ธาตุ ตอนที่ ๒
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อาสีวิสวรรคที่ ๔ อาสีวิสสูตร ที่ ๑ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ภิกษุผู้เจริญสมณธรรม มีทุกขลักษณะเป็นอารมณ์ ข้อความในอรรถกถามีว่า
จริงอยู่ อุคฆฏิตัญญูบุคคลจักบรรลุพระอรหัตด้วยยกหัวข้อแห่งพระสูตรขึ้นเท่านั้น วิปัญจิตัญญูบุคคลบรรลุพระอรหัตด้วยการแจกหัวข้อธรรมโดยพิสดาร เนยยบุคคลกล่าวถึงพระสูตรนั้นบ่อยๆ ใส่ใจโดยแยบคาย คบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตร จึงจักบรรลุพระอรหัต สำหรับปทปรมบุคคล พระสูตรนี้จักเป็นเครื่องอบรมบ่มบารมีในอนาคตแล
พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้ ถ้าใครเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคลที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์โดยเร็ว ก็สามารถบรรลุได้เพียงยกหัวข้อแห่งพระสูตรนี้ขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นผู้ที่ต้องอาศัยพระธรรมเทศนามากกว่านั้น คือ เป็นวิปัญจิตัญญูบุคคล จะบรรลุพระอรหัตด้วยการแจกหัวข้อธรรมโดยพิสดาร ถ้าเป็นเนยยบุคคลจะต้องกล่าวถึงพระสูตรนี้บ่อยๆ เพื่อให้ใส่ใจพิจารณาโดยแยบคาย และต้องคบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตร จึงจะสามารถบรรลุพระอรหัตได้ และสำหรับปทปรมบุคคล พระสูตรนี้จักเป็นเครื่องอบรมบ่มบารมีในอนาคต เพราะว่าพระสูตรนี้กล่าวถึงโทษของการเกิด
ข้อความต่อไปมีว่า
บทว่า จัตตาโร อาสีวิสา ความว่า อสรพิษ (งู) ๔ จำพวก คือ กัฏฐมุขะ ปูติมุขะ อัคคิมุขะ สัตถมุขะ
ไม่ได้อยู่ไกล กำลังอยู่ในตัวทุกคน แต่ยังไม่รู้ความจริงเท่านั้นเองว่า งู ๔ ตัวนั้นได้แก่ รูปซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต
ในงู ๔ จำพวกนั้น ทั่วเรือนร่างของคนที่ถูกงูกัฏฐมุขะกัด จะแข็งกระด้าง เหมือนไม้แห้งในข้อต่อทั้งหลาย ข้อต่อจะแข็งกระด้างตั้งอยู่เหมือนเสียบไว้ด้วยหลาวเหล็ก
ใครเคยมีอาการอย่างนี้บ้างไหม ข้อต่อในร่างกายเคลื่อนไหวไม่สะดวก เป็นเรื่องของธาตุดิน เป็นโทษของธาตุดิน ซึ่งให้โทษเหมือนกับงูกัฏฐมุขะ คือ งูปากไม้ กัด
เรือนร่างของผู้ถูกงูปูติมุขะกัด ก็จะมีน้ำหนองไหลเยิ้มอยู่เหมือนขนุนสุกเน่า เป็นดั่งน้ำที่เขาใส่ไว้ในหม้อเกรอะ
บางท่านอาจจะกำลังเป็นอยู่ แล้วแต่โรค เป็นพิษของธาตุน้ำ
ทั่วเรือนร่างของผู้ถูกงูอัคคิมุขะกัด จะไหม้กระจายไป เป็นเหมือนกำขี้เถ้า และเป็นเหมือนกำแกลบ
นี่เป็นโทษของธาตุไฟ
ทั่วเรือนร่างของผู้ถูกงูสัตถมุขะกัด ย่อมขาดเป็นช่อง เป็นเหมือนสถานที่ฟ้าผ่า และเป็นเหมือนปากที่ต่อเรือนที่ถูกสว่านใหญ่เจาะ
นี่เป็นโทษของธาตุลม
อสรพิษทั้ง ๔ จำแนกโดยพิเศษด้วยประการฉะนี้
