ปฏิจจสมุปบาท แผ่นที่ ๒ ตอน ๒


    ชีวิตเป็นไปในทางเกิดทั้งสิ้น ไม่มีการรู้ทางที่จะดับสภาพธรรมเหล่านี้ ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ

    ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เพราะว่าเมื่อมีการกระทบแล้วจะไม่ให้ เวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่รู้สึก เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ดีใจหรือเสียใจ หรือเฉยๆ ไม่ได้เลย เมื่อมีการกระทบแล้ว ก็ต้องเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ความรู้สึกต่างๆ และเมื่อมีความรู้สึกต่างๆ ก็จะมีตัณหา ความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ในสภาพธรรมทั้งหลายด้วย เว้นโลกุตตรธรรมเท่านั้นที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา นอกจากนั้นแล้วแม้ว่าเป็นกุศล ก็ยังอยากที่จะได้กุศล ยังพอใจในกุศล เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา

    ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพในที่นี้ คือ กรรมภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเมื่อเกิดขึ้นแล้วที่จะพ้นจากชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส ไม่มีเลย

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าเพียงระลึกถึงปฏิจจสมุปปาทบ่อยๆ ไม่ว่าจะส่วนไหนของปฏิจจสมุปปาท หรือแม้แต่การระลึกถึงตัณหา ก็จะเห็นได้ว่า ช่างมากมาย และเป็นความจริงที่ว่า ไม่มีใครสามารถละความติดข้องในสิ่งต่างๆ ได้ เพราะว่าตัณหาเป็นสภาพธรรมที่พอใจและติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่าง

    ขอกล่าวถึงลักษณะของตัณหาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เห็นสภาพตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ติดข้อง

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวรรค กามสุตตนิทเทสที่ ๑ มีข้อความว่า

    คำว่า วิสัตติกา ความว่า เพราะอรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา (ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ) เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา เพราะอรรถว่า แผ่ไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา

    วิสัตติกา หมายถึงลักษณะที่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ทุกอารมณ์เป็นที่พอใจติดข้องของตัณหาทั้งนั้น

    วันนี้ทั้งวันเรื่องของตัณหาทั้งนั้น ทั้งซ่านไป ทั้งแผ่ไป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางหนังสือ ทางโทรทัศน์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความสนุกสนาน รื่นเริง ความสวยงามต่างๆ

    เพราะอรรถว่า แล่นไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา เพราะอรรถว่า ครอบงำ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา เพราะอรรถว่า สะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา

    ไม่ว่าจะไปแห่งไหน ออกจากตัณหาได้ชั่วครู่ ก็สะท้อนกลับมาหาตัณหาอีกแล้ว ไม่มีทางที่จะพ้นไปจากตัณหาได้เลย มีความรู้สึกว่า สงบ สบาย ไม่ต้องการอะไรพอสมควร สติปัญญาก็พอจะเกิดบ้างบางขณะ บางครั้งบางคราว แต่เพราะอรรถว่าสะท้อนไป ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา เพราะฉะนั้น ไปก็ไปเถอะ แต่ไปชั่วครู่ ชั่วประเดี๋ยวเดียวก็ต้องกลับมาหาตัณหาอีก จริงไหม ฟังพระธรรม มีความเข้าใจ มีความซาบซึ้ง และก็กลับมาหาตัณหาอีก ไม่มีการพ้นไปได้เลย

    เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้พูดผิด ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา

    พูดผิดจากความเป็นจริงด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความเห็นผิด หรือด้วยความต้องการประการหนึ่งประการใดก็ตาม ก็เป็นเหตุที่เกิดขึ้นเพราะตัณหา จึงชื่อว่า วิสัตติกา

    เพราะอรรถว่า มีมูลรากเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา เพราะอรรถว่า มีผลเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภคสิ่งเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา

    ของที่เป็นพิษ บางท่านก็ชอบเสียจริงๆ ถึงแม้ว่าจะมีโทษทำให้ร่างกายเกิดโรคภัยต่างๆ แต่ความคุ้นชินกับรสอร่อย อย่างเครื่องปรุงรสบางอย่าง บางคนขาดไม่ได้เลยทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นพิษ เหมือนตัณหาทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นโทษสักเท่าไรก็ตาม แต่ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องบริโภคสิ่งเป็นพิษ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา

    อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สกุล คณะ ที่อยู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญายตนภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน แล่นไป ซ่านไป ในรูปที่เห็นแล้ว ในเสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รู้แล้ว และในธรรมที่รู้ ตัณหาจึงชื่อว่าวิสัตติกา

    นี่เป็นการแสดงภพโดยละเอียด คือ ภพที่มีสัญญา ภพที่ไม่มีสัญญา ที่เป็นกาม ที่เป็นรูป ภพที่มีขันธ์เดียว ภพที่มี ๔ ขันธ์ ภพที่มี ๕ ขันธ์ ทั้งหมดตัณหาแผ่ไปได้หมด

    ตอนท้ายมีข้อความว่า

    คำว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลกเสียได้ มีความว่า เป็นผู้มีสติ ย่อมข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหาชื่อว่า วิสัตติกานี้ในโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหาอันชื่อว่า วิสัตติกานี้ในโลกเสียได้

    ถ้าไม่มีสติ หรือไม่เข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม สติไม่ได้ระลึก ที่ปรมัตถธรรม ไม่มีทางที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และเมื่อใดมีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ แต่ที่จะละตัณหาได้หมดสิ้นต้องถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านต้องรู้จักธรรมตามความเป็นจริง เช่น ปฏิจจสมุปปาทที่ว่า สฬายตนะเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยแก่เวทนา เวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา ก็เป็นความจริง และตัณหาก็เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน เมื่อมีความต้องการแล้ว ก็มีความติดข้อง ยึดมั่น ไม่ปล่อย เมื่อมีอุปาทานก็เป็นปัจจัยให้เกิดภพ คือ กรรม การกระทำต่างๆ และจะต้องมีชาติ การเกิด จนกระทั่งถึงการแก่ การตาย

    ขณะนี้ทุกคนก็กำลังก้าวไปสู่ความชรา และจะถึงมรณะ ซึ่งการระลึกถึง ความตาย หรือความชราของแต่ละท่าน อาจจะทำให้ท่านเจริญกุศลเพิ่มขึ้น เพราะรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความสุขก็คือความว่างเปล่า เพราะว่าเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไป

    ถ้าสะสมกุศลที่จะทำให้เป็นทางดับ วันหนึ่งก็จะดับได้ แม้ว่าการดับนั้นจะต้องใช้เวลานาน อุปมาเหมือนกับไฟกองใหญ่ ไฟกิเลส โลภะเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็เป็นไฟ โทสะเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็เป็นไฟ โมหะเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็เป็นไฟ เพราะฉะนั้น จะดับไฟกองใหญ่ซึ่งสะสมมานานในสังสารวัฏฏ์ ตั้งแต่ชาติก่อนๆ จนถึงปัจจุบันชาตินี้ ได้อย่างไร คงจะเป็นไปไม่ได้อย่างรวดเร็วเป็นแน่ เพราะชีวิตดำเนินไปในทางที่ดับชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ และชีวิตก็ดำเนินไปในทางที่เกิดมากกว่า เพราะว่าใส่เชื้อไฟ ในกองไฟของโลภะ โทสะ โมหะ เพิ่มความใหญ่ของกองไฟนั้นทุกขณะ แต่ทางดำเนินไปสู่ทางดับนั้นก็มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละชาติ

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และอาศัยการฟัง พระธรรม อาศัยการเข้าใจชีวิตให้ถูกต้อง พร้อมกับอบรมเจริญหนทางที่จะทำให้ถึง ความดับได้ด้วยการเจริญปัญญา เพราะว่าอกุศลแม้มีมาก แต่ไม่มีกำลัง เป็น สภาพธรรมที่เกิดบ่อยจริง แต่ไม่มีกำลังเท่าฝ่ายกุศล อวิชชาเป็นสภาพที่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะมีกำลังอะไร แต่อาศัยที่เมื่อไม่รู้นานๆ จนกระทั่งเหมือนคนที่สลบ หมดสติ กว่ากุศลจะเกิดแต่ละครั้ง ก็เหมือนกับคนที่ฟื้นจากสลบแต่ละครั้ง

    เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายอกุศลซึ่งเป็นอวิชชาบ้าง โลภะบ้าง โทสะบ้าง เกิดบ่อยจริง แต่กำลังไม่เท่ากับฝ่ายกุศล เพราะว่าอวิชชาไม่ใช่สภาพรู้ แต่วิชชาเป็นสภาพรู้ เป็นสภาพที่สามารถอบรมจนกระทั่งเจริญแข็งแรง คมกล้า มิฉะนั้นแล้วจะดับทาง ฝ่ายอกุศลไม่ได้เลย

    ทางฝ่ายกุศลเป็นฝ่ายที่มีกำลังจริงๆ ถ้าได้เจริญอบรมแล้ว แม้อวิชชาที่สะสมมาในอดีตนานสักเท่าไร แต่เมื่อปัญญาคมกล้าก็สามารถดับอกุศลนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้น พละมี ๗ ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ นี่เป็นธรรมที่มีกำลัง

    ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม ก็เป็นทางของชีวิตซึ่งดำเนินไปในทางดับ กำลังหาอุปกรณ์เครื่องมือที่จะดับไฟกองใหญ่ จนกว่าจะมีปัจจัยทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ได้

    ผู้ฟัง ติดใจคำว่า วิสัตติกา เพราะโดยอรรถแปลได้มากมายถึง ๙ อย่าง ตามศัพท์จริงๆ แปลว่าอะไร

    สมพร วิสัตติกา แปลว่า ซ่านไปในอารมณ์ คือรวมอยู่ในนี้ทั้งหมดเลย คำอื่นๆ ที่เป็นคำไวพจน์ แปลจริงๆ ว่า ซ่านไป รวมความทั้งหมดที่อาจารย์บรรยาย ก็กินความอยู่ในการซ่านไป อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ต้องการคำแปลโดยตรง อาจารย์สมพรก็แปลให้แล้ว คือ ซ่านไป และต่อไปก็อธิบายว่า ซ่านไปอย่างไรบ้าง

    พระ ตามธรรมดาในสังสารวัฏฏ์ อวิชชาเกิดมาก อาตมาเคยมีความคิดว่า อกุศลสะสมมามากมาย อกุศลน่าจะมีกำลัง จึงทำให้เรามีอกุศลมากมาย เพิ่งได้ยินวันนี้ว่า แม้อกุศลจะมีมากเท่าไร แต่ไม่มีกำลัง ถ้าปัญญาซึ่งเป็นพละเกิดได้ อกุศล แม้มีมากเท่าไรก็ดับได้ เพราะฉะนั้น ก็มีทางหลุดพ้นได้ เจริญพร อนุโมทนา

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ เพราะว่าปัญญาต้องมีกำลังกว่าอวิชชาแน่นอน

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า วิชชามีพลังใหญ่หลวง ฟังแล้วรู้สึกปลื้มใจว่า เราสามารถเอาชนะได้ แต่จะเอามาเข้าตัวเราคงยาก หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรม ขณะที่กำลังฟัง คือ กำลังอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพื่อให้เวลาที่สติระลึกจะมีความรู้ในขณะนั้นว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร

    ถ้าไม่อาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมจนกระทั่งเข้าใจในลักษณะที่เป็นอนัตตาละเอียดขึ้น ไม่มีทางที่เวลาสติระลึกแล้วจะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้ ด้วยเหตุนี้แม้ขณะที่กำลังฟังก็ต้องรู้จุดประสงค์ว่า เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง นี่เป็นทางที่จะทำให้เกิดการระลึกได้ แม้ในขณะนี้ มีสภาพธรรมปรากฏ อวิชชาไม่รู้ แต่ปัญญาสามารถค่อยๆ รู้ขึ้นเพราะฉะนั้น ความรู้ ความเข้าใจ มีหลายขั้น ขั้นฟังขาดไม่ได้เลย

