สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๑

    วันจันทร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ สำหรับวันนี้ก็คิดว่าเราคงจะเริ่มสนทนากันเรื่องจิตได้แล้ว เพราะเหตุว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็เป็นเรื่องของจิตของแต่ละคนนั่นเอง สำหรับวันนี้ก็ต้องขอคัดข้อความจากพระไตรปิฏกซึ่งจะทำให้เข้าใจว่า แม้แต่เทวดาก็ยังต้องมาเฝ้ากราบทูลถามพระผู้มีพระภาคในเรื่องของจิต ขอเชิญคุณประเชิญ

    อ.ประเชิญ สำหรับเรื่องจิต อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วว่าแม้แต่เทวดาก็สนใจ เพราะว่าเป็นเรื่องของการที่จะรู้จักตัวเอง ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เป็นพระไตรปิฏกที่เป็นส่วนของพระสูตรชื่อว่า จิตตสูตร เทวดาได้มาทูลถามพระผู้มีพระภาค เป็นปัญหาของเทวดา ได้กราบทูลถามว่า โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกใสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คืออะไร นี่คือคำถามของเทวดา พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกใสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือจิต นี้คือคำตอบของพระผู้มีพระภาคที่ตอบเทวดาที่มาทูลถามในครั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ เชิญคุณสุภีร์เพิ่มเติม

    อ. สุภีร์ ก็จะเห็นว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตอบเทวดาว่า โลกอันจิตย่อมนำไป โลกอันจิตย่อมเสือกใสไป โลกนี้เป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือจิต คำว่าเสือกใสนี้หลายๆ ท่านก็อาจจะสงสัยว่าหมายถึงอะไร ก็ความหมายโดยนัยเดียวกันนำไปนั่นเอง ก็คือ ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่าง จะมีโลกนี้ได้ หรือว่าโลกเหล่านี้จะปรากฎได้ สิ่งต่างๆ จะปรากฎได้ก็ด้วยอำนาจของจิตนั่นเอง แต่เมื่อเรากล่าวถึงจิต ก็กล่าวถึงสภาพธรรมหรือว่านามธรรมที่รู้อารมณ์อีกประการหนึ่งด้วยเสมอก็คือ เจตสิก เพราะเหตุว่าเจตสิกเป็นธรรมชาติที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่วัตถุ หรือว่าสถานที่เกิดที่เดียวกันนั่นเอง

