สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๒
วันจันทร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน สมัยโบราณ ท่านย่อคำ จิตก็ใช้คำว่า จิ เจตสิกก็ใช้คำว่า เจ รูปก็ใช้คำว่า รุ นิพพานก็ใช้คำว่า นิ ก็กลายเป็นคาถาสำหรับคนที่ไม่เข้าใจความหมาย ก็ท่องคำว่า จิเจรุนิ แต่ผู้ที่คิดคำนี้ก็คงจะหมายความว่าให้เราไม่ลืมว่าปรมัตถ์ธรรมมี ๔ สิ่งที่มีจริงๆ ที่ควรศึกษา ควรเข้าใจก็คือสภาพธรรมที่มีจริงคือจิต เจตสิก รูป นิพพาน ถ้าบอกว่าคิดเป็นเจตสิก ขณะนั้นช่วยอธิบายด้วยว่า ทำไมคิดเป็นเจตสิก ถ้ากล่าวว่าเป็นเจตสิก
ผู้ฟัง คิดเป็นเรื่องของปรุงแต่ง เกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มาแล้วก็รวบรวมประมวลความคิดต่างๆ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แสดงว่าจิตกับเจตสิกต้องเกิดร่วมกัน แล้วแต่ว่าจะคิดเป็นกุศลคิดดี หรือคิดเป็นอกุศล แต่สภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้เรื่องที่คิดเป็นจิต แยกกันเกือบจะไม่ออก เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรมที่เข้ากันสนิท ถ้าอย่างเราเอารูปหลายๆ รูปมารวมกัน เช่น เราจะทำแกงเผ็ด ก็มีเครื่องปรุง มีพริก มีหอม มีกระเทียม เอามาตำคลุกเคล้ากันหมดแล้วก็ใส่กะทิเข้าไปด้วย แยกออกไหม พอรับประทานแกง จะแยกออกได้ไหม น้ำแกงหนึ่งช้อน พอที่จะแยกออกได้ไหมว่าส่วนไหนเป็นเกลือ เป็นพริกหรือว่าเป็นข่า เป็นตะไคร้ รวมกันหมดแล้ว นี่คือรูปธรรมซึ่งแยกไม่ได้ ปรุงแต่งรวมกันแล้ว
เพราะฉะนั้นนามธรรมคือจิตกับเจตสิก ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ เราไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของจิต และเจตสิกได้ เพียงแต่เราสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนี้ อะไรเป็นจิต อะไรเป็นเจตสิก เช่น เห็น สภาพที่สามารถรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นจิต แต่ขณะที่มีเห็นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภทซึ่งยังไม่ขอกล่าวถึง แต่ถ้าเป็นจิตที่คิดในขณะที่ฝัน ฝันก็คือคิดใช่ไหม เวลานี้คิดเป็นฝันหรือเปล่า แต่เวลาฝันเป็นคิด เพราะอะไร ธรรมนี้ถ้าพิจารณาไตร่ตรองจะทำให้เราเกิดความเข้าใจของเราเอง นี่คือประโยชน์สูงสุดของการฟังหรือการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหรือการฟังเรื่องราวใดก็ตาม ถ้าฟังแล้วเกิดความเข้าใจของเราเองนั่นเป็นประโยชน์ แต่ถ้ายังเป็นความเข้าใจของคนอื่น ยังไม่ใช่ความเข้าใจของเราจริงๆ ประโยชน์ที่ได้รับจากการฟังก็น้อย
เพราะฉะนั้นขอเชิญทุกคนช่วยกันคิดด้วย คิดเป็นฝันหรือเปล่า ขณะนี้ทุกคนกำลังคิด ฝันหรือเปล่า ไม่ใช่ฝันใช่ไหม แต่ฝันเป็นคิดหรือเปล่า ฝันเป็นคิดไหม
ผู้ฟัง ไม่ใช่คิด