ข้อความในพระสูตรนี้ยาว จะขอกล่าวถึงเป็นบางตอนเท่านั้น
ข้อความต่อไป อุปมาว่า
พระราชา คือ กรรม ทรงมอบอสรพิษทั้งหลายแก่บุรุษผู้เป็นโจร
เมื่อได้ทำอกุศลกรรมไว้แล้วก็เหมือนกับผู้ที่เป็นโจร เพราะฉะนั้น เวลาที่ให้ผล กรรมนั้นก็เปรียบเสมือนพระราชา ซึ่งทรงมอบอสรพิษทั้งหลายแก่บุรุษผู้เป็นโจร
แล้วทรงบอกกล่าวแก่เหล่าอสรพิษที่เขาวางไว้ในกะโปรงทั้ง ๔ กะโปรงว่า นี้เป็นผู้บำรุงเจ้านะ
คือ บุรุษผู้เป็นโจรนั่นเองจะเป็นผู้ที่บำรุงเลี้ยงงูทั้ง ๔ ตัว
ลำดับนั้นงูตัวหนึ่งก็เลื้อยออกมา เลื้อยขึ้นตามเท้าขวาของบุรุษนั้น แล้วพัน มือขวาตั้งแต่ข้อมือ แผ่พังพานใกล้ช่องหูขวา นอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้
นี่เป็นเสียงของงู
อีกตัวหนึ่งเลื้อยไปตามเท้าซ้าย แล้วพันมือซ้าย ในที่นั้นนั่นเอง แผ่พังพานที่ใกล้ช่องหูซ้าย แล้วนอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้
ตัวที่ ๓ เลื้อยออกขึ้นไปตรงหน้า พันท้อง แผ่พังพาน ใกล้หลุมคอ นอนทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้
ตัวที่ ๔ เลื้อยไปตามส่วนข้างหลัง พันคอ วางพังพานบนกระหม่อม นอนกระทำเสียงว่า สุสุ ดังนี้
ขณะนี้ครบทั้ง ๔ ตัว ตั้งแต่เท้าขวา เท้าซ้าย ที่หน้าท้อง ข้างหลังพันคอไว้หมด
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1428
นาที 05:52
เมื่ออสรพิษ ๔ ประเภทนั้น อยู่ที่ร่างกายอย่างนี้ บุรุษผู้หวังดีต่อบุรุษนั้น เห็นเขาเข้าจึงถามว่า
พ่อมหาจำเริญ ท่านได้อะไร
ลำดับนั้น เมื่อบุรุษผู้ถูกงูพันนั้นกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ อสรพิษเหล่านี้ พระราชาพระราชทานให้เป็นเครื่องประดับ เป็นพิเศษบางประการ ที่มือทั้งสองเหมือนกำไลมือ ที่แขนเหมือนกำไลต้นแขน ที่ท้องเหมือนผ้าคาดท้อง ที่หูเหมือนตุ้มหู ที่คอเหมือนสร้อยมุกดา และที่ศีรษะเหมือนเครื่องประดับศีรษะ
นี่ความเข้าใจผิดคิดว่า งูพิษทั้ง ๔ มีประโยชน์ คือ เป็นเครื่องประดับ
บุรุษผู้หวังดีนั้นก็กล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ ช่างโง่เขลาจริง ท่านอย่าเข้าใจอย่างนี้ว่า พระราชาทรงยินดีพระราชทานเครื่องประดับนั่นแก่ท่าน ท่านเป็นโจรทำความผิดร้าย ทั้งอสรพิษ ๔ ประเภทเหล่านี้ก็บำรุงยาก ปฏิบัติยาก เมื่อตัวหนึ่งต้องการจะลุกขึ้น ตัวหนึ่งต้องการจะอาบน้ำ เมื่อตัวหนึ่งต้องการจะอาบน้ำ ตัวหนึ่งต้องการจะกิน เมื่อตัวหนึ่งต้องการจะกิน ตัวหนึ่งก็ต้องการจะอาบน้ำ ในงู ๔ ประเภทนั้น ตัวใดยังไม่เต็มความต้องการ ตัวนั้นก็จะกัดให้ตายในที่นั้นนั่นแล
บุรุษผู้นั้นได้ถามผู้ที่หวังดีว่า
ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครๆ ผู้ถึงความสวัสดีปลอดภัยยังจะมีอยู่หรือ
