก็ลองพิจารณาดูว่า ยังจะมีหนทางอื่นอีกไหม นอกจากหนทางนี้ ซึ่งเป็นหนทางเดียว คือสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ แล้วศึกษา คือพิจารณาจนกว่าจะเป็นความรู้ชัด แต่ทั้งๆ ที่มีจิตเกิด – ดับ ตั้งแต่ตื่น จะกระทั่งถึงบัดนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นจิตที่รู้

    เพราะฉะนั้น สำหรับ “อารัมมณาธิปติปัจจัย” หมายความถึง สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจอย่างยิ่งของจิต อารมณ์ที่มีกำลัง ที่ประทับใจ ที่ทำให้จิตพอใจ แล้วแสวงหาหรือปรารถนาอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ที่จะทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งตั้งแต่ลืมตาตื่น ยังไม่ทราบเลยว่า โลภะส่วนใหญ่ที่เกิด – ดับ เพราะฉะนั้น จะมากสักเท่าไรในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้น จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ แต่เพราะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต บางท่านก็เลยกล่าวว่า ท่านไม่มีโลภะ เพราะเหตุว่า อารมณ์ของโลภะ ที่ไม่มีกำลังนั้น ไม่เป็นอารัมมณธิปติปัจจัย แต่ขณะใดก็ตามที่ท่านเกิดความรู้สึกว่า ท่านมีความพอใจมีความอยากได้ มีความต้องการ ในขณะนั้นให้ทราบว่า อารมณ์นั้นเป็นอารัมมณธิปติปัจจัย ทำให้จิตประทับใจ หรือว่าพึงพอใจ หรือว่าปรารถนาในอารมณ์นั้น ซึ่งในวันหนึ่งๆ มีแต่โลภะทั้งนั้น ก็ยังไม่รู้ จนกว่าอารมณ์นั้น จะเป็นอารมณ์ที่พอใจอย่างยิ่ง จึงจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้เรื่องสภาพของจิตใจในวันหนึ่งๆ ก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ ถ้าไม่ทรงแสดงเรื่องของปัจจัย ก็เป็นเรื่องที่รู้ยาก เพราะเหตุว่า โลภะมีหลายระดับ มีหลายขั้น โลภะบางๆ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นโลภะ จนกว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ ที่ปรารถนา ที่ต้องการอย่างยิ่ง จึงจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ

    สำหรับโลภมูลจิต นี้ มีมากในวันหนึ่งๆ จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้รู้เรื่องของโลภะมากๆ และรู้ว่าโลภะนั้นปรารถนาในอารมณ์ใดบ้าง มิฉะนั้น แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะละโลภะได้เลย

    สำหรับอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่พอใจอย่างยิ่ง ที่เป็นอารัมณณาธิปติปัจจัย โดยนัยของจิตแล้ว ได้แก่จิต ๘๔ ดวง เว้นจิตเพียง ๕ ดวงเท่านั้น คือเว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ และทุกขกายวิญญาณจิต ๑ ดวง

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ที่จะให้เห็นว่า โลภะเกิดมากเพียงใด มีท่านผู้ใดต้องการโทสมูลจิตบ้าง ไม่มี เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตจึงไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    มีท่านผู้ใดต้องการโมหมูลจิตบ้าง ก็ไม่มีอีก เพราะฉะนั้น โมหมูลจิตจึงไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย มีท่านผู้ใดต้องการทุกขกายวิญญาณจิต คือความไม่สบายกาย ความป่วยไข้ ความปวดเมื่อย ความทุกข์ต่างๆ ทางกาย ก็ไม่มีใครปรารถนาอีก เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สำหรับ โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง ทุกขกายวิญญาณจิต ๑ ดวง ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

    แต่สำหรับอารัมมณาธิปติปัจจัยนั้น ไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะอย่างเดียว ในชีวิตประจำวัน บางท่านเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในกุศล เพราะฉะนั้น มหากุศลจิต ๘ ก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ หรือว่าให้เกิดโลภะก็ได้

    ชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟัง ยังไม่ได้อบรมเจริญสมถะ ความสงบ จนกระทั่งฌานจิตเกิด ยังไม่มีรูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศล ชีวิตประจำวันของท่านผู้ฟัง ก็จะมีกุศลจิตบ้าง หรืออกุศลจิตบ้าง ขณะใดที่ท่านปรารถนา พอใจในกุศล ขณะนั้นกุศลเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ แต่ว่า แล้วแต่ว่า ขณะนั้น จิตซึ่งมีกุศลเป็นอารมณ์ จะเป็นมหากุศล หรือเป็นอกุศล

    นี่เป็นความละเอียดอีก มิฉะนั้นแล้ว ท่านผู้ฟังจะไม่ทราบเลย ว่าจิตของท่านในขณะนี้ เป็นกุศล หรืออกุศล ทุกท่านเคยให้ทาน เคยคิดถึงทานที่ให้ไปแล้วไหม ตามความเป็นจริง นี่กำลังจะพูดถึงเรื่องปัจจัย ที่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เคยใช่ไหม ในขณะที่ระลึกถึงทานที่ให้แล้ว ทราบไหมว่าจิตที่กำลังคิดถึงทาน ที่ได้กระทำแล้วนั้น จิตที่กำลังนึกถึงทานนั้น เป็นกุศลหรืออกุศล

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อละอกุศล แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล หรือขณะใดเป็นอกุศล ย่อมละอกุศลไม่ได้ การฟังธรรมเพื่อให้เกิดความเห็นถูก ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อดับอกุศล เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้จริงๆ ว่า ขณะจิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้านึกถึงทาน แล้วมีความสำคัญตน ในขณะนั้นเป็นอกุศล มีความรู้สึกว่าเป็นทานของเรา หรือว่าเราสามารถจะกระทำทานได้อย่างประณีต ในขณะนั้นให้ทราบว่า แม้คิดถึงทานกุศลที่ได้กระทำแล้ว แต่จิตที่มีกุศลนั้นเป็นอารมณ์ ก็ยังเป็นโลภมูลจิตได้ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ จะขัดเกลาไหม ในขณะนั้น กำลังพอใจในกุศลของตน ที่ได้กระทำแล้ว สติไม่ได้ระลึก จึงไม่รู้ว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เป็นโลภมูลจิต ประกอบด้วยความสำคัญตน ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน หรือว่าเป็นไปในศีลก็ตาม

    ท่านที่เป็นผู้รักษาศีล เคยมีความสำคัญตนว่า เราเป็นผู้มีศีล คนอื่นเป็นผู้ที่ทุศีล ในขณะนั้น แม้ระลึกถึงศีลของตน โลภมูลจิตก็เกิดได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภมูลจิต เป็นเรื่องที่มากจริงๆ และถ้าไม่รู้ในความละเอียดของโลภมูลจิตแล้ว จะไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลที่ควรละ เพราะเหตุว่า ถึงแม้จะนึกถึงกุศลประเภทต่างๆ จิตที่นึกถึงกุศลประเภทนั้นๆ ก็ยังเป็นอกุศลได้

    สำหรับโลกียกุศลทั้งหมด เป็นปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตได้ และเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ของกุศลจิตก็ได้ หรือของโลภมูลจิตได้ แต่สำหรับโลกุตตรกุศล ไม่สามารถจะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศลได้

    ท่านผู้ฟังเคยสังเกตชีวิตประจำวันของท่านไหม อะไรเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย เป็นสิ่งที่ท่านพอใจอย่างยิ่ง สิ่งที่ท่านพอใจอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เป็นกุศลหรืออกุศล มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านได้ฟังเรื่องของอารัมมณาธิปติปัจจัยแล้ว ท่านบอกว่าท่านไม่มีอารัมมณาธิปติปัจจัยที่เป็นกุศลเลย ท่านมีกุศลจิตจริง เกิดแล้วก็ดับไปแล้ว เวลาที่ระลึกถึงกุศลนั้นๆ ก็เฉยๆ ไม่เป็นเหตุให้เกิดกุศลที่ผ่องใสเกิดขึ้น แต่สำหรับทางฝ่ายอกุศล ท่านมีอารัมมณาธิปติปัจจัยทั้งนั้น เพราะเหตุว่า ท่านเป็นผู้ที่ชอบดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์ ชอบดูหนัง ชอบสนุกสนานรื่นเริง เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของท่านผู้นั้น อารัมมณาธิปติปัจจัยของท่าน เป็นอกุศล แต่ว่ากุศลไม่ได้เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของท่านเลย

