ธรรมในชีวิตประจำวัน แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๓


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม ทุกคนจะทำกรรมดี เพราะเห็นโทษของอกุศลกรรม ถ้าเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในกรรมจริงๆ ซึ่งการที่จะเชื่อมั่นในกรรม ไม่ใช่ให้เราคิดถึงเหตุการณ์ยาวๆ วันหนึ่งหรือช่วงหนึ่ง แต่ทุกขณะจิตที่แตกย่อยออกมาเป็นชั่วขณะหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ไม่มีใครจะบันดาลให้เกิดได้เลย นอกจากมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เห็น ก็ต้องเป็นเพราะกรรมทำให้เห็น ได้ยินก็ต้องเป็นเพราะกรรมทำให้ได้ยิน แล้วก็เป็นกรรมของตัวเองด้วย

    เพราะฉะนั้น ช่วงหนึ่งของชีวิตก็มี ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม และอีกส่วนหนึ่งหลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว กระทบสัมผัสซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมแล้ว ก็ยังมีความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างในสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น

    เพราะฉะนั้นนี่เป็นอีกตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดกรรม ที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า

    เพราะฉะนั้น เราจะรู้เลยว่า ถ้าเห็นแล้วเกิดอกุศล ก็เป็นช่องทางที่จะทำให้อกุศลกรรมเกิดขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิดอกุศลวิบาก คือ ผลของอกุศลกรรมนั้นอีก วนเวียนไปเรื่อยๆ และเจ้ากรรมนายเวรจะอยู่ที่ไหน

    นาที ๑.๒๖

    ผู้ฟัง การปฏิบัติให้ถูกต้องหลังจากที่แต่ละท่านได้ทำกุศลแล้ว สิ่งที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ คือ การอุทิศส่วนกุศลให้ผู้มีพระคุณ และเทวดา อมนุษย์ทั้งหลาย อย่างนี้จะถูกต้องไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ากุศลมีหลายอย่าง กุศลในเรื่องทาน การให้ ไม่ใช่เฉพาะขณะให้เท่านั้น หลังจากที่ให้แล้ว เราสามารถอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้อนุโมทนา คือ ได้เกิดกุศลจิตที่ยินดีด้วย บันเทิงตามในกุศลที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ทำแล้ว ขณะที่จิตเกิดยินดีด้วย อนุโมทนา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต

    เวลาที่เราเห็นใครทำดี ถ้าเป็นคนที่ช่างริษยา ขี้อิจฉา ต่อให้คนนั้นจะทำดี แต่ถ้าเราไม่ชอบคนนั้น เราจะมองไม่เห็นเลยว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดี มีเรื่องติ มีเรื่องว่าได้สารพัด นั่นคือผู้ที่ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่อนุโมทนา ในสิ่งที่ดีที่คนอื่นทำ มองเห็นเป็นคน แล้วก็เป็นคนที่ไม่ชอบ ลืมคิดว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นการกระทำดี ซึ่งไม่ว่าใครทำก็ต้องดี เพราะว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เราให้ทานแล้ว แล้วเราก็รู้ว่า บุคคลซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว เขาอาจจะเกิดในภูมิซึ่งทุกข์ยากลำบาก เช่น เกิดเป็นเปรต ถ้าเกิดในนรก เขาก็ไม่สามารถที่จะอนุโมทนา หรือล่วงรู้ได้ ผู้ที่เกิดเป็นเปรต หรือเกิดเป็นเทพ สามารถจะเกิดกุศลจิตอนุโมทนาได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ทำกุศลแล้ว ก็ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำ เพื่อให้คนอื่นได้รู้ และอนุโมทนา แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไปส่งบุญให้เขา แล้วเขาก็ได้รับ นั่นผิด บุญอยู่ที่จิตใจของแต่ละคน บาปก็อยู่ที่จิตใจของแต่ละคน