ท่านอาจารย์ อย่าลืม โลกมี ๖ โลก ทางตากำลังเห็นโลกหนึ่ง ไม่ปนกับโลกเสียงหรือโลกได้ยินเลย คนละเรื่อง ทางตามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นสีสันวรรณะต่างๆ มีความคิดในสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นฟ้า เป็นดาว เป็นอะไรต่างๆ นั่นคือสิ่งที่ปรากฏทางตามีรูปร่างสีสันต่างกัน ทำให้เกิดความทรงจำแล้วก็คิดเรื่องรูปร่างสีสันต่างๆ แต่ว่าทางหู มืด ไม่มีแสงสว่างใดๆ เลย ต้องแยก ๒โลกนี้ออกจากกัน แม้ในขณะนี้ ทางหู หลับตาแล้วยังได้ยินเสียงไหม เพราะฉะนั้นเป็นคนละโลก เสียงทางหูก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเสียงดนตรี เป็นเสียงสัตว์ เป็นเสียงคนต่างๆ นั้นก็เป็นโลกทางหู โรคทางจมูกก็คือขณะที่กลิ่นปรากฏ โลกทางลิ้นก็คือรสต่างๆ ที่ปรากฏ โลกทางกายขณะนี้มีไหม กำลังกระทบสัมผัสสิ่งใด ที่อ่อนหรือแข็งต้องปรากฏเมื่อกระทบกาย เย็นหรือร้อนต้องปรากฏเมื่อกระทบกาย ถ้ามีน้ำแข็งวางอยู่ข้างหน้า แต่ไม่กระทบแล้วจะบอกว่าเย็นได้ไหม ไม่ได้ ยังไม่กระทบกาย เพียงแต่จำ แต่ว่าเย็นจริงๆ นั้นจะปรากฏเมื่อกระทบกายปสาท ทุกครั้งที่เห็นจะต้องคิดถึงสิ่งที่เห็น ทุกครั้งที่ได้ยินก็คิดถึงสิ่งที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นขณะที่ฝัน เป็นโลกทางไหน โลกทางใจ คิดหรือเปล่าในขณะที่ฝัน คิด คือต้องวิเคราะห์ และต้องพิจารณา ขณะที่ฝัน คือคิด แต่ขณะเดี๋ยวนี้ที่คิดนี้ฝันหรือเปล่า ต่างกันอย่างไร ทำไมเดี๋ยวนี้ก็คิดถ้าลองหลับตา คิดแล้วไม่มีอะไรปรากฏ เสียงก็ไม่ได้ยิน กลิ่นก็ไม่ปรากฏ แต่คิด เป็นฝันหรือเปล่า
ผู้ฟัง คิดไม่ใช่ฝัน แต่ว่ามีสัญญามาเกี่ยวข้อง
ท่านอาจารย์ คือ ๖ โลกแยกกัน ไม่ใช่เราเลย เป็นแต่ละโลกซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน ขณะนี้คิดไม่ใช่ฝัน เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็คิดตามสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินเสียงทางหู ก็คิดตามเสียงจึงไม่ใช่ฝันเพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้คิดเรื่องนั้น มีสิ่งที่ปรากฏทางหูให้คิดเรื่องนั้น แต่เวลาฝัน ไม่มีอะไรจะมาปรากฏทางตา ทางหูเลย แต่ว่าความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะนานแสนนานมาแล้วก็ตามแต่ จิตสะสมสืบต่อจนกระทั่งปรุงแต่งเป็นความฝัน แต่ขณะที่ฝันก็คือคิด เพราะไม่ใช่เห็น ไม่มีสิ่งที่ปรากฏคั่นสลับทางตา ทางหูท างจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลก ๖ โลกซึ่งเกิดสืบต่อสลับกันจนปรากฏเหมือนโลกนี้โลกเดียว แต่ความจริงถ้าแยกออก ที่เคยเป็นโลกเดียวนั้นต่างกันเป็น ๖ โลกของแต่ละคน ถ้าไม่มีจิตเลย โลกใดๆ ก็ไม่ปรากฏ แต่ถ้ามีตามีโลกสีสันวรรณะต่างๆ แล้วก็มีโลกความคิดถึงสิ่งที่เห็นซึ่งคนละขณะ ขณะที่เห็นไม่ได้คิด ต้องแยก ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่เห็น เพราะว่าเห็นมีหน้าที่เห็นอย่างเดียว เห็น จะคิดด้วยไม่ได้ นี่คือการเกิดดับของจิตซึ่งเป็นมายากล เป็นนักเล่นกลที่สามารถที่จะทำให้เห็นเป็นโลก และก็มีสีสันวรรณะมีคนมีเรื่องราวต่างๆ คนที่ดูนักเล่นกลก็คงจะอัศจรรย์ใจมาก ทำไมนกพิราบถึงออกมาจากหมวกได้ จนป่านนี้ก็ยังคิดไม่ออกว่าเขาทำอย่างไร ใช่ไหม แต่ก็เป็นได้เพราะว่าเขาทำให้เราเห็น แต่ไม่จริง