หมายความว่า เป็นไปได้ไหมที่จะพ้นจากงูทั้ง ๔ ตัวนี้
ผู้หวังดีก็ได้กล่าวว่า
เวลาที่พวกราชบุรุษเจ้าหน้าที่เผลอตัว ควรจะหนีไปเสีย ก็จะปลอดภัยได้
เมื่อบุรุษผู้ถูกจับเป็นโจรรู้เรื่องนั้นแล้ว เห็นขณะที่อสรพิษทั้ง ๔ เผลอตัว และปลอดจากราชบุรุษเจ้าหน้าที่ ก็ได้เอามือขวาพันมือซ้าย แล้ววางพังพานไว้ใกล้จอนหู ทำทีประจงลูบคลำร่างอสรพิษตัวที่นอนหลับแล้วค่อยๆ แกะออก แล้วค่อยๆ แกะตัวอื่นๆ ออกไป แล้วก็หนีไป
ซึ่งคำอธิบายมีว่า
กรรมพึงเห็นเหมือนพระราชา ปุถุชนผู้อาศัยวัฏฏะพึงเห็นเหมือนบุรุษผู้ทำผิดกฎหมาย มหาภูตรูป ๔ เหมือนอสรพิษทั้ง ๔ เวลาที่กรรมให้มหาภูตรูป ๔ ในขณะปฏิสนธิของมหาชนนั่นเอง เหมือนในเวลาที่พระราชาทรงให้อสรพิษทั้ง ๔
เวลาที่พระศาสดาตรัสกรรมฐานมีมหาภูตรูปเป็นอารมณ์แก่ภิกษุนี้ แล้วตรัสว่า เมื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในมหาภูตรูป ๔ นี้ ก็จักหลุดพ้นจากวัฏฏะด้วยอาการอย่างนี้ เหมือนเวลาที่ตรัสว่า ท่านจงออกไปในขณะที่อสรพิษเผลอ และในขณะที่ราชบุรุษสงัดเงียบแล้วหนีไปตามคำว่า บุรุษผู้เจริญ กิจใดที่ท่านควรทำ จงทำกิจนั้นเสีย
ทุกคนมีโอกาสจะระลึกลักษณะของมหาภูตรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม จะได้พ้นจากวัฏฏะ
ข้อความต่อไปอธิบายว่า
ธาตุเหล่านั้น มีสภาวะเสมือนกันกับอสรพิษ โดยเหตุเหล่านี้ คือ โดยที่อาศัย โดยความผิดกันแห่งกำลังเร็วแห่งพิษ โดยถือเอาแต่สิ่งไม่น่าปรารถนา โดยบำรุงเลี้ยงยาก โดยเข้าไปหาได้ยาก โดยเป็นสัตว์ไม่รู้คุณคน โดยมีปกติกัดไม่เลือก โดยมีโทษ และอันตรายอย่างอนันต์
แม้แต่เพียงมหาภูตรูป พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงโทษที่จะให้พิจารณาว่า ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเลย ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
สำหรับอสรพิษ คือ งูพิษ ที่ว่ามีโทษ คือ
เมื่อจะยึดเอา ย่อมยึดเอาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ๕ อย่าง คือ ย่อมถือเอาแต่ของเหม็น ถือเอาของไม่สะอาด ย่อมถือเอาแต่ตัวโรค ย่อมถือเอาแต่ของมีพิษ ย่อมถือเอาแต่ความตาย แม้มหาภูตรูปเมื่อถือเอา ย่อมถือเอาแต่สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ๕ อย่าง คือ ย่อมถือเอาแต่ของเหม็น ถือเอาแต่ของไม่สะอาด ถือเอาแต่ความเจ็บ ถือเอาแต่ความแก่ ถือเอาแต่ความตาย
นี่เป็นสำนวนพระสูตร ซึ่งหมายความว่า โทษของมหาภูตรูป คือ เป็นสิ่งที่เหม็น ต้องชำระให้สะอาดหมดจดอยู่เสมอ มิฉะนั้นมีกลิ่นเหม็นแน่ตลอดศีรษะจรดเท้า
