สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 014


    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๑๔

    วันจันทร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เพราะว่าสิ่งนั้นมีปัจจัยเกิดแล้ว ใครก็ยับยั้งไม่ได้ อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราจะรู้ไหมว่าเราจะโกรธระดับไหน เพียงแค่ขุ่นๆ ใจ หรือว่าเพียงแค่ไม่พอใจหรือว่าโกรธมาก ระงับไว้ไม่อยู่ เราไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้ว่า แม้แต่ความโกรธจะเป็นระดับไหน แต่มีปัจจัย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัย เราจะไปแก้ไขสิ่งที่เกิดแล้วได้ไหม สิ่งที่เกิดแล้วนั้นเราแก้ไขได้ไหม ดับแล้ว แก้ไม่ได้ แต่ก็มีปัจจัย จากความเข้าใจสภาพธรรมที่จะปรุงแต่งให้ขณะต่อไปเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศลที่เบาบางกว่าเดิมที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นทั้งหมดจะพ้นจากคำว่าอนัตตาไม่ได้ ถ้าเรามีความคิดว่าเป็นเราทำได้ ตรงกับพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้หรือเปล่าว่าทุกขณะนี้นั้น แม้เห็นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ได้ยินก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ได้ยินเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลหรือเป็นวิบาก จิตที่กำลังได้ยินขณะนี้เป็นชาติกุศลอกุศลหรือวิบาก เป็นวิบาก นี้เราก็เริ่มรู้แล้วใช่ไหม ใครทำให้ ถ้าเราจะป่วยเจ็บหรือได้รับการประทุษร้ายเราอาจจะโกรธ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรม แต่ถ้าเราเข้าใจว่าใครทำให้ เราทำเอง ทุกอย่างนี้เราทำเอง เห็นสิ่งที่ดีก็เราทำเอง

    ผู้ฟัง ตกลงว่ามีเราหรือไม่มีเรา

    ท่านอาจารย์ คือต้องใช้คำว่าเรา ถ้าไม่ใช้คำว่าเราจะพูดขันธ์ ๕ ตรงนี้ทำกรรมอะไรมา แล้วผลของขันธ์ ๕ ตรงนี้เป็นจิตเห็นหรืออะไรอย่างนี้ก็ไม่ได้ แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงใช้คำบัญญัติเรียกพระองค์เอง และพระสาวก ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีการที่จะเข้าใจ แต่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจถูก เราจะใช้คำอะไรก็ได้ใช่ไหมเมื่อเราเข้าใจแล้ว แต่ถ้าเราไม่เข้าใจแล้วเราใช้คำนั้นด้วยความเป็นเราก็คือความไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ

    ผู้ฟัง คำว่าจิตเห็นที่อาจารย์กล่าวถึง จิตเห็นที่ว่านี้หมายถึงจิตเห็นในขณะที่ตื่นอยู่ หรือในขณะที่หลับ ไม่เห็นเหตุการณ์

    อ. สุภีร์ จิตเห็นต้องเห็นในขณะที่ตื่น ที่ได้กล่าวไปแล้วใช่ไหมว่า ตอนที่จิตมีการรู้อารมณ์หรือว่าการคิดนึก ทางใจหรือว่าทางมโนทวาร ใช่ไหม เพราะเหตุว่ามีทางที่รู้อารมณ์ของโลกนี้ มี ๖ ทางด้วยกัน ซึ่งขณะที่เรานอนหลับแล้วก็ฝัน ขณะนั้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร ทางใจ เป็นการคิดนึกทางใจ แต่ขณะนี้ก็มีการคิดนึกทางใจด้วยแต่ไม่ได้หลับ ใช่ไหม เพราะอะไรจึงไม่ได้หลับ เพราะเหตุว่ามีการรู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แทรกคั่นทางมโนทวาร ก็คือขณะนี้ทางมโนทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์คิดนึกเรื่องสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้กลิ่น สิ่งที่ลิ้มรสแล้วก็สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ฉะนั้นจึงต่างกันกับความฝัน ถามว่าขณะเห็นเป็นตอนหลับหรือตอนตื่น คำตอบก็คือตอนตื่นอยู่นั้นถึงเห็น