    เพราะฉะนั้นเราใช้ คำว่า “กุศลจิต” คือ จิตที่ดีงาม “อกุศลจิต” คือ จิตที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นสิ่ง ซึ่งจะไปยกจิตของเราให้กับใคร เอาบุญอันนี้ไปให้คนอื่นไม่ได้ ของใครก็ของคนนั้น จิตใครก็จิตของคนนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าคนนั้นรู้แล้วไม่อนุโมทนา ต่อให้เราบอกว่า “ขอจงมีจิตโสมนัส ยินดี อนุโมทนา” เมื่อคนนั้นไม่อนุโมทนา กุศลจิตเขาไม่เกิด แล้วเราจะเอาบุญของใครไปให้ บุญไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบ ยื่น ยกให้ใครได้ แต่เป็นเรื่องจิตของคนนั้น ขณะที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นสภาพจิตที่ดีงามจึงจะเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น การอุทิศส่วนกุศลมีมาตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล

    ที่มา ...

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30

    นาที ๔.๒๔

    ท่านอาจารย์ ธรรมเรียนเพื่อเข้าใจตนเอง อย่างเรื่องจิต ๘๙ ฟังชื่อดู รู้สึกว่าตั้ง ๘๙ แล้วเราจะมีมากอย่างนั้นหรือเปล่า แต่ความจริงโดยประเภท มี ๘๙ แต่เรามีไม่ครบ เพราะว่ามีจิตต่างระดับ หลายขั้น แล้วก็ที่เรากำลังเริ่มจะสนใจ คือ จิตประเภทที่เป็นชีวิตประจำวัน ประโยชน์สำคัญที่สุดก็คือว่า ไม่ใช่เพียงรู้ชื่อหรือเรียนชื่อ แต่ให้ทราบว่าในขณะนี้จิตของทุกคน เป็นจิตประเภทนี้ คือ กามาวจรจิต กรุณาให้ความหมายอีกครั้งหนึ่ง

    อ.นิภัทร กามะ ก็คือ กาม อาวจระ ก็คือ การท่องเที่ยวไป จิตก็คือจิต กามะ ตามศัพท์ ก็คือ ความใคร่ แปลว่าใคร่ ในที่นี้หมายถึง ภูมิหรือชั้นของจิต หมายถึง จิต ประเภทนี้ท่องเที่ยวไปในกามภูมิ ก็เรียกว่า กามมาวจรจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าสั้นๆ จะกล่าวว่า กามหรือกามะ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้ไหม

    อ.นิภัทร ได้ ตามศัพท์ กามะ ถ้าจะขยายออกไปก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ท่านเรียกว่ากามคุณ

    ท่านอาจารย์ กามหรือกามะ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามตัณหา ก็คือ ความยินดี ติดข้องในรูปที่เห็นทางตา ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เรารู้เลยว่ารูปที่ปรากฏทางตา ทุกคนพอใจ แล้วก็ละยาก อย่าคิดเลยว่าจะละได้ ถ้าไม่ใช่เป็นพระอนาคามีบุคคล คือ ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงกับเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามีพระอนาคามีบุคคล เพียงพระโสดาบัน ละความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะไม่ได้

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดเรื่องละ กามตัณหา หรือ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เพียงเริ่มเห็นโทษ แล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ชีวิตของเราทุกคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่พ้นจากความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดี หมายความว่า เป็นรูปที่ดี เป็นเสียงที่ดี เป็นกลิ่นที่ดี เป็นรสที่ดี เป็นโผฏฐัพพะที่ดี แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี โลภะหรือความต้องการจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะเหตุว่า ไม่มีใครต้องการสิ่งที่ไม่ดีเลย ใช่ไหม หรือว่ามีใครต้องการ ควรจะได้เข้าใจชีวิตประจำวันจริงๆ กำลังสำรวจจิตใจของแต่ละคน เพื่อที่จะได้รู้ว่าจิตมี 89 จริง และเป็นกามาวจรจิต 54 ห้าสิบสี่ฟังดูเหมือนกับจำนวนมาก แต่ถ้าค่อยๆ เริ่มเข้าใจทีละหนึ่งดวง ก็ไปได้ จนกระทั่งถึง 54 ดวง แต่ว่าต้องเริ่มด้วยความเข้าใจจริงๆ ในจิตแต่ละดวง เราก็เข้าใจความหมายของกามาวจรจิต แล้วก็รู้ว่าการละความยินดี พอใจ ในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ละยังไม่ได้ แต่ที่ฟังเพื่อให้เข้าใจถูก ว่าตัวเราจริงๆ ดีหรือไม่ดี แล้วก็ไม่ดีในเรื่องอะไร แล้วก็ละได้ไหม ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดี เพราะเหตุว่าการที่จะละ ไม่ใช่เราละ ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีทางเลยที่ใครจะละได้

    เพราะฉะนั้นจะแสดงให้เห็นว่า เรามีอวิชชา มีความไม่รู้มากแค่ไหน เพราะเหตุว่าแม้แต่เพียงคำว่า ปัญญารู้อะไร ที่จะไปละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือว่าในนามธรรม ในรูปธรรม เราก็ยังต้องค่อยๆ คิดค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาไม่เกิด ละไม่ได้ ที่ทุกคนฟัง เพื่อให้เกิดปัญญา ให้รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยเฉพาะให้รู้จักจิต ซึ่งขณะนี้กำลังมี ให้ทราบว่าขณะนี้ เป็นจิตทั้งนั้น ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก แล้วก็มีมากมายหลายประเภท ที่ทรงแสดงไว้ 54 ประเภท ที่เป็นกามาวจรจิต และแม้กระนั้นในกามาวจร 54 เรามีไม่ครบ ยิ่งน้อยลงไปอีก ใช่ไหม ให้ทราบไว้ด้วยว่า บางจิตเป็นของพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นก็ต้องเอากามาวจรจิต ที่เป็นของพระอรหันต์ออกไป คุณประทีปให้ความเห็นสักนิด ว่าทำไมพระอรหันต์ยังมีกามาวจรจิต

    ผู้ฟัง เพราะว่าพระอรหันต์ ยังมีรูป รส กลิ่น เสียง ซึ่งชีวิตประจำวัน ก็ยังมีทั้งรูป ทั้งนามที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าพระอรหันต์ก็เห็น

    ผู้ฟัง เห็นครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่จิตใดก็ตาม มีรูปเป็นอารมณ์ กำลังเห็นรูป ขณะนั้นเป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าเป็นจิตของใครทั้งนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกามาวจรจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เหตุผล

    ผู้ฟัง เพราะอย่างที่ท่านอาจารย์ได้เรียนให้ทราบว่า มีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกคนค่อยๆ พิจารณาไป แล้วก็จะเข้าใจว่า กามาวจรจิตที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มี และที่เป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศลก็มี นี่คือสิ่งที่เราจะค่อยๆ เข้าใจกามาวจรจิตไป ก็เป็นความชัดเจนที่จะต้องเข้าใจคำว่า กามหรือกามะ จะพ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีรูป จะพอใจในอะไร ถ้าไม่มีเสียงปรากฏทางหู จะพอใจในอะไร ถ้าไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีสิ่งที่กระทบกาย เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ให้มีความรู้สึกสบาย เราก็คงจะไม่มีความรู้สึกสบายทางกายเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งซึ่งปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกาม เป็นที่ตั้ง ทำให้เกิดความต้องการ แล้วสำหรับที่เรายังไม่ได้แยกออกเป็นอะไรเลย เพียงแต่คำว่า กาม คำเดียว ตัดปัญหาหมดก็คือว่า พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีคำว่า กามตัณหา ก็หมายความว่า ตัณหา คือ ความติดข้อง ความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั่นเอง เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่าแต่ละคำ ความหมายจำกัดแค่ไหน และเวลาที่มีคำอื่นมารวม หมายความว่าอย่างไร

    เพราะแม้แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีกามาวจรจิต ตราบใดที่จิตนั้นยังเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส หรือที่เราเรียกว่าโผฏฐัพพะ ก็จะต้องเป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นปุถุชน หรือเป็นใครก็ตาม เเต่ว่าระดับจิตต่างกัน

