สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๐
วันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ท่านพระสารีบุตร ทำไมเพียงคำไม่กี่บทท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าสภาพธรรมไม่เปลี่ยน เป็นจริงทุกกาลสมัย คือเกิดแล้วดับจริงๆ ขณะนี้ เพราะเหตุว่าถ้าขณะนี้เห็นยังเห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่ดับ จิตได้ยินจะเกิดไม่ได้เลย ขณะใดที่จิตได้ยินเกิดหมายความว่าขณะนั้นมีจิตที่ได้ยินเสียง ไม่ใช่จิตเห็น เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดเห็น กับเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดได้ยินก็ห่างกัน จักขุปสาทอยู่กลางตาเป็นปัจจัยให้เห็น โสตปสาทอยู่กลางหูเป็นปัจจัยให้ได้ยิน ระหว่างโสตปสาทกับจักขุประสาท ห่างกันไหม มีอากาศธาตุแทรกขั้นอย่างละเอียดยิบ เพราะฉะนั้นยิ่งศึกษายิ่งมีความเข้าใจตรงขึ้นว่า สภาพธรรมปรากฏเกิดขึ้นเล็กน้อยมาก ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าปริตตะ เล็กน้อยจริงๆ เกิดขึ้น และก็ดับไป แต่ต้องประจักษ์ด้วยปัญญา และผู้ที่ประจักษ์แล้วมี ไม่ใช่หนทางนี้เป็นโมฆะ แต่ต้องเป็นหนทางที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม โดยที่ไม่ต้องไปกังวลว่าแล้วเมื่อไรเราจะรู้ นี้คือความเหนียวแน่นของความเป็นตัวตน ทุกอย่างเป็นปกติ และก็มีความตรงว่าเมื่อเข้าใจแค่นี้ รู้แค่นี้ ก็อบรมเจริญปัญญาต่อไป ปัญญาก็คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ว่าเป็นธรรม ก็ต้องค่อยๆ สะสม
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะเน้นตรงที่ว่าให้เข้าใจว่าไม่ใช่เรา ตรงที่ไม่ใช่เรา เคยคิดอยู่ว่าเวลาที่รับประทานอาหารลงไปแล้ว จะทำอะไรก็ไม่ได้ จะบังคับบัญชาไม่ได้ ก็เข้าใจอย่างนี้เรื่องหนึ่ง และอีกอย่างไม่อยากจะเจ็บไข้ ก็เจ็บ ก็เลยคิดว่าตรงนี้ใช่ไหมที่ว่าไม่มีตัวเราที่จะบังคับบัญชา
ท่านอาจารย์ เอาให้ใกล้กว่านั้นอีกนิด ไม่อยากจะเห็นก็เห็น ไม่อยากจะได้ยินก็ได้ยิน ไม่อยากจะคิดก็คิดทุกอย่างหมดเลย ไม่ใช่เฉพาะแต่เวลาที่รับประทานอาหารกลืนเข้าไปแล้วจะไปทำอะไรที่ในร่างกาย แต่ทุกขณะนี้ให้ทราบว่าบังคับบัญชาไม่ได้เลย จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้นละเอียดขึ้น ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ขณะต่อไปไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อาจมีเสียงดัง อาจจะมีกลิ่น หรืออาจมีอะไรก็ได้ ใช่ไหม ที่มีปัจจัยก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็ไม่ปรากฏ สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้วก็หมดแล้วจะตามไปรู้ก็ไม่ได้ แต่สิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏในขณะนี้แสดงว่าถึงกาลที่จะเกิดขึ้น อย่างได้ยิน กำลังได้ยินเสียงปรากฏนี้ก็แสดงว่าถึงเวลาที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหมด ซึ่งต่อไปก็คงจะเป็นเรื่องของจิตชาติต่างๆ ที่เป็นกุศล อกุศล และก็เป็นวิบากคือผลของกุศล อกุศล
ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารจ์กล่าวแล้วรู้สึกน่ากลัว เพราะว่าเราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเราแล้วจะทำอะไรก็ไม่ได้ น่ากลัว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจขึ้น ความกลัวก็จะลดน้อยลง เพราะรู้ว่าทุกอย่างไม่มีใครจะไปบังคับบัญชาได้
