ตอบปัญหาธรรม แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๓


    คุณชิน ทั้งหมดคือคิดทั้งนั้น นั่นคือตัวเรา พี่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ถูกกระทบง่ายเลย พ่อของเรา แม่ของเรา ทำไมไม่ตามเรา ทุกอย่างเราๆ ๆ หมดเลย คือ อยู่ในความคิด ปั่นไป ปั่นมา เหมือนเครื่องซักผ้า ถูกซักจนเปื่อยมาก แล้วออกไม่ได้ น้องๆ รู้ไหม ถ้าปัจจุบัน ถ้าหนูเข้าใจธรรมจริงๆ หนูจะรู้เลยว่า เราถูกกระทบในเสียง แล้วทันทีเสียงปรากฏเรียบร้อย มาที่มโนทวาร นึกคิดไปแล้ว เราปรุงแต่ง ไม่ใช่ตัวเราปรุงแต่ง นามธรรมปรุงแต่ง เข้าใจไหม ที่อาจารย์อธิบายว่า ธรรมทั้งหลาย คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงๆ มันไม่ใช่ตัวเรา แต่เราสะสมความเข้าใจผิดว่า มีเห็นเป็นสัตว์ บุคคล แต่มันไม่ใช่เลย เรากระทบเสียง ได้เห็น ได้สัมผัส ได้ลิ้มรส แต่จริงๆ มันไม่ใช่ตัวเรา เมื่อกระทบแล้ว มาที่มโนทวาร เราก็ปั่นเลยอยู่ตรงนั้น คิด ชอบ ไม่ชอบ เกลียด มีความสุข หรืออะไรทั้งหมด แต่มันไม่ใช่ทั้งนั้น มันคือ บัญญัติ ที่อาจารย์กล่าว ทั้งหมดคือเรื่องราว ไม่ทราบว่านี่จะช่วยน้องได้ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจที่พี่พูดมาทุกอย่างเลย ขอบคุณมาก

    ท่านอาจารย์ คุณยุ้ยเข้าใจดีไหมวันนี้ ธรรม คือ อะไร อย่าลืมว่าพอพูดคำไหน ก็ต้องคือ อะไร จะได้เข้าใจจริงๆ ธรรม คือ อะไร

    ผู้ฟัง ธรรม คือ รูปธรรม นามธรรม ใช่หรือไม่

    คุณชิน รูปธรรม นามธรรม ใช่ ธรรมทั้งหลาย

    ผู้ฟัง พี่ชินช่วยอธิบายหนู

    คุณชิน ธรรม มีรูปธรรมกับนามธรรม ถ้าเป็นรูปธรรม ก็คือ มันไม่มีความรู้สึก ไม่มีอะไรเลย เขาไม่สามารถรู้อะไรทั้งสิ้น ใช่ไหม เสียงที่ปรากฏนั้น คือ นามธรรม หรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เสียงที่ปรากฏ คือ นามธรรม ไม่ใช่ เป็นรูปธรรม

    คุณชิน เป็นรูปธรรม เพราะว่าอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่ามีเสียง

    คุณชิน เพราะว่ามันเป็นเสียง เสียงมันไม่รู้อะไรเลย อย่างเช่น (เสียงปรบมือ) ได้ยินหรือไม่ เสียงนั้น เขามีความรู้สึกไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    คุณชิน ใช่ นั่นคือ รูปธรรม ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    คุณชิน ตอนที่ได้ยินเสียงนั้น นั่นคือ ได้ยิน ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    คุณชิน ได้ยิน นั้นคือ นามธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจ มันยากเหมือนกัน หนูฟังมาตั้งนานแล้ว มันไม่ใช่ฟังอย่างเดียว มันต้องต้องมีการสนทนากัน

    คุณชิน ใช่

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจมากๆ เลย ตอนแรกยุ้ยคิดว่าจะง่ายมาก เวลาฟังอาจารย์กล่าว ยุ้ยคิดว่า ยุ้ยเข้าใจๆ ๆ แต่จริงๆ แล้วที่เข้าใจจริงๆ ก็คือ การสนทนา

