สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๓
วันจันทร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ คำว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะที่เห็นเป็นวิถีจิตเพราะว่าเวลาที่มีสีสันวรรณะกระทบตา ไม่ใช่มีแต่จิตเห็น จิตเห็นนี้ดับเร็วมากแล้วก็มีจิตอื่นเกิดสืบต่อ แต่ยังคงรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาวาระนั้นก่อนที่รูปนั้นจะดับไป เพราะฉะนั้นก็มีคำอธิบายเพียงย่อๆ ก่อนว่า จิตจะรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เรียกว่าไม่ใช่วิถีจิต แต่ถ้าเป็นวิถีจิตต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตคือมีจิตเกิดด้วย ทำกิจการงานด้วย แต่ไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก มีจิตอยู่ ๓ ประเภท หรือ ๓ กิจการงาน ซึ่งสามารถรู้อารมณ์ได้โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย คือ หนึ่ง ปฏิสนธิจิต จิตขณะแรกที่เกิดขึ้น เวลาเกิดขึ้น จิตที่เกิดนี้เป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่จุติจิตของชาติก่อนคือขณะสุดท้ายของชาติก่อน จิตที่เกิดขณะสุดท้ายของชาติก่อนทำกิจเคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นทุกคนที่อยู่ที่นี่มีปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรก แต่ยังไม่ถึงจุติจิต แต่วันหนึ่งก็ถึง เพราะฉะนั้นจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิกับจิตที่ทำหน้าที่จุติเป็นจิตประเภทเดียวกัน ใครเกิดคนนั้นก็ตาย เพราะว่าปฏิสนธิจิตหรือจิตที่เกิดนี้มีหลายประเภท ที่เป็นกุศลวิบากก็มีคือผลของกุศล ที่เป็นอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศลก็มี นี่คือขณะแรกที่เกิด ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะแรกที่เกิดมีใครเห็นบ้าง มีจิตเห็นไหม ไม่มี ขณะแรกที่เกิดได้ยินอะไรหรือเปล่า ไม่ได้ยิน ไม่อาศัยตา ไม่อาศัยหู ขณะแรกที่เกิดได้กลิ่นหรือเปล่า ไม่ได้ ไม่ได้อาศัยจมูก ขณะแรกที่เกิดลิ้มรสหรือเปล่า ไม่ได้อาศัยลิ้น ขณะแรกที่เกิดรู้ไหมว่าเจ็บปวดเย็นร้อนตรงไหน ไม่รู้ ไม่ได้อาศัยกาย ขณะแรกที่เกิดไม่ได้คิดด้วย เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกนี้คือจิตซึ่งไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่อจากนั้น เพราะเหตุว่าจิตนี้เกิดแล้วดับทันทีเร็วมาก ทำกิจปฏิสนธิแล้วดับ จิตทุกจิตที่เกิดต้องทำกิจไม่ใช่เราทำ ขณะที่คิดว่าเป็นเราทำทั้งหมดคือจิตทำ เพราะฉะนั้นแม้แต่ขณะแรกที่เกิดที่บอกว่าคนเกิด สัตว์เกิด เทวดาเกิด พรหมเกิด ก็เพราะปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรมทำหน้าที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน คุณสุภีร์จะให้ความหมายของคำว่าปฏิสนธิจิต
อ. ศุภีร์ คำว่าปฏิสนธินี้เป็นภาษาไทย ภาษาบาลีเป็นปฏิสันธิ สันธิ แปลว่า ต่อกัน ปฏิ แปลว่า เฉพาะ หมายถึงต่อกันมาจากจุติจิต ก็คือสืบต่อมาจากจุติจิตนั่นเอง ฉะนั้น ความหมายของปฏิสนธิในภาษาบาลีแปลว่าสืบต่อเฉพาะมาจากจุติจิต คือจุติจิตดับไปแล้วปฏิสนธิต่อทันทีนี้โดยคำแปล
ท่านอาจารย์ ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว ตายแล้วก็เกิดไม่มีระหว่างคั่น ทันทีที่ตายจากโลกนี้ จากวงศาคณาญาติทรัพย์สมบัติพี่น้องทั้งหมด ก็มีปฏิสนธิจิตเกิด มีใหม่แล้ว พ่อแม่ใหม่ พี่น้องใหม่ วงศาคณาญาติใหม่ เหมือนเราจากโลกก่อนมาสู่โลกนี้ฉันใด เราก็ไม่ทราบว่าชาติก่อนเราเป็นใครอยู่ที่ไหน มีทรัพย์สมบัติมากน้อยแค่ไหน แล้วชาตินี้ก็อยู่เพียงชั่วคราว ต่อไปก็จะจากทุกคน จากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น หรือว่าอาจจะเป็นโลกไหนก็ได้แล้วแต่ ตามกรรม นี้ก็เป็นเรื่องซึ่งแสดงให้เห็นว่าจิตทำงานหนักมาก ธาตุชนิดนี้ไม่เคยหยุด เพราะเหตุว่าธาตุชนิดนี้คือจิต เป็นอนันตรปัจจัยคือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็มีจริง และเป็นธาตุแต่ละอย่าง จะต้องมีคุณสมบัติ หรือว่าจะมีพลัง และความสามารถเฉพาะอย่างๆ สำหรับจิตนี้เป็นธาตุเมื่อเกิดขึ้น และดับไป ต้องทำให้จิตต่อไปเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น การที่จิตหนึ่ง ขณะเกิดแล้วดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ภาษาธรรมใช้คำว่าอนันตรปัจจัย หมายความว่าเป็นปัจจัยที่จะทำให้เมื่อจิตนี้ดับไปแล้วก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อไม่มีระหว่างคั่น
เพราะฉะนั้นแต่ละคนเกิดมานานเท่าไรแล้ว ชาตินี้อาจจะนับเป็นเดือนเป็นปีบวกกับชาติก่อนๆ แสนโกฐกัปป์นับไม่ถ้วน ด้วยเหตุนี้แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง คนหนึ่งจะมีจิต ๒ ขณะพร้อมกันไม่ได้ เพราะจิตนี้ต้องดับไปก่อน ปราศไปก่อน หมดไปก่อนจึงจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นได้ การที่แต่ละคนซึ่งเป็นแต่ละหนึ่งเป็นขณะนี้ ต้องถอยย้อนกลับไปในแสนโกฐกัปป์ เราทำอะไรที่ไหน อย่างไร จนกระทั่งขณะนี้มีปัจจัยที่จะทำให้แต่ละคนได้เห็นสิ่งที่ต่างกันแล้วก็คิดนึกต่างกันด้วยตามกำลังของการสะสม ซึ่งถ้าศึกษาปัจจัยโดยละเอียดก็จะเห็นได้ว่าเป็นอนัตตาไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้
ผู้ฟัง ถ้าลักษณะอย่างนี้ จิตดวงนี้ก็เป็นจิตที่สะสมบาปบุญอะไรต่างๆ ไป ขอความกรุณาอาจารย์อธิบายถึงเรื่องความเที่ยงไม่เที่ยง ว่าจะให้ผลอย่างไร ตรงไหน
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องยาวข้างหน้า เพราะว่าถ้าเข้าใจเรื่องจิตแล้วก็จะทราบได้ว่าจิตมี ๔ ชาติ ชาติในทีนี้ไม่ใช่ชาติจีน ชาติไทย แต่เป็นชาติของจิต เพราะเหตุว่าจิตจริงๆ แล้วเป็นชาติจีนชาติไทยหรือเปล่า เป็นมนุษย์เป็นเทวดาเป็นงูเป็นนกหรือเปล่า ถ้าไม่มีรูปเลย เอารูปออกหมด จิตเกิดขึ้นเห็นทำกิจเห็น จะบอกได้ไหมว่าเป็นจีน เป็นไทย เป็นนก เป็นคน บอกไม่ได้เลย แต่เราเอารูปมารวมด้วยก็เลยทำให้เราจำแนกออก เป็นสัตว์ประเภทต่างๆ เป็นคนประเภทต่างๆ แต่การเกิดเป็นผลของกรรมที่จำแนกให้ต่างกันไป แล้วก็การสะสมสืบต่อมาแล้วก็ทำให้จิตในขณะนี้เป็นไปตามการสะสมของแต่ละคน ถ้าขณะนี้มีการกระทำอกุศลกรรมมีเจตนาที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่น เป็นอกุศล ทำกรรมนั้นสำเร็จลงไปแล้ว แม้ว่ากรรมนั้นจะหมดไปแล้วดับไปแล้วก็จริง แต่ก็สะสมสืบต่อเป็นกัมมปัจจัย เมื่อถึงกาละที่สมควรก็จะทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้น คือจิตที่เป็นวิบากเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาต่อไปในเรื่องชาติของจิตซึ่งมี ๔ ชาติคือ เป็นกุศลหนึ่ง เป็นอกุศลหนึ่ง เป็นวิบากคือเป็นผลของกุศล และอกุศล และเป็นกิริยา สิ่งนี้ก็คงจะต้องค่อยๆ ศึกษาต่อไป
ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกของคน เราจึงเรียกว่าคนโน้นเกิดคนนี้เกิด คิดว่าเป็นคนเกิดใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้ามีรูปร่างของคน เป็นผลของกุศลกรรมก็เป็นคนได้ หรือว่าถ้าเกิดบนสวรรค์ก็เป็นเทพได้ เกิดในรูปพรหมก็เป็นพรหมได้ เกิดเป็นอรูปพรหมก็เป็นอรูปพรหมได้ แต่การเกิดเป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผล ไม่ใช่จิตที่เป็นเหตุ
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่เราเรียกว่าคนเกิดนี้ เราสมมติขึ้นใช่ไหมว่าเป็นคนเกิด แท้ที่จริงแล้วเป็นธรรมเกิด
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นจิต เจตสิก รูป ความหมายของจิตซึ่งใช้คำที่คล้ายคลึงกัน แต่ว่าก็คือจิตนั่นเอง เช่นคำว่าวิญญาณ กับ หทย เป็นสองคำ ซึ่งเป็นคำที่ต่างออกไปจากคำว่าจิต แต่ก็คือจิตนั่นเอง มีข้อสงสัยในเรื่องนี้หรือไม่