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า เป็นจิตประเภทที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะก็ตาม แต่ยังมีประเภทที่เป็นจิตไม่ดี หรือเป็นจิตที่ดี หรือว่าเป็นจิตที่ไม่ใช่ทั้ง ๒ อย่าง คือ ไม่ใช่ทั้งจิตที่ดี และจิตที่ไม่ดี ซึ่งถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เราไม่มีโอกาสจะรู้เลยว่า จิตอย่างนี้ก็มี เพราะว่าส่วนใหญ่ในชีวิตของเรา เรามักจะพูดกันแต่ว่า กุศลจิต อกุศลจิต แต่ไม่ได้พูดถึง จิตที่ไม่ใช่ทั้งกุศล และไม่ใช่อกุศล นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าจะเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ไม่มีใครในโลก ซึ่งจะคิดขึ้นมาเองได้ นอกจากจะฟังพระธรรม แล้วก็เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริง ซึ่งในขั้นต้น เราจะพูดถึงเรื่องกามาวจรจิตก่อน ดวงที่ ๑ ที่ค้างไว้ ยังไม่อยากจะให้ทุกคนต้องไปงง หรือว่าไปจำ หรือคิดว่าเรื่องเยอะเหลือเกิน จะต้องแบ่งนั้นแบ่งนี่ เอาเพียงง่ายๆ คือ จิต 89 แล้วก็แบ่งเป็นกามาวจรจิต

    เพราะเหตุว่าในคราวก่อนๆ ตอนต้นๆ เราก็ได้พูดถึงเรื่องภูมิต่างๆ คือระดับขั้นของจิตไปหมดเลย ว่าจิต 89 ต่างกันเป็นระดับขั้น ขั้นต่ำสุดขั้นต้น คือ กามาวจรจิต ถ้าพ้นจากกามาวจรจิตแล้ว แปลว่าสูงขึ้นทั้งนั้น เป็นฌานจิต ประกอบด้วยกุศลที่มั่นคง มีรูปเป็นอารมณ์ และก็เป็นอรูปฌานจิต คือ เป็นฌานจิตที่เป็นความสงบที่มั่นคง ที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ แล้วก็เป็นโลกุตตรจิต ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งสุดเอื้อม เพราะเหตุว่าขณะนี้ กำลังเป็นกามาวจรจิตทุกขณะ

    เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มจากการที่จะศึกษา เรื่องของกามาวจรจิต แล้วที่ยังไม่แบ่งเป็นประเภท หรือว่าบางคนก็รู้แล้วว่าแบ่งเท่าไร หนังสือก็มี ก็ไม่จำเป็นอีกเหมือนกัน แต่เรากำลังจะเริ่มจากจิตสักดวงหนึ่ง ซึ่งทุกคนมี แล้วก็มีเป็นประจำวันด้วยในชีวิต ไม่เคยขาดจิตประเภทนี้เลย คือ โลภมูลจิต แต่ว่าในโลภมูลจิตนี้ คือ จิตที่ประกอบด้วยความติดข้องต้องการ ซึ่งมีใครบ้างไหม ที่จะบอกว่าวันนี้ไม่นี้ มี แต่ไม่รู้ ตื่นมามีโลภมูลจิตไหม หรือยังก่อน ต้องไปเห็นอะไรที่สวยๆ งามๆ ถูกอกถูกใจ อาหารอร่อย ถึงจะเกิดโลภะ ไม่ใช่เลย ทันทีที่ลืมตา ไม่เป็นกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสมูลจิต คือ เป็นจิตที่ขุ่นใจขุ่นเคือง ขณะนั้นไม่พ้นจากโลภมูลจิต โมหมูลจิตนั้น เรายังไม่ต้องกล่าวถึง เรากำลังจะกล่าวถึงจิต ซึ่งมีเป็นประจำ แต่ว่าตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่เคยรู้จัก

    เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่อยู่ที่ตัวเรา เราก็จะเริ่มจากจิตดวงที่ ๑ ซึ่งเมื่อสักครู่คุณสุรีย์ก็บอกว่าประกอบด้วยโสมนัส คือ ความยินดีอย่างยิ่ง โสมนัสทีเดียว ไม่ใช่เพียงแต่เฉยๆ แสดงให้เห็นว่า จิตใดที่เป็นอกุศล ที่มีโทษที่สุด ต้องเป็นโลภมูลจิต ที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เพราะเหตุว่าแม้แต่โลภะ ความติดข้อง ก็มีเวทนาเจตสิก คือ ความรู้สึก สภาพความรู้สึกเป็นธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรม แต่ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นสภาพความรู้สึก ที่เกิดกับโลภะ ความติดข้อง มี ๒ อย่าง คือ ติดข้องธรรมดาๆ อย่างหนึ่ง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา แต่ว่าติดข้องอีกอย่างหนึ่งนั้น เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า สำหรับสภาพของเวทนาเจตสิก ความรู้สึกซึ่งจะเกิดกับโลภมูลจิตนั้น มีเพียง ๒ อย่าง และในวันหนึ่งๆ ทุกคนทราบได้เลยว่า ขณะไหนเป็นโลภมูลจิต ที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา แล้วก็ขณะไหนเป็นโลภมูลจิต ที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา คงไม่มีปัญหาเรื่องเวทนา เพราะเหตุว่าชื่อ เราก็ใช้อยู่แล้วในภาษาไทย ว่า อุเบกขา ก็คือไม่ทุกข์ ไม่สุข เฉยๆ ถ้าโสมนัส ทุกคนก็บอกว่าดีใจมากๆ ขณะนั้นก็เป็นโสมนัสเวทนา เพียงแต่ว่าใช้คำภาษาบาลีให้ถูกต้องเสียหน่อยหนึ่งว่า ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ ก็เป็นอุเบกขาเวทนา ถ้าเป็นความรู้สึกโสมนัส ภาษาบาลีตรงตัวเลย คือ โสมนัสเวทนา จิตดวงที่๑ ถ้าเราจะเติมภาษาบาลีเข้าไปอีกนิดหน่อย ก็คงจะไม่เป็นการขัดข้องอะไร เพราะเหตุว่าจะทำให้เราเข้าใจชัดขึ้นอีก ถ้าเป็นเวทนาแล้วจะต่อท้ายด้วยคำว่า สหคตัง

    เพราะฉะนั้นสำหรับโสมนัสเวทนา จะต่อท้ายด้วยสหคตัง จึงเป็นโสมนัสสสหคตัง ถ้าเป็นอุเบกขา อุเบกขาสหคตัง ถ้าเป็นทุกขะ คือ ความรู้สึกทุกข์กาย ก็เป็นทุกขสหคตัง ถ้าเป็นโทมนัส ก็โทมนัสสสหคตัง หมายความว่า ถ้าแปลโดยศัพท์ คตะ หรือ คตัง ก็หมายความถึง ไป แต่สำหรับเราที่จะเข้าใจ เราไม่จำเป็นต้องติดอยู่ที่ภาษา แต่ให้เข้าใจว่า ขณะใดก็ตาม ที่มีจิตเกิดขึ้น ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะฉะนั้นสำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งมีโทษมาก ก็คือ โสมนัสสสหคตัง ต้องเกิดร่วมกับโสมนัส

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่ง ชีวิตเราจะเห็นโทษของโลภะไหม โลภะธรรมดาๆ ก็นิดหน่อย แต่ถ้าโลภะถึงโสมนัสสสหคะตัง ก็แปลว่า โลภะนั้นเกิดร่วมกับความดีใจอย่างมากๆ เพราะฉะนั้นความติดข้อง ก็ต้องมากด้วย แต่ว่าทุกคนชอบ นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ากว่าเราจะเข้าใจจริงๆ ถึงสภาพจิตที่เป็นอกุศล แล้วเห็นโทษ ฝืนกับชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งชีวิตประจำวันของเรา ถ้ามีโลภะที่เกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ เป็นอุเบกขาสหคตัง เราก็ไม่พอใจ แสวงหาให้มากกว่านั้นอีก คือ ต้องให้ถึงกับเป็นโสมนัสสสหคตัง ที่บ้านมีดอกไม้ ดอกกุหลาบ แต่ถ้าดอกไม้ใหญ่ กลิ่นหอม โสมนัสสสหคตัง เกิดร่วมกับความติดข้อง ถ้าเป็นดอกไม้ธรรมดาๆ กุหลาบดอกเล็กๆ ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีโลภะ มีความติดข้อง แต่อุเปกขาสหคตัง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