    คุณชิน น้องยุ้ยเข้าใจแล้วว่า นั่งสมาธิมันก็ยังอยู่กับกระทบอยู่ตรงนั้น เพราะพี่เคยไปนั่งสมาธิแล้ว เพื่อว่าไม่อยากมีความโกรธ จะเอาออกๆ มันไม่ใช่เลย หลังจากยุบหนอ พองหนอ ออกเรียบร้อยแล้ว ชีวิตประจำวันก็โกรธอยู่ตรงนั้น ไม่เห็นมีอะไร ก็คือ ยังกระทบใน ๖ ทวาร ตรงนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ง่ายๆ แล้วก็ไม่ลืมที่คุณชินพูดเมื่อสักครู่ ตอนแรกทีเดียว จากตาพอถึงใจก็ปั่นเลย ปั่นทุกเรื่องเลย จะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องดี เรื่องไม่ดี เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ทางตา เห็นนิดเดียว แต่ทางใจคิดเรื่องที่เห็นมากมาย ทางหูก็ได้ยินนิดเดียว แล้วก็คิดเรื่องที่ได้ยินมากมาย เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าจริงๆ แล้ว เห็นก็เป็นปรมัตถธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปรมัตถธรรม ใจที่คิด มีจริงๆ แต่เรื่องราวที่คิดไม่จริงเลย เพราะไปจำเอามาคิด ไม่ใช่สิ่งที่มีปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจริงๆ

    ค่อยๆ ฟัง มีอีกเยอะ อยากจะพูดถึง จุดประสงค์ของการศึกษาพุทธศาสนา เพราะว่าชีวิตของเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไร ก็ต้องมีจุดประสงค์ ไม่ใช่ทำไปโดยที่ไม่รู้ว่า เราทำ ทำไม อย่างเราเกิดมา เราก็เห็น ได้ยิน โตขึ้นก็ต้องเข้าโรงเรียน เราก็จะต้องรู้ว่าเรียนทำไม เรียนเพื่อจะรู้สิ่งที่เราไม่เคยรู้เลย ซึ่งจะต้องช่วยในการมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะว่าถ้าเราไม่มีความรู้ แล้วเราจะไปทำอย่างไร ที่จะให้ชีวิตของเราดำรงต่อไปได้

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะศึกษา ไม่ว่าวิชาอะไรทั้งนั้น ก็เพื่อที่ว่า เราจะได้มีความรู้แต่ที่นี่เราก็เข้าโรงเรียน แล้วอีกไม่นานก็จบ แล้วจะมีอาชีพ มีการงาน มีครอบครัว มีบ้าน แล้วก็ตายแน่ๆ ไม่มีใครสักคนหนึ่ง ซึ่งจะไม่ตายใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราก็ลองเปรียบเทียบดูว่า ตลอดชีวิตที่เราเกิดมา แล้วก็เห็น และได้ยิน แล้วก็มีชีวิตไปแต่ละวัน สนุกบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ทำงานบ้าง มีเพื่อนบ้าง แต่ในที่สุดก็ต้องจากทุกคน มีใครบ้างไหมที่ไม่ตาย มีไหม ไม่มีเลย ต้องตายทุกคน

    เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดว่า ระหว่างที่เรายังไม่ตาย เราควรจะเป็นอย่างไร เพราะว่าเรามองเห็น ว่าแต่ละคนต่างกัน บางคนก็เป็นคนดี บางคนก็เป็นคนไม่ดีเลย และถ้าเราเป็นคนที่รู้ว่าระหว่างดีกับไม่ดี สำหรับตัวเรา ควรจะเป็นชนิดไหน มีใครบ้างไหม ที่บอกว่าอยากจะเป็นคนไม่ดี เคน อยากเป็นคนดีหรือเปล่า เคน อยากจะเป็นคนดี หรือเปล่า เคน มีใครในที่นี้ ที่ไม่อยากเป็นคนดีบ้าง ต้องไม่มี ใช่ไหม แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าอะไรดี บางทีเราก็บอกไม่ได้ ว่าสิ่งที่เราคิดว่าดีนั้น จริงๆ แล้ว ดีหรือเปล่า อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้