    ประโยชน์คือท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า ในวันหนึ่งๆ สิ่งซึ่งท่านติดและพอใจนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะได้ละคลายทางฝ่ายอกุศล

    สำหรับรูปทั้งหมด รูปที่ดีเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยแก่โลภมูลจิต รูปที่ดีจะเป็นปัจจัยแก่กุศลจิตได้ แต่ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยให้แก่กุศลจิต ลองคิดดู ในชีวิตประจำวันซิ ว่าจริงไหม นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังไม่พิจารณา จะไม่ทราบเลยว่า จิตของท่านเป็นกุศลหรืออกุศล ในขณะที่มีรูปนั้นๆ เป็นอารมณ์ ทุกท่านชอบรูปที่ดี เป็นโลภะหรือเป็นกุศล ในขณะนั้น เป็นโลภมูลจิต เวลาที่มีรูปที่ดีแล้ว สละรูปนั้นให้บุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะเหตุว่า ท่านไม่ได้ติดในรูปนั้น เพราะฉะนั้น รูปที่ดีเป็นรูปที่มีกำลัง ทำให้เกิดความต้องการ ทำให้เกิดการแสวงหาได้ เพราะฉะนั้น รูปที่ดี เป็นที่ปรารถนา เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภมูลจิต แต่เวลาที่ท่านจะสละรูปนั้น ในขณะนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น รูปที่ดีทั้งหมด ไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล แต่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศล

    นี่เป็นชีวิตประจำวันเหมือนกัน ไม่ว่ารูปใดก็ตาม ที่ท่านแสวงหาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนั้นให้ทราบว่า จิตที่กำลังแสวงหาหรือต้องการ จะเป็นกุศลไม่ได้ ต้องเป็นอกุศล

    ท่านผู้ฟังไม่เคยคิดหรือว่า จะเป็นกุศลบ้างหรือเปล่า สำหรับการพอใจในรูป หรือการแสวงหา การต้องการในรูป อย่างเช่นพระพุทธรูป หรือพระเครื่องก็ตาม เป็นรูป เป็นวัตถุ ขณะนั้นท่านคิดว่าเป็นกุศล หรือเป็นโลภมูลจิต ถ้าเกิดความต้องการแสวงหาขึ้น พิจารณาไหม ถ้าไม่พิจารณา ก็จะไม่ทราบ คิดว่าจิตในขณะนั้นเป็นกุศลอีกแล้ว ทั้งๆ ที่สภาพธรรมแท้จริงแล้วเป็นอกุศล แต่เมื่อไม่เข้าใจความละเอียด ถ้าไม่ตรวจสอบกับเรื่องของปัจจัย จะไม่ทราบเลยว่า แท้ที่จริงแล้ว ในขณะนั้น ไม่ใช่กุศล เป็นอกุศล เมื่อเห็นพระพุทธรูป ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ในขณะนั้นเป็นกุศลจิตแน่นอน เพราะรูปเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ แต่รูปไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศลจิต

    การดับกิเลสนี่ยากไหม ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ยังไม่มีข้อสงสัยอะไรในเรื่องนี้เลยหรือ ในเรื่องที่ว่ารูปไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของกุศล แต่รูปเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยของอกุศล คือของโลภมูลจิตเท่านั้น

    อารัมมณปัจจัยหมายความถึงสิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก โดยเป็นสิ่งที่จิตและเจตสิกรู้ในขณะนั้น อารัมมณาธิปติปัจจัยหมายความถึงเป็นอารมณ์ซึ่งเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง

    ชาญ ทำไมเป็นปัจจัยแก่อกุศลจิตได้ แต่แก่กุศลจิตไม่ได้

    อ.จ. เวลาที่มีรูปเป็นอารมณ์ แล้วกุศลจิตเกิด จะมีการสละวัตถุนั้นเพื่อบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น จะมีการให้ มีการสละออก ไม่ใช่มีการติด