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้กำลังเกิดดับ ทางตา สภาพธรรมปรากฏสั้นที่สุด เล็กน้อยที่สุดแล้วดับ และทางใจก็คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ทางหู เสียงกระทบ สั้น เล็กน้อยที่สุด แล้วดับ และจิตก็คิดนึกเรื่องราวของเสียงที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น จึงเป็นโลกของ สมมติบัญญัติ โดยที่ไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่เกิดเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับ และสภาพธรรมที่เกิดและดับไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นก็ดับจริงๆ ไม่มีใครหากลับมาอีกได้ เพราะว่าเมื่อมีปัจจัยใดทำให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น ปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นดับแล้ว สภาพธรรมนั้นก็ต้องดับด้วย

    ได้รับคำถามจากบางท่าน ท่านถามว่า ถ้าจะเพียงรู้ว่า ทุกอย่างเป็นนามธรรมและรูปธรรมตั้งแต่เกิดจนตายเท่านั้น พอไหม คือ มีความรู้สึกว่า ถ้าจะเรียนมาก จะฟังมาก ก็อาจจะยุ่งยากมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงรู้ว่า ทุกอย่างเป็นนามธรรมและรูปธรรมตั้งแต่เกิดจนตายเท่านั้น พอไหม ไม่ต้องฟังพระธรรมอะไรอีก

    ซึ่งทุกท่านก็จะพิจารณาได้ว่า วันนี้ทุกท่านก็รู้ มีใครไม่รู้บ้างว่า ในขณะนี้ ทุกอย่างเป็นธรรม ก็พูดตามได้ ทุกอย่างเป็นธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย กำลังเห็นก็ เป็นธรรม กำลังได้ยินก็เป็นธรรม กำลังคิดนึกก็เป็นธรรม สุขทุกข์ก็เป็นธรรม ก็พูดอย่างนี้อยู่เสมอ แต่รู้จริงๆ ในขณะเห็น รู้จริงๆ ในขณะได้ยิน รู้ในขณะนี้ ที่กำลังคิดนึกว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมแต่ละครั้งต้องไม่ลืมว่า จุดประสงค์เพื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งก็คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน บางท่านอาจจะคิดว่าห่างเหินไปไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่อง สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ตามความเป็นจริงขึ้นอยู่กับมนสิการหรือการพิจารณาของแต่ละท่านที่ฟัง เพราะว่ากำลังมีธรรมในขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องที่ได้ฟังจากพระธรรม ก็ต้องเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพียงแต่ว่าจะเป็นปัจจัยทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือว่าเพียงฟังไปก่อน และนานๆ ครั้งหนึ่งก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้บ้างตามความเป็นจริง เพราะว่าจะฝืนอกุศลไม่ได้เลย

    ถ้ารู้ว่าแต่ละคนมีอกุศลมามากมายเหลือเกินในสังสารวัฏฏ์ หรือถ้าไม่ย้อนกล่าวไปถึงแสนโกฏิกัปป์ แม้เพียงในปัจจุบันชาติ วันนี้เอง กุศลเล็กน้อยแล้วก็ หันกลับไปหาอกุศล และกุศลอีกเล็กน้อย แล้วก็หันกลับไปหาโลภะ เป็นประจำอย่างนี้ นี่คือชีวิตจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรมมากๆ ฟังแล้วฟังอีก ฟังเพื่อให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางอื่นเลย

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2059

    นาที 20:11

    นึกถึงวันที่ไม่ฟังพระธรรม วันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง อกุศลมากมายสักแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น การฟังแต่ละครั้ง ก็เหมือนเป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้หายจากความมัวเมา ด้วยอกุศลในวันหนึ่งๆ เพราะไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะ คิดนึก ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส อกุศลก็เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่รู้ เพราะฉะนั้น การที่กุศลจะเกิดแต่ละขณะ ก็เหมือนคนที่ไม่มีกำลัง ป่วยหนัก เป็นไข้ แม้แต่จะ พลิกตัวเพื่อกลับเป็นกุศล หรือเพื่อลุกขึ้นที่จะเป็นกุศล ก็ยังต้องอาศัยเชือกที่ขึงไว้ และโหนจับเชือกนั้นเพื่อพยุงตัวให้ลุกขึ้น นี่คือการอาศัยพระธรรมเพื่อให้กุศลจิตเกิด แต่ละครั้งๆ