    คำว่าเสือกใส มาจากภาษาบาลีว่า ปริกิจสติ ปริกิจสติคือ อาการของการดึงหรือว่าฉุดกระชากในภาษาที่เราใช้ แต่ว่าในที่นี้ก็คือว่า โลกหรือว่าความคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และความคิดนึกเรื่องสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏเหล่านั้นก็ด้วยอำนาจของจิตนั่นเอง ฉะนั้นคำตอบของพระหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตอบเทวดา พระองค์จึงตรัสตอบว่าโลกอันจิตย่อมนำไป โลกอันจิตย่อมเสือกใส่ไป และโลกเป็นไปในอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือจิต ถ้าไม่มีจิตแล้ว โลกทั้งโลกนี้ก็ไม่ปรากฏ แม้แต่ว่าถึงจะมีจิตก็ตาม บางคราวโลกนี้ก็ไม่ปรากฏด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ในขณะที่เรานอนหลับสนิท โลกนี้ไม่ปรากฏ เพราะเหตุไร เพราะว่าจริงๆ แล้ว ลักษณะของจิตเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เมื่อจิตเกิดจะไม่รู้อารมณ์ไม่ได้เพราะว่าลักษณะของจิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้อารมณ์ เจตสิกก็เช่นเดียวกัน เวลาจิตเกิดขึ้นแล้วต้องรู้อารมณ์ ขณะที่เรานอนหลับสนิท ตอนนั้นจิตก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เรื่อยๆ สืบต่อความเป็นบุคคลนั้นเรียกว่าภวังคจิต ตอนนั้นก็มีการรู้อารมณ์ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ว่าไม่ได้รู้อารมณ์ของโลกนี้ ฉะนั้นโลกนี้จึงไม่ปรากฏ แต่ในขณะที่เราตื่นขึ้น โลกนี้ปรากฏเพราะว่ามีการรู้อารมณ์ของโลกนี้ก็คือรู้ทางตา ทางหูทาง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก็คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่เห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสเหล่านั้น โลกนี้จึงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า วันนี้ใครรู้สึกตัวบ้างไหมว่าถูกเสือกใสไปถึงไหนบ้างตั้งแต่เช้า แต่ละชีวิตนี้ไม่เหมือนกันเลย และก็ไม่รู้ตัวเลย เราเกิดมานี้เราก็ไม่ทราบเลยเพราะแท้ที่จริงแล้วที่แต่ละชีวิตมีวิถีชีวิตหรือวิถีจิตต่างกัน ก็เพราะเหตุว่าการสะสมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อเกิดมาแล้วที่จะไม่มีตา ไม่มีหูไ ม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ไม่มีใจเป็นไปไม่ได้ และโลกก็มีอยู่เท่านี้ทุกวัน แต่ว่าเหตุการณ์เมื่อวานนี้เหตุการณ์วันนี้กับเหตุการณ์ของวันต่อๆ ไป ก็ต่างกันไป ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแม้แต่ขณะต่อไป ขณะนี้ทุกคนอยู่ในห้องนี้ ข้างนอกมีอะไรเกิดขึ้นทราบไหม ไม่มีทางรู้ได้ แต่ละคนก็อยู่ในโลกแต่ละใบจริงๆ ขณะนี้โลกนี้อยู่ตรงนี้เห็นสิ่งนี้ เสือกไสหรือนำมาที่นี่หรือเปล่า มาแล้ว แล้วก็ต่อไปก็จะเสือกใส นี่เป็นคำที่ฟังดูไม่ไพเราะแต่ก็เป็นภาษาที่ตรง จริงๆ แล้วพระไตรปิฏกเป็นคำพูดที่มาจากคำแปล เป็นคำที่ตรง บางทีเราอาจจะถือภาษาของเราว่าคำนี้เป็นคำที่เหมาะหรือคำนั้นไม่เหมาะ แต่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือไม่มีใครสามารถที่จะหยุดยั้งจิต และก็การสะสมของจิตของแต่ละคนได้ เพราะฉะนั้นคำพูดที่เราใช้ในชีวิตของเรา เราอาจจะไม่รู้ว่า นั่นคือความหมายจริงๆ ของสภาพธรรม เช่น เราใช้คำว่าวิถีชีวิต แต่ความจริงถ้าไม่มีจิตไม่มีวิถีชีวิตแน่ แต่เพราะเราไม่รู้เรื่องจิต เรารู้แต่คำว่าชีวิต แต่ว่าชีวิตนี้คืออะไร สภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็คือจิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานแม้มีจริง แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ก็ไม่มีทางที่จะถึง แต่เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วเราเริ่มถูกเสือกใสหรือว่าถูกนำมาฟังพระธรรมในที่นี้ อาจจะคิดว่าเพื่อนฝูงชักพามาหรือว่าคนอื่นชักชวนมา แต่จริงๆ คนที่ถูกชวนแล้วไม่มาก็มี เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพของการสะสมของจิตแต่ละขณะ ที่จะทำให้วิถีชีวิตหรือสภาพธรรมต่อไปที่จะเกิดขึ้นเป็นอะไรตามการสะสม

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็คือการที่จะศึกษาเรื่องราวของชีวิตความเป็นไปในโลกทั้งหมดของตัวเอง และก็ของคนอื่นด้วย เริ่มที่จะมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก โดยอาศัยพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ยิ่งศึกษายิ่งรู้ว่าคนอื่นไม่สามารถที่จะกล่าวคำใดๆ ให้เหมือนกับพระธรรมที่ทรงแสดงได้ เพราะเหตุว่าเป็นสัจธรรม เป็นคำจริงทุกอย่างซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ ในคราวก่อนเราก็ได้กล่าวถึงเรื่องของจิต ซึ่งในภาษาไทย เราก็อาจมีคำที่คุ้นหู แต่เราอาจจะไม่ทราบว่ามีความหมายอย่างเดียวกัน เช่นคำว่าวิญญาณ คำว่าหทัย ขอเชิญคุณสุภีร์ให้ความหมายด้วย