    อ. ประเชิญ คำว่าวิบาก ซึ่งในสมัยก่อนหรือท่านที่ยังใหม่ก็อาจจะ เข้าใจเดิมๆ ว่าวิบากนี้ต้องลำบากใช่ไหม หรือว่าต้องถูกรถชนอะไรอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ในชีวิตประจำวันของเรานี้ ในวันหนึ่งๆ นี้วิบากมีมากทีเดียว ที่ท่านอาจารย์ได้ยกตัวอย่างใช่ไหม ทางตา ขณะที่เห็น จิตที่รู้ทางตาเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่สุกงอมแล้วจึงให้ผลในการที่จะเห็นดีหรือเห็นไม่ดี ทางหูที่ได้ยินเสียงนั้นก็คือจิต จิตนั้นเป็นวิบากเป็นผลของกรรม ทางจมูกก็จิตที่กลิ่น นั่นคือวิบากจิต ไม่มีเรา ทางลิ้นที่จิตลิ้มรส นั่นก็คือวิบากจิตเช่นเดียวกัน ทางกายที่กระทบสัมผัส เย็นร้อน อ่อนแข็งนี้คือวิบาก ซึ่งเราก็ได้รับอยู่ตลอด หรือแม้แต่ขณะที่หลับสนิทนี้ก็เป็นวิบากจิตเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น แต่เดิมนี้เราจะเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จะต้องลำบากด้วย จะต้องมีอะไรที่เป็นพิเศษใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วเรามีอยู่ ได้รับอยู่เป็นประจำ

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็มีกรรมในอดีตที่ทำไว้มากมาย ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เรารอวิบากไหน ทุกวันทุกวัน รอวิบากไหน รอกุศลวิบาก บางคนก็รำพันทำกรรมไปแล้วก็ไม่เห็นได้ผลของกุศลที่ทำเลย รอใช่ไหม แต่ไม่มีใครฝืนหรือว่าไม่มีใครสามารถที่จะดลบันดาลได้เพราะเหตุว่า กรรมมีมากแล้วแต่ว่ากรรมไหนพร้อมที่จะให้ผลก็มีปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิด เพราะฉะนั้นเราก็คงจะจะรู้ว่าเวลาที่มีวิบากชนิดใดเกิดก็เพราะเหตุว่าถึงกาล ถึงเวลาที่สิ่งนั้นจะเกิด ถ้ายังไม่ถึงเวลาอย่างไร อย่างไร คอยไปเท่าไร เร่งรัดเท่าไร วิบากนั้นก็เกิดไม่ได้ และส่วนใหญ่เรารอกุศลวิบากใช่ไหม หวังแต่กุศลวิบาก ไม่หวังที่จะให้อกุศลวิบากมาถึงตัวเลย แต่ทำอย่างไรได้ในเมื่อเหตุมี ผลก็ต้องมี เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่ได้รับอกุศลวิบากเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายไม่ดี ป่วยไข้ ต่อจากนี้ไปก็ทราบได้ว่าถึงกาล เวลาที่กรรมนั้นจะให้ผล ซึ่งเวลาที่กรรมจะให้ผลใครก็ไม่สามารถที่จะเห็นความวิจิตรของการให้ผลของกรรมได้ น่าอัศจรรย์มาก ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ที่เราอ่านอ่านกัน ก็มีเรื่องที่ไม่ดีใช่ไหม เด็กที่ไปเล่นแล้วก็เสียชีวิตอย่างนี้ ใครทำ ถึงกาลเมื่อไร เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แม้สักวินาทีเดียว จะใช้เงินทองทรัพย์สินทั้งหลายที่จะไม่ให้สิ่งนั้นเกิดก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคนเกิดมาแล้ว มีตาสำหรับรับผลของกรรม มีหูสำหรับรับผลของกรรม มีจมูกมีลิ้นมีกายสำหรับรับผลของกรรม แล้วเวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดแล้วก็มั่นใจได้ว่าถึงกาลที่กรรมนั้นจะให้ผลอย่างนี้ ลักษณะนี้ สิ่งนี้จึงได้เกิดขึ้น เราทำเองทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อได้เข้าใจอย่างนี้แต่ละคนก็คงจะทำกุศลกรรมมากขึ้นแล้วก็ละเว้นอกุศลกรรม เพราะเหตุว่าเวลาที่อกุศลกรรมให้ผลน่ากลัวจริงๆ แล้วก็ทรมานมากด้วยโดยเฉพาะเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเห็นใครที่เจ็บหนักหรือว่าได้รับความเจ็บป่วยมาก เราก็คงจะไม่อยากเป็นอย่างนั้น แต่ว่าสิ่งนั้นก็ต้องเกิดไม่ว่ากับเราหรือกับเขาหรือกับใคร เมื่อถึงกาลที่กรรมสุกงอม ใช้คำว่าสุกงอม คือถึงกาลที่จะให้ผล ผลนั้นก็ต้องเกิด

