ธาตุ ตอนที่ ๓
จริงอยู่ สิ่งที่ชอบใจอันมหาภูตรูปเหล่านั้นทำแล้วไม่มีเลย แม้เขาให้อาบน้ำที่ไม่มีมลทิน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำร้อนก็ดี สักการะอยู่ด้วยธูป ของหอม และดอกไม้เป็นต้นก็ดี ประคบประหงมอยู่ด้วยผ้าอันนุ่ม ที่นอนอันนุ่ม และที่นั่งอันนุ่ม เป็นต้นก็ดี ให้กินอาหารอย่างดีก็ดี ให้ดื่มน้ำอย่างดีก็ดี ก็ยังคอยแสวงหาแต่โอกาส อยู่นั้นเอง ได้โอกาสในที่ใด โกรธขึ้นมาก็ทำให้ถึงความย่อยยับในที่นั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า มหาภูตรูปเสมือนกันกับอสรพิษ โดยไม่รู้คุณคนด้วยประการฉะนี้
ข้อความต่อไป
อสรพิษไม่รู้คุณ ไม่ได้เลือกว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์ เป็นแพศย์ หรือศูทร เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต ย่อมกัดผู้ที่มาประจวบเข้าให้ตายไปทั้งนั้น แม้มหาภูตรูปก็ย่อมไม่เลือกว่า ผู้นี้เป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์ เป็นแพศย์หรือศูทร เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิต เป็นเทพหรือมนุษย์ เป็นมารหรือพรหม ไม่มีคุณหรือมีคุณ
ถ้าพวกอสรพิษเกิดความอายขึ้นว่า ผู้นี้เป็นผู้มีคุณไซร้ พวกมันก็จะพึงให้เกิดความละอายขึ้นในพระตถาคต ผู้เป็นพระอัครบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก แม้ถ้าหากพวกมันเกิดความละอายขึ้นโดยนัยมีอาทิว่า ผู้นี้เป็นผู้มีปัญญามาก ผู้นี้เป็นผู้มีฤทธิ์มาก และผู้นี้เป็นผู้ทรงคุณทางธุดงค์ แต่ถ้าพวกมันพึงให้เกิดความละอายขึ้นในพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระเป็นต้น หรือมิฉะนั้นถ้าพวกมันพึงเกิดความกลัวขึ้นว่า ผู้นี้ไม่มีคุณ เป็นผู้ทารุณ กระด้าง พวกมันก็พึงก็กลัวต่อท่านพระเทวทัต หรือ ต่อศาสดาทั้ง ๖ ผู้ไม่มีคุณ ผู้ทารุณ ผู้กระด้าง อสรพิษไม่ละอาย และไม่กลัว โกรธขึ้นมาก็ทำให้ถึงความย่อยยับอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทั้งนั้น พึงทราบว่า มหาภูตรูปเป็นเหมือนกัน โดยไม่เลือกด้วยประการฉะนี้
ข้อความต่อไปยาวกว่านี้มาก แต่ขอกล่าวถึงโดยย่อๆ สำหรับโทษ และอันตรายที่อสรพิษเกิดขึ้นไม่มีประมาณ คือ
เวลากัดแล้วทำให้ตาบอดบ้าง เป็นคนเปลี้ยบ้าง หรือว่าเป็นคนร่างพิการไปแถบหนึ่งบ้าง ด้วยประการฉะนี้ แม้ภูตรูปทั้งหลายโกรธขึ้นมาแล้ว ย่อมกระทำความพิการบางอย่าง บรรดาความพิการทั้งหลายมีตาบอดเป็นต้น และโทษ และอันตรายของภูตรูปเหล่านั้นหาประมาณมิได้ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ภูตรูปเหล่านั้น เสมือนกัน โดยมีโทษ และอันตรายหาประมาณมิได้
การที่จะหนีจากมหาภูตรูป ไม่ง่ายเลย เป็นเรื่องที่ยาก แม้โดยคำอุปมาที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เมื่อบุรุษผู้เป็นโจรนั้นเห็นภัยของอสรพิษแล้วหนีไป ก็ยังถูกอสรพิษติดตาม ไม่ยอมที่จะให้จากไปง่ายๆ
ข้อความต่อไปมีว่า
พระราชาทรงสดับว่า บุรุษนั้นหนีไปแล้ว จึงทรงดำริว่า ใครหนอจักอาจติดตามไปฆ่าบุรุษนั้นได้
ไม่ยอมที่จะปล่อยไปง่ายๆ เลย
จึงเลือกได้คน ๕ คนผู้เป็นศัตรูต่อบุรุษนั้น ทรงส่งไป แล้วตรัสสั่งว่า พวกเธอจงไป จงติดตามไปฆ่าบุรุษนั้นเสีย