    อ, สุภีร์ ชื่อของจิตมีมาก คือ ๑๐ ชื่อ แต่คำที่ท่านอาจารย์ได้ให้อธิบาย ๒ คำ ก็คือหทัย กับ วิญญาณ ทุกท่านก็คงจะคุ้นเคยกับคำว่าวิญญาณ ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต คำว่าวิญญาณมาจากวิญ บทหน้าแปลว่าแจ้งชัด ญาธาตุแปลว่ารู้ สำเร็จรูป รวมกันแล้วก็เป็นวิญญาณ วิญญาณก็แปลตามศัพท์ว่ารู้แจ้ง จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง รู้แจ้งอะไร ก็คือรู้แจ้งอารมณ์ที่จิตรู้นั่นเอง เพราะว่าเวลาจิตเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ก็คือ ที่เรียกว่าอารมณ์นั่นเอง ฉะนั้นวิญญาณนี้ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต ก็คือการรู้แจ้งอารมณ์เรียกว่าวิญญาณ ส่วนคำว่าหทัย หมายถึงสิ่งที่อยู่ภายใน สิ่งข้างนอก ถ้าอยู่ข้างนอกสามารถที่จะเห็น จะสัมผัสจะกระทบทางนั้น ทางนี้ได้ อย่างเช่น เสียง ถึงจะไม่สามารถมองเห็น แต่ก็กระทบกับโสตปสาท ทำให้เกิดการได้ยินได้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็กระทบกับจักขุปสาท ทำให้เกิดการเห็นได้ กลิ่น ก็ไม่สามารถจะมองเห็น แต่ว่ากระทบกับฆานประสาท ทำให้เกิดการได้กลิ่นได้ แต่จิตเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสัณฐาน ไม่เหมือนกับรูป ไม่มีสถานที่ ไม่มีเวลา เป็นแต่สภาพธรรมที่ที่รู้แจ้งอารมณ์เท่านั้นเกิดขึ้นแล้วต้องรู้อารมณ์เท่านั้น ไม่มีขนาด ไม่มีการที่จะกระทบสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ สิ่งนี้เป็นลักษณะของจิตที่มีชื่อว่า หทัย หรือ หทย แปลว่าสิ่งที่อยู่ภายใน เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากมาก เพราะว่าเป็นสภาวะที่ละเอียด นามธรรมจะละเอียดกว่ารูป รูปเป็นสิ่งที่หยาบกว่านาม รูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวันมีอยู่ ๗ รูปด้วยกัน คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ รูป สิ่งที่ปรากฏทางหู ๑ รูป สิ่งที่ปรากฏทางจมูก ๑ รูป สิ่งที่ปรากฏทางลิ้น ๑ รูป รวมเป็น ๔ รูป และสิ่งที่ปรากฏทางกายอีก ๓ รูป รวมเป็น ๗ รูป รูปเหล่านี้เป็นรูปที่เราสามารถรู้ได้ในชีวิตประจำวัน ปรากฏในชีวิตประจำวัน

    แต่จิตละเอียดยิ่งกว่านี้ ละเอียดยิ่งกว่ารูปที่ละเอียดอีก เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่ชื่อว่าหทัย สิ่งที่อยู่ภายในเพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ละเอียดรู้ได้ยาก จริงๆ แล้วมีชื่อของจิตอีกหลายชื่อ ซึ่งได้กล่าวไปตามคำถามของท่านอาจารย์เมื่อสักครู่ ๒ ชื่อ จริงๆ แล้วก็ได้ ๓ ชื่อไปแล้วก็คือ จิต หนึ่งชื่อ หทัย หนึ่งชื่อ วิญญาณ รวม ๓ ชื่อ

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะไปทีละชื่ออย่างช้าๆ เพราะว่าทั้งหมด ๑๐ ชื่อ เดี๋ยวจะปนกันหรือว่าจะจำไม่ได้ ชื่อที่น่าสนใจ รู้สึกทุกคนก็คงจะสนใจชื่อว่า วิญญาณ ใช่ไหม เพราะว่ากล่าวกันมากในภาษาไทยแล้วก็ไม่ค่อยจะเข้าใจความหมายจริงๆ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ได้ศึกษาก็จะไม่รู้ว่าวิญญาณกับจิตนั้นไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่ว่าจิตนี้มีมากมายหลากหลาย เพราะเหตุว่า วันหนึ่งๆ นี้ จิตเป็นเพียงสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ มีหน้าที่รู้เท่านั้น แต่ว่ามีเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย ทั้งเจตสิกที่เป็นฝ่ายดี และเจตสิกที่เป็นฝ่ายไม่ดีคือฝ่ายอกุศล ก็ทำให้จิตนี้ต่างกันหลากหลายมาก และใช้คำต่างๆ กันด้วย เช่น จิตเห็นขณะนี้มีแน่นอน ใช้คำว่าจักขุวิญญาณ ไม่ใช่คำว่าจิตเห็น อย่างภาษาไทย แต่ใช้คำว่าจักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่าจะใช้คำว่าจิตหรือจะใช้คำว่าวิญญาณก็คือสภาพธรรมที่เป็นจิตปรมัตถ์ คือเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้ซึ่งต่างกับเจตสิกอื่นๆ ซึ่งมีเจตสิกทั้งหมดถึง ๕๒ ประเภท