ผู้ฟัง ขอเรียนถามถึงความแตกต่างปัญญาที่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่เกิดดับกับกัมมัสสกตาปัญญา
ท่านอาจารย์ ก็เป็นภาษาบาลี คุณสุภีร์ก็คงจะแปลให้ฟังก่อน
อ. สุภีร์ คำว่าปัญญาก็คือการรู้ความจริง คำว่ากัมมัสสกตา ก็คือ การรู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ก็คือการที่จะเห็นจะได้ยินจะได้กลิ่นจะลิ้มรสจะกระทบสัมผัส หรือว่าจะได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็มาจากกรรมของตน อย่างนี้เรียกว่ากัมมัสสกตา กัมมัสสกตาปัญญาก็คือปัญญาหรือว่าความเข้าใจถูกที่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน
ท่านอาจารย์ เรื่องของกรรม เป็นเราหรือเปล่า ต้องย้อนกลับไป ถ้าไม่ย้อนกลับไปก็คือว่าอัตตสัญญาก็มาอยู่เรื่อยๆ ไหนๆ เราก็เข้าใจแล้วว่าทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีเราปรมัตถ์ธรรมก็คือจิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่ง นิพพานก็ไม่มีที่จะปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นกรรมนี้เป็นเราหรือเปล่า หรือว่าเป็นธรรม กรรมเป็นธรรม เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม กรรมเป็นนามธรรม เรื่องของกรรมกับวิบาก ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราเดาตามความคิดของเรา แม้แต่คำว่ากรรม หรือแม้แต่คำว่าผลของกรรม แต่ในพระพุทธศาสนานี้ไม่มีการเดาด้วยความไม่รู้ แต่เป็นความชัดเจน ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่ใช่เฉพาะรูปที่เกิด ต้องมีจิตเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดด้วยสำหรับสัตว์บุคคลที่มีชีวิต ต่างกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ต่างกับต้นไม้ใบหญ้า เพราะฉะนั้น การเกิดเป็นคนหรือว่าจะเป็นสัตว์หรือจะเป็นเทวดา หรือจะเป็นพรหม ก็คือต้องมีสภาพที่เป็นนามธรรมเกิดพร้อมกับรูปธรรมแล้วแต่ว่าในภูมินั้นจะมีครบ ๕ ขันธ์ หรือว่ามีเพียง ๑ ขันธ์ หรือว่ามีเพียง ๔ ขันธ์ นี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดต่อไป จากการตรัสรู้ ทรงแสดงจักรวาลทั้งหมด โลกทั้งหมด สวรรค์ทุกชั้น พรหมโลกทุกภูมิ แต่ว่าสำหรับเราซึ่งเกิดมาในโลกนี้ก็ต้องทราบว่าขณะแรกก็คือจิตเจตสิกเกิด ขณะนั้นทำกรรมอะไรหรือเปล่า ทันทีที่จิตนี้เกิดขึ้นเป็นขณะแรกในโลกนี้ ถ้าไม่มีจิตขณะแรกจะมีจิตขณะนี้ได้ไหม ถอยไปจนกระทั่งถึงขณะแรกที่เกิดขึ้น ที่จะเข้าใจเรื่องกรรมกับวิบากก็ให้ทราบว่าทันทีที่จิตขณะแรกเกิด จะเป็นกรรมหรือว่าจะเป็นผลของกรรม สิ่งนี้เราค่อยๆ พิจารณาเองก็ได้ ลองคิดดู ขณะนั้นทำกรรมอะไรหรือเปล่า ทำกุศลอะไรหรือเปล่าขณะแรกที่เกิด ไม่ได้ทำอะไร แต่กรรมทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นกรรมเป็นนามธรรม จิต เจตสิก ผลของกรรมก็คือจิต เจตสิกนั่นเอง แต่ต่างประเภท จิต เจตสิกประเภทนี้ทำกรรมแม้ว่ากรรมนั้นจะสำเร็จไปแล้ว ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว แต่ว่าเป็นกัมมปัจจัยสืบต่ออยู่ในจิตขณะต่อๆ ไป พร้อมที่เมื่อถึงกาลที่จะให้ผลเมื่อไรผลนั้นก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะพูดเรื่องกรรม และผลของกรรมในพระพุทธศาสนา