ลำดับนั้น บุรุษผู้หวังดีต่อบุรุษผู้เป็นโจรนั้นทราบเรื่องแล้ว ก็ได้บอกบุรุษผู้เป็นโจรนั้นซึ่งมีความกลัวเหลือประมาณให้หนีไป
นอกจากมหาภูตรูป ๔ ซึ่งเป็นเหมือนกับงูพิษ ๔ ตัวแล้ว ยังมีคนที่เป็นศัตรูของบุรุษนั้นอีก ๕ คน ได้แก่ ขันธ์ ๕ เพราะว่าไม่ใช่มีแต่กายซึ่งประกอบด้วยมหาภูตรูปเท่านั้น แต่ยังมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเพื่อให้รับผลของกรรม คือ ทำให้เกิดวิบากจิต เห็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม หรือว่าได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ไม่ดี
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ที่เรียกว่า บุรุษผู้เป็นศัตรู คือ เป็นผู้ที่ฆ่า เพราะเหตุว่าขันธ์ทั้งหลาย ย่อมฆ่าซึ่งกัน และกัน
อันดับแรก รูปย่อมฆ่าทั้งรูป ทั้งอรูป อรูปย่อมฆ่าทั้งอรูป ทั้งรูป อย่างไร
คือ เวลาที่ปฐวีธาตุแตก หรือดับไป ย่อมพาเอาธาตุ ๓ นอกนี้แตกไปด้วย
คือ ต้องดับพร้อมกับปฐวีธาตุนั่นเอง แม้ในอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ก็โดยนัยเดียวกัน เมื่อเกิดก็เกิดพร้อมกัน ดับก็ดับพร้อมกัน และเมื่อเกิดขึ้นต่างก็อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เมื่อดับก็พากันดับตามกันไปด้วย เพราะฉะนั้น รูปชื่อว่าฆ่ารูป นั่นแหละก่อน ด้วยอาการอย่างนี้
ส่วนเวลาที่รูปขันธ์แตก อรูปขันธ์ทั้ง ๔ ก็ดับพร้อมกัน แตกไปด้วย
ในขณะนั้น รูปฆ่าอรูปด้วยอาการอย่างนั้น
สำหรับที่ว่า อรูปย่อมฆ่าทั้งอรูป ทั้งรูป อย่างไร
เวลาที่เวทนาขันธ์ดับ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ก็ดับไปพร้อมกันด้วย นั่นคืออรูปฆ่าอรูป
ส่วนในขณะจุติ เวลาที่อรูปขันธ์ ๔ ดับ ทำให้รูปที่เป็นกัมมชรูปดับพร้อมกันไป แตกไปด้วย ชื่อว่า อรูปชื่อว่าฆ่ารูป ด้วยอาการอย่างนี้
เวลาตาย จุติจิตดับพร้อมกับรูป เพราะฉะนั้น ชื่อว่าอรูปฆ่ารูป
เมื่อบุรุษผู้เป็นโจรหนีไป พวกอำมาตย์ก็ได้กราบทูลพระราชาอีกว่า
บุรุษโจรผู้นี้ ถูกพวกอสรพิษติดตามไปก่อน ได้ลวงอสรพิษเหล่านั้นท่าโน้นท่านี้หนีไป บัดนี้เขาถูกศัตรู ๕ คนติดตาม ก็หนีเตลิดไป
เมื่อเขาถูกศัตรู ๕ คนติดตาม หนีไป พระราชาทรงทราบ ก็ต้องการจับไว้ ไม่ปล่อย เพราะฉะนั้น ก็ให้คนที่สนิทสนมกับเขาซึ่งเป็นคนภายใน เคยกินเคยดื่มร่วมกันตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ติดตามไป เพื่อจะฆ่าอีก
ทราบไหมว่าใคร คนสนิทสนมภายใน เคยกินเคยดื่มร่วมกันตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ก็คือ โลภะ อยู่จนคุ้นเคยสนิทสนม คุ้นเคยมากตลอดเวลา เพราะฉะนั้น
ให้คนที่ ๖ คือ นันทิราคะ หรือโลภะ ติดตามไปพูดเกลี้ยกล่อมว่า กลับมาเสียเถิด อย่าหนีเลย กลับมาบริโภคกามกับบุตรภรรยา แล้วจักอยู่เป็นสุข
แต่ความกลัวของเขามากมาย หนีซอกซอนต่อไป จนกระทั่งไปถึงบ้านร้าง หมู่หนึ่ง ซึ่งมีกระท่อม ๖ หลัง อยู่ตรงหน้า ปลายเขตแคว้น แต่เป็นกระท่อมเปล่า ไม่มีอะไรเลย