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ถ้าเราเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้นเราก็จะไม่มีความสงสัย และสับสน เช่น บางคนอาจจะสงสัยว่าเวลาที่ตายแล้ววิญญาณออกจากร่างก็ชอบพูดกันมาก วิญญาณออกไปไหนไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าวิญญาณเกิดขึ้น และมีหน้าที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏแล้วดับทันที การเกิดขึ้นของจิตไม่ได้อาศัยมือ อาศัยเท้าที่จะไปไหนมาไหนเลย แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าใช้คำว่าธาตุ ทุกคนก็คิดถึงความหมายที่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของไม่เป็นของใคร ลักษณะของไฟที่ร้อน มีใครเป็นเจ้าของไฟหรือเปล่า มีไหม ไม่มีฉันใด จิตซึ่งเป็นนามธาตุ เมื่อใช้คำว่าธาตุก็หมายความว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของจิต แต่เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นทำหน้าที่เฉพาะหน้าที่ของจิตประเภทนั้นๆ แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่เราบอกว่าเราทำงาน ความจริงใครทำ จิตกับเจตสิก และรูปเท่านั้น ต่อไปนี้เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นสัจธรรม เป็นความจริง เมื่อทรงแสดงว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเราไม่มีใครเป็นเจ้าของ ต้องจริงตลอดไป เพียงแต่ว่าปัญญาของเราสามารถที่จะรู้จริงอย่างนั้นหรือเปล่า หรือเพียงแต่ว่าเริ่มจากฟัง เริ่มจะคิด เริ่มจะไตร่ตรองว่าสิ่งที่เราหลงเข้าใจผิดยึดถือว่าเป็นของเรา ทั้งโลก ทั้งตัว ทั้งคนอื่นทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงสภาพธรรมมที่มีลักษณะเป็นปรมัตถ์ธรรมซึ่งใครๆ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ คือเป็นจิตเป็นเจตสิก และเป็นรูปเท่านั้นเอง มีใครคิดว่าจะมีอย่างอื่นเกินกว่านี้หรือสามารถที่จะหาลักษณะของธรรมอื่นนอกจากนี้ นอกจากจิต เจตสิก รูป ลองคิดดู มีอะไรในโลกนี้ และโลกอื่นอื่นทั้งหมดตลอดสากลจักรวาล อนันตจักรวาล จะมีอะไรนอกจากจิต เจตสิก รูปบ้าง ต่อไปนี้เวลาคิดเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเราหรือเปล่า ตอนนี้ยังคิดว่าเป็นเรา แต่ความคิดบังคับได้ไหม เวลาหลับจะให้คิดได้ไหม หลับสนิทจะให้คิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ตอนหลับก็มีเรื่องที่จำได้หมายรู้ เช่น ไปป่า ไปเที่ยว ไปรบ