    ผู้ฟัง อาจจะเคยมีคำถามที่ว่ารับผลของกรรม ยกตัวอย่าง อย่างวันนี้เรามาฟังธรรม จะมาก็ได้ ไม่มาก็ได้ จะเรียกว่าเป็นผลของกรรมหรือเป็นการใฝ่หากุศลเพื่อวิบากที่ดีกว่า

    ท่านอาจารย์ คุณประเชิญคงต้องอ่านข้อความตอนต้นอีกครั้งหนึ่ง เรื่องจิตเสือกใส

    อ. ประเชิญ โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกใสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือจิต

    ท่านอาจารย์ มาที่นี่ก็เพราะจิต ต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นทำอะไรก็เพราะจิตทั้งนั้น

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายไว้สำหรับรอรับผลของกรรม แล้วใจนั้นได้รับผลของกรรมใดบ้างหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะทราบว่า เวลาที่จิตเกิดขึ้นทำกิจที่เป็นวิบากทางใจเมื่อไร แต่ก็ไม่ชัดเจนเหมือนกับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำกิจตทาลัมพนะแค่ ๒ ขณะหลังชวนะนี้คงไม่ต้องพูดถึง

    ผู้ฟัง การเห็น การได้ยิน เป็นผลของกรรม แล้วการตาย จุติจิตนี้ก็เป็นผลของกรรมด้วยหรือไม่

    อ. สุภีร์ เป็นผลของกรรมด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับในเรื่องของวิบากจิต วิบากคือผลของกรรมที่สุกงอมแล้วที่จะได้รับผล สำหรับเราสามารถที่จะรู้ได้ในชีวิตประจำวันก็คือการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสถูกต้องทางกาย นี้เป็นสิ่งที่เรารู้วิบากในชีวิตประจำวัน ส่วนวิบากคือขณะที่ปฏิสนธิ ขณะที่ดำรงความเป็นบุคคลนี้อยู่ คือขณะที่เป็นภวังค์ และขณะที่จุติ ก็เป็นผลของกรรมเช่นเดียวกัน เป็นวิบากจิตเช่นเดียวกัน

    ผู้ฟัง ที่กล่าวกันว่าจะไปต่ออายุนั้นก็คงจะไม่ได้แล้ว เพื่อนของดิฉันไปต่างจังหวัด ไปต่ออายุ พอขากลับโดนรถชนตาย

    อ. สุภีร์ ไม่เกี่ยวกับการต่อไม่ต่อ ก็คือว่าเป็นผลของกรรมซึ่งเป็นวิบากจิตนั่นเอง บางท่านอาจจะคิดว่าคืนนี้จะนอนสัก สองสามทุ่มใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วอาจจะนอนไม่หลับก็ได้ ถ้ามีกรรมที่จะทำให้เห็นตอนนั้นเห็น มีกรรมที่จะทำให้ได้ยินตอนนั้นอยู่ มีกรรมที่จะทำให้กระทบสัมผัสทางกายตอนนั้นอยู่ก็ยังไม่ได้รับวิบากที่เป็นภวังค์ บางครั้งกำลังนอนมีความสุข ดึกๆ มีเสียงฟ้าร้องก็ตื่นแล้ว บางท่านก็นอนสบายตื่นมาตอนเช้าค่อยรู้ว่ามีฝนตก ฉะนั้น แต่ละคนไม่เหมือนกันเลย เรื่องของวิบากนี้เป็นเรื่องที่เป็นผลของสิ่งที่ที่ได้ทำไว้แล้ว ไม่สามารถที่จะห้ามอะไรได้