เมื่อบุรุษผู้เป็นโจรนั้นไม่ได้อะไรๆ ในเรือนสักหลังเดียว ในจำนวนเรือนทั้ง ๖ หลัง แต่แล้วก็เห็นแผ่นกระดานคดๆ ที่เขาปูไว้ที่ใต้ต้นไม้ ที่มีเงาสงบต้นหนึ่งที่อยู่กลางหมู่บ้าน ก็คิดว่า จักนั่งในที่นี้ก่อน แล้วก็ไปนั่งในที่นั้น มีลมอ่อนๆ พัดโชยมา ทำให้ระลึกถึงความสุขแม้มีประมาณเท่านั้นเองโดยสงบ ซึ่งบุรุษผู้หวังดีก็ได้กล่าวว่า อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเป็นที่สงบ ไม่มีภัยเฉพาะหน้า เพราะฉะนั้น เขาควรที่จะข้ามไปสู่ฝั่งนั้น
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ย่อมไม่เห็นสาระของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่เชื่อคำชักชวนของสหายซึ่งเคยกินดื่มกันมาตั้งแต่หนุ่ม คือ โลภะ เพราะว่าความยินดีนั้นเหมือนกับเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยทำศีรษะคือปัญญาให้ตกไป และโดยทำให้เข้าถึงการเกิด เพราะเวลาที่อิฏฐารมณ์ปรากฏทางตา โลภะก็เกิดขึ้น ขณะใดที่ เห็นสิ่งที่น่าพอใจทางตา และโลภะเกิดขึ้น ขณะนั้นศีรษะคือปัญญาเป็นอันชื่อว่าตกไป ทุกขณะที่มีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขณะนั้นปัญญาไม่เกิด
นอกจากนั้น โลภะยังทำให้เข้าถึงการเกิดด้วยอัณฑชกำเนิดเป็นต้น เพราะว่าการเกิดมี ๔ อย่าง ได้แก่ การเกิดเป็นโอปปาติกกำเนิด คือ เกิดเป็นตัวขึ้นมาทันที การเกิดโดยอัณฑชกำเนิด คือ เกิดในไข่ ชลาพุชกำเนิด คือ เกิดในครรภ์ และ สังเสทชกำเนิด คือ กำเนิดในสิ่งสกปรกต่างๆ
นี่ก็คือภัยของโลภะ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1429
นาที 11:42
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมให้ผู้ที่ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ ได้พิจารณา เพื่อเป็นเครื่องอบรมบ่มนิสัยในอนาคต
สำหรับภัยของการเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าได้พิจารณาแล้ว บางท่านย่อมเกิดความเพียรที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส เพราะแม้จะมีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม ก็ยังต้องอาศัยวิริยกถาให้เกิดความเพียร ที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรม
และทั้งๆ ที่เป็นเพียงนามธรรม และรูปธรรม สติก็ไม่ระลึกที่ลักษณะที่เป็นนาม หรือลักษณะที่เป็นรูป จึงต้องอาศัยพระธรรมเทศนาอย่างมาก เช่น การแสดงโทษภัยของการเกิดในอบายภูมิ ซึ่งถ้าได้พิจารณาจะทำให้เห็นว่า ในชาติที่เป็นมนุษย์ มีโอกาสที่จะเจริญกุศลทุกประการ ทั้งในเรื่องของทาน ศีล ในความสงบของจิต และในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมปัญญาให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่มีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม ไม่มีใครชี้หนทางทำให้ปัญญาเจริญได้
สำหรับธรรมที่เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นของวิริยะ ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต แสดงธรรม ๑๑ ประการ ที่เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งวิริยสัมโพชฌงค์ คือ ความพิจารณาเห็นภัยในอบาย ๑
สำหรับข้อที่ว่า วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ผู้พิจารณาอบาย คือ การเกิดในอบายภูมิ ได้แก่ การเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นดิรัจฉาน มีข้อความว่า