    เพราะฉะนั้นในการที่เราศึกษา เราต้องทราบว่า สำหรับวิชาทางโลก ก็ให้ความรู้เพียงแค่เรามีชีวิตไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็มีเพื่อน แล้วก็มีงาน มีอะไร แต่ว่าเราจะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไปกับเราไม่ได้เลย เราเกิดมา เรามาตัวเปล่าๆ มีใครเอาอะไรติดมาบ้าง ตอนเกิด เคนเอาอะไรติดมาบ้างตอนเกิด ไม่ทราบ เพราะว่าตอนนั้นเล็กมาก แต่ว่าจริงๆ แล้ว ไม่มีใครเอาอะไรติดมาได้เลย แต่สิ่งที่ติดมาแล้ว ก็คือ อุปนิสัย ที่เคยสะสมมา ทำให้แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ พอเกิดมาแล้วก็มองดูว่า เหมือนกันทั้งนั้น แต่ว่าพอโตขึ้น ค่อยๆ เปลี่ยนเป็น ไม่เหมือนกันเลย ตามการสะสมของแต่ละคน ถึงแม้ว่าจะมีพี่น้อง ๒ คน ๓ คน ๔ คน แต่ละคนก็มีอัธยาศัย อุปนิสัยต่างๆ กัน เหมือนกันไม่ได้

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ติดตามไป จากการที่เรามีสมบัติ มีบ้าน มีพี่ มีน้อง มีญาติ เราไม่สามารถจะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ตามไปได้ แต่ว่าการสะสมของเรา ในเรื่องความรู้สึก ในเรื่องความคิดนึกพวกนี้ จะติดตามไป อย่างบางคนก็เป็นคนที่โกรธง่าย แล้วก็ไม่ยอมอภัยให้คนอื่นเลย ดีไหมอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ไม่ดี แต่ทำได้หรือเปล่า บางคนเขาบอก รู้ก็รู้ว่าไม่ดี แต่ทำไม่ได้ ถ้าไม่หัด ไม่เริ่ม ไม่สะสม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย แต่ถ้าวันนี้ เราเปลี่ยนความคิด และรู้ว่าถ้าเราจะไม่โกรธใครเลย ก็จะสบายกว่าเยอะ ไม่ต้องไปนั่งคิดถึงคนนั้น ด้วยความขุ่นเคือง นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ทำไมเขาทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนี้ไม่ดี แต่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าขณะนั้น ใครกำลังไม่ดี ที่คิดอย่างนั้น ลืมตัวเอง ใช่ไหม ว่าแท้ที่จริง เวลาที่คิดอย่างนั้น เป็นทุกข์ของเราเอง

    เพราะฉะนั้นเราไม่ค่อยจะมองเห็นตัวเอง แล้วก็เห็นคนอื่น แล้วก็มองคนอื่นว่า คนนั้นไม่ดีตรงนี้ คนนั้นไม่ดีตรงนั้น หรือว่าคนนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตัวเราเอง เราลืมแต่พระธรรมที่ทรงแสดง พระธรรมที่เราศึกษา เมื่อเดือนก่อน ก็เป็นเรื่องสัจธรรม ความจริง ที่ทำให้เรารู้จักตัวเราเอง ถ้าเรารู้จักตัวเราเอง เราจะรู้จักคนอื่นไหม เหมือนกันไหมเขากับเรา ความโกรธเกิดขึ้น ของใครก็เหมือนกันทั้งนั้น ความโลภ ความติดข้องของใคร ก็เหมือนกันทั้งนั้น ความที่มีจิตใจดีงาม ก็ดีงามหมด ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนกับใคร ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ทุกคนมาที่นี่ วัยนี้มีใครเอากระจกมาบ้างหรือเปล่า ในกระเป๋า มีกระจกไหม มี กระจกโดยมาก เราจะไว้ส่องตัวเราใช่ไหม ว่าเป็นอย่างไร แต่เราเห็นเพียงรูป แต่พระธรรม คือ กระจกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจะส่องใจของเราเอง เราจะเห็นใจของเราเองได้ เพราะว่าใจของคนอื่น เราเพียงแต่นึกว่าเขาเป็นอย่างนั้น นึกว่าเขาเป็นอย่างนี้ แต่เห็นไม่ได้ ไม่เหมือนใจของเราเอง