เป็นความชัดเจนว่าต้องเป็นเรื่องของนามธรรม ทั้งกรรม และผลของกรรมซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า วิปาก สุกงอมพร้อมที่จะเกิด หรือหมายความว่าถึงกาลนั่นเอง ขณะแรกที่สุด ก็เป็นผลของกรรมหนึ่ง ทุกคนทำกรรมมามาก ชาตินี้นับได้หรือไม่ว่าทำกรรมอะไรบ้าง รวมกับชาติก่อนๆ โน้นสามารถที่จะให้ผล ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ ปฏิสนธิจิตหมายความว่าจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิต ที่เราใช้คำว่าตายแล้วเกิดทันที ไม่ต้องไปล่องลอยอยู่ที่ไหน แต่หมายความว่าสภาพของจิต เป็นอนันตรปัจจัย คำว่าอนันตรปัจจัยหมายความว่าเป็นสภาพที่ทันทีที่จิตนั้นดับลง ก็จะเป็นปัจจัยให้จิตเจตสิกขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้นขณะจิตเดี๋ยวนี้ ขอให้ทราบว่าถอยกลับไปได้หมดแสนโกฐกัปป์ ว่าแต่ละขณะดับแล้วก็มีจิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อไม่ว่างเว้นเลย จิตทำงานตลอด เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่ทราบแล้วก็จะเหน็ดเหนื่อยต่อไปอีกเท่าไรก็ไม่ทราบ เพราะว่าเป็นภาระที่หนักจริงๆ ที่ต้องเกิดขึ้นเห็นบ้าน ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้างแต่ละภพแต่ละชาติไป เพราะฉะนั้นขณะแรกที่เกิด เป็นวิบากคือเป็นผลของกรรม ถ้าเรารู้อย่างนี้จะเป็นกัมมัสสกตาปัญญาหรือไม่ คุณสุภีร์
อ. สุภีร์ เริ่มรู้ และมีมากกว่านี้อีก
ท่านอาจารย์ ก็เริ่มที่จะรู้ว่าผลของกรรมเมื่อไรบ้าง ขณะแรกคือปฏิสนธิจิตเกิดมาแล้วต่างกันมากมาย แล้วแต่กรรมที่ได้กระทำ เราไม่สามารถจะเลือกมารดาบิดาได้ไม่สามารถที่จะเลือกวงศาคณาญาติได้ ไม่สามารถที่จะเลือกประเทศที่เกิดได้เลยแล้วแต่กรรมทำให้เกิดขึ้น และเวลาที่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรมเกิด และดับไป กรรมไม่ได้ทำเพียงให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว พอไหม ทำกรรมมาแล้วทำให้เกิดผลขณะเดียวคือขณะแรก ไม่พอ เพราะฉะนั้นกรรมนั้นเองที่ทำให้ทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับ กรรมประเภทเดียวกันที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดเป็นจิตประเภทเดียวกันแต่ทำกิจต่างกัน เพราะว่าจิตขณะแรกคือปฏิสนธิจิต ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนขณะเดียว แล้วไม่มีปฏิสนธิจิตอีก จะเกิดอีกไม่ได้ต้องตายก่อน เพราะฉะนั้นหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้วคนนั้นก็ยังไม่ตาย กรรมก็ทำให้วิบากจิตเกิดสืบต่อทำภวังคกิจ หมายความว่าดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะสิ้นกรรม ที่จะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นจะกลับมาเป็นบุคคลนั้นอีกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่ทุกคนยังอยู่ก็เพราะเหตุว่ากรรมนั้นยังไม่ทำให้จากโลกนี้ไป แต่ยังทำให้หลับไปคืนนี้ ตื่นขึ้นมาก็เป็นคนนี้ แล้วก็เห็น ได้ยิน แล้วก็จำเรื่องราวต่างๆ ได้ต่อไปเหมือนเดิม จนกว่าจะถึงจุติจิตคือจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ แต่เริ่มทราบผลของกรรมแล้ว ปฏิสนธิจิตหนึ่ง ขณะที่เกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แล้วต่อจากนั้น ก็ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินยังไม่ได้คิดนึก