ใครๆ ไม่อาจจะเจริญความเพียรให้เกิดขึ้น ในขณะที่กำลังได้รับความทุกข์ทางกายอย่างใหญ่หลวงได้ในนรก
แม้แต่เป็นมนุษย์ เวลาที่เกิดทุกขเวทนามาก บางท่านก็กล่าวว่า ไม่สามารถระลึกลักษณะของสภาพของนามธรรม และรูปธรรมได้ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่ายังอบรมเจริญปัญญา และสติปัฏฐานไม่พอ แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐานมากพอที่จะมีกำลังแล้ว สติปัฏฐานย่อมสามารถระลึกได้
แต่ในนรก สัตว์ในนรกได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลาอย่างมาก และปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบากด้วย เพราะฉะนั้น ไม่มีปัจจัยทำให้สามารถเจริญปัญญาได้
สำหรับสัตว์ดิรัจฉาน เวลาที่ถูกจับด้วยแห และอวน เช่น พวกปลา ปู กุ้ง หรือเวลาลากเกวียน เช่น พวกโค หรือกำเนิดเป็นเปรต เวลาที่กระสับกระส่ายด้วย ความหิว ความกระหายตลอดพันๆ ปีบ้าง หรือว่าพุทธันดรหนึ่งบ้าง เหล่านั้น ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้
เพราะฉะนั้น ในอบายภูมิทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เกิดเป็นเปรต ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้
สำหรับอกุศลวิบากซึ่งทำให้ปฏิสนธิในภูมิ ที่มองเห็น ได้แก่ ภูมิดิรัจฉาน จะเห็นได้ว่า ไม่มีดิรัจฉานไหนที่สามารถเจริญกุศลได้เหมือนอย่างมนุษย์ เพราะแม้แต่การดำรงชีพอยู่ก็ด้วยความยากลำบาก ถ้าหิวก็ต้องแสวงหาอาหารตามกำลัง ไม่สามารถปลูกข้าว ต้มแกง ทำอะไรได้ และเวลาที่เจ็บป่วย จะมีการรักษาพยาบาลอย่างมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้
เมื่อเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานแล้ว มีมหาภูตรูปเกิดด้วย และมีจักขุปสาทซึ่งเป็นกัมมชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม มีโสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ตามควรแก่ลักษณะของสัตว์นั้นๆ และมีโลภะ โทสะ โมหะมากๆ เหมือนมนุษย์ไหม ลองเปรียบเทียบดู เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานประเภทใด มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และมีโลภมูลจิต มีโทสมูลจิต มีโมหมูลจิต เหมือนมนุษย์ไหม
ถ้าเทียบกลับกัน ใครก็ตามซึ่งวันหนึ่งๆ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นโลภะไปทั้งวัน หรือเป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง จะต่างอะไรกับโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิตของสัตว์ดิรัจฉานไหม ถ้าเพียงเท่านี้ จะไม่มีความต่างกันเลย แต่การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม จิตที่ปฏิสนธิเป็นกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น มีความต่างกันตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ซึ่งจะทำให้กุศลจิตในอดีตที่เคยเกิดแล้วมีปัจจัยที่จะเกิดอีกได้มากกว่าผู้ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือผู้ที่เกิดในอบายภูมิ เพราะเหตุว่าปฏิสนธิเป็นผลของกุศล จิตที่ปฏิสนธิก็เป็นกุศลวิบาก
ที่มา ...