    เพราะฉะนั้นใจของเราเอง พระธรรมจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ขณะที่เรากำลังคิดโกรธใคร แท้ที่จริงแล้วขณะนั้น ลักษณะโกรธกำลังเป็นของเราเอง เพราะว่าเราไม่ชอบคนที่เรากำลังโกรธแน่ๆ เลย เพราะฉะนั้นขณะใดที่ไม่ชอบคนนั้น หรือกำลังโกรธคนนั้นคนนี้ เพราะความไม่ดีของเขา แท้ที่จริง ก็คือ ขณะนั้นเรามีความโกรธของเรา พระธรรมจะส่องถึงสภาพธรรมชัดเจน เพราะฉะนั้นเราต้องทราบจุดประสงค์ให้ชัด ว่าเราเรียนธรรม เราเรียนทำไม บางคนอาจจะคิดว่าเรียนเหมือนวิชาทางโลกวิชาหนึ่ง บางแห่งก็อาจจะมีการสอบ แล้วก็มีประกาศนียบัตรหรืออะไร บางแห่งอาจจะเป็นถึงมหาวิทยาลัยก็ได้ ต่างประเทศก็มี ศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำอะไรสักอย่าง เราจะต้องตั้งจิตไว้ชอบ นี่ใช้สำนวนภาษาพระสูตร แต่หมายความว่า พิจารณาถึงสิ่งที่เราจะทำ จนกระทั่งเป็นสิ่งที่เราเห็นประโยชน์จริงๆ เราถึงจะทำ แต่ถ้าเราไม่พิจารณา แล้วเราทำไป สิ่งนั้นจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เราก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์เลย จากการที่เรารู้มากๆ ถ้าศึกษาต่อไป ก็เป็นจิตกี่ชนิด เจตสิกมีเท่าไร รูปมีอะไรบ้าง เราก็แค่รู้ แต่ว่าไม่ได้เป็นประโยชน์กับเรา

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำสิ่งซึ่งสำคัญที่สุด คือ การศึกษาธรรม ซึ่งต่างจากการศึกษาวิชาอื่น วิชาอื่นเอาไปไม่ได้แน่ ทรัพย์สมบัติที่เป็นวิชาอื่น แต่ธรรมที่เป็นความเข้าใจของเรา ก็เป็นอุปนิสัยที่สะสม ทำให้เวลาที่เรามีการฟังธรรมอีก เราเข้าใจได้เร็ว อย่างครั้งก่อนที่เราพูดเรื่องปรมัตถธรรม คนที่ฟังครั้งแรกใหม่มาก จะไม่รู้เลยว่าหมายความถึงอะไร แต่ถ้าฟังวันก่อนนั้นแล้ว วันนี้รู้ไหมว่า ปรมัตถธรรม คือ อะไร ธรรม คือ อะไร

    นี่คือสิ่งซึ่งอยู่ในใจ ซึ่งใครก็เอาไปไม่ได้ ถ้าเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นสมบัติที่ติดตัวเราจริงๆ ที่เราสามารถที่จะติดตามไป มีสมบัตินี้ทุกชาติๆ ได้ เวลาที่ได้ยิน ได้ฟังอะไร ก็เหมือนเวลาเราไปโรงเรียน วันแรกที่เราเข้าโรงเรียน เราก็ไม่รู้ แต่ว่ากว่าเราจะโต กว่าจะออกจากโรงเรียน เราก็รู้ไปหมด ตั้งแต่ชั้นประถมหนึ่ง ประถมสอง เราก็ไม่ได้ลืม เราก็เข้าใจได้ แต่พระธรรมมีประโยชน์ที่ว่า ต่างกับวิชาอื่น ที่ว่าติดตามเราไปได้ ในขณะซึ่งทรัพย์สมบัติพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนฝูงที่เราเคยรัก เคยชอบทั้งหมด ตามเราไปไม่ได้สักคนเดียว