เพียงแต่ว่าจิตเกิดดับเร็วมาก เมื่อจิตขณะแรกดับไปแล้ว จิตขณะต่อไป ทำภวังคกิจหลายขณะ ขณะใดก็ตามที่เป็นปฏิสนธิจิตหรือภวังคจิต โลกนี้ไม่ปรากฏ ตอนที่อยู่ในครรภ์ มีตาหรือยัง เกิดมาหนึ่งขณะจิตแล้วก็ดับไป แล้วขณะที่ สองก็เป็นภวังค์ ตอนนั้นมีตา มีหูหรือยัง ยังไม่มี เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วก็คือว่ามืดสนิท ที่สว่างเพราะมีตา มีจักขุปสาท ถ้ากระทบกับสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ เป็นวรรณะ เป็นแสงสว่าง เป็นสีสรรต่างๆ แต่ขณะปฏิสนธิ ลองคิดดู มืดแค่ไหน แต่มีจิต เจตสิกเกิดแล้วเป็นผลของกรรม และถ้าศึกษาต่อไปก็จะทราบได้ว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กรรมทำให้รูปเกิดพร้อมกับจิตเจตสิก ซึ่งทำกิจปฏิสนธิพร้อมกันเลย คือมีทั้งจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นทำไมเราหน้าตาไม่เหมือนกัน รูปร่างไม่เหมือนกัน กัมมชรูปคือรูปที่เกิดจากกรรม ตั้งแต่ขณะแรกที่ปฏิสนธิจนกระทั่งสืบต่อมาถึงกาลที่มีตา มีหู มีกายเติบโตขึ้น ซึ่งขณะแรกที่เป็นปฏิสนธิจิตเกิด ขณะนั้นยังไม่มีรูปร่างที่จะปรากฏว่าเป็นคน เป็นช้าง เป็นอะไรเลย แต่ว่าหลังจากนั้น ก็จะมีธาตุไฟของกัมมชรูปที่จะทำให้รูปเติบโตขึ้น แล้วก็เป็นไปตามกรรม มดตัวเล็กก็มีปฏิสนธิจิต มีภวังค์จิต ช้างตัวใหญ่ ขณะที่เกิดก็มีปฏิสนธิจิต มีภวังค์จิตแต่ยังไม่มีรูปร่างที่จะเป็นนกเป็นช้างเลยจนกว่าจะเจริญเติบโตขึ้น และเป็นคนก็มีตา มีหู ตาก็แค่สองตา ทำไมไม่เหมือนกันเลย มีใครเหมือนกันบ้างไหม ในอดีตจนกระทั่งถึงบัดนี้ก็แค่ตา หู จมูก รูปหน้าก็ไม่เหมือนกัน ตามกรรม เพราะฉะนั้นกรรมก็จำแนกให้ต่างกันแม้แต่ในรูปร่าง นิสัยใจคอการสะสมมา อะไรๆ หลายอย่าง แต่ให้ทราบว่าถ้ากรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ สมควรจะเป็นการได้รับผลของกรรมหรือเปล่า หรือควรจะมีผลของกรรมอื่นอีกไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะว่าขณะนั้นโลกไม่ปรากฏ ไม่เห็น ไม่ได้ยินไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เช่น ขณะที่นอนหลับสนิท ขณะนั้นเห็นอะไรหรือไม่ ได้ยินหรือไม่ ได้กลิ่นหรือไม่ ลิ้มรสหรือไม่ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือไม่ คิดหรือไม่ ขณะหลับสนิท นั่นคือจิตทำภวังคกิจสืบต่อดำรงภพชาติเพื่อที่จะได้รับผลของกรรมทางตาคือเห็น ต้องเห็น ที่เมื่อสักครู่กล่าวว่าไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะว่ากรรมทำให้รูปนั้นเกิดขึ้นพร้อมที่จะให้เกิดผลของกรรมคือ ขณะใดที่เห็นคือผลของกรรม
กรรมมี ๒ อย่าง คือกุศลกรรมกับอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของกุศล เห็นสิ่งที่ดี เลือกไม่ได้ว่าในชีวิตหนึ่งของแต่ละคน ใครจะเห็นอะไรมากน้อยแค่ไหน จะเห็นสิ่งที่น่าพอใจมาก หรือเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจมาก ถ้าเราเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เราก็อาจจะน้อยใจโทมนัส แต่ถ้าเรารู้ว่าไม่มีใครทำให้เลย เราทำเองทั้งหมด เป็นผลของกรรมของเราทั้งนั้นทุกวันที่เห็น แล้วแต่ว่าจะเห็นอะไร ทุกขณะที่ได้ยิน ทุกขณะที่ได้กลิ่น ทุกขณะที่ลิ้มรส ทุกขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสนี้คือผลของกรรม