เพราะฉะนั้นจิตก็เกิดดับสลับแต่ว่าชัดเจน ว่าโลกทางตาต้องอาศัยจักขุประสาท เป็นรูปพิเศษที่อยู่กลางตาซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฎฐาน เราอาจจะไม่ทราบว่ารูปที่ร่างกายของเรานี้ บางกลุ่มหรือบางกะลาปะในภาษาบาลีเกิดจากกรรม บางกลุ่มเกิดจิต บางกลุ่มเกิดจากอุตุ ความเย็นความร้อน บางกลุ่มเกิดจากอาหาร ถ้าเราไม่เคยคิดว่าแท้ที่จริงที่เรายึดถือว่าเป็นกายของเราก็คือ กองฝุ่น จริงไหม กองฝุ่น มองไม่เห็นว่าเป็นกองฝุ่น แต่ถ้ารู้ว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ ยิบจริงๆ พร้อมที่จะแตกสลายตรงไหนก็ได้ เป็นกองฝุ่นหรือเปล่า ถ้าตัวของเราเป็นกองฝุ่น โลกทั้งโลกที่เราอยู่ เป็นกองฝุ่นด้วย หรือเปล่า ทุกอย่าง โต้ะนี้เป็นกองฝุ่นด้วยไหม นี่คือการเริ่มที่จะเข้าใจสภาพธรรมจากการตรัสรู้ ซึ่งถ้าไม่มีการตรัสรู้ และไม่มีการทรงแสดง ใครจะคิดว่าที่โต๊ะมีอากาศธาตุแทรกอย่างละเอียดยิบ รูปทุกรูปไม่ว่าจะเป็นรูปอะไรทั้งหมด จะไม่มีการติดกันโดยที่ว่าไม่มีอากาศธาตุแทรกคั่นเลย ในกลุ่มที่เล็กที่สุดของรูป ในกลุ่มหนึ่ง กลุ่มหนึ่งนี้ จะมีรูปที่รวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป แต่มองไม่เห็น ๘ รูปนี้เล็ก และละเอียดมาก ก็เลยไปพูดถึงเรื่องรูปให้เห็นความอัศจรรย์ว่า เราจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของเห็นว่า เห็นไม่ใช่ขณะที่คิด เพราะเวลาคิดไม่มีเห็นก็ได้ นี่คือการที่จะเข้าใจเรื่องของจิต ซึ่งใช้หลายชื่อตามหน้าที่การงานของจิตนั้นๆ เช่น เวลาที่เห็นเป็นจิต แต่เพราะจิตนี้อาศัยตา จึงสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจิตนี้มีชื่อว่าจักขุวิญญาณ ภาษาบาลีไม่ยากใช่ไหม
ผู้ฟัง จิตของเรานี้เราสามารถทำให้หยุดนิ่งไปชั่วขณะหนึ่ง ในขณะที่กำลังตื่นได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ต้องย้อนกลับไปหาจุดเดิมซึ่งไม่เปลี่ยนคือ อนัตตา สภาพธรรมทั้งหลายไม่มีใครเป็นเจ้าของ ขณะที่เห็น ถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรมก็เป็นเราที่กำลังเห็น แต่ถ้าศึกษาธรรมต้องเป็นจิต เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งสามารถที่จะเห็นแต่ต้องอาศัยจากจักขุปสาท คือรูปชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรม รูปชนิดนี้ไม่มีใครมองเห็นเลย ทุกอย่างที่เห็นจะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้นในรูปทั้งหมดที่มี ๒๘ รูปที่ทรงแสดงไว้ รูปที่สามารถจะเห็นได้มีรูปเดียวคือวรรณะรูป หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสีสันวรรณะต่างๆ รูปอื่นมองไม่เห็นเลย อย่างแข็งนี้มองไม่เห็น ใครจะเห็นแข็ง ไม่มีทางเห็นได้เลย แต่กระทบสัมผัสแข็งได้ ใครจะเห็นกลิ่น ใครจะเห็นเสียง ใครจะเห็นรส รูปทั้งหมดที่จะเห็นได้มีรูปเดียวคือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ซึ่งเป็นวรรณะรูปซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มที่เล็กที่สุด ๘ รูป
ผู้ฟัง จิตมีหน้าที่ที่จะผลักไส เสือกใส