    ท่านอาจารย์ เรื่องของกุศลกรรมนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และส่วนใหญ่เราก็จะคิดถึงแต่เรื่องของทานกุศล แต่ความจริงกุศลนี้ ถึงแม้ว่าไม่มีวัตถุทานก็สามารถที่จะกระทำได้ด้วย เช่น การอุทิศส่วนกุศล โดยมากผู้ที่กระทำกุศลแล้วไม่ได้อุทิศส่วนกุศล ซึ่งขณะที่อุทิศเป็นกุศลจิต เพราะว่าการที่เราทำความดีแล้วก็คนอื่นรู้แล้วก็เกิดกุศลจิตยินดีด้วยทำให้จิตของเขาเป็นกุศล เพราะฉะนั้นก็เป็นกุศลซึ่งไม่ยากเมื่อแต่ละท่านได้กระทำกุศลแล้วก็สามารถที่จะอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้อนุโมทนา ทำให้เขาสามารถที่จะเกิดกุศลจิตเวลาที่เขาเกิดอนุโมทนา และสำหรับกุศลที่จะอนุโมทนา ไม่จำกัดว่าจะเป็นกุศลประเภทใด แต่ก็ต้องแล้วแต่ประเภทของผู้รับด้วย มีข้อความในธรรมบทขอเชิญคุณเผชิญอ่าน

    อ. เผชิญ จากจิตสูตร ในครั้งพุทธกาล เทวดาที่มีปัญหาในเรื่องของข้อความธรรม ในเรื่องของการที่จะอุทิศส่วนกุศล เหตุเรื่องก็มาจากเทวดาทั้งหลาย ขบคิดปัญหาแล้วก็ไม่สามารถที่จะตอบปัญหาได้ ก็ไปถามท้าวสักกะ ท่านก็ไม่สามารถที่จะตอบปัญหาได้เช่นเดียวกัน ท้าวสักกะ ก็คือพระอินทร์ พระอินทร์มีชื่อหลายชื่อ ตำแหน่งก็คือเรียกว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินของเทวดา เรียกว่าหัวหน้าเทพในเทวดาชั้นดาวดึงส์ เป็นผู้ที่ฉลาด ได้บำเพ็ญบุญมามากก็ทำให้ได้เป็นหัวหน้าในส่วนชั้นดาวดึงส์ ส่วนมากถ้ามีปัญหาอะไรก็จะไปถามท่านก็ตอบได้ แต่ว่าปัญหานี้ถามว่า ทานอย่างไหนเป็นทานอันเลิศ รสอย่างไหนเป็นรสที่ยอดที่สุด ความยินดีชนิดไหนเป็นความยินดีที่ประเสริฐ ความสิ้นไปแห่งตัณหาเป็นสิ่งที่ประเสริฐอย่างไร สิ่งนี้เป็นปัญหาที่เทวดาขบคิด แม้แต่พระอินทร์ท้าวสักกะที่เป็นจอมเทพของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ท่านก็ไม่สามารถที่จะตอบปัญหานี้ได้ ก็ลงมาทูลถามพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสตอบปัญหานี้ว่า ธรรมทานคือการให้ธรรมย่อมชนะทานทั้งปวง รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง สิ่งนี้จะเป็นปัญหาที่เทวดามาทูลถามพระผู้มีพระภาคซึ่งพระอินทร์ ท้าวสักกะท่านก็เป็นหัวหน้าในการที่มาตรัสถามปัญหานี้ หลังจากที่พระภูมิพระภาคได้แก้ปัญหานี้แล้ว ท้าวสักกะก็เห็นว่าการให้ธรรมเป็นทานเป็นทานชั้นเยี่ยม พระองค์ก็เลยทูลขอพระผู้มีพระภาคว่า ในเมื่อธรรมทานเป็นทานอันเลิศเช่นนั้น เพื่อประโยชน์อะไรพระองค์จึงไม่รับสั่งให้ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์ในธรรมทานอันเยี่ยมอย่างนี้ จำเดิมต่อนี้ไปขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกภิกษุสงฆ์ได้รับสั่งให้ ให้ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด สิ่งนี้เป็นคำขอของพระอินทร์ว่า ทุกครั้งที่มีการแสดงธรรมะก็ขอให้ให้ส่วนบุญกับเทวดาทั้งหลายด้วย พระศาสดาก็ได้สดับคำของท้าวสักกะ และก็ได้ตรัสกับภิกษุสงฆ์ว่า ภิกษุทั้งหลายจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไปพวกเธอฟังธรรมใหญ่ก็ดี ฟังธรรมตามปกติก็ดี แม้โดยที่สุดการกล่าวอนุโมทนาก็ดีพึงให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งปวง นี้ก็พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับคำของพระอินทร์ที่จะตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า ทุกครั้งที่มีการทำกุศลก็ควรที่จะอุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหมด การทำกุศลทุกครั้งก็ควรที่จะอุทิศส่วนบุญนี้ให้แก่เทพยดา และผู้ที่ล่วงรู้ทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ความจริงยุคนี้สมัยนี้สะดวกมากสำหรับเรา เพราะว่าเทวดาท่านก็ถามแทนมากเลย อะไรที่เราสงสัยก็มีข้อความปรากฏในพระไตรปิฏกซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเทพหรือพรหมหรือแม้แต่พระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งเป็นเอตทัคคะ เป็นผู้ที่เป็นเลิศในทางต่างๆ ก็ยังต้องไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้พระองค์ทรงแสดงชัดเจนแม้แต่ความคิดหรือการสนทนาธรรมของท่านเหล่านั้นถูกต้องประการใดหรือว่ามีข้อที่ผิดพลาดไป เพราะฉะนั้นข้อความนี้ก็มีในพระไตรปิฎกซึ่งทุกท่านก็จะอ่านเองก็ได้ แต่ขณะนี้ขอเชิญคุณสุภีร์อธิบายขยายความคำตอบ คุณประเชิญถาม