เป็นจิตซึ่งอาศัยตาเห็นรับผลของกรรม อาศัยหูเกิดการได้ยินรับผลของกรรม อาศัยจมูกได้กลิ่นรับผลของกรรม อาศัยลิ้นลิ้มรสรับผลของกรรม อาศัยกายกระทบสัมผัสรับผลของกรรม และไม่มีใครรู้ว่ากรรมใดจะให้ผลอะไรเมื่อไร กำลังแข็งแรงดีพรุ่งนี้เจ็บป่วยได้ไหม ทางกาย นั่นคือถึงกาลที่กรรมนั้นจะให้ผล วิบากจิตคือผลของกรรมก็เกิดขึ้น นี่ก็คือชีวิตวันหนึ่งวันหนึ่งซึ่งพระพุทธศาสนานี้ทรงแสดงไว้ชัดเจนถึงกิจของจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นว่าจิตนั้นเป็นจิตประเภทที่เป็นเหตุ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ซึ่งจะทำให้เกิดวิบากคือผลซึ่งเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก
ตอนนี้ก็คงจะเข้าใจแน่นอน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็คือทำเอง ไม่ใช่คนอื่นทำให้ มีพระสูตรหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ที่เป็นสาวก ถึงแม้ว่าโจรจะกำลังเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ถ้าบุคคลนั้นโกรธก็คือไม่ใช่ผู้ที่เป็นสาวก หรือผู้ที่ทำตามคำสอนของพระองค์ เพราะถ้าเราไม่มีกรรมที่ทำมาแล้วสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ ทุกคนก็มีกาย แต่ทำไมสิ่งนั้นเกิดขึ้น และการให้ผลของกรรมนั้นวิจิตรจริงๆ อ่านหนังสือพิมพ์นี้จะพบข่าวใช่ไหมว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ แต่กรรมนั้นที่ทำได้อย่างที่คนอื่นไม่สามารถกระทำได้ แต่กรรมก็ทำให้ผลนั้นๆ เกิดได้ แต่ถ้าผู้มีปัญญาก็สามารถที่จะรู้ว่าไม่ควรที่จะโกรธใครทั้งสิ้น เพราะขณะที่โกรธ จิตของผู้โกรธเป็นอกุศล สะสมไปอีกแล้ว นี้คือปัญญาที่จะทำให้เราค่อยๆ คลายอกุศลแล้วก็เจริญกุศลขึ้น นี้ก็เป็นประโยชน์ของการฟังธรรม แล้วแต่ว่าจะมีความเข้าใจเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะนั้นปัญญาจะทำให้เราเข้าใจถูก แทนที่จะโกรธก็ไม่โกรธเพราะเหตุว่าทำเอง
ผู้ฟัง มีโอกาสที่จะทำให้เป็นอโหสิกรรมได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องแปลคำว่าอโหสิก่อน เพราะว่าอาจจะเข้าใจส่วนหนึ่งของอโหสิกรรมแต่ความจริงอโหสิกรรมมีความหมายอื่นด้วย
อ. สุภีร์ คำว่าอโหสิ แปลว่าได้มีแล้วหรือว่าได้ทำแล้วนั่นเอง ถ้าใช้คำว่าอโหสิกรรมก็คือกรรมได้มีแล้วหมายถึงได้กระทำเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นอโหสิกรรมวิบากก็คือผลของกรรมได้ให้ผลเรียบร้อยแล้ว ถ้าใช้คำว่าอโหสิกรรมเฉยๆ หมายถึงว่ากรรมนั้นได้ทำเรียบร้อยแล้วพร้อมที่จะให้ผลถ้าได้โอกาส
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้ทำแล้ว และให้ผลแล้วก็มี กรรมที่ได้ทำแล้วแต่ยังไม่ได้ผลก็มี และกรรมที่ได้ทำแล้วจะไม่ให้ผลก็มี ก็มีหลายอย่าง
ผู้ฟัง ในขณะที่บิดามารดาที่มีบุตรหลายคนจะเห็นว่าบุตรแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วก็อาจจะมีสักคนหนึ่ง ในจำนวนหลายๆ คนนั้นอาจแปลกไปจากคนอื่น ถ้นี้จะอธิบายในเรื่องของปฏิสนธิจิตอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน กรรมของลูกไม่ใช่กรรมของแม่ เวลานอนหลับสนิท มีลูกของเราไหม ไม่มี ก็แสดงว่าจริงๆ แล้วทุกคนเกิดมาคนเดียว หรือว่าอยู่คนเดียวในโลก ถ้าเราจะเข้าใจถูกต้องว่าตอนที่เรานอนหลับสนิทโลกนี้ไม่ปรากฏเลย แต่เพราะมีตา จึงเห็นชั่วขณะหนึ่งที่เห็น