    เราเกิดมาคนเดียว ตาย เราก็ตายคนเดียว ใช่ไหม ไม่มีใครไปตายด้วย ขณะที่กำลังเห็น แต่ละคนที่เห็น เห็นคนเดียว หรือคนอื่นมาร่วมกับเห็นของเราด้วย เห็นคนเดียว เวลาเราคิดนึก ต่างคนต่างคิด ไม่ใช่ว่าพอเราคิดอย่างนี้ ขณะที่คิด เป็นคนอื่นที่มาร่วมคิดด้วย ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นให้ทราบความจริง ความจริงซึ่งเป็นสัจธรรม ความจริงแท้ๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ ว่าแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง เหมือนเป็นสองได้ไหม จะโคลนนิ่งออกมาแบบลูกแกะ แบบลูกวัวอะไรได้ไหม ก็ได้แต่เพียงรูปร่าง อย่างหน้าตา ยังรู้สึกว่าคนนี้คล้ายๆ คนนั้น หรือคนที่เราเคยรู้จัก แต่สภาพจิตไม่มีวันที่จะเหมือนกัน แต่ละขณะ เพราะว่าจิตนี้เกิดขึ้นหนึ่งขณะดับไป เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิด ถ้าขณะก่อนๆ นั้นเป็นคนที่ชอบไปเสียทุกอย่าง อยากได้ไปเสียทุกอย่าง เราจะเห็นคนที่โลภมากกว่าคนอื่น หรือบางคนก็โกรธ เรื่องที่คนอื่นไม่โกรธ เขาก็โกรธ นิดหนึ่งก็โกรธ หน่อยหนึ่งก็โกรธ เพราะว่าเขาสะสมความโกรธทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเป็นสภาพจิตของแต่ละคน ซึ่งต่างกันไปมาก ในขณะนี้ จะมีคนที่นี่มากสักเท่าไร ไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งเห็น อีกคนหนึ่งกำลังคิด อีกคนกำลังเจ็บ หรือคันตรงไหนก็ได้ ใช่ไหม แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม คือ ศึกษาสิ่งที่มีจริง ที่เราสามารถที่จะพิสูจน์ได้ ที่ตัวของเรา เมื่อเข้าใจแล้ว ก็เข้าใจทั้งหมดเลย แต่ก่อนอื่น ต้องทราบจุดประสงค์ของการศึกษาว่า เพื่อเข้าใจธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ศึกษา และอยากจะได้ลาภ ถูกหรือผิด ผิด ศึกษาอยากจะให้คนชม ถูกหรือผิด ได้ยศ ได้สรรเสริญ ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าติดตามไปไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงชื่อ สมมติว่าเป็นอย่างนี้ สมมติว่าชื่อนี้ และบางคนก็ติดในชื่อมากเลย ต้องชื่อนี้ ชื่ออื่นไม่ได้ แม้แต่เพียงชื่อ ก็เห็นว่าสำคัญเหลือเกิน แต่ความจริงเปลี่ยนชื่อก็ได้ จะชื่ออะไรก็ได้ แต่เปลี่ยนอุปนิสัย เปลี่ยนความเป็นบุคคลนั้นไม่ได้ นี่คือ สัจจธรรมหรือความจริง

    ไม่ทราบทุกคนจะเข้าใจจุดประสงค์นี้หรือเปล่า เพราะว่าจะต้องศึกษาธรรมต่อไป ให้ทราบว่าเพื่อเข้าใจธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดง ซึ่งเป็นความจริง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะสอนได้เลย และเราก็จะเป็นผู้ที่มั่นคง ไม่ใช่เป็นผู้ที่ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ หรือคำชม จากการที่เรามีความเข้าใจธรรม หรือไม่ใช่หวังอะไรจากธรรม เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เรื่องติดข้อง