    อ. ประเชิญ ทานชนิดไหนเป็นทานชนิดที่ชนะทานทั้งปวง

    อ. สุภีร์ คำถามของเทวดา ทานชนิดไหนที่ชนะทานทั้งปวง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตอบว่า สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ การให้ธรรมเป็นทานนั้น เป็นการชนะการให้ทั้งปวง การให้ทุกประการไม่ว่าจะเป็นการให้เสื้อผ้า ให้อาหารหรือว่าให้สิ่งอื่นๆ ก็ตาม อย่างเช่นการให้อาหาร บุคคลที่ได้รับไปก็สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ชั่วขณะเวลานั้นเท่านั้นชั่วที่เขารับประทานอิ่มท้องลงไป หลังจากนั้นไปแล้ว ต่อไปก็ต้องหิวอีก หรือว่าแม้แต่ทั้งชาตินั้นเองก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าเราจะให้กับเขาไปทั้งชาติ ก็สามารถที่จะช่วยเหลือเขาได้เฉพาะชาติเดียวเท่านั้น แต่ว่าพระธรรมไม่ได้เป็นเช่นนั้น

    อ. ประเชิญ ถ้าไม่มีการให้พระธรรม คือ ให้ความรู้ที่จะทำให้รู้สิ่งทั้งปวง โดยเฉพาะพระผู้มีพระภาค ถ้าไม่มีการแสดงธรรมในครั้งแรก ก็ไม่มีผู้ที่จะตรัสรู้ตาม ศาสนาก็ไม่มี ผู้ที่สืบทอดก็ไม่มี หรือกุศลทั้งหมดถ้าไม่มีการที่จะแนะนำสั่งสอนในเรื่องที่จะให้เห็นประโยชน์ของบุญกุศล หรือว่าไม่มีการแนะนำให้เห็นโทษของอกุศลทั้งหลาย ก็จะไม่มีการทำกุศลแล้วก็จะไม่มีการละเว้นอกุศล ที่เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ก็เกิดจากการที่ได้ยินได้ฟังจากผู้ที่ให้ธรรมคือให้ความรู้ ซึ่งการให้เหล่านี้ถ้าสูงสุดจริงๆ ก็คือให้อมตธรรม ธรรมที่ไม่ตาย คือให้รู้จริงๆ ให้บรรลุถึงพระนิพพาน เพราะฉะนั้นธรรมทานจึงชนะการให้ทั้งปวง ส่วนการให้อื่นๆ ให้ทานที่เป็นข้าวเป็นน้ำก็เพียงอิ่มไปมื้อหนึ่ง มื้อหนึ่งเท่านั้นเอง เดี๋ยวก็หิวอีกใช่ไหม แต่ถ้าให้ธรรมใ ห้ความจริง ให้รู้ความจริงแล้วก็จะไม่ต้องกลับมาเป็นเช่นนั้นอีก