    เพราะฉะนั้นเราค่อยๆ ไปตั้งแต่ชีวิตประจำวัน แล้วก็เราจะเห็นตัวเรา ตามความเป็นจริง เพราะว่าทุกคน เวลาพูดถึงเรื่องปฏิบัติ เหมือนกับว่าอยากหมดกิเลส ทำอย่างไรสติปัฎฐานจะเกิดมากๆ ปัญญาจะเกิดเยอะๆ แต่ไม่ได้คิดถึงเลยว่า ชีวิตประจำวันมีอกุศลเท่าไร แล้วก็จะไปหมดกันเมื่อไร เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเข้าใจเรื่องเหตุกับเรื่องผล แล้วก็เรื่องที่จะหมดกิเลส อย่าเพิ่งคิด เพราะเหตุว่ามันเป็นไปไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด สำหรับโทมนัสสสหคตัง คุณสุรีย์ยังมีอะไรสงสัยหรือข้องใจไหม

    ผู้ฟัง ช่วยให้ตัวอย่าง โสมนัสสสหคตัง ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ดอกกุหลาบสวยๆ เมื่อสักครู่นี่เอง ดอกโตๆ กลิ่นหอมๆ กับดอกกุหลาบเล็กๆ ธรรมดา

    ผู้ฟัง อย่างมีคนสองคนมองเห็น กุหลาบโตๆ หอมๆ เขาก็เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอุเบกขาสหคตัง

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่บุคคล ที่จะโสมนัสหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง หมายความว่า เรายินดีมากๆ อย่างเราได้รับของ แล้วเราดีใจมากๆ นั้นก็เป็นโสมนัสใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกครั้ง จิตทุกดวงให้ทราบว่า จะต้องมีเวทนาเจตสิกอยู่ข้างหน้า แสดงให้เห็นความต่าง แม้แต่ของจิต ซึ่งเกิดเป็นประเภทเดียวกันก็ตาม เพราะฉะนั้นจะจำแนกจิตด้วยเวทนา เพราะเหตุว่าความรู้สึก บางทีเราลืมจิตด้วยซ้ำไป กำลังโกรธ ขณะนั้นสภาพของจิตประทุษร้าย เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง แต่ความรู้สึกบางครั้งโทมนัส ที่ใช้คำว่าโกรธ จริงๆ แล้วหมายความถึงขณะนั้น จิตไม่ได้ต้องการอารมณ์ที่มาเผชิญหน้าในขณะนั้น จะด้วยความเสียใจ จะด้วยความน้อยใจ จะด้วยความรู้สึกอะไรก็ตามแต่

    เพราะฉะนั้นเวทนา เป็นความรู้สึก ซึ่งปรากฏให้เห็น แม้แต่ดีใจก็ปรากฏ เสียใจก็ปรากฏ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่จะพูดเรื่องจิต จะต้องประกอบด้วยเวทนาเจตสิก ซึ่งจะจำแนกให้เห็นว่า จิตนั้นๆ ต่างกัน โดยการที่ใช้เวทนานำหน้า โสมนัสสสหคตัง หรือว่าอุเปกขาสหคตัง หรือโทมนัสสสหคตัง หรือว่าทุกขสหคตัง หรือสุขสหคตัง เวทนามี 5 อย่าง คุณวีระมีความรู้สึกโสมนัสตอนไหนบ้าง ลองให้ตัวอย่าง

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็นดอกกุหลาบ ก็อยากจะได้กลับบ้าน เพราะว่าชอบมาก เพราะว่าท่านจัดวางไว้สวยมาก แล้วก็เลือกสีที่ผมชอบมาก แล้วก็นั่งอยู่นี่ กลิ่นก็หอม ไม่ทราบว่าจะได้นั่งอยู่ที่นี่ตลอดทั้งวัน ก็จะดี

    ท่านอาจารย์ ถ้าโลภมูลจิตที่เกิด ร่วมกับโสมนัสเวทนา มีโทษมาก เราควรจะละหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ละไม่ได้ ควร แต่ละไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ควรจะอะไร ถ้าละไม่ได้