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่กล่าวว่า จิตคิดโดยอาศัยหทัยวัตถุ จะเกี่ยวเนื่องกับสมองอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ต้องแยกกัน คือถ้าพูดถึงวัตถุหมายความว่าที่เกิดของจิต ไม่ได้พูดถึงทวารหรือทางที่จิตเกิด ตอนนี้กำลังจะพูดถึงเรื่องทวารคือการที่จิตแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ต้องอาศัยทางที่ต่างกัน เช่น จิตเห็นในขณะนี้ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทาง เวลาที่จิตได้ยินเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยโสตปสาท ตอนนี้จะไม่มีเรื่องของหทยวัตถุ เป็นแต่เพียงเรื่องของรูปซึ่งเป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ๕ ทาง มีทางที่ ๖ หรือไม่ ที่เป็นรูป ไม่มี ทั้งหมดนี้มี ๖ ทางที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่ตอนที่เป็นภวังค์ คือ ตา หนึ่ง หู หนึ่ง จมูก หนึ่ง ลิ้น หนึ่ง กาย หนึ่ง ใจ หนึ่ง แต่เวลาที่เป็นภวังค์ เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร เช่นเดียวกับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรกเกิดขึ้นทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนแล้วดับไป แล้วก็จะไม่เกิดขึ้นทำกิจนี้อีกเลยในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ว่าจะมีจิตอื่นซึ่งเกิดขึ้น แล้วก็จิตสุดท้ายขณะสุดท้ายคือจุติจิต เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตมีครั้งเดียวในชาติหนึ่ง เช่นเดียวกับจุติจิตก็มีครั้งเดียวในชาติหนึ่ง แต่ระหว่างปฏิสนธิกับจุติ จะมีจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ไม่ว่าจะวันไหนเวลาไหนก็เป็นการงานของจิตทั้งหมด ซึ่งจะค่อยๆ ศึกษาไปว่าหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้วจิตที่เกิดสืบต่อก็เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจเพราะว่าทำกิจสืบต่อจากภพก่อนชาติก่อนเพียงขณะเดียว แต่กรรมก็ยังไม่ทำให้คนนั้นสิ้นชีวิต ถ้าเพียงแต่ทำให้เกิดขณะเดียว และตายไปจะได้รับผลของการอย่างไร ใช่ไหม ไม่มีการรู้สึกตัวเลย เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดชั่วขณะแรก ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก เพราะขณะนั้นยังไม่มีตาหูพวกนี้เลย เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นจิตซึ่งโลกนี้ไม่ปรากฏ เช่นเดียวกับขณะที่หลับสนิท โลกนี้ไม่ปรากฏ แต่การที่โลกนี้จะปรากฏต่อเมื่ออาศัยตาเห็น อาศัยหูได้ยิน อาศัยจมูก อาศัยลิ้น อาศัยกาย อาศัยใจ โลกนี้จึงปรากฏได้
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าจิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งเรียกว่าอารมณะ หรืออารมณ์ของจิตก็จริง แต่ก็มีจิตที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตโลกนี้จะไม่ปรากฏเลย เช่นขณะที่ปฏิสนธิขณะแรก และขณะที่สอง ทำกิจภวังค์สืบต่อจากปฏิสนธิจิต ขณะนั้นโลกนี้ก็ไม่ปรากฏ และขณะสุดท้ายคือจุติจิต ขณะนั้นก็เป็นจิตประเภทเดียวกันซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นโลกนี้ก็ไม่ได้ปรากฏ ขณะที่ตายจุติจิตขณะสุดท้ายก็ไม่ได้คิดนึกอะไร ขณะนั้นโลกนี้ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นที่โลกนี้ไม่ปรากฏในขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต แต่ว่าขณะอื่นโลกก็ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง นี่ก็เป็นการกล่าวถึงเรื่องจิตเพียงคร่าวๆ ให้ทราบว่าจริงๆ แล้วชีวิตของเราก็เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิแล้วก็จะจบลงเมื่อจุติ แต่ก็ไม่ใช่เป็นสมุทเฉทะคือไม่ใช่เด็ดขาด ยังมีกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตสืบต่อจากจุติจิต เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะเป็นบุคคลนี้เพียงชาตินี้จะยาวจะสั้นจะมากจะน้อยอย่างไรก็เพียงชาตินี้ แต่ต่อจากนั้นไปก็จะเป็นคนอื่นแล้วแต่กรรม เช่นเดียวกับการที่เป็นบุคคลก่อนในชาติก่อน เราก็ไม่ทราบจำไม่ได้ว่าเป็นใคร ครั้งไหน อย่างไร แต่ก็จะรู้ได้เฉพาะปัจจุบันชาติว่าเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ๒ คำ สำหรับวันนี้คือ จิต กล่าวถึงแล้ว วันนี้คำใหม่ก็คือวิญญาณกับหทย ไม่ทราบมีข้อสงสัยอะไรใน ๒ คำนี้หรือไม่