    เรื่องละ นี่ละอะไร ลองคิด ทุกคนควรจะคิด ไม่ใช่ฟังเฉยๆ ละอะไรดี ละความเห็นผิด ละอกุศลทั้งหมดเลยที่ไม่ดี เพราะว่าคนอื่นละให้ไม่ได้ เป็นพ่อ เป็นแม่ก็จริง เอากิเลสของเราออกได้ไหม ไม่ได้ แต่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูง ที่เป็นเพื่อนที่ดี มีเมตตา สามารถที่จะให้คำแนะนำ คำตักเตือน แล้วก็ชี้ประโยชน์ให้เห็นว่า อะไรถูกอะไรควรได้ แต่เราเองต้องพิจารณา และต้องเป็นตัวของเราเอง ที่จะแก้หรือที่จะเห็นโทษว่า สิ่งนั้นเราไม่ควรจะสะสมให้มีบ่อยๆ เวลาจะขอโทษใครยากไหม ไม่ยากใช่ไหม แต่บางคนทำได้ไหม เขาอาจจะรู้สึกผิด แต่ขอโทษไม่ได้ ไม่ได้จริงๆ แค่ขอโทษก็ไม่ได้ ลองคิดดูสิ แล้วจะอะไรได้ กิเลสมันก็เยอะแยะมากมายเหลือเกิน

    เพราะฉะนั้นการศึกษาไตรปิฏก ทราบแล้วใช่ไหม จากคราวก่อนว่า ไตรปิฏก ไตร แปลว่า ๓ ปิฏก แปลว่า หมวดหมู่ของพระธรรม ที่จำแนกออกไปเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง พระวินัยปิฏก ส่วนที่สองใครจำได้ มีใครจำได้ไหม การศึกษาธรรมต้องเข้าใจ และต้องจำ และต้องรู้ว่า สิ่งที่เราได้ยิน ได้ฟังจริงๆ คือ อะไร พระสุตตันตปิฏก พระไตรปิฏกมี ๓ ไม่ต้องจด แต่จำ พระวินัยปิฏก วิ แปลว่า กำจัด วินัย ก็คือว่า กำจัดสิ่งที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา พระสุตตันปิฏกก็เป็นเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับใคร ที่ไหน เรื่องอะไร ซึ่งเหมาะกับอุปนิสัยของคนนั้น ที่เขารับฟังแล้ว เขาก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ และปิฏกที่ ๓ ใครจำได้ พระอภิธรรมปิฏก ๓ ปิฏก เป็นประโยชน์อย่างไร ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่เห็นประโยชน์เลย อย่างพระวินัย ส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความประพฤติของพระภิกษุ เพราะว่าพระภิกษุ เป็นผู้ที่ได้ฟังธรรม เหมือนอย่างเราๆ แต่ว่ามีอุปนิสัยที่เคยสะสมมา ที่จะอบรมเจริญปัญญาในอีกเพศหนึ่ง เพศที่บรรพชา หมายความถึง สละ บรรพชา นี้คือ สละ อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย คือ สละบ้าน สละพ่อแม่ สละความสนุก ซึ่งทุกคนก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีการบังคับว่า ให้คนฟังทั้งหมดไปบวช หรือว่าไปอุปสมบท ไปบรรพชา ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำว่าต้อง หรือไม่มีคำว่าอย่า แต่ทรงแสดงเหตุ และผลทั้งหมด ให้คนฟังพิจารณา ให้เป็นความเข้าใจของคนนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่า เราไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นบรรพชิต ที่จะสละ ก็ไม่ต้องสละ ไปฝืนสละแล้วก็เป็นทุกข์ แต่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ทุกหนทุกแห่ง ทุกขณะ แม้แต่ที่นี่ ที่นี่ก็ไม่ใช่วัด ไม่ใช่เป็นที่เงียบในป่า แต่ว่าที่ไหนที่มีการฟัง ให้เข้าใจธรรม ที่นั้นก็สามารถที่จะเป็นการอบรมเจริญปัญญาได้