    ในขณะนั้นเป็นกุศลจิต ตามปกติธรรมดาทุกท่านปรารถนารูป เป็นโลภมูลจิตส่วนใหญ่ แต่ขณะใดก็ตาม ซึ่งเห็นประโยชน์ของบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น แล้วสละวัตถุนั้นให้ ในขณะนั้นจึงจะเป็นกุศล แต่ในขณะที่พอใจ หรือติด ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศล นี่ต้องรู้ก่อนว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นอารมณ์ที่ดี ที่พอใจอย่างยิ่ง ขณะนั้นอารมณ์นั้นเป็นอารัมมณาธิปติ ทำให้จิตพอใจอย่างหนักแน่น มีความต้องการ มีการแสวงหา

    เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นโลภะธรรมดาๆ ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ โลภมูลจิตเกิดนับไม่ถ้วนจริงๆ แต่ยังไม่รู้สึกว่ามีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดขึ้น ยังไม่รู้ตัวเองว่ามีโลภะ จนกว่าสิ่งที่เป็นอารมณ์นั้น เป็นที่พอใจอย่างยิ่ง อย่างหนักแน่น เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย ทำให้มีการแสวงหา หรือมีการติด ซึ่งในวันหนึ่งๆ อารมณ์อย่างนี้มีมากไหม อารมณ์ของโลภะมีอยู่เรื่อยๆ แต่บางอารมณ์เท่านั้น ที่เป็นอารัมมณาธิปติของโลภมูลจิต

    ชาญ แล้วของกุศล ไม่มีเลย

    อ.จ. เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ติดในวัตถุ หรือในรูปนั้น สามารถที่จะสละสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้ ในขณะนั้นจึงเป็นกุศล แต่เพราะสละไม่ได้ จึงเป็นอารัมมณาธิปติของอกุศล คือของโลภะ

    ชาญ ก็อารมณ์ที่เป็นอธิปติ ถ้าฝ่ายกุศล แม้มากๆ บางครั้งก็สละได้

    อ.จ. ขณะใดที่สละ ขณะนั้นเป็นกุศล มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ แต่อารัมมณธิปติ หมายความว่าเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง

    ชาญ ต่างกันเท่านี้เอง ก็เป็นอารมณ์ให้แก่จิตทั้ง ๒ ฝ่ายได้ แต่ว่าฝ่ายหนึ่งก็อาจจะเห็นประโยชน์สุขของคนอื่น ก็คงจะสละให้ได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่น่าหวงแหน ต้องเก็บ แสวงหาไว้ ก็เป็นอารมณ์ทั้งฝ่ายกุศลจิต และอกุศลจิตเช่นกัน ทำไมว่าเป็นอธิปติไม่ได้ทั้งทางกุศล ได้เฉพาะอกุศล ทางโลภะเท่านั้น

    อ.จ. เวลาที่สละให้ หมายความว่าไม่มีความผูกพัน หรืออารมณ์นั้น ไม่มีกำลังอย่างหนักแน่น ที่จะให้ติดข้องอีกต่อไป ใช่ไหม จึงสละได้ ขณะนั้นเป็นอารมณ์ของกุศลจิตที่สละ แต่ขณะใดซึ่งต้องการ แสวงหา พอใจ อย่างหนักแน่น ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นอกุศลแน่นอน

    ทรง.ก. ผมอยากจะถามว่า ท่านพระพาหิยะ ได้ฟังเพื่อนเก่าของท่านมาเตือนว่า เวลานี้พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก ทำให้ท่านมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องการพบพระพุทธเจ้า และต้องการฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า การแสวงหาของท่านพระพาหิยะนั้นเป็นอกุศลหรือเปล่า

    อ.จ. แสวงหารูปหรือแสวงหาธรรม

    ทรง.ก. ก็ทั้ง ๒ อย่างซีครับ ธรรมก็ เสียงของพระพุทธเจ้าก็เป็นรูป

    อ.จ. อยากจะได้ยินเสียงที่ไพเราะ หรืออยากจะฟังพระธรรม

    ทรง.ก. ขณะนั้นอยากจะฟังพระธรรมมากกว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 5
    22 ส.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