    ถ้าท่านผู้ใดไม่เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม หรือคิดว่า ก็รู้แล้วว่า ทุกอย่างเป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น รู้แค่นั้น เมื่อไรจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เมื่อไรกิเลสจะดับ ก็ต้องอาศัยการฟังความละเอียดของสภาพธรรมและพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้คิดจริงๆ ว่า สภาพธรรมมี และปัญญาสามารถ รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นแทนอวิชชาได้ เพราะว่าขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา โลภะ หรืออกุศลได้

    คราวก่อนได้พูดถึงเหตุให้เกิดตัณหาหรือโลภะ ซึ่งเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวลาที่ฟัง กำลังเข้าใจ แต่หลังจากนั้นสักครู่หนึ่งก็จะลืม เวลาที่โลภะเกิดก็ลืมไปอีกว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เพราะมีการกระทบอารมณ์จึงทำให้มีความยินดีชอบใจในสิ่งที่กำลังเห็น ถ้าอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ซึ่งถ้าพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นความ น่าอัศจรรย์ของสภาพธรรม ที่สภาพธรรมทุกอย่างต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น และกระทบโดยผัสสะทำให้เห็นสิ่งนั้นบ้าง หรือได้ยินเสียงต่างๆ บ้าง

    สำหรับผัสสะก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าเกิดเพราะอะไร เพราะต้องมีปัจจัยทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ผัสสะจะเกิดได้ ซึ่งในเรื่องปฏิจจสมุปปาทก็ทราบว่า ผัสสะเกิดเพราะอายตนะ

    ถ้าพูดคำว่า อายตนะ รู้สึกว่าจะยากสำหรับบางท่านที่ไม่คุ้นกับภาษาธรรม แต่ความจริงก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจซึ่งใช้คำว่า ธัมมายตนะ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ภาษาบาลีซึ่งดูเหมือนจะยาก แต่ความจริงแล้ว เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทุกขณะในชีวิตประจำวัน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง แต่เมื่อไม่มีการฟังให้เข้าใจก็เลยคิดว่า เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อชีวิตดำเนินไปทุกขณะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ย่อมสามารถฟังและพิจารณา และเกิดความเข้าใจ และอาจจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ได้

    สำหรับวันนี้ ขอกล่าวถึงเรื่องของอายตนะ ๑๒ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมายตนะ

    ไม่ยากแล้ว ใช่ไหม อายตนะ

    ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ อายตนวิภังคนิทเทศ แสดงอายตนะ ๑๒ มีข้อความว่า

    อายตนะ ๑๒ คือ

    ๑.จักขายตนะ ๒.รูปายตนะ ๓.โสตายตนะ ๔.สัททายตนะ ๕.ฆานายตนะ ๖.คันธายตนะ ๗.ชิวหายตนะ ๘.รสายตนะ ๙.กายายตนะ ๑๐.โผฏฐัพพายตนะ ๑๑.มนายตนะ ๑๒.ธัมมายตนะ

    ค่อยๆ คุ้นหูขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจความหมายและลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ซึ่งภาษาบาลีก็ได้ยินบ่อยๆ ในภาษาไทย

    จักขุ เมื่อเป็นอายตนะคือที่ประชุม ก็เป็นจักขายตนะ

    รูป คือ สีสันวัณณะ เมื่อเป็นที่ประชุมที่ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น ก็เป็นรูปายตนะ

    โสต คือ หู โสตปสาทรูป เมื่อเป็นที่ประชุมที่ทำให้เกิดการได้ยินเสียง โสตปสาทรูปนั้นก็เป็นโสตายตนะ

    เสียง คือ สัททะ เมื่อกำลังได้ยิน กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ ก็หมายความว่ากำลังประชุมอยู่ตรงที่ที่จะทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงนั้นจึงเป็น สัททายตนะ