คนอื่นเห็นด้วยกับเราในขณะที่เรากำลังเห็นด้วยหรือเปล่า แต่ละคนก็เกิดมาตามกรรมของแต่ละคนแม้แต่เห็นขณะนี้ก็ต่างคนต่างเห็นแต่ละคนก็เห็น เวลาได้ยินเสียงก็แต่ละขณะของแต่ละคนก็ต่างคนก็ต่างได้ยิน เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริง ทุกคนอยู่ในโลกคนเดียว แต่ว่าเหมือนมากเพราะว่าคิดนึกถึงคนอื่น แต่ว่าคนอื่นนี้จะเป็นของเราจริงๆ หรือว่าเฉพาะกรรมของเราที่ได้กระทำแล้วเท่านั้นที่เป็นของเราจริงๆ เรามีไหม ขณะหลับสนิท ไม่มีเลย นี่คือธรรม เพราะฉะนั้นธรรมก็ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งขณะที่หลับสนิทเก็จะเห็นความเป็นธรรมชัดเจนว่า ไม่มีเรา แต่พอมีเห็น เห็นก็คือเห็น เห็นคนเดียวด้วย และก็เห็นก็ดับไป ได้ยินก็คนเดียว เพราะฉะนั้นให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าทุกคนอยู่ในโลกคนเดียวกับความคิดนึกของตัวเอง แล้วแต่ว่าเราเห็นแล้วเราคิดดี คิดไม่ดีซึ่งคนอื่นก็เห็น เขาสะสมมาที่จะคิดดีคิดไม่ดีก็เป็นไปตามการสะสม บางคนก็มีทุกข์มาก เพราะว่าคิดแต่เรื่องทุกข์ เรื่องไม่ทุกข์ไม่คิด เป็นเรื่องของเขาเองที่เขาคิดอย่างนั้น เขาสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้นจะไปเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ แต่ให้ทราบจริงๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วก็มีแค่จิต เจตสิต รูป
เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าความเข้าใจของเราจะมากน้อยชัดเจนขนาดไหน เรารู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงแค่ไหน แต่ถ้าเราเริ่มต้นว่าไม่มีอะไร เป็นธรรม เป็นจิต เจตสิก รูป เสมอๆ พอมีอะไรเกิดขึ้นเราก็จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมอะไร เป็นจิต เป็นเจตสิกหรือเป็นรูป จริงๆ แล้วมีลูกหรือเปล่า ไม่มี แต่ว่าทุกคนมีความคิด และความคิดนั้นจึงทำให้มีของเรา เป็นญาติ พี่น้องกันอะไรอย่างนี้หมดเลยแล้วก็ทรงจำไว้ แต่คืนนี้ก็ลืมหมด พอหลับสนิทก็ไม่เหลืออะไรอีก แต่พอตื่นขึ้นก็เริ่มแล้ว มีโน่นมีนี่มากมายทุกครั้งที่เห็น ทุกครั้งที่ได้ยิน จะมีความคิดติดตามมาทุกเรื่อง ถ้าเราเห็นคนที่เราไม่ค่อยรู้จัก เราอาจจะคิดเรื่องเขานิดเดียว ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นคนที่เรารู้จักนี่เรื่องยาว อาจจะคบกันมา ๓๐ ปี สมัยโน้นเขาทำอะไรบ้างอะไรอย่างนี้ก็เป็นเรื่องของความคิด เพราะฉะนั้นต้องแยกโลก ๖ โลกนี้ออก ว่าโลกทางตานี้แค่เห็น แต่นำมาซึ่งเรื่องราวมากมายมหาศาลให้ทราบว่าเพียงคิด เพราะถึงเวลาที่หลับสนิทหายไปไหน ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นตื่นขึ้นมาเมื่อไรคิดเมื่อนั้น ก็เป็นเรื่องของความคิดนึกหลังจากที่เห็นแล้วได้ยินแล้วพวกนี้ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวที่มีจิต เจตสิก รูป ถ้าไม่มีจิต เจตสิกรูป เรื่องราวต่างๆ จะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นแก่นแท้จริงๆ ก็คือปรมัตถ์ธรรมซึ่งจะไม่พ้นจากจิตเจตสิกรูป และเรื่องนี้จะแจ่มแจ้งขึ้นอีกถ้าเราจะกล่าวถึงที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ คือ วัฏฏะ ๓ คือกิเลส กรรม วิบาก เพราะว่าเรากำลังกล่าวเรื่องแค่กรรมกับวิบาก แต่ก็มีกิเลสด้วย
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060