    ชาติก่อนเคยบวชไหม ไม่รู้ ลองคิดดูว่าเคยไหม สังสารวัฏฏ์นี้ยาวนานมาก ยาวนานจนกระทั่งมีคำกล่าวว่า ทุกคนที่อยู่ที่นี่ ตรงนี้ ไม่มีใครสักคน ซึ่งไม่เคยเป็นญาติพี่น้องกัน หรือว่าไม่เคยมีความสัมพันธ์ โดยสถานหนึ่งสถานใด เด็กคนนี้อาจจะเป็นแม่ของผู้ใหญ่คนนั้น หรือเป็นพ่อ หรือเป็นอะไรก็ได้ สังสารวัฏฏ์นี้ยาวนานมาก ถ้าสมมติว่าเด็กคนนี้ตายก่อน แล้วก็ไปเกิด ก็อายุมาก แล้วเด็กอีกคนก็ตายไปเกิด ไปเป็นลูกของคนนั้น ก็เป็นเรื่องที่เรารู้ไม่ได้ แต่ให้ทราบว่า จริงๆ แล้ว ธรรมก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องฟัง ทั้งพระวินัยปิฏก พระสุตตันปิฏก และพระอภิธรรมปิฏก

    สำหรับพระวินัยปิฏก สำหรับบรรพชิต เป็นการที่ทรงแสดงว่า สิ่งใดที่ควร สำหรับพระภิกษุ และสิ่งใดที่ไม่ควร เพราะว่าเพศต่างกัน พระภิกษุจะมาอยู่บ้าน ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ เล่นเทนนิส ได้ไหม ไม่ได้ นั่นไม่ใช่นิสัย นั้นไม่ใช่อุปนิสัย พระภิกษุก็ต้องเป็นผู้ที่สงบ ผู้ที่สละ พระภิกษุจะยินดีในการกราบไหว้ของคนอื่น สมควรไหม ไม่ สละ คือ สละทุกอย่าง ถ้าใครจะกราบไหว้ ก็เพราะความดีของคนนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปสำคัญตนว่า เรามีความสำคัญดีพิเศษ และคนอื่นมายกย่องมากราบไหว้ นี่คือ การที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง ต่อไปก็ต้องไม่ลืม ว่าเราศึกษาทั้งหมดเพื่อขัดเกลา เพื่อละทุกอย่าง แม้แต่ความที่ติดในลาภ ในยศ หรือในคำสรรเสริญ