ด้วยเหตุนั้น พระโปราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมจับงูอันเปื้อนคูถ มีพิษมาก เป็นผู้เพลิดเพลินงูในโลก ชื่อว่าจับเอาภาวะที่ไม่น่าปรารถนาทั้ง ๕ คือ ของเหม็น ของไม่สะอาด พยาธิ ชรา มรณะเป็นที่ ๕ ภาวะที่ไม่น่าปรารถนา ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ในงูที่เปื้อนคูถ
ปุถุชนผู้บอด และเขลาไม่ฉลาด ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นผู้เพลิดเพลินความเกิดในภพ ชื่อว่าจับอนัตถภาวะที่ไม่น่าปรารถนา คือ ของเหม็น ของไม่สะอาด พยาธิ ชรา มรณะเป็นที่ ๕ ภาวะที่ไม่น่าปรารถนา ๕ เหล่านี้ มีอยู่ในกายอันเป็นดัง งูที่เปื้อนคูถฉะนั้น
ยังไม่เห็นโทษ ใช่ไหม ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงอุปมา หรือทรงแสดงอย่างไรก็ตาม ยากแสนยากที่จะเห็นโทษของมหาภูตรูปซึ่งอยู่ที่ตัว ทั้งๆ ที่เป็นของเหม็นจริงๆ เป็นของไม่สะอาดจริงๆ และมีแต่พยาธิ ชรา และมรณะ แต่ก็ยากจริงๆ ที่จะเห็นโทษ
สำหรับข้อที่ว่า มหาภูตรูปบำรุงเลี้ยงยาก เป็นความจริงไหม ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ไม่ง่ายเลยที่จะเลี้ยงดูมหาภูตรูป เพราะว่าเมื่อปรุงยาแก่ปฐวีธาตุ อาโปธาตุก็กำเริบ เตโชธาตุก็กำเริบ คือ เมื่อปรุงยาแก่ธาตุอันหนึ่ง ธาตุอีกอันหนึ่ง ก็กำเริบ เพราะฉะนั้น จึงทราบว่า ธาตุทั้งหลายเหมือนกัน โดยบำรุงเลี้ยงได้ยาก ด้วยประการฉะนี้ ต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลาสำหรับธาตุทั้ง ๔ ที่จะต้องให้เสมอกันจึงจะดำเนินไปด้วยดี เพราะถ้าธาตุทั้ง ๔ ไม่เสมอกันก็จะมีทุกข์กาย เป็นความเดือดร้อน
สำหรับข้อที่ว่า โดยเข้าไปหาได้ยาก คือ มหาภูตรูปเข้าไปหาได้ยาก เพราะ ไม่รู้เลยว่าขณะนี้เป็นเพียงมหาภูตรูป เพราะว่าเป็นตัวเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะฉะนั้น จึงยากที่จะรู้ว่าเป็นมหาภูตรูป
และมีข้อความ วินิจฉัยในบทว่า ทุราสทโต ดังต่อไปนี้
จริงอยู่ อสรพิษทั้งหลาย ชื่อว่าพบได้ยาก คนทั้งหลายพบอสรพิษที่หน้าเรือน ก็จะหนีไปทางหลังเรือน พบที่หลังเรือนก็จะหนีไปทางหน้าเรือน พบกลางเรือนก็จะหนีเข้าห้อง พบที่ห้องก็จะหนีขึ้นเตียงตั่ง มหาภูตรูปทั้งหลายชื่อว่าพบได้ยากมากกว่านั้น
สำหรับข้อที่ว่า อสรพิษทั้งหลายย่อมไม่รู้อุปการะอันผู้อื่นกระทำแล้ว แม้มหาภูตรูปก็เช่นเดียวกัน คือ แม้เมื่อเขาให้ก็ดี ให้บริโภคก็ดี บูชาอยู่ด้วยของหอม และดอกไม้เป็นต้นก็ดี แสวงหาแต่โอกาสเท่านั้น ได้โอกาสในที่ใดก็กัดเขาให้ตายใน ที่นั้นนั่นแล มหาภูตรูปทั้งหลายต่างหาก ไม่รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วยิ่งกว่าอสรพิษทั้งหลาย
ถ้าเลี้ยงงู งูก็กัด แต่มหาภูตรูปทั้ง ๔ เลี้ยงตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ก็เป็นผู้ที่ไม่รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วยิ่งกว่าอสรพิษทั้งหลาย
ที่มา ...