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวิจิตรจะยืนขึ้น ไม่มีจิตยืนได้ไหม ไม่ได้ เสือกใสหรือทำให้เกิด การยืนหรือเปล่า ที่เราทำงานทุกอย่างตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ถ้าไม่มีจิตรูปนี้จะเคลื่อนไหวไม่ได้ นั้นคือเวลาที่จิตที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว แต่แม้ไม่ทำให้รูปเคลื่อนไหว จิตก็ไม่ได้อยู่นิ่งเลย มีจิตของใครที่อยู่นิ่ง นอกจากจะเห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด ทั้งวันทำงานอยู่ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดจิต เพราะฉะนั้นจิตนั่นเองซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจการงานตั้งแต่เกิดจนตาย ตายแล้วก็เกิดอีก แต่ว่าไม่ใช่จิตประเภทเดียวหรือว่าจิตขณะเดียว มีจิตแต่ละชนิดแต่ละประเภทเกิดกับสลับสืบต่อกัน หายสงสัยหรือยัง โลก ๖ โลก แยกให้ถูกต้อง แล้วก็จะเห็นได้ว่าไม่มีเรา แต่ถ้ามีเรา เราทำทุกอย่างได้ ใช่ไหม เราคิดว่าเป็นเราที่ทำ แต่ความจริงขณะนี้จิตทำหน้าที่เห็น แล้วจิตก็ทำหน้าที่ได้ยิน ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นก็จะไม่มีการรู้ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการคิดนึก
ผู้ฟัง ในขณะที่หยุดนิ่งแล้วไม่เห็น แล้วก็ไม่รู้สึกตัวนี้ แสดงว่าจิตไม่ได้อยู่กับตัวในขณะนั้นหรือไม่
อ. สุภีร์ ชื่อของจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์นี้ ซึ่งธรรมเหล่านี้ที่เดิมเราเข้าใจว่า ตัวที่รู้อยู่ขณะนี้ เป็นปรมัตถ์ธรรม และก็เป็นจิตที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่าเป็นจิตก็ดี วิญญาณก็ดี หทัยก็ดี เป็นสิ่งที่มีจริงที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งสำหรับภูมิที่มีขันธ์ ๕ อย่างเช่นพวกเรา หรือว่าที่เป็นเทวดาหรือที่เป็นพรหม จิต และเจตสิกจะต้องเกิดกับรูป คือ ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะต้องเกิดกับรูป เพราะฉะนั้นถ้ามีร่างกาย ตั้งแต่แรกที่เกิดขึ้นมาที่สมมติว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล ถึงแม้ว่าจะหลับสนิทก็ดี หรือว่าขณะที่สลบก็ดี ขณะนั้นก็มีจิตทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับทราบอะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตก็ยังทำงานอยู่ เพราะฉะนั้นจิตเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่สามารถที่จะบังคับหรือจะไปหยุดอย่างนั้นได้เลย ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เห็น คือ วิญญาณทางตา รู้อารมณ์คือรู้สีทางตา ก็ต้องรู้ทางตา บังคับไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ มีเหตุปัจจัยที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เกิด จะไปห้ามหรือว่าจะไปหยุดไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นก็ไม่ได้ หรือว่าขณะใดที่มีจิตใจที่ดีแช่มชื่น เป็นกุศลประกอบด้วยโสภณธรรมทั้งหลาย เบาสบาย ก็อยากจะให้เป็นอยู่นานๆ แต่ว่าจิตก็ไม่เที่ยง และบังคับบัญชาไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับ จะบังคับหรือว่าจะให้หยุดอยู่ตรงสบายใจนั้นนานๆ ก็ไม่ได้ นี่คือสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่ที่ก่อนหน้านี้เราอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรา หรือ เป็นบุคคลอื่น แต่นี่คือปรมัตถ์ธรรม นี้คือธรรมมะ