    ท่านอาจารย์ ตอนหลับสนิท

    ผู้ฟัง ตอนหลับสนิทก็ว่าง นิ่งสงบ

    ท่านอาจารย์ ตอนหลับสนิทไม่เห็นอะไร คิดไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นธรรมนี้เป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการฟังพระธรรมก็คือว่ามีความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแม้น้อยเพียงไม่กี่คำแต่เข้าใจถูก เมื่อเข้าใจถูกแล้วเวลาที่ฟังธรรมต่อๆ ไป ความถูกต้องความเข้าใจก็จะมั่นคงขึ้น แต่ถ้าเข้าใจนิดหน่อย ไม่เข้าใจชัดเจน เวลาที่ฟังเรื่องต่อไปก็จะยิ่งสับสน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกตั้งแต่ต้นว่า ขณะที่คิดนี้ เราหรือเปล่าที่คิด คือทุกอย่างเป็นอนัตตา จิต เจตสิก รูป ทุกอย่างที่มีจริงทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ของใครแต่ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และเมื่อมีก็คือว่าเกิดขึ้น การที่จะเกิดได้ก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ตามใจชอบ เพียงแต่ว่าเราไม่รู้ความจริง เราก็ยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นก็ขอเริ่มตั้งแต่ความคิด ถ้าเรารู้ว่าความคิดเป็นสิ่งที่มีจริง และสภาพธรรมที่มีจริงก็คือจิต เจตสิก รูป แต่รูปคิดไม่ได้ รูปทำอะไรไม่ได้ ไม่เห็น ไม่หิว ไม่โกรธ ไม่ชัง เพราะเหตุว่า รูปธาตุหมายความถึงสภาพที่มีจริง แม้ว่ามองไม่เห็นก็จริง แต่ธาตุนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้ทั้งสิ้น สภาพธรรมใดๆ ที่มีแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สภาพธรรมนั้นเป็น รูปธาตุ หรือจะใช้คำว่ารูปธรรมก็ได้ เพราะฉะนั้นเฉพาะจิตกับเจตสิกเท่านั้นที่เกิดร่วมกัน ไม่แยกขาดจากกัน เพราะเหตุว่าจิตเป็นธาตุที่เกิด และก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ หน้าที่ของจิต อย่างเสียงขณะนี้ ปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง จิตเป็นสภาพที่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินนี้มีลักษณะอย่างไร เสียงมีตั้งหลายเสียง และก็มีความต่างกันมากไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรีต่างชนิด เสียงคนก็ยังสามารถที่จะจำได้ว่าใครพูด เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าจิตเป็นสภาพที่สามารถรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางตา เห็นเพชรจริงกับเพชรเทียมก็สามารถที่จะรู้ได้ ได้ยินเสียง เสียงไม่เหมือนกันแต่จิตก็สามารถที่จะรู้แจ้งในเสียงแต่ละเสียง ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น กลิ่นก็หลากหลาย พวกกลิ่นน้ำหอมต่างๆ จิตก็สามารถที่จะรู้ได้แต่ต้องอาศัยแต่ละทางแล้วก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ยิ่งรส ก็หลากหลายมาก จิตก็สามารถที่จะรู้ เพราะฉะนั้นให้เข้าใจลักษณะแท้ๆ ของปรมัตถ์ธรรมแต่ละอย่างว่าถ้าเป็นจิตปรมัตถ์แล้วก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าอารมณ์ หรืออารัมมณะ ในภาษาบาลี แต่ภาษาไทยเราใช้คำย่อว่าอารมณ์ ถ้ามีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ต้องมีอารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อจะใช้คำว่าวิญญาณหรือจะใช้คำว่าหทัย มนัส หรืออะไรต่อไปอีกมากก็ตามแต่ แต่คำที่ทุกคนใช้ และอาจจะยังไม่เข้าใจก็คือวิญญาณ มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่เพราะเหตุว่าจิตนี้หลากหลายมากแล้วก็ทำหน้าที่ต่างๆ กัน เราก็ใช้คำต่างๆ เพื่อที่จะเรียกจิตให้เข้าใจว่าหมายความถึงจิตประเภทไหน แล้วก็ต้องไม่ลืมว่าสภาพธรรมนี้เป็นอนัตตา เป็นธาตุซึ่งต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือนามธาตุกับรูปธาตุ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นธาตุจะไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับบัญชาไม่ได้ ทั้งหมดเป็นนามธาตุที่สามารถรู้ สามารถคิดสามารถจำ แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์คือสิ่งที่ถูกรู้ และเจตสิกก็ทำหน้าที่ของแต่ละเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิต เพื่อที่จะให้เข้าใจว่าวิญญาณกับจิตเหมือนกันไม่สับสน

    ขอถามว่าขณะที่คิด ซึ่งทุกคนคิด เดี๋ยวนี้ก็กำลังคิด คิดมีจริงใช่หรือไม่ คิดมี ถ้ามีก็เป็นปรมัตธรรม ถ้ามี เมื่อไร ถามว่ามีเมื่อไร ก็ต้องตอบว่า มีเมื่อเกิดขึ้น ถ้ายังไม่เกิดจะบอกว่ามีได้ไหม ไม่ได้ แต่มีเมื่อเกิดขึ้น พอเกิดขึ้นแล้วหมดไป จะกล่าวว่าสิ่งนั้นยังมีอยู่ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังคิดหมายความว่า ความคิดมีจริง เป็นปร มัตถธรรมอะไร ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน สมัยโบราณ ท่านย่อคำ จิตก็ใช้คำว่า จิ เจตสิกก็ใช้คำว่า เจ รูปก็ใช้คำว่า รุ นิพพานก็ใช้คำว่า นิ เลยกลายเป็นคาถาสำหรับคนที่ไม่เข้าใจความหมาย ก็ท่องคำว่า จิเจรุนิ แต่ผู้ที่คิดคำนี้ก็คงจะหมายความว่าให้เราไม่ลืมว่าปรมัตถ์ธรรมมี ๔ สิ่งที่มีจริงๆ ที่ควรศึกษา ควรเข้าใจก็คือสภาพธรรมที่มีจริงคือจิต เจตสิก รูป นิพพาน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    8 ก.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