    ฆานายตนะก็คือฆานะ ได้แก่ ฆานปสาทรูปซึ่งเป็นรูปที่กระทบกลิ่น ขณะใดที่กลิ่นไม่ปรากฏ ฆานปสาทรูปก็เกิดแล้วดับไป ขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ มีใครรู้สึกว่า มีฆานปสาทรูปบ้าง มีไหม ขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่

    ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ขณะนี้ที่เสียงกำลังปรากฏ มีใครรู้ว่าบ้างว่า มีฆานปสาทรูป

    ขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ฆานปสาทรูปเกิดแล้วดับแล้วโดยไม่เป็นอายตนะ แต่ขณะใดก็ตามซึ่งกำลังได้กลิ่น ไม่ใช่รู้กลิ่นทางตา ไม่ใช่รู้กลิ่นทางหู แต่ขณะนั้นเพราะมีฆานปสาทรูปกระทบกับกลิ่น เพราะฉะนั้น ทั้งฆานปสาทรูปก็เป็นฆานายตนะ กลิ่น คือ คันธะ ก็เป็นคันธายตนะ เพราะว่าประชุมกันชั่วในขณะที่เกิดและยังไม่ดับ

    นี่คือชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน สั้นแสนสั้น คือ มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ชั่วขณะๆ เท่านั้นเอง

    อายตนะที่ ๗ ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาทรูปขณะที่กระทบกับรส ขณะนี้ใครรู้ว่ามีชิวหาปสาทรูปบ้าง มีไหม

    บางท่านก็ส่ายหน้า บางท่านก็พยักหน้า

    ให้ชัดอีกครั้งหนึ่ง จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ในขณะที่กำลังเห็น ใครรู้บ้างว่า มีชิวหาปสาทรูป

    ไม่มี เพราะอะไร รูปเกิดดับเร็วมาก ๑๗ ขณะจิตนี่สั้นแสนสั้นทีเดียว ชิวหาปสาทรูปเกิดแล้ว ดับแล้ว ไม่เป็นอายตนะ เพราะว่าไม่ได้กระทบกับรส

    เวลาที่มีการรับประทานอาหาร และมีการลิ้มรส ในการสนทนาธรรมก็อาจจะ มีการเตือนว่า ชิวหายตนะ กับรสายตนะ

    ขณะที่กำลังลิ้มรสต่างๆ ชิวหาปสาทรูปก็เป็นชิวหายตนะ รสะ คือ รส ก็เป็นรสายตนะ ชั่วขณะที่รสปรากฏ หมดแล้วชีวิตขณะหนึ่งๆ เท่านั้นเอง

    อายตนะที่ ๙ กายายตนะ ได้แก่ กายปสาทรูป แต่ขณะที่ได้ยินเสียง มีใครรู้บ้างว่ามีกายปสาทรูป ขณะที่ได้ยินเสียง มีไหม ไม่มี มีไม่ได้เลย จิตเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว แต่ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส หลงลืมสติบ่อยเหลือเกินในวันหนึ่งๆ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของอายตนะ จะเกื้อกูลกับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานให้ระลึกได้ว่า ในขณะนั้นอย่างอื่นไม่มีเลย ไม่มีจริงๆ ถ้ามี คือความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญา ซึ่งจะต้องถ่ายถอนจนกว่าจะหมดสิ้น เพราะพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สภาพธรรมที่เกิดและปรากฏ จิต เจตสิก รูป เกิดดับ สืบต่อกันตั้งแต่เกิดจนตายเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังกระทบกับสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ปัญญาต้องรู้ว่า ขณะนั้นพิจารณารู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน โดยรู้ว่า สภาพที่แข็ง ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย นอกจากสภาวธรรมซึ่งไม่ต้องเรียกชื่อและไม่เป็นของใคร และขณะนั้นก็มีสภาพที่รู้แข็งซึ่งอาศัยกายปสาทเป็นกายายตนะ และโผฏฐัพพะ ในขณะนั้นก็ประชุมที่นั่นเป็นโผฏฐัพพายตนะ ทำให้ขณะนั้นกำลังรู้สิ่งที่แข็ง แม้ในขณะนี้ ก็ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง

    นี่คือผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะถ่ายถอนว่า ขณะที่กำลังรู้แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีการทรงจำไว้ว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ายังมีปอด ยังมีตับ ยังมีผม ยังมีตา ยังมีหู ยังมีคิ้ว ยังมีจมูก ซึ่งความจริงแล้วนั่นคืออัตตสัญญาทั้งหมดที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า เมื่อไหร่สามารถลบหรือถ่ายถอนอัตตสัญญาได้ เมื่อนั้นสภาพธรรมจะปรากฏ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ โดยไม่เหลือเยื่อใยของความเป็นสัตว์ เป็นตัวตน เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ ซึ่งต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาโดย เป็นผู้ที่รู้ว่า ขั้นการฟังเป็นขั้นเข้าใจ แต่ประโยชน์สูงสุด คือ ขั้นที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ

    อายตนะที่ ๑๑ มนายตนะ ได้แก่ จิตซึ่งเป็นสภาพที่รู้อารมณ์

    อายตนะที่ ๑๒ ธัมมายตนะ ได้แก่ อารมณ์ที่รู้ทางอื่นไม่ได้ รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น

    และอายตนะ ต้องเป็นปรมัตถธรรม

    ข้อความต่อไปใน อายตนวิภังคนิทเทศ มีว่า

    วินิจฉัยโดยอรรถ คือ คำว่า อายตนะ หรือความหมายของคำว่า อายตนะ ในคำวินิจฉัยเหล่านั้น พึงทราบอรรถโดยแปลกกันก่อน

    อายตนะไม่ได้มีอายตนะเดียว มีถึง ๑๒ อายตนะ เพราะฉะนั้น แต่ละอายตนะก็แปลก คือ ต่างกัน

    อายตนะที่ ๑ จักขายตนะ

    ชื่อว่าจักขุ เพราะอรรถว่า ย่อมทำรูปให้แจ่มแจ้ง คือ ให้ปรากฏ

    เวลานี้ทุกคนเห็นรูป และมีความคิดนึกเรื่องรูปต่างๆ มากมาย รูปหนังสือ รูปโต๊ะ รูปเก้าอี้ รูปต่างๆ แต่ถ้าไม่มีจักขุปสาท มีทางหนึ่งทางใดบ้างไหมที่รูปเหล่านี้จะปรากฏ

    แสดงให้เห็นว่า อะไรทำให้รูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิต กระทบกับจักขุปสาทรูป ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิต และรูปทั้งสองนี้ต้องยังไม่ดับ จึงทำให้เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ได้ นี่เป็นเรื่องของกรรมที่วิจิตรมาก ที่แต่ละคนจะมีการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในวันไหน ก่อนจะตาย หรือยังไม่ตาย จะมีอารมณ์อะไรปรากฏทางหนึ่งทางใด เหมือนกันหมด คือ เป็นเรื่องของกรรมทั้งสิ้น เพราะว่าจิตเห็นเป็นจักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิต ไม่มีใครสามารถสร้างวิบากจิตได้เลย และวิบากจิตแต่ละขณะนั้น จะเป็นกุศลวิบากหรือเป็นอกุศลวิบากก็แล้วแต่กรรม ซึ่งถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็น ความน่าอัศจรรย์ว่า ทำไมเห็นสิ่งนี้สำหรับคนนี้ และสำหรับคนอื่นทำไมเห็นสิ่งอื่น ที่ไม่เหมือนกัน และถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่มีทางที่รูปทางตานี้จะปรากฏได้เลย

    ทุกคนเคยชินกับการเห็น สำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท ตั้งแต่เกิดลืมตาขึ้นมาในโลกนี้ก็เห็น โดยที่ไม่รู้เลยว่า เห็นแต่ละขณะต้องมีกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้จักขุปสาทรูปเกิดดับๆ และประชุมรวมกันกับรูปารมณ์ขณะไหน ก็รู้รูปารมณ์ในขณะนั้น ชั่วขณะเดียวเท่านั้นเอง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2060



    หมายเลข 52
    13 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