    ท่านอาจารย์ สำหรับทาน การให้ ก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะอุปการะแก่สัตว์โลก เพราะเหตุว่าเราคงจะไม่รู้ว่าเรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เป็นทุกข์ เพราะว่าเราก็ดูสนุกดี แต่ว่าจริงๆ แล้วทุกขณะต้องแก้ไขอยู่ตลอด เมื่อเกิดมาแล้วที่จะไม่มีการกระทำใดๆ เพื่อความเป็นอยู่เป็นไปไม่ได้เลย เราต้องมีการกระทำเพื่อความดำรงชีพ หรือแม้แต่เพียงร่างกายของเรา เราก็ต้องบำรุงรักษาเยียวยา ไม่รับประทานอาหารก็ไม่ได้ ไม่อาบน้ำก็ไม่ได้แล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราชินกับความทุกข์จนเราไม่รู้สึกว่า ถ้าเราไม่ต้องทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเลยจะดีกว่าไหม แต่เราก็ชินจนกระทั่งดูเหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นเรื่องของทานการให้ ก็คือเป็นเรื่องของจิตที่เป็นกุศลเพราะเหตุว่าการให้หมายความถึงให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ไม่ใช่ให้สิ่งที่ไม่มีสาระหรือว่าให้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์ หรือว่าให้เพื่อหวังการตอบแทน นั้นไม่ใช่ลักษณะของการให้แต่ว่าเป็นลักษณะของการซื้อขาย มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งท่านก็เห็นประโยชน์ของธรรมมากท่านก็ปรึกษาว่า ท่านจะทำกุศลประเภทไหนดี ดิฉันก็เรียนท่านว่าแล้วแต่อัธยาศัยเพราะว่าจริงๆ แล้วทุกอย่าง ก็เป็นสิ่งที่ควรแก่การที่จะช่วยเหลือทั้งนั้น เช่น ให้อาหารเด็กขาดแคลนหรือเด็กพิการกำพร้า หรือ ผู้สูงอายุ หรือคนไข้อนาถา ท่านก็กล่าวว่าท่านทำมาหมดแล้ว แต่สิ่งที่ท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่สุด คือการส่งเสริมการศึกษาพระธรรม และการเผยแพร่พระธรรม เพราะว่าบุคคลที่ป่วยไข้ พอออกจากโรงพยาบาลเขาก็เหมือนเดิม อาหารที่รับประทานไปแต่ละมื้อของแต่ละคนก็บำรุงร่างกายให้แข็งแรง แต่ถ้าไม่มีสภาพของจิตใจที่ดีหรือว่าไม่มีการเข้าใจธรรมที่ถูกต้องว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เขาก็เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นหนทางเดียวซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นประโยชน์สูงสุดของการที่จะเกื้อกูลสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยพระธรรม เพราะเหตุว่าพระองค์สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วยพระองค์เองไม่ต้องถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ แต่เพื่อประโยชน์สุขของสัตว์โลกจึงได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีจนถึงการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถ้าทุกท่านได้ศึกษาพระธรรมต่อไปด้วยความสนใจประโยชน์สูงสุดคือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะเพิ่มขึ้น และเมื่อนั้นทุกคนก็จะกล่าวเหมือนกันหมดว่า เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ไม่ว่าจะเป็นภูเขาทองหรืออะไรทั้งหมด แล้วก็ให้กลับเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่เห็นถูกเลย ก็คงจะไม่มีใครยอม เพราะเหตุว่าสิ่งอื่นที่ได้มาก็อยู่เพียงชาตินี้โลกนี้ไม่สามารถที่จะติดตามไปถึงชาติต่อไปได้ แต่สิ่งที่เป็นความรู้ความเข้าใจก็จะเห็นได้ว่าพระสาวกทั้งหลาย ท่านได้สะสมการฟังธรรม การอบรมเจริญธรรม จนถึงวันหนึ่งซึ่งท่านสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นของเราในวันนี้ก็เหมือนกันกับการเริ่มต้นของพระสาวกทั้งหลายในอดีตซึ่งท่านก็ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้น ก็ค่อยๆ อบรมเจริญไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    7 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