    ผู้ฟัง ควรจะศึกษาให้รู้จัก

    ท่านอาจารย์ ควรจะรู้ ใช่ไหม เพราะเหตุว่าเรื่องละอย่าได้ไปคิดละเลย ประเดี๋ยวเราก็จะรับประทานอาหารอร่อยๆ ประเดี๋ยวเราก็จะทำอย่างนั้นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ปัญหามันอยู่ตรงนี้ ฟังอาจารย์พูดวิทยุ ดิฉันจับคำได้ ๒ คำ ซึ่งจะต้องจำจนตาย คือ รู้เรื่อง กับ รู้ธรรม เวลานี้เรารู้เรื่องแล้ว เราไม่ค่อยรู้ธรรม เรามานั่งคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่รู้ธรรมจริงๆ บางทีเราก็อยากจะโสมนัสสสหคตัง ทั้งๆ ที่เรารู้เรื่อง แต่ตัวธรรมมันเป็นโลภมูลจิตแล้ว แต่เราไม่รู้ เพราะฉะนั้น ๒ ตัวนี้ เป็นคีย์เวิร์ดเลย เวลานี้เรารู้เรื่อง แต่เรายังไม่รู้จักตัวธรรม ต่อเมื่อไรเรารู้จักตัวธรรม เมื่อนั้นเราจึงจะเริ่มขัดเกลา และละได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนาได้ ไม่ใช่มีแต่เพียงขั้นปริยัติ คือ รู้เรื่อง แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็จะมีการระลึก ตัวสติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการไปเร่งรีบ ชักชวนกันให้ทำเร็วๆ วันนี้ไปหรืออะไรอย่างนั้น เพราะเหตุว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องเป็นสังขารขันธ์ บังคับสติไม่ได้ บังคับให้ได้ยิน ไม่ได้ บังคับให้คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ได้ ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง บางทีเราเรียนมารู้เรื่องมาตั้งนาน แต่กว่าเราจะรู้จัก เวลาเรารู้จักแป็ปเดียว นี้มันเป็นอย่างนั้น เวลาโกรธ ตรงนี้มันเป็นอย่างนั้น ตรงโลภนี้มันเป็นอย่างนั้น รู้เรื่องกับรู้จัก ดิฉันว่ามีอยู่ ๒ ตัวนะ

    ท่านอาจารย์ และบางทีส่วนใหญ่ พอสภาพธรรมปรากฏ ก็เลยนึกเรื่องของสภาพธรรมนั้นไปอีกยาว

    ผู้ฟัง ใช่

    ผู้ฟัง ปกติในชีวิตประจำวัน คนทั่วๆ ไป โลภะที่มีทิฏฐิคตวิปปยุต กับ สัมปยุต ส่วนไหนมากกว่ากัน

    ท่านอาจารย์ คุณธงชัยเคยเห็นคนเจ้าทิฏฐิไหม

    ผู้ฟัง ก็มี

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นสำหรับเขา จิตจะเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตมาก หรือว่าโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตมากกว่า

    ผู้ฟัง วิปปยุต มากกว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องแล้วแต่บุคคล ใช่ไหม เพราะว่าบุคคลบางคน ไม่สนใจเลยเรื่องความคิด ความเห็น โลกจะแตกเมื่อไร จะไม่แตกเมื่อไร จะเป็นอย่างไร ไม่สนใจหมด เขาสนใจแต่จะมีชีวิตวันหนึ่งๆ โดยการที่เห็นสิ่งที่ดี ได้กลิ่นดีๆ รับประทานอาหารอร่อย เพลิดเพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส พวกนี้จะไม่มีโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาหมดความเห็นผิด แต่เราจะต้องพูดถึงว่า ทำไมถึงใช้คำว่าทิฏฐิคตสัมปยุต

    เมื่อสักครู่นี้พอพูดถึงเวทนา เราใช้คำว่า โสมนัสสสหคตัง หมายความว่า ขณะที่จิตนั้นเกิดต้องมีเวทนา คือ ความรู้สึกโสมนัสเกิดร่วมด้วย และพอใช้คำว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตัง ก็เป็นการแสดงว่าในขณะที่โลภมูลจิตโสมนัสเวทนาเกิดขึ้นนั้น ต้องมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย


    หมายเลข 50
    5 ก.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