ผู้ฟัง เปฏิสนธิจิต จุติจิตภวังคจิต ไม่อาศัยทวาร แต่ยังจะเกิดที่หทยหรือไม่
ท่านอาจารย์ ความจริงวันนี้ไม่ได้พูดถึงหทยวัตถุ พูดแต่ หทย คำเดียว หทยวัตถุกับหทยนี้ต่างกัน หทยเป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต แต่หทยวัตถุเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต นี้ต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องละเอียด ขอเพิ่มเติมเรื่องสติ ว่าต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าสติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้นจะเกิดกับจิตที่เป็นกุศลหรือว่าเป็นจิตฝ่ายดี วันหนึ่งๆ เราก็จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าขณะไหนบ้างที่เป็นกุศลจิต ขณะไหนไม่ใช่กุศลจิต จิตมี ๔ ชาติ กุศล หนึ่ง อกุศล หนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุ วิบากเป็นผลซึ่งมี ๒ คือกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก และอีกประเภทหนึ่งคือกิริยาจิต หมายความว่าจิตที่ไม่ใช่ทั้งกุศลไม่ใช่ทั้งอกุศล และไม่ใช่วิบาก แต่ก็คงจะยังไม่กล่าวถึงจิตประเภทนั้น แต่ว่าขอกล่าวถึงเฉพาะกุศลจิต อกุศลจิต และวิบากจิตเพื่อที่จะได้เข้าใจชัดเจนในเรื่องของสติว่า สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี ต้องเกิดกับจิตฝ่ายดีเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า ในขณะที่เห็นขณะนี้เป็นกุศลจิตหรือไม่
ผู้ฟัง สำหรับนามรูปของผมตอนนี้เป็นเป็นสติ
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน พูดถึงจิตเห็น จักขุวิญญาณ วันนี้เรามีคำเมื่อสักครู่นี้ ว่าเวลาที่จิตอาศัยตาเกิดขึ้น เราก็ใช้คำต่างหากออกไปว่าจักขุวิญญาณคือหมายความว่าจิตที่รู้ได้เพราะต้องอาศัยตาจึงเห็น ขณะที่เห็นนี้เป็นกุศลหรือเปล่า ต้องมีความละเอียดขึ้น ขณะนี้มีจิตมากมายเกิดดับสลับสืบต่อนับไม่ถ้วน แล้วก็มีประเภทต่างๆ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเป็น ๑ ใน ๔ คือเป็นกุศล หรืออกุศลซึ่งเป็นเหตุ และก็เป็นวิบากซึ่งเป็นผลของกุศล และอกุศล ส่วนกิริยายังไม่กล่าวถึงแต่ให้ทราบว่าไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นกล่าวถึงจิตเห็นขณะนี้ เป็นชาติไหน เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลหรือเป็นวิบาก
ผู้ฟัง เห็นตอนนี้เป็นวิบาก
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ยิ่งค่อยๆ คิด ยิ่งได้ความถูกต้อง เพราะฉะนั้นจะเผินไม่ได้ และต้องตรงตั้งแต่แรก แล้วก็จะทำให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เห็นตอนนี้เป็นวิบากเพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรม อย่างที่ได้กล่าวถึงในตอนแรกว่าปฏิสนธิจิต คือจิตขณะแรกก็เป็นผลของกรรม เพราะว่าขณะแรกที่เกิดไม่มีการทำกรรมใดๆ ทั้งสิ้นทั้งไม่เห็น ทั้งไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก โลกนี้ก็ไม่ปรากฏเลย แต่กรรมก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น และกรรมนี้มีมาก กรรมในอดีตนับไม่ถ้วน กรรมชาตินี้ก็นับไม่ถ้วนเหมือนกัน แล้วเราจะจากโลกนี้ไปแล้วปฏิสนธิจิตของเราจะเป็นผลของกรรมไหนไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เช่นเดียวกับกรรมก่อนๆ ที่ได้กระทำแล้วในชาติก่อนๆ นานแสนนาน ทำให้ปฏิสนธิจิตของชาติก่อนเป็นใครเราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้แล้วแต่กรรมที่ได้กระทำไว้ แต่จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสมสืบต่อ ถ้าเป็นฝ่ายดีอย่างพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ จึงสามารถที่จะทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละท่านสามารถที่จะรู้จักตัวเอง เพราะว่าเวลาที่กุศลจิตของตนเองเกิด หรืออกุศลจิตของตนเองเกิด คนอื่นยังไม่รู้ เพราะยังไม่ได้พูด ยังไม่ได้ทำ แต่จิตขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอกุศลกรรมที่ได้สั่งสมมาแล้ว ก็ต้องมีกาลที่จะให้ผลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในขณะที่มีการเกิด ปฏิสนธิจิตก็เป็นผลของกรรม หนึ่งขณะผ่านไป ขณะต่อไปกรรมก็ยังทำให้จิตประเภทเดียวกันเกิดสืบต่อ ไม่ต่างประเภทเลยเพราะเป็นผลของกรรมเดียวกัน ทำให้จิตที่เกิดต่อไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจก็จริง แต่ทำภวังคกิจ ภวังคกิจโดยศัพท์ก็คือว่าดำรงภพชาติ กิจที่ดำรงภพชาติ ถ้าศึกษาเรื่องจิตต้องทราบกิจของจิตแต่ละชนิดด้วยเพราะว่าจิตทำกิจการงานตลอดทั้งวันไม่มีขณะใดซึ่งจิตไม่ทำกิจการงาน
เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่าจิตทำกิจอะไร ขณะที่ปฏิสนธิจิตดับไป จิตใดๆ ก็ตามซึ่งมีปัจจัยทำให้เกิดแล้วดับจะไม่กลับมาอีกเลย จะมีปัจจัยที่ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น และจิตนั้นก็ดับแล้วก็มีปัจจัยที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไม่กลับมาอีกทั้งหมด เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตดับไปแล้วไม่ได้กลับมาเกิดเป็นภวังคจิต แต่กรรมทำให้จิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทำภวังคกิจ ไม่มีการนับ ตราบใดที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่คิดนึก เป็นภวังค์ จิตดำรงภพชาติไว้ ดำรงไว้เพื่ออะไร เพื่อรับผลของกรรม ทันทีที่ลืมตาป็นผลของกรรม เพราะว่าแต่ละคนก็มีการเห็น แต่บางคนเห็นสิ่งที่น่าพอใจ บางคนเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เลือกไม่ได้ แล้วแต่กรรม
เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ เราจะเห็นอะไรหรือเราเห็นอะไรมาแล้วหรือกำลังเห็นอะไร ถ้าเป็นสิ่งที่ดีที่น่าพอใจก็เป็นผลของกุศลกรรม จิตเห็นเป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จิตเห็นใช้คำว่า จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก นี้ก็แสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในโลกนี้ในชาตินี้ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม แต่หลังจากที่ผลของกรรมเกิด และดับไปแล้ว การสะสมของเราก็ทำให้กุศล และอกุศลเกิดต่อ เพราะฉะนั้นเราเห็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าหลังจากเห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลตามการสะสม เราไปบังคับคนที่พอเขาเห็นแล้วโกรธแล้วบอกว่าอย่าโกรธ ไม่ต้องโกรธ ไม่ดี โกรธเป็นอกุศล โกรธเกิดแล้ว ใช่ไหม ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่าเราจะไปแก้ไขสิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้ว เพราะว่าสิ่งนั้นมีปัจจัยเกิดแล้วใครๆ ก็ยับยั้งไม่ได้ อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราจะรู้ไหมว่าเราจะโกรธระดับไหน เพียงแค่ขุ่นใจหรือว่าเพียงแค่ไม่พอใจหรือว่าโกรธมากระงับไว้ไม่อยู่ เราไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าแม้แต่ความโกรธจะเป็นระดับไหน แต่มีปัจจัย ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ต้องมีปัจจัย
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 001
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 002
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 003
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 004
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 005
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 007
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 008
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 009
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 010
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 011
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 012
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 013
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 015
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 016
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 017
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 018
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 019
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 020
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 021
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 022
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 023
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 024
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 025
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 026
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 027
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 028
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 029
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 030
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 031
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 032
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 033
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 034
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 035
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 036
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 037
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 038
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 039
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 040
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 041
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 042
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 043
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 044
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 045
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 046
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 047
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 048
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 049
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 050
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 051
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 052
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 053
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 054
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 055
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 056
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 057
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 058
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 059
- สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 060