ท่านอาจารย์ เวลาที่จิตเห็นดับไปแล้วจิตหายไปหรือเปล่า ใช่ไหม ขณะไหนไม่มีจิต ลองคิด
ผู้ฟัง ก็จะมีภวังคจิตต่อ
ท่านอาจารย์ แต่อยากจะให้คิดว่า ขณะไหนไม่มีจิต มีหรือไม่
ผู้ฟัง โดยปกติการดำเนินชีวิตของเรา เรามีจิต เรามีความคิด มีความรู้สึกตัว ตอนนี้ถ้าหากว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาในขณะบางขณะที่เป็นอย่างนั้น อยากจะได้คำอธิบายในเรื่องนี้
ท่านอาจารย์ ขอให้ทบทวนตั้งแต่ต้น ลองคิดว่ามีขณะไหนไหมที่ไม่มีจิต จะมีไหม ไม่มี เพียงแต่เราไม่รู้ว่าขณะนั้นจิตอยู่ที่ไหน และทำอะไร จิตที่ใช้คำว่า หทย เพราะเหตุว่าเป็นภายใน ในที่สุด ข้างนอกนี้ไม่มีจิตใช่ไหม ผม เท้า แขน มือ โต้ะ เก้าอี้พวกนี้ไม่ใช่จิต แต่ทุกคนรู้ว่ามีจิตอยู่ในตัวใช่ไหม แต่ถึงอย่างนั้นจิตก็ไม่ใช่เป็นสภาพที่เหมือนรูปที่สามารถจะกระทบสัมผัสได้ แล้วที่ว่าจิตเป็นภายใน ในจริงๆ เพราะว่าทุกคนยึดถือสภาพที่แม้มองไม่เห็นเลยว่าเป็นเรา ว่าเป็นจิตของเราทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นหาไม่เจอเพราะว่าอยู่ข้างในสุด ที่ว่าอยู่ข้างในสุดนี่ก็คือว่าเป็นเพียงสภาพหรือธาตุที่เกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับ จะตรงไหนก็ได้ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้ และก็ดับไป เพราะฉะนั้นในแค่ไหน เป็นตัวเราทั้งตัวเลย แล้วบางคนก็ยังคิดว่ามีเจตสิกเกิดร่วมกับจิต เช่น เวลาที่โกรธ ก็มีสภาพของโทสเจตสิก ภาษาบาลีใช้คำว่าโทสเจตสิก สำหรับสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ขุ่นใจหรือพยาบาท คือความโกรธสภาพของเจตสิกแต่ละอย่างก็มีหลายระดับ เมื่อเกิดกับจิตเรายังถือว่าสิ่งนั้นเป็นภายนอกแล้วก็เกิดกับจิต ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจึงเป็นความหมายของคำว่า หทย คือภายในที่สุดคือยึดถือว่าเป็นเรา อย่างอื่นยังจรมา เช่น เจตสิกบางประเภทก็เกิดกับจิต บางกาล และบางประเภทก็ไม่เกิด
เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่าสิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่สุดก็คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ แล้วก็มีเจตสิกคือสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิตหลายประเภทเกิดร่วมกัน แต่ความหมายของ หทย ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นภายใน เพราะว่าจิตเหมือนกับภายในจริงๆ สำหรับแต่ละคน แต่ว่าสภาพของจิตตั้งแต่เกิดจนตายไม่ขาดเลยในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะมีสภาพธรรมที่ไม่มีจิตคือขณะที่เป็นนิโรธสมาบัติในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เราคงจะไม่ก้าวไกลไปถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าธรรมดาๆ อย่างนี้ไม่มีสักขณะเดียวที่ขาดจิต จะขาดจิต ไม่มีจิตเมื่อไรลองคิดดู เมื่อตายเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่ตายก็ยังต้องมีจิตซึ่งน่าที่จะศึกษามากให้ละเอียดขึ้น ว่าระหว่างที่ไม่ตายแล้วเราก็ไม่รู้ว่าจิตทำอะไรอยู่ที่ไหน แท้ที่จริงมีจิตหรือเปล่า อย่างเช่น ขณะที่กำลังนอนหลับสนิทต่างกับคนตายไหม
ผู้ฟัง ถ้ากล่าวว่ามีจิตแต่ไม่มีสติ เป็นคำกล่าวที่ถูกหรือไม่ถูก
ท่านอาจารย์ เวลาโกรธมีจิตไหม มีสติไหม ถ้าอย่างนั้นจะเป็นคำตอบได้ไหม จิตยังมีอยู่ตลอด ข้อสำคัญที่สุดก็คือเราต้องเข้าใจว่าที่ไม่มีจิตก็คือเมื่อตายเท่านั้น ถ้ายังไม่ตายต้องมีจิต หลับ มีจิตไหม ต้องมี
ผู้ฟัง คำว่าสติ หมายถึงอะไร
ท่านอาจารย์ ต้องกลับมาที่ปรมัตถ์ธรรมทุกครั้งที่ได้ยินคำหนึ่งคำใด เพราะเหตุว่าสิ่งที่มีจริงๆ ก็คือนามธรรมกับรูปธรรม สำหรับรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้อะไรทั้งสิ้น แต่นามธรรมมี ๒ อย่าง คือจิตกับเจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ในขณะนั้น ส่วนเจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท เกิดกับจิต เจตสิกจะไม่เกิดกับอย่างอื่นนอกจากเกิดกับจิตเกิดร่วมกับจิต เกิดพร้อมกับจิตดับพร้อมกับจิต เพราะฉะนั้น สติก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นเจตสิกฝ่ายดี เป็นโสภณเจตสิกซึ่งเกิดกับธรรมที่เป็นฝ่ายดีด้วยกัน
ผู้ฟัง คำว่าจิตกับสตินี้ก็ต้องแยกจากกัน ไม่เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ จิตไม่ใช่เจตสิก
ผู้ฟัง ในวงการแพทย์ที่เราวางยากัน ช่วงนั้นจิตอยู่ในสภาพถูกกำกับหรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ มี ๖ ทาง ขณะนั้นคนไข้คงไม่เห็นอะไรใช่ไหม ไม่ได้ยินหรือได้ยิน ได้กลิ่นไหม ลิ้มรสอะไรหรือไม่ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสหรือไม่ ถ้าไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่ง ทางใดเลยก็เป็นภวังคจิต คือจิตที่ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ จิต ๘๙ ประเภท จำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ จิตประเภทหนึ่งสามารถที่จะรู้อารมณ์โดยไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย คือไม่ต้องอาศัยตา ไม่ต้องอาศัยหู ไม่ต้องอาศัยจมูก ไม่ต้องอาศัยลิ้น ไม่ต้องอาศัยกาย ไม่ต้องอาศัยใจ คือขณะนั้นก็ไม่ได้คิด ถ้าคิดก็ต้องอาศัยใจคิด แต่ขณะนั้นเมื่อไม่คิดก็ไม่ได้อาศัยใจคิด
คำว่าวิถีจิตคือจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตาหูจมูกลิ้นกายใจ ขณะที่เห็นเป็นวิถีจิตเพราะว่าเวลาที่มีสีสันวรรณะกระทบตา ไม่ใช่มีแต่จิตเห็น จิตเห็นดับเร็วมากแล้วก็มีจิตอื่นเกิดสืบต่อ แต่ยังคงรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาวาระนั้นก่อนที่รูปนั้นจะดับไป
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060