    เพราะว่าขณะนั้น ตรงกันข้ามกับคำสอน เพราะว่าคำสอน สอนให้เห็นโทษของการติด ทุกอย่างที่ติด จะนำความทุกข์มาให้ ถ้าเราชอบช่วยแก้วสวยๆ แล้วถ้วยแก้วแตกก็เป็นทุกข์ ใช่ไหม เราจะชอบใครสักคนหนึ่ง คนนั้นก็ต้องตาย เวลาเขาตาย เราเป็นทุกข์ไหม เราก็เป็นทุกข์ เราชอบอาหารชนิดหนึ่งซึ่งอร่อย แล้ววันนั้นเราไม่ได้ทานอาหารอย่างนั้น เราได้รับประทานอย่างอื่น หรือรสอื่น เราก็เป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้นทุกข์ทั้งหมด ความไม่สบายใจ ความไม่แช่มชื่น มาจากความติดข้อง ถ้าเราคลายความติดข้องลง ไม่เดือดร้อนเลย เปรี้ยวก็ได้ หวานก็ได้ เค็มก็ได้ จืดก็ได้ จะเดือดร้อนไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ทุกคนติดในสิ่งที่เห็น ต้องเห็นสิ่งที่สวยๆ ในเสียงที่ได้ยิน ต้องได้ยินเสียงเพราะๆ ในกลิ่น ก็ต้องเป็นกลิ่นที่หอม ในรส ก็ต้องเป็นรสที่อร่อย ในสิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ต้องสบาย แม้แต่เก้าอี้ ก็ต้องสบาย เก้าอี้ไม่สบายนั่งแล้วเดี๋ยวก็เป็นทุกข์ แล้วเจ็บตรงนั้น ตรงนี้ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดที่จะเป็นความทุกข์ มาจากความติดข้อง พระภิกษุที่มีอัธยาศัย เห็นโทษของกิเลส ความติดข้อง ท่านจึงสามารถสละ เพราะว่าตรงกันข้ามกัน โลภะ คือ ความติด อโลภะ คือ ความไม่ติด ตั้งแต่ก่อนมาฟังธรรม เราติดอะไรไว้เยอะแยะเลย แล้วพอฟังแล้ว ลองคิดดูว่า เราสามารถที่จะละความไม่ติดสักนิดหนึ่งได้ไหม ไม่ต้องหมด ละหมดไม่มีใครละได้ แต่นิดหนึ่งทางตานิดหนึ่ง ทางหูนิดหนึ่ง ทางจมูกนิดหนึ่ง ทางลิ้นนิดหนึ่ง ทางกายนิดหนึ่ง ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เราก็จะเป็นคนที่ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้นต้องทราบจริงๆ ว่าพระวินัยสำหรับบรรพชิต แต่ถ้าสิ่งไหนดี เราทำได้ไหม แม้ว่าเราไม่บวช หรือว่าทำไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่พระ ลองคิด ไม่จำเป็น ใช่ไหมอะไรที่ดี และสากล ไม่ใช่เฉพาะคนไทย ไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธ ไม่ใช่เฉพาะเด็ก ไม่ใช่เฉพาะผู้ใหญ่ วัยไหน แต่สิ่งที่ดี เป็นสภาพธรรมที่ดี จะต้องเป็นดีตลอด ไม่ว่าที่ไหน

    เพราะฉะนั้นถ้าท่านสอน เรื่องการรับประทานอาหาร ในพระไตรปิฏกก็มี ไม่มีการเคี้ยวดังจั๊บๆ อย่างจั๊บๆ ๆ ดีไหม เวลาเคี้ยวไม่ปิดปาก มีเสียงแน่นอนเลย คนโน้นจั๊บ คนนี้จั๊บ ดังสนั่น แล้วก็ไม่งามด้วย แค่นี้พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดง ว่าที่จริงแล้ว กายอย่างไหนสมควร วาจาอย่างไหนสมควร เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นว่า สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ ไม่ต้องไปห่วงเลย ว่าสำหรับบรรพชิต เราทำได้ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปนับด้วย ว่าเรามีศีลเหมือนบรรพชิต หรือเพิ่มขึ้นมากี่ข้อ เพราะเรื่องละ เป็นเรื่องเดียวเท่านั้น คือ เรื่องละทั้งหมด เพราะว่าเราศึกษาถึงปรมัตถ์ เราจะทราบว่าเป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิด และดับ สิ่งที่ดับไปแล้ว กลับคืนมาไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า กระทบแข็งตรงนี้ มีเฉพาะตรงนี้ที่ปรากฏ พอได้ยิน แข็งตรงนี้ก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่มีอะไรเหลือ จริงๆ แล้วไม่เหลืออะไรเลย เพราะฉะนั้นสมควรไหมที่จะติด แต่ว่าต้องติด เพราะว่าปัญญาไม่ถึงระดับที่จะละ นี่เป็นเรื่องที่ไม่จำกัด พระไตรปิฏกอ่านได้ ศึกษาได้ ใครก็ตามที่มีเวลา แล้วก็อยากอ่านพระวินัยปิฏก อ่านเลยเป็นภาษาธรรมดา แล้วก็เป็นเรื่องของการประพฤติทางกายทางวาจา แต่ถ้าไม่เข้าใจต้องถามผู้ที่รู้ เพราะว่าพระวินัยปิฏก เป็นเรื่องของกาย วาจา ก็จริง แต่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นความลุ่มลึกของพระวินัยโดยกิจ กิจ ก็คือ การประพฤติของกาย ของวาจา ชอบฟังเรื่องสนุกๆ ไหม



    หมายเลข 54
    3 ก.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